Authentic Delight

ยังไม่ต้องบุกครัวบ้านไหน แค่เห็นผักเหนาะไว้กินกับขนมจีนของชาวควนขนุน
เราก็เข่าอ่อนแล้ว!

ผักสีเขียวหลากเฉดหลายทรงวางอยู่ในตะกร้าให้เลือกหยิบมาแกล้มเส้นนุ่มๆ
กับน้ำยากะทิเหลืองขมิ้น ไม่ว่าจะเป็นยอดมะม่วงหิมพานต์ที่ให้รสหอมๆ มันๆ
ชวนหลงรัก ใบหมุยกลิ่นรสจัดจ้านเรียกน้ำย่อย สะตอเม็ดจิ๋วแกะจากฝักอ่อนๆ
ให้รสมันๆ แต่ไร้กลิ่นฉุน หน่อเหรียงที่เพิ่งงอกยอดอ่อนจากเม็ดมาหยกๆ
ไปจนถึงลูกฉิ่งที่หน้าตาเหมือนมะเดื่อฉบับเล็กจิ๋ว กัดกร้วมแล้วเจอสีชมพูหวานซ่อนอยู่ข้างใน
ไหนจะยังมียอดมันปู ยอดมะกอก ลูกเนียง ยอดเล็บครุฑ ผักกาดนกเขา และอื่นๆ
อีกมากที่สาธยายไม่หมด

“เรื่องผักพื้นบ้านนี่ไม่ต้องพูดถึง
ที่นี่เยอะมาก” พี่ประไพ ทองเชิญ ภายใต้หมวกของโต้โผเครือข่าย ‘กินดีมีสุข
จังหวัดพัทลุง’ เล่าพร้อมรอยยิ้มกว้างเปิดเผย “พัทลุงมีระบบนิเวศ
3 แบบ ป่า นา เล อาหารป่าน่ากินแบบหนึ่ง ไปนาก็โดดเด่นอีกแบบ ไปทะเลก็อู้หู
ปลาสดๆ พี่เลยลองฟื้นหาตำรับเฉพาะถิ่น เพราะเราเชื่อว่าแต่ละที่มีตำรับเฉพาะถิ่นที่ตอบสนองการกินอยู่
ก็ไปเจอตำรับเก่าๆ เยอะแยะเลย สนุกมาก บางอย่างเราเป็นคนพัทลุงเองยังไม่รู้จักก็มี”

นอกจากหลากหลายเมนูพื้นบ้านที่มีให้ชิมในหลาดใต้โหนดแล้ว
เมนูที่อาจจะต้องรอโอกาสอยู่สักหน่อยอย่างแกงส้มหลุมพีปลาหมอ
ก็เป็นอีกเมนูเก่าแก่ที่พี่ประไพยกให้เป็นไฮไลต์ ลูกหลุมพีเป็นพืชตระกูลเดียวกับระกำ
แต่มีรสเปรี้ยวและหอมเฉพาะตัว นำมาแกงแล้วให้รสเข้มข้นถึงใจ
ส่วนเมนูที่เป็นตัวแทนของพื้นที่นาคือขนมเม็ดข้าว ทำมาจากแป้งข้าวเจ้า นวดให้ได้ที่ตามสูตร
ผสมน้ำปูนใสแล้วกดลงบนแผ่นพิมพ์ให้หยดลงไปในน้ำร้อนเดือดๆ พอสุกแล้วจะคล้ายๆ
เม็ดข้าว กินกับน้ำกะทิสดรสหอมมัน ส่วนเมนูจากทะเลนั้น กุ้ง หอย ปู ปลาสดๆ
จากประมงชายฝั่งก็การันตีรสชาติดีเด่นของมันได้โดยไม่ต้องอธิบาย

“ความโดดเด่นของอาหารพัทลุงคือมันมีความเฉพาะตัว เรามีองค์ความรู้
มีเจ้าตำรับ และมีการสืบทอด เรายังกินอาหารตามฤดูกาลที่มีเฉพาะถิ่น ไม่สามารถไปหากินได้ที่อื่น”
นักค้นหารสแท้ของอาหารท้องถิ่นบอกกับเราด้วยน้ำเสียงหนักแน่น

นอกจากวัตถุดิบพื้นบ้านและตำรับท้องถิ่น
พัทลุงยังเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำของปักษ์ใต้มาตั้งแต่โบร่ำโบราณ และเป็นแหล่งปลูกข้าวสำคัญซึ่งมีข้าวพันธุ์พื้นเมืองหลากหลาย
ซึ่งหนึ่งในพันธุ์ข้าวที่ได้รับการส่งเสริมจนเป็นที่รู้จักคือข้าวพันธุ์สังข์หยด
ที่มาพร้อมความโดดเด่นไม่เหมือนเม็ดไหนด้วยเยื่อหุ้มเมล็ดเป็นสีขาวปนแดง
เมื่อหุงสุกแล้วจะมีความนุ่มเฉพาะตัวและยังคงความนุ่มได้อยู่แม้ข้าวจะเย็นชืดไป
ที่สำคัญคือ มีคุณค่าทางอาหารสูงกว่าข้าวอื่นๆ จนเข้าตากรรมการ
ได้รับตำแหน่งสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)
ประเภทข้าวเป็นพันธุ์แรกของข้าวไทยเชียวล่ะ

อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้
เชื่อว่าหลายคนคงกำลังนึกถึงข้าวสังข์หยดหุงร้อนๆ กินกับแกงส้มหลุมพี
ปลาทะเลทอดกรอบๆ ก่อนจะตบท้ายมื้ออร่อยด้วยขนมเม็ดข้าวที่พี่ประไพเล่าให้ฟัง

ขออภัย,
เราไม่อาจเสิร์ฟให้ทางหน้ากระดาษจริงๆ

ขาหมูปากคลอง (เจ๊ยี่)

ใครที่เคยได้ยินกิตติศัพท์ความอร่อยของ
‘ขาหมูปากคลอง’
แล้วสงสัยในใจว่าจะสักแค่ไหน
ขอบอกว่าควรมาลองชิมด้วยลิ้นตัวเองที่ร้านต้นตำรับอายุงาน 60
ปี เพราะขาหมูหม้อเดิมนี้ ยังคงความหนังหยุ่นเด้งดึ๋ง เนื้อนุ่มชุ่มฉ่ำ
และมันละลายกลมกล่อมไว้ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นความอร่อยที่ไม่ต้องพึ่งน้ำส้มพริกตำก็ยังอร่อยล้ำ
หากใครติดรสเปรี้ยว ทางร้านก็มีน้ำจิ้มซิมพลี ที่มีแค่พริกขี้หนูซอยใส่น้ำปลาบีบมะนาว
แต่มันช่างเข้า ‘ขา’ กันมาก
อร่อยระดับได้ขึ้นโต๊ะเสวยในพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์หลายครา และสืบทอดเคล็ดลับความอร่อยมาจนถึงรุ่นลูก
ป้าอี๊ดเจเนอเรชันสองเล่าให้ฟังว่าเมื่อก่อนขายข้าวแกงควบกับขาหมู
แต่เดี๋ยวนี้ทำไม่ไหว เลยคงไว้แต่สูตรขาหมูต้นตำรับและเปิดให้ซื้อกลับบ้านได้อย่างเดียว
แต่รับรองว่ากลับไปแกะห่อกินที่ไหน ก็อร่อยที่นั่นแน่นอน

เปิดทุกวัน 06.00 – 17.00 น. (โดยประมาณ)
ที่ตั้ง: 46 หมู่ 1 ใกล้สถานีรถไฟปากคลอง ต.มะกอกเหนือ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง
โทรศัพท์: 074-672-144

ร้านขนมหวานป้ากี้

ความละลานตาของขนมหวานไทยๆ
ที่เรียงรายอยู่บนแผงใหญ่โตหน้าร้าน ไม่ว่าจะเป็นของเชื่อมหลากหลายสีสันรวมทั้งขนมหม้อหอมกะทินานา
ดูน่าชิมไปซะทุกอย่าง แต่ไฮไลต์ประจำร้านที่ไม่ควรพลาด คือสาคูเปียกที่ป้ากี้ใช้สาคูต้นซึ่งได้จากพืชตระกูลปาล์มชนิดหนึ่งที่ขึ้นในแถบพัทลุง
ข้างในต้นสาคูที่แก่จัดจะมีแป้งหนืดเหนียวเอามาร่อนให้เป็นเม็ดกลมแล้วตากแดดเก็บไว้
เม็ดสาคูจึงมีสีออกน้ำตาลและเล็กๆ ใหญ่ๆ ไม่เหมือนสาคูที่ทำจากแป้งมันสำปะหลัง
แต่ให้รสนวลหนึบผิดกันซึ่งอร่อยมาก
ที่จริงร้านป้ากี้มีทั้งสาคูต้นและสาคูมันสำปะหลังให้ชิมเทียบกันจะจะ แถมยังมีความชื่นใจปิดท้ายเป็นน้ำลอยดอกมะลิเย็นฉ่ำจากต้นมะลิที่ป้ากี้ปลูกเอง
แล้วจะไม่หลงรักความหอมหวานจากร้านที่เปิดขายมา 48 ปีนี้ได้ยังไง

เปิดทุกวัน 11.00 – 16.00 น. (โดยประมาณ)
ที่ตั้ง: 4048 ใกล้สถานีรถไฟปากคลอง ต.มะกอกเหนือ อ.ควนขนุน
จ.พัทลุง

โทรศัพท์: 085-893-8739

บางชาม

เพราะตั้งอยู่ริมคลองปากประเชื่อมต่อทะเลหลวง
และเพราะพื้นที่นี้เคยมีเรือขนภาชนะมาขายแล้วอับปาง
ทิ้งถ้วยชามโบราณไว้ก้นคลองจำนวนมาก แถวนี้จึงถูกเรียกขานว่าบางถ้วย บางชาม
และกลายมาเป็นชื่อร้านอาหารวิวดีที่เสิร์ฟอาหารท้องถิ่นรสถึงให้เราได้ชิมกัน
เมนูเด่นที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาถึงคือการลองชิมปลาลูกเบร่
ปลาตัวเล็กที่ได้จากยอใหญ่ยักษ์ที่ชาวบ้านวางไว้ ก่อนจะนำไปปรุงอาหารสดๆ
หรือตากแห้งเก็บไว้ ซึ่งเมนูปลาลูกเบร่สดทอดขมิ้นของร้านบางชาม เคี้ยวกรอบหอมขมิ้นและเต็มไปด้วยรสชาติจริงๆ
ยิ่งแกล้มกับข้าวสวยร้อนๆ ควบแกงส้มลูกเถาคันที่สามารถแหงนมองหน้าตาก่อนถูกแกงได้จากต้นไม้ในร้าน
ไหนยังจะมีต้มกะทิใบเหลียง ยำรากบัว และเมนูท้องถิ่นอย่างปลาดุกร้าทรงเครื่องกลิ่นรสเฉพาะตัวให้หลงรักพัทลุงหมดไส้หมดพุงกันคราวนี้

เปิดทุกวัน 10.30 – 22.00 น.

ที่ตั้ง:
66 หมู่ที่ 11 ทางหลวง 4007 ลำปำ-ทะเลน้อย
ต.พนางตุง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง


โทรศัพท์:
091-848-8599

ร้านเจ๊ม่อย

จากแม่บ้านตำรวจที่เข้าครัวทำอาหารเลี้ยงลูกน้องสามีเพื่อช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย
แต่รสมือเด็ดขาดของเจ๊ม่อยที่ถูกบอกเล่าปากต่อปาก
จนถูกชวนไปเป็นแม่งานทำอาหารเลี้ยงในงานบวช งานแต่งบ่อยครั้ง
และต้องเปิดร้านอย่างเป็นทางการเมื่อ 28 ปีก่อนพร้อมทั้งยังคงความจัดจ้านของอาหารสไตล์ท้องถิ่นรสแท้
ไม่ว่าจะเป็นยำปลาสาลีทอดคลุกมะม่วงเบาเคี้ยวเพลิน ใบเหลียงผัดไข่ง่ายๆ
แต่อร่อยเด่น ไข่เจียวปูฟูกรอบ และแกงส้มปลากดเครื่องเยอะเพราะใส่ทั้งมันขี้หนู
ไหลบัว ยอดมะพร้าว หรือผักที่หาได้ตามฤดูกาล
เจ๊ม่อยบอกว่า เคล็ดลับคือต้องคัดเฉพาะพริกบ้านสีชมพู (ซึ่งก็คือสีส้มอ่อนๆ
ไม่แก่จนแดงจัด) มาโขลกพริกแกง และต้องใช้ขมิ้นบ้านเท่านั้น
ส่วนน้ำพริกแมงดาจานเด่นประจำร้าน เจ๊ม่อยยกประโยชน์ให้แมงดานาที่ได้จากท้องนาเมืองลุงแล้วนำมาดองเกลือเองก่อนนำไปเผาให้กลิ่นหอมฟุ้งไม่เหมือนใคร และทำให้ใครต่อใครก็ติดใจรสมือจนไม่ยอมให้เลิกกิจการ

เปิดทุกวัน 10.30 – 19.00 น. (ยกเว้นร้านรับจัดโต๊ะจีนนอกสถานที่
โทรสอบถามก่อนได้)
ที่ตั้ง: 30 หมู่ 9 สามแยกไฟแดงเทศบาลควนขนุน ถ.ควนขนุน-ทะเลน้อย อ.ควนขนุน
จ.พัทลุง
โทรศัพท์: 074-681-760

“เจ้าบ้านที่ดีในความหมายของป้าคือเราต้องทำของเราให้ดี
ให้คนที่มาหาเราได้ของดีกลับไป ทุกวันนี้อาหารก็ยังทำเอง หรืออย่างเวลามีคนมาว่างานทำโต๊ะจีน
มีเยอะมีน้อยบอกได้ ป้าทำให้ดีอยู่แล้วล่ะเพราะเราไม่ได้เน้นกำไรแล้ว เราอยู่มานาน
ก็อยากคืนบ้าง”

สมพิศ จิตดี
เจ้าของร้านเจ๊ม่อย
และเจ้าบ้านชาวควนขนุน

ภาพ มณีนุช บุญเรือง

อ่านเรื่องราวที่เราไปพบเจอเจ้าภาพที่ดีในอำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุงแบบเต็มๆ ได้ที่ด้านล่าง

AUTHOR