Transit Map : อ่านแผนที่การเดินทางให้ลึกกว่าแค่รู้เส้นทางรถเมล์

ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของการเดินทางในกรุงเทพฯ คือเราไม่รู้ว่าเรามีทางเลือกมากแค่ไหน!

เมื่อไม่มีทางเลือกมากนัก เราก็ต้องจำทนหรือจำยอมควักเงินจ่ายเพื่อความสะดวกสบายที่มากขึ้น เพราะไม่รู้ว่าหากจะใช้รถเมล์จะต้องขึ้นตรงไหน ต่อสายอื่นอย่างไร หากจะลงเรือแล้วต้องขึ้นลำไหนจึงจะไปถึงที่หมายที่ต้องการ และหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน รถติด เรือดับ รถไฟฟ้าหยุดวิ่ง เราจะหันไปหาตัวเลือกอื่นใดได้อีกบ้าง

หนึ่งในตัวช่วยสำคัญที่ช่วยให้เราวางแผนการเดินทางได้เป็นอย่างดีก็คือ แผนที่การเดินทาง (Transit Map) ซึ่งเป็นแผนที่ที่สร้างขึ้นให้เราเห็นโครงข่ายการเดินทางระบบต่างๆ แยกด้วยเส้น สัญลักษณ์ สีที่แตกต่างกัน โดยไม่อิงกับภูมิศาสตร์มากเท่าแผนที่ทั่วไป มักทำให้เรียบง่ายเพื่อให้ทุกคนเข้าใจง่ายที่สุด แผนที่การเดินทางไม่ได้บอกให้เรารู้เพียงรายชื่อสถานี ชื่อป้ายรถเมล์เท่านั้น แต่ยังทำให้เราเห็นโครงสร้างของเมือง ทำให้เห็นว่าคนในเมืองนี้เดินทางอย่างไร แต่ละย่านเชื่อมโยงสัมพันธ์กันอย่างไร หากมองให้ลึกลงไปอีกก็น่าจะพอมองเห็นวิธีคิดของคนในเมืองแห่งนี้ว่าเป็นแบบไหน ให้ความสำคัญแก่อะไรบ้าง แต่ละเมืองล้วนมีเอกลักษณ์ที่แตกต่าง มีประวัติศาสตร์การเดินทางของตัวเอง มีความฝัน ความหวังในการพัฒนาแฝงอยู่ในแผนที่การเดินทางในแต่ละยุคสมัย

และนี่คือตัวอย่างของแผนที่การเดินทางที่เมล์เดย์พบเจอมาระหว่างการหาข้อมูล

u

1) Horse Omnibus Lines of Paris, France ปี ค.ศ.1828

แผนที่รถเมล์กรุงปารีสในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 หรือ 200 กว่าปีก่อน ในช่วงเริ่มแรกที่แผนที่นี้ออกมามีอยู่ราวสิบกว่าบริษัทที่ให้บริการรถเมล์แบบม้าลากดังที่เห็นในภาพ ซูมเข้าไปใกล้ๆ จะเห็นร่องรอยของเส้นทางสารพัดสีลากผ่านถนนต่างๆ ในเมือง โดยใช้วิธีลากเส้นด้วยมือลงบนกระดาษที่พิมพ์แผนที่เมืองไว้

2) Steam Railroad and Interurban Center of Indianapolis ปี ค.ศ. 1907

แผนที่เส้นทางรถจักรไอน้ำของอินเดียนาโปลิสและรถไฟระหว่างเมือง จัดวาง 43 เส้นทางเป็นวงกลมล้อมรอบใจกลางเมือง มีเส้นทาง Belt Railroad วิ่งเป็นวงกลมอยู่ภายในอีกที ลองดูมุมล่างจะเห็นว่ามีบางสายที่เปลี่ยนเส้นทางไปยังเมืองอื่นๆ ที่ไกลขึ้นได้ด้วย

3) Tokyo Bus Map ปี ค.ศ.1950

แผนที่รถเมล์โตเกียวซึ่งมีจำนวนมากขึ้นหลังเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ปี ค.ศ.1923 รางของรถรางในโตเกียวถูกทำลายเสียหายทำให้ไม่สามารถใช้งานได้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้รถเมล์ตอบโจทย์การเดินทางของคนในยุคนั้นและเพิ่มจำนวนเส้นทางมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้แผนที่นี้จะใช้เพียงสองสี แต่ลักษณะของเส้นมีรายละเอียดอยู่เยอะมาก ทั้งเส้นหนา (รถเมล์ด่วน) เส้นบาง (รถเมล์ปกติ) และเส้นประ (เส้นทางพิเศษ)

4) City of Zurich Night S-Bahn and Bus Network, Switzerland

แผนที่การเดินทางในยามค่ำคืนของเมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ รวมไว้ทั้งรถไฟสาย S-Bahn และเส้นทางรถเมล์ ใช้พื้นหลังสีดำ แล้วแบ่งแยกความแตกต่างของประเภทการเดินทางด้วยความหนาบางของเส้นแทน โดยให้รถไฟเป็นเส้นหนาสีเหลือง มีจุดสีขาวแทนสถานีอยู่บนเส้น ส่วนรถเมล์แทนด้วยเส้นบางสีเหลือง มีจุดสีเหลืองป่องออกมาบอกตำแหน่งป้ายที่จอด ใช้แถบสีดำ เขียนทับด้วยตัวหนังสือสีเหลืองกำกับไว้ว่าเป็นรถเมล์หรือรถไฟสายอะไร

5) แผนที่รถไฟใต้ดินของกรุงแบกแดด

โดย Richard Dragun ที่ปรึกษาด้านการออกแบบของโครงการ Baghdad Metro สีของแต่ละเส้นทางออกแบบมาให้มุ่งตรงไปสู่จุดหมายที่ปลายสายทั้งสี่มากกว่าจะแสดงความแตกต่างของแต่ละเส้นทาง ซึ่งไม่เหมือนกับแผนที่ทั่วไป แต่ก็ใช้งานได้ดีกับเส้นทางที่ค่อนข้างเรียบง่าย และมีรายละเอียดน้อยแบบนี้

ที่น่าสนุกคือเมื่อมองใกล้ๆ จะเห็นความสอดคล้องกันอย่างน่าสนุกของหัวลูกศรที่บอกเส้นทางเดินรถไฟกับสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดสีขาวซึ่งเป็นตัวสถานี ใส่แม่น้ำที่คดเคี้ยวตามความเป็นจริงให้ผู้ใช้งานดูออกว่าเส้นทางเหล่านี้ตั้งอยู่ตรงส่วนใดของเมือง แต่น่าเสียดายที่โครงการ Baghdad Metro ไม่ได้สานต่อให้เกิดขึ้นจริงแต่อย่างใด

หากจะพูดถึงแผนที่การเดินทางแล้ว ที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือแผนที่รถไฟใต้ดินของลอนดอน เวอร์ชั่นปี ค.ศ. 1931 ออกแบบโดย Harry Beck พนักงานดราฟต์แมนแผนกไฟฟ้าของรถไฟใต้ดินลอนดอนซึ่งนับว่าเป็นงานออกแบบระดับโลก เพราะลดทอนจากเส้นทางจริงที่คดเคี้ยว มาเป็นเส้นนอนกับเส้นเฉียง 45 องศา ใช้สีที่แตกต่างกันไปสำหรับเส้นทางแต่ละสาย จุดวงกลมแทนแต่ละสถานีทำให้ได้รับความนิยมอย่างมากจนกลายเป็นต้นแบบการทำแผนที่การเดินทางทั่วโลกมาจนทุกวันนี้

มีการสำรวจพบว่าผู้โดยสารชาวลอนดอนส่วนใหญ่เชื่อระยะทางบนแผนที่นี้มากกว่าเซนส์ของตัวเองจึงทำให้เลือกเส้นทางที่เสียเวลามากกว่าหรือตัดสินใจใช้รถไฟใต้ดินทั้งที่ความจริงใช้เวลาเดินถึงที่หมายได้ภายใน 5 นาที เป็นเหตุให้เสียเวลาและเสียเงินขึ้นมาเบียดกันในรถโดยใช่เหตุ Transport for London จึงแก้ปัญหาผู้โดยสารหนาแน่นในชั่วโมงเร่งด่วนด้วยการออกแบบแผนที่รถไฟฟ้าใต้ดินของลอนดอนให้มีตัวเลขบอกนาทีกำกับไว้ว่าจากสถานีหนึ่งไปอีกสถานีใช้เวลาเดินกี่นาที

Transport for London ไม่เคยหยุดคิดหาวิธีการที่จะทำให้การใช้ขนส่งสาธารณะเข้าถึงทุกคน ไม่เว้นแม้แต่คนที่ไม่ชอบนั่งรถไฟฟ้าใต้ดิน ด้วยเหตุที่ว่าผู้ที่มีอาการแพนิก เมื่ออยู่ในที่ปิดแคบ มักเลี่ยงที่จะไม่ใช้รถไฟฟ้าใต้ดินซึ่งมืดและแคบเป็นเวลานาน Transport for London จึงร่วมกับหน่วยงาน Anxiety UK ออกแบบแผนที่ใหม่ที่มีเส้นสีเทากำกับไว้ บอกว่าสถานีไหน หรือเส้นทางใดที่อยู่ใต้ดินหรือวิ่งลอดอุโมงค์ เพื่อให้ผู้โดยสารหลีกเลี่ยงเส้นทางดังกล่าวได้ แผนที่นี้ทำให้ผู้ใช้งานเห็นภาพว่า จาก 270 สถานีรถไฟฟ้าลอนดอนนั้นมีเพียง 45 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่อยู่ใต้ดินจริงๆ

อาจจะดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่คุณ Mark Evers ผู้อำนวยการฝ่าย Customer Strategy ของ Transport for London ไม่เคยคิดแบบนั้น เขามองว่า “การทำให้เครือข่ายรถไฟฟ้าใต้ดินเข้าถึงทุกคนเป็นหนึ่งในสิ่งที่เราให้ความสำคัญมากที่สุด แผนที่ใหม่นี้เป็นเพียงหนึ่งในเครื่องมือที่เราสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองคำติชมของผู้ใช้งานของเรา เพื่อให้เครือข่ายการเดินทางเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เดินทางได้ง่ายขึ้นและสะดวกสบายสำหรับผู้โดยสารทุกคน”

ทุกครั้งที่เมล์เดย์ร่วมจัดเวิร์กช็อปการออกแบบป้ายสัญลักษณ์ในระบบขนส่งสาธารณะหรือคิดไอเดียอะไรใหม่ๆ ก็ตาม เรามักพยายามคิดถึงคนที่แตกต่างให้หลากหลายมากที่สุด คนชรา เด็ก คนต่างจังหวัดที่ไม่คุ้นทาง นักท่องเที่ยวต่างชาติที่สื่อสารกับคนพื้นที่ลำบาก ผู้พิการทางสายตา ผู้ที่มีอาการตาบอดสี เพราะยิ่งเรารับรู้ความต้องการของคนแต่ละกลุ่มมากขึ้น ทำความเข้าใจ ความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการออกแบบขนส่งสาธารณะที่เข้าถึงทุกคนได้ก็มากขึ้นตามไปด้วย ในเมื่อเราอยากให้ระบบขนส่งสาธารณะในประเทศไทยดีขึ้นทุกด้าน แผนที่เส้นทางเดินรถก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่เราอยากปรับปรุงเพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานมีข้อมูลในการตัดสินใจทั้งก่อนเดินทางและระหว่างเดินทาง

โอกาสนั้นมาถึงไวกว่าที่คิด จากการที่ OKMD (สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้) ให้โอกาสเมล์เดย์ออกแบบชุดข้อมูลการเดินทางด้วยรถเมล์ บนพื้นที่บริเวณโอสถศาลาและวัดปทุมวนาราม หลังจากที่เมล์เดย์มีประสบการณ์ทำกราฟิกข้อมูลการเดินทางด้วยรถเมล์ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ฝั่งพญาไทและฝั่งดินแดงมาแล้ว เราจึงนำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากครั้งก่อนมาปรับใช้ในงานครั้งนี้ โดยเริ่มต้นจากคำถามที่ว่า ทำอย่างไรให้คนที่เดินผ่านไปมารู้ว่านี่คือเส้นทางรถเมล์ ต้องทำกราฟิกให้ข้อมูลเส้นทางของรถเมล์โดดเด่นขึ้น ทำให้เห็นปุ๊บเข้าใจปั๊บว่ากำลังสื่อสารเรื่องอะไร

อีกเหตุผลหนึ่งที่เราเลือกนำเสนอข้อมูลรถเมล์ด้วยแผนที่แบบนี้ ก็เพราะในบ้านเราก็ยังไม่ค่อยมีใครนำแผนที่การเดินทางแบบนี้มาใช้กับระบบรถเมล์เท่าไรนัก เมล์เดย์เองก็อยากให้ผู้คนที่พบเห็นได้ลองใช้แผนที่เส้นทางรถเมล์เหมือนในต่างประเทศดูบ้าง

(แผนที่เส้นทางรถเมล์ปรับอากาศของขสมก.เผยแพร่ในช่วงปี ค.ศ. 1980)

สีสันต่างๆ บนแผนที่ใช้แทนเส้นทางรถเมล์แต่ละสาย เพื่อให้ผู้ที่ยืนรอที่ป้ายรถเมล์สามารถแยกความแตกต่างของระบบหรือเส้นทางได้อย่างรวดเร็ว เช่น รถไฟฟ้า จะใช้สีประจำของรถไฟฟ้าสายนั้นๆ (สีเขียวอ่อน = สายสุขุมวิท สีน้ำเงิน = สายเฉลิมรัชมงคล ฯลฯ) หรือการใช้เส้นสีเหลืองซ้อนทับในระยะที่รถเมล์ขึ้นทางด่วน ซึ่งมีที่มาจากการใช้ป้ายสีเหลือง = รถขึ้นทางด่วน ของ ขสมก. หรือการใช้สีฟ้าในสัญลักษณ์ท่าเรือ ซึ่งสีฟ้ากับการเดินทางทางน้ำเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าใจได้ง่ายอยู่แล้ว

เมื่อแผนที่รถเมล์เสร็จออกมาเรียบร้อยก็ทำให้เราได้เห็นปริมาณเส้นทางรถเมล์ที่ทับซ้อนกันจำนวนหลายคู่ต่อป้าย อย่างระยะทาง 8 กิโลเมตร จากแยกปทุมวันไปแยกพระโขนง มีรถเมล์สาย 25 40 48 501 508 ที่วิ่งในเส้นทางนี้ ทำไมมีรถเมล์ถึง 5 สายที่วิ่งทับกัน แต่ถึงอย่างนั้นทำไมเรายังรู้สึกว่ารอรถเมล์นาน แผนที่นี้กำลังสะท้อนถึงวงจรการบริหารจัดการ หรือการให้ความสำคัญกับระบบขนส่งสาธารณะในบ้านเราอยู่หรือเปล่า

ดังนั้น นอกจากจะเป็นจุดเริ่มต้นให้ประชาชนในบ้านเราเข้าใจการใช้แผนที่ เข้าใจเรื่องทิศ เข้าใจการออกแบบกราฟิกมากขึ้น รวมถึงเริ่มคิดวางแผนการเดินทางเป็น จากแต่ก่อนที่คนมักจะคุ้นชินกับการวางแผนแบบเห็นป้ายสายไหนผ่านไปสายนั้น แต่พอมีแผนที่ รู้ทิศ มองเห็นว่ารถแต่ละสายที่ไปทางไหน ผ่านอะไร เชื่อมต่อตรงไหน แผนที่นี้ยังเป็นตัวช่วยที่จะบ่มเพาะการวางแผนการเดินทางและเข้าใจถึงปัญหาและสิ่งที่ประชาชนต้องการมากขึ้นด้วย

ติดตามอ่านพัฒนาการของแผนที่การเดินทางในลอนดอนได้ที่ลิงค์นี้ https://metropolitantojubilee.wordpress.com/map-graphical-approach/

ข้อมูลอ้างอิง transitmap.net, tfl.gov.uk, metropolitantojubilee.wordpress.com, londonist.com, peopleneedaplacetogo.tumblr.com

AUTHOR