ศิลปิน: ประดิษฐ ประสาททอง
สถานที่แสดง: Thong Lor Art Space
ตอนที่ผมบอกพ่อว่าจะไปดูลิเกที่ทองหล่อ พ่อขำกลิ้ง ถามว่าจะไปดูลิเกทำไม ผมตอบพ่ออย่างมั่นใจว่าอยากดู เพราะมันต้องไม่ใช่ลิเกธรรมดาแน่ ๆ ไม่เช่นนั้นเราคงหาลิเกในทองหล่อไม่ได้หรอก
Len Likay Play of My Life นำแสดงโดยตั้ว-ประดิษฐ ประสาททอง เจ้าของรางวัลศิลปาธรสาขาศิลปะการแสดง ปี 2547 ต้องยอมรับเลยว่าลิเกของเขาไม่ธรรมดาจริงๆ หากพูดถึงลิเก เราคงนึกถึงละครชาวบ้าน คนใส่ชุดเพชร ร้องเพลงเอื่อนเอ่ยคุยกันบนเวที ร่ายรำด้วยท่วงท่าที่อ่อนช้อยและมีเอกลักษณ์ ใบหน้าขาวนวลเครื่องสำอางแน่นๆ แต่ลิเกของประดิษฐนั้นต่างออกไป เขาได้ผสมสีสันจากแสงไฟและใช้ภาพฉายจากจอโปรเจกเตอร์ร่วมแสดง และที่สำคัญ เขายังประยุกต์ใช้เทคนิคการแสดงละครเวทีเข้ามาด้วย ทำให้ Len Likay Play of My Life เป็นส่วนผสมที่ลงตัวเหมือนกะเพราคู่กับไข่ดาว
ก่อนเริ่มแสดง ทีมงานและนักแสดงสมทบช่วยกันสร้างบรรยากาศด้วยเพลงลูกทุ่งสนุกๆ และเสียงโฆษกที่สะท้อนเยอะๆ แสงไฟวิบวับสีสันสดใส นักแสดงลิเกชายหญิง 2 คนออกมาแจกพวงมาลัยทำให้บรรยากาศเป็นกันเองมากขึ้น รู้สึกราวกับว่าอยู่ในงานวัด กำลังรอดูลิเกอยู่ไม่มีผิด
ส่วนเนื้อหา ลิเกร่วมสมัยเรื่องนี้นำเสนอชีวิตของศิลปินที่รายล้อมด้วยลิเก ประดิษฐเลือกเล่าเรื่องราวชีวิตของเขาผ่านลิเก ทำให้ผู้ชมเห็นภาพว่าลิเกเทียบเท่าได้กับชีวิตของเขา และทำให้รู้สึกว่าลิเกชุบเลี้ยงชีวิตเขามา ถึงตอนนี้ก็เป็นคราวของเขาที่จะชุบชีวิตให้ลิเกบ้าง ได้เห็นข้อขัดแย้งในจิตใจ ความรักที่ศิลปินมีต่อลิเกที่กำลังลุกโชน ก่อนจะถูกตั้งคำถามจนสั่นคลอนผ่านแสงระยิบระยับจากชุดเพชรที่ค่อยๆ ดับลง โดยระหว่างนั้น เราจะได้ร่วมสัมผัสวัฒนธรรมลิเกอย่างง่ายๆ บนเส้นทางชีวิตของศิลปินไปพร้อมๆ กัน ได้รู้ตั้งแต่ลิเกมีลูกเล่นอย่างไรบ้าง จนกระทั่งหลังฉากของการแสดงเหนือจริงนี้
แต่จะมัดใจผู้ชมได้หรือ? ถ้าหากผู้แสดงนำเสนออยู่ฝ่ายเดียว แถมยังนำเสนอด้วยรูปแบบที่คนดูไม่คุ้นเคยอย่างลิเกอีก อย่างที่กล่าวไว้ว่าลิเกเรื่องนี้ใช้เทคนิคละครเวทีมาผสมโรงด้วย ทำให้มีทั้งบทพูดและบทร้องผสมกันอย่างเหมาะเจาะ ไม่เพียงแค่เราจะได้รับฟังเรื่องราวต่างๆ และลูกเอื้อนแสนออดอ้อนและหวานละมุนจากลูกคอของตั้ว แต่ผู้ชมจะได้มีส่วนร่วมช่วยคิดคำลงท้ายวรรคเพื่อสร้างสัมผัสระหว่างบทร้อง อีกยังได้ลองเล่นเป็นแม่ยกคล้องพวงมาลัยพระเอกลิเกขวัญใจมหาชน จนนึกว่าดูลิเกอยู่จริงๆ หากแต่เป็นลิเกที่ไฮเทคทีเดียว เพราะองค์ประกอบอื่นๆ ทั้งวงดนตรีปี่พาทย์ที่เล่นประกอบ แสงไฟและโปรเจกเตอร์ก็มีส่วนสำคัญในการแสดง เช่น ฉายฉากหลังเป็นฉากวังลิเก ทำให้เห็นภาพโรงลิเกมากขึ้น หรือฉายภาพนักลิเกขึ้นมาแล้วตั้วก็พากย์เสียงกันสดๆ แต่บางจังหวะก็อาจใช้เยอะไปหน่อยจนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างตัวนักแสดงและผู้ชมลดลงไปบ้าง แต่ทั้งนี้ สิ่งที่เติมสีสันให้การแสดงนี้ขึ้นมากคือมุกเด็ดและวรรคทองที่ตั้วพกมาพร้อมน็อกผู้ชมอีกเพียบ
หากใครไม่เคยดูลิเกมาก่อน Len Likay Play of My Life ก็เป็นใบเบิกทางสู่การแสดงชุดเพชรที่ดูง่าย เข้าใจง่าย และที่สำคัญยังสนุกแต่ก็เจือปนด้วยรสขมเศร้า ประดิษฐพิสูจน์ให้เห็นว่าลิเกไม่ใช่เพียงกิจกรรมเต้นกินรำกิน แต่มันคือศิลปะ มันคือชีวิตของคนกลุ่มหนึ่ง พวกเราที่เป็นผู้ชมต่างก็มีส่วนช่วยหล่อเลี้ยงชีวิตของลิเกและผู้เกี่ยวข้อง
พวกเรานี่แหละที่เป็นเจ้าของชีวิตลิเก
Len Likay Play of My Life แสดงครั้งแรกที่เทศกาล TPAM 2017 เมืองโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา และจัดแสดงครั้งแรกในไทยที่เทศกาล Bangkok Theatre Festival Asia Focus เมื่อวันที่ 26-28 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยจะจัดแสดงที่ประเทศต่างๆ อีกต่อเนื่อง
ภาพ กอบพลอย ตันสหวัฒน์