“ในความฝัน พ่อผมจะได้กลับมาอยู่บ้าน” ศิลปะของวนะ ลูกชายของวัฒน์ วรรลยางกูร

Highlights

  • วนะ วรรลยางกูร ลูกชายของวัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนชื่อดังที่เปลี่ยนสถานะเป็น 'ผู้ลี้ภัยทางการเมือง' เพราะปฏิเสธอำนาจของคณะรัฐประหารปี 2557
  • นิทรรศการ Momentos/Monuments & reMinders คือนิทรรศการศิลปะของวนะที่มีเป้าหมายเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของวีรบุรุษและอนุสาวรีย์ผ่านการเทียบเคียงประวัติศาสตร์ นิทรรศการนี้เองคือเหตุผลที่พาให้เรามาพบกับเขา
  • ชีวิตก่อนหน้านี้ เบื้องหลังการเรียน และการทำงานศิลปะ วนะต้องต่อสู้กับการถูกขีดกรอบและการถูกจำกัดพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็น  
  • ส่วนในปัจจุบันความหวังของวนะคือการขอความปกติให้กับตัวเอง ขอความปกติให้กับทุกคน และขอความปกติให้กับความจริง เพราะเขาเชื่อว่าทุกสังคมถูกออกแบบมาให้ความเห็นต่างนั้นอยู่ได้ตามหลักการของระบอบประชาธิปไตย

ความต่างเสมือนสัตว์ประหลาด
ความจริงถูกปิดปาก
ความปกติถูกฉาบด้วยความไม่ปกติ
เสียงของความต่าง
เสียงของความจริง
เสียงของความปกติ
คือเสียงเดียวกัน

บ่ายวันหนึ่งเรามีนัดพูดคุยกับ วนะ วรรลยางกูร

หลายคนคงคุ้นกับนามสกุลนี้ ใช่ เขาคือลูกชายของวัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนผู้มีผลงานสะท้อนการเมืองเป็นเวลากว่า 47 ปี และลี้ภัยอยู่ที่ฝรั่งเศสเพราะปฏิเสธอำนาจของคณะรัฐประหารด้วยการไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง

แน่นอนว่าการเป็นลูกนักเขียนผู้โด่งดังย่อมทำให้กลายเป็นจุดสนใจ แต่สำหรับสิ่งที่วนะทำ เขาเป็นมากกว่านั้น ปัจจุบันเขาทำงานศิลปะที่พยายามสะท้อนปัญหาสังคมที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงด้วยการถ่ายทอดผ่านฝีแปรงที่หนักแน่น

ทั้งหมดนี้เองคือสิ่งที่นำพาให้เรามาเจอกับเขา

วนะหลงรักการวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก เมื่อโตขึ้นเขาจึงวาดรูปเพื่อสื่อสารประเด็นสังคมเรื่อยมาตั้งแต่สมัยเรียนจนถึงปัจจุบัน เขาเป็นอาจารย์สอนศิลปะพร้อมทั้งทำงานศิลปะของตัวเองควบคู่กันไป ผลงานส่วนใหญ่ของวนะมักสะท้อนเรื่องการเมืองผ่านการเทียบเคียงประวัติศาสตร์ 

ไม่แปลกที่ชายหนุ่มผู้เติบโตมาในครอบครัวศิลปินจะหลงใหลในศาสตร์แห่งความสุนทรีนี้ แต่สิ่งที่แปลกคือทุกวันนี้เขาไม่สามารถใช้ศิลปะสื่อสารความคิดและความรู้สึกได้อย่างที่เคยทำมาตลอด

ดังนั้นตอนนี้เขาจึงยืนอยู่บนเวทีของการต่อสู้

อาวุธที่มีไม่ใช่ปืน ไม่ใช่กระสุน แต่เป็นพู่กัน สี และเฟรมผ้าใบ

เขาสู้ในวันที่เสียงของศิลปะเบาเหมือนขนนก

และสู้ในวันที่ความไม่ปกติของสังคมค่อยๆ แปรเปลี่ยนเป็นความปกติ

 

 1

เรานัดกันที่แผนสำเร็จ Co-Creative Space & Gallery แกลเลอรีย่านเมืองเก่าในกรุงเทพฯ อันเป็นที่จัดแสดง Momentos/Monuments & reMinders นิทรรศการศิลปะว่าด้วยการตีความอนุสาวรีย์และวีรบุรุษผ่านวิธีคิดของวนะที่มีต่อประวัติศาสตร์ชาติสมัยใหม่

ด้วยความที่แกลเลอรีอากาศค่อนข้างร้อน เมื่อไปถึงวนะจึงเชิญชวนเราให้ไปนั่งสนทนากันที่ร้านกาแฟใกล้ๆ เราตอบรับคำชวนนั้นแล้วเดินไปตามคำแนะนำของเขา

“เรียกตัวเองว่าศิลปินไหม” หลังจากสั่งเครื่องดื่ม เราเอ่ยถามคำถามแรกที่อยากรู้

“ถ้าโดยอาชีพผมยังครึ่งๆ กลางๆ นะ เพราะผมหาเลี้ยงชีพจากการทำงานศิลปะทุกประเภทที่เป็นคอมเมอร์เชียลอาร์ต 

“งานหลักๆ ของผมคือการรับจ้างเพนต์ผนังทุกรูปแบบ งานศิลปะแบบอื่นก็ทำ ส่วนการจัดแสดงงานมีแค่เป็นครั้งคราว เดิมทีไม่เคยมีอยู่ในหัวด้วยซ้ำ แต่ด้วยความที่ผมวาดรูปเก็บไว้ตลอดเวลาว่าง กลายเป็นว่าพอวาดสะสมมาเรื่อยๆ การจัดแสดงงานจึงกลายเป็นอีกหนึ่งอย่างที่ทำควบคู่กับงานที่หากิน”

งานนิทรรศการครั้งนี้เป็นงานที่ต่อเนื่องจากการเรียนปริญญาโทสาขาวิชาศิลปะจินตทัศน์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เขาตั้งใจจับเอาเรื่องวีรบุรุษหลังสงครามเย็นมาเป็นแรงบันดาลใจ การถูก propaganda ด้านเดียวด้วยการสร้างชาติ วัตถุอย่างอนุสาวรีย์และรูปปั้นทำให้วนะเคลือบแคลงสงสัยในประวัติศาสตร์ว่าทำไมไม่มีใครพูดเหมือนกันเลยสักคน และงานนี้ก็ทำให้เขาได้นั่งจับผิดประวัติศาสตร์จนพบว่าวิธีคิดทางประวัติศาสตร์ไม่ได้มีเพียงวิธีเดียว

“เช่น เรื่องนโปเลียน ผมค้นเจอว่านโปเลียนมีลูกหลานที่ถูกส่งไปปกครองเมืองที่ตัวเองยึดได้ แต่ใช้ชื่อเดียวกันคือนโปเลียนที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 สิ่งนี้เป็นแรงบันดาลใจให้ผมวาดนโปเลียนที่มี 3 ร่างแต่ใช้หัวเดียวกัน ยิ่งการมาถึงของช่วงล่มสลาย สิ่งที่สะท้อนออกมาชัดเจนจากเรื่องนี้คืออำนาจไม่ได้สืบทอดกันทางสายเลือด อำนาจมาจากความเป็นปัจเจกบุคคลจริงๆ มันพิสูจน์ว่าความยิ่งใหญ่ทั้งหมดมาจากนโปเลียนที่ 1 ผู้เก่งกาจด้านการสู้รบ ส่วนนโปเลียนที่ 2 และนโปเลียนที่ 3 ก็เก่งเหมือนกันแต่ไม่สามารถเทียบนโปเลียนที่ 1 ได้เลย 

“วิธีคิดเรื่องการเมืองของคุณมีผลกับงานยังไง” เราสงสัย

“ผมว่านานวันไปก็ยิ่งลงลึกมากขึ้น จากเมื่อก่อนที่ผมมองการเมืองเป็นเรื่องผิวเผิน เช่น ชนชั้น ทุนนิยม และแรงงาน งานในอดีตของผมจึงพูดเรื่องนี้ แต่ด้วยระยะเวลาทางการเมือง ผมก็เป็นเพียงคนหนึ่งในอีกหลายคนที่ไปเจอกับชุดความคิดที่ไม่ใช่ชุดความคิดหลัก ไปเจอโลกคู่ขนานทางประวัติศาสตร์ที่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศด้วยซ้ำที่คิดคล้ายๆ กันกับเรา 

“เขาได้เห็นว่าโครงสร้างทางสังคมบิดเบี้ยว ผิดเพี้ยน เขารู้ต้นตอว่าประเทศไทยไม่ได้มีปัญหาแค่นายทุน แต่ถูกทับซ้อนด้วยเรื่องของการเมืองการปกครองที่เปลี่ยนแปลงไม่สำเร็จ ทั้งหมดลากยาวมาถึงทุกวันนี้เพราะว่าคนกลัวที่จะต้องกลับไปถึงจุดนั้นอีก สิ่งนี้ค่อยๆ มีผลกับงานของผมจนออกมาเป็นอย่างที่เห็น”      

 

2

จากที่สังเกตงานของวนะ เรารู้สึกได้ถึงความดิบและความหนักแน่นในการลงสีและฝีแปรง ทั้งหมดช่างเข้ากับเรื่องราวที่เขาพยายามสื่อสาร ความรู้สึกในใจเขาส่งผลไปถึงตัวงานอย่างเห็นได้ชัด

“ทำไมถึงสนใจศิลปะ” ภาพทั้งหมดทำให้เราสงสัยเกี่ยวกับจุดเริ่มต้น

“ผมโตมากับพ่อที่เป็นนักเขียน ที่บ้านมีหนังสือเยอะ ส่วนใหญ่เป็นหนังสือที่มีภาพประกอบ ในวัยเด็กผมชอบงานภาพประกอบ ชอบการ์ตูน ก็เลยหัดวาด โตขึ้นมาก็เริ่มฝึกทักษะ พอจริงจังมากเข้าผมก็ตัดสินใจเรียนจิตรกรรมในมหาวิทยาลัยช่วงปี 2548”

การได้เรียนศิลปะอย่างที่ตั้งใจเป็นอีกภาพฝันหนึ่งที่วนะหวังไว้ ยิ่งเมื่อรู้ว่าจะได้เรียนสิ่งที่ชอบที่สุดในช่วงเวลานั้น เขาจึงคิดหวังว่าจะได้เจอกับสังคมและคนที่ไปในทางเดียวกัน นั่นคือการมีเสรีภาพทางความคิด แต่กลับกลายเป็นว่าพอได้เข้าไปเรียน ประโยคที่ว่า ‘มาเรียนศิลปะ เสรีภาพไปใช้ที่อื่น’ คือประโยคหนึ่งที่เขาต้องบอกกับตัวเองอยู่เสมอ

แล้วปี 2549 ก็เกิดเหตุการณ์รัฐประหาร

เหตุการณ์รัฐประหารปี 2549 ส่งผลต่อการเรียนของวนะมาก มีหลายเรื่องที่เขาไม่สามารถแสดงความคิดเห็นผ่านงานศิลปะได้ หรือเมื่อไหร่ที่แสดงออก วนะจะถูกมองว่าโง่ในสายตาของคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความคิดว่าคนที่เรียนศิลปะมีพื้นฐานจิตใจสูงกว่าคนทั่วไป

“ผมไม่เห็นด้วยนะที่บอกว่าศิลปะยกระดับจิตใจคน ผมว่าอยู่ที่พื้นฐานความคิด สิ่งแวดล้อม และอีกหลายอย่างมากกว่าที่จะบอกว่าเรามีพื้นฐานจิตใจที่ดีกว่าเพื่อนมนุษย์คนอื่น ศิลปะไม่ใช่องคาพยพเดียว”

“แล้วตอนนั้นคุณได้แสดงความคิดเห็นไหม”

“มีครับ คือผมสนใจเรื่องสังคม แล้วตอนนั้นมีเรื่องม็อบการเมืองพอดี พอสังเกตการณ์มากเข้าผมก็ไปลงพื้นที่กับเขาด้วย 

“ผมไปพัทยาเพราะมีคดีเรื่องปิดประชุมอาเซียน ตอนนั้นผมไม่รู้จักใครสักคนแต่ก็ไป เพราะผมสงสัยว่า เฮ้ย เวลาที่เราไปเล่าเรื่องที่สงสัยให้คนอื่นฟังแล้วเขาบอกว่าเราถูกหลอก มันจริงไหม ผมตามไปดูจนได้เห็นที่เขาตีกัน ผมไปขอลังกระดาษนอนหน้าร้านสะดวกซื้อและเจอคนมาก่อกวนตลอดเวลาจนเช้า ถ้าดูทีวีผมคงไม่เห็นอะไรพวกนี้

“หลังจากวันนั้นความรู้สึกผมไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ผมไม่ใช่ผู้ร่วมชุมนุมแล้ว ไม่ใช่แค่คนไปสังเกตการณ์ ผมเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ เป็นส่วนหนึ่งของการถูกกระทำ เป็นส่วนหนึ่งที่ถูกวาทกรรมบางอย่างกลบไม่ให้ใครเห็น เพราะงั้นเวลาทำงานผมก็เริ่มสเกตช์ภาพงานที่เกี่ยวกับการเมืองมากขึ้น ใครจะว่าอะไรก็ช่าง อาจารย์จะว่าอะไรก็ช่าง

“แต่…” เขาทิ้งช่วง 

“อาจารย์ก็ไม่เห็นด้วย”

“ไม่เห็นด้วยในเชิงความคิด หรือไม่เห็นด้วยในการแสดงออก” เราถามให้เขาคิด

“ไม่เห็นด้วยในเชิงความคิดตั้งแต่แรกเลย เช่น เวลาต้องจับกลุ่มส่งสเกตช์ อาจารย์จะคว่ำชาร์ตของผม เอาด้านหลังออก คือไม่พูดถึงงานแบบนี้ ไม่ตรวจ และไม่ให้คนอื่นเห็นงานนี้ ตอนนั้นผมเกิดคำถามว่าทำไมทำอย่างนี้วะ

“ตอนเริ่มต้นเรียนศิลปะ ผมคิดว่าศิลปะเป็นเรื่องการสื่อสาร และการสื่อสารก็อยู่บนสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญถ้าเราไม่ได้ไปล่วงล้ำใคร การทำงานศิลปะเป็นการพูดที่เสียงโคตรจะเบาอยู่แล้วเพราะคนดูต้องตีความ แต่นี่อาจารย์กลับไม่ให้ผมแสดงภาพด้วยซ้ำ แม้งานการเมืองของผมในตอนนั้นจะยังเป็นความไร้เดียงสา ผมยังมองโลกด้านเดียว คิดเรื่องสังคมชนชั้นธรรมดาทั่วไป เช่น การถูกกดทับของคนรวยคนจน แต่ถึงกระนั้นอาจารย์ก็ไม่ตอบสนองเลย ผมจึงดื้อด้วยการไม่เข้าเรียนแต่ส่งงาน สุดท้ายก็ได้เกรดมาเพราะตัดสินกันที่ตัวงาน”

“ตอนนั้นรู้สึกยังไง”

“อึดอัด เพราะถ้าพูดกันตรงๆ ม็อบช่วงปี 2548-2549 เป็นม็อบเสื้อแดงที่ไม่มีใครพูดอะไรได้อยู่แล้ว แต่นี่ผมยังไม่ทันพูดเรื่องสีทางการเมืองด้วยซ้ำ แค่พูดเรื่องการเมือง สังคม แรงงาน แต่อาจารย์ยังไม่ให้ผมพูดในห้องเรียน มันเลยทั้งโกรธและอึดอัด”

วนะเล่าว่างานที่ถูกอาจารย์คว่ำสเกตช์นั้นได้ reference มาจาก Diego Rivera ศิลปินเม็กซิกันที่เล่าเรื่องชนชั้นกรรมาชีพ ภาพของวนะจึงเป็นภาพชาวนาและชาวไร่ หรืออย่างภาพทีสิสของเขาก็เป็นภาพชนชั้นแรงงานในกรุงเทพฯ เสริมด้วยสัญลักษณ์อย่างนกพิราบ และมีแบ็กกราวนด์เป็นไซต์ก่อสร้างที่กำลังสู้กับเครื่องจักร

“ชีวิตมหา’ลัยเจอกับเหตุการณ์แบบนั้น ความรู้สึกเปลี่ยนไปไหมจากตอนแรกที่คาดหวัง”

 เขายิ้มแล้วเล่าต่อ

“เปลี่ยนไปมาก ตอนปีสุดท้ายเขาให้เขียนบทความขอทุน ช่วงนั้นผมรู้สึกอึดอัดที่ทำงานจิตรกรรมก็ไม่ได้ อาจารย์ไม่โอเค พอมีโอกาสให้เขียนบทความผมจึงเขียนส่งไป ปรากฏว่างานชิ้นนั้นทำให้ผมได้ทุน แต่อาจารย์ที่เขียนคำนิยมให้บอกว่านี่เป็นงานที่มีเสียงแบบเก่าที่ไม่ถูกพูดถึงนานแล้ว

“อาจารย์เขียนต่อไปว่า ‘งานเขียนของวนะก็เหมือนกับเสียงแมลงหวี่ตอมหู’”


แม้เจออุปสรรคในช่วงมหาวิทยาลัย แต่หลังเรียนจบวนะก็ยังยืนยันวิธีคิดแบบเดิม 

เขาออกไปรวมกลุ่มกับคนรู้จักเพื่อต่อต้านเหตุการณ์รัฐประหารปี 2549 และร่วมกันแสดงออกโดยตั้งคัตเอาต์ต้านเผด็จการกลางถนน งานชิ้นแรกที่วนะทำคือการนำบทกวีของทวีป วรดิลก มาวาดภาพประกอบ วนะเล่าว่านี่เป็นการแสดงออกที่ง่ายที่สุดเพราะแค่มีคนมายืนอ่านกวีและดูภาพก็เพียงพอแล้ว 

ในเวลานั้นเขาสนุกที่งานศิลปะได้ตอบสนองคนโดยไม่ต้องอยู่ในแกลเลอรี ไม่ต้องถูกประเมินค่าด้วยอาจารย์ที่มีคุณวุฒิทางศิลปะ แต่ศิลปะก็ได้ทำหน้าที่ของมันอย่างเต็มที่ 

“พ่อผมบอกเสมอว่า ถ้าเราทำงานที่พูดเรื่องคนอื่น พูดเรื่องคนในวงกว้าง เดี๋ยวจะมีคนที่พร้อมโอบกอดเรา คือคุณอาจจะไม่รวยแต่คุณไม่เดียวดายแน่ๆ”

เวลาผ่านไป หลังจากเหตุการณ์รัฐประหารปี 2549 สงบลง วนะกับกลุ่มคนที่รู้จักจึงแยกย้ายไปตามเส้นทางของตัวเอง แกนนำและมวลชนบางคนติดคุก บ้างถูกไล่ล่า บ้างสูญเสีย บ้างต้องมารับชะตากรรมกันต่อในช่วงที่ทุกอย่างเป็นสุญญากาศทางการเมือง ส่วนวนะเองตัดสินใจกลับไปเป็นครูสอนศิลปะที่โรงเรียนแถวบ้านด้วยคำสั่งเสียของแม่ก่อนตายว่าอยากให้เขาอยู่กับพ่อ และด้วยอีกเหตุผลคือลูกคนโตอย่างเขาอยากให้น้องสาวและน้องชายใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ ต่อ

วนะตัดสินใจเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่บ้านเกิดภายใต้ชายคาเดียวกับพ่ออีกครั้ง ตอนนั้นเองที่เขาคิดว่าชีวิตตัวเองคงมั่นคงถาวรที่ตรงนี้ เขาอยู่ในที่ที่สบายใจแล้ว เขากำลังได้กลับไปอยู่กับคนที่เขารัก ได้ใช้ชีวิตปกติ กลางวันทำงาน ตกเย็นร่ำสุรา ย่ำค่ำคุยการเมืองกับบิดาของตัวเอง

วนะเล่าด้วยเสียงหัวเราะว่าเขาชอบชีวิตแบบนี้และคิดว่าการเดินทางของชีวิตคงจบลงตรงนี้

“ตอนอยู่บ้านผมไปเป็นครูและตั้งใจว่าจะไม่ทำกับใครแบบที่เคยโดนมา ผมพยายามอย่างที่สุดที่จะไม่ไปขีดกรอบเด็ก ตอนนั้นชีวิตผมโดยรวมถือว่าดีมาก ผมได้เป็นคนธรรมดาที่ใช้ชีวิตแบบที่อยากใช้ ไม่จำเป็นต้องเป็นศิลปินก็ได้เพราะบ้านนี้มีศิลปินคนเดียวก็พอแล้ว นั่นก็คือพ่อ 

“จนมารัฐประหารปี 2557”

 

3

เดือนสิงหาคมปีนั้น สน.ชนะสงคราม ออกหมายจับวัฒน์ วรรลยางกูร หลังจากมีหมายเรียกให้วัฒน์ไปรายงานตัวกับทางการ ไม่ถึง 2 สัปดาห์ก็มีคนมาที่บ้าน เวลาผ่านไปก็ยิ่งเริ่มมาถี่ขึ้น จากหมายเรียกกลายเป็นหมายจับ หรือแม้กระทั่งการเอาคนงานของบ้านไปตระเวนดูว่าพ่อเขาอยู่ที่ไหน สิ่งที่เกิดขึ้นพลิกทุกชีวิตในครอบครัววรรลยางกูร ทุกสิ่งทุกอย่างล่มสลาย บ้านที่กำลังปรับปรุงต้องค้างเติ่ง เช่นเดียวกับความฝันที่จะปักหลักชีวิต ณ บ้านหลังนี้ รวมถึงห้องเขียนหนังสือของพ่อและห้องวาดรูปของวนะ รัฐประหารทำให้พวกเขาแตกกระสานซ่านเซ็นราวผึ้งแตกรัง พ่อต้องหนีข้ามประเทศ ส่วนวนะเองก็ต้องหนีออกจากบ้านและไม่ได้กลับไปอาศัยอยู่ที่นั่นอีกเลย 

เขาทิ้งทุกอย่างไว้อย่างนั้น

ในวันที่พ่อของวนะลี้ภัยอยู่ในช่วงเดือนเดียวกับที่เขาสมัครเรียนปริญญาโทพอดี เขาเหลือเงินติดตัวเพียง 500 บาท และรถที่พ่อทิ้งเอาไว้หนึ่งคันที่มีงวดผ่อนอีก 4 ปี วนะหัวเราะเบาๆ เมื่อนึกย้อนไปถึงเหตุการณ์นั้น 500 บาทจะเอาไปจ่ายค่าเทอมและเติมน้ำมันได้ยังไง

“ตอนนั้นท้อไหม” เราถามไปโดยคิดภาพตามสิ่งที่เขาเจอ แต่คำตอบของเขาทำให้เราแปลกใจ

“มันไม่ได้ลำบากกายอะไรเลยนะ” วนะยิ้มก่อนอธิบายต่อ

“ผมไม่ได้ถูกควบคุมตัว ไม่ได้ถูกใครเอาไปสอบสวนเรื่องพ่อ อีกอย่างคือผมรู้อยู่แล้วว่าวันหนึ่งอาจต้องเจอแบบนี้ ก่อนหน้านี้มีตัวอย่างเยอะมาก นั่งอยู่ที่บ้านดีๆ แล้วโดนจับไป อยู่ดีๆ ติดคุกฟรี 2-3 ปี ผมไม่ต้องการอยู่ในสถานะนั้น แต่ก็ไม่ได้อยากอยู่เงียบๆ จึงเลือกเดินออกมาและใช้ชีวิตแบบนี้แทน อย่างการแสดงงานครั้งนี้ผมมีงานอยู่แค่ 7 ชิ้น แต่เมื่อมีโอกาสที่จะได้แสดงผมก็อยากพูดในสิ่งที่คิดและอัดอั้นเสมอมา 

“ทำไมในสังคมปัจจุบันคนที่พูดความจริงถึงอยู่ไม่ได้ ทำไมสังคมไทยไม่เคยเปลี่ยนเลย หมุนวนอยู่อย่างนี้ เพราะอำนาจของโครงสร้างเป็นแบบเดิม ผลักให้สังคมวนกลับไปอยู่ที่เดิมอยู่วันยังค่ำ คนรุ่นใหม่ก็เดินหน้าไม่ได้ เพราะถูกฉุดกระชากด้วยอำนาจโบราณ ดังนั้นถ้ามีโอกาสพูดเรื่องนี้ผมเอาคืนแน่นอน จะเป็นงานจิตรกรรมหรือบทกวีก็ได้ ผมสู้ในสาขาอาชีพ ผมสู้ด้วยความถนัดของตัวเอง”

 “สู้ด้วยเครื่องมือของเรา” เราสรุปตามที่ได้ยิน

 “ใช่ครับ ด้วยเครื่องมือของเรา”

 

4

“ยังเห็นความหวังไหม” ด้วยเหตุการณ์ที่เขาเจอ เราจึงเอ่ยถามไปแบบนั้น

“เห็นความหวังแน่นอน ผมเชื่อว่ามีสิทธิที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมได้ในทางใดทางหนึ่ง ต่อให้เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์กระแสหลักได้ แต่เราก็สร้างโลกคู่ขนานไปด้วยกันได้ มันขึ้นอยู่กับการให้พื้นที่กัน

“ผมยังหวังแบบจับต้องได้ ความหวังเป็นเรื่องที่จับต้องยากมาก กับการเมืองไทยยิ่งแล้วใหญ่ มันแทบจับต้องไม่ได้อยู่แล้ว แต่ผมก็หวังให้มีเสรีภาพที่ไม่ทำร้ายร่างกายหรือชีวิตใคร ผมหวังให้สิ่งนี้ถูกผลักออกไปให้สุดทางเพราะสิ่งที่เป็นปกติควรจะเป็นปกติ ความจริงต้องเป็นความจริง ฆาตกรรมคือฆาตกรรม มันเป็นเรื่องที่ง่ายมากแต่ยาก (เน้นเสียง) เพราะตอนนี้สังคมเรากลับขัดแย้งในตัวเอง

“ผมขอแค่ความปกติคืนมา ขอความปกติให้ชีวิตผม ขอความปกติให้กับคนอื่นๆ ขอความปกติให้กับความจริง เท่านี้เองคือความหวัง ผมไม่ได้ขอให้ทุกคนคิดเหมือนผมด้วยซ้ำ เพราะผมมองว่าทุกสังคมถูกออกแบบมาให้ความเห็นต่างอยู่ได้อยู่แล้วตามหลักประชาธิปไตย”

 “เหมือนพื้นฐานคือการมองคนให้เท่ากันก่อน” เราถามกลับ

“ใช่ แล้วเราไปวัดกันด้วยวิทยาศาสตร์ เหตุผล หรือการนับเลข เราไม่ต้องมาประจานกันออกโซเชียลหรือไปหาพวก เราพึ่งวิทยาศาสตร์ พึ่งการเลือกตั้ง และพึ่งประชาธิปไตย เรามีกติกาอยู่แล้ว แต่เราเคารพมันไหม ทำไมเสรีภาพในตอนนี้กลายเป็นการห้ามพูดบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งผมว่าไม่ใช่สามัญสำนึกของมนุษย์”

เมื่อไม่กี่วันก่อนที่เราจะพบกัน วนะได้เปลี่ยนสถานะเป็นคุณพ่อมือใหม่ ลูกสาวของเขายังมีอายุไม่ถึงเดือนดี ท่ามกลางเหตุการณ์ต่างๆ ของสังคมปัจจุบันกับคำพูดของคนส่วนใหญ่ที่บอกว่าไม่อยากมีลูกยุคนี้ เราถามวนะต่อถึงสถานะที่เขากำลังเผชิญ เขาคิดยังไงกับสภาพสังคมที่ต้องมีผลกับลูกน้อยที่เขารักแน่ๆ

“ผมคิดทุกวันตั้งแต่แฟนตั้งท้องจนตอนนี้ลูกเกิดมาเลยนะ ว่าถ้าผมมีความไม่พอใจในสังคม ผมก็ต้องพยายามทำอะไรบางอย่าง ไม่อย่างนั้นลูกผมต้องโตมาในสังคมที่เราไม่ชอบ เขาอาจโตมาเจอยุคที่กลับไปกลับมาแบบนี้ หรืออยู่ในยุคเดียวกันกับปู่ของเขา 

“พ่อผมเคยหนีเข้าป่า ทุกวันนี้ลี้ภัย ผมเป็นผู้ได้รับผลกระทบเต็มๆ ทำไมลูกผมยังต้องมาเสี่ยงเจออะไรอย่างนี้อยู่อีก ผมไม่เข้าใจเลย อีก 12 ปีข้างหน้าก็จะครบ 100 ปีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว เราเปลี่ยนอะไรได้บ้างจากวันนั้น แล้ว 12 ปีที่เหลือจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไหม ดังนั้นผมต้องทำเท่าที่ทำได้”

“ตอนนี้ในฐานะพ่อ คุณเข้าใจพ่อของคุณมากขึ้นไหม”

“ผมว่าเข้าใจไม่เท่านะ พ่อผมเจอความรุนแรงทางการเมืองแบบถึงตัวมาหลายครั้ง เขาต้องเข้าป่าแบบหนัง Che Guevara ซึ่งเราไม่ได้อยู่ในสังคมแบบนั้นแล้ว ตอนนี้สิ่งที่เราทำได้คือหลบอยู่ในป่าทางความคิด ผมไม่ต้องหนีเข้าป่าจริง ไม่ถึงกับว่าต้องอยู่เป็น แต่ว่าในสังคมที่ความจริงพูดได้ไม่ถึงร้อยเปอร์เซ็นต์ ผมต้องหลบอยู่ภายใต้ต้นไม้ทางความคิดบางอย่างเพื่อรอบางวันที่จะได้ออกมา

“ส่วนความเป็นพ่อถามว่าเหมือนกันไหม ผมว่าต่างกันที่ยุคสมัยอยู่แล้ว เพียงแค่ว่าเรายังสู้กับปัญหาคล้ายๆ กัน แต่ผมอาจจะมองไม่เหมือนพ่อผม พ่อผมมองเรื่องการเปลี่ยนแปลงสังคมตลอดเวลา ผมขอแค่คืนความปกติเท่านั้นเอง อะไรก็ได้ที่ไม่ใช่แบบนี้

“ผมเป็นคนแพ้เป็น เพราะผมว่าความคิดผมไม่มีวันถูกตลอดหรอก ผมส่งเสียงดังตลอดไม่ได้หรอก แต่ก็ต้องส่งเสียง”

 

5

“เห็นคุณอัพสเตตัสว่าเพิ่งคุยกับพ่อเมื่อเช้านี้ อยากบอกอะไรกับพ่อไหม ถ้าเป็นความรู้สึก ณ ตอนนี้” เราชวนวนะคุยถึงพ่อที่อยู่แดนไกล

“กับพ่อในมุมโรแมนติกผมบอกรักเขาไม่รู้กี่ครั้งแล้วครับ ดังนั้นผมไม่ต้องบอกอะไรพ่อเลย แล้วยิ่งผมกับพ่อเป็นนักดื่มด้วยกันทั้งคู่ เราคุยกันเยอะมาก” คำตอบของวนะธรรมดาเสียจนผิดคาดไปจากที่เราคิด

“เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนเพิ่งมีข่าวการอุ้มหาย พูดได้ว่าคุณเป็นคนที่อาจเคยได้รับผลกระทบกับเรื่องนี้เต็มๆ รู้สึกยังไงที่เห็นว่ามันเกิดขึ้นอีกแล้ว”

“ให้จินตนาการตอนที่คนอื่นถูกอุ้มผมอาจจะไม่รู้ แต่ตอนที่ผมไปอยู่กับพ่อที่ลาวช่วงที่อาจารย์สุรชัย แซ่ด่าน โดนอุ้มและเป็นศพไป (สุรชัย แซ่ด่าน อดีตนักเคลื่อนไหวและนักโทษการเมืองคดีคอมมิวนิสต์คนสุดท้ายของประเทศไทย) ผมพอเข้าใจความกลัวว่าจะไม่มีชีวิตอยู่มันรู้สึกยังไง         

“ตอนนั้นผมถูกอัดด้วยข้อมูลว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นกับพ่อตลอดเวลา บางวันที่คลับคล้ายคลับคลาว่าอาจจะใช่ ผมกลัวถึงขนาดที่ว่านั่งอยู่เฉยๆ ยังขนลุก มันขนลุกด้วยความรู้สึกที่ว่าถึงวันนี้แล้วเหรอ ถึงตัวเราแล้วเหรอ (นิ่งคิด) แต่ก็ยังดีว่าไม่ใช่ จนพ่อได้ลี้ภัย แต่ผมคิดว่าครอบครัวอื่นๆ ที่ถูกอุ้มหายคงรู้สึกหนักกว่านี้เป็นร้อยเท่าแน่ๆ พวกเขาเข้าสู่สุดทางของความกลัวแล้ว ญาติเขาสูญหายหรือเสียชีวิต แต่ผมโชคดีที่ยังรอดและได้มานั่งคุยกันแบบนี้ ผมยังกล้าพูดเรื่องนี้ในงานศิลปะเพราะเรายังไม่ถูกกระทำขนาดนั้น”

ท่ามกลางร้านกาแฟที่มีลูกค้าเข้ามานั่งไม่ขาดสาย แต่ถ้อยคำทุกประโยคของวนะชัดเจนจนทุกคนในร้านได้ยิน

“มีคำสอนไหนของพ่อที่เป็นแกนให้คุณดำเนินชีวิตมาถึงตอนนี้”

“อย่าเรียกว่าคำสอน เรียกว่าคำด่าดีกว่า (หัวเราะ) มีวันหนึ่งผมทะเลาะกับแฟนเก่าเรื่องความก้าวหน้าในชีวิต วันนั้นคุยกับพ่อแล้วก็ดื่มกันไป พ่อด่าผมว่ามึงมันกระจอก (เน้นเสียง) หัวใจมึงมันไม่ได้ ถ้ามึงจะทำงานศิลปะที่พูดเรื่องประชาชน หัวใจมึงต้องได้

“ตอนนั้นมีช่วงที่เขวเหมือนกันนะ พยายามไปเขียนนก เขียนก้อนหิน พ่อก็บอกว่าสวยนะ แต่ไปไม่รอดหรอก ไม่เชิงเป็นคำสอนแต่เขาเห็นอยู่แล้วว่ามันไม่ใช่ธรรมชาติของเรา”

“เหมือนพ่อให้คุณซื่อสัตย์กับความเป็นตัวเอง”

“ใช่ครับ ก็น่าจะอย่างนั้น (หัวเราะ)”

ตั้งแต่เราคุยกันมานี่คงเป็นหัวข้อบทสนทนาที่ทำให้วนะหัวเราะได้เต็มเสียงที่สุด

“คุณบอกว่าเวลาอยู่กับพ่อส่วนใหญ่จะเป็นวงดื่ม คุณคิดถึงช่วงเวลาแบบนั้นไหม”

“ชัดเจนเสมอ พ่อเป็นความทรงจำที่ชัดเจนสำหรับผมตลอดเวลา”

“ทุกวันนี้ยังคิดถึงบ้านอยู่ไหม ยังกลับไปบ้านอยู่หรือเปล่า” ก่อนจบการสนทนา เราตัดสินใจถามคำถามสุดท้าย

“ไปครับ อย่างตอนดู ไกลบ้าน (ภาพยนตร์สารคดีที่เล่าถึงความห่างไกลบ้านของวัฒน์ วรรลยางกูร หลังเหตุการณ์ลี้ภัยทางการเมือง) ผมได้เห็นบ้านตัวเองในสารคดี ผมยังรู้สึกถึงไอแดด รู้สึกถึงเสียงจักจั่นในไร่ เพราะผมก็อยู่อย่างนั้น รู้สึกถึงความร้อน รู้สึกถึงใบไผ่ รู้สึกถึงเสียงคางคกกระโดดอยู่ในกล่องไผ่

“ผมเขียนกวีเป็นงานอดิเรกด้วยนะ ผมเขียนถึงบ้านบ่อยมากเพราะสะเทือนใจ แต่พ่อก็บอกว่าเขียนน่ะดีแล้ว ดีกว่ามึงมาเล่าให้กูฟัง เขียนไปเลย อยากเขียนอะไรก็เขียน ผมก็เริ่มเขียนมาตั้งแต่ปี 2557 เขียนตั้งแต่พ่อไม่อยู่”


  “เบื้องหลังมองเห็นเพียงทางลูกรัง
  ข้าวของที่เก็บออกมาจากบ้านร่วงหล่นรายทาง
  ชิ้นแล้วชิ้นเล่า
  บนเกวียนหลังนี้จะเหลือสิ่งใดอีก
  เมื่อถึงที่หมาย

  ความหวังหรือ ยังรออยู่
  ความฝันหรือ ฉันคงลืมมันระหว่างทาง
  ทำได้เพียงจดจำใบหน้าของแม่ไว้
  แม้ไม่อาจพบอีก
  ส่วนพ่อนะหรือ เป็นสีน้ำมันที่เขียนไม่เสร็จ
  ตัวฉัน คนนั้นที่อยู่ในกระจก น้องๆ เป็นผีเสื้อและสายรุ้ง
   เขาไม่ได้อยู่ในภาพขาวดำ
  ภาพหมู่ของครอบครัวที่คิดถึง
  ภาพที่คุณลืมมันเป็นอย่างไร

(บทกวีที่วนะเขียนถึงพ่อ 16 มิถุนายน 2559)


“วันที่ออกมาจากบ้านผมไม่ได้เก็บอะไรไปเลยเพราะที่บ้านไม่มีของมีค่าแล้ว ผมแค่เอาหนังสือออกมาบางเล่ม เอาภาพสีน้ำมันที่วาดพ่อออกมาเพราะเป็นภาพเหมือนพ่อเพียงภาพเดียว และเอาภาพดรอว์อิ้งแม่ภาพเดียวออกมาด้วย ก็แค่นั้นเอง อาจไม่ได้มีคุณค่าอะไรแต่ผมก็เก็บออกมา หรืออย่างวันที่ว่างผมก็แอบเข้าไปที่บ้าน ยืมรถกระบะเพื่อนไปขนตู้หนังสือใบเก่าๆ ของพ่อออกมา 

“เพราะหนังสือเก่าๆ ยังไปหามือสองได้ แต่ผมหาตู้ใบนี้ไม่ได้แล้ว”

เกิดความเงียบขึ้นชั่วขณะสั้นๆ แล้ววนะจึงเล่าต่อ

“ตอนนี้เหมือนทุกคนออกจากบ้านไปเช้าวันนี้แล้วกลับเข้าบ้านอีกทีหลายปีต่อมา เราจะจำได้ว่าวันนั้น วันที่เราออกไป แก้วที่เราไม่ได้ล้างเรากินอะไรไว้ ตู้ปลาที่น้ำเต็มตู้กลับไปอีกทีน้ำแห้งหมด มันมีปลาอยู่ มีอะไรที่เราใส่ไว้ มันเคยเสียบไฟเอาไว้จนไฟโดนตัด ออกซิเจนในตู้ปลาไม่ทำงานแล้ว หรือรองเท้าเก่าๆ คู่นี้เราก็จำได้ว่าชอบใส่ มันมีภาพจำเกี่ยวกับหลายวัตถุ

“ทุกอย่างเหมือนถูกหยุดเวลาเอาไว้หมด มีอย่างเดียวที่โตขึ้นคือต้นไม้ ต้นไผ่แทงกิ่งสอดเข้าไปใต้หลังคาจนหลังคาแตกหมดแล้ว”

“ที่นั่นยังเป็นบ้านสำหรับคุณไหม”

“เป็นบ้านครับ แล้วผมก็ไม่คิดไปอยู่ที่อื่นด้วย เคยมีคนมาขอซื้อเป็นล้านผมก็ไม่ขาย เพราะถ้าผมอยากขายผมคงไม่เอาตู้หนังสือเก่าๆ ออกมาจากบ้านหรอก ทุกอย่างที่นั่นเป็นประวัติศาสตร์ส่วนตัว คนอื่นอาจไม่รู้แต่ผมรู้ และผมคิดว่ามันคงเศร้ามากเลยที่เรากลับไปบ้านแล้วเข้าไปในพื้นที่ของเราไม่ได้ 

“ผมมีความฝันตลอดเวลาคือการกลับไปอยู่บ้านครับ ผมอยากคืนความปกติให้ตัวเอง 

“และในความฝัน พ่อผมจะได้กลับมาอยู่ที่นี่”

ไม่มีน้ำตาจากชายตรงหน้า สิ้นสุดประโยคมีเพียงน้ำเสียงแผ่วๆ และหลังจากสนทนากันเสร็จ เรากับวนะเดินกลับมาชมผลงานของเขาที่แกลเลอรี พื้นด้านหน้ามีใบไม้แห้งร่วงหล่น เต็ม พื้นไปหมด

ตอนนั้นเองที่ทำให้เราคิดว่าความเปลี่ยนแปลงเดียวที่วนะไม่คิดจะต่อสู้

คงเป็นต้นไผ่ที่โตขึ้นในบ้านของเขานั่นเอง                                                           

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ปัณณทัต เอ้งฉ้วน

เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา