สะพานลอย : สิ่งก่อสร้างที่พูดเรื่องเมืองได้หลากมิติมากกว่าแค่ความปลอดภัย

สะพานลอย : สิ่งก่อสร้างที่พูดเรื่องเมืองได้หลากมิติมากกว่าแค่ความปลอดภัย

เมื่อช่วงกลางเดือนตุลาคม เราเห็นโพสต์ในฟีดเฟซบุ๊กรูปสะพานลอยที่มีต้นไม้ใหญ่ขวางทางขึ้น-ลงและถูกขุดย้ายออกในเวลาต่อมาเมื่อโพสต์นั้นถูกแชร์กระจายว่อนไปทั่วอินเทอร์เน็ต

ไม่ใช่ครั้งแรกที่การมีอยู่ของสะพานลอยที่ไม่ค่อยปกติอยู่ท่ามกลางสปอตไลต์ของชาวเน็ต

หากยังพอจำได้ เมื่อปีที่แล้วที่จังหวัดนนทบุรี สะพานลอยแห่งหนึ่งมีเสาไฟงอกอยู่กลางบันไดสะพาน และอีกเคสที่โด่งดังไปทั่วถึงเว็บไซต์ต่างชาติคือสะพานลอยที่เจาะให้สายโทรศัพท์และสายเคเบิลลอดผ่าน ทิ้งภาระให้คนต้องหาทางเดินหลบเลี่ยงกันเอาเอง

จากสะพานลอยที่ชวนงงว่าสร้างขึ้นมาได้ยังไง คนใช้ต้องทำยังไงถึงจะสะดวกและปลอดภัย นำเราไปสู่ความสงสัยอีกข้อที่ว่า ทำไมนะทำไม ไม่ว่าจะอยู่แห่งหนตำบลใดในกรุงเทพฯ และอีกหลายๆ ที่ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเดิน วิ่ง หรือนั่งรถ เพียงแค่มองบนเล็กน้อย สะพานลอยสักอันก็คงจะเตะตาคุณเข้าจนได้

ข้อมูลเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2560 ระบุไว้ว่า เฉพาะในกรุงเทพมหานครมีสะพานลอยสำหรับคนข้ามทั้งหมดถึง 915 แห่ง ไม่ใช่ทุกประเทศที่มีสะพานลอยเป็นล่ำเป็นสัน แต่ไทยก็ไม่ใช่ประเทศที่ฮิตสะพานลอยอยู่ที่เดียวเช่นกัน ประเทศล้ำหน้าในอาเซียนอย่างสิงคโปร์ก็มีสะพานลอยคนข้ามถึงกว่า 500 สะพาน

สะพานลอยบอกอะไรกับเมืองนั้นๆ บ้าง เราจะมาเล่าให้ฟัง

ปลอดภัยไว้ก่อน

เราถูกปลูกฝังกันมาแต่เด็กว่าที่แห่งไหนมีสะพานลอย คนเดินถนนที่ต้องการข้ามฝั่งก็ควรพาตัวเองไปข้าม ณ สะพานแห่งนั้น เป็นธรรมดาที่ผู้ใช้รถจะรู้สึกหงุดหงิดใจเมื่อพบคนเดินข้างล่าง ทั้งๆ ที่มีสะพานลอยให้ใช้อยู่แล้ว พร้อมตั้งคำถามว่าจะลงมาเสี่ยงภัยทำไม คนข้ามถนนโดยไม่ใช้สะพานลอยก็มักถูกตำหนิและวิพากษ์วิจารณ์กันไปตามระเบียบ

สะพานข้ามทางสัญจรทางบกแห่งแรกในไทยคือสะพานกษัตริย์ศึก ซึ่งสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2471 เป็นสะพานข้ามรางรถไฟ เพราะบริเวณนั้นอยู่ใกล้หัวลำโพงจึงมีรถไฟวิ่งเข้าออกแทบตลอดวัน ถึงจะไม่ใช่สะพานข้ามถนน แต่จุดประสงค์หลักก็เพื่อให้คนเดินและรถที่สัญจรข้ามไปมาสะดวกและปลอดภัยขึ้นนั่นเอง ส่วนที่สิงคโปร์ สะพานลอยข้ามถนนแห่งแรกสร้างขึ้น ค.ศ. 1964 ที่ Collyer Quay และตั้งแต่ช่วงปี 1970 เป็นต้นมา ประเทศจิ๋วนี้ก็เริ่มแคมเปญรณรงค์ให้สิงค์โปร์เป็นเมืองปลอดอุบัติเหตุขึ้น ผ่านการให้ความรู้แก่ประชาชนเรื่องโทษจากการข้ามถนนแบบผิดกฎหมาย รวมถึงสนับสนุนให้ใช้สะพานลอย จากข้อมูลอ้างอิงในปี 2013 สิงคโปร์มีสะพานลอยถึงกว่า 500 แห่ง

ปัจจุบันการสร้างสะพานลอยโดยหวังว่าจะเป็นทางออกในการลดอุบัติเหตุของคนข้ามถนนยังปรากฏให้เห็นเรื่อยๆ ในหลายประเทศโดยเฉพาะเอเชีย ในขณะที่การตั้งคำถามว่าสะพานลอยเป็นการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดจริงหรือไม่ก็ผุดขึ้นให้เห็นเรื่อยๆ เช่นกัน

รถวิ่งบนถนน คนเดินบนสะพาน

นอกเหนือไปจากความปลอดภัย สะพานลอยยังแสดงถึงการจัดสรรหาพื้นที่เฉพาะให้กับคนเดินถนน

ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์การพัฒนาเมืองของสหรัฐอเมริกาเมื่อครั้งที่รถยนต์เป็นที่นิยมและถูกผลิตออกมาเมื่อ 100 ปีก่อน ส่งผลให้คนเดินต้องแย่งชิงพื้นที่สัญจรกับรถยนต์ เมื่อคนเดินถนนกลายเป็นส่วนน้อย รถยนต์ที่แข็งแรงกว่าและมีจำนวนมากกว่าก็ยึดพื้นที่ถนนได้โดยปริยาย คนเดินที่เหลืออยู่จึงถูกบีบให้ไปลัดเลาะริมขอบทาง ฟุตปาทสำหรับคนเดินเท้าจึงเกิดขึ้นมาตามลำดับ

การมีอยู่ของสะพานลอยข้ามถนนแบบไทยจึงอาจมองได้ว่าเพราะเราให้ความสำคัญกับรถเป็นหลัก คนเดินจึงต้องไปใช้พื้นที่อื่นนั่นเอง

ปกติแล้วสะพานลอยจะสร้างเมื่อทางเดินข้างล่างมีอุปสรรคอย่างลำธาร รางรถไฟ จนคนไม่สามารถข้ามถนนบนพื้นราบได้สะดวก แต่ถ้าด้านล่างเป็นรถวิ่ง การสร้างสะพานลอยจะมีขึ้นเมื่อถนนด้านล่างเป็นถนนเส้นหลัก เป็นเส้นทางที่รถหนาแน่นและขับเร็วจริงๆ หรือเป็นจุดที่มีคนเดินพลุกพล่าน อย่างบริเวณใกล้โรงเรียนขนาดใหญ่ เป็นต้น

น่าคิดว่าในจำนวนกว่า 900 สะพานลอยในเมืองหลวงแห่งนี้ ทุกสะพานจำเป็นจริงๆ หรือไม่?

คนสร้างสะพาน

จะสร้างสะพานไม่ได้อาศัยแม่สื่อ แต่คือการลงทุนหลักล้านบาท แถมยังต้องบำรุงดูแลอยู่เสมอ

ถึงการเดินขึ้นสะพานลอยจะลดความเสี่ยงในการประสบอุบัติเหตุได้มาก แต่สะพานลอยก็กลายเป็นแหล่งของความไม่ปลอดภัยรูปแบบอื่นอย่างอาชญากรรมได้เช่นกัน เห็นได้จากการที่กรุงเทพฯ เองจัดอันดับสะพานลอยที่เป็นจุดอันตราย โดยวัดจากสถิติที่ประชาชนร้องเรียนเข้ามา งบประมาณในการดูแลสะพานลอยให้ไม่โทรมจนไม่เหมาะกับการใช้งาน หรือค่าใช้จ่ายในการติดตั้งไฟส่องสว่างเลยกลายเป็นภาระที่พ่วงติดมาโดยอัตโนมัติ ความคุ้มค่าในแง่จำนวนผู้ใช้งานจริงก็ต้องประเมินควบคู่ไปด้วย แถมยังต้องดูว่าตำแหน่งที่ตั้งสะพานลอยอยู่ในจุดที่คนจะเดินข้ามไปข้ามมาแค่ไหน

คนบนสะพาน

คนเดินถนนและคนที่เดินข้ามสะพานต่างเข้าใจดีว่าการเดินข้ามสะพานลอยคือการข้ามฝั่งที่ต้องใช้แรงและเวลาในการเดินมากขึ้น กลายเป็นว่าหลายๆ ครั้ง หากรถไม่ซิ่งจนเกินไป คนมักมองหาจังหวะเพื่อข้ามบนพื้นถนนนี่แหละ

บริษัทที่ทำเรื่องข้อมูลจราจรชื่อ Traffic Data Inc. ลองเก็บข้อมูลเรื่องคนข้ามสะพานลอยที่เมือง Columbia Heights ในรัฐมินเนโซตา ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยติดตั้งกล้องเป็นเวลา 24 ชั่วโมงเพื่อนับจำนวนคนข้ามถนน บนถนน 4 เลนในจุดที่มีสะพานลอยอยู่ แม้ตัวเลขจะไม่ต่างกันมาก (คนใช้สะพานลอย 44%) ผลก็ออกมายืนยันว่าคนเลือกที่จะข้ามถนนโดยไม่ใช้สะพานลอยมากกว่า นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยอีกหลายต่อหลายชิ้นที่พยายามศึกษาพฤติกรรมคนเดิน และหาแรงจูงใจในการข้ามถนนโดยใช้สะพานลอย

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับสะพานลอยโดยเฉพาะในประเทศไทยคือ ต่อให้สะพานลอยเป็นสาธารณูปโภคที่ออกแบบมาให้คนเดินโดยเฉพาะ แต่สะพานลอยส่วนใหญ่มีบันไดเป็นวิธีเดียวที่จะขึ้นไปบนนั้นได้ คนเดินทุกคนจะสามารถใช้งานได้จริงหรือเปล่า?

ทุกวันนี้ที่สิงคโปร์ก็เริ่มถกเถียงเรื่องการใช้และการสร้างสะพานลอยกันมากขึ้น ยิ่งประจวบเหมาะกับที่สังคมผู้สูงอายุกำลังมาถึง ก็ยากจะปฏิเสธว่าการเดินขึ้นสะพานลอยของประชาชนวัยชรานั้นไม่ใช่สิ่งที่ถูกกันเท่าไหร่นัก กลายเป็นข้อถกเถียงว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมาปรับปรุงสะพานลอยที่มีอยู่แล้ว รวมถึงพัฒนาสัญญาณและสัญลักษณ์ต่างๆ เพื่อให้ประชาชนคนเดินลงมาข้ามบนถนนได้ แทนที่จะต้องไต่บันไดขึ้นไป หรือในบางจุด รัฐก็อนุมัติงบประมาณติดตั้งลิฟท์เพื่อให้สะพานลอยครอบคลุมผู้ใช้ทุกกลุ่มมากยิ่งขึ้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ที่ผ่านมา รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมของสิงคโปร์ได้ให้สัมภาษณ์ทาง Channel NewsAsia ว่าจะให้ความสำคัญกับการสร้างทางข้ามบนพื้นถนนก่อน เพราะเป็นวิธีข้ามถนนที่น่าจะสะดวกกับผู้สูงอายุ ครอบครัวที่มากับรถเข็นเด็ก และคนพิการมากกว่า แต่หากเป็นการข้ามถนนบนเส้นที่รถวิ่งเร็วจริงๆ หรือเป็นถนนเส้นหลักก็จะเลือกสร้างสะพานลอยแทน

ส่วนที่สหรัฐอเมริกา วิธีการเข้าถึงสิ่งก่อสร้างเหล่านี้มีข้อบังคับว่าด้วยคนพิการของสหรัฐอเมริกา (Americans with Disabilities Acts) กำหนดอยู่แล้วว่า สะพานหรือโครงสร้างต่างๆ ที่ออกแบบมาเพื่อคนเดินต้องมีทางเลือกอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่บันไดขึ้นลงอย่างเดียว เช่น ลิฟท์ หรือทางลาดที่สะดวกต่อผู้ใช้งานที่เป็นคนพิการด้วย

โลกเปลี่ยน ถนนเปลี่ยน

ตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1970 เป็นต้นมา แนวคิดในการจัดถนนรูปแบบใหม่ๆ เริ่มปรากฏให้เห็นมากขึ้น หลายแนวคิดมีจุดยืนว่าถนนไม่ใช่เรื่องของรถยนต์และยานพาหนะเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นเรื่องของสาธารณะ ซึ่งแน่นอนว่ามีผู้ได้และผู้เสียประโยชน์แตกต่างกันไป เช่น แนวคิดคืนถนนแก่คนเดินเท้า (pedestrianization) ที่ปรับพื้นที่การใช้ถนนโดยยกเลิกการใช้ยานพาหนะ และเปลี่ยนให้ถนนเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่สำหรับคนเดินเท้า มักทำในเขตใจกลางเมือง, แนวคิดถนนมวลชน (democratic street) ที่ให้ความสำคัญกับคนเดินและขนส่งสาธารณะ และการเข้าถึงของกลุ่มคนที่หลากหลาย หรือแนวคิดแบ่งปันถนน (woonerf) ที่กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ แนวคิดนี้ว่าด้วยการแบ่งปันถนนระหว่างรถยนต์ส่วนตัว คนเดิน จักรยานและยานพาหนะอื่นๆ สามารถใช้พื้นที่ร่วมกันได้โดยไม่จำเป็นต้องมีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานมาจัดการ หมายถึงว่าแต่ละคน แต่ละยานพาหนะต้องเคลื่อนไหวอย่างช้าๆ และระมัดระวัง แบ่งปันถนนร่วมกัน

แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกเมืองจะมองถนนด้วยแนวคิดเหล่านี้ และแม้แนวคิดการมองถนนประเภทต่างๆ อาจไม่ได้กล่าวถึงบทบาทของสะพานลอยคนข้ามอย่างชัดเจน แต่ถ้าถนนในเมืองไหนให้ความสำคัญกับคนเดิน ก็เป็นไปได้มากว่าความปลอดภัยสำหรับคนเดินน่าจะหาได้บนพื้นถนน และสะพานลอยที่สร้างขึ้นเพื่อความปลอดภัยของผู้เดินเท้าอาจค่อยๆ ลดความจำเป็นลงก็เป็นได้

คำถามที่ว่าควรมีหรือไม่มีสะพานลอย ควรสร้างตรงไหน รูปแบบใด คงไม่สามารถตอบได้เพียงแค่หยิบโมเดลต่างประเทศมาใช้ทันที ประเด็นสำคัญอยู่ที่การพิจารณาบริบทในประเทศควบคู่ไปกับดูความต้องการของผู้คน รวมถึงการให้หลายฝ่ายมาร่วมกันกำหนดภาพว่าอยากเห็นเมืองให้ความสำคัญกับอะไร

ภาพ Kitichai Taechangamlert, khaosod.co.th, lta.gov.sg, sourcethestation.com, solaripedia.com, Thakool Leelawapa

AUTHOR