วิค–วันชนะ อินทรสมบัติ คนไทยผู้ร่วมออกแบบงานศิลป์ให้กับ Kena: Bridge of Spirits วิดีโอเกมระดับโลก

Highlights

  • Kena: Bridge of Spirits คือวิดีโอเกมแนวแอ็กชั่น-ผจญภัยจาก Ember Lab สตูดิโอคนทำแอนิเมชั่นในเมืองลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา เนื้อเรื่องของเกมเกี่ยวกับ ‘เคน่า’ เด็กหญิงผู้ออกผจญภัยปลดปล่อยวิญญาณเร่ร่อนในป่า ซึ่งมีกำหนดวางจำหน่ายบนแพลตฟอร์ม Playstation 5, Playstation 4 และ PC ในช่วงปลายปี 2563 
  • หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าเบื้องหลังเกมนี้มีศิลปินไทยอย่าง วิควันชนะ อินทรสมบัติ (Victorior) เจ้าของเพจ Art of Vic และ Studio Kun กลุ่มคนทำแอนิเมชั่นของเขาเป็นผู้ร่วมออกแบบตัวละครและงานศิลป์ หลังจากเคยฝากผลงานไว้ในแอนิเมชั่นสายเลือดไทยอย่าง 9 ศาสตรา
  • วันชนะเผยว่า การออกแบบตัวละครและร่วมควบคุมงานศิลป์ใน Kena: Bridge of Spirits เป็นการทำงานรูปแบบใหม่ที่เขาไม่เคยทำมาก่อน ความท้าทายคือเขาดันเป็นคนที่ไม่ค่อยเล่นเกมแต่ต้องมาทำงานเกมสเกลระดับโลก และสิ่งเดียวที่ผลักดันให้เขาตั้งใจทำจนสำเร็จคือ ความหลงใหลในศาสตร์ของแอนิเมชั่น

Kena: Bridge of Spirits คือวิดีโอเกมแนวแอ็กชั่น-ผจญภัยที่กำลังจะวางจำหน่ายบนแพลตฟอร์ม Playstation 5, Playstation 4 และ PC ในช่วงปลายปีนี้ เกมถูกพัฒนาโดย Ember Lab สตูดิโอเกมเล็กๆ ในลอสแอนเจลิสที่เริ่มสร้างชื่อมาจากการทำโฆษณาแอนิเมชั่นและแฟนอาร์ตจากเกม The Legend of Zelda: Majora’s Mask ซึ่งโด่งดังในอินเทอร์เน็ตจนมียอดผู้เข้าชมกว่า 9 ล้านวิวบนยูทูบ

ความรักที่มีต่อแอนิเมชั่นและวิดีโอเกมของ Mike กับ Josh Grier สองพี่น้องหัวเรือใหญ่แห่ง Ember Lab ต่อยอดเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเขาสร้างวิดีโอเกมของตัวเอง โดย Kena: Bridge of Spirits บอกเล่าเรื่องราวการผจญภัยของ Kena เด็กหญิงผู้เดินทางออกสำรวจและปลดปล่อยวิญญาณเร่ร่อนที่ถูกกักขังไว้ในป่าอันรกร้าง เพื่อฟื้นฟูและคืนสมดุลให้แก่ธรรมชาติ

Kena ถูกพัฒนาให้เป็นเกมสำหรับเล่นบนเครื่อง next-gen console หรือเครื่องเล่นเกมของยุคถัดไป ซึ่งต้องมีรายละเอียดของกราฟิกให้ดูสวยและสมจริงมากกว่าที่เคย นับว่าเป็นเรื่องท้าทายของ Ember Lab ซึ่งเป็นสตูดิโอที่มีคนทำงานเพียง 14 คนและทำโฆษณาเป็นหลัก พวกเขาค่อยๆ พัฒนาโปรเจกต์นี้ในเวลาว่างที่นอกเหนือจากเวลาทำงานปกติ ส่งผลให้กินเวลาพัฒนาเกมไปกว่า 8 ปี 

น้อยคนที่จะรู้ว่าในระยะเวลาอันยาวนานนั้น มีคนไทยที่เข้าไปมีส่วนร่วมพัฒนากับโปรเจกต์นี้เช่นกัน 

วิควันชนะ อินทรสมบัติ หรือที่หลายคนรู้จักในนาม Victorior เจ้าของเพจ Art of Vic คือศิลปินไทยผู้ชวนทีมงาน Studio Kun สตูดิโอที่เขาเป็นหัวเรือใหญ่ไปเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ซัพพอร์ต Ember Lab ในการสร้าง Kena ตั้งแต่แรกเริ่ม พวกเขารับผิดชอบในขั้นตอนออกแบบตัวละคร ตลอดจนวางทิศทางงานศิลป์ โดยหยิบเอาวัฒนธรรมเอเชียที่เขาคุ้นเคยสอดแทรกลงในรายละเอียดต่างๆ ได้อย่างกลมกลืนและน่าตื่นตาตื่นใจ

แปลกดีที่เมื่อเรานัดคุยกับเขา วันชนะบอกว่าตัวเองไม่ค่อยโปรดปรานการเล่นเกมมากเท่าไหร่ คำถามคือ แล้วศิลปินไทยแบบเขาก้าวไปถึงจุดที่ทำเกมระดับโลกได้ยังไง

ย่อหน้าต่อไปนี้คือเรื่องราวการผจญภัยของเขา

กรุงเทพฯ – ลอสแอนเจลิส 

หลายคนที่เพิ่งรู้จักวันชนะอาจจะคิดว่าเขาเป็นศิลปินไทยหน้าใหม่ ความจริงวันชนะและทีมงาน Studio Kun ถูกจับตามองในวงการนักวาดมานาน ก่อนหน้านั้นวันชนะจบการศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิจิตรศิลป์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังในปี 2552 เขาสั่งสมสกิลการวาดและดีไซน์จนได้ออกแบบให้แอพพลิเคชั่นบน iOS หนัง เกม และโฆษณาให้กับหลายบริษัท โดยเน้นบริษัทต่างชาติเป็นส่วนใหญ่ และได้ฟอร์มทีม Studio Kun ขึ้นมาในปี 2557 เพื่อรองรับงานสเกลที่ใหญ่ขึ้น

งานของวันชนะโดดเด่นในระดับสากล จนเข้าตาสตูดิโอ Ember Lab ที่เห็นรูปวาดและสนใจผลงานของเขาผ่านเว็บไซต์ CGSociety และได้ชักชวนให้มาทำงานร่วมกัน โดยเริ่มจากการทำโฆษณาแอนิเมชั่นและงานกราฟิกก่อน 

“ตอน Ember Lab ติดต่อมา เขาต้องการคนไปทำโฆษณา Coca-Cola พอจบโปรเจกต์นี้ก็มีโปรเจกต์อื่นต่อ ในแง่การทำงานเขาจ้างเราเหมือนฟรีแลนซ์ แต่ตอนที่พูดคุยกันทั่วไปเราก็เหมือนเป็นเพื่อนกัน” 

วันชนะเผยความประทับใจแล้วขยายความว่า แม้การทำงานร่วมกันของ Ember Lab และ Studio Kun เกิดขึ้นมาจากการทำงานทางไกล อาศัยการติดต่องานผ่านทางอีเมลและวิดีโอคอล แต่ระยะห่างที่ห่างไกลดูจะไม่เป็นปัญหาสำหรับพวกเขา เพราะสตูดิโอ Ember Lab เน้นการทำงานในบรรยากาศสบายๆ เหมือนเพื่อนช่วยเพื่อนทำงาน นั่นทำให้วันชนะรู้สึกสบายใจที่จะร่วมงานด้วยมาหลายปี จนนำไปสู่การร่วมงานกันใน Kena: Bridge of Spirits ในที่สุด   

จุดเริ่มต้นของโปรเจกต์ Kena: Bridge of Spirits ย้อนกลับไปเมื่อปี 2555 สตูดิโอ Ember Lab มีความคิดที่อยากจะทำเกมของตัวเอง โดยมีไอเดียแรกเริ่มมาจากความต้องการที่จะทำเกมผจญภัยในป่า บอกเล่าเรื่องราวผ่านตัวเอกที่เป็นตัวละครหญิง วันชนะในตอนนั้นเองก็ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเกมเกมนี้จะเป็นโปรเจกต์ใหญ่ในเวลาต่อมา และเป็นเกมที่จะลงในเครื่อง next-gen console บน PC กับ Playstation ให้เกมเมอร์ทั่วโลกได้เล่น

“เขาอยากให้เราวาดอะไรก็ส่งบรีฟมา เราชอบออกแบบอยู่แล้วเลยได้ร่วมพัฒนาตัวละครไปกับเขาเลย Kena: Bridge of Spirits เคยเป็นโปรเจกต์รอง เพราะหลักๆ เราทำงานโฆษณากัน เวลามีงานโฆษณาเข้ามา เราจะหยุดทำเกมแล้วกลับไปทำต่อหลังจากงานหลักเสร็จ”

ความสนุกของการทำงานในโปรเจกต์นี้คือ Ember Lab ไม่ได้จำกัดขอบเขตการออกแบบของเขา สิ่งที่เขาได้ทำคือการใช้ทักษะในการออกแบบและต่อยอดจากไอเดียที่มีอยู่แล้วอย่างเต็มที่ 

“จริงๆ แล้วเกมนี้ไม่มีอาร์ตไดเรกเตอร์นะ เวลาวาดอะไรไปเขาเอาหมดเลย อย่างภาพร่างตัวละครเอกในตอนแรก หรือการออกแบบสิ่งของ บรรยากาศ  มีแค่ปรับเล็กๆ น้อยๆ แทบจะไม่มีการรื้อใหม่ วาดไปเลยกลายเป็นสนุก” วันชนะเผยความประทับใจ

ตะวันตก-ตะวันออก

หลังจากที่ Kena: Bridge of Spirits ได้ถูกเปิดตัวในวิดีโอสตรีมมิง The Future Gaming พร้อมกับเครื่อง Playstation 5 เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2563 กระแสตอบรับเกมส่วนมากเป็นไปในเชิงบวก เหล่าเกมเมอร์ทั้งหลายไม่ได้คาดหวังถึงการมาของเกมเกมนี้ และพากันประหลาดใจที่เกมจากสตูดิโออย่าง Ember Lab ทำออกมาดูดีเทียบเท่ากับสตูดิโอเกมใหญ่ๆ จนหลายคนแทบจะไม่เชื่อว่านี่คือผู้พัฒนานอกกระแสจริงๆ

Kena: Bridge of Spirits เป็นเกมที่ถูกพัฒนาโดยสตูดิโอจากฝั่งตะวันตก แต่แอนิเมชั่นและคอนเซปต์เน้นความเป็นตะวันออก วันชนะเล่าให้เราฟังว่าบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นความตั้งใจของผู้พัฒนาที่อยากให้ผสมความเป็นเอเชียเข้าไปในเกมด้วย

“สังเกตว่าในเกมจะมีความเป็นเอเชียสูง เพราะไมค์กับจอชเคยไปญี่ปุ่นแล้วชอบมากๆ โดยเฉพาะไมค์ที่เคยไปเรียนและไปใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นสักพักหนึ่ง เลยค่อนข้างอินความเป็นญี่ปุ่น  เขาจะสนใจมุมที่เป็นพวกตึกเก่าหรือเป็นป่ารกร้างเป็นพิเศษ เพราะเคยไปเที่ยวเกาะร้างที่หนึ่งแล้วประทับใจ นอกจากนี้ทีมงาน Ember Lab ยังเคยไปถ่ายหนังสั้นชื่อ Dust ที่ยกกองไปถ่ายถึงญี่ปุ่นกันทั้งทีม แน่นอนว่าพวกเขาชอบมาก เลยอยากจับบรรยากาศพวกนั้นมาใส่ไว้ในเกม” วันชนะเล่าจุดตั้งต้นของการออกแบบบรรยากาศในเกมให้เราฟัง

“การดีไซน์องค์ประกอบต่างๆ จะอิงมาจากทางฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหลัก เวลารับบรีฟเขาจะบอกเราว่าอยากได้ศิลาจารึกหน้าตาเก่าๆ โบราณๆ มีพวกรอย คำเขียน หรือว่าอักขระที่ไม่ค่อยพบเห็นทั่วไป reference อาจมีความเป็นบาหลีบ้าง แต่หลักๆ จะเป็นญี่ปุ่น” 

ความเป็นเอเชียยังถูกถ่ายทอดออกมาผ่านรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่จะปรากฏให้เราเห็นในเกม อย่างของเล่น เครื่องใช้เครื่องสาน แม้แต่โคมไฟที่ได้แรงบันดาลใจมาจากสุ่มจับปลาของชาวประมง ทุกองค์ประกอบล้วนเป็นความตั้งใจที่ทั้งวันชนะและ Ember Lab พยายามสอดแทรกเข้ามาในเกมทั้งสิ้น 

นอกเหนือจากการสอดแทรกองค์ประกอบที่ให้กลิ่นความเป็นตะวันออกในบรรยากาศ อีกหนึ่งสิ่งที่นับเป็นเรื่องท้าทายของวันชนะคือการออกแบบตัวละคร หลังจากดูตัวอย่างเกม เกมเมอร์หลายคนอาจเห็นว่าตัวละครใน Kena มีความน่ารักคล้ายคลึงกับตัวละครในภาพยนตร์แอนิเมชั่นของ Pixar ผสมกับ Studio Ghibli ยังไงยังงั้น 

สิ่งที่ทำให้เราประหลาดใจคือวันชนะบอกว่าความจริงแล้ว เขาไม่คุ้นเคยกับงานประเภทคาแร็กเตอร์ดีไซน์มากนัก แม้จะมีเครดิตว่าเคยร่วมงานในแอนิเมชั่นสายเลือดไทยอย่าง 9 ศาสตรา แต่เขามีหน้าที่รับผิดชอบแค่ขั้นตอนการกำหนดสี (grading) ในแต่ละฉากของภาพยนตร์เท่านั้น การได้มีส่วนร่วมในเกม Kena: Bridge of Spirits จึงถือเป็นการทำงานในส่วนคาแร็กเตอร์ดีไซน์ครั้งแรกของเขา 

“เราเรียนจบวิจิตรศิลป์ เคยชินกับการเพนต์สีบนผ้าใบตั้งแต่ตอนเรียน แต่ใจชอบด้านแอนิเมชั่น ตอนแรกวาดรูปอะไรไม่เป็นเลย เลยเริ่มศึกษาด้วยการซื้อหนังสืออาร์ตบุ๊กต่างๆ มาดู แล้วฝึกทำเองในคอม ลองสังเกตดูว่าคาแร็กเตอร์มันต่างกันยังไง รูปร่างมันต่างกันตรงไหน ตอนแรกๆ โคตรยากเลย กว่าจะเรียนรู้สไตล์เขาได้ เครียดจนแทบไม่ได้นอน ก็พยายามจะหาสมดุลให้มันลงตัวอยู่”

แม้ว่าเขาจะหัวเราะและเล่าติดตลกให้เราฟังว่ามีการปรับแก้งานค่อนข้างเยอะ บางครั้งต้องทำงานแข่งกับเวลา แต่จริงๆ แล้ววันชนะไม่เคยรู้สึกกดดันเรื่องเดดไลน์หรืองานเร่งเลย หากเรื่องที่กังวลและท้าทายมากกว่าสำหรับเขาคือความคิดสร้างสรรค์ที่ต้องปรับให้ตรงกันกับ Ember Lab และความพยายามที่จะนำสิ่งนี้ออกไปนำเสนอให้ผู้คนมากกว่า 

“ที่ยากคือทำยังไงให้คนอิน เราจะนำเสนอเรื่องราวยังไงให้คนที่เขาไม่รู้จักกับโลกนี้ได้เข้ามารู้จักมากขึ้น อย่างการออกแบบคาแร็กเตอร์ Kena หรือตัว Rot นี่กว่าจะออกมาเป็นอย่างที่เราเห็นกันคือผ่านการออกแบบและแก้มาเยอะมาก 

“เป็นเรื่องของการสำรวจไอเดียมากกว่า ซึ่งธรรมดามากเพราะนี่จะเป็นขั้นตอนที่เราต้องเจออยู่แล้วในงานดีไซน์ เราเองก็ได้ฝึกจินตนาการด้วย ช่วงที่เกมเปิดตัวเรากลับมานั่งคัดงาน ไปเจอรูปที่เคยวาดประมาณ 300-400 รูปได้ นี่แค่ของเราคนเดียวนะ ยังมีคนอื่นที่วาดอีก”

วันชนะยังเผยว่า สิ่งหนึ่งที่เขาได้พัฒนาระหว่างการทำงานโปรเจกต์นี้คือความสนใจเรื่องวิดีโอเกมของเขา เพราะก่อนหน้านี้ ด้วยหน้าที่การทำงานและครอบครัวทำให้เขาไม่ค่อยมีเวลาเล่นวิดีโอเกมเท่าไหร่ สิ่งที่ทำให้เขายังทำงานโปรเจกต์ Kena ต่อไปคือความหลงใหลในศาสตร์ด้านแอนิเมชั่นเท่านั้น แต่เมื่อเดินจนสุดปลายทางของโปรเจกต์ การได้ทำงานกับ Kena ก็ทำให้เขารู้สึกกลับมาสนใจในโลกใบนี้มากกว่าที่เคย และตั้งตารอที่จะเล่นเกมนี้ไปพร้อมกับทุกคน

Kena: Bridge of Spirits มีกำหนดวางจำหน่ายในช่วงปลายปี 2563 และถึงแม้ว่างานส่วนดีไซน์ของวันชนะจะจบลงไปนานแล้วแต่เขาเองก็ยังคงรู้สึกกดดันเรื่องกระแสและผลตอบรับต่อเกมเช่นกัน 

“ตอนนี้ข้อมูลดีไซน์ในส่วนของเราเรียบร้อยไปนานแล้ว แอบกดดันนะ ตอนเห็นพวกคลิปรีแอ็กชั่นจากแฟนเกมต่างประเทศที่เขาตื่นเต้น แต่เราก็ไม่รู้ว่าเขาตื่นเต้นแบบนี้กับทุกเกมหรือเปล่า ตอนนี้ทั้งทีม Ember Lab ที่ต้องควบคุมการผลิตก็หายไปเลย เขาต้องรีบทำเกมให้เสร็จก่อนที่จะวางขายสิ้นปีนี้” 

คนวาดการ์ตูนไม่เป็น – คนทำเกมระดับโลก

“เราไม่ได้หวังให้ตัวเองต่อยอดไปไกลจากงานนี้ แต่เราหวังสูงให้ Ember Lab ทีมผู้พัฒนาไปได้ไกลมากกว่า” วันชนะตอบเมื่อเราถามว่า เขาคาดหวังอะไรจากการทำงานโปรเจกต์นี้ 

“เพราะเราเห็นเขาทำงานด้วยแพสชั่นที่สูงมาก โปรเจกต์นี้ส่วนของเรานาน 8 ปี แต่ของเขาอยู่กับเกมนี้มานานเท่าไหร่แล้วไม่รู้ ยิ่ง 3 ปีหลังนี่ทั้งทีมทุ่มเทกับเกมอย่างเต็มที่มาก อยากให้เขาประสบความสำเร็จสักทีกับเกมนี้ เขาทำดีมาตั้ง 10 กว่าปีแล้ว” 

ท้ายที่สุดแล้ว การจะเป็นคนออกแบบเกมระดับโลกนั้นเรียกร้องอะไรบ้าง เรายิงคำถามสุดท้าย

“ช่วงที่เรียนจบใหม่ๆ เราตกงานอยู่พักหนึ่ง เคยพยายามแม้กระทั่งไปสอนศิลปะเด็ก แต่สกิลการวาดรูปตอนนั้นยังไม่อยู่ในระดับที่ยอมรับได้เลย วาดวงกลมยังมือสั่นด้วยซ้ำ แต่เพราะยังคงชื่นชอบในแอนิเมชั่น จึงตัดสินใจเริ่มศึกษาอย่างละเอียดมากขึ้น

“เราได้เรียนรู้ว่าการทำตามความฝัน เราจะเสพเฉพาะคำวิจารณ์ที่ดีไม่ได้ เพราะเราจะไม่ได้สร้างงานดีๆ ออกมาเลย แต่เราจะรีบทำอะไรก็ได้ให้คนมากดไลก์ ความจริงแล้วนั้นเราควรเอาเวลามาทำงานให้ดี ทำงานอะไรก็ตามที่เรารู้สึกว่าเรายังตามฝัน ไม่ใช่ทำงานที่คนชอบแล้วจะทำต่อ ถ้าคนไม่ชอบเราจะหยุด เราต้องหมั่นฝึกฝน  

“เมื่อก่อนเราตั้งเป้าไว้ว่าอยากได้รางวัล เราก็จะวาดจนกว่าจะได้รางวัล พอได้มาเร็วก็ต้องหาเป้าหมายต่อไป หลังจากนี้ไปเราอยากจะดันโปรเจกต์ส่วนตัว อยากพัฒนาแอนิเมชั่นสักเรื่อง เคยคิดแค่อยากเห็นชื่อตัวเองใน end credits งานสักชิ้นเอง พอทำได้ ที่เหลือเป็นกำไรแล้ว ค่อยๆ ขึ้นไปทีละขั้น เส้นทางยังอีกยาวไกล”

บางทีอาจเป็นความชอบ บางทีอาจเป็นการฝึกฝน หรือบางทีอาจเป็นการตั้งเป้าหมายใหม่

ไม่ว่าคำตอบของคำถามจะเป็นอะไร เราเชื่อว่าวันชนะยังมีเส้นทางที่รอให้เขาเดินทางต่อไปได้อีกยาวไกล และระหว่างทางไม่ว่าจะพบเจอกับอะไรเขาจะไม่หยุดเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แน่นอน

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐวัฒน์ ตั้งธนกิจโรจน์

ชื่อโทนี่ แต่พวกเขามักจะรู้จักผมในนาม Whereisone