เปลี่ยนของเก่าเป็นใหม่อย่างมีสไตล์ กับผลงานผู้ชนะจากโครงการ Upcycling Upstyling #2

การจัดการพลาสติกเหลือใช้ก่อนที่จะกลายเป็นขยะของโลกเรา มีอยู่สองวิธีที่องค์กรและคนทั่วโลกจัดการกับปัญหานี้

หนึ่งคือ หาทางกำจัดพลาสติกด้วยวิธีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สองคือการนำกลับมาใช้ใหม่ ในรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อเป็นประโยชน์กับผู้คนอีกครั้ง

โครงการ Upcycling Upstyling จัดโดยบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) เกิดขึ้นเพื่อเป้าหมายข้อหลัง นำแนวคิด Upcycling เปลี่ยนพลาสติกที่ใช้แล้ว ให้กลับมามีมูลค่า และยังเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์อย่างมีสไตล์ 

ในปี 2021 Upcycling Upstyling ได้จัดเป็นปีที่ 2 ภายใต้แนวคิด “Home and Living” ที่จะทำให้พลาสติกที่เหลือใช้ แปรเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง สินค้าตกแต่งภายในและภายนอกอาคาร นอกจากนี้โครงการได้ร่วมมือกับทั้งนักออกแบบ และผู้ประกอบการในแวดวงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับพลาสติก โดยนำพลาสติกที่ใช้แล้วมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ สวยงาม และนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้

บทความนี้เราคัดสรรผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ 4 ชิ้นจากโครงการที่เต็มไปด้วยเรื่องราวของการรักษ์โลก และเสริมแต่งด้วยสีสันของความคิดสร้างสรรค์

สร้างสรรค์เฟอร์นิเจอร์หลากรูปแบบโดย WonLoop Furniture Set

WonLoop Furniture Set เกิดจากคำถามที่ว่าทำไมรูปแบบของเฟอร์นิเจอร์ต้องจำกัดอยู่แค่แบบเดียว ชิ้นงานผลิตจากเศษถุงพลาสติกได้จากโครงการวน และใช้ผงไม้กับสารเติมแต่งเพิ่มเติม ใช้วีธีการ Extrusion สร้างสรรค์เป็นงานไม้ที่มีลวดลายสวยงามเสมือนไม้จริง ผลิตโดยบริษัท โฟร์เอฟ อะโกร จำกัด และบริษัท โทเทิลเอเลเมนท์ จำกัด 

ในชิ้นงานจะมีหน้าตัดของไม้เป็นรูปวงรีเพื่อรับแรงน้ำหนักให้เฟอร์นิเจอร์เกิดความทนทาน แข็งแรง นอกจากนี้ยังนำเศษถุง HDPE ผงไม้ และสารเติมแต่งเป็นส่วนเสริมใช้ยึดกับชิ้นส่วนหลัก ออกแบบโดยศุภพงศ์ สอนสังข์ จาก Jird นักออกแบบที่อยู่ในแวดวงเฟอร์นิเจอร์ ผลิตภัณฑ์นี้สามารถสร้างงานเฟอร์นิเจอร์ได้หลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นม้านั่ง ราวแขวนเสื้อ ชั้นวางของ ในอนาคตยังสามารถออกแบบเฟอร์นิเจอร์อื่นๆ โดยใช้ผลิตภัณฑ์นี้เป็นส่วนประกอบได้อีกเช่นกัน

งานหัตถกรรมจากแหอวนเหลือทิ้ง โดยนักออกแบบระดับโลก 

ปัจจุบันมีแหอวนเหลือทิ้งมากกว่าหนึ่งล้านชิ้น เทศบาลระยองจึงมีแนวคิดเก็บแหอวนเก่า และขยะพลาสติกบริเวณชายหาดระยอง นำไปผลิตเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิล PCR Ocean Waste 10% และเม็ด PCR HDPE 90% 

โดยบริษัท เอ็นพี พอยท์เอเชีย จำกัด จากนั้นก็นำไปขึ้นรูปเส้นใย ขนาดเบอร์ใย 380/30 โดยบริษัท ขอนแก่นแหอวน จำกัด โดยได้รับโจทย์จาก ดร.กรกต อารมย์ดี จาก Korakot นักออกแบบหัตถกรรมระดับโลก ที่ได้ออกแบบผลิตภัณฑ์นี้ออกมาทั้งหมด 3 ชิ้นงาน ได้แก่

Armchair Relation No 2 เก้าอี้ที่สะท้อนรูปร่างของดอกไม้ทะเล ที่มีความนุ่มนวลและอ่อนช้อย

Decorative Partition “SUN 01 and 02” แผงกั้นที่มีรูปร่างและสีสันที่แสดงถึงความเป็นพระอาทิตย์

Wall Art” Wave 01” งานหัตถกรรมตกแต่งผนัง ที่ดูสดชื่น และเป็นตัวแทนของเกลียวคลื่นแห่งท้องทะเล

ผลิตภัณฑ์ทั้ง 3 ชิ้น ได้รับการถักทอโดยชาวบ้าน อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ผู้ชำนาญในการมัดและผูก ด้วยเทคนิคแบบเงื่อนกระตุกเบ็ด ทั้งหมดนี้สามารถนำไปตกแต่งเป็นเฟอร์นิเจอร์ภายในอาคาร ที่พอได้เห็นแล้วคงนึกถึงกลิ่นอายของธรรมชาติแห่งท้องทะเลอย่างแน่นอน

Waste to Weave จากเศษเหลือทิ้งกลายเป็นสินค้าเคียงคู่โต๊ะอาหาร

ปัจจุบันมีเศษถ้วยสลัด PP เหลือทิ้งกว่า 1.8 ล้านตันต่อปี บริษัท คิวพี (ประเทศไทย) จำกัด นำเศษถ้วยมาเปลี่ยนเป็นสินค้าใหม่ที่จับคู่กับถ้วยสลัดบนโต๊ะอาหารได้อย่างลงตัว

ถ้วยสลัดที่เหลือทิ้งจะถูกนำไปบด หลอมกับเม็ดพลาสติก polypropylene มีการผสมสีต่างๆ ให้เกิดความสวยงาม หลังจากนั้นก็รีดดึงเป็นเส้นด้วยกระบวนการทำหลอดโดยบริษัท ทานตะวัน อุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) แล้วนำมาถักทอเป็นอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน และเครื่องใช้ในครัวเรือนที่มีน้ำหนักเบา 

สินค้าทั้งหมดเน้นใช้งานบนโต๊ะอาหาร เช่น โคมไฟ แจกัน และแผ่นรองแก้ว เป็นต้น ช่วยเสริมสร้างบรรยากาศของการรับประทานอาหาร ออกแบบโดย พลอยพรรณ ธีรชัย และ เดชา อรรจนานันท์ นักออกแบบจาก Thinkk เพิ่มทางเลือกในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ในบ้าน ด้วยการผลิตจากทักษะของชุมชนต่างๆ ทำให้เกิดเส้นสานที่มีเอกลักษณ์ใหม่ และยังสามารถเพิ่มคุณสมบัติที่เหมาะสมกับการสานได้ดีขึ้นอีกด้วย

Beyond Basin กะละมังซักผ้าที่กรีนที่สุด

กะละมังกับน้ำยาซักผ้าแบบรีฟิลเป็นของคู่กัน ถุงบรรจุภัณฑ์น้ำยาซักผ้ามักถูกละเลยจากกระบวนการรีไซเคิล Multilayer เนื่องจากมีพลาสติกหลายชนิดและมีชั้นเคลือบโลหะ บริษัท คาโออินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด นำถุงเหล่านี้ไปล้าง บด และหลอม เพื่อทำเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิล จากนั้นใช้กระบวนการฉีดขึ้นรูปจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิล 20% และเม็ดพลาสติก Polypropylene 80% โดยบริษัท เกษมพลาสติก จำกัด 

ออกมาเป็นสินค้ากะละมังที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ออกแบบโดย ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์ นักออกแบบจาก Qualy พวกเขาตีความว่า การซักผ้าบางประเภทจำเป็นต้องซักด้วยมือเท่านั้น การซักแบบนี้ถ้าจะให้ผ้าสะอาดต้องมีทักษะ ความตั้งใจ และความละเอียดอ่อน เปรียบดั่งการทำงานของศิลปิน 

รูปทรงกะละมังได้รับแรงบันดาลใจจากถังซักผ้าไม้วินเทจ มีลอนคลื่นที่ก้นกะละมังทำให้สามารถขจัดคราบสกปรกให้ออกจากผ้าได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ความพิเศษอีกหนึ่งอย่าง คือ เมื่อใช้เสร็จแล้วยังสามารถนำไปตกแต่งห้องได้อีกด้วย มีการเสริมความเก๋ของก้นอีกด้านของกะละมังด้วยกระจก เมื่อนำไปแขวนบนผนัง จะทำให้ห้องดูดีมีสไตล์มากขึ้น

AUTHOR