The rain pours down in blessing

เปลี่ยนเขาหัวโล้นและไร่ฝิ่นของชาวเขา
ให้กลายเป็นป่าและพื้นที่ทำกิน

ใครๆ ก็รู้, นี่คือหนึ่งในพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ที่ทรงช่วยเหลือชาวไทยภูเขาให้มีที่ดินทำกินเป็นหลักแหล่ง
แก้ไขปัญหายาเสพติดเรื้อรัง รักษาป่าต้นน้ำ และพัฒนาการปลูกพันธุ์ไม้เมืองหนาวให้คนไทยไม่ต้องพึ่งพาผักผลไม้นำเข้าราคาแพง

แต่การฝ่าหมอกหนาและโค้งลดเลี้ยวสูงชันขึ้นมาบนสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง
ฟังคำบอกเล่าจากผู้ที่เคยทำงานสนองพระราชดำริตลอดหลายสิบปี
และเดินแกะรอยแนวคิดที่พระองค์ทรงให้ไว้ เราพบว่าต้นกำเนิดโครงการหลวงที่เริ่มขึ้นตั้งแต่
พ.ศ. 2512 แห่งนี้ มีเรื่องเล็กๆ มากมายที่ทำให้หัวใจเราพองโต
และก่อความรู้สึกหลายขนานที่สารคดีเทิดพระเกียรติไม่อาจบอกเล่าได้
ซึ่งนั่นอาจเป็นเพราะสื่อเหล่านั้นไม่อาจบันทึกกลิ่นชื้นฉ่ำฝน ลมเย็นปะทะผิว
หรือรสอร่อยจากผลไม้สดๆ จากแปลง ได้เหมือนกับการมาสัมผัสด้วยตาตัวเอง

และที่มากกว่านั้น การมาถึงที่ทำให้เรา
‘เปิดใจ’ มองเห็นถึงแก่นข้างในอย่างที่ไม่ต้องการคำราชาศัพท์มาอธิบาย

1.

“ที่นี่เคยเป็นแหล่งผลิตฝิ่นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ เมื่อ พ.ศ. 2510
ที่ตรงนี้ผลิตฝิ่นได้ 135 ตัน มองไปรอบๆ มีแต่ทุ่งหญ้าคาแล้งๆ
ไม่มีต้นไม้สักต้น”

พี่ตรี-มณพัฒ ยานนท์ นักประชาสัมพันธ์ สถานีเกษตรหลวงอ่างขางบอกเล่าข้อมูลที่เราไม่อยากเชื่อ
หมอกหนา อากาศเย็นสบาย
ต้นไม้ครึ้มชอุ่มที่โอบล้อมเราไว้สุดลูกหูลูกตา ไม่ใช่สิ่งที่มีมาแต่ไหนแต่ไร และคำว่า
‘ถิ่นทุรกันดาร’ ที่เราได้ยินบ่อยครั้ง
คือภาพที่คนเมืองอย่างเราไม่เคยจินตนาการถึง

“พระองค์เริ่มเสด็จเยี่ยมชาวบ้านทั่วประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ. 2501 จนมาถึงอำเภอฝาง
ท่านทรงเห็นปัญหาการทำไร่เลื่อนลอยในอดีตของชาวเขา 1 ครอบครัวเขามีไร่ 5 ไร่ 5
แห่ง ทำไร่ฝิ่นหมุนไป สมมติปีนี้ 5 ไร่ไม่พอ ปีหน้าต้องทำ 10 ไร่ ต้นไม้ก็โดนตัดไปตลอด จากข้อมูลเมื่อ พ.ศ. 2522 ชาวเขาประมาณ 50,000 คนตัดไม้ทำลายป่าบ้านเราไป
200,000 ไร่ต่อปี ท่านก็เลยแก้จากจุดเล็กๆ ไปหาจุดใหญ่ ภาคเหนือเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของประเทศ
ถ้าแก้ปัญหาชาวเขาได้ ไม่ใช่แค่ชาวเขาได้ประโยชน์
แต่คนพื้นราบทั้งประเทศก็ได้ประโยชน์ด้วย”

พี่ตรีก้มลงหยิบผลไม้สีเขียวลูกเท่ากำปั้นที่หล่นอยู่ที่พื้นแล้วชี้ชวนเราดู
“นี่คือมักขี้หนู ต้นแอปเปิ้ลป่า ตอนท่านไปเยี่ยมมูเซอมีเจ้าต้นนี้อยู่
ก็แสดงว่าอากาศตรงนี้หนาวเย็น น่าจะปลูกพันธุ์ไม้เมืองหนาวได้ จึงทรงเลือกพื้นที่ตรงนี้ตั้งโครงการหลวงโดยใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์
ถ้าเราพูดภาษาชาวบ้านคือ สมองท่านคิดเอง เงินของท่านเอง”

แต่ทุกอย่างไม่ได้ง่ายเหมือนเนรมิต
ในช่วงทศวรรษแรกคือช่วงบุกเบิก ทดลอง ทดสอบ ทำงานวิจัยควบคู่ไปกับการส่งเสริมอาชีพ
เน้นให้ชาวเขาออกจากป่าและอยู่กับที่ “ท่านให้สิทธิ์ทำกินแก่ชาวเขา แต่ให้เริ่มต้นที่การปลูกป่า
ป่าแรกเป็นป่าไว้ทำฟืนเพื่อให้เขามีฟืนใช้ ป่าที่สองเป็นไม้สร้างบ้าน
และป่าที่สามคือป่าที่มีรายได้ เป็นพวกไม้ผล นี่คือป่าสามอย่าง ประโยชน์สี่อย่าง ประโยชน์ที่สี่คือระบบนิเวศกลับคืนมา”
พี่ตรีอธิบาย และทำให้เราเข้าใจความหมายของ ‘ป่าสามอย่าง ประโยชน์สี่อย่าง’
ที่เคยได้ยินมานับครั้งไม่ถ้วนอย่างถ่องแท้เสียที

ในรายละเอียดยังมีความน่าสนใจ
ต้นไม้ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเลือกมาให้ชาวเขาปลูกคือเมเปิลหอม การบูร จันทร์ทอง
กระถินดอย ซึ่งเป็นไม้ต่างถิ่นโตเร็ว เพราะไม้เหล่านี้ไม่อยู่ในกฎหมาย ชาวบ้านสามารถตัดไม้ไปทำฟืนหรือสร้างบ้านได้
อีกทั้งยังป้องกันปัญหาว่าชาวบ้านจะไปตัดไม้สักในป่าแล้วบอกว่าเป็นไม้ที่เขาปลูกเอง
และการปลูกไม้หลายพันธุ์ก็เอื้อประโยชน์ต่อกัน เพราะในใบจันทร์ทองมียาง
เมื่อร่วงลงพื้น ก็ช่วยย่อยสลายใบไม้อื่นๆ ให้กลายเป็นปุ๋ยได้ง่ายขึ้น

ไม่เพียงแค่เล่า พี่ตรียังเอื้อมมือเด็ดใบหลากแฉกของเมเปิลหอมแล้วขยี้ส่งให้เราดม
กลิ่นหอมอ่อนเฉพาะตัวตอบเราชัดเจนว่าทำไมมันถึงถูกเรียกเช่นนี้

“ท่านบอกว่าปลูกต้นไม้ 1 ต้นเท่ากับแอร์ 1 ตัว
ที่นี่ปลูก 800 ไร่ อุณหภูมิสูงสุดก็แค่ 30 องศานิดๆ ตอนท่านรับสั่งให้ปลูกป่า แล้วท่านก็ให้สร้างอ่างเก็บน้ำเก็บไว้ เป็นอ่างเล็กๆ
กระจายไปเหมือนแก้มลิงในพื้นที่อ่างขาง จากนั้นไม่กี่ปีน้ำก็เริ่มไหลเข้าอ่าง
มูเซอบอกพระเจ้าอยู่หัวว่า ปลูกป่านี่มันดีนะ มีน้ำเข้ามา”

2.

แต่แค่ปลูกป่าไม่อาจทำให้ชาวเขาลืมตาอ้าปาก
ท่านเริ่มทำการวิจัยด้วยการเอาพันธุ์ท้อฝรั่งมาเสียบบนท้อพื้นเมืองเพื่อปลูกขาย
และเรียกลูกท้อที่ชวนท้อแท้ใหม่ด้วยชื่อทับศัพท์ว่า ‘ลูกพี้ช’ (พี่ตรีบอกว่า
พี้ชโครงการหลวงต้องมีไม้โทด้วย) แต่การขนผลผลิตลงไปขายด้วยล่อเกิดความเสียหายมากเพราะเส้นทางสูงชันกันดาร
ท่านจึงโปรดฯ ให้สร้างโรงงานหลวงเพื่อแปรรูปพี้ชกระป๋องส่งขาย
ซึ่งปัจจุบันคือพิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1 บริเวณตีนดอย
ส่วนล่อที่เคยเป็นกำลังหลักในการขนส่ง
ก็ยังใช้ในการลำเลียงของในทางสูงชันรถเข้าไม่ถึงและเป็นไฮไลต์ให้นักท่องเที่ยวได้ลองขี่ล่อเที่ยวรอบโครงการ

ในช่วงเริ่มต้น โครงการได้รับการช่วยเหลือจากสาธารณรัฐไต้หวัน
และการสนับสนุนผ่านทุนวิจัย USDA จากกระทรวงกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา เพื่อพัฒนาพันธุ์พืชเมืองหนาว
ไม่ว่าจะเป็นกาแฟอะราบิกา ชา สตรอว์เบอร์รี่ พลับ บ๊วย สาลี เก็กฮวย สมุนไพร และไม้ตัดดอกต่างๆ
เมื่อโครงการหลวงเปลี่ยนรูปแบบเป็นมูลนิธิ
สถานีเกษตรหลวงอ่างขางจึงเป็นแม่งานในการวิจัยและพัฒนาไม้ผลเป็นหลัก
ซึ่งในการส่งเสริม พระองค์โปรดฯ ให้ปลูกพืชหมุนเวียนและวางแผนเป็นระบบล่วงหน้าใน 1 ปีว่าจะปลูกอะไรขาย หากพ่อค้าฝิ่นมารับซื้อถึงที่ได้ โครงการหลวงก็ต้องพัฒนางานตลาดด้วยเช่นกัน

“ไม้ผลให้ลูกปีละหนึ่งครั้ง
กว่าเราจะได้เงินจากเขาต้องรอหนึ่งปี เราก็เพิ่มรายได้ด้วยการปลูกพืชอื่นๆ
หมุนเวียนกันไป และก็มีวิธีปลูกอย่างอื่นแซมลงไปด้วย อย่างลาเวนเดอร์ใต้ต้นพี้ช นำไปสกัดน้ำหอม
หรือระหว่างต้นบ๊วยในแปลง เราก็ปลูกต้นกาแฟไปด้วย แล้วเราก็ต้องทำความเข้าใจว่านิสัยลักษณะของแต่ละเผ่าเป็นอย่างไร
เพื่อจะเลือกพืชผลที่จะนำไปส่งเสริมให้เหมาะกับเขา
อย่างกระเหรี่ยงเขาปลูกข้าวกินเอง วิถีชีวิตหลักคือต้องมีข้าวกิน เพราะฉะนั้น เราจะหาอะไรให้เขาปลูกอีก
เพื่อที่จะไม่ให้เขาเข้าป่าล่าสัตว์ แต่ตอนที่ต้องเกี่ยวข้าว
ก็ต้องไม่มีพืชอะไรที่เก็บเกี่ยวตอนนั้นเพราะเขาจะไม่สนเลย แต่พอเกี่ยวข้าวเสร็จเรียบร้อย
พืชหลังนาเราจะส่งเสริมอะไร ส่วนใหญ่ก็เป็นพวกผักสลัด ส่วนม้งเขาปลูกขายเอาเงินมาซื้อข้าวกิน
ก็ส่งเสริมให้เขาปลูกไม้ผล หรือเผ่าปะหล่อง เราให้เขาปลูกชา สลับกับผักต่างๆ เผ่ามูเซอดำปลูกสตรอเบอร์รี่
แต่ละเผ่าไม่เหมือนกัน แต่ทุกเผ่ามีป่าที่สามเป็นไม้ผล
ตอนนี้ส่วนใหญ่เป็นอะโวคาโด”
โดยในปัจจุบัน ทางสถานีฯ ให้การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้ชาวเขา 4 เผ่า คือไทยใหญ่
มูเซอดำ ปะหล่อง และ จีนยูนนาน ในจำนวนทั้งหมด 9 หมู่บ้าน
ได้แก่ บ้านหลวง บ้านคุ้ม บ้านนอแล บ้านปางม้า บ้านป่าคา บ้านขอบด้ง บ้านผาแดง
บ้านสินชัย และบ้านถ้ำง๊อบ

“ผมอยู่ที่นี่ตั้งแต่ปี 2527 สมัยก่อนเจ้าหน้าที่ไม่เยอะ
เมื่อก่อนเวลาไปหมู่บ้านชาวเขา เอาเฮลิคอปเตอร์ไป ถ้าคนไม่ชินก็ว่าเหมือนกันหมด
แต่คนรู้จะรู้ว่านี่บ้านจีนฮ่อ ม้ง มูเซอแดง อาข่า เพราะบ้านต่างกัน ถ้าเป็นมูเซอดำมีจั่วแหลม
มีระเบียง มูเซอแดงมีโค้งข้างหน้า ยุคนั้นแถบนี้เป็นพื้นที่สีชมพู
เขานึกว่าผมเป็นทหารมาหาข่าว หัวหน้าต้องบอกว่า ไอ้ตรีมันเป็นคนของพระเจ้าอยู่หัว
มาช่วยมูเซอ พระเจ้าอยู่หัวสอนว่าให้เราเข้าไปนั่งในใจเขา แรกๆ ที่เราไป พวกก็ไม่ค่อยสนใจ
เคี้ยวหมาก ถ่มหมาก แต่เดี๋ยวนี้ถ้าไปประชุมบ้านมูเซอ เราต้องไปก่อนเขานะครับ
ถ้าไปทีหลังโดนด่า หาว่าเราไม่ตั้งใจ” พี่ตรีเล่าถึงชาวเขาที่ทำงานพัฒนาด้วยกันมานานผ่านยิ้มกว้าง

“ตอนเปลี่ยนสถานภาพเป็นมูลนิธิ
ในหลวงท่านรับสั่งอยู่ 2 ข้อ ข้อที่ 1 ห้ามขาดทุน ข้อที่ 2 สำคัญมาก ห้ามกำไร ความสำเร็จของโครงการหลวงคือความยั่งยืนของประเทศ ชาวเขาไม่ตัดไม้ทำลายป่า
มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่กลับไปปลูกพืชเสพติด ท่านคิดถึงองค์รวมทั้งประเทศ
ไม่ใช่แค่คนบนดอย แต่รวมทั้งคนพื้นราบและคนทั้งโลก ”

“แต่ก่อนปลูกมันฝรั่ง ปลูกเผือก แล้วใส่ล่อแบกไปกลับพม่า แต่หลังๆ พม่าไม่ยอมให้ไป เจ้าหน้าที่จากโครงการหลวงเลยมาติดต่อคนในบ้านปางม้าให้มาบริการนักท่องเที่ยว ทำมาสิบกว่าปีแล้ว มีล่อ 20 ตัว เรามีรายได้ นักท่องเที่ยวมาก็ดีใจได้เจอล่อ ก็ต้องดูแลนักท่องเที่ยวดีๆ ต้องคอยบอกว่าห้ามจับหลัง จับก้นมัน เดี๋ยวมันถีบเอา แต่ไอ้แดงตัวนี้มันใจดีนะ ไม่ต้องกลัว” (ยิ้ม)

จะอือ จะเมาะ

เจ้าของล่อนำเที่ยว และเจ้าบ้านมูเซอบ้านปางม้า ฝาง

3.

พี่ตรีพาเราไปเยี่ยมแปลงปลูกพันธุ์ไม้หลายชนิด
และอธิบายถึงวิธีประคบประหงมดอกผลเหล่านี้ให้เติบโตงดงาม
เจ้าหน้าที่อาวุโสคนนี้เล่าว่าช่วงแรกๆ ที่ฝรั่งผู้เชี่ยวชาญมาแนะนำให้ทำอย่างเขา
แต่ในหลายๆ ครั้งก็พบว่ามันไม่ได้ผลลัพธ์ตามต้องการ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านจึงรับสั่งให้ลองสังเกตและวิเคราะห์เอง
เพราะพื้นที่ที่แตกต่างจากบ้านเขาเมืองเขาทำให้ต้นไม้ของเรามีลักษณะนิสัยแตกต่างจากเดิม
กว่าจะวิจัยจน ‘เข้าใจ’
ต้นไม้แต่ละต้นได้ก็ใช้เวลายาวนาน ผู้นำทางพูดติดตลกว่า วิจัยไม้ผลต้นหนึ่งในเวลา 14 ปี แต่ทำดอกเตอร์ใช้เวลาแค่ 7 ปีเท่านั้น

พี่ตรีชี้ให้เราสังเกตดินในแปลงที่มีปุ๋ยหมก (หมกจริงๆ ไม่ใช่หมัก)
จากใบสน กิ่งไม้ และมูลสัตว์ ที่ช่วยทำให้ดินมีชีวิตและยั่งยืนกว่า
แล้วเล่าย้อนไปว่าในช่วงแรกๆ ที่มีคนถวายปุ๋ยให้โครงการหลวง มีเท่าไหร่ก็ใช้
จนมาพบว่าพี้ชที่ส่งออกไปรัสเซียไม่หวานเหมือนเก่า ตรวจดูจึงพบว่าดินสะสมเคมีมากเกินไป
เลยเป็นที่มาให้ทางโครงการใช้ปุ๋ยอินทรีย์
และไม่หยุดที่จะวิจัยและพัฒนาเพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

“สตรอว์เบอร์รี่พันธุ์พระราชทานครั้งแรกคือเบอร์
16 ดร.สุรพงษ์ โกษยะจินดา เป็นคนนำเข้ามา เป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมจากอเมริกา
เราก็เอามาวิจัยจนปลูกสำเร็จ ทุกวันที่ 1 พฤศจิกายน
หม่อมเจ้าภีศเดช (ม.จ. ภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวง) ท่านจะหิ้วสตรอว์เบอร์รี่ไปถวายท่านทุกปี
จนมาวันหนึ่ง ท่านรับสั่งว่า สตรอว์เบอร์รี่โครงการหลวงสุดแสนจะทนแล้วนะ แล้วพระราชทานเงินมาห้าแสน
ไม่รับสั่งอะไร เราก็กลับมาวิจัยหาพันธุ์พืช ทำตลาด คนเอเชียกินหวาน
คนยุโรปกินเปรี้ยวหรือจืด หัวหน้าสถานีอ่างขางสมัยนั้น ดร.ณรงค์ชัย พิพัฒน์ธนวงศ์ ก็ไปเรียนต่อด้านการปรับปรุงพันธุ์สตรอว์เบอร์รี่ที่ญี่ปุ่น
เป็นที่มาของพันธุ์พระราชทาน 80 จนตอนนี้ ใครก็แปดสิบๆ เราก็พัฒนาพันธุ์ 88 จะเริ่มออกปีหน้า”
เจ้าหน้าที่อาวุโสเล่าแรงผลักดันจากพระองค์ให้ฟังด้วยรอยยิ้ม ก่อนจะนำเราไปยังโรงเรือนสาธิตผักเมืองหนาวที่มีทั้งฟักทองญี่ปุ่น ซูกินี เบบี้คอส แรดิช ฟักจานบิน ปัตตาเวียแดง สวิสชาร์ด มิซูน่า
ปวยเล้ง โรสแมรี่ แครอต ฯลฯ และอีกมากมายที่โครงการหลวงทำการพัฒนาและส่งเสริมให้ปลูกขายส่งไปทั่วประเทศ

พี่ตรีส่งดอกแนสเตอร์เตียมกลีบบางสีสวยสดมาให้ลองชิม
รสเผ็ดปะแล่มลิ้นชวนให้ตื่นเต้นใจ “กำลังเตรียมปลูกส่งในช่วงฤดูหนาว
ถ้าในกรุงเทพฯ ต้องไปกินที่โอเรียนเต็ล เชฟนอร์เบิร์ต (เชฟนอร์เบิร์ต คอสเนอร์ Culinary Director โรงแรมโอเรียนเต็ล) เป็นคนขอให้ปลูก ไก่เบรสกับสตรอว์เบอร์รี่ดอย
เชฟก็เป็นคนนำพันธุ์มาถวาย ดอกนี้ชาวบ้านได้ดอกละบาท เกษตรกรหนึ่งไร่ สามารถทำรายได้ถึงสองแสนแล้ว
นี่คือกระบวนการที่ท่านสอนให้เรา ใน 1 ไร่ไม่ได้ทำวันเดียว ใช้เวลาปลูกแล้วก็หมุนเวียนออกไปขาย
ส่วนนั่นคือหน่อไม้ฝรั่งภูฏาน ได้มาจากเจ้าชายจิกมี่
ตอนนั้นท่านเป็นเจ้าชายมาดูงาน เราไม่รู้ว่าใคร มาถึงท่านยกมือไหว้เรา
บอกว่าจะเอาอย่างในหลวงไปทำที่ภูฏาน”

ยังไม่ทันจะเดินต่อไปยังแปลงแรดิชิโอ
สายฝนฉ่ำก็เทลงมาโดยไม่มีวี่แวว

นี่คือฝนของพระเจ้าอยู่หัว”
พี่ตรีเอ่ยขึ้น ในขณะที่เราทำหน้าสงสัย “หน้าหนาวจะทำฝนเทียมกันแถวเวียงป่าเป้า
แล้วเมฆปลิวมาตก วิธีดูฝนเทียมคือ เม็ดฝนจะห่างๆ แล้วก็ตกมาเลย ไม่มีเมฆดำก็ตก
แต่ถ้าเป็นฝนจริง เมฆจะเป็นสีดำ อากาศจะปิด แล้วหมอกจะไหลออกไปก่อน สักพักฝนถึงจะมา”

เราตื่นเต้นกับข้อมูลที่ได้รู้
และตื้นตันเมื่อได้แหงนหน้ามองฟ้าในเวลานั้น

“ถ้าถามว่าพระองค์ท่านไม่อยู่แล้ว
โครงการหลวงอยู่ได้มั้ย ตอบว่าต้องอยู่ได้ แล้วก็ต้องอยู่ด้วยความยั่งยืนอย่างที่พระองค์ท่านตั้งปณิธานไว้”

แววตาของเจ้าหน้าที่คนนี้ยืนยันอย่างนั้น
โดยมีพยานเป็นความยั่งยืนที่งอกงามอยู่ทั่วดอยอ่างขาง

เป็นความยั่งยืนที่เราจับต้อง ดอมดม
และชิมได้ ไม่ใช่ความยั่งยืนที่อยู่ในถ้อยคำเทิดทูน

“ตอนปี 2532 ท่านเรียกพวกเรามาถ่ายรูป รับสั่งว่าคนของพระเจ้าอยู่หัวอยู่ไหน
เราก็นึกว่ามหาดเล็ก แต่ท่านหมายถึงคนทำงานที่นี่ ดังนั้น มันเป็นคำที่อยู่ในใจผมตลอดมา
เราก็ลูกชาวไร่ชาวนา ได้โอกาสมาอยู่ในองค์กรนี้ ได้ตั้งใจทำงานตามที่พระองค์ท่านตั้งไว้
อันนั้นต่างหากที่เป็นความสุขในการทำงาน และยังเป็นความสุขที่ได้เผื่อแผ่ให้กับหลายๆ
คนด้วย

“ที่นี่ทำให้เรามาเจอกัน
เพราะเรามีพ่อของแผ่นดินคนเดียวกัน”

มณพัฒ ยานนท์

นักประชาสัมพันธ์สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง
และเจ้าบ้านชาวฝาง

ภาพ มณีนุช บุญเรือง

อ่านเรื่องราวดีๆ ส่งตรงจากสถานีเกษตรหลวงอ่างขางและพื้นที่ข้างเคียงแบบเต็มๆ ได้ที่ด้านล่างเลย

AUTHOR