Mourning Moments : ชิมการแสดง 3 เรื่อง 3 รส ที่อบอวลไปด้วยความเศร้า เจ็บปวด และงดงาม

เขียนบทและกำกับการแสดง: นพวรรณ ศิริเวชกุล, anGie Seah and the Thousand Horses และ Arsita Ishwardhani
สถานที่: Thong Lor Art
Space

จริงอยู่ว่าความสุขเป็นสิ่งที่ใครๆ
ก็ชื่นชอบและตามหา แต่สำหรับเรา ในบางครั้งความเศร้าและเจ็บปวดก็มีเสน่ห์เย้ายวนใจให้ไปลองสัมผัส
เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาเราจึงแวะเวียนไปที่โรงละครทองหล่อ อาร์ต สเปซ เพื่อชมศิลปะการแสดงสด 3 เรื่องจาก 3 ประเทศที่จัดแสดงภายใต้ชื่อรวมว่า Mourning Moments

ศิลปะการแสดงสดครั้งนี้จัดอยู่ที่ชั้น
3 – 5 ของโรงละคร ในแบบเหลื่อมเวลากัน คือคนดูเดินขึ้นลงเลือกดูการแสดงตามชอบใจได้ และแต่ละวันของการแสดงซึ่งกินระยะเวลาตั้งแต่
25 – 27 พฤศจิกายน 2559 การแสดงจะต่างกันออกไป

เราเริ่มต้นจากชั้น 3 ซึ่งจัดการแสดงสดเรื่อง
Sun on My Feet ของ anGie Seah and a Thousand
Horses จากสิงคโปร์
เมื่อก้าวเข้าไปในห้องมืดสลัว บรรยากาศโดยรอบก็ชวนให้นึกถึงพิธีกรรมบางอย่าง
มีทั้งไฟที่ให้แสงแบบเปลวเทียนบนพื้น ถัดไปอีกหน่อยคือพรมผืนใหญ่ซึ่งมีขันและเครื่องเคาะวางอยู่
เมื่อการแสดงเริ่ม เราก็ได้เห็นการแสดงผสมผสานจากนักแสดง 3 คนทั้งเล่นดนตรี ฉายวิดีโอ
เคลื่อนไหวร่างกาย อ่านบทกวีและขับขานบทเพลง การแสดงบางส่วนอาจตีความยากสักหน่อย แต่เราคิดว่าพวกเขาพาเราไปสำรวจความสัมพันธ์ของมนุษย์และสิ่งรอบตัว
ไม่ว่าจะเป็นดนตรีที่ได้แรงบันดาลใจจากภูเขาและท้องทะเล บทกวีที่ว่าด้วยคนและสิ่งแวดล้อม
และการเคลื่อนไหวร่างกายที่ดึงเราไปรับรู้ชั่วขณะที่ผ่านเลยไป ไม่ย้อนกลับมา แม้อยู่ในห้องเล็กๆ
บนโรงละคร แต่ Sun on My Feet ก็พาเราออกจากห้องไปเชื่อมโยงสู่สิ่งที่ยิ่งใหญ่ในห้วงเวลาของการแสดง

ถัดมาที่ชั้น 4
ของโรงละคร คือพื้นที่ของการแสดงเรื่อง Vulnerable จากนพวรรณ ศิริเวชกุล ศิลปินแสดงสดชาวไทย นพวรรณในชุดกระโปรงยาวสีขาวกำลังนั่งปอกบีทรูทสีแดงสด
เก้าอี้ฝั่งตรงข้ามว่างอยู่ เป็นพื้นที่ให้คนดูเข้ามาร่วมปอกบีทรูทด้วยกัน นพวรรณปอกบีทรูทหัวแล้วหัวเล่า
เปลือกและหัวบีทรูทแดงฉานเต็มพื้น
บางครั้งเธอก็ลุกขึ้นหยิบค้อนมาทุบหัวบีทรูทที่ปอกแล้ว
บางครั้งก็ยกบีทรูทแนบอกด้านซ้าย ปอกเปลือกของมันจนเว้าแหว่ง หลังยืนดูอยู่สักพัก เราก็ค่อยๆ
เข้าใจว่าบีทรูทสีแดงนั้นคือตัวแทนของหัวใจมนุษย์ ในความเงียบที่มีแค่เสียงมีดฝานเปลือกบีทรูท
เราหวนคิดไปว่ากี่ครั้งแล้วที่เราทำลายหัวใจคนอื่นอย่างไม่แยแส
และกี่ครั้งแล้วที่เราทำลายหัวใจอันเปราะบางของตัวเอง แล้วหลังจากปอกบีทรูทเสร็จสิ้น นพวรรณก็หยิบบีทรูทหัวหนึ่ง
เดินมาหาผู้ชม พร้อมเอ่ยประโยคเดียวของการแสดง

“ใจที่เสียแล้วงอกใหม่ได้มั้ย…”

จบคำถาม นพวรรณขว้างบีทรูทหัวนั้นปะทะผนัง
แล้วเดินไปนอนท่ามกลางซากบีทรูท
เชื้อเชิญให้เราเอาเปลือกที่กระจัดกระจายกลบหน้าเธอ ผู้ช่วยเดินมาเทน้ำรดลงไป
น้ำสีแดงไหลเอ่อนอง เป็นการสิ้นสุดการแสดงที่ทรงพลังและยังทิ้งคำถามนั้นไว้ในใจเรา

การแสดงสดเรื่องสุดท้ายเกิดขึ้นที่ชั้น 5 เป็นการแสดงของ
Arsita Ishwardhani จากอินโดนีเซียในชื่อ Song of Memory ตั้งแต่ก้าวขึ้นบันได
เราจะได้พบกับข้อความภาษาอังกฤษที่พูดถึงการสูญเสีย ความทรงจำ และความเสียดายอาลัยอาวรณ์
พอขึ้นมาถึงพื้นที่แสดง เราก็เห็นเก้าอี้สีดำวางกระจายอยู่เป็นคู่ๆ
นักแสดงสาวในชุดสีดำเดินถือแผ่นกระดาษมาตรงหน้าผู้ชม
แต่ละแผ่นมีข้อความชวนให้นึกถึงประสบการณ์สูญเสียส่วนบุคคล เช่น คุณเคยสูญเสียคนที่รักหรือเปล่า
ถ้าใช่ ก้าวออกมาข้างหน้า เมื่อคำถามเหล่านั้นดึงเราดำดิ่งสู่ประสบการณ์ที่เคยพบ
นักแสดงก็เดินกลับมาหา ชักชวนให้ผู้ชมไปนั่งบนเก้าอี้เพื่อถ่ายทอดและรับฟังเรื่องราวการสูญเสีย
เมื่อมีคนสมัครใจเข้าร่วม เธอจะพาคนเหล่านั้นไปที่เก้าอี้
ผู้พูดและผู้ฟังจะนั่งลงตรงข้ามกัน ผูกตาด้วยผ้าปิดตาสีดำสนิท แล้วการแบ่งปันประสบการณ์ก็เริ่มต้น
เราได้เห็นคนพูดและคนฟังหลากสัญชาติ ได้ยินเรื่องราวการสูญเสียหลายรูปแบบ เมื่อการเล่าจบลง
ผ้าปิดตาจะถูกเปิด แล้วผู้พูดและผู้ฟังก็สวมกอดกัน ในมุมมองของเรา การแสดงนี้อาจกินเวลาเพียงสั้นๆ
ความเศร้าอาวรณ์อาจค้างคามายาวนาน แต่การได้ระบายเรื่องราวอาจทำให้น้ำหนักเบาลง
และการที่ผู้ฟังเป็นคนแปลกหน้า แง่หนึ่งอาจชวนให้ขัดเขิน
แต่อีกมุมก็อาจช่วยให้สบายใจอย่างประหลาด
เพราะไม่มีความเกี่ยวข้องหรือผลกระทบให้กังวลใจหรือสร้างเกราะกำบัง ที่สำคัญ เราคิดว่าการแสดงนี้ไม่ได้บอกให้ลืมเลือนคนที่รัก
ตรงกันข้าม กลับให้ความสำคัญกับมวลความเศร้าเสียดายในฐานะสิ่งที่บอกให้รู้ว่าบุคคลที่จากไปนั้นสำคัญ
เพียงแต่การได้พูดในสิ่งที่พูดไม่ได้ ก็อาจช่วยผ่อนน้ำหนัก หรือทำให้ตกตะกอน
เกิดความสงบใจได้บ้าง

ช่วงเวลาดูการแสดงสดจบลง
เราปรบมือให้นักแสดงแล้วเดินจากมา โดยรสสัมผัสแปลกใหม่ที่ค่อนข้างขมของ Mourning Moments ยังอวลอยู่ในใจ

ภาพ ประภาพรรณ สุธิราวุธ

AUTHOR