เคยไหม? รู้สึกอึดอัด หวาดกลัว มวนท้องแบบอธิบายไม่ถูก ความรู้สึกสีเทามืดที่เหมือนมีเมฆฝนปกคลุมอยู่แบบนี้ บางทีถ้าได้ตะโกนออกมาดังๆ ความเครียดที่สะสมอยู่ อาจปลิวหายไปได้ในพริบตา นี่คือเวทมนตร์ของ ‘เสียงกรีดร้อง’
หลายคนอาจจะเคยชินกับการกรี๊ดตอนเจอผี แต่วันฮาโลวีนปีนี้ เราอยากชวนทุกคนมาเปลี่ยนจากปล่อยผี เป็นปล่อยความเครียดผ่านเสียงกรีดร้อง เหมือนดังภาพวาดสุดไอคอนิกอย่าง The Scream (1893) งานศิลปะต้นฉบับความหลอนจาก Edvard Munch ศิลปินชาวนอร์เวย์ ตัวพ่อแห่งวงการ Expressionism ที่เชื่อว่าการระบายความรู้สึกภายในออกมา คือความสวยงามที่แท้จริง
หลายคนอาจคุ้นเคยกับภาพวาดนี้ผ่านมีมไวรัลที่เห็นได้ตามสื่อโซเชียล แต่แท้จริงแล้วมันอยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด ไม่ว่าจะอิโมจิ 😱 หน้ากากผีที่เห็นได้ทุกบ้านผีสิง หรือแม้กระทั่งภาพโปสเตอร์จากภาพยนตร์วัยเด็กอย่าง Home Alone ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากภาพวาดนี้ทั้งสิ้น

ถ้าจะบอกว่า The Scream คือไอคอนิกของความหลอนก็คงไม่มีใครกล้าปฏิเสธ แต่อะไรที่ทำให้ภาพวาดอายุกว่า 100 ปีชิ้นนี้ ยังคงความอมตะ และกลายเป็นภาพวาดที่สะท้อนความกลัวจากก้นบึ้งของมนุษย์ ถ้าอยากรู้ ก็ตามไปหาคำตอบด้วยกัน!
ภาพเสียงกรีดร้องที่เงียบ แต่กลับดังในใจที่สุด
The Scream คือภาพวาดของ ‘สิ่งมีชีวิต’ หน้าตาประหลาด ไม่สามารถระบุเพศหรืออายุได้ สิ่งนั้นกำลังยืนอยู่บนสะพานพร้อมเอามือ 2 ข้างแนบหู ดวงตาเบิกโพลง และริมฝีปากอ้ากว้าง เป็นอากัปกิริยาของคนที่กำลังตื่นกลัวบางอย่าง โดยมีฉากหลังเป็นท้องฟ้าสีส้มที่กำลังปั่นป่วนราวกับพายุเข้า แม้จะเป็นแค่ภาพวาด แต่เสียงกรีดร้องที่ดังออกมา กลับสัมผัสเข้าที่ใจเราอย่างไม่น่าเชื่อ

นี่คือเสน่ห์ของศิลปะแนว Expressionism ที่เน้นแสดงอารมณ์ของศิลปินเป็นสำคัญ โดดเด่นเรื่องการใช้สีที่สดและตรงไปตรงมา ให้ความรู้สึกดุดันและรุนแรง รวมถึงฝีแปรงที่แข็งกระด้าง ราวกับอารมณ์ของมนุษย์ที่มีความฉุนเฉียวแฝงอยู่เสมอ นี่คืองานศิลปะขั้วตรงข้ามของ Impressionism ที่เน้นความอภิรมย์และสบายตาเวลาที่ได้มอง
ถ้า Claude Monet คือผู้รันวงการลัทธิความประทับใจ Edvard Munch ก็คือตัวแทนแห่งการระบายอารมณ์ งานศิลปะส่วนใหญ่ของเขานำเสนออารมณ์แง่ลบที่ซ่อนอยู่ในจิตใจของมนุษย์เหมือนเช่นผลงานชิ้นนี้
มีการสันนิษฐานว่ามุงก์ได้แรงบันดาลใจการวาดภาพนี้ ระหว่างทางที่เขากำลังกลับจากการไปเยี่ยมน้องสาวที่เป็นไบโพลาร์ ภาพเนินเขาในรูปคือเขาเอเคเบิร์ก (Ekeberg) ประเทศนอร์เวย์ และตัวเอกตรงกลางภาพ ได้แรงบันดาลใจมาจากมัมมี่ชาวเปรู ซึ่งนี่เป็นเพียงแค่การถกเถียงกันของนักประวัติศาสตร์ที่ยังไม่ได้ข้อสรุปเท่านั้น
ความจริงเพียงหนึ่งเดียวที่เราเชื่อถือได้ คือบันทึกของมุงก์ที่เขียนไว้ในปี 1892 เท่านั้น
“เย็นวันหนึ่ง ผมกำลังเดินไปตามถนน ฝั่งหนึ่งเป็นเมือง และอีกฝั่งเป็นฟยอร์ด พระอาทิตย์กำลังลับขอบฟ้า และเมฆเปลี่ยนกลายเป็นสีแดงดุจเลือด ผมรู้สึกถึงเสียงกรีดร้องที่ดังออกมาจากธรรมชาติ ผมจึงวาดภาพนี้ ด้วยก้อนเมฆสีดุจเลือด และภาพนั้นก็กลายมาเป็น The Scream”
ศิลปินที่ใช้ ‘ความบ้า’ รังสรรค์ผลงาน
“คนที่วาดภาพนี้ขึ้นมา มีแต่คนบ้าเท่านั้นแหละ ผมว่าคุณมีปัญหาทางจิต”
คำกล่าวหาของนักศึกษาแพทย์คนหนึ่งที่พูดต่อหน้ามุงก์ ในระหว่างงานนิทรรศการภาพวาดของเขา คำพูดที่รุนแรงและอาจทำให้ใครหลายคนกำหมัดได้ทันทีที่ได้ยิน แต่มุงก์กลับใช้มันเป็นแรงขับเคลื่อนในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีจุดเด่นเป็น ‘ความบ้า’ ที่ไม่เหมือนใคร

ถ้าสังเกตดีๆ ที่มุมภาพของ The Scream มีข้อความเล็กๆ ที่ซ่อนอยู่ในกลุ่มเมฆว่า ‘Can only have been painted by a madman’ ที่แปลว่า ‘มีแต่คนบ้าเท่านั้นแหละ ที่วาดภาพนี้ได้’ ซึ่งหลังจากผ่านการตรวจสอบลายนิ้วมือ ก็ยืนยันได้ว่ามันคือประโยคที่เขียนโดยมุงก์ตัวจริง
ถ้าใครที่เคยอ่านชีวิตของศิลปินชาวนอร์เวย์คนนี้ จะรู้ว่าเขาเติบโตมาภายใต้แรงกดดันในชีวิตมากมาย ไม่ว่าจะพ่อผู้เคร่งเครียดที่เป็นโรควิตกกังวล การต้องกำพร้าแม่ไปในวัยเพียงแค่ 5 ขวบ การสูญเสียพี่สาวที่เปรียบเหมือนแม่ด้วยโรคร้ายเดียวกัน หรือแม้กระทั่งการต้องดูแลน้องสาวที่ป่วยเป็นโรคไบโพลาร์ ยังไม่รวมถึงอาการป่วยที่ติดตัวเขามาตั้งแต่เด็ก
จึงไม่แปลกที่มุงก์จะมีเพื่อน(ไม่)สนิท เป็นความเศร้าที่อยู่กับเขาในทุกๆ จังหวะชีวิต แต่แทนที่จะจมดิ่งอยู่กับมัน มุงก์เลือกที่จะระบายมันออกมาผ่านฝีแปรง นำเสนอโลกอันมืดมนนี้ให้คนภายนอกได้เห็น โดยหวังว่าเหล่าคนที่กำลังเผชิญความเจ็บปวดเหล่านี้อยู่ จะรู้ว่าเขาไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว
ยอมรับและโอบกอดความไม่สมบูรณ์
The Scream โด่งดังเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก จากการได้ขึ้นปกนิตยสาร TIME ในปี 1961 พร้อมแบนเนอร์มุมบนว่า ‘Guilt & Anxiety’ ที่แปลว่า ‘ความรู้สึกผิดและวิตกกังวล’ หลังจากนั้นภาพเสียงกรีดร้องนี้ ก็ถูกนำไปใช้ในแคมเปญรณรงค์เรื่องความเครียดอยู่บ่อยครั้ง รวมไปถึงการนำไปเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างหน้ากากผีในภาพยนตร์เรื่อง Scream (1996) และทำให้หน้าคนอ้าปากและเอามือแนบหู กลายเป็นไอคอนิกความหลอนที่เราพบเห็นได้ในสื่อทั่วๆ ไป
ท่ามกลางโลกที่เชิดชูแต่ความสมบูรณ์แบบ งานศิลปะชิ้นนี้คือหลักฐานชิ้นดีว่า คนเราไม่จำเป็นต้องเพอร์เฟกต์ทุกมิติเสมอไป บางครั้งการยอมรับในอารมณ์เศร้า และกล้าที่จะตะโกนบอกคนอื่นว่าเราอ่อนแอ ก็เป็นการปลอบประโลมจิตใจได้ในอีกมุมหนึ่ง
ไม่แน่ว่านี่อาจเป็นจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของภาพเสียงกรีดร้องสุดคลาสสิกชิ้นนี้ มุงก์สร้างความอุ่นใจเหล่า The Scream ทั้งหลาย ให้พวกเขารู้ว่า ‘บนโลกที่โหดร้ายนี้ เราไม่ได้สู้มันอย่างเดียวดายเพียงคนเดียว’
แม้จะผ่านมากว่าศตวรรษ แต่เสียงกรีดร้องของ The Scream ยังคงดังก้องในหัวใจคนทั่วโลกเสมอ นี่คือหลักฐานว่าแม้เทคโนโลยีจะพัฒนามากแค่ไหน แต่ก็ไม่ช่วยเยียวยาความรู้สึกเศร้าในใจของผู้คนได้เลย เพราะสิ่งที่มองไม่เห็น และน่ากลัวไม่ได้มีแค่ ‘ผี’ แต่รวมถึง ‘ความเศร้า’ ในใจเราเช่นกัน