JIMMY LIAO : ผมก็เหมือนคนส่วนใหญ่ที่ไม่มีแสงสว่างในชีวิต 2/4

สิงหาคม 2522 ฝนพรำจนฉ่ำใจ

 

จิมมี่ก็ไม่ต่างอะไรจากเด็กจำนวนมากที่เดินเข้าประตูมหาวิทยาลัยไปโดยไร้เป้าหมาย

“ตอนสมัครเรียนผมไม่ได้คิดอะไรเลย มีเพื่อนบอกว่าจะไปสอบก็เลยไปสอบด้วย ไม่ได้คิดเรื่องอนาคตเลยว่าจบมาแล้วจะทำอะไร แค่สอบติดก็พอ ผมไม่รู้ว่าเรียนศิลปะจบมาแล้วทำอะไรได้ ไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าการเรียนหนังสือคือการเรียนเพื่อเอาไปประกอบอาชีพ ผมรู้แค่ว่าเรียนก็คือเรียน”

แล้วในรั้วมหาวิทยาลัยแห่งนี้นี่เองที่ทำให้จิมมี่รู้ตัวว่าคงเอาดีกับการวาดรูปไม่ได้ เพราะเพื่อนร่วมรุ่นของเขาทุกคนล้วนมีพื้นฐานการวาดรูปที่ดีมากเนื่องจากร่ำเรียนกันมาตั้งแต่เด็ก ตรงกันข้ามกับเขา แม้เขาจะเคยได้รางวัลในระดับโรงเรียนมาแล้วก็เถอะ

“เหมือนกับเราร้องเพลงในห้องน้ำทุกวัน เราไม่เคยรู้สึกว่ามันไม่เพราะ จนกระทั่งวันหนึ่งที่เราได้ไปโรงเรียนร้องเพลง
เจอคนที่เรียนร้องเพลงมาตลอด ถึงรู้ว่าเราเทียบเขาไม่ได้เลย เราไม่เป็นเลย”

จิมมี่เลยต้องเลี่ยงไปเรียนในสาขาที่ใช้การวาดภาพน้อยที่สุดก็คือกราฟิกดีไซน์ แม้เขาจะเสียใจอยู่บ้าง แต่สีสันในมหาวิทยาลัยก็ช่วยให้เขาลืมมันได้โดยเร็ว

“ตอนเรียนมหาวิทยาลัยเป็นช่วงที่มีความสุขมาก เพราะคนที่เรียนวิชาศิลปะไม่ต้องอ่านหนังสือมาก แต่มีการบ้านต้องทำเยอะ วิชาดรอว์อิ้งก็ยากหน่อย แต่พวกงานกราฟิกดีไซน์ ผมรู้สึกว่ามันง่ายมาก เพื่อนๆ ผมต้องทำการบ้านกันจนดึกดื่น แต่ผมทำเสร็จเร็วมาก แล้วก็เริ่มรู้สึกว่าตัวเองก็เก่งเหมือนกัน” จิมมี่มองว่าสิ่งที่เขาเด่นกว่าเพื่อนๆ ร่วมรุ่นก็คือความสามารถในด้านกราฟิกดีไซน์ แล้วเขาก็มีเซนส์ในการใช้สีที่ดีมาก แต่จิมมี่ก็ยังยืนยันว่าจนเรียนจบมหาวิทยาลัยแล้วเขาก็ยังวาดรูปไม่เป็นอยู่ดี

เมื่อถามถึงความสนใจในด้านการอ่านคำตอบของจิมมี่คือ “ไม่เลย” ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไต้หวันในยุคนั้นยังค่อนข้างปกปิดข้อมูลข่าวสารไม่ค่อยมีหนังสือให้อ่านมากนัก

จิมมี่ใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยอย่างนักกิจกรรมตัวยงไม่ว่าจะเป็นการออกค่ายพักแรม หรือการเต้นรำ มหาวิทยาลัยของจิมมี่อยู่บนภูเขาที่เป็นอุทยานแห่งชาติ ตึกเรียนไม่สวยแต่สภาพแวดล้อมสวยมาก จิมมี่รู้สึกว่าตอนเรียนมหาวิทยาลัยเป็นช่วงเวลาที่ดีมาก แต่ก็มีข้อเสียคือค่าเทอมแพง ช่วงปิดเทอมเขาเลยต้องไปทำงานที่โรงงานเพื่อหารายได้พิเศษ

“ปี 1 – 2 ผมไปทำงานในโรงงานของญาติ เป็นโรงงานพลาสติก งานของผมคือพับถุงพลาสติก” จิมมี่เล่าถึงช่วงเวลานั้นอย่างอารมณ์ดี แล้วชีวิตเขาก็มาถึงจุดพลิกผันในช่วงเรียนปี 3 – 4 เมื่อเขามีโอกาสได้เข้าไปฝึกงานที่บริษัทโฆษณา เขาถึงได้รู้ว่าสิ่งที่เรียนมาทั้งหมดสามารถเอามาใช้ประโยชน์จริงๆ ได้ยังไง

ตุลาคม 2526 ลมโชยเบาราวกระซิบ

“ผมเป็นนักโฆษณาที่ไม่มีเป้าหมายอะไรที่อยากจะบรรลุไม่หวังอะไรกับตัวเองมาก”

จิมมี่สรุปชีวิตการทำงาน 12 ปีในบริษัทโฆษณาระดับท็อป 3 แห่งอย่างโอกิลวี่ฯ วันเปี่ยนถง และซาชิฯ เอาไว้ด้วยประโยคนั้น

“นักออกแบบบางคนต้องยืนยันความคิดของตัวเอง คือถ้าตัวเองคิดอะไรก็ต้องพยายามหาทุกวิถีทางยืนยันความคิดของตัวเองกับลูกค้า แต่ผมไม่คิดแบบนั้น ผมไม่ชอบประชุม ไม่ชอบคุยกับคนอื่น พอเห็นคนอื่นพยายามเสนอหรือยืนยันความคิดของตัวเอง ผมก็จะคิดว่าทำไมต้องทำอย่างนั้นด้วย ไม่เห็นจำเป็นเลย ช่วงทำงานโฆษณา งานของผมเลยไม่มีอะไรโดดเด่น”

“รางวัลด้านโฆษณาผมก็อยากได้ แต่ทำไม่ได้” อดีตอาร์ตไดเรกเตอร์แห่งบริษัทโฆษณาที่เริ่มงานมาตั้งแต่เรียนจบหัวเราะ รางวัลใหญ่สุดที่เขาเคยได้เป็นรางวัลโกลด์ระดับประเทศ งานนั้นเขาเป็นคนวาดรูป ไม่ใช่ครีเอทีฟผู้คิดโฆษณา “ผมรู้สึกว่ารางวัลพวกนี้มันไม่จริง เพราะงานที่ทำไปส่งประกวดกันมันไม่ใช่งานจริง แล้วโฆษณาเป็นสิ่งเปลี่ยนแปลงเร็วมาก 1 ปีผ่านไปคงไม่มีใครจำได้ว่าปีที่แล้วใครเคยได้รางวัล ใครเคยเด่น เหมือนซีรีส์ญี่ปุ่น เป็นละครที่ดูจบแล้วก็ผ่านไป ไม่เคยอยู่ในความทรงจำของใคร

“ส่วนมากแล้วหลังเวลางาน คนในบริษัทโฆษณาก็ยังทำงานกันต่อเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมาย หรือเพื่ออะไรสักอย่าง แต่ว่าจริงๆ แล้วมันไม่มีอะไรเลย บางงานที่ผมทำอาจมีมูลค่าถึง 10 ล้านเหรียญ แต่นานๆ ไปผมก็รู้สึกว่าของพวกนี้ไม่มีอะไรเป็นของผมเลย ทุกอย่างเป็นของลูกค้า ผมอยากมีอะไรเป็นของตัวเองบ้าง ผมเกลียดการประชุมมาก ไม่ชอบประชุมกับลูกค้า ไม่ชอบประชุมกับคนที่ทำงาน ประชุมกับลูกค้าก็โดนด่าอย่างเดียว ประชุมกับทีมก็ใช้เวลานานมาก แต่สุดท้ายก็ไม่ได้อะไร ผมเป็นคนที่เกลียดการทำงานเป็นทีม”

การทำงานในวงการโฆษณาไม่ได้มีแต่เรื่องเลวร้ายไปเสียทั้งหมด อย่างน้อยมันก็เป็นประตูบานแรกที่เปิดให้เขาก้าวเข้าสู่โลกของการเป็นนักวาดภาพ

ในช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัย จิมมี่บอกว่าเขาไม่มีเซนส์เรื่องการวาดรูปเลย วาดภาพประกอบเรื่องก็ไม่เป็น
อ่านหนังสือการ์ตูนก็ยังไม่รู้เรื่อง แต่พอมาทำงานโฆษณาเขาก็เกิดความคิดว่าอยากใช้ภาพวาดของตัวเองในงานโฆษณา อยากให้คนได้เห็นภาพวาดของเขา เขาก็เลยเริ่มหัดวาดรูปด้วยตัวเองอีกครั้งในวัย 27 ปี

“สมัยนั้นในไต้หวันยังไม่เคยมีใครใช้รูปวาดในงานโฆษณา ถ้าเราเอาคนมาโฆษณาก็ต้องมีนายแบบนางแบบ มีช่างแต่งหน้าทำผม ช่างภาพ รูปที่ถ่ายออกมากับสิ่งที่ลูกค้าต้องการอาจไม่ตรงกัน แต่ถ้าเป็นภาพวาด ผมสามารถวาดให้ลูกค้าดูได้เลย ถ้าตรงตามที่ลูกค้าอยากได้ก็โอเค

“ตั้งแต่เริ่มหัดวาดรูปจนถึงมีผลงานรวมเล่มของตัวเองกินเวลา 15 ปี ซึ่งมันก็ยาวนานพอสมควร คนที่มาเป็นตัวอย่างในการวาดก็เยอะ ตลอดช่วง 15 ปีนี้ ผมดูรูปภาพทุกอย่างไม่ว่าจะอยู่ในนิตยสารหรือหนังสือพิมพ์ รูปเล็กรูปใหญ่ เห็นรูปที่ไหนก็จะเอามาดูอย่างละเอียด ต้องวาดทุกวันด้วย นานๆ ก็วาดเป็นเอง”

หลังจากที่เขาหัดวาดรูปทุกวันอยู่ประมาณ 1 ปี ภาพวาดของจิมมี่ก็ได้ปรากฏตัวในงานโฆษณา จากนั้นเขาก็อยากให้ภาพวาดของเขาได้อวดโฉมในหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารบ้าง จิมมี่เล่าความฝันนี้ให้กับเพื่อนคนหนึ่งฟัง วันหนึ่งเพื่อนคนนี้ขอยืมสมุดที่จิมมี่วาดรูปเก็บไว้ไปให้บรรณาธิการสำนักพิมพ์ดู พร้อมกับเล่าว่าคนคนนี้อยากวาดรูปมาก ขอโอกาสให้เขาสักครั้งได้ไหม

แล้วจิมมี่ก็ได้รับสายจากบรรณาธิการคนนั้นติดต่อให้เขาเอาผลงานเข้าไปเสนออย่างจริงจัง หลังจากนั้นไม่นาน เขาก็ได้โอกาสทำภาพประกอบเป็นครั้งแรก ทุกอย่างผ่านไปอย่างราบรื่นจนกระทั่งวันที่เขาได้รับค่าตอบแทน

“ตอนที่ผมได้รับเงินผมบอกตัวเองว่าไม่ต้องทำอีกแล้ว เพราะเงินมันน้อยมาก” จิมมี่หัวเราะแล้วอธิบายต่อว่า
ขณะนั้นเขาทำงานในบริษัทโฆษณาซึ่งมีเงินเดือนค่อนข้างสูง แล้วเรตที่บริษัทโฆษณาจ่ายให้กับนักทำภาพประกอบสำหรับงานโฆษณาก็ถือว่าสูง เมื่อเขาต้องมารับค่าตอบแทนที่น้อยจนน่าตกใจ จิมมี่เลยบอกลาการเป็นนักทำภาพประกอบ แต่เขาก็ยังวาดรูปด้วยความสนุกอยู่ทุกวัน

2 – 3 ปีหลังจากนั้น บรรณาธิการคนเดิมชวนจิมมี่มาวาดภาพประกอบอีกครั้งสำหรับหนังสือของนักเขียนไต้หวันชื่อดัง “เงินน้อยเหมือนเดิม” เสียงหัวเราะของจิมมี่ทำงานอีกครั้ง “หนังสือเล่มนี้ขายดีมาก เลยมีคนเห็นงานของผมเยอะ จากนั้นหนังสือพิมพ์ ยูไนเต็ดเดลี่ ก็ชวนไปวาดภาพประกอบในหนังสือพิมพ์ แล้วก็มีคนชวนไปวาดภาพประกอบให้คอลัมน์อื่นๆ
เยอะขึ้นเรื่อยๆ

“ผมรู้สึกว่าตอนนั้นผมวาดไม่สวยเลย แต่ก็มีคนโทรมาชวนวาดเยอะมาก” จิมมี่พูดถึงงานเขาในสมัยนั้นที่ไม่ได้มีเค้าโครงคล้ายคลึงงานในปัจจุบันสักเท่าไหร่ นักเขียนภาพประกอบมือทองลองวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่มีคนชวนเขาวาดภาพประกอบมากมายขนาดนั้นว่า ช่วงนั้นสังคมไต้หวันเพิ่งเปิดเสรีทางข่าวสาร หนังสือพิมพ์เลยมีการเพิ่มหน้า เพิ่มคอลัมน์ ซึ่งหมายถึงความต้องการงานภาพประกอบที่เพิ่มตามไปด้วย

“ผมทำงานโฆษณาพออ่านเรื่องแล้วผมจะจับประเด็นเอามาเขียนรูปได้แม่นมาก ภาพที่ออกมาเลยตรงตามที่ลูกค้าต้องการ เวลาเสนองาน ผมก็คิดแบบโฆษณา คือออกแบบหลากหลายไปให้เลือก” พื้นฐานของการเป็นคนโฆษณาตรงนี้เองที่ทำให้จิมมี่ได้เปรียบนักวาดภาพประกอบคนอื่นๆ และข้อดีอีกอย่างที่เขาได้รับมาจากการทำงานโฆษณาก็คือเขาวางแผนการทำงานได้อย่างแม่นยำและตรงเวลามาก งานไหนต้องเสร็จวันไหน กี่โมง เขาก็ตรงเวลากับมันไม่ต่างจากงานประจำ เลยถูกใจลูกค้า เมื่อทำงานด้วยกันแล้วราบรื่น งานก็ไหลเข้ามาหาจิมมี่มากขึ้นเรื่อยๆ แต่เขายืนยันว่า เขาเป็นนักทำภาพประกอบที่ไม่ดังเลย ไม่เคยถูกสัมภาษณ์ ไม่มีผู้อ่านรู้จักงานของเขาเป็นที่พูดถึงแค่ในหมู่ของคนในแวดวงสื่อสิ่งพิมพ์เท่านั้น

เมื่อถามถึงจำนวนงานภาพประกอบที่เขาวาดต่อเดือนในช่วงที่พีกที่สุด

“ประมาณ 30 ชิ้น” คือคำตอบ

ไหนว่างานวาดภาพประกอบได้เงินน้อยจนไม่อยากทำแล้วไง?

“หลังๆ เพื่อนร่วมงานของผมก็ไปรับงานนอกกันหมด งานวาดภาพก็เป็นงานง่ายๆ แค่รับโทรศัพท์ วาดแล้วส่ง ไม่ต้องประชุม ไม่ต้องเจอคน ทำเสร็จในเวลาสั้นๆ ผมก็คิดว่างานง่ายๆ อย่างนี้ทำไมถึงไม่ทำ ถึงเงินจะน้อยแต่จำนวนเยอะ ก็วาดไปเรื่อยๆ วาดเสร็จก็ส่ง ผมมีเงินเดือนอยู่แล้ว ตรงนี้ก็ถือเป็นรายได้เสริม ก็เป็นงานที่มีความสุขดี ช่วงหลังๆ ที่ผมมีห้องทำงานเป็นของตัวเองแล้ว งานนอกมันเยอะมาก เยอะจนผมต้องปิดประตูห้องทำงานเพื่อวาดรูป” จิมมี่และทุกคนบนโต๊ะหัวเราะพร้อมกัน “แต่ก็ไม่ใช่ทุกวันนะ งานที่บริษัทโฆษณามันก็เยอะพอสมควร”

นอกจากเรื่องเงินแล้ว ผลพลอยได้อีกอย่างจากการวาดภาพประกอบที่ไม่สามารถประเมินมูลค่าได้ก็คือ ก่อนที่จะเขียนงานแต่ละชิ้น จิมมี่ต้องอ่านเรื่องก่อน ชีวิตในช่วงนี้ของจิมมี่จึงได้อ่านหนังสือเยอะมากโดยเฉพาะงานของนักเขียนดังๆ ทำให้เขาได้เรียนรู้เรื่องงานเขียนไปในตัว

เดิมทีงานหลักของจิมมี่คืองานโฆษณาโดยมีงานวาดรูปเป็นงานรองแต่พอเวลาผ่านไป เขายิ่งรู้สึกแย่กับงานโฆษณาตรงที่ต้องทำงานเป็นทีม ต้องประชุมต้องเจอลูกค้า ในขณะที่งานภาพประกอบก็เพิ่มมากขึ้นจนเขาต้องกลับบ้านมาใช้เวลานั่งหลังขดหลังแข็งวาดรูปนานมากทุกวัน จนไปๆ มาๆ รายได้จากการวาดภาพกลับมากกว่าเงินเดือนประจำ

จิมมี่ก็เริ่มคิดว่า เขาไม่จำเป็นต้องทำงานเหนื่อยหนักเพื่อให้ได้เงินเยอะขนาดนี้ก็ได้

ในที่สุดจิมมี่ก็ตัดสินใจปิดฉากอาชีพในวงการโฆษณาหลังจากอยู่กับมันมาถึง 12 ปี ตำแหน่งสุดท้ายของเขาคือ อาร์ตไดเรกเตอร์ ตำแหน่งเดิมตำแหน่งเดียวกับตอนที่เขาเริ่มทำงาน เหตุผลก็คือเขาไม่อยากเลื่อนตำแหน่ง เขาไม่อยากมีลูกน้อง
เขาเกลียดเรื่องงานบริหารที่ต้องดูแลคนมากๆ

เป้าหมายเดียวของจิมมี่ในวันนั้นก็คืออยู่บ้านเพื่อวาดรูป

ตุลาคม 2538 เหนือฟากฟ้ามีเสียงฟ้าฟาด

จิมมี่มีความสุขกับการอยู่บ้านวาดรูปได้ประมาณ 1 ปี จากนั้น เขาก็เริ่มมีอาการปวดขานิดๆ ไปหาหมอหลายแห่งก็ไม่พบสาเหตุ เขาทนปวดขามาได้ 3 เดือน ก็ตัดสินใจเข้าโรงพยาบาลเพื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียด แล้วจิมมี่ก็พบความจริงที่ยากจะรับได้

“ตอนแรกหมอไม่กล้าบอกผมตรงๆ ว่าเป็นอะไร เขาบอกแค่พบอะไรบางอย่างที่ไม่ดีตรงกระดูกสันหลัง ผมเลยถามหมอว่าเป็นมะเร็งใช่ไหม หมอก็พยักหน้า” จิมมี่ถอดแว่นวางบนโต๊ะ ตาของเขาเริ่มแดง

จิมมี่เป็นโรคมะเร็งในเม็ดเลือด หรือ ลูคีเมีย

“ผมร้องไห้ทันทีเลย หมอบอกว่าอาการของผมรุนแรงมาก คืนนั้นผมต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาทันที ต้องโทรตามคนที่บ้านให้มาประชุมที่โรงพยาบาลว่าจะเอายังไง มันเป็นช่วงเวลาที่ทรมานมาก” น้ำเสียงที่จิมมี่เล่าฟังดูสนุก แต่ตาของเขาไม่ได้บอกอย่างนั้น

“ผมคิดว่าตัวเองไม่รอดแน่ เพราะผมไม่มีความรู้เกี่ยวกับโรคนี้มาก่อน เคยเห็นแต่ในหนัง คนที่เป็นโรคนี้ตายทุกคน อย่างที่สอง คนรอบข้างที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่เป็นโรคนี้ก็ไม่มีใครรอด”

“ผมเตรียมตัวตายแล้ว” จิมมี่หัวเราะอีกครั้ง “ผมกลัวมาก สิ้นหวัง เศร้าใจ เสียใจ สุดท้ายก็แล้วแต่หมอว่าจะทำอะไรกับชีวิตผม มันเป็นช่วงเวลาที่ทรมานมากๆ”

จิมมี่ใช้เวลารับการรักษาในโรงพยาบาลอยู่ 5 เดือน ผ่านการทำเคมีบำบัด 3 ครั้ง แล้วเขาก็ได้รับอนุญาตให้กลับมาพักผ่อนที่บ้าน ซึ่งเขาไม่คิดว่านี่คือสัญญาณที่ดีขึ้น

“มันยิ่งแย่ ไม่มีหมอ ไม่มีพยาบาล ไม่มีคนที่จะปรึกษาได้ ไม่มีงาน ไม่มีเงิน” น้ำเสียงของจิมมี่ฟังดูเศร้า
เกือบปีหลังจากนั้นก็มีบรรณาธิการถามไถ่เข้ามาว่าเขายังวาดรูปได้ไหม เขาก็ตอบว่าวาดได้ แต่คงวาดวันละรูปเหมือนเก่าไม่ได้ อาจจะได้แค่สัปดาห์ละรูป แล้วภาพวาดของจิมมี่ก็ได้โอกาสกลับมาปรากฏตัวในวงการน้ำหมึกอีกครั้ง จิมมี่มองว่าบรรณาธิการคงอยากช่วยเหลือเขามากกว่าเหตุผลอื่น

“รูปที่ผมวาดในช่วงนั้นไม่เหมือนรูปที่เคยวาดก่อนป่วยเลย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาผมก็ได้ยินคนพูดว่ารูปที่ผมวาดมันดีมาก
อาจจะเป็นเพราะว่ามีพระเจ้าช่วยผมก็ได้” ภาพวาดในช่วงนั้นของจิมมี่ยังคงเป็นภาพสีน้ำแต่เปลี่ยนจากภาพสีสันสดใสกลายมาเป็นภาพขาวดำที่ประณีต เศร้า และเหงาจับใจ ภายหลังภาพวาดชุดนี้ได้ถูกนำมารวมอยู่ในหนังสือเรื่อง Beautiful Solitude และได้รับการกล่าวขานว่าเป็นหนังสือที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งในชีวิตของจิมมี่

ระยะเวลา 3 ปีนับตั้งแต่เขามีอาการป่วย จิมมี่ก็หมกตัวอยู่แต่ในบ้าน ตัดขาดจากโลกภายนอกโดยสิ้นเชิง กินอาหารเจ อาหารปลอดสารพิษ และเล่นซี่กง

“ผมมองชีวิตแค่มีชีวิตต่อไปวันต่อวัน ไม่รู้ว่าความหวังมันไปอยู่ที่ไหน ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นกับสุขภาพผมนิดเดียว ผมจะรู้สึกหวาดกลัวมาก”

“ผมรู้สึกว่ารางวัลด้านโฆษณามันไม่จริง เพราะงานที่ทำไปส่งประกวดกันมันไม่ใช่งานจริง แล้วโฆษณาเป็นสิ่งเปลี่ยนแปลงเร็วมาก 1 ปีผ่านไปคงไม่มีใครจำได้ว่าปีที่แล้วใครเคยได้รางวัล ใครเคยเด่น เหมือนซีรีส์ญี่ปุ่น เป็นละครที่ดูจบแล้วก็ผ่านไป ไม่เคยอยู่ในความทรงจำของใคร”

(จากคอลัมน์ a day with a view – a day 75 พฤศจิกายน 2549)

ภาพ คเชนทร์ วงศ์แหลมทอง
คลิกอ่านบทสัมภาษณ์ตอนอื่นๆ ได้ที่นี่
ตอนที่ 1
ตอนที่ 3
ตอนที่ 4

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

คเชนทร์ วงศ์แหลมทอง

หัวหน้าช่างภาพของ a day และ HAMBURGER ผู้เชี่ยวชาญการถ่ายภาพพอร์เทรตและแฟชั่น สิ่งที่เขาทำได้ดีที่สุดคือการดึงตัวตนของคนหน้ากล้องให้ออกมาผ่านภาพถ่าย