ลองจินตนาการว่า ถ้าขาดคนกวาดขยะไป ถนนหนทางหรือฟุตพาทในกรุงเทพฯ จะเป็นอย่างไร แล้วถ้าหลายๆ บริษัทไม่มีแม่บ้านคอยทำความสะอาดล่ะ พนักงานคนอื่นๆ จะทำงานกันได้ไหม
ถ้าหลายคนตอบคำถามนี้ว่า ‘อยู่ไม่ได้หรอก’ แปลว่าพวกเขาเองก็จำเป็นต่อองค์กรใช่ไหมล่ะ?
แต่ทำไมการทำงานในตำแหน่งนี้ถึงถูกมองว่าต่ำต้อย แถมค่าตอบแทนที่ได้รับก็แสนจะน้อยนิด แล้วทำไมพวกเขาถึงแทบไม่มีสิทธิที่จะมีสวัสดิการรองรับ หรือมีชีวิตที่ดีกว่าเหมือนอย่างอาชีพอื่นๆ บ้างล่ะ
ประโยคข้างบนนี้เองคือหนึ่งในสิ่งที่เราเรียกว่า ‘สิทธิแรงงาน’ ที่ไม่ว่าใครจะทำตำแหน่งไหนก็ควรจะได้รับค่าตอบแทนและสวัสดิการอย่างเสมอภาค แต่อย่าเพิ่งคิดว่าแรงงานจะต้องหมายถึงอาชีพที่มักจะถูกด้อยค่าเท่านั้น เพราะจริงๆ แล้ว หากคุณเป็นพนักงานออฟฟิศ นักเขียน คนจัดไฟ ผู้กำกับ ครีเอทีฟ นักแสดง อาจารย์ เราทุกคนเป็น ‘แรงงาน’ เหมือนกันหมด
“เคยไหมที่ต้องทำงานเกินเวลา เกินหน้าที่ ทำงานวันเสาร์-อาทิตย์แต่ไม่ได้โอที ทำงานหามรุ่งหามค่ำ แต่ค่าแรงก็ยังน้อยเหมือนเดิม ความอยุติธรรมพวกนี้แฝงอยู่ในชีวิตเราทุกคน แต่เราไม่เคยตั้งคำถาม และยอมจำนนกับมันมาตลอด”
นี่เองคือแนวคิดที่ ‘สหภาพคนทำงาน’ นำเสนอกับสังคม กลุ่มที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อผนึกกำลังคนทำงานให้ร่วมต่อสู้กับอำนาจกดขี่ในระบบแรงงาน เพราะเชื่อว่าสิทธิของคนทำงานไม่ใช่จะได้มาจากนายจ้าง แต่เกิดจากการร่วมกันเรียกร้องความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น
เราอยากชวนไปคุยกับ แชมป์–ฉัตรชัย พุ่มพวง ตัวแทนจากสหภาพคนทำงาน และหนึ่งในทีมงานจาก ‘พูด’ เพจคอนเทนต์วิดีโอที่มีผู้ติดตามมากกว่า 700,000 คน ว่าด้วยสิทธิแรงงาน และไขคำตอบว่าทำไมการรวมตัวกันของคนทำงานถึงเป็นเรื่องสำคัญพอๆ กับที่คนรุ่นใหม่ต่างออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยในตอนนี้
ทุกคนคือแรงงาน และ แรงงานสำคัญที่สุด
แชมป์เล่าว่า การก่อตั้งสหภาพคนทำงานเริ่มต้นจากคำถามง่ายๆ ว่า ‘จะมีประโยชน์อะไร ถ้าเราได้การเมืองแบบประชาธิปไตย แต่ยังต้องกลับไปทำงานในบริษัทที่เป็นทุนนิยมเผด็จการ’
“มันเป็นคำถามจากเพื่อนคนหนึ่ง ที่ถามขึ้นมาตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่มีม็อบ คำถามนี้วนอยู่ในหัวเรานานมาก ตอนนั้นเราถามตัวเองว่า ที่ผ่านมาเราจะต่อสู้กับเผด็จการ หรือความอยุติธรรมต่างๆ ไปทำไม ถ้าเรายังยอมก้มหัวให้นายทุนที่จ้องจะเอาเปรียบเราเสมอ โครงสร้างอำนาจเบ็ดเสร็จในองค์กร มันต่างอะไรจากเผด็จการที่ชอบใช้อำนาจกดขี่ประชาชน เพียงแต่ย่อลงมาอยู่ในบริษัท”
แชมป์ยกตัวอย่างด้วยประสบการณ์ที่ได้จากการทำงานที่แรกของเขา บริษัทที่อ้าแขนรับนักศึกษาจบใหม่ ด้วยเงินเดือน 20,000 บาท กับมูลค่าชิ้นงานราคาหลักแสน เมื่อถูกหักค่าแรงแล้วส่วนต่างที่เหลือก็เข้ากระเป๋าเจ้านาย
“บริษัทแทบทั้งโลกก็เป็นแบบนี้ใช่ไหม ขนาดเราทำงานบริษัทเล็กๆ มีพนักงาน 3 คนกับเจ้านายอีกหนึ่ง เงินเดือนลูกจ้างรวมกันยังไม่เกิน 60,000 เลย แต่เราสร้างมูลค่าให้บริษัทได้เดือนละประมาณ 400,000 เราก็ตั้งคำถามว่า ตอนนั้นถ้าไม่มีเราสามคน เงินแสนนี่บริษัทจะทำได้ไหม ต่อให้ไม่ใช่เรา 3 คน มันก็ยังต้องการ 3 คนอื่นๆ มาทำอีก แบบนี้แปลว่า เจ้าของบริษัททำคนเดียวไม่ได้ใช่หรือเปล่า ถ้าทำไม่ได้ อันนี้ถามแบบธรรมดาเลย แล้วเขามีสิทธิ์อะไรที่มาเอามูลค่าทั้งหมดที่คนส่วนใหญ่สร้างไปเป็นของตัวเอง นี่มันคือความเผด็จการในการแบ่งกำไร”
เป็นช่วงเวลานั้นเองที่แชมป์เริ่มทำความรู้จักกับแนวคิด ‘ประชาธิปไตยในที่ทำงาน’ และ ‘ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ’ พร้อมกับที่เข้าเป็นส่วนหนึ่งของทีมงาน ‘พูด’ เพื่อนำเสนอเรื่องราวของแรงงานและการต่อสู้เพื่อสวัสดิการและปากท้อง จนคลิปวิดีโอที่เกี่ยวข้องกับประเด็นประชาธิปไตยในที่ทำงานเริ่มถูกพูดถึง และจุดประกายให้แชมป์ตัดสินใจออกมาปราศรัยในการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย ที่หน้าสำนักงานสภายานยนต์แห่งประเทศไทย BTS ปู่เจ้า จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2563
“ตอนนั้นเราออกไปพูดในฐานะตัวแทนจากเครือข่ายสหภาพนักออกแบบ ด้วยความเข้าใจทางทฤษฎีว่า มันต้องมีสหภาพภาคอุตสาหกรรมที่แข็งแรงหลายๆ แห่งก่อน แล้วค่อยมารวมเป็นสหภาพแรงงานระดับชาติ แต่ในการชุมนุมครั้งนั้น เราได้เจอกับกลุ่มคนที่เขาต่อสู้ด้านแรงงานมาหลายสิบปี แล้วถึงได้ไอเดียว่า ที่จริงเรารวมกันได้ตั้งแต่ตอนนี้ ข้ามไปเป็นกลุ่มแรงงานขนาดใหญ่ เราสามารถก่อตั้งสหภาพได้เลย
“คนที่เขาทำงานอยู่ในขบวนการแรงงานมานาน เขาบอกว่ารอบนี้มันไม่เหมือนที่ผ่านๆ มา เพราะคนที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวมันหลากหลายมาก เราไม่เคยเห็นแรงงานในโรงงานกับแรงงานในกองถ่าย หรือคนทำงานสร้างสรรค์มาเจอกัน อาจจะเป็นครั้งแรกในรอบ 46 ปี หลังจากตอน 6 ตุลาฯ เลยก็ได้”
สหภาพคนทำงาน จึงเกิดขึ้นภายใต้การร่วมมือกันของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ตั้งใจจะผลักดันประเด็นรัฐสวัสดิการและสิทธิแรงงาน กับกลุ่มนักเคลื่อนไหว สถาบันวิจัย และนักวิชาการที่มีประสบการณ์ต่อสู้ในขบวนการแรงงานมาตลอดหลายปี ผนึกกำลังกันก่อตั้งเป็นองค์กรภาคประชาชนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสวัสดิภาพของคนทำงาน
“ตอนแรกเราเห็นถึงความเข้าใจผิดที่ชัดเจนมาก ของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าแรงงาน กับกลุ่มที่เข้าใจว่าตัวเองเป็นคนธรรมดา อย่างพนักงานออฟฟิศ หรือคนที่ทำงานในห้องแอร์ พวกนี้เขาจะไม่ค่อยนิยามตัวเองว่าเป็นแรงงานเท่าไหร่ แต่จริงๆ แล้ว ทุกคนที่ใช้ทักษะเพื่อทำมาหากิน คนที่ต้องทำงานหาเงินคือแรงงาน เราแค่ถูกแบ่งแยกโดยวัฒนธรรมทุนนิยม ทำให้เรามองพวกเดียวกันเป็นคนอื่น มองว่าการที่คนอื่นถูกกดขี่หรือกดทับ มันไม่ใช่ปัญหาของเรา นี่ล่ะคืออุปสรรคที่ขวางให้ขบวนการแรงงานไทยไม่สามารถเติบโตได้
“ทุนนิยมชอบสอนให้ทุกคนตะเกียกตะกาย สอนว่าถ้าเรามีไอเดีย มีเงิน แล้วเราจะรอด ถ้าเรามีความรู้ สามารถไปลงทุนในหุ้นหรือคริปโตได้ คุณภาพชีวิตของเราจะดีกว่าคนอื่น แต่ไม่เคยมีใครมาบอกเราว่าเบื้องหลังคุณภาพชีวิตที่ดีแบบประเทศโลกที่หนึ่ง การมีวันลาเป็นเดือนต่อปี การที่พ่อแม่สามารถลาคลอดไปเลี้ยงลูกได้โดยไม่โดนไล่ออก ค่าแรงที่แพงกว่า หรือการศึกษาที่มีคุณภาพ ทุกเบื้องหลังของมัน มาจากการต่อสู้ของแรงงานทั้งนั้น” แชมป์อธิบายให้เราเห็นภาพและเชื่อมโยงข้อมูลให้เข้าใจได้ง่ายๆ ว่าทำไมเราทุกคนถึงเป็นแรงงานเหมือนกัน
อีกด้านหนึ่ง ถ้าเราลองไปสำรวจระบบและตลาดแรงงานอีกซีกโลก อย่างยุโรปเหนือ เราจะพบว่าอัตราประชากรที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานอยู่ที่ 60 เปอร์เซ็นต์เป็นอย่างต่ำ บางประเทศมีการเข้าร่วมสูงถึง 70-80 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ประเทศไทยไทยมีอัตราการรวมตัวของแรงงานอยู่ที่ 1.6 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเมื่อเทียบกันแล้วถือว่าต่ำที่สุดในอาเซียน ขณะที่ประเทศในแถบยุโรปถูกยกย่องว่ามีความเจริญ ประเทศไทยกลับได้ตำแหน่งประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุด ประจำปี 2018 มาครอง
“ส่วนหนึ่งของผลลัพธ์แบบนี้ มาจากการที่ทุกคนไม่นิยามว่าตัวเองเป็นแรงงาน เพราะคำว่าแรงงานมันมีความหมายไม่ดี แนวคิดสหภาพแรงงานเลยขายไม่ออก ทุกคนไม่มองว่าเราเป็นพวกเดียวกัน เราเลยรวมตัวกันไม่ได้ เพจพูดเลยพยายามจะสื่อสาร พยายามจะอธิบายเรื่องสำนึกร่วมของการเป็นแรงงาน แต่ถ้ามีปัญหากับการใช้คำว่าแรงงานนัก เราใช้คำว่าคนทำงานก็ได้ นี่ก็เป็นอีกเหตุผลที่เราเสนอชื่อสหภาพคนทำงานไป ก่อนจะได้รับการโหวตเป็นชื่อนี้จริงๆ”
“หลายคนน่าจะเคยได้ยินคำว่า ‘อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน’ มันมีคำนี้ขึ้นมาเพื่อบอกว่า เราเปลี่ยนแปลงสังคมได้ อํานาจอธิปไตยมันเป็นของประชาชนจริงๆ เราทุกคนในฐานะประชาชน ในฐานะคนทำงาน มีคุณค่า พวกเราคือคนที่สำคัญที่สุดในประเทศนี้ เราสำคัญที่สุดทางเศรษฐกิจ สำคัญที่สุดในองค์กร เพราะถ้าไม่มีเรา เงินทุนทุกบาทก็ไม่มีความหมาย คอมพิวเตอร์ เครื่องจักรแพงๆ ก็ไร้ค่า ไอเดียที่บอกว่าบรรเจิดนักหนาก็เป็นแค่เรื่องเพ้อเจ้อ ถ้าไม่มีคนทำงาน คนที่สร้างไอโฟน ไม่ได้มีแค่สตีฟ จ๊อบ แต่ยังมีแรงงานในประเทศจีน มีเด็กในแอฟริกาที่ลงไปขุดแร่มาทำชิป นี่คือคุณค่าที่เรามี และมันคืออำนาจจริงๆ ของเรา”
สู้แบบรวมหมู่ เพราะปัญหาเป็นของทุกคน
แนวคิดการรวมตัวเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง ไม่ใช่เรื่องใหม่ในหน้าประวัติศาสตร์การต่อสู้ของขบวนการแรงงาน และมันก็ถูกยกมาเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่น่าสนใจที่สหภาพคนทำงานเองก็ฝันอยากจะไปให้ถึง
“ถ้ายังไม่เข้าใจว่าคนทำงานสำคัญยังไง ให้ลองตั้งคำถามว่า ประเทศจะไปต่อได้ไหม หากขาดพวก 1 เปอร์เซ็นต์ที่กุมอำนาจ ทุกคนก็น่าจะนึกออกว่ามันก็ไปต่อได้ มันก็ปกติ แต่ถ้าไม่มีคน 99 เปอร์เซ็นต์ต่างหาก ที่เศรษฐกิจจะไปต่อไม่ได้ มันพังเลย โดยเฉพาะยุคที่เศรษฐกิจของโลกเชื่อมต่อถึงกันแบบนี้ นี่คือสิ่งที่เราต้องจินตนาการให้ออก ปลายทางมันจะย้อนกลับไปที่คำว่า ‘ชัยชนะในเชิงอำนาจ’ อำนาจที่สามารถโค่นเผด็จการได้”
คำพูดของแชมป์เชื่อมโยงไปถึงวิธีการต่อสู้ของคน 99 เปอร์เซ็นต์ที่มีให้เห็นในประวัติศาสตร์แรงงานทั่วโลก นั่นคือ General Strike หรือการนัดรวมตัวหยุดงาน ซึ่งต้องใช้ความร่วมแรงร่วมใจของคนทำงาน
“เวลาจะอธิบายถึงการต่อสู้ของแรงงานที่ประสบความสำเร็จ เรามักใช้ข้อมูลจากคลิป ‘สังคมที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงินในสเปน?’ ที่เคยนำเสนอไปในเพจพูด เล่าคร่าวๆ คือ ตอนปี 1919 มีการตัดเงินเดือนพนักงานโรงงานไฟฟ้าพลังงานน้ำในแถบกาตาลูญญา ตอนนั้นพนักงานที่โดนตัดเงินเดือนก็เลยเลือกโต้ตอบด้วยการหยุดงาน
“ประเด็นคือสหภาพแรงงานสเปนเข้มเข็งอยู่แล้ว ทำให้คนที่หยุดงานไม่ได้มีแค่พนักงานในโรงงาน แต่พนักงานจากภาคส่วนอื่นก็ตัดสินใจหยุดงานด้วย รวมๆ แล้วเกินแสนคน กลายเป็นหยุดงานกันทั้งเมือง เมืองบาร์เซโลนาก็เลยเป็นอัมพาต เป็นแบบนี้อยู่ประมาณ 44 วัน สุดท้ายรัฐบาลสเปนต้องออกมาไกล่เกลี่ยให้
“นั่นก็คือชัยชนะจากการหยุดงาน ที่ผลลัพธ์ไม่ใช่แค่พนักงานโรงงานไม่โดนตัดเงินเดือน แต่พวกเขายังได้สิ่งที่เรียกว่า กฎหมายชั่วโมงการทำงาน เป็นประเทศแรกของโลก ตอนนั้นรัฐบาลต้องยอมออกกฎหมายให้แรงงานทำงานไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง ซึ่งประเทศอื่นก็ค่อยๆ ใช้ตามกัน”
แชมป์บอกว่า นี่คือผลลัพธ์ของการต่อสู้แบบรวมหมู่ การเห็นปัญหาของทุกคนเป็นปัญหาของตัวเอง ทำให้เราได้อะไรที่ยิ่งใหญ่กว่าโบนัสปลายปี เพราะมันทำให้คนทั้งโลกได้สิ่งนี้ไปด้วย ซึ่งในไทยก็มีกฎหมายชั่วโมงการทำงาน 8 ชั่วโมงที่เป็นมรดกจากการต่อสู้ครั้งนั้น หลายประเทศเอาเป็นเยี่ยงอย่างและทำตามกัน จุดประกายให้เกิดการ General Strike ในประเทศแถบยุโรปอีกหลายครั้งในช่วงหลายปีต่อมา
“มันเป็นรากฐานที่ทำให้คนยุโรปในหลายประเทศมีวันลาที่มากเป็นพิเศษ มีชั่วโมงการทำงานที่แฟร์ มีค่าแรงที่เป็นธรรม สิทธิลาคลอดที่สมเหตุสมผล อะไรพวกนี้มันมาจากการต่อสู้ของขบวนการแรงงาน ไม่ได้มีใครประทานมาให้ ไม่ใช่การขอร้อง ไม่ใช่การสงเคราะห์ แต่มันเป็นคำสั่ง จากคนที่มีอำนาจและสำคัญที่สุดในสังคม นั่นคือพวกเรา”
และไม่ใช่ว่าการต่อสู้แบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะหากย้อนกลับไปในหน้าประวัติศาสตร์ ประเทศไทยเองก็เคยมี General Strike ที่ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ครั้งเดียว เพราะสถิติสูงที่สุด คือการนัดหยุดงาน 501 ครั้งในปี พ.ศ. 2516 ปีเดียวกับที่เกิดการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยโดยกลุ่มนักศึกษา ในวันที่ 14 ตุลาคม ช่วงนั้นจึงไม่ได้มีแค่นักศึกษาต่อสู้เท่านั้น แต่กลุ่มกรรมกร ชาวนาก็ร่วมแรงร่วมใจต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเองด้วย ในช่วงปี 2516-2519 จึงเรียกคนกลุ่มนี้ว่า ‘สามประสาน’ คือ นักศึกษา ชาวนา กรรมกรทำงานร่วมกัน
“ยกตัวอย่างการต่อสู้ที่ประสบความสำเร็จในไทย ช่วงปี 2517 ที่นายจ้างอ้างว่าเศรษฐกิจไม่ดี อุตสาหกรรมทอผ้าหดตัว ก็เลยจะตัดเงินเดือนพนักงาน ตอนนั้นทั้งสหภาพแรงงานและขบวนการประชาธิปไตยค่อนข้างจะเติบโตและรวมตัวกันได้เหนียวแน่น พอเกิดเหตุการณ์นี้ พนักงานเป็นหมื่นคนจากหลายร้อยโรงงานนัดหยุดงานแล้วลงถนนเดินขบวนกันมาที่สนามหลวงเรียกร้องค่าแรง ซึ่งไม่ใช่แค่เพื่อเงินเดือนตัวเอง แต่เรียกร้องให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 16 บาทเป็น 25 บาท”
การชุมนุมของแรงงานโรงงานทอผ้าครั้งนั้นยืดเยื้ออยู่ 4 วัน จนในที่สุดรัฐบาลยุคนั้นจึงได้ยอมประกาศค่าแรงขั้นต่ำในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็น 20 บาทในวันที่ 14 มิถุนายน 2517 ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็น 25 บาทในวันที่ 16 มกราคม 2518 รวมถึงมีการจ่ายชดเชยเมื่อมีการออกจากงานด้วย
“คีย์เวิร์ดของการต่อสู้นี้คือคำว่า ค่าแรงขั้นต่ำ คือต่อให้คุณทำงานในวงการอื่น ทำอาชีพอื่น ค่าแรงของคุณก็ขึ้นเป็น 25 บาทเหมือนกัน ทั้งๆ ที่มันมาจากการสไตรก์ของคนในภาคอุตสาหกรรมทอผ้ากลุ่มเดียว อย่างตอนนี้ถ้าเราเห็นปัญหาของไรเดอร์เป็นปัญหาของเรา ปัญหาของคนทำงานในโรงงานก็คือปัญหาของเราด้วย คือเราต้องมีเซนส์แบบนี้ถึงจะรวมพลังอำนาจของทุกคนเอาไว้ด้วยกันได้ แล้วเราถึงจะชนะ”
ในความเห็นของแชมป์ เขามองเรื่องการต่อสู้ของแรงงานและการต่อสู้ประชาธิปไตยด้วยมุมมองเดียวกัน คือ การรวมพลังของประชาชนลุกขึ้นเรียกร้องสิทธิของตัวเอง นั่นเป็นเหตุผลที่เขาคิดว่าสิ่งสำคัญคือการมีองค์กรภาคประชาชนในการเคลื่อนไหว
“เราเชื่อในเส้นทางของสหภาพมากกว่าเส้นทางของพรรค เพราะพรรคการเมืองคือการเชื่อว่าจะมีคนเก่งคนดีมาช่วยเรา อีกฝ่ายหนึ่งเขาเชื่อเรื่องคนดีใช่ไหม ฝ่ายเราก็ไม่ต่าง เราเชื่อในคนเก่ง แต่ไม่มีใครเชื่อในตัวเองเลย ไม่มีใครรู้ว่าที่จริงอำนาจมันอยู่ที่เรา และเราต่างหากที่ต้องใช้อำนาจนั้น
“การเลือกตั้งเป็นแค่กระบวนการหนึ่ง แต่มันไม่ใช่การใช้อำนาจอย่างถึงที่สุด เราจึงเชื่อมาตลอดว่าทุกคนมีอำนาจ ทุกคนคือคนสำคัญ ไม่มีใครใช้อำนาจนั้นแทนเราได้ นอกจากตัวเราเอง ถ้าเราอยากชนะ อยากมีชีวิตที่ดี อยากให้ลูกหลานเราสบาย คนที่มีความสำคัญที่สุด 99 เปอร์เซ็นต์ต้องเรียนรู้ที่จะใช้อำนาจของตัวเอง นั่นคือเข้าสหภาพคนทำงาน เรียนรู้และทำความเข้าใจว่าเราทำอะไรได้บ้าง ไล่ไปตามลำดับ จนไปถึง General Strike เลย”
ก้าวที่ 0 ไปจนถึง 100
หากเทียบการ General Strike เป็นจุดมุ่งหมายที่ 100 แชมป์มองว่า จุดที่คนไทยอยู่อาจเรียกได้ว่าเป็นก้าวที่ 0 ไม่ว่าจะเป็นศูนย์จุดเท่าไหร่ก็ตาม แต่ยังไม่ถือเป็นก้าวแรก ทางหนึ่งเพราะสหภาพคนทำงานเองเพิ่งถูกจัดตั้ง และยังคงต้องอาศัยการเรียนรู้จัดการที่มีแบบแผนกว่านี้
“ที่พูดนี่ก็ไม่ได้ท้อนะ เราก็เข้าใจว่ามันต้องเป็นอย่างนี้ คงไม่มีทางอื่น เพราะมันคือการทำความเข้าใจทีละคน ถามว่าตอนนี้คนสนใจเข้าร่วมกับเราเยอะไหม ก็เยอะอยู่ แต่กว่าจะถึงเส้นชัยมันยังอีกไกลมาก ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเราต้องการความร่วมมือจากสมาชิกของเรา ต้องการคนมาช่วยกัน ซึ่งคนข้างในก็ต้องมีความรู้สึกเป็นเจ้าของสหภาพร่วมกันด้วย”
ดังนั้น ในนามของสหภาพคนทำงาน แชมป์ยอมรับว่าตอนนี้แผนงานของกลุ่มยังอยู่ในช่วงเผยแพร่แนวคิด และสร้างความเข้าใจให้หลายคนที่ยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับคำว่าแรงงานและอำนาจที่แท้จริงของแรงงานอยู่ ที่ผ่านมาเราเลยได้เห็นการสื่อสารเชิงให้ความรู้จากเพจพูดและช่องทางโซเชียลมีเดียของสหภาพคนทำงาน ที่เน้นสร้างความเข้าใจเรื่องสิทธิแรงงาน และพูดถึงการต่อสู้ของขบวนการแรงงานอยู่บ่อยๆ แน่นอนว่า ด้วยโทนการเล่าที่เป็นเอกลักษณ์ ภาษาที่พวกเขาใช้สื่อสาร รวมถึงภาพกราฟิกในเพจ ทำให้ถูกใจกลุ่มคนรุ่นใหม่ไม่น้อย
“นอกจากนี้ เรายังวางแผนร่วมกันไว้ว่าปลายปีเราอาจจะมี Worker Fest เราจะมีการร่างธรรมนูญสหภาพ เป็นข้อตกลงร่วมกัน เพื่อเป็นหลักประกันว่าสหภาพจะเป็นประชาธิปไตย เป็นของสมาชิกตลอดไป เป็นองค์กรที่จะต่อสู้กับเผด็จการและจะรักษาประชาธิปไตยเสมอ การเก็บค่าสมาชิก อันนี้ก็ยังเป็นแผนที่เราวางไว้ คงต้องค่อยๆ ก้าวไปก่อน”
ตัวแทนจากสหภาพคนทำงานเล่าว่า ด้วยกติกา และเงื่อนไขหลายๆ อย่าง หากการเลือกตั้งครั้งต่อไป ประเทศไทยยังได้นายกฯ คนเดิม ช่วงเวลา 6 ปีต่อจากนี้ คือนาทีทองของการเผยแพร่แนวคิดประชาธิปไตยในที่ทำงาน
“6 ปีคือเรานับรวมเวลาเกือบ 2 ปีต่อจากนี้ไปกับอายุของรัฐบาลสมัยหน้า มันคือช่วงเวลาที่เราจะเริ่มเผยแพร่ เริ่มพูดต่อๆ กันไปว่า วิธีไหนที่จะทำให้เรารักษาประชาธิปไตยให้ตลอดรอดฝั่ง แล้วสร้างรัฐสวัสดิการได้ ถ้าจะให้เรา หรือเพจพูด หรือพี่ๆ ที่เขาต่อสู้ในขบวนการแรงงานทำกันอยู่กลุ่มเดียวมันคงไม่ไหว เราต้องการแนวร่วมที่เข้าใจเรื่องนี้เพิ่ม และส่งต่อมันไปได้อีกได้”