FISHERIES

ชิน-ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย คือช่างภาพอาชีพผู้สนใจประเด็นการอนุรักษ์ระบบนิเวศทางทะเล
และเลือกใช้ภาพถ่ายสื่อสารเรื่องราวเหล่านี้ให้คนทั่วไปได้รับรู้ ลองชมภาพถ่ายแนว
photo essay ที่เล่าเรื่องราวปัญหาการประมงในท้องทะเลไทยของชินได้ที่ด้านล่างนี้
และติดตามเรื่องราวความคิดของช่างภาพหนุ่มคนนี้ได้ใน
a day 189


ด้วยท้องทะเลที่สมบูรณ์และความเฟื่องฟูของอุตสาหกรรมประมงเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ประเทศไทยได้เติบโตเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำอันดับต้นๆ ของโลก
แต่เบื้องหลังฉากหน้าที่รุ่งเรือง ปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้าได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
และยังคุกคามเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของผู้คนในอนาคตภายภาคหน้าได้

1

กลางท้องทะเลอันดามันของไทย สัตว์น้ำหลากชีวิตพยายามว่ายหนีเอาชีวิตรอดจากผืนอวนล้อมในขณะที่ถูกลากขึ้นสู่ผิวน้ำ
ด้วยอุตสาหกรรมประมงขนาดใหญ่ในภูมิภาคท้องทะเลของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ถูกนับว่ามีการประมงเกินขนาดเป็นอันดับสูงสุดแห่งหนึ่งของโลก

2

กุ้งเผาถูกพลิกกลับบนเตาย่างในร้านอาหารแห่งหนึ่งในเมืองหาดใหญ่
จังหวัดสงขลา
อาหารทะเลเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญของผู้คนในพื้นที่ชายฝั่งทั่วโลกมาตั้งแต่โบราณ แต่ทว่าการประมงเชิงพาณิชย์ในประเทศไทยเพิ่งได้เริ่มเติบโตในช่วง
50 กว่าปีที่ผ่านมานี้เอง


3

ฝูงปลากะตักว่ายน้ำรวมฝูงใต้ท้องทะเลในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน
จังหวัดพังงา ด้วยระบบนิเวศที่สมบูรณ์เกื้อหนุนด้วยกระแสน้ำและลักษณะทางสมุทรศาสตร์
ท้องทะเลไทยจึงมีความสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพสูงมากซึ่งช่วยเกื้อหนุนอุตสาหกรรมต่างๆ ที่สำคัญต่อเศรษฐกิจเช่นการประมงและการท่องเที่ยว

4

คนงานเดินผ่านสัตว์น้ำหลากชนิดที่กองเรียงรายในระหว่างการประมูลในแพปลาแห่งหนึ่งในจังหวัดระนอง ด้วยอุตสาหกรรมอาหารทะเลขนาดใหญ่ ประกอบกับท้องทะเลที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง ประเทศไทยจึงกลายเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกอาหารทะเลอันดับต้นๆ ของโลก

5

ปลาปักเป้ายักษ์ลอยอยู่บนผิวน้ำหลังจากถูกโยนทิ้งลงมาจากเรืออวนล้อมที่ออกหาปลาในท้องทะเลกระบี่
ด้วยเครื่องมือประมงไม่เลือกชนิดที่ใช้กันอยู่ทั่วไป สัตว์น้ำอื่นๆ นอกจากสัตว์เศรษฐกิจจึงมักถูกจับติดมาด้วย


6

ในยามค่ำคืน ลูกเรืออวนล้อมทำงานอยู่ใต้แสงไฟเรือกลางท้องทะเลอันดามัน
จังหวัดกระบี่

7

ภายใต้ผืนน้ำซากของปลาขี้ตังเน่าเปื่อยอยู่บนอวนที่มาติดกองหินสันฉลามกลางท้องทะเลสัตหีบ
จังหวัดชลบุรี ‘Ghost Fishing’ หรือการจับปลาโดยเครื่องมือประมงที่ถูกทิ้งหรือสูญหายในทะเลก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่พบในท้องทะเลไทย

8

ลูกเรือประมงชาวพม่าขนย้ายลังปลาเป็ดใต้ท้องเรืออวนลากสัญชาติไทยที่ออกหาปลาในท้องทะเลของหมู่เกาะมะริด
ประเทศพม่า นอกจากประเด็นการจับปลาเชิงทำลายล้างและเกินขนาดแล้ว อุตสาหกรรมการประมงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงถูกรุมเร้าด้วยประเด็นอื่นอย่างเช่นสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานข้ามชาติอีกด้วย

9

‘ปลาเป็ด’ สัตว์น้ำหลากชนิดที่ติดมากับอวนลากซึ่งถูกใช้ในการทำปลาป่นสำหรับผสมเป็นอาหารสัตว์ ด้วยอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ขนาดใหญ่ของประเทศไทยและลักษณะการประมงที่จับสัตว์ไม่เลือกชนิด
สัตว์น้ำวัยอ่อนเหล่านี้จึงมักถูกใช้เป็นโปรตีนราคาถูกแทนที่จะได้เติบโตจนมีมูลค่าสูงอย่างที่ควร
นอกจากนี้การจับสัตว์น้ำวัยอ่อนยังส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของจำนวนประชากรสัตว์ต่างๆ อีกด้วย

10

ปลากระเบนปีศาจหางหนามถูกวางเรียงรายอยู่บนพื้นเพื่อรอการประมูลในตลาดปลาจังหวัดระนอง
ปลากระเบนกลุ่มนี้มีมูลค่าสูงในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ แต่ทว่าแทบไร้ราคาต่ออุตสาหกรรมประมง
และเมื่อลักษณะทางชีววิทยาของปลากระเบนที่มักเติบโตช้าและออกลูกจำนวนน้อย
จำนวนของพวกมันจึงลดไปอย่างมาก สวนทางกับการเติบโตของอุตสาหกรรม

11

ทีมนักชีววิทยาทางทะเลออกเก็บข้อมูลในแนวปะการังที่มีร่องรอยความเสียหายจากการระเบิดปลาในหมู่เกาะมะริด
ประเทศพม่า ทะเลในภูมิภาคนี้ยังมีพื้นที่ตกสำรวจอยู่โดยเฉพาะในท้องทะเลอันดามัน เหล่านักวิทยาศาสตร์จึงเร่งรวบรวมข้อมูลเพื่อพัฒนาการจัดการและการอนุรักษ์ทรัพยากรของท้องทะเลแถบนี้ให้เป็นไปอย่างยั่งยืน

12

ลูกเรือตังเกซ่อมแซมอวนที่เสียหายในขณะที่เรือจอดเทียบท่า
ณ องค์การสะพานปลาจังหวัดภูเก็ต ใต้แสงแดดยามเช้า อุตสาหกรรมประมงในประเทศไทยนั้นมีมูลค่าสูงทางเศรษฐกิจและยังได้สร้างอาชีพ รวมไปถึงการพัฒนาความเป็นอยู่ให้กับผู้คนมากมายโดยเฉพาะในพื้นที่ชายฝั่ง
การพัฒนาการจัดการระบบการประมงให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืนจึงเป็นเรื่องสำคัญไม่ใช่แค่ต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังรวมถึงในด้านเศรษฐกิจและสังคมอีกด้วย

www.shinsphoto.com

AUTHOR