8
“ผมหยิบแซกโซโฟนขึ้นมาเล่น อากาศเย็นจัดได้ทำให้รู้สึกเจ็บที่นิ้วมือ
อีกทั้งไม่สามารถขยับมันไปได้ตามใจปรารถนา ส่งผลทำให้เกิดเสียงผิดเพี้ยนมากมาย
แต่ผมกลับไม่ได้ใส่ใจและยังฝืนเล่นไปทั้งอย่างนั้น… นั่นแหละ
ภายในเวลาอันโดดเดี่ยวเช่นนี้ คงจะไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าความรู้สึกว่าเรายังมีตัวตนอยู่บนโลกนี้
ซึ่งก็ดูเหมือนว่า การเล่นแซกโซโฟนเพี้ยนๆ ครั้งนี้กำลังให้ความหมายนั้นกับผม”
ข้อความสะท้อนความรู้สึกในห้วงลึกติดไว้ที่ผนังแกลเลอรี่
มันถูกจัดลำดับไว้ช่วงท้ายๆ ของงานแสดงทั้งหมด นั่นหมายความว่า
เขามาถึงจุดหมายแล้ว
ใช่! ในที่สุดเขาก็มาถึงปารีส!
“เรารู้สึกเฉยๆ นะ จะว่าดีใจก็ไม่เชิง เป็นอารมณ์งงๆ มากกว่า
กูมาอยู่กลางปารีสได้ไงวะ กูโบกรถจากดอยสะเก็ดมาไม่ใช่หรือ” เขารำลึกความหลัง
“แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ
ภาพความทรงจำในอดีตตลอดเส้นทางค่อยๆ ถาโถมไหลย้อนกลับมา เรื่องราวต่างๆ
โดยเฉพาะผู้คนที่ช่วยเหลือเราเยอะมาก รถรับเราไม่รู้กี่คน
คนเอาน้ำเอาข้าวมาให้เรากิน เราคิดแล้วก็ขอบคุณพวกเขา
ถ้าไม่มีคนเหล่านี้เราก็ไม่มีทางมาถึง
“เรานึกย้อนกลับไปถึงอดีตในวัยเด็กเลยนะ การที่เราเดินทางมาได้ถึงขนาดนี้
ผ่านแต่ละประเทศที่เราไม่รู้จักภาษาของเขาเลย ไม่ว่าจะเป็นจีน รัสเซีย ลัตเวีย
เยอรมนี ไม่แน่ว่าอาจจะเป็นเพราะเราเคยอาศัยอยู่ข้างโรงเรียนคนหูหนวกก็ได้
ด้วยความที่เราใช้ความรู้สึกสื่อสารกันแทนคำพูดอยู่หลายปี
ทำให้เรามีพื้นฐานการปฏิสัมพันธ์ได้โดยไม่ต้องคุยกัน มันทำให้เราอ่านอารมณ์ แววตา
น้ำเสียงคนได้ดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีความหมายมากกว่าคำพูดเสียอีก มากไปกว่านั้น
มันยังช่วยสนับสนุนการเล่นดนตรีแจ๊สด้วย
น้ำเสียงของแซกโซโฟนไม่น่าจะต่างกับน้ำเสียงคนหูหนวก มันมีแต่เสียง ‘อาอาอูอู’ คล้ายกัน”
ค่ำคืนที่ปารีส เขากับเพื่อนชาวฝรั่งเศสเล่นดนตรีร่วมกันในแจ๊สคลับที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของยุโรป
เสียงแซกโซโฟนในวันนั้นผ่อนคลาย เป็นธรรมชาติ เขาไปๆ มาๆ ฝรั่งเศส เบลเยียม
และสเปนอยู่ระยะหนึ่ง ทั้งเล่นดนตรีที่บ้านพักคนชรา
อิมโพรไวส์ฟรีแจ๊สกับแม่บุญธรรมที่บรัสเซล เยี่ยมชมสถาปัตยกรรมของ Antoni
Gaudi ในบาร์เซโลนา และเมื่อถึงเวลาก็เดินทางกลับดอยสะเก็ด
คราวนี้เป็นทางอากาศ
“ไม่น่าเชื่อนะ เราเดินทางขาไปใช้เวลา 3 – 4 เดือน
แต่ขากลับแค่ 10 ชั่วโมง รู้สึกหลอนเหมือนกัน”
“การเดินทางไกลข้ามภูมิประเทศทำให้เราได้เรียนรู้หลายเรื่อง
เหมือนร่างกายกับจิตใจจะเห็นภาพบางอย่าง เราเลยรู้ว่า
กลับมาต้องทบทวนว่าเกิดอะไรขึ้น ถ้าไม่ทำ มันจะทำร้ายเราเหมือนกัน เรารู้สึกว่า
จุดประสงค์ของการเดินทางก็เพื่อตอนกลับมาจะได้ทบทวนนี่แหละ”
สิ่งที่เขาให้ความสำคัญมากขึ้นกว่าเดิมหลังการเดินทางครั้งนี้คือ
จิตใจ
“เราตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิต ขนมปังเพียงก้อนเดียว
น้ำเปล่าเพียงแก้วเดียว สิ่งเหล่านี้ทำให้เราเห็นถึงเนื้อหาสาระของชีวิต
ซึ่งมันเป็นความสุขนะ
“ถ้าเรามีจุดหมายภายนอก แล้วจุดหมายภายในล่ะ โลกภายนอกต้องดำเนินต่อไป
ต้องปลูกข้าวมากิน โลกภายในก็เหมือนกัน อะไรคือสิ่งที่หล่อเลี้ยงจิตใจของเรา
“ฟ้ากับดิน เราเคยได้ยินปรัชญาจีนนี้มานาน การเดินทางทำให้เราเห็นภาพว่า
ผืนดินคือร่างกายของเรา เราจับต้องได้ เราโดนตีแล้วเจ็บ ผืนฟ้าคือจิตใจของเรา
มองไปบนท้องฟ้า ฟ้าไปถึงไหนก็ไม่รู้ กลางคืนดำมืด ฟ้ากับดิน
มันจะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้ ต้องอยู่คู่กัน ถ้าไม่มีผืนดิน
เราจะไปยืนอยู่ที่ไหน ถ้าไม่มีผืนฟ้า น้ำที่ไหนจะตกลงมาให้ผืนดินได้ชุ่มชื้น
น้ำที่หล่อเลี้ยงก็คือความคิด ความฝัน มันหล่อเลี้ยงจิตใจให้มีความหมาย
“ถ้าเราไม่เดินทางก็ไม่มีทางรู้ ขณะที่เราเดินทางคนเดียว ไม่รู้จักใคร
ไม่ได้มีตัวตนในสังคมนี้ ทำให้ต้องคุยกับตัวเอง จังหวะที่ได้พูดคุย
สถานการณ์ภายนอกจะพุ่งเข้าสู่ภายใน แต่ทุกอย่างต้องสัมพันธ์กัน
ถ้าเราเอาแต่คิดถึงภายในโดยที่ไม่ได้ประจักษ์จริงภายนอก
ร่างกายไม่ได้เข้าใจสภาพแวดล้อม มันก็ไม่เกิดประโยชน์
หรือถ้ามัวแต่เดินทางภายนอกโดยไม่ได้ศึกษาภายในเลย ก็ไม่เกิดประโยชน์เช่นเดียวกัน
มันจะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้ เหมือนฟ้ากับดิน ฟ้าไม่ใช่ดิน ดินไม่ใช่ฟ้า
แต่มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน
“เราให้ความสำคัญกับประสบการณ์และความคิดคำนึงในอดีตนะ
เราจะไม่ปล่อยปละละเลยเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้ว อดีตเป็นมวลสารขนาดใหญ่ เป็นสิ่งที่มีมาก่อน
มีมานานเท่าไหร่ไม่รู้ ก่อนที่พ่อแม่เราจะเกิดด้วยซ้ำ
ตอนแรกเราไม่เข้าใจถึงความสำคัญของมัน อดีตก็ปล่อยมันไปเถอะ มันผ่านไปแล้ว
ทำปัจจุบันให้ดีที่สุดดีกว่า แต่จริงๆ แล้ว สภาวะแห่งปัจจุบันล้วนมีที่มาจากอดีต
ถ้าเราไม่ให้ความสำคัญกับมัน เราก็จะโดนอดีตทำร้ายอยู่เรื่อยๆ ทำผิดซ้ำๆ
เราหนีอดีตไม่พ้น ยิ่งเราอยากปล่อยมันไป มันก็ไม่ไปอย่างที่เราปรารถนา
อดีตที่เน่าเหม็น ถ้าเราวางไว้ถูกที่ จัดการเป็นระบบ
มันก็จะกลายเป็นปุ๋ยที่ช่วยทำให้ต้นไม้เติบโต ถ้าเราเข้าใจอดีตเพียงพอ
เราก็จะสามารถประคับประคองปัจจุบันเอาไว้ได้ แต่อดีตที่ว่าไม่ใช่อดีตของเราเพียงคนเดียว
หากเป็นอดีตของมวลมนุษยชาติ”
“แต่การเข้าใจอดีตก็ต้องการจิตใจที่กว้างใหญ่เพียงพอ
เหมือนการเอาข้าวต้มไปใส่ไว้ในถ้วยกาแฟ มันจะหกเลอะเทอะ ทะลักล้น กระจัดกระจาย
ไม่ว่าจะเป็นความสุขหรือความทุกข์ ถ้าเราไม่ได้ฝึกฝนจิตใจให้เข้มแข็งพอ
มันก็ทำให้เราเจ็บปวดได้เหมือนกัน”
“เราจะทำให้ถ้วยกาแฟเป็นชามข้าวต้มได้อย่างไร” ผมสงสัย
“ขึ้นอยู่กับแต่ละคน แต่สำหรับผม…” เขาเว้นจังหวะ
“คือการเดินทาง”
9
1 ทุ่มตรงของอีกวัน ผมและช่างภาพนั่งอยู่ในรถที่ปอเป็นคนขับ
งานเปิดตัวนิทรรศการประสบความสำเร็จด้วยดี
คนในวงการศิลปะเชียงใหม่มาให้กำลังใจล้นหลาม อย่าง จุ๋ยจุ๋ยส์ สมชาย ขันอาษา
กลุ่มย้อนแย้งสุนทรียะและสหาย รวมทั้ง วชิรา อดีตบรรณาธิการนิตยสาร a
day
งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา เฉกเช่นเดียวกับการพบเจอที่ต้องมีการจากลา
ผมและช่างภาพมีกำหนดกลับกรุงเทพฯ คืนนี้ ปออาสาขับรถมาส่งที่อาเขต
“การเดินทางครั้งหน้าของคุณคือที่ไหน” ผมชวนคุย
“แอฟริกา ผมอยากเห็นทะเลทรายซาฮาร่าสักครั้งในชีวิต แต่ยังไม่มีกำหนดนะ
แค่คิดไว้เฉยๆ ไม่รู้จะได้ไปหรือเปล่า” เขาตอบเร็ว
ผมเชื่อว่าเขาต้องได้เห็นมันแน่ คนหนุ่มคนนี้น่าชื่นชม ไม่เพียงการลงมือทำในสิ่งที่เชื่อ
และการเฝ้ามองร่างกายภายนอกกับจิตใจภายในอยู่เสมอเท่านั้น
แต่เขายังตระหนักถึงความสำคัญในการเอาใจใส่คนรอบข้างและรักษาความสัมพันธ์นั้นด้วยหัวใจที่บริสุทธิ์
ปอวาดพวงมาลัยไปทางขวา รถของเราเคลื่อนที่เข้าไปในอาเขต
ผมตัดสินใจถามคำถามที่ตอบยากที่สุดคำถามหนึ่งในชีวิต
ชีวิตคืออะไร
“เรื่องนี้เป็นความลับนะ”
เขาหันมายิ้มพร้อมแตะเบรก รถหยุดเคลื่อนที่
“ความลับทำหน้าที่ของความลับ มันจะปกป้องตัวของมันเอง
ถ้าเราไม่สังเกตก็ไม่มีทางล่วงรู้คำตอบได้เลย เราทุกคนต้องค้นหาด้วยตัวเอง
สำหรับผมก็ยังไม่ค่อยแน่ใจนัก แต่เท่าที่รู้ในตอนนี้
ผมคิดว่าชีวิตคือการอิมโพรไวส์ ในดนตรีแจ๊ส การอิมโพรไวส์ไม่ได้เล่นสะเปะสะปะ
แต่คือการฟังเสียงดนตรี หรืออ่านอารมณ์ ความรู้สึก แล้วเล่นออกมา
มันมีทิศทางจากภายใน ชีวิตก็เหมือนกัน
ต้องฟังเสียงหัวใจตัวเองแล้วอิมโพรไวส์ไปกับมัน
“สิ่งสำคัญคือ
เราต้องมีจิตใจยิ่งใหญ่เพียงพอที่จะโอบอุ้มเหตุการณ์หลังจากการกระทำ
เราต้องยอมรับผลพวงจากการตัดสินใจของเราเอง”
ผมและช่างภาพเก็บสัมภาระลงจากรถ เราร่ำลากันอยู่ครู่ใหญ่
อาเขตจอแจด้วยผู้คน กลุ่มนักเดินทางชาวญี่ปุ่นเพิ่งลงจากรถทัวร์
เราแบกกระเป๋าเดินเข้าไปบริเวณตัวอาคาร
ปอขับรถออกจากสถานีเพื่อมุ่งหน้ากลับบ้าน
เขาคงไม่ทันสังเกตเห็นนักเดินทางหลายคนซึ่งกำลังจะเริ่มต้นสิ่งที่เราเรียกกันว่า
การเดินทาง
“ชีวิตคือการอิมโพรไวส์ ในดนตรีแจ๊ซ การอิมโพรไวส์ไม่ได้เล่นสะเปะสะปะ แต่คือการฟังเสียงดนตรี หรืออ่านอารมณ์ความรู้สึกแล้วเล่นออกมา ชีวิตก็เหมือนกัน ต้องฟังเสียงหัวใจตัวเองแล้วอิมโพรไวส์ไปกับมัน“
(จากคอลัมน์ a day with a view – a day 127 มีนาคม 2554)
คลิกอ่านบทสัมภาษณ์ตอนอื่นๆ ได้ที่นี่
ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ