Vanessa Silvy : ทำไมสถานทูตฝรั่งเศสต้องจัด Galleries’ Night? คนไทยได้อะไรจากงานนี้?

Highlights

  • ใครที่รักทั้งศิลปะและยามค่ำคืนต้องรัก Galleries' Night อีเวนต์ศิลปะวันที่ 1-2 กุมภาพันธ์นี้ ที่ 50 กว่าแกลเลอรีทั่วกรุงเทพฯ พร้อมใจกันเปิดถึงเที่ยงคืนให้ชมงานกันอย่างจุใจ (วันที่ 1 สำหรับแกลเลอรีย่านสีลม-สาทร-ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และวันที่ 2 สำหรับแกลเลอรีย่านสุขุมวิท)
  • แม้ Galleries' Night ปีนี้จะจัดขึ้นเป็นปีที่ 6 แล้ว แต่หลายคนอาจยังไม่เคยรู้ว่าผู้อยู่เบื้องหลังคือสถานทูตฝรั่งเศส ซึ่งยังมีแพลนจะจัดงานแบบนี้ต่อไปยาวๆ อีกหลายปี
  • Vanessa Silvy ผู้ช่วยทูตฝ่ายวัฒนธรรมอธิบายให้เราฟังว่า สถานทูตฝรั่งเศสตั้งใจจัดงานนี้ขึ้นเพื่อให้คนได้ดูงานศิลปะดีๆ และสนับสนุนแวดวงศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย ซึ่งกำลังเติบโตขึ้นทุกปี

จงยกมือซ้าย หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ชอบช่วงเวลากลางคืนมากกว่ากลางวัน Galleries Night 2019

จงยกมือขวา หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ชอบงานศิลปะเป็นชีวิตจิตใจ

ถ้าคุณคือคนนั้นที่ชูมือสองข้างอยู่ล่ะก็ วางมือลงได้ เพราะ 1-2 กุมภาพันธ์นี้ เราจะชวนไปงาน Galleries’ Night 2019 กัน!

หลายคนคงพอรู้อยู่แล้วว่า Galleries’ Night คืออีเวนต์ศิลปะช่วงสุดสัปดาห์ที่ชักชวนแกลเลอรีกว่า 50 แห่งทั่วกรุงเทพฯ เปิดทำการกันยาวๆ ถึงเที่ยงคืนโดยไม่เก็บค่าเข้าชม (คืนวันที่ 1 สำหรับแกลเลอรีย่านสีลม-สาทร-ริมแม่น้ำเจ้าพระยา คืนวันที่ 2 สำหรับแกลเลอรีย่านสุขุมวิท) แต่สิ่งที่ยังไม่ค่อยมีใครรู้ คืองาน Galleries’ Night มีเบื้องหลังคือสถานทูตฝรั่งเศสที่ทำอีเวนต์นี้ปีละครั้งติดต่อกันมาถึงปีที่ 6 แล้ว

แน่ล่ะ เราคงไม่ปฏิเสธว่านี่คืองานด้านการทูตอย่างหนึ่งเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ตัวเลข 6 ปี พร้อมจำนวนผู้เข้าร่วมงานที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็ทำให้เห็นว่าพวกเขาทำงานเพื่อคนรักศิลปะในประเทศนี้อย่างจริงจังแค่ไหน

เพราะอย่างนี้ ในวันแดดร่มลมตก เราจึงมานั่งคุยกับ Vanessa Silvy ผู้ช่วยทูตฝ่ายวัฒนธรรม ที่สถานทูตฝรั่งเศสย่านเจริญกรุง ซึ่งในอีกไม่กี่วัน แกลเลอรีแถวนี้ก็จะเปิดถึงเที่ยงคืนเพื่องาน Galleries’ Night กันแล้ว

ทำไมต้องมี Galleries’ Night? ทำไมฝรั่งเศสถึงตั้งใจทำเรื่องนี้? และเราจะเรียนรู้อะไรจากงานนี้ได้บ้าง?

วาเนสซ่านั่งรอเราอยู่พร้อมคำตอบ

Galleries Night 2019

ได้ยินมาว่างาน Galleries’ Night ได้แรงบันดาลใจมาจากอีเวนต์ชื่อ Nuit Blanche ที่ฝรั่งเศส บอกหน่อยได้ไหมว่างานนั้นเป็นอย่างไร

Nuit Blanche เกิดขึ้นครั้งแรกที่ปารีส ในปี 2002 ตอนนั้น Bertrand Delanoë นายกเทศมนตรีเมืองปารีสและ Christophe Girard รองนายกเทศมนตรีฝ่ายวัฒนธรรม ตัดสินใจร่วมกันว่าจะจัดงานอีเวนต์ศิลปะตอนกลางคืนด้วยคอนเซปต์ชัดเจน คือการเปิดพิพิธภัณฑ์ทุกแห่งตลอดคืนโดยไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับผู้เข้าชม

ครั้งแรกที่จัดงานคือปี 2002 ฉันจำได้ชัดเจนเพราะฉันไปร่วมงานด้วย ในงานมีซุปหัวหอมที่เป็นซุปสำหรับกินตอนกลางคืน ฉันจำได้ว่าฉันกินซุปหัวหอมที่ Museum national d’Histoire naturelle ประมาณตีห้า แค่แปปเดียวก่อนพิพิธภัณฑ์จะปิด

ในปี 2003 อิตาลีก็จัดงาน Nuit Blanche เหมือนกัน จนตอนนี้มีเมืองหลายเมืองใหญ่ๆ ที่จัดงานแบบนี้ ทั้งมิลาน นาโปลี เจโนวา โตริโน่ โบลิมา โบโกต้า ไทเป

Galleries Night 2019

ทำไมต้องจัดตอนกลางคืน

ตอนกลางคืนเป็นช่วงเวลาที่ใจของคุณจะเปิดกว้างมากกว่าตอนกลางวัน คุณให้เวลากับตัวเองมากขึ้น ไม่มีภาระหน้าที่ ช่วงเวลากลางคืนก็เลยเหมาะกับการค้นพบสิ่งใหม่ๆ เปิดหู เปิดตา เหมือนเป็นช่วงเวลาพักที่คนได้ใช้เวลากับตัวเอง อีกอย่าง ศิลปินส่วนใหญ่ก็ทำงานช่วงกลางคืนด้วย (หัวเราะ) เพราะอย่างนี้ฉันถึงคิดว่าสำหรับผู้ชม ช่วงกลางคืนมีบรรยากาศที่ดีสำหรับการทำความรู้จักศิลปะและศิลปิน

เราเห็นว่าหลายๆ เมืองที่จัดงาน Nuit Blanche เป็นเมืองที่พัฒนาแล้ว อย่างบาร์เซโลน่า โรม มิลาน ปารีส แต่สำหรับเมืองไทยที่ขนส่งมวลชนไม่ใช่จุดแข็ง ทำไมคุณยังอยากจัดงาน Galleries’ Night ที่นี่

เราจัด Nuit Blanche ในโบโกตา (ประเทศโคลอมเบีย) เหมือนกัน ฉันคิดว่าที่นั่นก็เหมือนกรุงเทพฯ นะ หรือในลิมา (ประเทศเปรู) นี่แย่กว่ากรุงเทพฯ อีก เพราะว่าในกรุงเทพฯ คุณมีบีทีเอส รถเมล์ Grab ถึงอย่างนั้น ตอนที่จะจัดงานในลักษณะของ Nuit Blanche ที่นี่ เราคิดว่าจะต้องมีปัญหาเรื่องการเดินทางบ้าง เราจึงจัดระบบตุ๊กๆ ฟรี ขึ้นมาเพื่อรับ-ส่งผู้มาชมงาน ซึ่งแต่ละปีเราก็พยายามพัฒนาระบบรถตุ๊กๆ ให้ดีขึ้น อย่างปีนี้เราก็ทำระบบใหม่ แทนที่ตุ๊กๆ จะวิ่งยาวๆ เราก็ทำให้เส้นทางสั้นลง มีตุ๊กๆ สองคันรับ-ส่งคนจากจุด A ไปกลับจุด B จุด B ไปกลับจุด C 2 คัน แบบนี้ไปเรื่อยๆ ทุกแกลเลอรีจะถูกเชื่อมต่อกันโดยตุ๊กๆ ฉันคิดว่าปีนี้ผู้ชมน่าจะดูงานได้เร็วขึ้นนะ

ทำไมต้องตุ๊กๆ เป็นรถประเภทอื่นไม่ได้เหรอ

จริงๆ ปี 2015 เราตัดสินใจร่วมเป็นพาร์ตเนอร์กับรถตู้เพื่อขนส่งคนระหว่างแกลเลอรี แต่เพราะรถตู้มีกระจกทึบ คนจึงรู้สึกไม่ค่อยอยากขึ้นเท่าไหร่ แต่กับตุ๊กๆ มันเป็นรถที่เปิดมากกว่า และเราขอให้คนขับบอกคนมาดูงานด้วยว่ามันฟรี แค่คุณไม่สามารถบอกให้ตุ๊กๆ ไปเส้นทางใหม่ได้

Galleries Night 2019

เราไม่เคยเห็น Galleries’ Night มีธีมเหมือนงานอื่นเลย ทำไมล่ะ

เราไม่อยากจัดแจงมากเกินไปน่ะ เราอยู่ในประเทศไทยพร้อมความรู้สึกว่าอยากเปิดรับวัฒนธรรมที่นี่ ที่เราจัด Galleries’ Night เราเลยอยากเปิดโอกาสให้พวกเขาได้คิดมากกว่า

อิสระแบบนี้ คุณเลือกแกลเลอรีที่ร่วมงาน Galleries’ Night อย่างไร

แกลเลอรีที่แสดงงานศิลปะร่วมสมัยสามารถเป็นส่วนหนึ่งของ Galleries’ Night ได้ทั้งหมด คุณจะเป็นร้านอาหารก็ได้ เป็นร้านกาแฟก็ได้ ที่สำคัญคือคุณต้องมีงานอาร์ต แต่ไม่ใช่ชิ้นเดียวนะ อย่างปีที่แล้วมีร้านอาหารส่งใบสมัครมาแต่พวกเขามีงานอาร์ตแค่ 3 ชิ้นในร้านอาหาร ในกรณีนี้เราก็เซย์โน

แกลเลอรีต่างๆ จะส่ง exhibition มาให้เราแต่ไม่ใช่เพื่อการตอบรับหรือปฏิเสธเสียทีเดียว มันแค่ต้องเป็นศิลปะร่วมสมัย จะเป็นการแสดง ดีเจ จิวเวลรี่ดีไซน์โดยศิลปินร่วมสมัยก็ได้ ถ้าคุณถามฉันว่าเรามีธีมไหม ฉันว่า ศิลปะร่วมสมัยนี่แหละ

ทำไมสถานทูตฝรั่งเศสต้องจัดงานทางวัฒนธรรมแบบนี้ในไทยด้วย

เพราะมันเป็นงานของฉัน (หัวเราะ) เป็นส่วนหนึ่งของงานทางการทูตของเรา ฝรั่งเศส เป็นประเทศที่ชอบแบ่งปันวัฒนธรรม เราเป็นหนึ่งในประเทศที่มีกิจกรรมทางการทูตมากที่สุด ฉันคิดว่าเท่าๆ กับสหรัฐอเมริกาและจีน และเงินที่เราใช้ เราใช้ไปกับงานด้านวัฒนธรรมมากที่สุด

แต่ถึงจะเป็นงานทางการทูต นี่ก็คือแพสชั่นของฉันเหมือนกัน เพราะก่อนจะมาอยู่ที่นี่ ฉันทำงานที่ Institut Français รับผิดชอบโปรเจกต์ความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ฉันได้ทำงานกับเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก กับภัณฑารักษ์ใหญ่ๆ ทั่วโลก และไดเรกเตอร์ของเทศกาลใหญ่ๆ

ฉันคิดว่ามันดีกว่าที่จะมีโปรเจกต์ความร่วมมือแบบนี้ระหว่างสองประเทศ แต่ละครั้งที่เราจัดอีเวนต์เราก็พยายามให้ศิลปินได้มาร่วมงานกัน จำงาน Street (เทศกาลสตรีตอาร์ตที่รวมศิลปินไทย-ฝรั่งเศส-เยอรมัน) ได้ไหม เวลาคุณไปดูงาน คุณจะได้ดูงานของ Pokemon Crew ที่ทำโปรเจกต์กับเวียดนาม คุณเห็น Bakhus แชร์วิธีทำงานกับลาว คุณเห็นศิลปิน Sunny ทำงานกับมาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และเมืองไทย เช่น มีเวิร์กช็อปนักเรียนไทยหรือศิลปินไทยกับศิลปินต่างชาติ นี่คือหน้าตาของอีเวนต์ที่ฉันอยากให้จัดในไทย

ในฐานะของคนที่มาจากประเทศที่ให้ความสำคัญกับงานศิลปะมาก คุณคิดว่างานศิลปะสำคัญอย่างไรกับผู้คน

ศิลปะมีขึ้นมาเพื่อเราทุกคน ฉันไม่ได้พูดแบบนี้เพราะว่าฉันเป็นคนฝรั่งเศสนะ ก่อนหน้านี้คุณถามฉันว่าฉันอยากเห็นอะไรในแวดวงอาร์ตของบ้านเรา คำตอบน่าจะคล้ายๆ กัน คือฉันไม่เคยคาดหวังว่าจะ ‘เห็น’ อะไรเวลาไปดูงานศิลปะ ฉันไม่ได้หวังว่าจะได้เห็นสิ่งที่สวยๆ งามๆ แต่ฉันคาดหวังที่จะรู้สึกเซอร์ไพรส์ คาดหวังจะได้เปิดหูเปิดตา ทำลายกำแพงของตัวเอง ฉันคาดหวังจะได้ตั้งคำถาม ฉันอยากจะรู้สึกเซอร์ไพรส์และสำหรับฉัน นี่แหละคืองานอาร์ต

เรามักจะอิจฉาโลกตะวันตกอยู่บ่อยๆ ที่ศิลปะเฟื่องฟูมาก ในฐานะคนฝรั่งเศส คุณรู้สึกอย่างไรกับแวดวงศิลปะไทย

ฉันเคยอาศัยอยู่ในไม่กี่ประเทศ แต่ละครั้งฉันก็มีโอกาสเห็นวัฒนธรรมที่แตกต่างจากในฝรั่งเศส อย่างในเมืองไทย ปีนี้คุณคัดสิ่งที่ดีที่สุดมาโชว์ คุณมีเทศกาลศิลปะ 3 เทศกาลในปีเดียวกัน นั่นเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นและเซอร์ไพรส์มากๆ ด้วยเทศกาลเหล่านี้ ฉันคิดว่าศิลปินร่วมสมัยก็ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างมาก และไม่ใช่แค่ด้วยจำนวนศิลปินที่มาร่วมงานที่น่าตื่นเต้น แต่คุณภาพของงานก็ดีมากๆ เช่นกัน เป็นโอกาสดีสำหรับชาวต่างชาติที่จะค้นพบงานศิลปะไทย

ฉันคิดว่าแต่ละวัฒนธรรม แต่ละประเทศ มีศิลปะร่วมสมัยที่มาจากรากของตัวเอง เพราะศิลปะร่วมสมัยไม่ได้เกิดขึ้นเฉยๆ ฉันไม่มีความรู้เรื่องวัฒนธรรมไทยมากขนาดนั้น แต่เมื่อฉันเห็นงานของ พิเชษฐ์ กลั่นชื่น ฉันคิดว่า นี่แหละศิลปะร่วมสมัย นี่แหละปัจจุบัน มันทำให้ฉันเซอร์ไพรส์และขยายขอบเขตการรับรู้ของฉัน อย่างที่ฉันคาดหวังจากงานศิลปะ

นอกจากนี้แวดวงศิลปะร่วมสมัยของไทยแอ็กทีฟมาก แต่ละครั้งที่ฉันไปร่วมงานเปิดนิทรรศการศิลปะหรือไปแกลเลอรี ฉันเห็นคนเยอะมาก คนรุ่นใหม่ก็มาร่วมงานเยอะ หรือดูจากใบ proposal ที่ส่งเข้ามาขอร่วมงาน Galleries’ Night งานก็หลากหลายและมีคุณภาพมาก

ในเชิงนโยบาย ประเทศตะวันตกมีนโยบายสนับสนุนเรื่องงานศิลปะที่ดีมากๆ ในฐานะที่คุณทำงานในหน่วยงานที่เกี่ยวกับวัฒนธรรม มีอะไรที่เราเอามาปรับใช้ได้ไหม

ฝรั่งเศสมีจุดยืนทางด้านงานศิลปะ และความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศิลปินก็มีมายาวนานมาก แน่นอนล่ะ มันยากกว่าที่จะเป็นศิลปินในไทย เพราะว่าในฝรั่งเศสคุณจะได้รับการซัพพอร์ตในทุกๆ ขั้นของการทำงานอาร์ต ตั้งแต่ที่อยู่อาศัย โปรดักชั่น โพสต์โปรดักชั่น การเผยแพร่ การสร้างงานใหม่อีกชิ้น (หัวเราะ) ศิลปินได้รับการช่วยเหลืออย่างมาก และฉันรู้ว่าเมืองไทยยังไปไม่ถึงขั้นนั้น แต่ในฝรั่งเศส เรารู้ว่าคุณค่าที่เกิดจากงานอาร์ตมีมูลค่ามากกว่าอุตสาหกรรมรถยนต์เสียอีก ศิลปะเป็นเรื่องสำคัญกว่า ดังนั้นศิลปะเลยเป็นเรื่องที่ได้รับการสนับสนุนในฝรั่งเศส

สถานที่จัดงานอาร์ตก็ได้รับการซัพพอร์ต เช่น ละครเวทีเรื่อง ปรารถนา ของอุทิศ เหมะมูล และกลุ่ม B Floor ผู้กำกับเป็นคนญี่ปุ่น ละครเรื่องนี้ได้ไปแสดงในฝรั่งเศสธันวาคมปีที่แล้วจากการคัดเลือกของกระทรวงวัฒนธรรม เพราะเราคิดว่าละครเวทีเรื่องนี้มีคุณค่ามากๆ หลังจากที่ได้รับคัดเลือก เราจึงซัพพอร์ตเต็มที่ โดยไม่แคร์ว่ามันจะขายตั๋วได้มากแค่ไหน ถ้าขาดทุนเพราะขายตั๋วได้ไม่เยอะ กระทรวงวัฒนธรรมจะจ่ายเงินที่เหลือให้ ระบบของเราเป็นแบบนี้

Galleries Night 2019

คุณจัด Galleries’ Night เป็นปีที่ 6 แล้ว ทำไมถึงยังทำอยู่เรื่อยๆ

ฉันจะไม่หยุดทำ Galleries Night บางครั้งก็ฉันก็เจอคนถามว่าถ้าปีหน้ามีแกลเลอรีที่อยากร่วมงานกันน้อยลง เราจะยังทำงานอยู่ไหม แต่เราก็คิดว่าเราควรทำต่อไปเพื่อสร้างอะไรใหม่ๆ เช่น งาน Street ปีหน้าก็จะมีอะไรใหม่ๆ

สำหรับ Galleries’ Night โปรเจกต์แต่ละปีของเราใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ แกลเลอรีก็ชอบที่มีงานแบบนี้ เราก็ไม่รู้จะเลิกจัดงานทำไม

คุณชอบงานไหนเป็นพิเศษจากที่ผ่านมา

ฉันชอบการได้เจองานใหม่ๆ ในแต่ละปีฉันจะได้เจออะไรใหม่ๆ เสมอ อย่างที่ฉันบอกคุณว่ามีแกลเลอรีเสนอเข้าร่วมงานมาเยอะมาก แกลเลอรีก็มีงานของศิลปินหลายเชื้อชาติ จากเยอรมนี เวียดนาม เมียนมา อินเดีย เช่น Anish Kapoor ที่เป็นศิลปินใหญ่มากๆ หรือจากศิลปินไทยใหญ่ๆ อย่าง วสันต์ สิทธิเขตต์ มีศิลปินไทยรุ่นใหม่ที่เพิ่งจัดนิทรรศการเป็นครั้งแรก นี่เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก

เรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับแกลเลอรีจนกลายเป็นคอมมิวนิตี้ไปแล้ว เพราะก่อน Galleries’ Night แกลเลอรีต่างๆ ก็ทำเฉพาะโปรเจกต์ของตัวเอง ด้วยวิธีของตัวเอง ตอนนี้แกลเลอรีก็เริ่มคุยกันมากขึ้น เช่น O.P. Place ก็จัดงาน Galleries Hopping คล้ายๆ Galleries’ Night แต่จัดแค่ในบางส่วนของกรุงเทพฯ และแกลเลอรีจะเปิดถึงสี่ทุ่ม งานแบบนี้แหละคือลูกของ Galleries’ Night มันเป็นคอมมิวนิตี้ที่พิเศษที่ฉันภูมิใจมากและดีใจที่ได้มีส่วนร่วมสร้างมันขึ้นมา

เราว่าจะถามคุณว่าอะไรคือความสำเร็จของ Galleries’ Night แต่เท่าที่ฟัง การสร้างคอมมิวนิตี้ก็ดูเป็นความสำเร็จนะ

เราเป็นอีเวนต์ที่ค่อนข้างใหม่ดังนั้นนี่คือความสำเร็จแล้ว อีกอย่างคือมีคนรอที่จะเห็น Galleries’ Night อยู่ แต่ละปี มีคนเข้ามาถามฉันเยอะแยะว่าจะจัด Galleries’ Night อีกเมื่อไหร่ เรามีการสื่อสารที่ดีขึ้น มีเฟซบุ๊กเพจ มีคนฟอลโลว์เป็นจำนวนมาก เรามีใบปลิวที่บีทีเอส และเรารับสมัครอาสาสมัครเพื่อนับคนที่มาร่วมงาน เราจึงรู้ว่าแต่ละปีมีคนมาร่วมงานเยอะขึ้นเรื่อยๆ

สุดท้ายแล้วปีนี้คุณอยากแนะนำอะไรกับคนที่ไปร่วมงาน Galleries’ Night เป็นพิเศษไหม

ฉันไม่อยากจะเลือกแค่งานเดียวเลยจริงๆ (หัวเราะ) เพราะว่าอะไรล่ะ มันขึ้นอยู่กับคุณ ขึ้นอยู่กับความคาดหวังของคุณ ความชอบของคุณ ภัณฑารักษ์แต่ละคนสร้างเรื่องราวขึ้นมาให้งานศิลปะที่พวกเขาจัดแสดง แต่สำหรับผู้ชมที่สามารถดูงานได้มากมายในแต่ละค่ำคืน พวกเขาสามารถสร้างโมเมนต์พิเศษ และเรื่องราวของตัวเองได้

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย