Highland Highlights

นอกจากเนื้องานหลักในการวิจัยและพัฒนาพืชพันธุ์เมืองหนาวเพื่อส่งเสริมอาชีพให้กับชาวไทยภูเขาแล้ว
สถานีเกษตรหลวงอ่างขางยังเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวหลักหมื่นที่ฝ่าฟันทางคดเคี้ยวขึ้นมาบนความสูง
1,400 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล

ว่ากันด้วยภาษานักท่องเที่ยว
ดอยสูงแห่งนี้มีไฮไลต์น่าสนใจตลอดปี และหนึ่งเดียวที่ไม่มีที่ไหน
คือซากุระของจริงทั้งสายพันธุ์ญี่ปุ่นและสายพันธุ์ไต้หวันที่รวบรวมไว้มากที่สุดในเมืองไทยกว่า
700 ต้น เบ่งบานอวดสีชมพูหวานสะพรั่งในช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคมของทุกปี
และถ้าไล่เรียงตามปฏิทิน ดอกบ๊วยกลีบบางก็พร้อมรับช่วงต่อ
ตามติดมาด้วยท้อดอกกลีบซ้อนน่ารัก และลูกพี้ชกลมฉ่ำหวานที่ผลิผลพร้อมชิมในเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม
อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ดอกกุหลาบสายพันธุ์อังกฤษทั้งสวนจะบานสะพรั่ง และไร่ชาพันธุ์หย่วนจืออู่หลงผลิใบพร้อมเก็บอีกครั้งหลังสิ้นสุดฤดูหนาวอย่างเป็นทางการ
และอีกไฮไลต์สำคัญกลางฤดูร้อน คือหิ่งห้อยระยิบระยับนับพันตัวจะมาประชุมพร้อมกันช่วงหัวค่ำที่แปลงสนในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี

ต่อด้วยฤดูฝนช่วงมิถุนายนถึงกันยายน
ต้นรูบาร์บรสเปรี้ยวจะผลิก้านสีแดงสดให้เราชิมผ่านเมนูหมูตุ๋นรูบาร์บและแยมรูบาร์บในสโมสรอ่างขาง
ตามด้วยต้นบลูเบอร์รี่จิ๋วและดอกดาเลียสวยสะพรั่ง และปิดท้ายด้วยการชิมลูกพลับ
ที่เริ่มเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมถึงกันยายน จนเมื่อเข้าฤดูหนาว เราจะได้ชิมกีวีผลสดๆ กะหล่ำดาวหน้าตาน่ารัก
ก่อนจะต้อนรับไฮซีซั่นด้วยสตรอว์เบอร์รี่สีแดงสดออกผลไปทั่วดอย ซึ่งความสนุกของการมาเยือนไฮไลต์เหล่านี้ไม่ได้อยู่แค่การได้มาถึงแล้วยืนถ่ายรูปกับต้นบ๊วย
ในฐานะดาราดังที่ปรากฏอยู่ในหนังและละครหลายเรื่อง
แต่คือการได้รู้จักว่าผักผลไม้ที่เราหยิบจากเชลฟ์ในซูเปอร์มาร์เก็ตมีลำต้น ดอก ใบ
หน้าตา นิสัยใจคอ และช่วงเวลาผลิบานแตกต่างกันอย่างไร

และที่สำคัญ
การได้ไปเยี่ยมต้นกีวีมาหยกๆ แล้วได้ชิมกีวีปั่นสดๆ ในคาเฟ่ประจำสถานีฯ
มันเป็นรสชาติและความรู้สึกที่หาไม่ได้ในคาเฟ่ไหน นอกจากที่นี่เท่านั้น!

มากไปกว่าแปลงปลูกและสวนที่จัดไว้ให้นักท่องเที่ยวชื่นชม
กิจกรรมเพื่อการท่องเที่ยวในสถานีฯ ยังมีมากเกินกว่าจะไปให้ครบใน 1 วัน
ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติในแปลงป่าปลูก กิจกรรมดูนกในช่วงฤดูหนาวซึ่งมีนกอพยพหาดูยากมาอาศัยอยู่มากมาย
หรือจะเช่าจักรยานจากสโมสรฯ เพื่อปั่นเที่ยวรอบสถานีฯ ซึ่งหากวางแผนทริปล่วงหน้า
ขอแนะนำให้จองที่พักในสถานีสไตล์กระท่อมน้อยในป่าใหญ่ที่ทั้งน่ารักทั้งถ่ายรูปขึ้น
มีให้เลือกทั้งขนาดกะทัดรัด ไปจนถึงไซส์ยักษ์พักได้หลายสิบคน หรือถ้ามีหัวใจผจญภัย
จะเช่าเต็นท์และจับจองที่ในลานกางเต็นท์นอกสถานีก็ได้เช่นกัน แต่บริการนี้ไม่รับจองล่วงหน้า
นับว่าตอบโจทย์นักผจญภัยไร้แผนอย่างแท้จริง

ก่อนกลับตามธรรมเนียมต้องแวะซื้อของฝาก
ที่นี่ก็มีร้านขายของที่ระลึกแบรนด์โครงการหลวงชนิดครบครัน
ไอเท็มยอดฮิตอย่างข้าวเกรียบโครงการหลวง สตรอว์เบอร์รี่อบแห้ง
หรือน้ำมะเขือเทศดอยคำนั่นมันของแน่อยู่แล้ว แต่ที่น่าสนคือผลิตผลสดๆ
จากแปลงที่หมุนเวียนไปตามฤดูกาล และงานหัตถกรรมจากชาวเขาในพื้นที่อย่างกำไลหญ้าอิบูแค
ซึ่งทางโครงการฯ
ได้ทำการสนับสนุนผ่านชุมชนเพื่อการอนุรักษ์อัตลักษณ์ของชาวเขาอ่างขาง
และเปิดโอกาสให้เราได้อุดหนุนเพื่อเป็นกำลังใจให้คนทำ

เอาล่ะ
ทั้งหมดที่เล่ามาคือ ‘ไฮไลต์’ แบบที่นักท่องเที่ยวอยากรู้

แต่สิ่งที่เจ้าบ้านอยากให้เรารู้
พี่ตรีตอบเราด้วยเสียงหนักแน่น

“ผมไม่ได้อยากให้ทุกคนรู้ว่ามันเป็นที่แห่งแรกที่พระเจ้าอยู่หัวตั้ง
แต่อยากให้รู้ว่านี่คือบทเรียนของการพัฒนาบนพื้นที่สูง ซึ่งหลายๆ
ประเทศมาเรียนรู้และเอาแบบอย่างเราไปใช้ การมาอ่างขาง ความสวยงามเป็นผลพลอยได้ แต่อยากให้มาเห็นวิธีปฏิบัติตามพระราชดำรัสของในหลวง
มาเห็นระบบ มาเห็นความยั่งยืน”

นั่นล่ะ ไฮไลต์ที่แท้จริงของพื้นที่สูงแห่งนี้

“ความสุขของคนที่นี่ คือการที่เราได้อยู่ใต้ร่มพระบารมีขององค์ในหลวง
คือเราได้ทำงานส่วนนี้ ซึ่งไม่ใช่คนทั่วๆ ไปจะได้มีโอกาส
ก็รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่น่ายินดีอย่างยิ่ง เวลาให้บริการและให้ข้อมูลนักท่องเที่ยว
ประวัติความเป็นมาของที่นี่เป็นยังไง เรามาอยู่ตรงนี้เพราะอะไร เราเชื่อว่าความภูมิใจในงานของเรามันออกไปในการทำงาน
ในน้ำเสียงของเรา”

ชุณห์พิมาณ
ตาแก้ว
นักการขายสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง
และเจ้าบ้านชาวฝาง


บ้านพักสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง
โทรศัพท์: 053-969-476-78 กด 1

ภาพ มณีนุช บุญเรือง

อ่านเรื่องราวดีๆ ส่งตรงจากยอดดอยสูงที่ตั้งสถานีเกษตรหลวงอ่างขางแบบเต็มๆ ได้ที่ด้านล่างเลย

AUTHOR