The Remembrance นิทรรศการแห่งความทรงจำในวันที่การฉลุกระดาษช่วยจัดการความเศร้าของศิลปิน LGBT

Highlights

 
  • The Remembrance  คือนิทรรศการฉลุกระดาษของ เต้-ณรัชต์ บริบูรณ์หิรัญธนา ศิลปิน LGBT จากรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเป็นสถานที่เริ่มต้นให้เต้ได้รู้จักเทคนิคฉลุกระดาษของไทยและพัฒนามาเป็นงานนิทรรศการในปัจจุบัน
  • ลายฉลุกระดาษในนิทรรศการนี้เต้ได้แรงบันดาลใจมาจากความทรงจำในแต่ละช่วงเวลาในชีวิต ถ่ายทอดออกมาเป็นรายละเอียดประณีต ผสมผสานกับศิลปะอาร์ตนูโว ดอกแอนนิมอเน่ (Animone)​ และหญิงสาวซึ่งเป็นตัวแทนของศิลปินในทุกๆ ภาพ
  • เพราะเต้เป็นคนเศร้ามาตั้งแต่เด็ก เต้จึงเลือกจัดการมันออกมาเป็นงานศิลปะเพื่อให้เกิดภาพสวยงามที่อยากจดจำ เต้บอกกับเราว่าแค่คนดูเห็นและเข้าใจว่าเธอกำลังเศร้า เธอก็โอเคแล้ว

เวลานั่งนิ่งๆ อยู่คนเดียว เชื่อว่าหลายคนมักมีความทรงจำต่างๆ แวะเวียนเข้ามาทักทายให้หวนนึกถึง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่อยากจดจำไปตลอดกาลหรือเรื่องที่ทำให้ภาพความเจ็บปวดชัดเจน ในขณะเดียวกันเราก็หาวิธีจัดการกับความทรงจำเหล่านี้ในรูปแบบต่างกันไป

เช่นเดียวกับ เต้–ณรัชต์ บริบูรณ์หิรัญธนา ศิลปิน LGBT จากรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากรที่ความทรงจำในช่วงเวลาต่างๆ รายล้อมรอบตัวเธออยู่ โดยเฉพาะความทรงจำแห่งความเศร้า และวิธีที่เธออยากจะเลือกจำมันอีกครั้งคือนำมาถ่ายทอดเป็นงานศิลปะฉลุกระดาษแบบที่เธอถนัด

และนี่คือนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของเธอที่แสดงให้เห็นความทรงจำผ่านลวดลายละเอียดประณีตบนกระดาษสีขาว ดึงดูดให้เราอยากรู้ว่าข้างในซุกซ่อนความอ่อนไหวและความทรงจำอะไรของศิลปินรุ่นพี่จากรั้วมหาวิทยาลัยเดียวกันนี้บ้าง เต้จะพาเราย้อนไปสำรวจความทรงจำพร้อมๆ กัน

ความทรงจำของจุดเริ่มต้น

จุดเริ่มต้นในการฉลุกระดาษของเต้ เริ่มจากช่วงที่เรียนคณะจิตรกรรมฯ เธอเลือกเรียนภาควิชาศิลปไทย แม้ว่าจะไม่เคยเขียนลายไทยมาก่อน แต่เพราะภาควิชานี้เปิดกว้างให้นักศึกษาถ่ายทอดงานออกมาเป็นเทคนิคใดก็ได้ ภายใต้แก่นคิดของศิลปะไทย ทำให้เต้เลือกมาสายนี้ แต่ช่วงที่เรียนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเธอเครียดเรื่องเรียนตลอดเวลา ไม่มีสมาธิทำงาน ไม่ตั้งใจเรียน และไม่สามารถทำงานส่งอาจารย์ทุกเดือนได้

“มีวันหนึ่งเราเรียนวิชาเทคนิคไทย อาจารย์ให้เอาเทคนิคไทยมาทำงานศิลปะ ไอเดียเพื่อนอลังการมาก แต่เราไม่มีแม้แต่สเกตช์ไปเสนออาจารย์ เราเลยบอกเขาตรงๆ ว่าไม่รู้จะทำอะไรจริงๆ แต่วันนั้นเหมือนสวรรค์มาโปรด อาจารย์บอกว่าเธอทำนี่สิ ฉลุกระดาษ คือในงานพระราชพิธีจะมีพวกงานที่เขาเอากระดาษมาฉลุ ลงรักแล้วเขาก็ปิดทองประดับตกแต่ง พออาจารย์แนะนำ เราก็เลยคิดแค่ว่างั้นลองดูละกัน”

นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานศิลปะฉลุกระดาษของเต้  

“แรกๆ เราทำเป็นลายตกแต่ง ปรากฏว่าชอบมาก ยิ่งทำก็ยิ่งเพลิน เราเป็นคนชอบทำอะไรซ้ำๆ เล็กๆ งานที่ค่อยๆ ทำ ค่อยๆ สร้างมัน แกะมันไปเรื่อยๆ หลังจากได้ลองทำงานฉลุกระดาษเราก็เริ่มมีสมาธิทำงานมากขึ้น กลายเป็นว่าเราทำงานเสร็จ อาจารย์ชอบ ทุกคนชอบ เลยทำให้เรากลับมาตั้งใจทำงานมากขึ้น”

เมื่อค้นพบว่าตัวเองชื่นชอบเทคนิคการฉลุกระดาษ เต้จึงเลือกเทคนิคนี้เป็นทีสิส แต่ด้วยงานชิ้นแรกๆ ของเธอเป็นเพียงลายตกแต่ง เธอจึงได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ที่ปรึกษาให้นำงานดรอว์อิ้งมาปรับใช้ด้วย เต้เลือกนำสองอย่างมาผสมผสานกัน และทำออกมาเป็นผลงานขนาด 3 เมตร

“ท้าทายตัวเองมาก และเครียด คนอื่นเขาทำงานชิ้นเล็กๆ หลายชิ้น เราทำชิ้นเดียวแต่ใหญ่มาก ชีวิตประจำวันตอนนั้นวนเวียนกับการตื่น กินข้าว ทำงาน นอน ไม่ออกไปไหน บางทีทำอยู่แล้วร้องไห้ เพราะมันอยู่กับตัวเองเยอะ แต่เราอยากพิสูจน์ตัวเอง เพราะเราเป็นอันเดอร์ด็อกในคลาส ความกลัวทุกอย่างเลยส่งไปที่งานว่าเราจะต้องทำงานให้ยิ่งใหญ่ คิดว่ามันจะต้องออกมาดีที่สุด

“เราอดทนและตั้งใจทำจนออกมาสำเร็จ ตอนนั้นโล่ง ภูมิใจมาก แล้วช่วงแสดงงานทีสิส พี่พดด้วง คิวเรเตอร์ของศุภโชคเขาเห็นงานเราแล้วชอบ เลยติดต่อเรามาจัดแสดง แล้วชวนทำนิทรรศการที่นี่”

ความทรงจำของแรงบันดาลใจ

หลังจากเรียนจบ เต้ตั้งใจว่าจะทำงานประจำไปพร้อมๆ กับทำงานศิลปะ แต่ด้วยเวลาที่ไม่เอื้ออำนวยอย่างหวัง ทำให้เต้ห่างหายจากงานฉลุกระดาษ ในที่สุดก็ตัดสินใจลาออกจากงานไปใช้ชีวิตอยู่ประเทศฮังการี และได้ทบทวนการทำงานศิลปะจากการฉลุกระดาษอีกครั้ง

“ช่วงแรกที่กลับมาทำ เลือกทำแบบแอ็บแสตรกท์เหมือนตอนทำทีสิส พูดถึงเรื่องสภาวะ สมาธิ นามธรรมค่อนข้างเยอะ มีความเป็นศาสตร์แบบศิลปากร (หัวเราะ) แต่พอเราโตขึ้นก็รู้สึกว่างานแบบนี้มันไม่ใช่ตัวเรา รู้สึกไม่อินแล้ว เราเลยกลับมาถามตัวเองว่า จริงๆ แล้วชอบงานยังไง

“ต้องยอมรับว่าการฉลุกระดาษเทคนิคจะค่อนข้างนำมากกว่าคอนเซปต์ แต่เราอยากเล่าสิ่งที่จะทำให้คนดูรู้สึกบางอย่างไปด้วย แต่เราก็ไม่รู้ว่าคนมาดูเขาจะรู้สึกหรือเปล่า เพราะร้อยคนก็ร้อยความคิด เลยตัดสินใจว่างั้นก็ทำให้ตัวเองรู้สึกก่อน เลยเลือกเล่าความรู้สึกของตัวเอง พูดเรื่องความเศร้าของตัวเองในแต่ละโมเมนต์ของชีวิต เอาปมที่เรามีในใจและความรู้สึกเศร้ามาเล่าเป็นเรื่องในงานแต่ละชิ้น มันเลยเป็นเหมือนบันทึกหรือความทรงจำในแต่ละช่วง หรือในแต่ละโมเมนต์ที่เรามี

“เพราะเราเป็นคนเศร้ามาตั้งแต่เด็ก เราเลยพยายามสร้างโลกหรือเปลี่ยนเรื่องราวที่เราเจอเป็นเรื่องราวที่เราอยากจำ แล้วงานพวกนี้มันก็ช่วยเราเปลี่ยนเรื่องเศร้าให้เป็นงาน ให้เป็นสิ่งที่เราอยากจำ อยากจะอยู่ด้วย แล้วเราจะอยู่กับมันได้ มันเป็นวิธีที่เราดีลกับความเศร้าหรือโมเมนต์ที่เราไม่อยากจำ”

ภาพฉลุกระดาษที่เราเห็นจึงมีรูปผู้หญิงอยู่ทุกรูป ซึ่งเต้นำมาเป็นตัวแทนของเธอเพื่อแสดงความรู้สึกในแต่ละความทรงจำ โดยภาพของผู้หญิงนั้นรายล้อมด้วยลวดลายเส้นโค้งของดอกไม้ ตึก สัตว์ และวัตถุต่างๆ เต้เล่าว่าได้แรงบันดาลใจจากศิลปะแนวอาร์ตนูโว หลังจากได้ชมภาพ The Kiss ของกุสตาฟ คลิมต์ ศิลปินชาวออสเตรียที่เวียนนา เต้จึงนำมาเป็นแรงบันดาลใจในการฉลุบนกระดาษแห่งความทรงจำนี้

นอกจากนี้ในลวดลายฉลุกระดาษยังมีดอกแอนิมอเน่ ซึ่งเป็นดอกไม้ตามตำนานกรีก เกิดจากน้ำตาของเทพีวีนัสที่สูญเสียคนรัก มาเป็นตัวแทนแห่งความรักที่ถูกลืมทิ้งไว้เบื้องหลังในทุกภาพด้วย

ความทรงจำของช่วงเวลาชีวิต

“ความทรงจำที่เราเลือกมามันก็เป็นสิ่งที่เรารู้สึกในแต่ละช่วงของชีวิต อย่างภาพที่มีพระจันทร์ เรากำลังสื่อถึงความสัมพันธ์ของเรากับแม่ เพราะเราสองคนไม่ค่อยโอเคกัน ไม่ใช่เพราะเรื่องที่เป็นกะเทยนะ และไม่ใช่ว่าไม่รักกัน เราเข้ากันไม่ได้ ก็เลยไม่ค่อยอยากใช้เวลากับเขาเท่าไหร่ นานๆ เจอที เพราะอยู่ด้วยกันนานๆ ก็จะเริ่มทะเลาะกัน

“มีวันหนึ่งตอนนั้นอยู่บูดาเปสต์ ฮังการี เรากำลังจะนอน เดินไปเปิดหน้าต่าง แล้วเห็นพระจันทร์ อยู่ดีๆ ก็คิดกับตัวเองว่าคิดถึงแม่จังเลย งงมาก เพราะไม่ใช่คนแบบนั้น แต่คิดถึงแม่ เราเลยทำงานชิ้นนี้ออกมามีรูปทรงของบ้านอยู่ตรงขวามือ แล้วมีผู้หญิงคนหนึ่งเป็นตัวแทนของเราซึ่งมีสายใยเยอะแยะโยงกับประตูที่ปิดอยู่ เหมือนเข้าไปไม่ได้ เราอยู่กันไกลๆ มีเส้นสายเชื่อมกัน มันเลยเป็นโมเมนต์ที่สะท้อนออกมาว่าเราคิดถึงบ้าน คิดถึงครอบครัว

“มีความทรงจำหนึ่งที่เราอยากเล่ามาก ตอนนั้นเราอยู่ไทยไปสังสรรค์กับเพื่อนที่ทำงานเก่า มีพี่คนหนึ่งลาออกเพราะเขาเป็นโรคซึมเศร้า เราก็คิดว่าทำไมคนเป็นโรคซึมเศร้ากันเยอะจัง ตอนกลับบ้านเราก็นั่งแท็กซี่จากราชเทวีผ่านช่วงสีลม นั่งมองกรุงเทพฯ ผ่านแสงนีออน ผ่านสิ่งต่างๆ แล้วเราก็รู้สึกว่าจริงๆ กรุงเทพฯ มันเหงามากเลย ทำไมมันเป็นเมืองที่เราเพิ่งไปปาร์ตี้มาสนุกสนาน แต่พอเรานั่งแท็กซี่ผ่านย่านต่างๆ มันเหงาจังเลยเนอะ แล้วคนก็เป็นซึมเศร้ากันเยอะ เราเลยเอามาถ่ายทอดเป็นภาพผู้หญิงนอนอยู่ในเมือง เหงาๆ ท่ามกลางตึก ชิงช้า ชิ้นนี้เป็นชิ้นที่เราชอบมาก

“อีกความทรงจำหนึ่งที่เรารู้สึก ตอนนั้นอยู่บูดาเปสต์ เวลาเราทำงานอยู่บ้านทั้งวัน เบื่อๆ ก็จะชอบไปยืนกินน้ำตรงหน้าต่าง แล้วก็มองไปที่หน้าต่างบ้านหนึ่ง ไฟสีส้มๆ มีต้นคริสต์มาสอยู่ในบ้าน เรามองแล้วเราก็จินตนาการว่ามันเหมือนเป็นอีกโลกหนึ่งเลย เป็นอีกที่ที่เราไม่รู้จัก เรานั่งมองไปก็คิดว่าชีวิตเขาจะเป็นยังไง ชีวิตคนเมืองเขาจะเหงาเหมือนเราไหม พอจินตนาการถึงแล้วมันก็ดูเหงา เลยถ่ายทอดออกมาเป็นภาพที่มีผู้หญิงมองออกไปนอกหน้าต่าง

“ส่วนอีกภาพที่มีลิงรายล้อมผู้หญิงคือเราอยากถ่ายทอดภาวะความคิดตอนทำงาน เราชอบคิดเยอะว่าคนจะชอบงานเราไหม งานจะดีหรือเปล่า เราเลยทำสเกตช์ที่มีลิงอยู่ใกล้ๆ กับความคิดพวกนี้ เปรียบว่าลิงมาทำทุกอย่างกระจัดกระจาย เพื่ออธิบายถึงสภาวะความคิดที่ไปเรื่อยๆ ของเรา เพราะระหว่างที่ทำงานมันเหมือนกับการวิปัสสนากรรมฐาน ใช้สมาธิเยอะ แล้วมันเงียบ เราต้องหยุดทำงาน เพราะว่าเรื่องราวในหัวมันไหลเข้ามา เราก็อยู่คนเดียว ความคิดมันเข้ามาบางทีก็ร้องไห้ เราไม่สามารถที่จะอยู่ได้ เราต้องพักก่อนแล้วกลับมาทำ”

ความทรงจำของความเศร้า

“จริงๆ เราเป็นคนไม่มั่นใจในตัวเองนะ ภายนอกเราเป็นคนอีกแบบหนึ่ง แต่จริงๆ แล้วเรามักบอกตัวเองว่าเราเก่งไม่พอ ดีไม่พอ สวยไม่พอ พอเศร้าเลยไม่รู้จะพูดกับใคร บางทีไปพูดกับที่บ้านหรือใคร ทุกคนจะสอนเรา ต้องแฮปปี้สิ แต่ตอนนั้นเราไม่ได้อยากแฮปปี้ แล้วความเศร้า ความเครียดมันก็ยังไม่หายไป มันก็ไม่ได้รู้สึกดีขึ้น

“แต่พอได้ถ่ายทอดความเศร้าออกมาเป็นงานเราก็เริ่มเข้าใจตัวเองมากขึ้น เวลาที่อยู่ในภาวะเครียด เศร้า หรือท้อ บางทีไม่ได้ต้องการคนมาปลอบใจ แค่ต้องการมีคนที่เห็นว่าเราเศร้า แค่เขาบอกว่าเราเข้าใจนะว่าเธอเจ็บ เธอเศร้า เราเห็นจริงๆ นะว่าเธอทำงานหนัก เธอเหนื่อย แค่นั้นเอง นี่คือสิ่งที่เราต้องการ แต่เราไม่สามารถที่จะไปบอกคนรอบตัวได้ว่า ฟังฉันสิ ช่วยฉัน เราไม่ได้เป็นคนแบบนั้น เราเลยเลือกที่จะเล่ามันออกมาเป็นงาน พอคนมาดู คนเขาเห็นความเศร้าของเรา เขาเข้าใจเราก็โอเคแล้ว เราอยากให้คนดูมองเห็นเราแค่นั้นเอง

“แล้วยิ่งได้ทำงานนี้ไปเรื่อยๆ เราก็พบว่าเราเข้าใจคนอื่นด้วย เรารู้สึกว่าคนที่เขารู้สึกเศร้า เหงา เขาต้องการแค่คนที่มองเห็นเขา เวลาเพื่อนเราเศร้าเราก็ฟังเขา ไม่ได้ไปแนะนำว่าเศร้าก็ต้องทำแบบนี้สิ เศร้าก็ต้องแฮปปี้สิ

“การจัดการปัญหามันไม่เหมือนกัน เราพอใจที่จะแก้ปัญหาของเราแบบนี้ ด้วยการเล่าออกมาเป็นเรื่องราว เก็บบันทึก ทำงานศิลปะ เพราะเราไม่สามารถจะไปหาคนเล่าเรื่องพวกนี้ให้ฟังได้ บางคนอาจจะมีวิธีการแก้ปัญหาความทุกข์คือไปเที่ยวต่างประเทศ ไปเที่ยวต่างจังหวัดก็ได้ แต่เมื่อเรารู้ว่าการทำงานศิลปะคือวิธีการจัดการของเรา เราโอเคกับการทำงานศิลปะตรงนี้ คนอื่นเขาก็มีวิธีการจัดการของคนอื่น มันก็เลยทำให้เรายอมรับคนอื่นไปได้โดยปริยาย”


ตามไปดูความทรงจำผ่านลายฉลุกระดาษของเต้–ณรัชต์ บริบูรณ์หิรัญธนา ในนิทรรศการ The Remembrance ได้ที่ Subhashok The Art Centre (S.A.C) งานจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน – 30 มิถุนายน 2562

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐปคัลภ์ ทัศนวิริยกุล

นักเรียนฟิล์มที่มาฝึกงานช่างภาพ รักการถ่ายรูป ชอบกินของอร่อย และชอบใช้เวลากับครอบครัว เพื่อนสนิท คนรัก