JIMMY LIAO : ผมก็เหมือนคนส่วนใหญ่ที่ไม่มีแสงสว่างในชีวิต 3/4


สิงหาคม 2541 แสงแรกที่ส่องสาด

จิมมี่ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะเป็นนักเขียนได้

เคยมีคนถามเขาหลายครั้งหลายหนว่าอยากออกหนังสือของตัวเองไหม
เขาก็ปฏิเสธไปพร้อมกับเหตุผลว่า เขาทำไม่ได้
แต่หลังจากที่ภรรยาของเขาให้กำเนิดลูกสาวคนแรกและคนเดียวเมื่อปี 2540
ก็มีคนถามเขาด้วยคำถามเดิมอีกครั้ง คราวนี้คำตอบของเขาเปลี่ยนไป
จิมมี่อยากมีผลงานอะไรสักอย่างของตัวเองเก็บไว้เป็นที่ระลึก-เผื่อว่าถ้าลูกสาวของเขาโตขึ้นมาแล้วไม่เห็นเขา
ก็ยังได้เห็นหนังสือของเขา

จิมมี่เคยเขียนถึงที่มาของหนังสือเล่มแรกของเขา
Secrets In The Woods ไว้ว่า ผมป่วยหนัก จิตใจที่กลัวและหมดหวังไม่มีทางระบาย
ผมอาศัยการวาดภาพประกอบรักษาชีวิต ขณะเดียวกันก็ระบายความรู้สึกทุกข์โศก แล้วจู่ๆ
ผมก็มีเรื่องราวมากมายที่อยากจะพูด ดังนั้น ผมจึงเอาความตื้นตันใจ ความรู้สึกเล็กๆ
น้อยๆ ทุกอย่างหลังจากได้เกิดใหม่มาวาดเป็นหนังสือภาพเล่มเล็กๆ ชีวิตเล่นตลก
ตลกแกมเศร้าเคล้าน้ำตา แต่กลับทำให้ผมกลายเป็นนักเขียนภาพไปอย่างไม่ตั้งใจ ใครๆ
ก็บอกว่าผมเป็นคนโชคดี ผมเองก็คิดเช่นนั้น

ส่วน A Fish That Smiled at Me ผลงานเล่มที่
2 ของเขาที่วางแผงไล่เลี่ยกัน
เป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้ชายหนึ่งคนที่เลี้ยงปลาในโถแก้วแล้ววันหนึ่งก็ตัดสินใจปล่อยมันลงทะเล
จิมมี่เล่าว่า เขานึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมาได้ในเช้ามืดวันหนึ่ง
ซึ่งเขาเองก็ไม่แน่ใจว่ามันเป็นความฝันหรือความคิดของเขากัน
มันเป็นความรู้สึกเหมือนถูกจองจำที่เกิดขึ้นกับเขาในระหว่างที่เขาอยู่ในโรงพยาบาล
จิมมี่เขียนในหน้าแรกของหนังสือเล่มนี้ในฉบับภาษาจีนว่า แด่หมอและนางพยาบาลที่ดูแลเขาในโรงพยาบาล

ทันทีที่ผลงานชิ้นแรกของจิมมี่วางแผง
มันก็เปลี่ยนชีวิตของเขาไปโดยสิ้นเชิง
จากที่เคยเป็นเพียงนักวาดภาพประกอบที่ไม่มีใครรู้จัก
ชื่อของเขากลายเป็นที่พูดถึงอย่างหนาหูในหมู่นักอ่าน กระแสตอบรับที่งดงามเหล่านี้กลายเป็นพลังที่ช่วยให้จิมมี่ลืมความกลัวเรื่องโรคร้ายไปได้ชั่วคราว

“ตอนแรกผมคิดว่าชีวิตนี้คงไม่เหลืออะไรอีกแล้ว
ผมต้องยืมเงินคนอื่นมาใช้ แต่พอหนังสือ 2 เล่มแรกออกมาก็ขายดี มีรายได้
ได้รางวัลหลายรางวัล ยิ่งเล่มที่ 3 ยิ่งขายดีมาก” จิมมี่หมายถึงหนังสือเรื่อง
A Chance of Sunshine หรือในชื่อจีนว่า เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา ที่ถูกแปลไปแล้ว 11 ภาษา
ขายไปแล้วกว่า 1 ล้านเล่มทั่วโลก “ผมไม่เคยคิดเลยว่าตัวเองจะทำอะไรแบบนี้ได้
เมื่อก่อนเวลาเห็นคนมีหนังสือเป็นของตัวเอง ผมจะอิจฉามากๆ จนมาเขียนเรื่องนี้ ผมถึงเริ่มมีความมั่นใจว่าผมก็ทำได้”

จิมมี่เล่าถึงที่มาของพล็อตเรื่องที่ดังที่สุดและเป็นเรื่องรักเพียงเรื่องเดียวของเขาว่า
ตอนแรกเขาอยากจะวาดเรื่องเกี่ยวกับความรักของชายหญิงที่อยู่ในเมือง
แต่ต่างฝ่ายต่างตามหากันไม่เจอ แล้ววันหนึ่งเพื่อนข้างบ้านของเขาก็เรียกช่างมาซ่อมอะไรสักอย่าง
เขาก็เริ่มคิดว่า ทำไมถึงไม่รู้เลยว่าคนที่อยู่ข้างบ้านเราคือใคร
ก็เลยเอามารวมกันเป็นเรื่องของชายหญิงที่อยู่ใกล้ๆ กันแต่หากันไม่เจอ

จิมมี่เดาว่าสาเหตุที่หนังสือของเขาดังเปรี้ยงปร้างขนาดนี้ก็เพราะว่า
มันเป็นหนังสือแนวใหม่ เดิมหนังสือที่มีภาพเยอะๆ เป็นหนังสือสำหรับเด็กเท่านั้น
แต่งานของเขาเป็นหนังสือภาพสำหรับผู้ใหญ่

“หนังสือของผมอาจเหมาะกับผู้หญิงผู้ชายที่อยู่ในเมืองใหญ่ซึ่งค่อนข้างวุ่นวาย
จริงๆ แล้วในชีวิตของคนเหล่านี้อาจจะโล่งๆ ไม่มีอะไรเลย
แต่ว่าอยากจะจับความหวังไว้กับตัวเองบ้าง ตรงนี้คงเป็นสิ่งที่ดึงดูด

“ทุกอย่างที่ผมทำก็แค่เพื่อปลอบใจตัวเอง
ให้กำลังใจตัวเอง พูดกับตัวเอง ผมอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ดีมากๆ ผมไม่เคยคิดเลยว่า
สิ่งที่ผมทำออกมาได้ปลอบใจและให้กำลังใจบางคนไปด้วย
ผมไม่ชอบให้กำลังใจคนด้วยวิธีการเดียวกับคนทั่วไปที่เขียนว่าต้องทำอย่างนี้อย่างนั้น
ผมเลือกที่จะวาดเรื่องที่ตัวละครส่วนใหญ่ในเรื่องเป็นพวกอ่อนแอ ไร้ความสามารถ
ในโลกนี้มีคนแบบนี้เยอะ”

เหมือนอย่างเรื่อง Moon, Forgets จิมมี่ได้แรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในไต้หวันเมื่อปี
1999 ครั้งนั้นมีเด็กจำนวนมากสูญเสียพ่อแม่ จิมมี่ค่อนข้างอ่อนไหวต่อเรื่องแบบนี้
เขาเลยทำอะไรบางอย่างเพื่อปลอบใจเด็ก
โดยที่เขาเองก็ไม่รู้ว่าเด็กเหล่านั้นเข้าใจหรือเปล่า
เรื่องของเด็กชายผู้มีพระจันทร์เป็นเพื่อนเรื่องนี้มีแนวคิดหลักว่า
ถ้าคุณมองไม่เห็นสิ่งหนึ่งก็ไม่ได้แปลว่ามันไม่มี
บางครั้งมันก็มีอยู่เพียงแต่เรามองไม่เห็นมัน

ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะเป็นการปลอบใจที่ได้ผลหรือเปล่า
เพราะเรื่องราวในเล่มนี้มันช่างเศร้าเหลือเกิน

“ผมเลือกที่จะให้กำลังใจคนด้วยวิธีการแบบนี้
การที่ผมล้มป่วยกะทันหันทำให้ผมรู้ว่าในโลกนี้ไม่มีอะไรที่ดีไปหมด
หรือว่ามีแต่ความสุขไปหมด ภายในความสุขย่อมต้องมีความทุกข์ซุกซ่อนอยู่เบื้องหลังเสมอ”

และถ้าสังเกตดีๆ
เรื่องส่วนใหญ่ของจิมมี่ล้วนถูกเคลือบห่อไว้ด้วยความเศร้า
และตัวละครจำนวนมากของเขาต่างก็ถูกสร้างขึ้นมาจากความเหงาและความบอบช้ำ

“สาเหตุสำคัญคงมาจากโรคของผม
ผมกลัวมากแล้วก็เหงามากเพราะต้องทำงานคนเดียว คงเป็นเพราะนิสัยส่วนตัวของผมที่เป็นแบบนี้ด้วย
ชีวิตในวัยเด็กของผมด้วย เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่จะเริ่มเขียนอะไรสักอย่าง
อารมณ์ความรู้สึกโศกเศร้าหรือเหงาเหล่านี้ก็จะเข้ามาในความคิดของผมก่อน”

แต่ความโศกเศร้าในบางเรื่องก็เกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ

อย่าง The Sound of Colors หนังสืออีกเล่มที่ดังมาก
การที่ตัวเอกของเรื่องเป็นเด็กผู้หญิงตาบอดในรถไฟใต้ดินจริงๆ
แล้วที่มาของมันก็ไม่ได้หดหู่อะไรมากมาย
จิมมี่เขียนเรื่องนี้ขึ้นมาในระหว่างที่ไต้หวันกำลังสร้างรถไฟใต้ดิน
เขาบอกว่าครั้งแรกที่เขาได้ใช้บริการรถไฟใต้ดินที่เมืองนอก เขารู้สึกว่ามันแปลกมาก
ความรู้สึกตอนเดินเข้ากับเดินออกต่างกันลิบลับ ทางเข้าอาจจะดูชุลมุนวุ่นวาย
แต่พอเดินออกมาก็กลายเป็นสวนสาธารณะเงียบๆ สวยๆ
เขาเลยอยากจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับความรู้สึกตรงนี้ โดยคิดต่อว่า
ถ้าตัวละครเป็นคนตาบอดน่าจะมีสิ่งที่จินตนาการหรือนึกได้มากกว่าคนทั่วไป

นอกจากความเหงาเศร้าของตัวละครแล้ว
รูปสัตว์ตัวโตที่มักจะอยู่ผิดที่ผิดทางก็เป็นอีกเอกลักษณ์หนึ่งที่ชัดเจนมากในงานยุคแรกของจิมมี่
นักเขียนผู้เลี้ยงแมวและกระต่ายอธิบายว่า
ในยุคนั้นเขาดูหนังสือเด็กเยอะก็เลยติดวิธีการวาดรูปใหญ่ๆ มาจากหนังสือเหล่านั้น
อีกอย่างเขามองว่ารูปภาพหรือรูปสัตว์ใหญ่ๆ
ที่อยู่แบบผิดที่ผิดทางมันคือปริศนาดึงดูดให้คนอยากรู้ว่าคืออะไร

วิธีการทำงานของจิมมี่ก็คือ
เริ่มต้นจากการวาดรูปแล้วค่อยเขียนเรื่อง ยกเว้นแค่เรื่อง Mr.Wing เท่านั้น
จิมมี่จะวางโครงหลักๆ ของหนังสือเอาไว้ก่อน แล้วก็แปลงมันออกมาเป็นภาพ
จากนั้นค่อยตามเก็บรายละเอียดในเรื่อง

“ผมไม่ใช่คนโรแมนติกเลย
ทุกคนมักคิดว่าคนที่ทำงานแบบผมต้องเป็นคนโรแมนติก
เหมือนนักเขียนทั่วไปที่ต้องไปเที่ยวเมืองนอกบ่อยๆ เพื่อหาความรู้สึก หามุมมอง
แต่ผมไม่เคยทำอย่างนั้น ของพวกนี้ไม่มีความหมายสำหรับผม ถึงได้ไปเที่ยวเมืองนอก
ผมก็ไม่เคยถ่ายรูป ไม่เก็บข้อมูล ไม่ทำอะไรสักอย่าง
ไอเดียที่เอามาเขียนเรื่องส่วนมากผมคิดเอาเอง เริ่มจากไอเดียแล้วค่อยคิดเป็นเรื่อง
แล้วก็หาวิธีเล่า วิธีเขียนภาพ ผมเขียนจากเรื่องในชีวิตประจำวันของผม”

ยังไม่ต้องพูดถึงตัวหนังสือของเขา
เพียงแค่ดูภาพก็คล้ายกับเราได้อ่านบทกวีแล้ว จิมมี่พยักหน้าเห็นด้วย
เขาว่าภาพเขียนของเขาหนึ่งภาพก็เหมือนเรื่องหนึ่งเรื่อง
เขาเว้นช่องว่างไว้ให้คนดูจินตนาการเยอะมาก
ส่วนสไตล์การเขียนที่ละม้ายคล้ายบทกวีนั้น จิมมี่อธิบายว่า “ผมอ่านบทกวีบ่อย แต่ไม่ค่อยเข้าใจ”
เขาหัวเราะ แล้วขยับปลอกปากกามาร์กเกอร์ในมือเล่น “แต่บทกวีของผมง่ายมาก ใครอ่านก็เข้าใจ แต่ผมไม่ได้เน้นตรงบทกวีมาก
เพราะมีภาพทำหน้าที่อยู่แล้ว เรื่องของผมใช้ภาพนำ
แค่เขียนถึงสิ่งที่อยากจะพูดกับภาพนั้นนิดเดียวก็พอ แล้วที่เห็นผมเขียนสั้นๆ
เหมือนบทกวีน่ะ จริงๆ แล้วก็ไม่มีอะไรหรอก มันเขียนง่ายดี”

จิมมี่เคยเขียนเรื่องที่มีคนชอบเอาเรื่องของเขาไปตีความในเชิงปรัชญาว่า
ผมไม่ค่อยสบายใจเท่าไหร่ เพราะมันไม่ใช่เจตนาของผมเลยแม้แต่น้อย
ผมแค่อยากจะแสดงวิธีคิดที่ง่ายที่สุด ตื้นที่สุดออกมาก็เท่านั้น
ไม่ได้คิดไปถึงอะไรที่แฝงอยู่ข้างหลังลึกลงไปเลย
แต่เพราะความคิดภายในของผู้อ่านต่างกัน เมื่อดูหนังสือเลยมองอะไรไม่เหมือนกัน
แต่แน่นอนว่า ปรัชญาที่ล้ำลึกที่สุดมักจะแฝงอยู่ในเรื่องตื้นๆ ง่ายๆ เสมอ

“ผมสร้างงานของผมขึ้นมาเพราะผมอยากจะทำ
อยากจะพูด อยากจะเล่าเรื่องที่ผมคิดได้ เมื่อมันวางตลาด คนอ่านจะคิดยังไง
ได้รับอะไรจากหนังสือเล่มนั้น มันก็เป็นเรื่องของแต่ละคนที่ผมเข้าไปบังคับไม่ได้”

จิมมี่เติบโตมาในวงการโฆษณา
เพราะฉะนั้นหนังสือหลายๆ เล่มของเขาจึงมีคอนเซปต์และวิธีการนำเสนอที่แปลกใหม่
เขาว่าการคิดคอนเซปต์ของหนังสือไม่ใช่เรื่องยาก นอกจากกิมมิกแล้ว
จิมมี่ติดเรื่องการตลาดก่อนลงมือเขียนบ้างหรือเปล่า?

“ผมมาคิดตอนเขียนเสร็จแล้ว
ถึงตอนนั้นมันก็ช่วยอะไรไม่ได้แล้ว” ชายผู้ได้รับการยกย่องจากนิตยสาร
Studio Voice ว่าเป็น 1 ใน 55
ศิลปินที่มีความคิดสร้างสรรค์และทรงอิทธิพลมากที่สุดในเอเชียหันไปหัวเราะกับกาลาเทีย
เขาว่าเรื่องเนื้อหาคงแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว
สิ่งเดียวที่ทำได้ก็คือการทำปกซึ่งจิมมี่ตั้งใจกับมันมาก

“บางครั้งผมคิดเรื่องได้เรื่องนึง
ก็รู้ว่าเรื่องแบบนี้คนอ่านอาจจะไม่ชอบ แต่ใจผมอยากทำมาก ผมก็ไม่สน ทำออกมาจนได้
ถ้าผมเป็นคนที่ทำงานตามความต้องการของตลาด ผมก็คงทำมาตั้งนานแล้ว
แต่ก็ไม่ได้ทำเพราะไม่มีไอเดียด้านนี้จริงๆ หนังสือเล่มต่อจาก A Chance of Sunshine ก็ไม่ได้ขายดีเท่าเล่มนั้นอีกแล้ว
จริงๆ ผมก็อยากทำหนังสือโรแมนติกอย่าง A Chance of Sunshine ออกมาอีกเล่มนะ
แต่ก็ไม่รู้จะเขียนยังไงดี อาจเป็นเพราะผมอายุเยอะขึ้นด้วยมั้ง
เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้จริงๆ” จิมมี่ลงท้ายด้วยเสียงหัวเราะ

แล้วเรื่องที่มีคนจัดให้หนังสือของเขาเป็นหนังสือสำหรับเด็กล่ะ
เขาคิดยังไง?

“ในบางประเทศอย่างอเมริกา
มันไม่มีหนังสือประเภทนี้ หนังสือของผมก็เลยไปอยู่ในหมวดหนังสือเด็ก
บางทีผมก็อยากไปดูเหมือนกันว่าที่นั่นเขาแบ่งหมวดหนังสือกันยังไง
มันก็เลยไม่ใช่เรื่องของการเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย
ในหลายประเทศมีคนชอบหนังสือผมเยอะ แต่พอไม่รู้ว่าจะจัดหมวดยังไงสุดท้ายก็ไม่ได้แปล”

กาลาเทียเล่าให้ผมฟังเมื่อวันก่อนว่าตอนที่
The Sound of Colors ถูกแปลไปเป็นภาษาอังกฤษเพื่อวางตลาดที่อเมริกา
ทางสำนักพิมพ์ที่นั่นต้องปรับให้มันเป็นหนังสือสำหรับเด็กเพื่อให้ง่ายต่อการจัดหมวดหมู่จึงต้องมีการเชิญนักเขียนอเมริกันอีกคนมาทำงานร่วมกัน
หนังสือเล่มนี้เลยไม่ได้ถูกแปลแบบคำต่อคำ
แต่ถูกปรับเปลี่ยนโทนของภาษาและเนื้อหาให้ง่ายขึ้นสำหรับเด็ก
ทางจิมมี่เองก็ไม่ได้ติดขัดอะไร
เหมือนกับที่มีคนเอางานของเขาไปทำเป็นหนังหรือผลิตภัณฑ์มากมาย

“ผมรับได้ทุกอย่าง
แล้วก็ยินดีที่จะรับ แต่ในใจลึกๆ ผมคิดแค่ว่า ผมคือเจ้าของหนังสือเล่มนั้น
แต่หนังหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ มันก็มีส่วนเกี่ยวกับผม แต่ไม่มาก
มันเกิดขึ้นจากหนังสือของผม ไม่ใช่ผม”

“หนังสือของผมอาจเหมาะกับผู้หญิงผู้ชายที่อยู่ในเมืองใหญ่ซึ่งค่อนข้างวุ่นวาย จริงๆ แล้วในชีวิตของคนเหล่านี้อาจจะโล่งๆ ไม่มีอะไรเลย แต่ว่าอยากจะจับความหวังไว้กับตัวเองบ้าง ตรงนี้คงเป็นสิ่งที่ดึงดูด”

(จากคอลัมน์ a day with a view – a day 75 พฤศจิกายน 2549)

ภาพ คเชนทร์ วงศ์แหลมทอง
คลิกอ่านบทสัมภาษณ์ตอนอื่นๆ ได้ที่นี่
ตอนที่ 1
ตอนที่ 2
ตอนที่ 4

 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

คเชนทร์ วงศ์แหลมทอง

หัวหน้าช่างภาพของ a day และ HAMBURGER ผู้เชี่ยวชาญการถ่ายภาพพอร์เทรตและแฟชั่น สิ่งที่เขาทำได้ดีที่สุดคือการดึงตัวตนของคนหน้ากล้องให้ออกมาผ่านภาพถ่าย