Dye with Dust and Dirt

ดินภูเขาไฟใช้ปลูกพืชได้ดีสารพัด
แต่นอกจากประโยชน์ด้านการเกษตร
สิ่งที่งอกงามจากแร่ธาตุร่วนซุยใต้ฝ่าเท้าอาจมาในรูปแบบที่คาดไม่ถึง

ไม่ไกลจากภูเขาไฟอังคาร
ที่ตั้งของวัดเขาอังคารสีส้มสวยสง่า พื้นที่ราว 400 ตารางเมตรบนเขาดินแดง บริวารลูกหนึ่งของเขาอังคารมีดินสีส้มแดงเหมืองกำแพงวัด
เป็นภูเขาอุดมสมบูรณ์ที่ชาวหมู่บ้านเจริญสุขไปไต้เห็ด เก็บหน่อโจด และพืชผักอื่นๆ เป็นประจำ
วันหนึ่งเมื่อป้าสมศรี ถุนนอก ไปเก็บผักหวานแล้วสังเกตเห็นคราบดินติดผ้าถุงล้างไม่ออก
นักทอและย้อมผ้าสีธรรมชาติจึงตัดสินใจทดลองย้อมฝ้ายด้วยโคลนแดง

“แต่ก่อนป้าก็ย้อมเปลือกไม้ ใบไม้
ดินนา เห็นอะไรก็เอามาลองย้อมดูทุกอย่าง พอเจอดินแดงย้อมได้สีชมพูอ่อนๆ สวยดี เราก็ตัดให้นายอำเภอใส่เลย”

ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสีธรรมชาติเล่าความหลังการค้นพบวัตถุดิบใหม่เปลี่ยนโฉมกลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมประจำหมู่บ้าน
สู่การย้อมผ้าฝ้ายภูอัคนีที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร
แต่ไม่ช้าก็พบปัญหาว่าผ้าสีตกและซีดเร็วเมื่อซัก การค้นคว้าใหม่เพื่อแก้ปัญหาจึงเกิดขึ้นตามมา

“สมัยก่อนคนโบราณทำแหทำสวิงสำหรับช้อนกุ้งหอยปูปลา
เขาใช้ยางตะโก ลูกตะโกนาสีเขียวกลมๆ มียางสีดำเทา ใช้ย้อมแหแล้วมันติดทน
ไม่หลุดออกมาเลย ป้าเลยคิดได้ว่าถ้าเราเอายางไม้ที่โทนสีใกล้เคียงกับฝ้ายมาย้อมดูก็น่าจะดี
เลยทดลองใช้ยางเปลือกประดู่มาย้อมเคลือบ สีก็ติดทนนาน”

ป้าสำรวย
ศรีมะเรือง แบ่งปันประสบการณ์บ้าง หลังจากใช้สารส้ม ชินสี จนกระทั่งนาโนซิงค์ออกไซด์มาทดลอง
ประธานกลุ่มสตรีทอผ้าไหมผ้าฝ้ายบ้านเจริญสุขได้ข้อสรุปว่ายางสีแดงน้ำตาลจากเปลือกประดู่เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
ผ้าทอมือของที่นี่จึงสะอาดปลอดสารเคมี

เจ้าบ้านใจดีเริ่มอธิบายถึงขั้นตอนการย้อมผ้าอย่างไม่หวงวิชา
เริ่มจากไปเก็บดินที่เขาดินแดงมาทำความสะอาด ร่อนดินให้แตกร่วนผสมดินในน้ำแช่เปลือกประดู่สดก่อนนำเส้นฝ้ายมาแช่ค้างคืนให้สีดินซึมลึกในเส้นใย
เช้าวันต่อมาจึงเก็บฝ้ายมาต้มกับน้ำเปลือกประดู่เคี่ยว นำไปขึงตากให้เย็น
และล้างให้สะอาดเป็นครั้งสุดท้าย

ฝ้ายที่ผ่านกระบวนการย้อมจะถูกนำมากระตุกให้แห้ง เส้นด้ายตรงไม่ม้วนงอ
หลังจากนั้นจึงกรอฝ้ายเข้าหลอด เตรียมพร้อมสำหรับการออกแบบบนหลักเฝือ โครงไม้หลายซี่ฟันเป็นอุปกรณ์สำหรับพันด้ายไขว้เรียงกัน
ใช้ดีไซน์เส้นยืนว่าอยากได้สีและลวดลายแบบไหน ก็ต่อเส้นให้ได้ความยาวเท่าที่ต้องการแล้วนำไปผูกใส่ฟันหวี
ทอต่อเป็นผืนผ้าเนื้อละเอียด

นอกจากเฉดสีส้มชมพูอ่อนๆ ไล่ไปจนถึงสีน้ำตาลดิน
สีฟ้าเหลือบเทาและเหลืองสดใสยังแซมเข้ามาเจือเนื้อฝ้ายผ้าภูอัคนี ลูกเล่นใหม่ๆ เหล่านี้ล้วนมาจากการสังเกตธรรมชาติละแวกหมู่บ้าน

“ในชุมชนเรามีโรงโม่หิน
หินที่เขาโม่ใหม่จะมีฝุ่นสีเทาออกครามๆ เหมือนแป้งเนียนๆ ป้าเลยเกิดไอเดียว่าถ้าเราย้อมดินแดงได้
ฝุ่นหินน่าจะให้สีเทาสวย หินนี่มันหนักร่อนไม่ได้ เราเลยใช้วิธีหมักย้อมโคลน
และย้อมซ้ำด้วยยางลูกตะโกหรือมะเกลือ ส่วนสีเหลืองมาจากขมิ้นผงและเปลือกต้นมะพูด เหลืองสดเหมือนดอกคูนเลยจ้ะ”

ป้าสำรวยอธิบายทฤษฎีสีให้เราฟังเหมือนที่สอนนักเรียน หลักสูตรทอผ้าภูอัคนีและการย้อมสีธรรมชาติเป็นภูมิปัญญาที่บรรจุให้ชาวโรงเรียนเจริญสุขได้เรียนรู้กระบวนการ
ตั้งแต่ไปเก็บดินบนเขาจนจบที่กี่ทอผ้า เป็นความรู้สนุกๆ นอกตำราจากใต้ถุนบ้านป้าสมศรี

เราออกจากบ้านไม้ไปชมผลลัพธ์สุดท้ายของผ้าฝ้ายดินภูเขาไฟ ผลิตภัณฑ์ที่นี่มีตั้งแต่ผ้าขาวม้า
เสื้อ กระโปรง ผ้าพันคอ หมวก กระเป๋าใบเล็กๆ ไปจนถึงของกระจุกกระจิกชิ้นจิ๋ว
ผืนผ้าสีหวานที่กำเนิดมาจากดินหินล้วนอ่อนนุ่มหลังการทดลองย้อมครั้งแล้วครั้งเล่า
มือกลุ่มสตรีลบเลือนความหยาบกระด้างออกจากแร่ธาตุ และถักทอนิยามใหม่ให้ความงามจากธรรมชาติได้สำเร็จ

กลุ่มสตรีทอผ้าไหมผ้าฝ้ายบ้านเจริญสุข

ที่ตั้ง: หมู่บ้านเจริญสุข ต.เจริญสุข อ.เฉลิมพระเกียรติ
จ.บุรีรัมย์
โทรศัพท์ : 08-9526-6071, 08-5632-7629

“กลุ่มแม่บ้านของเราที่นี่ดูแลทรัพยากรธรรมชาติและดูแลลูกค้า
เราสนับสนุนการอนุรักษ์ป่าชุมชนพร้อมกับการท่องเที่ยว
ทุกคนที่เข้ามาที่นี่จะได้เจอความจริงใจ ความซื่อสัตย์ เรายินดีที่จะให้ในส่วนที่เราให้ได้ ยินดีที่จะแลกเปลี่ยนความรู้ความสัมพันธ์
มันยืนยาวกว่าการสร้างเพื่อให้ได้กำไรมาเพียงอย่างเดียว”

สำรวย ศรีมะเรือง
ประธานกลุ่มสตรีทอผ้าไหมผ้าฝ้ายบ้านเจริญสุข
และเจ้าบ้านชาวเฉลิมพระเกียรติ

ภาพ มณีนุช บุญเรือง

สัมผัสเสน่ห์ของเมืองภูเขาไฟอย่างบุรีรัมย์แบบเต็มๆ ได้ที่ด้านล่างนี้เลย

AUTHOR