มอง Gen Z ผ่านสายตา Tinder สัมภาษณ์พิเศษ ไคล์ มิลเลอร์ รองประธานฝ่ายผลิตภัณฑ์ Tinder

แอพพลิเคชั่นที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในช่วงที่ผ่านมาจากหลายๆ กระแสที่เกิดขึ้นคงหนีไม่พ้น Tinder เป็นจังหวะดีกับที่ช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ของปีนี้ a day มีโอกาสได้สัมภาษณ์พิเศษ ไคล์ มิลเลอร์ รองประธานฝ่ายผลิตภัณฑ์ของ Tinder (Kyle Miller – VP, Product at Tinder) ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบด้านกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์เพื่อทำให้ผู้ใช้ได้รับประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้น

สำหรับ ไคล์ มิลเลอร์ ก่อนจะมารับหน้าที่ตรงนี้เขาเคยเป็นผู้นำ Cross-Functional Team ที่มีทั้งครีเอทีฟ วิศวกร และนักการตลาด ร่วมกันออกแบบและวางแนวคิดนวัตกรรมผลิตภัณฑ์เพื่อกลุ่ม Gen Z ที่มีอายุระหว่าง 18 – 25 ปี ซึ่งตอนนี้สมาชิกมากกว่าครึ่งของ Tinder เป็นคนในวัยนี้ นอกจากนี้เมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา เขายังมีชื่อติดอยู่ในลิสต์ Most Creative People in Business ของสื่อด้านธุรกิจอย่าง Fast Company ด้วย

Gen Z ในสายตาของ Tinder เป็นอย่างไร ไปฟังคำตอบจาก ไคล์ มิลเลอร์ 

อย่างที่เราทราบว่า สมาชิกของ Tinder ทั่วโลกมากกว่า 50% เป็นคน Gen Z อยากรู้ว่า ถ้าเทียบกันในภูมิภาคแล้ว Gen Z ในไทย มีลักษณะเฉพาะอะไรที่เป็นความยากสำหรับการทำตลาดของ Tinder ในประเทศไทยหรือไม่ 

แม้ว่า Gen Z ในแต่ละประเทศจะมีภูมิหลังทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน แต่พวกเขามีอะไรบางอย่างที่คล้ายคลึงกันนะ เรียกว่าคนเจนนี้แทบจะฉีกทุกกฎที่เคยมีมาในการออกเดตเลย ด้วยความที่พวกเขาสามารถปรับตัวตามสภาพแวดล้อมได้ ในขณะเดียวกันก็ยังคงความเป็นอัตลักษณ์ของตัวเองอยู่ รวมถึงสิ่งที่พวกเขามองหาจากคนที่เป็นคู่ Match 

คน Gen Z ไม่ได้เดินตามเส้นทางของความสัมพันธ์ในการออกเดตอีกต่อไปแล้ว เราพบว่าโดยส่วนใหญ่ คือประมาณ 91% ไม่อยากอยู่เป็นโสด และกำลังมองหาการออกเดตรูปแบบใหม่ที่มีความหมาย ซึ่งพวกเขาทำให้ประสบการณ์ของการออกเดตแบบออกไปพบปะเจอตัวจริง กับการออกเดตแบบดิจิทัลแทบไม่มีเส้นแบ่งระหว่างกัน พวกเขาจะเริ่มสร้างความสัมพันธ์กับอีกฝ่ายในระดับที่ลึกซึ้งทางดิจิทัลก่อน ก่อนที่จะตอบตกลงเพื่อออกไปพบกันในชีวิตจริง

คุณคิดว่าความสัมพันธ์ที่เกิดจากการนัดเดตผ่าน Tinder จะเข้ามาแทนที่การทำความรู้จักกันในชีวิตจริงมั้ย เพราะผู้คนต่างมีตัวตนอยู่ในโลกโซเชียลมีเดียและใช้เวลากับมันมากขึ้น ขณะที่โอกาสในการพบเจอและการสานสัมพันธ์แบบซึ่งหน้าก็ดูจะเป็นเรื่องยากมากขึ้น

ผมไม่คิดว่าจะเป็นแบบนั้นนะครับ เพราะว่าเป้าหมายที่ Tinder มีมาตลอดก็คือการช่วยให้สมาชิกสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่มีความหมาย เริ่มต้นจากการสร้างคอนเนกชั่นออนไลน์ แล้วหลังจากนั้นในท้ายที่สุดถึงค่อยออกไปสานต่อความสัมพันธ์กันในชีวิตจริง 

ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 สมาชิกเกือบครึ่งของ Tinder มีการพูดคุยกับคู่ Match ผ่านวิดีโอคอล (Face to Face) และประมาณ 40% คิดว่าพวกเขาจะยังคงคุยกันผ่านวิดีโอคอลต่อไปเพื่อทำความรู้จักกับคนอื่นๆ แม้ว่าโควิดจะจบลงแล้วก็ตาม การวิดีโอคอลหากันกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ซึ่งนั่นคือสิ่งที่จำเป็นสำหรับการเชื่อมต่อกัน ทุกคนสามารถแสดงตัวตนที่แท้จริงในสภาพแวดล้อมที่มีความปลอดภัยผ่านออนไลน์ เราพบว่าคน Gen Z อยากได้รูปแบบของการออกเดตที่เป็นนวัตกรรมใหม่และไม่สร้างความกดดันมากนัก เพื่อทลายกำแพงเวลาที่ต้องเริ่มต้นทำความรู้จักผู้คนใหม่ๆ 

อยากให้คุณช่วยอธิบายว่า เพราะอะไรแอพพลิเคชั่นหาคู่เดตอย่าง Tinder จึงเป็นที่นิยมและประสบความสำเร็จอย่างมาก

Tinder เริ่มต้นจากแนวคิดที่ก่อตัวขึ้นในเขตรั้วของวิทยาลัย และกำลังจะมีอายุครบ 10 ปี ในปี 2565 นี้ ซึ่งตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ได้มีจับคู่ Match มากกว่า 70,000 ล้านครั้ง และมีการดาวน์โหลดแอพมากกว่า 500 ล้านครั้งทั่วโลก นับว่าเป็นการเดินทางที่ค่อนข้างมาไกลมากทีเดียว และการเติบโตแบบนั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าหากคุณไม่เข้าใจในความต้องการของมนุษย์ 

ปัจจุบันสมาชิกสามารถค้นหาวิธีแสดงออกถึงตัวตนที่แท้จริงได้มากขึ้น โต้ตอบกับคนอื่นได้แบบเสมือนจริงและสนุกมากยิ่งขึ้น สามารถเข้าไปจัดการตั้งค่าได้ว่าอยากจะพบเห็นใครบ้างบน Tinder รวมถึงจะสื่อสารกันอย่างไรในรูปแบบไหน นอกจากนี้พวกเขาออกเดตแบบไม่ตามแฟชั่น แต่ชอบที่จะออกเดตในรูปแบบที่ตัวเองต้องการ และก็หวังว่าความรู้สึกสปาร์กอาจจะเกิดขึ้นกับใครสักคนก็ได้โดยไม่ได้คาดหวัง

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่คนในเจเนอเรชั่นต่อไปอย่าง Gen Z กำลังมองหา นั่นทำให้ Tinder กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของพวกเขาไปในที่สุด

ถ้ามีคนโสดสักคนหนึ่งอยากออกเดต แต่ยังไม่เคยใช้และยังลังเลที่จะใช้ Tinder คุณจะบอกเขาอย่างไร

อยากจะบอกว่าลองดูสักครั้งสิ! สำหรับคนที่ยังไม่เคยใช้แอพ Tinder ผมอยากจะให้ทุกคนมั่นใจว่า สิ่งสำคัญอันดับหนึ่งของ Tinder คือความปลอดภัยของสมาชิกทุกคน เราลงทุนในเรื่องฟีเจอร์ด้านความปลอดภัยของเครื่องมือที่ใช้งานบนแอพ รวมถึงฟีเจอร์ที่ช่วยยืนยันตัวตนของคู่ Match และการตรวจสอบ Vibe ระหว่างกันก่อนที่จะมีการนัดพบ เช่น การยืนยันตัวตนด้วยภาพถ่าย (Photo Verification) และการวิดีโอคอล (Face to Face)

โดยหลังจากจับคู่ Match กันได้แล้ว จะสามารถใช้ฟีเจอร์ Face to Face ของ Tinder เพื่อวิดีโอคอลหากันได้ก็ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากทั้งสองฝ่ายเท่านั้น เมื่อผู้ใช้ Tinder อยากจะทำความรู้จักอีกฝ่ายให้ลึกซึ้งขึ้นมากกว่าการคุยผ่านข้อความทางตัวอักษร พวกเขาสามารถใช้ฟังก์ชั่นวิดีโอแชตที่อยู่ในแอพได้เพื่อสามารถพูดคุยกันอย่างสบายใจและมีความปลอดภัย การยืนยันตัวตนด้วยภาพถ่าย (Photo Verification) ช่วยสร้างความมั่นใจได้ว่าคู่ Match เป็นตัวตนจริงตามที่เขาบอก โปรไฟล์ที่ได้รับการยืนยันแล้วจะมีเครื่องติ๊กถูกสีฟ้าเพื่อให้สมาชิกคนอื่นๆ สามารถมั่นใจได้ว่าคนนั้นเป็นตัวจริงที่ถูกต้องตามโปรไฟล์

ก่อนหน้านี้เราได้ประกาศว่าสมาชิก Tinder จะสามารถใช้การยืนยันตัวตนในแบบ ID Verification ได้ทั่วโลกไตรมาสหน้านี้ ซึ่งเราจะรับเอาคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญมาพิจารณาว่า การใช้เอกสารแบบใดถึงจะมีความเหมาะสมในการนำมาใช้ยืนยันตัวตนของสมาชิก Tinder ในแต่ละประเทศ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของกฎหมายและข้อบังคับในแต่ละท้องถิ่นอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นตัวกำหนดว่าฟีเจอร์นี้จะออกมาเป็นอย่างไร

ช่วยเล่าเรื่องราวที่ทำให้คุณรู้สึกประทับใจมากๆ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่เกิดจาก Tinder ให้ฟังหน่อย

จริงๆ แล้วสมาชิก Tinder ไม่ได้ใช้แอพ Tinder แค่เพื่อพบปะผู้คนในรูปแบบของความโรแมนติกเท่านั้นนะครับ แต่พวกเขาใช้ในการสร้างคอนเนกชั่นเพื่อพบปะผู้คนใหม่ๆ ที่พวกเขาไม่เคยรู้จักมาก่อนด้วย มีเรื่องราวของสมาชิกที่ประสบความสำเร็จจากการใช้แอพของเราเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงยากที่จะระบุถึงเรื่องราวความสัมพันธ์ใดเพียงความสัมพันธ์เดียว 

แต่สิ่งที่บอกได้ก็คือความสัมพันธ์ส่วนมากจะเริ่มสปาร์กกันบน Tinder ก่อน แล้วหลังจากนั้นถึงไปพัฒนากันต่อในชีวิตจริง เอาเป็นว่าผมขอไม่ระบุชื่อว่าเป็นเรื่องราวความรักของใคร แต่มีคู่รักชาวไทยที่พวกเขามา Match กันบน Tinder แล้วในที่สุดก็ได้แต่งงานกันและพวกเขาก็เลือกจัดธีมงานแต่งที่เกี่ยวกับ Tinder 

Tinder มีหลักวิธีคิดที่จะทำให้พัฒนาไปโดยแตกต่างจากคู่แข่งอย่างไร

เป้าหมายของ Tinder ที่มีมาโดยตลอด ก็คือการช่วยสมาชิกให้สามารถสร้างการเชื่อมต่อที่มีความหมาย และเราใส่ใจเป็นพิเศษในการเข้าไปทำความเข้าใจถึงความต้องการของคน Gen Z โดยในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา เราได้เฝ้าดูพัฒนาการของสมาชิกในการออกเดตออนไลน์และพบว่ามีอยู่ 3 เรื่องหลักๆ คือ

คน Gen Z อยากจะแสดงด้านที่เป็นตัวเองมากขึ้น เพราะว่ามนุษย์ไม่ได้มีแค่ด้านเดียว อีกไม่นาน Tinder จะมอบประสบการณ์ที่สะท้อนถึงสิ่งที่สมาชิกต้องการ

ผู้คนต้องการการเชื่อมต่อกันในระดับที่ลึกซึ้งขึ้น โดยเฉพาะหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 รูปแบบการเดตในปัจจุบันของคน Gen Z คือการยอมรับและปรับตัว พวกเขาอยากจะใช้เวลาทำความรู้จักกับใครสักคนให้มากขึ้นกว่าเดิม

อยากจะควบคุมประสบการณ์การใช้แอพของตัวเองได้ คน Gen Z อยากจะเป็นคนควบคุมการใช้แอพได้เหมือนการนั่งอยู่หลังพวงมาลัย เพื่อค้นหาคนที่ใช่บน Tinder

โดยส่วนตัวคุณอยากให้มีฟีเจอร์แบบไหนใน Tinder บ้าง

เราอยากให้คน Gen Z ในประเทศไทย และคน Gen Z ในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ได้แบ่งปันแพสชั่นและความสนใจในเรื่องต่างๆ ของตัวเองกับคนอื่น จึงได้เปิดให้บริการ Tinder Explore ซึ่งเป็นฮับในรูปแบบอินเตอร์แอ็กทีฟใหม่บนแอพ เมื่อกดเข้าไปจะพบกับหัวข้อความสนใจที่หลากหลาย เพื่อให้ทุกคนได้พบปะกับคนใหม่ๆ ที่ความสนใจคล้ายคลึงกัน ถือเป็นการอัพเดตครั้งใหญ่ที่สุดของ Tinder นับตั้งแต่การคิดค้นฟีเจอร์ปัดขวา (Swipe) เลยทีเดียว

นอกเหนือจากนี้ผมคิดว่าคงต้องรอติดตามกันนะครับ โลกในยุคหลังโควิด-19 ทำให้คนรุ่นใหม่ที่กำลังมองหาคู่ ถามหาสิ่งใหม่ๆ จาก Tinder ดังนั้นเราจึงต้องมีการพัฒนาอยู่ตลอด

AUTHOR