ลัดเลาะเข้าไปในใจกลางเมืองราชเทวี-พญาไท ย่านที่นับได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากจากอดีตและยังคงมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอในปัจจุบัน เราพบร้านเช่าหนังสือร้านหนึ่งในตึกคูหาเล็กๆ แต่เป็นเหมือนกับอนุสรณ์แห่งความทรงจำวัยเด็กขนาดใหญ่ที่ยังคงยืนหยัดผ่านห้วงเวลาจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นอีกสถานที่ที่เติบโตไปพร้อมกับผู้คนและคอยโอบรับพวกเราตลอดช่วงการเปลี่ยนผ่าน
นั่นคือร้านเช่าหนังสือวราสาส์น ร้านที่เต็มไปด้วยชั้นหนังสือตั้งเรียงรายจนแทบมองไม่เห็นด้านในสุดของห้อง แต่ฟุ้งไปด้วยกลิ่นหนังสือเก่าที่รอต้อนรับเราอย่างอบอุ่น กองหนังสือการ์ตูนชุดใหม่เป็นสิ่งที่สะดุดตาเราเป็นอย่างแรก เราเก็บเสียงหัวใจที่เต้นรัวและความประทับใจเล็กๆ ที่เกิดขึ้น ก่อนจะไล่สายตาไปเห็นวราภรณ์ เจ้าของร้านเช่าหนังสือวราสาส์นวัย 70 ปี ที่กำลังยิ้มทักทาย เมื่อเห็นเราเข้ามาในร้าน ก่อนบทสนทนาความรักในหนังสือกำลังเริ่มต้นขึ้น
“ครอบครัวของป้าเนี่ยคุณพ่อเนี่ยเป็นไหหลำ เรียกพ่อเป็น ‘เด’ สมัยตั้งแต่ป้ายังตัวเล็กๆ อายุไม่เท่าไหร่ ลุงป้าน้าอาทั้งหลายเนี่ยพายเรือมาหาเด ให้เดอ่านจดหมายจากเมืองจีน ป้ามีหน้าที่ชงชาให้เพื่อนๆ เด แล้วก็ฝนหมึกเตรียมไว้ให้ พอโตขึ้น พี่ชายชอบอ่านหนังสือและชอบซื้อนิยายกำลังภายในมาอ่าน เขาก็ซื้อมา เราก็อ่าน พออ่านแล้วก็ติด ก็ชอบ พอโตขึ้นมาหน่อย เราก็เริ่มอ่านนิตยสาร หนังสือพิมพ์เยอะแยะไปหมด”
“ตอนนั้นก็ได้อ่านนู่นนี่นั่นมาเรื่อยๆ แล้วก็พัฒนา เราก็จะอ่านอยู่อย่างนี้จนซึมซับ พอเริ่มเข้าระดับมัธยมก็เข้าห้องสมุดทุกวัน อ่านทุกอย่าง ประวัติศาสตร์ อ่านนู่นนี่นั่น ความที่เรารักการอ่าน เราก็อ่านทุกอย่าง เป็นคนที่อ่านได้ทุกแนว เราก็จะได้จากสิ่งนี้เยอะมาก ส่วนหนึ่งก็คือครอบครัวป้าเลยที่ทำให้เห็นว่าเราอยู่ใกล้ชิดกับหนังสือ”
วราภรณ์ เชฎฐาวิวัฒนา วัย 70 ปี เล่าถึงจุดเริ่มต้นของร้านที่จุดประกายมาจากความชอบในวัยเด็กและชีวิตประจำวันที่ได้คลุกคลีกับหนังสืออยู่เสมอ จนแตกขยายมาเป็นการตามหาความสุขเล็กๆ ให้ตัวเอง และต่อยอดมาเป็น ‘ร้านวราสาส์น’ ที่วราภรณ์อุทิศทั้งชีวิตเพื่อการคงอยู่ของร้านที่เธอรัก ซึ่งเป็นทั้งความสุขและตัวตนของเธอ
“หนังสือเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตป้า
เพราะว่าตั้งแต่เด็กจนตอนนี้ป้าอายุ 70 ปี
ตลอดตั้งแต่ป้าจำความได้ ป้าขาดหนังสือไม่ได้
แล้วเวลาอยู่กับหนังสือป้าก็มีความสุข”
“สมัยป้าเรียนมัธยมป้าจะย้ายมาอยู่แถวๆ บางลำพู เมื่อก่อนก็จะมีร้านเช่าหนังสืออยู่สองร้าน วันๆ หนึ่งป้าจะเดินไปเช่าหนังสือบ่อยมาก วันหนึ่งก็ 4-5 เล่ม อ่านจบปุ๊บเดินไปบุศยพรรณไปเช่าหนังสือ แล้วก็เดินกลับ วันหนึ่งก็เสียหลายตังค์อยู่ เพราะเดินหลายรอบ แต่มันก็เป็นความสุข ก็ตั้งแต่เด็กมาจนแก่ก็ติดอยู่กับหนังสือ มันเหมือนเราได้อยู่ในโลกส่วนตัวของเราที่มันทำให้เรามีความสุขมาก ถ้ามีใครที่อยู่ในที่นี้ยังไม่ชอบอ่านหนังสือ ลองดู แล้วจะรู้เลยว่ามันวิเศษมากเลย”
“ตอนป้าทำงาน เพื่อนๆ เรียกป้า ‘หญิงเหล็ก’ เพราะว่าป้าทำงานอยู่ถึงตีหนึ่งตีสองเกือบทุกวันนะ เลิกงานกว่าจะถึงบ้านก็สองสามทุ่ม หอบงานกลับไปทำบ้าน ตระเวนส่งลูกน้องอีก เพราะว่าลูกน้องผู้หญิงก็เป็นห่วงเขา ก็ต้องไปส่งถึงบ้านพอรับราชการได้สัก 2-3 ปี เราจะทำอะไรดีที่ทำให้เรามีความสุข สิ่งแรกที่คิดก็คือ ‘หนังสือ’ เพราะความรักหนังสือและเราอยู่กับหนังสือมาตลอดชีวิตวัยเด็ก” จากความสุขในการอ่านหนังสือสมัยเด็กของวราภรณ์ยังคงสานต่อให้เธอชื่นชอบเรื่องหนังสือ แม้กระทั่งถึงช่วงวัยทำงานที่ต้องเจอช่วงเวลาที่แสนเหนื่อย แต่เธอก็ยังมีเวลาให้กับหนังสือ จนกระทั่งตัดสินใจเปิดร้านแห่งนี้ขึ้นมา
“เมื่อก่อนก็เปิดร้านตรงนี้แหละ แต่ชั้นมันไม่เยอะขนาดนี้ แต่ก่อนจะมีที่นั่งให้ลูกค้า เพราะว่าหนังสือเรายังน้อย เราก็ค่อยสะสม ไปซื้อหนังสือตามบ้าน ประกาศรับซื้อ ใครอยากขายเราก็ตระเวน สองคนกับแฟนก็ไปตระเวนซื้อมาเข้าร้าน ก็ค่อยๆ เพิ่มพูนเรื่อยๆ จนถึงทุกวันนี้มันก็เยอะเป็นแสนๆ ชั้นเธอจะเห็นว่าไม่สวยงาม เพราะเราก็มองว่าหนังสือ ถ้าเป็นไม้เนี่ย ปลวกมันจะกิน ก็ใช้เหล็ก สองคนตายายก็ซื้อเหล็กฉาบแล้วก็มานั่งต่อๆ ๆ แฟนก็ทำชั้นขึ้นมาเยอะขนาดนี้อย่างที่หนูเห็น นี่คือมูลเหตุจริงใจจากการที่เรารักการอ่าน แล้วเราก็คิดว่าสิ่งนี้จะทำให้เรามีความสุข”
วราภรณ์ที่หลงรักโลกแห่งนวนิยายจีนกำลังภายในตั้งแต่ยังเด็กจนถึงปัจจุบันได้ต่อสู้ผ่านภารกิจที่ใช้ความอดทนมากมายมาสู่เจ้าของสถานที่แห่งความทรงจำของใครหลายๆ คน ชีวิตของเธอเปรียบเหมือนกับชีวิตของจอมยุทธ์หญิงสุดเท่ ที่เธอไม่เพียงต้องรับผิดชอบภาระงานหลักอย่างการทำงานรับราชการเพื่อหาเงินทุนหล่อเลี้ยงร้านเช่าหนังสือ แต่เธอยังต้องเรียนรู้ทักษะการบริหารที่เธอเองก็ไม่คุ้นเคยมาก่อนในวัย 27 ปี
ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่เธอจะเปิดร้านหนังสือบนความไม่แน่นอนในช่วงอายุที่เริ่มใฝ่หาความมั่นคงในชีวิต แต่เธอก็พร้อมสู้เพื่อความสุขและสิ่งที่ตัวเองรักอย่างการอ่านและร้านเช่าหนังสือ สมกับฉายา ‘หญิงเหล็ก’ ที่กลายเป็นหนึ่งในตัวตนที่ทำให้เธอเป็นคนใจสู้และพร้อมรับมือกับทุกความลำบากที่เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นแววตาที่เป็นประกาย น้ำเสียงหนักแน่นแต่เปี่ยมไปด้วยและคำตอบที่วราภรณ์ร้อยเรียงออกมา เป็นหลักฐานชั้นดีเลยว่าเธอ ‘รัก’ หนังสือและมีความตั้งใจที่อยากจะใช้ทุกช่วงเวลาในชีวิตเติบโตไปกับร้านเช่าหนังสือแห่งนี้ แม้ว่าในปัจจุบันจะเป็นช่วงซบเซาของร้านเช่าหนังสือที่ค่อยๆ จางหายไปตามช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่าน
“ร้านเช่าหนังสือเป็นความภาคภูมิใจ เป็นความสุข เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตป้า
อย่างที่บอกว่าจะพยายามอยู่ให้นานที่สุดเท่าที่เราจะสามารถทำได้
เพราะว่ามันเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเรา แล้วมันทำให้เรามีความสุข”
“ถ้าถามว่าในเชิงเศรษฐกิจคุ้มไหม จนถึงทุกวันนี้ก็ไม่คุ้มนะ แต่อย่างที่บอกว่าด้วยใจรัก เราเปิดอยู่เพราะเรามีความสุขกับการอยู่กับหนังสือ แล้วก็มีความสุขที่ได้เห็นคนอ่านหนังสือ ป้ามีวิสัยทัศน์ว่าต้องมองไปข้างหน้าว่าเราพอใจไหม ถึงจะไม่พอใจ แต่เราจะมีความสุขกับสิ่งที่เราทำไหม แล้วเมื่อเราเดินไปข้างหน้าแล้ว เดินให้ตลอด อย่าเดินถอยหลัง ถ้ามันล้มก็สู้ อย่าล้มแล้วไม่ลุก เพราะทำทุกอย่างมันไม่ได้ว่าจะประสบความสำเร็จหมด”
“ทุกคนเราทำอะไรก็แล้วแต่ต้องมีโอกาสผิดพลาด เมื่อมีปัญหาก็ “ไม่เป็นไร” คิด หาทางแก้ ปัญหาทุกอย่างแก้ได้หมด ไม่มีปัญหาไหนที่แก้ไม่ได้ในทัศนคติของป้า ถ้าเราตั้งใจจะแก้มัน เพียงแต่ว่าบางปัญหาเราจะแก้ได้ทันที บางปัญหาจะต้องใช้เวลา แค่เท่านั้นเอง อยู่ที่เรา เหมือนพิสูจน์ความสามารถตัวเองด้วย ยิ่งเห็นคนมาเยอะๆ หยิบนู่นหยิบนี่ แล้วเขาอ่านมาแล้วป้าจะถามลูกค้าตลอด “เป็นไงถูกใจไหม” ยิ่งลูกค้าที่เขาให้เราเลือกหนังสือให้ เขาบอกถูกใจ เราก็ยิ่งมีความสุขว่าเราได้ทำให้คนที่เขาเข้าร้านเรามีความสุข”
เห็นถึงความตั้งใจของเธอในการทำร้านเช่าหนังสือ แต่ในขณะเดียวกันทุกวันนี้ก็มีน้อยร้านจนแทบจะนับนิ้วได้ที่เปิดเป็นร้านเช่าหนังสือ เพราะกำไรน้อยและรายได้ก็ไม่มีความมั่นคง แล้วอะไรคือสิ่งที่ทำให้เธอยืนหยัดทำร้านเช่าหนังสือ แทนที่จะเป็น ‘ร้านขายหนังสือ’
“หนังสือเล่มหนึ่งป้าลงทุนไป คนอ่านเป็นพันเป็นหมื่น อ่านน้อยหน่อยก็อาจจะเป็นหลักสิบหลักร้อย เรื่องไหนที่ฮอตๆ หน่อยก็เป็นหลักพันหลักหมื่น มันก็เป็นวิทยาทานที่ว่าคนได้อ่าน ได้เรียนรู้จากหนังสือ ถ้าหาที่ไหนไม่มี มาหาที่เรา ป้าอยากให้เด็กหลายๆ คนได้อ่าน ขายเธอไปก็อยู่ที่เธอคนเดียว มีคนมาซื้อหนังสือป้าเยอะ ที่แบบหนังสือหายากหรือหนังสือที่ฮอตๆ ขายไปคุณก็ได้ของคุณ ป้าก็บอกเขาว่าแต่ถ้าอยู่ที่ร้านป้า คนได้อ่านหลักร้อยหลักพัน มันเป็นวิทยาทานที่เราเหมือนเผยแพร่ความรู้ เราอาจจะไม่ได้ร่ำรวย สามารถที่จะไปแจกจ่ายไรได้ แต่เราแจกจ่ายความรู้ให้กับคน ให้เยาวชนได้เยอะแยะนะ”
นับเป็นการลงทุนแสนยิ่งใหญ่ที่ตัดสินใจนำโลกที่ได้ตกหลุมรักในวัยเด็กมาก่อร่างสร้างเป็นร้านเช่าหนังสือ แถมยังต้องต่อสู้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสังคม ผ่านยุคที่ร้านเช่าหนังสือเพิ่มบ้านเริ่มโบกมือลา และช่วงคนอ่านหนังสือเล่มน้อยลง หันไปอ่านอีบุ๊กมากขึ้น ยิ่งในช่วงโควิดที่หลายธุรกิจหยุดชะงัก จนทำให้เธอค้นพบแก่นของการเป็นร้านเช่าหนังสือนั่นคือความสามารถในการปรับตัวที่ต้องดึงดูดลูกค้ามาที่ร้าน เพราะร้านเช่าหนังสือไม่สามารถวิ่งไปหาลูกค้าด้วยตัวเองได้ ซึ่งเป็นวิทยายุทธที่ช่วยต่อยอดให้เธอสามารถรับมือกับปัญหาทางเศรษฐกิจและสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลาได้จนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตามเธอต้องใช้พลังปราณมากมายควบคู่หลายกระบวนท่าที่เรียนรู้ด้วยตัวเองเพื่อตามให้ทันยุคสมัยและผู้คนที่เติบใหญ่ทุกวัน แต่วราภรณ์ยังคงยืนหยัดสู้และเรียนรู้ที่จะพัฒนาการบริหารจัดการเพื่อคงร้านนี้ไว้ สมฉายา ‘หญิงเหล็ก’ ทำให้ปัจจุบันร้านเช่าหนังสือวราสาส์นกลายเป็นพื้นที่แห่งความอบอุ่นที่รอให้ลูกค้าหน้าเก่าได้เข้ามาขุดค้นเศษเสี้ยวแห่งเรื่องราวในวัยเยาว์ของตัวเอง ในขณะเดียวกันก็อ้าแขนต้อนรับลูกค้าหน้าใหม่ให้ได้เข้ามาลองสัมผัสเสน่ห์อันไม่รู้จบของการอ่าน
“จากสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา มันก็ทำให้ป้าวิเคราะห์ว่าปัญหาของบ้านเราคือการที่เด็กขาดการอ่าน แล้วก็ราชการ รัฐบาลไม่ส่งเสริมให้เด็กรักการอ่าน แล้วมันจะเป็นปัญหาในอนาคตข้างหน้าอีก 5 ปี 10 ปีแน่ รัฐบาลสนับสนุนหรือส่งเสริมเรื่องให้เด็กเข้าถึงเทคโนโลยี คือพัฒนาแต่ด้านนี้ คือโอเคมันต้องมี เพราะว่าไม่งั้นเราตามไม่ทันโลก แต่มันไม่ควรเป็นปัจจัยหลัก ปัจจัยหลักคือควรสนับสนุนให้เด็กรักการอ่าน เพราะป้ามองว่ามันดี มันวิเศษกว่าการพัฒนาด้านนั้น ด้านนู้น เราอาจจะรู้ไม่ลึกซึ้ง เรารู้น้อย แต่มันไม่ทำให้ประเทศชาติเสียหาย แต่ถ้าเราขาดการอ่าน ป้าว่ามันทำให้ประเทศชาติเสียหาย นี่ในความเข้าใจของป้านะ”
“ร้านป้าอยู่ได้ทุกวันนี้ส่วนหนึ่งก็คือ เด็กบางส่วนที่ยังอ่าน แต่ถามว่าเยอะอย่างสมัยก่อนไหม ก็ไม่ สมัยก่อนร้านป้าเนี่ยพอเปิดตั้งแต่เช้า ลูกค้าจะมารอ เปิดร้านปุ้๊บร้านป้าไม่ใช่เปิดเที่ยงครึ่งนะ เปิดแปดโมงครึ่ง ลูกค้ารอแล้วก็เข้าร้านจนถึงปิดร้าน ยิ่งช่วงเย็นเนี่ยลูกค้ารอคิวจนถึงประตู นี่คือความนิยมของการอ่านสมัยก่อน แต่เดี๋ยวนี้มันก็ลดลงเรื่อยๆ”
“วันเด็กป้าถึงเปิดให้เด็กอ่านฟรีทุกปี เมื่อก่อนเด็กเข้ามาที วันเด็กก็เยอะ สัก 10 ปีเนี่ยปีละคน ปีที่ผ่านมามกราคมก็หนึ่งคน ปีที่แล้วก็หนึ่งคน ป้าก็มีความสุขนะ แต่ก็เหนื่อย เพราะเด็กเขาจะรื้อๆ มาเละเทะหมดแหละ แต่เราเห็นแล้วเราก็มีความสุขว่าเด็กเขาชอบการอ่าน”
อีกหนึ่งความตั้งใจของเธอคือการสร้างพื้นที่อิสระเพื่อรองรับเยาวชนที่อยากลิ้มลองโลกการอ่าน ให้พวกเขาได้เข้ามาลองสัมผัสหนังสือ ได้ลองพลิกหน้ากระดาษและซึมซับอรรถรสจากการอ่าน แม้เยาวชนจะอ่านหนังสือกันน้อยลง แต่วราภรณ์ก็ยังคงจะยึดมั่นในความตั้งใจนี้ของตัวเองต่อไป เหมือนกับเป็นการบอกต่อประโยชน์ของการอ่านของรุ่นพี่ให้กับเหล่ารุ่นน้อง โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ในปัจจุบันที่ไม่ค่อยมีโอกาสได้สัมผัสบรรยากาศร้านเช่าหนังสือและไม่ค่อยหยิบหนังสือเล่มมาอ่าน
ถึงแม้ตอนนี้จะมีจำนวนเด็กที่มีความทรงจำกับร้านเช่าหนังสือและความสนใจในหนังสือเล่มลดน้อยลง แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยจริงๆ ว่าบรรยากาศของกลิ่นหนังสือเก่า เสียงพลิกกระดาษ รวมถึงเสียงเจื้อยแจ้วของชุมชน ล้วนเป็นเสน่ห์เรียกคืนความทรงจำในวัยเด็กของหลายๆ คนที่มีหัวใจเชื่อมต่อกับหนังสือ จินตนาการ และความสนุกสนาน เพราะไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ ผ่านประสบการณ์และความยากลำบากมามากเพียงไหน ความชอบในสมัยเด็กที่สื่อถึงความเป็นเด็กนั้นยังคงมีอยู่ตัวตนในจิตวิญญาณของทุกคน เช่นเดียวกับความชอบและความกระตือรือร้นด้วยใจรักหนังสือของวราภรณ์จนทำให้เกิดสถานที่ที่ ‘ยังอยู่ในใจ’ ของเธอและผู้คน
“เราอยากบอกตัวเองว่าคิดถูกแล้ว
ที่ทำให้เรามีความสุขในบั้นปลายของชีวิต
และได้อยู่กับสิ่งที่เรารัก”
“โอ้โห ลูกค้าป้าเนี่ยเมื่อก่อนมาเช่าตั้งแต่เด็กๆ เขาแวะเวียนมานี่เขาก็ยังแวะมา จนโตเป็นหนุ่มมีลูกมีเต้าหลายคน ลูกค้าที่เป็นนักศึกษาจบไปก็ย้ายไป ลูกค้าอยู่นู่นนี่นั่น ก็ยังเดินทางมาเช่าเรา ทั้งๆ ที่ถามเขาจะคุ้มไหม บางทีเขาก็เสียค่าใช่จ่ายสูงนะ แต่มันก็เป็นความสุขของเขา ในขณะที่ก็เป็นความสุขของเรา”
“นอกจากประทับใจที่เรามีหนังสือหลากหลายแล้ว บริการจากเจ้าของก็คือการให้บริการที่ดีกับเขา หนูอยากหาอะไรบอกเลย เราเต็มที่ เรื่องไหนป้าไม่สนุก ป้าไม่แนะนำลูกค้านะ คือเราต้องมีใจนักเลง กล้าได้กล้าเสีย ไม่ใช่ยัดเยียดให้ลูกค้า”
การพูดคุยของวราภรณ์กับลูกค้าที่เข้ามาทำให้เรานึกถึงช่วงเวลาที่ได้คุยเรื่องสัพเพเหระกับคุณย่าคุณยายที่บ้าน ทุกการแนะนำหนังสือแต่ละเล่มเต็มไปด้วยความจริงใจและความใส่ใจ แถมเธอยังมีการอัปเดตผ่านไลน์กลุ่มอย่างสม่ำเสมอ เมื่อมีหนังสือที่ลูกค้าอยากอ่านเข้ามาเธอก็จะจำหนังสือของแต่ละคนได้แม่น ก่อนจะทักคนๆ นั้นไปว่า หนังสือเล่มนี้มาแล้ว เดี๋ยวป้าเก็บไว้ให้เรานะ ที่ไม่ใช่เพียงลูกค้าไม่กี่คนที่วราภรณ์จำได้ ไม่เช่นนั้นสมาชิกในไลน์กลุ่มคงไม่สะสมมาเกินสามร้อยคนและยังทยอยเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อยๆ จนถึงตอนนี้
“เหนื่อยแต่ก็สู้ ใจสู้ซะอย่าง จากเหตุผลในด้านจิตใจที่เล่าให้ฟังทั้งหมด เราก็อยากอยู่อะ จะอยู่กับร้านนี้จนกว่าร่างกายเราจะไม่ไหว และเรามีความสุข เราได้เห็นลูกค้าเต็มร้าน เลือกนู่นเลือกนี่ ยิ่งเด็กๆ ป้าเห็นมันเข้าร้าน ป้ามีความสุขมาก ยืนมองเขาเลือกหนังสือเราก็มีความสุขแล้วนะ สิ่งไหนที่บั้นปลายชีวิตของคนแก่ที่จะทำให้เรามีความสุข แต่ละคนก็อาจจะไม่เหมือนกัน ป้าเนี่ยแค่มีหนังสือเล่มหนึ่งแล้วป้าก็เปิดเพลงที่ป้าชอบ แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว” วราภรณ์พูดด้วยน้ำเสียงมั่นใจ พร้อมกับแววตามุ่งมั่น
บทสนทนาในเวลาไม่กี่นาทีกับวราภรณ์เหมือนกับการเปิดเครื่องฉายโปรเจกเตอร์แห่งเรื่องราวและชีวิตในวัยเยาว์ที่ทำให้เราได้กลับไปย้อนดูว่าร่องรอยของสิ่งที่เราชอบตั้งแต่สมัยเด็ก รวมถึงความปรารถนาที่เราเคยวาดฝันไว้ได้ถูกหลงลืมไปมากน้อยขนาดไหน และยังทำให้เราตั้งคำถามกับตัวเองอีกว่า ความสุขของเราทุกวันนี้คืออะไร เราได้เติมเต็มความสุขนั้นที่อาจถูกหลงลืมไปบ้างไหม แล้วเราได้สนุกกับชีวิตเต็มที่หรือยังนะ
ใครที่อยากสัมผัสโลกของการอ่านในร้านเช่าหนังสือที่มีเจ้าของเป็นคนรักหนังสือมานานตลอดการเปลี่ยนผ่านหลายช่วงอายุคน พร้อมกับฟังรีวิวจากเจ้าของร้านอย่างวราภรณ์แบบเป็นกันเองก็สามารถแวะไปพูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้ที่ร้านวราสาส์น ตามที่อยู่ด้านล่างนี้ได้เลย
วราสาส์น
Facebook : วราสาส์น
สถานที่ตั้ง : 68, 56 ซ. เพชรบุรี 5 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
แผนที่ : https://maps.app.goo.gl/xFktv6YTGV5fboRWA
เวลาทำการ : ทุกวัน เวลา 12:30-20:30 น. (ปิดทุกวันอาทิตย์)