ธีร์ ไชยเดช กับการเกิด แก่ เก็บ ตาย ของชายที่เป็นทั้งผู้ควบคุมจราจรทางอากาศและนักดนตรี

Highlights

  • โอ๋–ธีร์ ไชยเดช มีชีวิต 2 ภาค นอกจากการเป็นนักดนตรี เขายังมีอาชีพหลักเป็นผู้ควบคุมจราจรทางอากาศ อาชีพหลักที่เขาลงความเห็นว่ามีข้อดีมากกว่าข้อเสีย
  • กับชีวิตที่ผ่านมา โอ๋ผ่านมาแล้วทั้งการเป็นวัยรุ่นที่ตั้งมั่นกับการเล่นดนตรี ไปเรียนต่อที่ประเทศอินเดีย กลับมาลุยในวงการเพลงก่อนมีชื่อเสียงและแฟนเพลงเฉพาะทางแบบในปัจจุบัน
  • กับตอนนี้ โอ๋บอกว่าชีวิตเขาค่อนข้างสมดุล อะไรที่เคยผิดพลาดเขามองว่ามันทำให้โอ๋เป็นโอ๋ในทุกวันนี้ และกับเวลาที่เหลือเขายึดมั่นว่าตัวเองจะหยิบยื่นสิ่งดีๆ ให้คนอื่นและตัวเองจนถึงวันสุดท้าย

ถ้าโลกขาดความรู้สึกลึกล้ำและสุนทรียะ บทสัมภาษณ์ถึงชีวิตของ โอ๋– ธีร์ ไชยเดช ต่อจากนี้คงจบด้วยถ้อยคำไม่กี่คำ

‘โตมาข้างสุสาน ตกหลุมรักเสียงดนตรี เรียนต่อที่ประเทศอินเดีย เรียนจบกลับมาเล่นดนตรีและสอบเข้าทำงานที่บริษัทวิทยุการบินฯ ปัจจุบันมี 2 อาชีพคือศิลปินที่มีกลุ่มแฟนเพลงเฉพาะทางและผู้ควบคุมจราจรทางอากาศ’

ง่ายๆ สั้นๆ แค่นั้น 

แต่อย่างที่รู้กัน แท้จริงแล้วระหว่างทางในบรรทัดข้างต้นล้วนเต็มไปด้วยความยาก ประสบการณ์ บทเรียน และความทรงจำของผู้ที่เป็นเจ้าของเรื่อง

ธีร์ ไชยเดช

ผมพบธีร์ในช่วงสายวันหนึ่งที่ค่ายเพลง LOVEiS 

ตามหลักการถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด ในช่วงเวลานี้เขาควรจะเข้ามาที่นี่บ่อยครั้งเพราะผลงานเพลงอัลบั้มใหม่ที่มีกำหนดปล่อยออกมา

แต่ในความเป็นจริง วิกฤตไวรัสโควิด-19 ทำให้แผนต่างๆ ในปีนี้ของเขาต้องชะลอตัว เขาเล่าให้ผมฟังว่าเพิ่งจะกลับมาดำเนินงานกันต่อเมื่อไม่กี่วันก่อนนี้เอง

ท่ามกลางความขรุขระที่เกิดขึ้น วาระและโอกาสนี้พาผมมาพูดคุยกับเขา แต่นอกจากเรื่องราวในปีนี้ ผมหอบความสงสัยและความตั้งใจที่จะชวนเขาคุยถึงเรื่องเล่ารายทางในหลายขวบปีก่อนหน้ามาด้วย

ศิลปินหนุ่มใหญ่ที่อยู่ในวงการมา 25 ปี เดินทางมาถึงจุดที่ยืนอยู่ในปัจจุบันได้ยังไง

ในวันนี้ ไม่มีดอกไม้ ประตู แจกัน ดิน ทราย หรือต้นไม้ใหญ่ในบทสนทนา

มีแต่เพียงวาจาเสียงต่ำทุ้มนุ่มลึกของศิลปินนาม ธีร์ ไชยเดช ที่บอกเล่าความรู้สึกลึกล้ำและสุนทรียะในการใช้ชีวิต

โควิด-19 ทำให้นักดนตรีหลายคนตกที่นั่งลำบาก คุณเป็นหนึ่งในนั้นไหม

สำหรับผมอาจไม่ได้กระทบจนเป็นสาระสำคัญ วิกฤตนี้กระทบศิลปินที่มีงานเยอะๆ มากกว่า แต่อย่างผมจากที่งานน้อยอยู่แล้วก็แค่กลายเป็นไม่มี (หัวเราะ) อาจกระทบหน่อยตรงที่ปีนี้ผมทำอัลบั้ม เลยกลายเป็นว่าไม่ตรงตามแผน แต่ผมโชคดีที่ยังทำงานประจำเป็นหลักอยู่ 

งานประจำที่คุณว่า ชื่อตำแหน่งเต็มๆ คืออะไร

ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการในหน่วยงานควบคุมการจราจรทางอากาศ บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย

ด้วยงานนี้ คุณต้องทำอะไรบ้าง

จะอธิบายให้สั้นและเข้าใจที่สุดนะ (หัวเราะ) เครื่องบินทุกลำที่บินอยู่บนน่านฟ้าจะมีถนนที่เราขีดให้เขาบิน ถนนนี้มีความสูงและกฎที่กำหนดว่าแต่ละลำต้องห่างกันเท่าไหร่ และในบางฤดูกาลถนนนี้จะเปลี่ยนไปตามผลของแรงลม หน้าที่ของผมคือการใช้วิชาที่เรียนจากบริษัทวิทยุการบินฯ มาควบคุมการจราจรทางอากาศให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด ความปลอดภัยในที่นี้ เรื่องชนไม่ต้องพูดถึง เฉี่ยวไม่ต้องพูดถึง แค่ใกล้เกินที่กฎหมายบอกไว้ก็ห้ามเด็ดขาด นี่คือภารกิจหลัก และในส่วนที่ผมทำคือการดูแลทั้งประเทศ

สมมติเครื่องบินลำหนึ่งบินจากสุวรรณภูมิไปอุบลฯ พอเขาขึ้นจากสุวรรณภูมิ สุวรรณภูมิจะส่งต่อมาให้ผม ผมมีหน้าที่รับเขา ดูแลเขา ให้เลี้ยวซ้าย-ขวาและอยู่ในความสูงที่ปลอดภัยจนไปถึงอุบลฯ พอเขาลดระดับ ผมจะส่งต่อให้สนามบินอุบลฯ พาเครื่องไปลงจอด หรืออย่างการบินไปต่างประเทศ ผมก็มีหน้าที่ส่งเขาไปยังเขตแดนของอีกประเทศ อธิบายง่ายๆ ชัดๆ จะเป็นแบบนี้ แต่ในความเป็นจริงงานผมมีความยุบยิบในตัวสูง ถ้าวันไหนการจราจรพีคๆ 60 นาทีคือพูดไม่หยุด ต้องพูด คิด สั่ง ตอบ ทุกสิ่งทุกอย่างต้องไวและปลอดภัยตลอดเวลา 

หลายสื่อในต่างประเทศจัดอันดับว่างานนี้เป็นงานที่เครียดที่สุดในโลก แล้วสำหรับคุณ งานนี้เป็นแบบนั้นไหม

ผมอยู่ที่บริษัทวิทยุการบินฯ มา 34 ปีแล้ว จากประสบการณ์ที่ทำงานมานาน ผมเชื่อว่าความเครียดไม่ได้เกิดจากความยากนะ ไม่ใช่เลย ยากเท่าไหร่ก็ไม่เครียด แต่ผมว่าความเครียดเกิดจากการที่มองข้ามช็อตไปที่ผลของความผิดพลาดมากกว่า เพราะถ้าผิดพลาดก็ซื้อโอเลี้ยงไปเยี่ยมผมได้เลย ดังทั่วโลกแน่ ไม่มีอะไรแก้ตัวทั้งนั้น ความเสี่ยงที่แบกมันเยอะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทั้งหมดนี้ไม่ได้แปลว่าจัดการไม่ได้ ถ้าต้องใช้สมองผมก็แค่ต้องรู้จักตัวเองและตีกรอบในแต่ละเรื่อง เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ ฝึกมองปัญหาให้ทะลุปรุโปร่ง ฝึกตัวเองให้เป็นคนที่กันปัญหาไม่ให้เกิด ไม่ใช่ปล่อยให้ปัญหาเกิดแล้วค่อยแก้ เป็นต้น

ฝึกตัวเองให้มีวินัย

ใช่ วินัยสำคัญที่สุด ผมต้องมีวินัยในการดำเนินชีวิต มีวินัยในการทำงาน และมีวินัยในการแก้ไขปัญหา ถ้าทำได้งานจะผ่านไปด้วยดี ผมพยายามยึดสิ่งเหล่านี้เป็นบรรทัดฐานไว้ให้ตัวเองดำเนินไปได้ เป็นความภาคภูมิใจที่เดินมาได้จนสอบได้ตำแหน่งสูงสุดคือผู้ควบคุมจราจรทางอากาศ

ฟังแล้วต่างกับอีกบทบาทของคุณคือการเป็นนักดนตรีอยู่มาก แต่ถ้าย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น งานนี้มีที่มายังไง

จริงๆ แล้วดนตรีมาก่อน ผมเล่นดนตรีตั้งแต่ช่วงม.ปลาย เล่นมาเรื่อยๆ ตามผับ แต่งานหลักที่ทำอยู่คือได้อานิสงส์จากคุณพ่อ ตอนนั้นผมเพิ่งเรียนจบจากอินเดีย กำลังสนุกสนาน เมามันกับการเล่นดนตรีคืนละ 2-3 ที่ เริ่มมีรายได้เป็นของตัวเอง แต่พ่อผมเป็นคนมองทะลุ เขาเห็นว่าการเล่นดนตรีนั้นไม่จีรัง วันหนึ่งเขาไปเจอคอลัมน์เล็กๆ ในหนังสือพิมพ์ว่าบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทยเปิดรับสมัครงานพอดี พ่อก็มาเอาเสนอ เขาไม่เคยบังคับลูก แค่บอกว่าลองดูสิ ตอนแรกผมก็เฉยๆ แต่สุดท้ายก็ลองไปสมัครเพราะคำพูดที่พ่อบอกว่าเป็นห่วง ตอนนั้นปีพ.ศ. 2529 ก็อยู่มาจนถึงตอนนี้

ยากไหม กับการทำ 2 งานในเวลาเดียวกัน 

(นิ่งคิด) ผมโชคดีตรงที่ต่อให้ไม่ทำงานอื่น งานควบคุมจราจรทางอากาศเป็นงานที่เรียกร้องการบริหารจัดการตัวเองอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าผมก้าวผ่านตรงจุดนี้ไปได้ เวลาที่เหลือนอกจากการพักผ่อน ผมสามารถทำตัวเองให้มีความสุข บางคนในที่ทำงานผมเลือกวิ่ง บางคนเลือกเล่นกีฬา แต่ผมเลือกดนตรี เพราะมันเป็นความสุนทรีย์ ความรักและความสุขใจของผม ดนตรีช่วยให้การดำเนินชีวิตท่ามกลางภารกิจหนักๆ ของผมสมดุล ผมแค่ต้องแยกและแบ่งเวลาให้ได้เท่านั้นเอง

ธีร์ ไชยเดช

เทรนด์ยุคหนึ่งมักบอกให้วัยรุ่น ‘ชอบอะไรก็ต้องไปทางนั้นให้สุด’ ต่างกับคุณที่เลือกทำ 2 ทางในชีวิต คุณคิดยังไงกับเรื่องนี้ มันทำให้ชีวิตไปไม่สุดสักทางหรือเปล่า

ผมว่าเราต้องมองให้ถ่องแท้นะ ลองมองแบบผู้ใหญ่ แน่นอน ตอนเป็นวัยรุ่น ผู้ใหญ่พูดอะไรเรามักไม่ค่อยสนใจหรอก อีโก้ ความทะเยอทะยาน และความมุ่งมั่นในวัยนั้นมันสูง ผมเข้าใจ เพราะผมยังเคยเถียงกับพ่อด้วยซ้ำว่าทำไมผมจะเล่นดนตรีอย่างเดียวไม่ได้ ผมมีความสุขเวลาทำสิ่งที่ชอบให้ถึงที่สุด ดังนั้นถ้าถามคำถามนี้กับผมตอนนั้น ผมอาจเชียร์ให้ทำอย่างที่คุณชอบ แต่ (เน้นเสียง) พ่อผมมองทะลุไปกว่านั้น ว่าถ้าสักวันหนึ่งผมหกล้มขึ้นมา ผมจะรอดไหม และถ้าผมเสียเวลากับการแล่นเรือออกไปโดยที่สุดท้ายพบว่ามันไม่มีฝั่ง ผมต้องเสียเวลาแล่นกลับมาอีก และต่อให้กลับมาผมก็ไม่รู้ว่างานต่อไปจะต่อยอดจากงานเก่าได้หรือเปล่า เหมือนพ่อเตือนสติว่าเราต้องคิดให้ดี เรามั่นใจหรือเปล่า ลองส่องกระจกดูตัวเองแบบไม่ทะนงตนดูสิ สิ่งที่เราอยากทำมันเป็นไปได้ไหม ลองคิดให้ดีๆ ถ้าคิดดีแล้วพบว่าอยู่ได้ก็ทำต่อ go for it ไปเลย แต่ถ้าไม่มั่นใจ ลองหาบางสิ่งบางอย่างเป็นแผนสองทำควบคู่ไปไหม ก่อนที่ตัวเองจะทำงานอื่นไม่ไหว นี่คือมุมผมนะ ไม่ได้จะบอกให้วัยรุ่นทุกคนยอมรับ เพราะผมรู้ว่าการที่คนจะเข้าใจบางอย่างก็ต้องใช้เวลา

เคยบอกสิ่งนี้กับคนอื่นไหม

ผมเคยบอกเพื่อนที่เล่นด้วยกันเมื่อ 30 ปีที่แล้วว่าถ้ามีโอกาส ลองหางานอย่างอื่นทำ ดนตรีสนุกสนานก็จริง ได้เงินเยอะกว่างานประจำก็จริง แต่อย่าหลงระเริงว่าเงินจำนวนนั้นสำคัญไปกว่าเงินเดือน เพราะถ้าสมมติวันหนึ่งตกบันไดแขนหักขึ้นมา ไม่มีร้านไหนเขาให้เงินคุณหรอก กลับมาแล้วได้เล่นหรือเปล่าก็ยังไม่รู้ ต่างกับงานประจำที่มีความแน่นอนกว่า สิ้นเดือนเรารู้แน่ว่าจะมีตังค์จ่ายค่าเช่าบ้านและซื้อนมกระป๋องให้ลูกกิน เพราะฉะนั้นถ้าอยากเล่นดนตรี เล่นไป แต่หางานอื่นรองรับด้วยเพื่อให้ได้สวัสดิการและความแน่นอน และเชื่อไหมว่าถ้าทำได้ เราจะเล่นดนตรีอย่างมีความสุข เล่นวันละ 2-3 ชั่วโมง กลับบ้านเที่ยงคืน หลับ ตื่นไปทำงานต่อ เราจะได้อยู่กับสิ่งที่รักและมีรากฐานที่แข็งแรง

ตอนนั้นเพื่อนฟังไหม

ฟัง มีน้องหลายคนที่หลังจากนั้นสักพักใหญ่ๆ ก็ทำตาม แต่นั่นไม่ได้แปลว่าผมไปจุดพลุให้เขาหรอก เขาอาจคิดได้ระหว่างเดินไปด้วยตัวเอง ซึ่งทุกวันนี้เขาก็เล่นดนตรีอย่างมีความสุข ไม่ต้องคอยห่วงว่าถ้าวันหนึ่งไม่มีดนตรีแล้วจะอยู่ได้ไหม บางคนเป็นอาจารย์ บางคนเป็นข้าราชการ ดูแลตัวเองและครอบครัวได้ 

ทำไมการทำงานประจำไปด้วยถึงทำให้เล่นดนตรีอย่างมีความสุข 

สำหรับผม มันทำให้ผมมีตัวตนชัดเพราะไม่จำเป็นต้องวิ่งตามอะไรเยอะแยะ เหมือนพอมีงานหลัก ถ้าผมอยากทำดนตรีอะไรก็ตามที่เป็นวิถีของผม ผมก็ทำ และยิ่งงานแบบนั้นออกไป ความเป็นตัวเองก็จะยิ่งชัดขั้น หลังจากนั้นค่อยปล่อยให้สังคมตัดสินว่างานโอเคไหม อยู่ในกลุ่มไหน และพอฟีดแบ็กกลับมาผมก็อยู่กับมันได้อย่างมีความสุข ตรงกันข้ามกับการที่ผมไม่มีบางสิ่งบางอย่างมั่นคงรองรับชีวิต นั่นหมายความว่าอะไรก็ตามที่ผมจำเป็นต้องไป ผมก็ต้องไป

ผมอาจจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองเรื่อยๆ จนวันหนึ่งก็ไม่รู้แล้วว่าตัวเองจริงๆ เป็นยังไง ผมอาจกลายเป็นคนที่มองผลลัพธ์ของทุกสิ่งและถูกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เช่น การที่ทุกวันนี้คนฟังเพลงยุค 60s น้อยลง ร้านต่างๆ ก็จ้างผมน้อยลง ถ้าผมไม่มีรากฐานที่แข็งแรงผมก็อาจจะร้องเพลงใหม่ๆ ที่เด็กยุคนี้เขาร้องกันจนลืมวัยของตัวเองไปแล้วก็ได้

เราอาจได้เห็นแรปเปอร์ที่ชื่อ ‘ธีร์ ไชยเดช’

ก็อาจเป็นได้ ใครจะไปรู้ (นิ่งคิด) โอเค อาจเป็นข้อดีก็ได้ที่คนหนึ่งเป็นได้หลายแบบ แต่ผมไม่เชื่อหรอกว่าคนเราอยากเป็นหลายๆ อย่าง มันอาจเป็นความภูมิใจที่ทำได้หลายแบบนะ แต่ผมว่าต้องมีบางอย่างสิที่คุณอยากเป็นที่สุด ต้องมีบางอย่างที่คุณทำมันอย่างมีความสุขที่สุด

แล้วทำไม ‘ธีร์ ไชยเดช’ ถึงอยากเป็นแบบทุกวันนี้ จุดแรกเริ่มคืออะไร

แรกเริ่มจริงๆ คงต้องย้อนไปตั้งแต่ช่วงที่ผมเริ่มโต ผมเห็นกีตาร์ของลุงแล้วก็อยากเล่น ด้วยความที่เป็นคนชอบฟังเพลงอยู่แล้ว ผมเลยหยิบมาหัดไปเรื่อยเปื่อย ไปหาหนังสืออย่าง Folk หรือ The Guitar มาดูว่าจับคอร์ดยังไง เล่น picking ยังไง ศึกษางูๆ ปลาๆ คุ้ยมาด้วยตัวเองเพราะอยากเล่นตามแม่แบบ ซึ่งสมัยนั้นผมจะฟังเพลงที่พี่ชายส่งมาให้ฟังจากอเมริกา แม่แบบของผมในสมัยนั้นจึงเป็น Peter, Paul and Mary เพลง Where Have All the Flowers Gone หรือเพลง 500 Miles ไม่ก็เพลง Donna Donna ของ Joan Baez เหล่านี้คือสิ่งที่ทำให้ผมเริ่มต้นมา

มันคือความฝันไหม ‘ฉันอยากเป็นแบบศิลปินที่ชื่นชอบ’ อะไรแบบนั้น

ไม่เคยคิดอยากเป็นแบบเขาเลยครับ ตอนนั้นขอแค่เล่นเป็นก็เท่แล้ว เหมือนเป็นความสุขตามประสาวัยเด็ก ไม่ได้มีความฝันแรงกล้า ไม่เคยคิดอยากเป็นนักดนตรี แค่เล่นกีตาร์ไปเรื่อยๆ ในซอยบ้าน

เริ่มจริงจังตอนไหน

ช่วงอายุ 16-17 ตอนนั้นผมเข้าไปเลี้ยงวันเกิดเพื่อนที่ร้านหนึ่ง ในร้านมีกีตาร์วางอยู่ เพื่อนรู้ว่าผมเล่นได้เขาเลยบอกให้เล่นให้ฟังหน่อย วันเกิดทั้งที เผอิญแนวเพลงที่ผมเล่นวันนั้นไปสะดุดหูผู้จัดการร้านเข้า สาเหตุเดียวเลยคือใครแม่งบ้าเล่นเพลงแนวนี้วะ คนวัยผมไม่น่ามีใครเล่น มันควรจะเป็นของคนสูงวัยกว่านี้ ซึ่งก็เป็นแนวเพลงที่ร้านเล่นพอดี ผู้จัดการร้านเลยชวนผมเล่นตั้งแต่ตอนนั้น

การมีคนยอมรับทำให้อยากเล่นมากขึ้นไหม

ประมาณนั้น (นิ่งคิด) แต่เวลากลับไปมอง ผมว่าหดหู่เหมือนกันนะ พอสิ่งที่ผมชอบไม่แมส ตอนนั้นคนที่ชอบและฟังผมเมื่อวานก็คือคนที่มาวันนี้และวันพรุ่งนี้ ไม่ใช่คนเป็นพันๆ แต่เป็นคนแค่ 40-50 คนเดิมที่มาแล้วมาอีก ฟังกันอยู่แค่นั้น แต่ด้วยความที่ยังเรียนอยู่และได้เงินจากการเล่นดนตรี มันทำให้ผมคึกคะนอง ผมไม่อยากหยุดทั้งในแง่การกระทำและความคิด

แล้วทำไมอยู่ดีๆ ไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยที่อินเดีย

เพราะแม่

ธีร์ ไชยเดช

จริงๆ แล้วตอนนั้นผมไม่ได้มีความคิดเรื่องเรียนต่อเลย แต่ประมาณ 2-3 ครั้งที่เวลากลับมาจากเล่นดนตรี ผมจะแอบได้ยินแม่บ่นกับพ่อเรื่องการเรียนของลูก ไม่ได้หมายความว่าผมเรียนแย่หรือตกต่ำนะครับ แต่ผมเป็นลูกคนเล็กจากพี่น้องสี่คน พ่อแม่ส่งพี่ชายเบอร์ 1 กับเบอร์ 2 ไปอเมริกาเพื่อเรียน แต่พวกเขาสนุกกับการทำงานมากกว่า นั่นทำให้เขาหยุดเรียนไปทำมาหากินในที่สุด แม่เลยรู้สึกเสียดายที่ส่งไปแล้วไม่มีใครเอาปริญญาสักคน พอมาพี่สาวผม เขาเป็นคนเรียนเก่ง สอบเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ได้ แต่สุดท้ายเขาไปสอบเป็นแอร์โฮสเตส เรื่องปริญญาก็ล้มเลิกไปอีก (นิ่งคิด) ก็เหลือแค่ผมเป็นคนสุดท้าย

เหมือนพอได้ยินมากเข้าก็กลายเป็นความกดดัน

ไม่กดดัน (ตอบทันที) พ่อแม่ไม่เคยกดดันผมเลย พวกเขาไม่เคยบังคับให้ผมไปทางนั้นทางนี้ แต่สิ่งที่ทำให้ผมเปลี่ยนคือการได้ยินแม่ปรับทุกข์กับพ่อ  แม่บอกว่า ‘ดูสิ อยากให้ลูกได้ปริญญาเนอะ แต่คงไม่มีใครเอาแล้ว ไอ้โอ๋ก็คงไม่เอา มันคงเล่นดนตรีของมันไป’ มันไม่ใช่แรงกดดัน แต่พอผมได้ยินแบบนี้ก็ไม่สบายใจ ผมไม่อยากเห็นพ่อแม่เสียใจ

ตอนนั้นก่ายหน้าผากเลย เล่นดนตรีเสร็จก็กลับมานอนคิด ‘ทำยังไงดีวะ แล้วถ้าเรียนจะเรียนที่ไหน’ ระหว่างนั้นบังเอิญเพื่อนผมที่โตมาด้วยกันเขากลับมาช่วงปิดเทอมจากการเรียนที่อินเดียพอดี ผมไปเจอเขา ถามเขาว่าเรียนเป็นไง แน่นอนว่าเพื่อนก็ต้องตอบว่าทุกอย่างดีหมด เพราะมันอยากให้ผมไปอยู่ด้วย (หัวเราะ) สุดท้ายผมก็ให้เพื่อนติดต่อให้ แต่ระหว่างนั้นผมเก็บเงียบ เก็บความดีใจเอาไว้ว่าได้ทำเพื่อแม่ ไม่บอกเขาเลยจนถึงวันที่ทางมหาวิทยาลัยตอบตกลง ผมเดินไปบอกแม่ต่อหน้าพ่อว่า ‘เบื่อแล้ว ไม่อยากเล่นดนตรีแล้ว อยากไปเรียนต่อ’

แม่ดีใจไหม

เขางง มาไม้ไหนวะ ติดยาหรือเปล่า (หัวเราะ) แต่เขาก็ให้ไป 

อินเดียดีเหมือนที่เพื่อนเล่าไหม

โอ้โห 3-4 เดือนแรก แม่งถ้าวิ่งกลับมาบ้านได้ผมวิ่งแล้ว

เจออะไรบ้าง

มันลำบากทุกอย่างในการดำเนินชีวิต ผมไปเรียนที่เมืองอาลีครห์ รัฐอุตตรประเทศ รัฐที่ขึ้นชื่อว่าจนที่สุดเและวุ่นวายที่สุด ดังนั้นการใช้ชีวิตต้องเต็มไปด้วยความอดทน เช่น หน้าร้อนร้อนมาก หน้าหนาวหนาวมาก หรือหน้าร้อนไฟดับบ่อยมากและดับทีคือนานมาก เพราะเขาต้องกระจายไฟไปให้อีกเมืองหนึ่ง คืนนั้นจะร้อนมหาศาล ผมต้องเอาเสื่อมาราดน้ำแล้วเอามานอน หรืออย่างบางช่วง เมืองที่ผมอยู่จะโดนพายุทะเลทราย เป็นทรายละเอียดคล้ายแป้งลอยมาจนฟ้าแดง และถ้ามันมาคุณก็ต้องล้างบ้าน ทุกอย่างลำบากกว่าที่เคยอยู่มาก 

เคยตั้งคำถามไหมว่า ‘กูมาทำอะไรที่นี่’

เคย (ตอบทันที) ผมว่าเจอกันทุกคนแหละ ช่วง 3-4 เดือนแรก มันอยากล้มเลิกอยู่แล้ว มันไม่ไหวแล้ว เพราะผมไม่คิดว่าจะเจออะไรแบบนี้ แต่หลังจากนั้นก็เริ่มปรับตัวได้ ตอนนี้พอหันกลับไปมองผมก็ภูมิใจในสมรภูมิที่ผ่านมาได้นะ เพราะมันทำให้เรากร้านและเรียนรู้อะไรต่อมิอะไรเยอะแยะมากมาย สนุกดี

เรื่องหลักๆ ที่คุณได้เรียนรู้ที่อินเดียคืออะไร

(นิ่งคิดนาน) ผมยกตัวอย่างอย่างนี้ เวลาเห็นยายคนหนึ่งที่อายุเยอะๆ เดินตกท่อ ผมว่าคนเรามองได้ 4 แบบ แบบแรก ‘ยายเอ๊ย เดินไม่ดูเลย’ แบบที่สอง ‘ใครแม่งไม่ดูแลยายเลยวะ’ แบบที่สาม ‘เรารีบเข้าไปดูยายกันเถอะ สงสารแก’ และแบบที่สี่ ‘รัฐส้นตีน ทำให้คนเจออะไรแบบนี้’ นี่คือหนึ่งเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดสี่มุมมอง ดังนั้นในทุกเรื่องผมเชื่อว่ามันอยู่ที่ว่าเรามองยังไง และกับที่อินเดียก็เช่นกัน

ผมจำได้ว่าในคืนวันที่ 31 ธันวาคมของปีนึง ผมยืนอยู่บนระเบียงบ้านพักที่อินเดียแล้วคิดอะไรไปเรื่อย ผมเริ่มคิดว่าถ้าตอนนี้อยู่บ้านผมคงเล่นดนตรี มีแต่เรื่องสนุกสนานรอบตัว มีการเคานต์ดาวน์ มีจุดพลุ แต่ในที่ที่ผมยืนอยู่ตรงนั้น แค่ 2-3 ทุ่มแต่ละบ้านก็เป่าตะเกียงนอนหลับกันหมดแล้ว เขาต้องรีบนอนเพราะวันรุ่งขึ้นจะได้ตื่นมาใช้ชีวิตแบบเดิมเพื่อให้มีอะไรกิน ไกลออกไป ผมเห็นคาราวานอูฐที่กำลังเดินมา ผมเห็นวิถีชีวิต ตอนนั้นแหละที่ผมคิดกับตัวเองได้ว่าชีวิตมันก็แค่นี้จริงๆ 

อินเดียค่อยๆ เปลี่ยนตัวผมให้มีชีวิตสมถะ ไม่ฟุ้งเฟ้อ วันไหนที่มีความสุขผมก็มีความสุข แต่ไม่ได้คิดว่าพรุ่งนี้หรือมะรืนจะมีความสุขอยู่ไหม เจออะไรก็ต้องผ่านไปให้ได้ สิ่งเหล่านี้ประกอบกับการที่ผมได้พบปะผู้คนหลากหลาย ยุคนั้นเป็นยุคที่ฮิปปี้เข้ามาแสวงตัวตนที่อินเดียจำนวนมาก ผมได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิด ทุกอย่างเอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้และบ่มเพาะให้ผมเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น

จนสุดท้ายก็เรียนจบ

ก็ผ่านพ้นไปได้ และสิ่งที่ทำทันทีเมื่อกลับมาถึงบ้านคือก้มลงไปกราบเท้าแม่ หยิบใบปริญญามาให้เขาและบอกว่า ‘เนี่ย ให้แม่ ที่โอ๋ไปเนี่ยเพราะเห็นแม่ร้องไห้กับพ่อ โอ๋เลยไปเอาใบนี้มาให้แม่’ (นิ่งคิด) ถ้ากลับมาคิดตอนนี้ ผมว่านี่คือสิ่งที่พ่อแม่ให้ผมมากกว่านะ ถ้าไม่มีใบปริญญา ผมคงไม่ได้เข้าไปทำงานที่บริษัทวิทยุการบินฯ หรอก ผมอาจเป็นแค่นักดนตรีคนหนึ่งที่ยังยืนพิงแอมป์และไม่มีจะแดกเพราะโควิด

แต่เท่าที่คุณเล่าให้ฟังตอนต้น พอกลับมา คุณก็กลับไปหาดนตรี ไม่ได้เริ่มต้นทำงานประจำ

เผอิญร้านเดิมที่ผมเคยเล่นเขาเปิดประตูต้อนรับตลอด ผมเลยกลับไปมีความสุขกับสิ่งเดิม ยิ่งตัวตนที่ได้จากอินเดียมาผสมกับดนตรี ผมจึงเป็นตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ ได้ลองใช้ชีวิตการเป็นนักดนตรีเต็มตัวอยู่สักพักก่อนไปทำงานประจำอย่างที่บอกไป

ธีร์ ไชยเดช

จากทำงานประจำไปด้วย เล่นดนตรีกลางคืนไปด้วย คุณมาออกอัลบั้มเป็นศิลปินได้ยังไง

ผมว่าน่าจะเป็นเพราะความอยากและโอกาสที่เข้ามาอย่างละครึ่งๆ แน่นอนว่าพอเป็นคนเล่นดนตรี ผมมีความอยากลึกๆ ตรงนี้อยู่แล้ว แต่นั่นก็ประกอบกับการที่มีคนเห็นว่าเสียงเราน่าเอาไปทำอะไรบางอย่าง โอเค ในที่สุดแล้วมันเฟลและล้มเลิกไปหลายครั้งก่อนผมได้เจอกับค่ายเบเกอรี่มิวสิค ระหว่างทางก็มีเสียดาย เสียใจ แต่ผมไม่เคยถึงขนาดหมดไฟหรือไม่อยากเล่นดนตรีอีกแล้ว ยังดำเนินชีวิตแบบเดิมจนได้ออกอัลบั้ม

ทำไมไม่หมดไฟ

ผมว่าการดับฝันตัวเองมันทำใจยากนะ ดนตรีคือสิ่งที่ผมรัก ถ้าผมโยนทิ้งไปสุดท้ายกีตาร์ก็แขวนอยู่ที่บ้านอยู่ดี เพียงแต่ช่วงที่ไม่สำเร็จผมแค่ไม่ชอบขั้นตอนของการต้องไปเจอคนที่พยายามตัดหูเราออกแล้วเอานิ้วโป้งมาแขวนแทน ไม่ชอบคนที่พยายามมาเปลี่ยนเรา ซึ่งสุดท้ายต้องขอบคุณค่ายเบเกอรี่ที่เข้าใจผมมากๆ ขอบคุณพระเจ้า ขอบคุณทุกอย่างที่เอื้ออำนวยจนทำให้ผมมีทุกวันนี้

คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่าตัวเองเป็นนักดนตรี ไม่ใช่นักร้อง ตอนนี้ยังคิดแบบนั้นอยู่ไหม

สำหรับสายตาคนอื่นที่มองมา ผมแล้วแต่นะว่าคนจะมองผมเป็นแบบไหน แต่สำหรับตัวเองผมจะบอกเสมอว่าผมคือคนเล่นกีตาร์ที่ร้องเพลงได้ ไม่ใช่นักร้องมืออาชีพ แต่ผมว่าอย่างหนึ่งที่สำคัญคือฟังก์ชั่นของดนตรี ดนตรีคือการเล่าเรื่องที่มีทำนอง และทำนองนี่แหละที่ทำให้คนอินจนเกิดความคึกคะนอง หัวเราะ อกแตก หรือโดดตึกตายได้ ดังนั้นสิ่งที่ผมเน้นคือจะเล่าเรื่องยังไงให้คนฟังรู้สึกเข้าใจในวิถีทางที่เราเป็นเรา ผมให้ความสำคัญกับตรงนี้มากกว่าการนิยามว่าตัวเองเป็นใคร ซึ่งวิถีนักดนตรีของผมก็อาจเป็นการเล่าเรื่องที่ ‘หลายคนอยากฟังแต่พอฟังแล้วหลับหมด’ ก็ได้ นานาจิตตัง

แสดงว่าคุณรู้ใช่ไหมที่หลายคนมักบอกว่าคอนเสิร์ตของธีร์ ไชยเดชทำให้คนฟังเคลิบเคลิ้ม

ผมรู้ๆ (ตอบทันที)

โกรธไหม

โห จะไปโกรธทำไมเล่า ก็มันง่วงจริงๆ (หัวเราะ) ขนาด sound engineer ที่ทำงานกับผมมาเป็นสิบปียังมีนั่งหลับระหว่างผมเล่นเลย แต่ผมว่าก็ดีนะ เป็นเอกลักษณ์ดี อย่างทุกวันนี้ผมจะมีโชว์ที่จัดเองให้แฟนเพลงประมาณรอบละ 400 คน ทุกครั้งผมจะให้ผู้ช่วยถือตะกร้าเดินแจกของให้กับคนที่โดนบังคับหรือมาเป็นเพื่อนกับคนที่อยากมา ผมจะบอกพวกเขาบนเวทีว่าเดี๋ยวถ้าผมเริ่มเล่นดนตรีปุ๊บ ก็หยิบออกมาใช้นะครับ 

ของในนั้นคือ

หน้ากากปิดตา หลับให้สบาย ถ้าผมเล่นเสร็จเดี๋ยวผมปลุก

มีคนกล้าใส่ไหม

มีๆ (หัวเราะ) หลับเป็นเรื่องเป็นราว แต่ผมว่าน่ารักดีออก ผมมีความสุขกับแบบนี้มากกว่าการไปเล่นต่อคนเป็นพันๆ แล้วไม่รู้ว่าเขาฟังผมหรือเปล่า เพราะกับ 400 คนนี้ ผมสามารถทำให้ดนตรีสมบูรณ์ต่อคนฟังได้จริงๆ มันเป็นความสุขที่ทำเอาน้ำตาแทบร่วงนะ ผมเอาตัวตน ความผิดพลาด ความหมายของแต่ละเพลง และแรงบันดาลใจที่ผมคิดว่าดีเอาไปเล่าให้คนฟัง ผมอยากให้เพราะผมมาถึงตรงนี้ได้ก็เพราะเขา

สิ่งนี้เป็นเหมือนเชื้อเพลิงที่ทำให้ผมรู้สึกว่าฉันก็เดินต่อไปได้ ฉันก็มีความสามารถ ดังนั้นถ้าอยากทำตรงนี้ มันคงไม่ใช่ความคิดที่ผิดมั้ง อาจได้บ้าง ล้มเหลวบ้าง แต่ทุกอย่างก็เป็นเชื้อเพลิงให้ผมเป็นตัวของตัวเองและเดินต่อไปกับดนตรีได้จนถึงวันนี้

บางคนอาจแย้งว่าศิลปินไม่ควรจะเหมือนเดิมหรือเปล่า งานของเราควรพัฒนาขึ้นไหม 

(นิ่งคิด) ทำความเข้าใจก่อนว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ดีนะครับ แต่ผมว่าการเปลี่ยนแปลงนี้ต้องเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่าลืมว่าเราทำงานขึ้นมาเพื่อให้คนฟัง ไม่ใช่ทำเองเสพเอง ดังนั้นถ้ามีคนชอบงานชุดแรกของเรา ต้องมีคนที่อยากได้ชุดสองคล้ายๆ กับชุดแรกอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด สำหรับผม ย้ำว่าสำหรับผมนะ ถือเป็นความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง 

ในมุมมองผม ถ้าคุณอยากเปลี่ยนคุณต้องค่อยๆ ต้องเล็กน้อย ต้องนุ่มนวล คล้ายกับการจับมือคนฟังเดินไปกับเรา จูงมือกระโดดไปด้วยกัน ไม่ฉีกกับที่เราเคยทำจนเกินไป ยิ่งเฉพาะกับผมที่ทำอะไรไม่แมสอยู่แล้ว ถ้าบ้าระห่ำเปลี่ยนเกินไปก็แทบไม่ต้องขายเลย แต่โชคดีที่ผมมีความสุขกับสิ่งเดิมอยู่แล้วด้วย ผมเลยโอเค

ธีร์ ไชยเดช

ดูที่ผ่านมาคุณหาสมดุลให้กับแต่ละส่วนของชีวิตได้ดี คุณดูไม่มีจุดสะดุดอะไรกับชีวิตขนาดนั้น

ผมชอบประโยคหนึ่งที่มีคนเคยบอกผมไว้และผมจะเอามาบอกคุณ คือทุกๆ เลี้ยวที่เราเลี้ยวมา ทุกๆ แยกที่ตัดสินใจ ทุกๆ ความสุข ทุกๆ ความทุกข์ ทุกๆ ความผิดพลาด มันทำให้ผมมานั่งคุยกับคุณอยู่ตอนนี้ ตัวคุณเองก็ด้วยนะ ถ้าคุณเลี้ยวไปผิดทางจากที่เป็นอยู่เราอาจไม่ได้นั่งคุยกันแบบตอนนี้ก็ได้ ผมเพิ่งตระหนักสิ่งนี้เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง ผมตระหนักเพื่อที่จะบอกตัวเองว่าเราล้วนไม่สมควรที่จะต้องไปใจจดใจจ่อกับสิ่งที่เราเดินผ่านมาในอดีต เราไม่มีทางรู้หรอกว่าอีกทางหนึ่งจะพาเราไปจุดไหน เพราะฉะนั้นผมขอเคารพทุกอย่างที่ผ่านมาดีกว่า ผมสบายใจที่จะมองแบบนี้เพราะจะได้ไม่ต้องเสียดายอะไร

อยู่กับปัจจุบัน ไม่คิดถึงอดีต ไม่คิดถึงอนาคต

ไม่คิดถึงอดีต ใช่ แต่ผมคิดว่าตัวเองกลับคิดถึงอนาคตนะ ไม่ใช่ว่าอยู่กับปัจจุบันจนไม่คิดอะไรขนาดนั้น ผมต้องคิดถึงอนาคตเพื่อความรอบคอบกับสิ่งที่ทำด้วย แต่ถ้าคิดแล้ว ทำดีที่สุดแล้วก็โอเค 

ถ้าอย่างนั้นในทุกวันนี้ คุณคิดถึงตอนจบบ้างไหม

(นิ่งคิดนาน) สมัยเด็กผมโตขึ้นมาในบ้านที่ข้างบ้านเป็นสุสาน ผมวิ่งเล่นในสุสานจนเหมือนเป็นสนามเด็กเล่น ผมได้ช่วยขุดหลุมฝังศพคนตาย ได้เห็นสัจธรรมชีวิตตั้งแต่สมัยนั้น ไม่ใช่ว่าปลงตั้งแต่เด็กนะครับ แต่คล้ายกับผมเข้าใจว่าสักวันหนึ่งในหลุมนั้นก็อาจเป็นพ่อแม่เรา สักวันหนึ่งเราเองก็ต้องตาย

อย่างอัลบั้มแรกในชีวิตผม เพลงแรกในหน้า A คือเพลงที่ชื่อว่า If I Die ตามปกติในยุคนั้นเพลงแรกของอัลบั้มต้องเป็นเพลงโปรโมท แต่ผมเลือกเพลงนี้เพราะเป็นเพลงที่สำคัญและมีความหมายต่อชีวิตผมมาก If I Die เป็นเพลงที่มาจากชีวิตจิตใจของผมที่เขียนถึงพ่อ เนื้อหาก็อิงจากศาสนาของผมที่ว่าเมื่อเราถูกฝังไป ในบางกรณีพระเจ้าจะให้บางคนได้เห็นวิถีชีวิตของสิ่งที่เขาเป็นอยู่ได้อีกสักระยะหนึ่ง เพลงนี้จึงเป็นการจินตนาการว่าถ้าเป็นผมเองที่ถูกฝังไป แล้วผมมีโอกาสได้กลับมาเยี่ยมบ้าน ตอนนั้นผมจะรู้สึกยังไง ซึ่งทั้งหมดในเพลงถ้ามาเทียบกับตอนนี้ ผมว่าตัวเองไม่ได้มองความตายเปลี่ยนไปเลย แต่แค่ผมรู้ว่ามันใกล้เข้ามามากขึ้นเท่านั้นเอง

ผมไม่รู้เหมือนกันว่าจะตายเมื่อไหร่ แต่ผมรู้ว่ามันต้องเกิดขึ้นแน่ๆ ถึงตอนนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าผมพร้อมหรือเปล่า ในวันที่ใกล้หุบเหว ผมเตรียมเสบียงไว้พอไหม คนบางคนอาจบอกว่าช่างแม่งนะ ตายไปแล้วก็แล้วกันไป แต่ในมุมผม ผมเชื่อว่ามีอะไรอยู่หลังจากนั้น และการที่คิดแบบนี้มันทำให้ผมหันกลับมาถามตัวเองว่าแล้วทุกวันนี้ผมเกิดมาแล้วมีประโยชน์ต่อใครบ้าง ก่อนถึงวันสุดท้ายผมได้ทำทุกอย่างหรือยัง ผมจะยอมให้ชีวิตจบไปแบบไหน จะยอมให้เหมือนกับปิดไฟดับไปทันทีเลยเหรอ 

เสบียงที่ว่าคืออะไร

คงเป็นสิ่งที่เรียกว่าบาปหรือบุญนั่นแหละครับ ถ้าเราเอาอะไรดีๆ ติดตัวไป ผมว่ามันน่าจะเกิดผลนะ (เว้นช่วงไปครู่หนึ่งก่อนหยิบเอาโทรศัพท์ขึ้นมาเปิดรูป) ผมมีอะไรจะให้คุณดู คุณเคยเห็นรูปเหล่านี้ไหม (บนหน้าจอเป็นรูปพิธีกรรมฝังศพตามศาสนาอิสลาม)

ที่สุสานใกล้บ้านคุณ

(พยักหน้า) นี่คือพี่สาวผมเอง เพิ่งเสียเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว นี่คือวิถีชีวิตที่เรียบง่าย นอนอยู่ในนี้ ห่อด้วยผ้าขาว ขุดหลุมฝังศพลงไปแบบนี้ นี่คือเกิด แก่ เจ็บ ตาย ทุกอย่างเกิดขึ้นตามธรรมชาติ ผมไม่ได้จะบอกว่าคนเราต้องชินนะ ไม่มีใครชินหรือไม่กลัวตายหรอก กลัวกันทั้งนั้น แต่เพราะเหตุนี้แหละที่ทำให้เราต้องฉุกคิดว่าระหว่างที่อยู่เราเก็บอะไรไว้บ้าง เรายื่นอะไรดีๆ ต่อกันบ้าง 

ผมว่านี่ต่างหากคือสิ่งสำคัญ

ธีร์ ไชยเดช

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!