Set Sail to Serenity

แสงแรกของย่ำรุ่งยังไม่ทันระบายขอบฟ้า
เสียงเรือเครื่องกรีดผิวน้ำมาที่ท่าเรือหน้าที่พักก็ปลุกเราตั้งแต่ตีห้า ฟ้ากับน้ำกว้างสุดลูกหูลูกตานอกระเบียงคือภาพแรกของยามเช้าริมทะเลสาบสงขลาฝั่งทะเลหลวง

ความง่วงถูกสลัดทิ้งในเงาสลัว
เราลงเรือหางยาวสีฟ้าขลิบขาว สายลมสะอาดปะทะใบหน้าเมื่อลุงพิศ-สุพิศ เดชะ สตาร์ทเรือออกจากฝั่งพาเราชมธรรมชาติลากูนในโมงยามเริ่มต้นที่สดชื่น

“โชคดีนะ
วันนี้น้ำนิ่ง อากาศเย็นดี”

ลุงพิศยิ้มเห็นฟันขาว ก่อนบังคับเรือเลี้ยววนรอบ ‘ดงยอ’
นั่งร้านกลางน้ำที่มีแขนไม้ไผ่ยื่นออกมาสองข้าง ห้อยแหปากใหญ่ทั้งแขนซ้ายและขวาเหมือนตาชั่งสองแขน
เป็นเครื่องมือขนาดใหญ่ที่ใช้จับปลาของที่นี่ โครงไม้เก้งก้างดูคล้ายแมงมุมยักษ์หลายสิบตัวยืนเด่น
นายเรือของเราอธิบายเพิ่มเติมว่าช่วงนี้น้ำน้อยและนิ่ง
ปลาลูกเบร่ตัวจิ๋วประจำถิ่นมีไม่มากนัก ผิดกับช่วงปลายปีที่น้ำท่วม ชาวบ้านจึงไม่ได้ยกยอหรือจุ่มคานดีดแขนลงน้ำให้แหช้อนปลารสอร่อยขึ้นมาทุกเช้า
ตัวลุงก็มียอของตัวเองที่จำเป็นต้องซ่อมแซมและสร้างใหม่เสมอ ไม่งั้นเจ้าแมงมุมยักษ์อาจล้มเค้เก้จมน้ำ
หมดอายุการใช้งานเพราะกระแสน้ำที่พัดพา

แดดเช้าสีส้มอมชมพูแผ่รังสีจนท้องฟ้าสว่างขึ้น
ย้อมเมฆจนสีหวานเหมือนขนมสายไหม เจ้าบ้านนำเรือไปจอดข้างต้นลำพู น้ำสะอาดใสตื้นและโคลนนุ่มละเอียดชักชวนให้เราลุยน้ำลึกครึ่งแข้ง
สัมผัสน้ำเย็นและสาหร่ายที่จักจี้เท้าระหว่างเฝ้ามองพระอาทิตย์ขึ้น เราไม่ได้แค่เก็บภาพตรงหน้าด้วยกล้องถ่ายรูป
แต่บันทึกความสวยบริสุทธิ์นี้ลงในความทรงจำ

เรือสีฟ้าลำน้อยออกเดินทางต่อ
ผ่านชาวประมงเหวี่ยงแหจับกุ้งน้ำจืดตัวโตกันต่อหน้าต่อตา
น้ำในทะเลหลวงหรือทะเลสาบสงขลาตอนบนยังเป็นน้ำจืด
ตรงข้ามกับน้ำกร่อยและน้ำเค็มในทะเลสาบตอนล่างที่เชื่อมกับอ่าวไทย
ลุงสุพิศเร่งความเร็วเรือสู่ทุ่งแหลมดิน พื้นดินที่ยื่นออกมาจากชายฝั่งดูแปลกประหลาดเหมือนสนามหญ้าลอยน้ำ
นกตีนเทียนมหาศาลที่เดินสวนสนามกระพือปีกหนีและบินวนเหนือหัวเมื่อมนุษย์ขึ้นเหยียบฝั่ง
เรานิ่งตะลึงเมื่อเห็นควายน้ำตัวโตนับสิบเรียงแถวลุยน้ำอยู่ใกล้ๆ

“ถ้าช่วงน้ำท่วมมันจะดำลงไปกินหญ้าในน้ำ
แล้วมันจะชูขาสองขาข้างหลังขึ้นด้วยนะ”

เจ้าบ้านยิ้มขณะเล่าเรื่องของเจ้าสัตว์เคี้ยวเอื้องขี้อาย
ควายควนขนุนแตกต่างจากสัตว์ไถนาที่อื่นๆ ตรงที่พวกมันหากินในพื้นที่ชุ่มน้ำริมทะเลสาบ
จึงต้องปรับตัวมุดลงน้ำไปงับพืชใต้น้ำมาเคี้ยวหงุบหงับแทนหญ้าแห้งหรือฟางจากท้องนา
เราเดินทางห่างจากดงยอเพียงไม่กี่นาที แต่บรรยากาศบนทุ่งแหลมดินแตกต่างจากจุดเริ่มลิบลับเหมือนหลุดเข้ามาอยู่ในสารคดีสัตว์โลก เมื่อฝูงควายเดินเหยาะๆ ทิ้งห่างออกไป เราตัดใจร่ำลาเพื่อนมีเขาและคืนพื้นที่ให้หมู่นกถลาร่อนลงตามเดิม

ฟองผุดเป็นสายยาวจากท้ายเรือเมื่อลุงพิศมุ่งหน้าสู่ทะเลน้อยจากลากูนสงขลา เราทะลุผ่านคลองเล็กๆ สู่ทะเลสาบน้ำจืดที่เต็มไปด้วยดอกบัวและฝูงปลาทะเลน้อยเป็นเป้าหมายของฝูงนกนานาชนิดทั้งนกท้องถิ่นและนกอพยพ
รวมถึงนักท่องเที่ยวที่แวะเวียนมาเฝ้าดูพวกมัน โดยช่วงเริ่มฤดูฝนกลางปี นกอพยพชุดแรกจะเริ่มเข้ามา
บางชนิดเพิ่งทำรัง บางชนิดเพิ่งวางไข่และเลี้ยงดูลูก จึงไม่น่าแปลกใจที่ทะเลน้อยกลายเป็นอุทยานดูนกน้ำหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า
โดยเฉพาะพื้นที่ ‘พรุควนขี้เสียน’ ของทะเลน้อยยังถูกจัดเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำโลก
หรือ แรมซาร์ ไซต์ (Ramsar Site) แห่งแรกในเมืองไทยอีกด้วย

เรือเฉียดผ่านกอกระจูดหนูและผักตบชวา
นกอีโก้งขนสีเขียวเหลือบฟ้าหลายตัวยืนโก่งคอยาว จะงอยปากแดงจิกหาพืชกินโดยไม่สนใจคนแปลกหน้า
นกกระยางหาปลาไกลออกไป ส่วนนกสีดำที่ยืนกางปีกนิ่งบนตอไม้คือนกกาน้ำ
หลังดำน้ำลงไปหาปลา มันจะขึ้นมาสยายปีกผึ่งแดด มองเผินๆ เหมือนหุ่นค้างคาวตัวโต

“ใจเย็นๆ
ก่อน เดี๋ยวตรงข้างหน้ามีบัวเยอะกว่านี้อีก” นายเรือปรามยิ้มๆ เมื่อเรานั่งขยุกขยิกอย่างตื่นเต้นเมื่อเริ่มเห็นกอบัว
“ลุงแนะนำให้มาช่วงมีนา-เมษานะ มันจะเต็มไปทั้งทะเลน้อย ดอกบัวจะสวยมาก”

เราแวะชมบัวหลวงดอกโตสีชมพูอ่อนหวานที่ขึ้นแน่นขนัด
บานเบียดเสียดกันโบกความโรแมนติกไหวๆ ดอกบัวขาวโผล่มาทักทายข้างทาง แซมด้วยบัวสีม่วงประปราย
จนเมื่อเข้าไปใจกลางทะเลน้อย บัวสายหรือบัวแดงมหาศาลก็บานชูช่อสีชมพูแดงไปสุดลูกหูลูกตาเหนือใบกลมเขียว ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีมากที่สุดของท้องน้ำ

เรามองดูนกที่ไม่รู้จักชื่อบินโฉบไปมาอย่างเสรีท่ามกลางอากาศบริสุทธิ์ยามเช้าและแดดอ่อนๆ
ทะเลดอกไม้สวยงามเหมือนภาพวาดเรือหางยาวแล่นมาไกลจนมองเห็นริมฝั่งทะเลน้อย
หอบันไดวนชมธรรมชาติยืนตรงเสมือนประภาคารแห่งมหาสมุทร
บริเวณนี้มีเรือหลายลำรอให้บริการนำเที่ยวตลอดวัน เหมาะกับผู้คนที่สะดวกล่องเรือในช่วงเวลาอื่น

ราว 8 โมง
ก่อนแดดจะอุ่นเกินรู้สึกสบายตัว ลุงสุพิศวกเรือกลับไปยังเส้นทางเดิมที่เราจากมา
ผ่านนาบัวหลากสีและนกมากมายเกินนับ แหลมดินยื่นยาวที่ควายน้ำจับจอง
ชาวบ้านที่ลอยเรือตกกุ้งปลาและยอใหญ่ยักษ์กลางน้ำ ฟ้าสว่างเต็มที่แล้ว ไม่มีแสงสีส้มชมพูขลิบทองอาบผืนน้ำเหมือนในยามเช้ามืด
สีสันของภาพที่เราผ่านตาถูกลดทอน สวยงามในความสมจริงและปกติธรรมดา
ทุกชีวิตเคลื่อนไหวไปตามวิถีของตัวเองในลากูนกว้างขณะที่เราเฝ้ามองเงียบๆ

“นักท่องเที่ยวที่นี่ดีนะ
เขาเข้าใจหมด ขยะไม่ค่อยทิ้งหรอก ถ้ามีเรือก็วิ่งไปเก็บ”

นายท้ายเรือเอ่ยขึ้นระหว่างขากลับ
เหยี่ยวแดงตัวโตบินตัดหน้า คาบเหยื่อไปกินบนต้นไม้ริมฝั่งข้างทาง
สวยสง่าจนใจเราเต้นกระตุก นกที่ไม่หวาดกลัวผู้คน
และกุ้งปลาที่ชาวบ้านยังจับได้สม่ำเสมอแม้ผู้คนผลัดเปลี่ยนกันมาใช้ผืนน้ำใสร่วมกันตลอดทั้งปี
เป็นผลพวงของการดูแลร่วมกันระหว่างเจ้าบ้านและแขกผู้มาเยือนที่เคารพธรรมชาติ ความสงบงามของสถานที่จึงไม่จางหายไป

“ตอนลุงเด็กๆ
ที่นี่พิเศษกว่านี้อีก” ลุงพิศทอดสายตามองทะเลสาบเบื้องหน้า “กุ้งก็เยอะ ปลาก็เยอะ
มันหากินง่าย แต่ช่วงนี้คนอยู่ในเมืองก็กลับมาอยู่บ้านนะ มาหากินที่บ้านดีกว่า
สบายกว่า”

รอยยิ้มของเจ้าบ้านชาวควนขนุนกว้างขวาง
แววตานายเรือที่มองทะเลสาบบ้านเกิดเปี่ยมความคุ้นเคยสบายใจสายลมเย็นพาเรือสีฟ้าขาวแล่นกลับเข้าเทียบท่า
คืนความนิ่งสงบสู่ผิวน้ำ ขณะที่ความประทับใจติดตัวเราขึ้นฝั่ง

และผลิบานในใจทุกครั้งเมื่อนึกถึงพัทลุง

“หน้าที่ของเจ้าบ้านอย่างลุงคือพานักท่องเที่ยวไปเที่ยวให้ดีที่สุด
เห็นนักท่องเที่ยวมีความสุขกับธรรมชาติบ้านเรา ลุงก็มีความสุขไปด้วย และที่สำคัญ
เราต้องดูแลให้เขากลับถึงฝั่งอย่างปลอดภัย”

สุพิศ เดชะ
คนขับเรือ และเจ้าบ้านชาวควนขนุน

ภาพ มณีนุช บุญเรือง

อ่านเรื่องราวที่เราไปพบเจอเจ้าภาพที่ดีในอำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุงแบบเต็มๆ ได้ที่ด้านล่าง

AUTHOR