‘ดั่งฝุ่นที่ปลิวตามเจตจำนงเสรี’ วัย 66 ปีกับปัจจุบันในฐานะผู้ลี้ภัยของวัฒน์ วรรลยางกูร

ถ้าจะต้องเล่าถึงสิ่งที่ วัฒน์ วรรลยางกูร ทำตลอด 66 ปีอย่างละเอียด ผมเชื่อว่าบทสัมภาษณ์นี้คงยาวหลายสิบหน้า เพราะกับชีวิตที่เลือกทุ่มเทให้กับงานและอุดมการณ์ทางการเมืองแบบเขา มีหลายเหตุการณ์เหลือเกินที่ควรค่าแก่การหยิบยกขึ้นมาสนทนาแบบลงลึกเป็นประเด็นไป

ตั้งแต่การเติบโตมาในต่างจังหวัดที่หล่อหลอมตัวตน หลงรักการเขียนจนพัฒนากลายเป็นอาชีพ เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อมาเป็นนักหนังสือพิมพ์ กลายเป็นคนเดือนตุลาฯ ที่ต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยจนต้องหนีเข้าป่าหลังเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 เมื่อสถานการณ์คลี่คลายก็ออกมาผลิตงานในฐานะนักเขียนจนประสบความสำเร็จ หนังสือกว่า 40 เล่มคือหลักฐาน รวมถึงรางวัลศรีบูรพาเมื่อปี 2550 กระทั่งการเข้าไปเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนของม็อบเสื้อแดงเพื่อต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยอีกครั้ง แต่พอเกิดเหตุรัฐประหารปี 2557 เขาก็จำใจลี้ภัยออกนอกประเทศจนมาอาศัยอยู่ฝรั่งเศสกระทั่งปัจจุบัน

นี่เป็นเพียงการพูดถึงอย่างคร่าวๆ เท่านั้น ไม่ใช่เพราะเรื่องใดเป็นพิเศษหรอกที่ทำให้เกิดบทสัมภาษณ์นี้ แต่มันคือความชัดเจนที่ซ่อนอยู่ในทุกห้วงจังหวะชีวิตของวัฒน์ต่างหาก

ในตอนนี้ที่หลายคนใช้คำว่า ‘ตาสว่าง’ หรือ ‘เบิกเนตร’ และความเปลี่ยนแปลงความเชื่อทางการเมืองกำลังเกิดขึ้นทั่วทุกหัวระแหง อะไรคือความรู้สึกเบื้องหลังที่ทำให้วัฒน์คิดได้และไม่เปลี่ยนแปลงความเชื่อมาเป็นเวลาทั้งชีวิตแม้ถูกท้าทายและสูญเสียหลายครั้ง นั่นคือคำถามที่ผมสงสัย

และความสงสัยนี้เองนำพาให้ผมได้สนทนากับวัฒน์เพื่อทบทวนความเชื่อในชีวิตเขา ในค่ำวันหนึ่งตามเวลาไทย บ่ายตามเวลาฝรั่งเศส และยังเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ประเทศไทยเกิดเหตุการณ์ล้อมจับประชาชนที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องตามความเชื่อในประชาธิปไตยด้วย

ประชาชนที่ควรมีสิทธิแต่กลับไม่มี

เช่นเดียวกับผม วัฒน์ และคุณ

1

“บังเอิญว่าตู้กระจกมันแตก”

ในยุคสมัยที่อินเทอร์เน็ตยังไม่มีและโทรทัศน์ยังเข้าไม่ถึงทุกบ้าน ความบันเทิงของเด็กตามต่างจังหวัดนั้นมีไม่กี่อย่าง และสำหรับเด็กชายวัฒน์คือหนังสือ

หนังสือมวยของตา นิตยสาร คุณหญิง ของพ่อ และนิตยสาร บางกอก ของญาติข้างบ้าน วัฒน์เล่าให้ผมฟังว่าเหล่านี้คือความสนุกสำหรับเด็กบ้านนอกอย่างเขาที่ไม่ต่างอะไรกับเด็กคนอื่นแถวบ้านในจังหวัดลพบุรี เพียงแต่เมื่อโตขึ้น ความแตกต่างก็เกิดขึ้นจากหนังสือที่เขาเลือกอ่านนั่นเอง

“ช่วงประถมผมอ่านหนังสือเหมือนเด็กทั่วไป ชอบอ่านนิยายบู๊ นิยายรักของบุษยมาศ แต่ในขณะเดียวกันผมก็ไม่ได้อ่านเอาสนุกอย่างเดียว เพราะนิยายเหล่านี้มีความคิดเชิงอุดมคติอยู่ มันไม่ว่างเปล่า ทำให้พอโตขึ้น ด้วยความเป็นหนอนหนังสือผมเลยอยากอ่านงานที่แปลกขึ้นเรื่อยๆ

“ช่วงมัธยมผมเริ่มอ่านหนังสือเก่าๆ ที่พ่อสะสมไว้ อย่างผลงานเรื่องสั้นของ อ.อุดากรที่เต็มไปด้วยความเปิดกว้างทางสังคม มันทำให้ผมตื่นตาตื่นใจมาก ประกอบกับที่ห้องสมุดโรงเรียนจะมีตู้กระจกเก็บหนังสือต้องห้าม ครูบอกว่านี่คือหนังสือที่เด็กยังไม่ควรอ่าน มันเลยล็อกเก็บไว้อย่างนั้นนานแล้ว จนช่วงที่ผมเริ่มสนใจอยากอ่านหนังสือที่ลึกขึ้นนั่นแหละ บังเอิญว่าตู้กระจกมันแตก

“ผมลองแอบหยิบหนังสือออกมาจากตู้แล้วพบว่าหนังสือส่วนใหญ่เป็นหนังสือที่ตีพิมพ์หลังเหตุการณ์ปี 2475 จนถึงปี 2500 ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสังคม การเมือง และความก้าวหน้าทางสติปัญญา และเมื่อผมได้อ่านมันก็เปิดโลก

“จากที่มีความคิดและมองโลกเห็นแค่ชนบท จากที่มีขอบฟ้าชัดเจนแน่นอนในทางรูปธรรม หนังสือขยายขอบฟ้าของผมให้กว้างออกไปอีก ขอบฟ้าไม่ใช่แค่ที่ตาเห็นอีกแล้ว แต่เป็นขอบฟ้าที่เป็นนามธรรม นั่นคือมนุษยธรรม เช่น หนังสือ สงครามชีวิต ของศรีบูรพา ที่ทุกวันนี้ผมยังจำบางประโยคได้อยู่เลย

ชีวิตเราเกิดมาไม่ได้มีอะไรติดตัวมา 

และตอนตายก็ไม่ได้มีอะไรติดตัวไป 

คนยากจนต่อสู้เพื่อความเป็นอยู่อันจำเป็น 

คนมั่งมีต่อสู้เพื่อการสะสม

“จากเด็กมัธยมที่หัวสมองว่างๆ การอ่านทำให้ความคิดผมเป็นเหมือนต้นไม้ที่แตกกิ่งก้าน ไม่ใช่แค่ต้นไม้โกร๋นๆ มันทำให้ผมมองคนเป็นคน ได้สัมผัสความเป็นจริงของชีวิตมนุษย์และเข้าถึงความเป็นจริงของโลก ซึ่งพอมีตรงนี้ผมเลยไม่ตุปัดตุเป๋ไปตามอคติและความลวงทั้งหลายในตอนนั้นที่มาหลอกหรือชักจูง”

“รอบตัวมีใครคิดแบบคุณไหม” ผมถาม

“ไม่มี” วัฒน์ตอบทันทีพร้อมหัวเราะยาว ก่อนอธิบายต่อ

“ชีวิตผมมันเหงานะ ตอนนั้นผมเหมือนคนบ้าที่คิดกับตัวเองว่า ไอ้ห่า ทำไมกูคุยกับใครไม่รู้เรื่องเลยวะ แต่โชคดีที่ยุคนั้นเป็นช่วงที่ปัญญาชนคนหนุ่มสาวเริ่มออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐเผด็จการก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 หนังสือเลยเริ่มเปลี่ยนจากงานแนวประโลมโลกเป็นงานเขียนเชิงแสวงหา เช่นบทกวีอย่าง ฉันจึงมาหาความหมาย และ กูเป็นนิสิตนักศึกษา ก็เกิดขึ้นในช่วงนี้ ผมเลยรู้สึกว่าตัวเองไม่โดดเดี่ยวเกินไปนักเพราะได้อ่านนิตยสารอย่าง ชัยพฤกษ์ฉบับนักศึกษาประชาชน หรือนิตยสาร สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ที่ ส.ศิวรักษ์เป็นบรรณาธิการ

“และทั้งหมดนั้นก็ทำให้ผมอยากเป็นคนที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดออกมาด้วย”

2

“หลอกผมไม่ได้ เพราะผมมีความจริงอยู่ในตัว”

วัฒน์ก็เหมือนนักเขียนแทบทุกคนในโลก คือเมื่อเป็นนักอ่านจึงอยากเป็นนักเขียน

เขาเล่าให้ผมฟังว่าด้วยเงื่อนไขชีวิตทำให้ช่วงมัธยมเขาต้องอยู่คนเดียวเป็นส่วนใหญ่ พอตกกลางคืนก็มีแค่หนังสือกับวิทยุคอยอยู่เป็นเพื่อน และรายการโปรดที่วัฒน์เปิดฟังเป็นประจำมีชื่อว่า ถนนนักเขียน ที่เปิดพื้นที่ให้คนทั่วไปเขียนเรื่องส่งไปออกอากาศได้

และนั่นเองคือจุดแรกที่ทำให้เกิดงานเขียนจากปลายปากกาของวัฒน์ ก่อนจะตามมาด้วยผลงานอีกหลายชิ้นที่ตีพิมพ์ลงนิตยสารแม้เขายังไม่จบมัธยมดี

“ได้เงินมาก็เอาไปซื้อหนังสืออ่านต่อ หรืออย่างกางเกงขายาวที่สั่งตัดเองตัวแรกก็ใช้เงินจากตรงนี้” วัฒน์เล่าถึงความหลังด้วยรอยยิ้ม

“ตอนนั้นงานเขียนของคุณพูดถึงเรื่องอะไรบ้าง”

“เป็นเรื่องสังคมและมนุษยธรรมตั้งแต่ต้นเลย เพราะบรรยากาศรอบตัวหล่อหลอมให้ผมเป็นแบบนั้น แต่ก็ยังเป็นแค่มุมมองของเด็กคนหนึ่งที่ก็เข้าท่าบ้างไม่เข้าท่าบ้าง

“อย่างช่วงจบมัธยมใหม่ๆ ผมจำได้ว่าตัวเองเขียนเรื่องเด็กผู้หญิงบ้านนอกคนหนึ่งที่เสียใจเพราะตัวเองไม่สบายเลยไม่ได้ไปรับของแจกจากคุณนายผู้ว่าฯ แต่คุณยายของเด็กก็ปลอบว่าไม่เป็นไรพร้อมนั่งถักเสื้อให้เด็กหญิง ก่อนจะสรุปจบเป็นการสอนว่าประชาชนไม่ต้องไปง้อของแจกจากรัฐก็ได้ เราทำเองดีกว่า นี่ก็เป็นมุมมองหนึ่งที่ผมแสดงออกมา และถ้าให้สังเกตผมว่างานเขียนของผมก็สอดแทรกเรื่องราวของคนจนมาตั้งนานแล้วเช่นกัน งานผมแทบไม่ได้พูดถึงการเมืองโดยตรงด้วยซ้ำ เพราะผมอยากสะท้อนความมีชีวิตและเลือดเนื้อของชนชั้นล่างมากกว่า”

“มีความเชื่อไหนเกี่ยวกับงานเขียนที่คุณยึดถือไหม เช่น ต้องเป็นงานที่สะท้อนสังคมและมนุษยธรรมเท่านั้นหรือเปล่า”

“สิ่งเหล่านั้นเป็นแค่มุมมอง แต่ถ้ายึดตามหลักของนามธรรม ผมว่างานเขียนไม่ว่าจะของผมหรือใครต้องไปให้ได้ถึง 3 ระดับ นั่นคือความจริง ความดี และความงาม

“อันดับแรกของการเขียนหนังสือคือคุณต้องเข้าไปถึงความจริง เพราะถ้าคุณเข้าไม่ถึง งานเขียนของคุณจะเต็มไปด้วยอคติและเปลือก ดังนั้นนักเขียนหรือกวีมีหน้าที่ต้องมองให้ทะลุว่าอะไรคือความจริงของสังคมในตอนนั้น ต้องไม่ตกอยู่ภายใต้กระแสที่ปลอม

“หลังจากนั้นความจริงจะนำพาไปสู่ระดับที่ 2 นั่นคือความดี ความดีคือสิ่งที่ถูกต้องหรือสิ่งที่พาให้มนุษย์ก้าวหน้าดีงามขึ้น และสุดท้ายก็จะเป็นความงาม คือการนำเสนอออกมาให้เห็นความคิดและจินตนาการด้วยถ้อยคำของภาษา ถ้ามีทั้ง 3 อย่างครบ ผมถือว่านี่เป็นงานเขียนที่ดี ดังนั้นเวลาเขียนผมจะยึด 3 ข้อนี้ไว้เสมอ หรือเวลาอ่านงานของคนอื่นก็เหมือนกัน หนังสือบางเล่มหรือถ้อยคำบางถ้อยคำเลยหลอกผมไม่ได้แม้จะใช้คำไพเราะแค่ไหนเพราะผมมีความจริงอยู่ในตัว”

ด้วยความเชื่อและหลักการที่วัฒน์ยึดถือนี้เอง ทำให้เมื่อเรียนจบเขาตัดสินใจเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อทำงานที่ตัวเองฝัน

ในขาหนึ่ง วัฒน์ยังคงผลิตงานเขียนที่ตอบโจทย์ความเชื่อและมุมมองเหมือนเดิม เขามีหนังสือรวมเรื่องสั้นของตัวเองเป็นครั้งแรกก็ตอนนี้ แต่ในอีกขาเพื่อตอบโจทย์อุดมการณ์เขาก็รับงานเป็นนักข่าวให้กับหนังสือพิมพ์ อธิปัตย์ ของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยด้วย

งานนักข่าวนี่เองที่ทำให้เขาใกล้ชิดความเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่มาก ทั้งการลงไปทำข่าว สัมภาษณ์ และเขียนบทความเชิงสารคดี วัฒน์เริ่มสะสมชื่อเสียงมากขึ้นในฐานะคนเดือนตุลาฯ ที่ใช้ตัวอักษรขับเคลื่อนทางความคิด จนความจริง อุดมการณ์ และความตั้งใจของเขาค่อยๆ หลอมรวมกันเข้มข้นจนกลายเป็นตัวตนและความคิดที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

จนกระทั่งวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ทุกอย่างที่กล่าวมาก็ถูกท้าทายอย่างร้ายแรง

วัฒน์ วรรลยางกูร

3

“ในเมื่อความถูกต้องคือการมองคนให้เป็นคน แล้วทำไมต้องเปลี่ยน”

หลังจากการชุมนุมของนิสิตนักศึกษาเพื่อต่อต้านการกลับมามีบทบาททางการเมืองในนามรัฐเผด็จการของถนอม กิตติขจร บรรยากาศทางการเมืองในช่วงนั้นก็เข้าขั้นวิกฤตและพร้อมเกิดความรุนแรงขึ้นได้ทุกเมื่อ

ถ้าลองย้อนดูตามภาพข่าว เราจะพบว่าในช่วงปีดังกล่าวมีเหตุการณ์ความรุนแรงที่ถึงแก่ชีวิตเกิดขึ้นหลายครั้ง แต่ความรู้สึกของคนที่อยู่ในที่ตรงนั้นจริงๆ เป็นยังไงกันแน่ นั่นคือคำถามที่ผมถามวัฒน์

“เหมือนลุ้นว่าวันไหนจะเจอแจ็กพอต” เขาตอบด้วยน้ำเสียงราบเรียบ

“ช่วงนั้นในการเดินขบวน เราไม่รู้เลยว่าจะมีใครถูกรางวัลที่หนึ่งไหม เช่น อยู่ดีๆ ก็มีครั้งหนึ่งที่มีการขว้างระเบิดลงมากลางสยามสแควร์โดยไม่สนเลยว่าจะลงหัวใคร สุดท้ายก็ตายไป 4 ศพ ดังนั้นช่วงนั้นแต่ละคนล้วนอยู่ด้วยความรู้สึกไม่ปลอดภัยเพราะไม่รู้ว่าวันไหนระเบิดจะมาลงหัว

“หรืออย่างพี่นิสิต จิรโสภณ ลูกพี่ผมที่เป็นหัวหน้าฝ่ายข่าวที่สอนผมทำงานมากับมือ วันที่ 2 เมษายน 2518 แกก็ถูกฆาตกรรมอำพรางโดยการผลักตกรถไฟระหว่างลงไปทำข่าวที่นครศรีธรรมราช ช่วงนั้นเลยถือเป็นช่วงชีวิตที่ความตายเข้ามาเฉียดตัวมากๆ ดังนั้นพอเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาวันที่ 6 ตุลาฯ วันต่อมาผมเลยตัดสินใจเข้าป่าทันที”

“แม้เสี่ยงและเห็นคนที่เชื่อแบบเดียวกับคุณถูกกระทำขนาดนั้น ทำไมคุณถึงยังมั่นคง ทำไมคุณถึงไม่ยอม” ผมหย่อนคำถามให้เขาทบทวน และนี่เป็นครั้งแรกที่ตั้งแต่เราสนทนากันที่เขาใช้เวลาคิดสักพักก่อนตอบ

“จริงๆ แล้วมีคนถามคำถามนี้กับผมหลายครั้ง เพราะหลายคนมักบอกว่า ‘พี่วัฒน์ดูไม่เปลี่ยนไปเลยในแง่ของความคิด’ ซึ่งพอมาย้อนนึกดูผมก็อยากถามกลับนะ ว่าแล้วทำไมผมต้องเปลี่ยน

“ในเมื่อผมค้นเจอจากการอ่านหนังสือแล้วว่าความถูกต้องคือการมองคนเป็นคน แล้วผมต้องเปลี่ยนทำไม เรื่องนี้ไม่ได้ยากหรือซับซ้อนอะไรเลย มันเป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่ขอแค่ให้คุณตระหนักถึงความเป็นมนุษย์ก็สามารถเข้าใจได้ ดังนั้นทำไมผมต้องไปอยู่กับโฆษณาชวนเชื่อหรือการถูกชักจูงให้ไขว้เขวด้วยล่ะ ทำไมต้องยอมที่จะไม่พูดหรือเขียนตามที่เขาต้องการด้วย”

หลังจากเข้าป่า ด้วยประสบการณ์ ความตั้งใจ และฝีมือที่มี ในช่วงปีนั้นวัฒน์เขียนผลงานออกมาหลายเล่ม รวมถึง ด้วยรักแห่งอุดมการณ์ นวนิยายที่เขาสอดแทรกประสบการณ์ของตัวเองในการเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนทางการเมืองอยู่เต็มเปี่ยม ทำให้เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มคลี่คลายลงไปบ้าง เขาก็ออกมาจากป่าด้วยผลงานที่พาเขาโจนทะยานติดปีก

หลังจากนั้นในฐานะนักเขียนอิสระ วัฒน์ วรรลยางกูร มีผลงานในนิตยสารมากมาย และหลายครั้งผลงานเหล่านั้นก็ตีพิมพ์รวมเล่มและขายดีเป็นเทน้ำเทท่า บางเล่มถึงกับเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ หลายคนต่างชื่นชมในตัวอักษรและเรื่องราวของเขาที่มีจุดเด่นคือพล็อตเรื่องที่เน้นการนำเสนอชีวิตของคนจนหรือคนชนบท เช่น มนต์รักทรานซิสเตอร์  ที่เคยนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์มาแล้ว

แต่ช่วงนี้เองที่เป็นเหมือนช่วงหยุดพักของวัฒน์ในฐานะนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เพราะด้วยสถานการณ์ที่เริ่มคลี่คลายทำให้เขาได้ใช้ชีวิตอย่างสงบ ทำงานที่ตัวเองรักได้เป็นเวลาหลักสิบปี

“ตอนนั้นผมคิดว่ารากความคิดของตัวเองก็ยังเหมือนเดิมนะ เพราะในมุมมองผมต้นตอของปัญหายังไม่หายไป เพียงแต่ด้วยชีวิตและหน้าที่การงานก็ทำให้ผมต้องปรับตัว ช่วงนั้นผมเลยไม่ได้สื่อสารเรื่องการเมืองออกมาเต็มร้อย ประกอบกับที่ฝ่ายขวาเขาเริ่มคลายความตึงเครียดลงด้วย เขาก็ปรับตัวที่จะอยู่กับระบอบประชาธิปไตยแบบครึ่งใบ ชีวิตผมเลยพอจะดำเนินต่อไปได้เป็นสิบปี หนังสือผมก็ขายได้เพราะกระแสความคิดของผมมีพื้นที่และคนสนใจพอที่จะดำรงอยู่”

“แล้วความสงบตรงนี้เริ่มเปลี่ยนแปลงไปตอนไหน”

“ช่วงที่มีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ”

วัฒน์ วรรลยางกูร

4

“เหมือนเห็นไดโนเสาร์”

“เหมือนภาพสมัยมัธยมมันซ้อนทับเข้ามาเลยนะ” วัฒน์ยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ในอดีต

“ช่วงที่มีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ผมเริ่มรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนส่วนน้อยอีกครั้ง เป็นคนบ้าที่คุยกับใครก็ไม่รู้เรื่อง แต่ด้วยประสบการณ์ที่มี ผมมองสิ่งที่ม็อบพันธมิตรฯ ทำ มองผ่านเปลือกกระแสนิยมที่เขาสร้าง ผมก็พอรู้แล้วนี่คือความพยายามในการเปลี่ยนเกมจากประชาธิปไตยเป็นเผด็จการ ซึ่งวันที่ 19 กันยายน 2549 ก็เกิดรัฐประหารขึ้นจริงๆ”

“ตอนนั้นคุณรู้สึกยังไง กลัวประวัติศาสตร์ซ้ำรอยไหม”

“ผมจำวันนั้นได้ดี ผมไปนอนบ้านเช่าลูกตรงสามแยกไฟฉาย จำได้ว่าเดินออกมาซื้อโจ๊กตรงสามแยกแล้วเจอทหารยืนคุมอยู่ ผมหันไปบอกลูกเลยว่ารู้สึกเหมือนตัวเองกำลังมองเห็นไดโนเสาร์ ยุคนี้แล้วยังกล้าทำแบบอยู่อีก ซึ่งถ้าจะทำกันขนาดนี้ก็สนุกกันล่ะ”

หลังจากวันนั้นเป็นต้นมา วัฒน์เริ่มกลับเข้ามามีส่วนร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะคนเสื้อแดง และด้วยสถานการณ์ในประเทศที่แม้จะจัดการเลือกตั้งก็ยังเกิดรัฐประหารซ้ำ การเรียกร้องและขอบเขตงานที่เขาทำจึงเริ่มขยายวงกว้างขึ้นจนวัฒน์ต้องทิ้งงานหลักเพื่อลงสนามเต็มตัว

“ผมทำสุดตัวเลย เพราะพอมีนายกฯ สักคนที่เข้ามาทำให้ชีวิตคนจนดีขึ้นได้ผมก็อยากสนับสนุนเขา มันตรงกับความฝันของผมที่มีมาอย่างยาวนานแล้ว ผมอยากให้สังคมไทยมีภราดรภาพ ไม่ใช่มองคนกลุ่มหนึ่งเป็นไพร่ แต่ที่เหนือมากไปกว่านั้นผมว่าการขับเคลื่อนของผมมันคือความพยายามในการรักษาระบบไว้ด้วย

“ผมเข้าใจนะว่าทักษิณก็มีข้อไม่ดี มีหลายเรื่องที่ผมก็โกรธเขาอยู่เหมือนกัน แต่แทนที่คุณจะเชื่อว่ามีคนเกลียดขี้หน้าทักษิณอยู่มาก เลือกตั้งรอบหน้าทักษิณต้องไปแน่ๆ แล้วระบบจะสร้างคนใหม่ที่ดีกว่าขึ้นมา คุณกลับไปพังระบบทิ้ง ผมว่านี่ต่างหากคือปัญหาที่แท้จริง ประชาชนจะหมดโอกาสในการใช้อำนาจของตัวเอง จากประชาธิปไตยครึ่งใบก็กลายเป็นเผด็จการเต็มใบ เรื่องนี้ต่างหากที่ผมคิดว่ายอมไม่ได้”

จากมุมมองนี้เองทำให้วัฒน์เข้าไปเป็นหนึ่งในฟันเฟืองหลักในการชุมนุมของคนเสื้อแดงอยู่แรมปี เขาใช้ความรู้ทางประวัติศาสตร์ ประสบการณ์ และแนวคิดเชิงศิลปะที่ตัวเองมีจัดงานเสวนา ดนตรี และนิทรรศการศิลปะเพื่อพูดถึงเรื่องราว ‘ทะลุฟ้า’ อยู่บ่อยครั้ง

เสี่ยงไหม ถ้ายึดตามกฎหมายไทยก็เสี่ยงอยู่แล้ว แต่วัฒน์บอกผมว่านี่เป็นอีกครั้งที่เขาต้องทำ

“ผมมองช่วงนั้นเป็นโอกาสนะ มันเป็นช่องทางที่จะทำให้ผมได้พูดในสิ่งที่สั่งสมจากการอ่านและประสบการณ์จริง แม้จะเป็นการพูดในมุมเล็กๆ แต่ผมเชื่อว่ามันก็น่าจะสามารถขยายต่อไปได้”

“ตอนนั้นกลัว 112 ไหม” ผมถามตรง

“คงเป็นความรู้สึกคล้ายช่วง 6 ตุลาฯ แหละ คือกลัวแต่ก็ต้องเคลื่อนไหว ซึ่งผมก็คิดไว้กับตัวเองด้วยว่าถ้าเกิดรัฐประหารเมื่อไหร่ ผมคงต้องไปเมื่อนั้น เพราะสิ่งที่ผมรู้มาคือตัวเองมีหมายจับ 112 แล้ว ดังนั้นถ้าเขาจะเอาจริงผมติดคุกหัวโตแน่นอน หรืออาจไปติดเชื้อในกระแสเลือดแล้วตายในคุกก็ได้

“ดังนั้นในวันที่เกิดรัฐประหารปี 2557 ผมจึงหนีดีกว่า ไม่อยู่ให้จับหรอก”

วัฒน์ วรรลยางกูร

5

“ขี้แพ้ตลอดชาติ”

ในวันที่หมายเรียกตัวของ คสช.มาแปะหน้าบ้านวัฒน์ที่จังหวัดกาญจนบุรี เจ้าของบ้านก็ไม่อยู่แล้ว

หลังจากทราบข่าวว่ามีรัฐประหารวัฒน์ก็เดินทางหลบภัยออกจากบ้านทันทีด้วยความช่วยเหลือจากเพื่อนฝูง เขาผ่านออกมาทางช่องทางธรรมชาติสู่ประเทศกัมพูชา ก่อนจะโยกย้ายมาอาศัยอย่างหลบซ่อนอยู่ในหมู่บ้านชนบทแห่งหนึ่งในประเทศลาว และช่วงเวลานี้ที่เขาเล่าให้ผมฟังว่ามันแย่ที่สุดในชีวิต

“ตอนแรกผมไม่ได้คิดว่าต้องออกมานานหรอก หลังรัฐประหารผมยังคิดเข้าข้างตัวเองเลยว่าพลังประชาชนจะสามารถต่อต้านเผด็จการได้และไม่นานผมคงได้กลับบ้าน ผมเลยเลือกอยู่ใกล้ประเทศไทยเพื่อการเคลื่อนไหวที่คล่องตัว แต่ปรากฏว่าพอไม่เป็นอย่างที่คิด ผมและคนอื่นเลยสะเปะสะปะแตกฉานซ่านเซ็นจนกระทั่งโดนไล่ล่าในที่สุด”

“ช่วงนั้นจิตใจคุณเป็นยังไงบ้าง”

“ตอนที่หลบภัยออกมาใหม่ๆ ความรู้สึกก็จะเยอะหน่อย ผมโกรธ เศร้า เบื่อ เซ็งชีวิต คุณนึกออกไหมว่าในเมื่อเราทำเพื่อสิ่งที่ถูกต้อง แต่สิ่งที่ได้กลับไม่เป็นธรรมเลย ใจผมมันเลยเหี่ยว กินแต่เหล้าจนเกือบตาย ต้องเข้าโรงพยาบาล”

“คุณเคยเขียนไว้ในหนังสือว่ากับเหตุการณ์นี้คุณรู้สึกว่าตัวเองแพ้ราบคาบ ทำไมถึงคิดแบบนั้น”

“เพราะในทางยุทธวิธีมันแพ้ และมันก็ไม่ใช่แค่ครั้งนี้ ผมเป็นไอ้ขี้แพ้มาตลอดชาตินั่นแหละ ตอนเดือนตุลาฯ ก็ต้องเข้าป่า ครั้งนี้ก็ต้องหลบภัยมาถูกไล่ฆ่า ดังนั้นจะไม่เรียกว่าแพ้ได้ยังไง”

“ไล่ฆ่าที่ว่ามันเคยใกล้ตัวคุณแค่ไหน”

“ใกล้มาก เพราะมีช่วงหนึ่งที่ผู้หลบภัยโดนเก็บไปหลายคน และถ้าดูจากรายชื่อทั้งหมด ด้วยชื่อชั้นแล้วคนต่อไปยังไงก็ต้องเป็นผม ช่วงนั้นเพื่อนผมหลายคนมากที่โทรมาเตือน ทุกคนบอกให้ระวังตัวดีๆ ซึ่งผมก็คิดนะว่าจะให้ผมระวังยังไงเหรอ ผมจะทำอะไรได้ ถ้าเขาจะเอาผมไม่รอดอยู่แล้ว แค่เขาเดินไปในตลาดถามแม่ค้าว่าแถวนี้มีคนไทยอยู่บ้างไหม แค่นั้นผมก็ตายได้แล้ว”

“แม้เจอหนักขนาดนี้คุณก็ยังคงเชื่อในอุดมการณ์เดิมหรือ” ผมถามย้ำ

“ยังเชื่อ” วัฒน์พยักหน้าพร้อมย้ำคำเดิม “เพราะถึงแพ้หรือตาย แต่ในแง่ของความคิด อุดมการณ์ และจุดมุ่งหมายที่เป็นประชาธิปไตยมันไม่เคยแพ้และเปลี่ยนแปลง”

“แล้วรู้สึกสั่นคลอนบ้างไหม” ผมชวนวัฒน์คิดอีกครั้ง และกับครั้งนี้ความเงียบก็ทำงานนานก่อนเขาตอบ

“มี ยิ่งช่วง 5 ปีแรกที่ต้องหลบภัย อารมณ์มันห่อเหี่ยวมากๆ เพราะด้วยความเชื่อผมที่มองคนเป็นคน แต่ตอนนั้นสิ่งที่ผมเป็นมันกลับไม่มีอะไรมารองรับความเป็นมนุษย์ของผมเลย

“ช่วงเวลานั้นถ้าผมตาย มันแย่กว่าหมาตายเสียอีกนะ เพราะรัฐไม่จำเป็นต้องสืบคดีของผมก็ได้ มันไม่มีอะไรมารองรับการดำรงอยู่ของคนแบบผม

“ทุกอย่างบั่นทอนผมมากๆ ถึงสุดท้ายผมจะไม่ตายและลี้ภัยมาอยู่ที่ฝรั่งเศสได้ แต่ผมก็ไร้เรี่ยวแรงและพลังในการใช้ชีวิตและการทำงานไปพักใหญ่

“จนกระทั่งได้เห็นการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในตอนนี้นี่แหละ”

วัฒน์ วรรลยางกูร

6

“ดั่งฝุ่นที่ปลิวไปตามเจตจำนงเสรี”

ในช่วงเวลาปัจจุบันที่การเคลื่อนไหวทางการเมืองไทยกำลังเข้มข้น ผู้เล่นหลายคนในสนามล้วนเป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่สยบยอมต่ออำนาจเผด็จการ วัฒน์เองที่แม้สถานภาพผู้ลี้ภัยทำให้เขาเป็นได้แค่ผู้ชม แต่วัฒน์ก็บอกกับผมว่าภาพตรงหน้านี่แหละคือสิ่งที่เขารอมาแรมปี

“จิตใจผมสดใสขึ้นมาก เห็นแล้วมันชุ่มชื่นในหัวใจ จากที่รู้สึกว่าตัวเองเดินคนเดียวดุ่ยๆ มาตลอดทาง ทุกวันนี้เหมือนผมได้เจอเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่คิดและเชื่อในสิ่งเดียวกัน แต่พอเห็นว่าพวกเขาคือคนรุ่นใหม่ อีกมุมผมก็สะท้อนใจนะ ว่าเพราะรุ่นผมแพ้และเปลี่ยนแปลงสังคมไม่ได้ คนหนุ่มสาวยุคนี้เลยต้องออกมา ลุงมันไม่ดีเองที่ทิ้งมรดกบาปไว้ให้ลูกหลานลำบาก”

“ในฐานะของผู้มีประสบการณ์ คุณมองความเคลื่อนไหวของพวกเขาในตอนนี้ยังไงบ้าง” 

“ผมว่าพวกเขาคือตัวอย่างที่ดีของการเคลื่อนไหวที่เห็นถึงปัญหาที่แท้จริง เพราะตราบใดที่ต้นเหตุของปัญหายังอยู่ วันหนึ่งมันก็จะกลับมาปะทุอีกกี่ครั้งก็ได้ เขาจะทำรัฐประหารกี่ครั้งก็ได้เพราะพล็อตเก่ายังมี แต่พอคนรุ่นใหม่เขาจับต้นเหตุและกล้าออกมาพูด นี่แหละคือการเข้าถึงปัญหาที่แท้จริงและควรเป็น การเอาเรื่องที่อยู่ในซอกหลืบมาพูดในที่แจ้งและสว่างมันถูกต้องแล้ว

“ดังนั้นต่อจากนี้คงเป็นเรื่องของอีกฝั่งแล้วล่ะว่าเขาเห็นแล้วจะเอายังไง จะยอมแก้ 112 ไหม หรือถ้าไม่ยอมแล้วจะเกิดอะไรขึ้นตามมา”

ถ้าจะว่ากันถึงข้อเสนอเต็มๆ ที่จริงแล้วงานเขียนของวัฒน์ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้เพิ่งตีพิมพ์ลงในหนังสือรวมบทข้อเขียน วาระสมมติ หมายเลข 02 ว่าด้วย The King and I เมื่อไม่กี่เดือนก่อน ดังนั้นเพื่อไม่ให้เป็นการสปอยล์ผมขอเก็บถ้อยคำที่เกี่ยวข้องไว้เพื่อให้ทุกคนไปหาอ่านต่อ รวมถึงผลงานในอนาคตของวัฒน์ที่กำลังจะออกมาด้วย

ใช่แล้ว หลังจากต้องลงสนามทางการเมืองและระหกระเหินห่างบ้านไปหลายปี ในที่สุดวัฒน์ วรรลยางกูร กำลังจะออกหนังสือเล่มใหม่ในรอบ 10 ปีสักที

“เป็นผลพวงจากที่คนรุ่นใหม่เปิดพื้นที่ให้ผมได้พูดด้วยแหละ ดังนั้นต้องขอบคุณพวกเขานะ” หลังจากไร้รอยยิ้มบนใบหน้าในการสนทนามาหลายนาที ประโยคนี้เขายิ้มกว้างกว่าที่เคย

“ในท่ีสุดชีวิตผมก็สงบเสียที ไม่ต้องเหลียวซ้ายแลขวาหรือต้องโยกย้ายอีกแล้ว ต่อจากนี้ผมก็แค่พาตัวเองไปอยู่ในมุมที่เติบโตมาอีกครั้ง มุมที่ผมเป็นแค่คนเขียนหนังสือคนหนึ่ง มุมที่ผมอยู่แล้วมีความสุขมาตลอดชีวิต

วัฒน์ วรรลยางกูร

“เวลาเขียนหนังสือเสร็จเล่มหนึ่งมันเป็นความสุขนะ เวลาหนังสือใหม่มาส่งแล้วผมได้ลูบคลำมันนั่นก็มีความสุข หรือระหว่างเขียนก็เป็นความสุข ดังนั้นผมพอใจชีวิตตอนนี้มาก 2 ปีที่ฝรั่งเศสทำให้ชีวิตผมไม่ห่อเหี่ยวอีกต่อไป ผมมีแรงบันดาลใจในการกลับมาทำงานอีกครั้ง”

“แต่คุณเคยบอกไว้ว่าถ้าประเทศไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตยก็คงไม่กลับมา ขออยู่เป็นพลเมืองโลกที่ฝรั่งเศสดีกว่า คุณยังเชื่อแบบนั้นไหม”

“ใช่” วัฒน์พยักหน้าเพื่อยืนยันคำพูดเดิม ก่อนคำถามสุดท้ายเพื่อปิดการสนทนา

“แล้วคุณยังมีหวังไหม”

“ผมอดคิดถึงไทยไม่ได้หรอก มันผูกพันอยู่แล้ว อย่างน้อยผมก็อยากเจอหน้าหลาน หรือเวลาลูกส่งรูปบ้านที่กาญจนบุรีมาให้แล้วเห็นว่ามันโทรมไปเยอะ ใจผมก็หวิวทุกครั้ง ดังนั้นผมคงไม่รู้สึกหวังไม่ได้ แต่ถ้าว่ากันด้วยสถานการณ์ความเป็นจริงตอนนี้ ดูทรงแล้วผมว่าตัวเองคงไม่น่าจะได้กลับไปแล้วล่ะ

“ชีวิตผมคงเหมือนเพลง Dust in the Wind นั่นแหละ ในเมื่อผมเชื่อในมนุษยธรรมและเสรีภาพ ความคิดผมก็ไม่เปลี่ยนแปลง ตอนนี้ผมก็คงต้องเป็นฝุ่นที่เลือกจะปลิวออกมาเองแบบนี้

“ปลิวไปบนโลกและจักรวาลที่เป็นดั่งบ้าน ปลิวไปตามเจตจำนงเสรี

“ดีกว่าเป็นฝุ่นที่อยู่ใต้ตีนของใคร”

วัฒน์ วรรลยางกูร

AUTHOR