Scent of the village

เคยได้ยินชื่อ
‘หมู่บ้านดงบัง’ กันรึเปล่า?

“ดงแปลว่าป่า บังคือบดบัง สมัยก่อนหมู่บ้านมีต้นยางนาเยอะมากบังหมู่บ้านไว้
ปกติที่นี่ขึ้นชื่อว่าคนมามักจะหลงทางก่อน แม้เราจะบอกทางถูกคนก็ยังหลง เพราะซอยคล้ายๆ กัน มีต้นไม้บังเต็มไปหมด”

พี่ปุ๋ย-สุภาวดี คูณสุข ทายาทของคุณลุงสมัย คูณสุข ผู้ก่อตั้งกลุ่มสมุนไพรบ้านดงบังอธิบายที่มาชื่อหมู่บ้านที่คล้ายคลึงวงนักร้องเกาหลี
เจ้าบ้านสาวยอมรับว่าสมัยวงดงบังชินกิดังเป็นพลุแตกในเมืองไทย ชื่อเสียงหมู่บ้านเล็กๆ ในปราจีนบุรีก็เป็นที่รู้จักไปพักใหญ่ แต่พักเรื่องคำพ้องเสียงไว้เท่านี้ดีกว่า
ยังมีเรื่องสนุกน่าสนใจหลายอย่างในแดนสมุนไพรที่เราอยากค้นหา

ทางเดินซ้ายขวาในหมู่บ้านมีต้นไม้นานาพรรณเรียงราย
นอกจากจะเป็นหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ที่ผลิตสมุนไพรให้โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรโดยเฉพาะ
ดงบังยังเป็นแหล่งส่งออกไม้ดอกไม้ประดับ
ทั้งยังขายต้นกล้าสมุนไพรให้บุคคลภายนอกได้ซื้อไปปลูกเลี้ยงได้ตามชอบ แม้สมุนไพรส่วนใหญ่จะพบเห็นได้ที่อื่นทั่วไป
แต่เมื่อขึ้นในดินอุดมแร่ธาตุปราศจากปุ๋ยเคมี พืชเป็นยาจากดงบังจึงเติบโตได้ดีและเป็นที่ต้องการของตลาดจนสมาชิกสิบกว่าคนต้องผลัดกันผลิตสมุนไพรส่งออกทุกวัน

เราเดินตามพี่ปุ๋ยไปเยี่ยมอาคาร 3 หลังที่ปลูกใกล้กัน เมื่อต้นพืชแต่ละชนิดงอกงามถึงเวลาเก็บเกี่ยว
ใบไม้สีเขียวนานารูปทรงจะถูกเก็บมาล้างให้สะอาดในอาคารหลังแรก ตัด สับ
ลดขนาดให้พอเหมาะในอาคารหลังที่ 2 ต่อมาแผ่นใบมหาศาลจะถูกลำเลียงไปเกลี่ยตากแห้งในโรงตากสูงกว้าง
กลิ่นสมุนไพรหลากชนิด เช่น ย่านาง รางจืด หรือฟ้าทะลายโจร ลอยปะปนกันในอากาศร้อนอบอ้าวใต้หลังคากระเบื้องใยแก้ว

“แต่ก่อนที่นี่เป็นโรงตากอย่างเดียว
เราจะเก็บสมุนไพรตอนแดดจัดที่สุดคือบ่าย 2 แต่บางทีสมุนไพรก็เสียเพราะคนเกลี่ยไม่ทั่วถึง
เราเลยต้องเอาตู้อบมาใช้เพื่อลดโอกาสเกิดเชื้อรา”
พี่ปุ๋ยอธิบายก่อนชี้ให้เราดูใบชะพลูตากแห้งกองโตถูกกวาดรวมเข้าตู้อบเพื่อไล่ความชื้นออกจนหมด
หลังจากนี้ใบสีเขียวกรอบร้อนๆ จะถูกบรรจุลงถุง บันทึกรายละเอียด ก่อนนำไปเก็บไว้ที่คลังสินค้า
ถุงสมุนไพรอัดแน่นเต็มห้องพร้อมจะถูกส่งไปใช้ที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

ภาคเก็บเกี่ยวภาคแรกจบลงไปแล้ว เราเดินลึกเข้าไปตามทางเดินหมู่บ้านสู่ภาคเพาะปลูก
ต้นไม้สองข้างทางที่เคยอยู่ในกระถางย้ายตัวเองออกมาอยู่อิสระตามพื้นดินรกชัฏเหมือนป่าผืนน้อยๆ
เจ้าบ้านสาวอธิบายว่า เบื้องหน้าของเราคือสวนสมุนไพรขนาดใหญ่ปลูกรวมกัน ข้อดีของการปลูกสมุนไพรหลายชนิดในพื้นที่เดียวกันคือบางชนิดมีฤทธิ์ไล่แมลง
บางต้นต้องการแดดจัด บางต้นต้องการแดดรำไร
เมื่อจับคู่ให้ถูกต้องก็เกื้อกูลกันอย่างดี

“ลองชิมใบนี้ดูสิคะ นี่ต้นอะไร?”
ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรเด็ดใบไม้สีเขียวเข้มให้เราลองเคี้ยวชิม
รสหวานซ่านในปากคล้ายคลึงกับก้านเครื่องเทศยอดฮิต
ใบอบเชยหรือซินนามอนหอมหวานไม่ต่างจากกลิ่นในจานอาหาร การเดินทางในสวนกลายเป็นเกมทดลอง
เราสูดกลิ่นกิ่งการบูรเล็กๆ หอมเย็นจากพี่ปุ๋ย ดมกลิ่นว่านสาวหลง พืชที่คนโบราณนำมาอาบน้ำสระผมแทนพรมน้ำหอมอย่างชอบอกชอบใจ
ก่อนลูบไล้แผลแมลงสัตว์กัดต่อยด้วยใบเสลดพังพอนขยี้สด
บทเรียนสมุนไพรในสวนสนุกกว่าในหน้ากระดาษหลายเท่า

“จริงๆ สมุนไพรที่ดังจากที่นี่คือหญ้ารีแพร์หรือหญ้ายุ่ม ตอนที่แม่คลอดปุ๋ย
เป็นแผลฝีติดเชื้อ ไปหาแพทย์แผนปัจจุบันก็ไม่ดีขึ้น กินยาป้ายยาก็ไม่ดีขึ้น
ย่าให้พ่อไปหยิบสมุนไพรตัวนี้มาใช้แล้วรมควัน ไม่นานก็อาการดีขึ้น
ตอนนี้ผลวิจัยก็ออกมาแล้วว่ามันใช้ได้ดีจริง”

พี่ปุ๋ยพูดอย่างภูมิใจในภูมิปัญญาท้องถิ่น
หากมีกลุ่มคนสนใจทดลองเรียนปลูกสมุนไพรที่นี่ ขอเพียงบอกล่วงหน้า 2 – 3 อาทิตย์ หมู่บ้านดงบังจะเตรียมพื้นที่แปลงไว้ให้ลงมือปลูกเองสมใจ เราเฉียดผ่านสมุนไพรน้อยใหญ่อีกหลายต้นบนผืนดินดำอุดมสมบูรณ์
ก่อนจะทะลุผ่านอุโมงค์ต้นบัวสวรรค์สวยร่มรื่นกลับมาที่ตัวบ้าน

เวิร์กช็อปลูกประคบใต้ถุนบ้านเป็นการเรียนรู้ภาคสุดท้าย
เรานั่งฟังสรรพคุณคลายความปวดเมื่อย
ขณะที่ห่อฝ้ายสีขาวรอบสมุนไพรบดหลายชนิดและมัดจนแน่นตึงน่าใช้ นอกจากฝึกทำอุปกรณ์การนวด
หมู่บ้านดงบังยังเปิดสอนการทำยาดมส้มโอมือและสบู่สมุนไพร
ให้แขกที่เข้ามาเลือกเรียนตามความถนัดและห่อของใช้ฝีมือตัวเองกลับบ้าน

“จริงๆ ปุ๋ยตรวจธาตุเจ้าเรือนได้
รู้จักอาหารตามธาตุเจ้าเรือนด้วยนะ อนาคตอยากจะทำโฮมสเตย์
เดี๋ยวจะนั่งตรวจว่าแต่ละคนธาตุอะไรแล้วให้ไปเก็บสมุนไพรมาปรุงอาหารเองให้เหมาะกับธาตุตัวเอง
กินได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เดี๋ยวมีอาหารสำรองให้”

เจ้าบ้านสาวพูดพลางหัวเราะ
ดินแดนสมุนไพรเล็กๆ เติบโตตามความฝันของผู้พัฒนา ใจกลางหมู่บ้านที่ผืนป่าบดบัง
วิถีชีวิตเรียบง่ายจริงใจกลับเปิดโอกาสให้เราเข้าไปทำความรู้จักสมุนไพรในแง่มุมต่างๆ
โดยไม่ปกปิด ก่อนมาเป็นองค์ความรู้หลากหลายที่เราได้สัมผัส ความร่วมมือร่วมใจที่ชาวบ้านดงบังบ่มร่ำยังคงอบอวล

“คนต่างจังหวัดเวลาทำอะไรก็ทำด้วยกัน เราช่วยกันปลูกช่วยกันทำมาตลอด มีการทำงานสินค้าสมุนไพรและเปิดสอนให้ความรู้ ในฐานะเจ้าบ้าน เราอยากจะทำให้ดงบังเป็นแหล่งท่องเที่ยวดีๆ
ให้แขกที่เข้ามาได้สัมผัสวิถีชีวิตที่แท้จริงของหมู่บ้านเรา”

สุภาวดี คูณสุข
แพทย์แผนไทยประยุกต์
และเจ้าบ้านชาวเมืองปราจีนบุรี

ภาพ มณีนุช บุญเรือง

เดินทางไปเก็บเรื่องราวจากเจ้าบ้านปราจีนบุรีกันต่อได้ที่นี่

AUTHOR