อะไรคือสิ่งที่ทำให้เราเป็นเรา นอกจากรูปร่างหน้าตาภายนอกและท่าทางที่ไม่เหมือนกันแล้ว อะไรคือสิ่งที่ทำให้คนคนหนึ่งเป็นตัวของตัวเอง จะใช่อาชีพ ความชอบ แพสชั่นในสิ่งที่ตัวทำหรือเปล่า หรือจะเป็นจุดมุ่งหมายในชีวิตของแต่ละคน ประสบการณ์ และความจำส่วนตัวที่ก่อร่างให้เราเป็นเราในทุกวันนี้
ลองสมมติว่าคุณอ่านประโยคนี้จบแล้วคุณลืมทุกรายละเอียดข้างบนจนไม่เหลือ วันหนึ่งคุณตื่นมาแล้วจำไม่ได้ว่าชอบอะไร อาชีพที่ทำมาทั้งชีวิตคืออะไร แพสชั่นของคุณคืออะไร ใครคือคนที่คุณรักมากที่สุด คุณรู้ว่าคุณลืมแต่นึกไม่ออกว่ามันคืออะไร รู้แค่ว่าสิ่งที่ทำให้คุณเป็นคุณหายไปจนกลายเป็นรูโบ๋ และสิ่งนั้นหายไปแล้วตลอดกาล นี่เองคือสิ่งที่ผู้มีอำนาจในสังคมของคุณเลือกที่จะทำกับคุณผู้เป็นประชาชนใต้อาณัติ และคุณเองก็ทำอะไรไม่ได้นอกจากยอมรับมันแล้วใช้ชีวิตต่อไปในความขาดวิ่นว่างโหวงนี้
นี่คือไอเดียหลักอันน่ากลัวของ The Memory Police นวนิยายกึ่งไซ-ไฟปี 1994 ของ Yoko Ogawa ที่เพิ่งได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษในปี 2019 จนได้เข้าชิงรางวัล International Booker Prize ประจำปี 2020 และเพิ่งแปลเป็นภาษาไทยในชื่อ ‘ความจำที่สาบสูญ’ โดย อาภาพร วิมลสาระวงค์ สำนักพิมพ์ไจไจบุ๊คส์ ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา และอาจกล่าวได้ว่า หนังสือเล่มนี้เกี่ยวข้องกับชีวิตของพวกเราชาวไทยมากกว่าที่หลายคนคาดคิด
2.
บนเกาะเกาะหนึ่งที่ไม่ปรากฏชื่อ เหมือนจะเป็นเกาะหนึ่งในญี่ปุ่นแต่ก็ไม่แน่ ‘ความหมาย’ ของสิ่งต่างๆ บนเกาะค่อยๆ ถูก ‘สั่งให้หายไป’ ทีละชิ้นด้วยพลังลึกลับบางอย่าง ไม่มีใครรู้ว่ามันมาจากไหน เกิดขึ้นมาได้ยังไง รู้แต่ว่ามันมาพร้อมกับการปรากฏตัวของเหล่าหน่วยตำรวจลับ Memory Police เมื่อ 15 ปีก่อน อยู่มาวันหนึ่งคนทั้งเกาะตื่นมาแล้วลืมความหมายของสิ่งหนึ่งไปพร้อมกัน ตัวอย่างเช่น คุณตื่นขึ้นมาวันหนึ่งอาจจะเห็น ‘ดินสอ’ ตรงหน้าแล้วไม่รู้ว่ามันคืออะไร เห็นแค่ว่าเป็นแท่งไม้อันหนึ่งที่ลืมไปแล้วว่าหน้าที่ของมันมีไว้ทำอะไรบางอย่าง
ทุกคนรู้ว่าลืมอะไรไปบางอย่าง แต่ไม่สามารถเอาความทรงจำนั้นกลับมาได้ ไม่อาจแม้แต่จะเข้าใจว่าลืมอะไรไป ร้ายไปกว่านั้น เมื่อลืม ‘ความหมาย’ ของสิ่งเหล่านั้นไปแล้ว ความทรงจำที่มีร่วมกันกับสิ่งเหล่านั้นก็หายตามไป ราวกับว่าโลกนี้ไม่เคยมีสิ่งเหล่านั้นมาก่อน
สิ่งของเหล่านั้นจะถูกกวาดล้างโดยเหล่าตำรวจลับ Memory Police ที่ปกครองเกาะนี้ โดยที่ไม่มีใครรู้ว่าหน่วยตำรวจนี้มาจากไหน เป็นใคร และต้องการควบคุมทุกคนไปเพื่ออะไร รู้เพียงว่า เมื่อมีการทำให้ลืมเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ตำรวจจะทำให้สิ่งนั้นหายไปตลอดกาล แล้วสุดท้ายทุกคนก็ลืมว่าตัวเองเคยลืม ใช้ชีวิตต่อไป จนกว่าสิ่งของชิ้นต่อไปจะถูก ‘ทำให้ลืม’ อีก
มีหลายคนที่อาจจะยังจดจำบางสิ่งบางอย่างได้แม้คนรอบตัวจะลืมสิ่งเหล่านั้นไปแล้ว ทว่าคนเหล่านี้ก็จะถูกตามล่าโดยหน่วยตำรวจลับที่พร้อมจับใครก็ตามที่ยังฝืนจำหรือเก็บรักษาสิ่งต่างๆ และทำให้คนเหล่านั้น ‘หายตัว’ ไปตลอดกาล
ใน The Memory Police ตัวละครหลักของเรื่องเป็นนักเขียนหญิงคนหนึ่งที่พบว่าบรรณาธิการคนสนิทของตัวเองยังดันจำบางสิ่งต่างๆ ได้อยู่ เลยต้องซ่อนเขาไว้ในบ้านของเธอ และต้องหาทางใช้ชีวิตต่อไปให้ได้เมื่อของใกล้ตัวเธอค่อยๆ หายไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายทุกสิ่งรอบตัวอาจจะไม่เหลืออะไรอีก
3.
“สำหรับผู้ควบคุมแล้ว บนเกาะแห่งนี้ สิ่งของทั้งหลายต้องค่อยๆ หายไปตามลำดับ เพียงแค่บางอย่างไม่หายไปก็คงดูไม่ถูกหลักเหตุผลและกลายเป็นปัญหา พวกเขาเลยดึงดันที่จะทำให้มันหายไปด้วยมือของตัวเอง”
หนังสือเล่มนี้เต็มไปด้วยกลิ่นอายของวรรณกรรมโลกเผด็จการคลาสสิกอย่าง 1984 ของ George Orwell ไปจนถึงผลงานชิ้นต่างๆ ของ Franz Kafka เป็นการต่อยอดคอนเซปต์ที่ผลงานรุ่นก่อนหน้าตั้งไว้ไปสู่ความน่าสะพรึงกลัวอีกขั้น เพราะในโลกนี้ อำนาจของภาครัฐยิ่งใหญ่กว่าการใช้กระบวนกฎหมายเล่นงานพลเมืองหรือเซ็นเซอร์สั่งห้ามไม่ให้พูด ภาครัฐใน The Memory Police สามารถล้วงมือเข้าไปในหัวสมองของทุกคนแล้วกระทำการขืนใจทางความคิด ขโมยคอนเซปต์บางอย่างให้หายไปจากสำนึกคนได้โดยง่ายแค่กระดิกปลายนิ้ว นี่คือการควบคุมความคิดโดยสมบูรณ์ คนเราจะลุกขึ้นสู้กับภาครัฐที่มีกระบวนการนี้ในมืออย่างไร ถ้าแค่จะจำให้ได้ว่าตอนแรกจะขัดขืนเรื่องอะไรยังเป็นไปไม่ได้เลยด้วยซ้ำ
ในโลกของ The Memory Police เมื่อสิ่งใดถูกตัดสินให้ต้องหายไป สิ่งแรกที่ประชาชนจะรู้คือ ตื่นมาแล้วรู้สึกว่ามีบางสิ่งแปลกไป รู้พร้อมกันทั้งเกาะ แต่ไม่มีวันรู้ว่าสิ่งที่หายไปนั้นคือสิ่งไหน จนกว่าตาจะได้เห็นสิ่งนั้นๆ แล้วรู้ตัวว่าทุกสิ่งที่รู้เกี่ยวกับสิ่งนั้นหายไปแล้วจากหัวสมองจนหมดสิ้น แค่จะนึกคำเรียกสิ่งนั้นยังนึกไม่ออก ทุกคนถึงได้รู้ว่าสิ่งนั้นถูกตัดสินให้ถูกลืมไปแล้ว โดยไม่มีท่าที ไม่มีหลักเหตุผลว่าอะไรจะหายก่อนหลัง ไม่มีคำเตือนล่วงหน้า
แนวคิดต่างๆ ที่อยู่รอบตัวคนบนเกาะถูกกำจัดวงแคบลงเรื่อยๆ โดยที่คนบนเกาะไม่มีทางขัดขืน คนบนเกาะได้แต่พบว่าชีวิตของตัวเองว่างโหวงเป็นแหว่งๆ เหมือนเราปรายตามองโลกรอบตัวแล้วเห็นช่องว่างที่เคยมีสิ่งต่างๆ มากมายที่เคยมีของต่างๆ วางอยู่ รู้ตัวว่าชีวิตของตัวเองเคยมีอะไรมากกว่านี้ รู้ว่ามีสิ่งที่หายไป แต่นึกไม่ออกว่าสิ่งนั้นคืออะไร
ซึ่งเมื่อสิ่งต่างๆ บนเกาะนี้หายไปเรื่อยๆ เป็นไปได้หรือไม่ว่าสุดท้ายแล้วทั้งเกาะอาจจะไม่เหลืออะไรอีก อย่างที่ตัวละครเอกในเรื่องถามชายแก่ผู้เคยเป็นช่างซ่อมเรือเฟอร์รี่เชื่อมเกาะกับแผ่นดินใหญ่ที่ตกงานถึงคำว่า ‘เรือเฟอร์รี่’ ซึ่งถูกสั่งให้หายไปว่า “แม้ไม่ได้รุนแรงแต่รวดเร็วราบคาบและสมบูรณ์แบบ ช่องว่างของสิ่งที่หายไปแล้วไม่สามารถจะกลบจนหมดได้ เกาะนี้เลยเต็มไปด้วยโพรงกลวง หนูกลัวว่ามันจะโหวงเหวงล่องลอย แล้ววันหนึ่งเกาะทั้งเกาะก็จะละลายหายไปอย่างไม่เหลือร่องรอย คุณตาไม่เคยคิดอย่างนั้นบ้างเหรอคะ”
3.
คนเราจะอยู่ไปเพื่ออะไร ในโลกที่อนาคตของทุกคนกำลังถูกภาครัฐที่ไม่อาจขัดขืนขโมยไปทีละชิ้นๆ จนสุดท้ายแล้วอาจไม่เหลืออะไรอีก
ไม่เพียงแค่อนาคตที่หายไป เพราะร้ายไปกว่านั้น การทำให้ความหมายของสิ่งต่างๆ หายไปตรงหน้ายังมีผลย้อนไปยังความทรงจำและความรู้สึกของคนบนเกาะเกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้นอีกด้วย
สำหรับผู้เขียน ความทรงจำและการเรียนรู้คือสิ่งที่ทำให้ทุกคนเป็นตัวของตัวเอง การเลี้ยงดูในวัยเด็ก การเติบโต ความสัมพันธ์ทั้งมิตรภาพและครอบครัวที่แตกต่างกันของแต่ละคน ล้วนเป็นรากที่แตกหน่อออกมาเป็นมนุษย์แต่ละคนที่มีอัตลักษณ์เป็นของตัวเอง
สิ่งที่เกิดขึ้นกับคนใน The Memory Police คือการที่รากที่ว่านี้ถูกขโมยหายไปในชั่วข้ามคืนจนเหลือแต่ต้นเปล่าๆ ที่พร้อมจะล้มในทันทีหากมีแรงลม ไม่มีอะไรให้เกาะยึด ความทรงจำที่แต่ละคนยึดโยงอัตลักษณ์ของตัวเองไว้ไม่มีเหลือ นอกจากความทรงจำจะหายไป ความรู้สึกร่วมที่มีกับสิ่งเหล่านั้นก็หายไปด้วย เมื่อดอกกุหลาบถูกสั่งให้หายไปจากทั้งเกาะในต้นเรื่อง ตัวละครเอกได้แต่มองผู้หญิงคนหนึ่งเด็ดดอกกุหลาบซึ่งเป็นสิ่งที่เหลือต่างหน้าพ่อของเธอเป็นอย่างสุดท้ายทิ้งลงแม่น้ำอย่างไร้อารมณ์ความรู้สึก เพราะความสัมพันธ์ของเธอที่มีกับดอกไม้แสนรักในมือได้อันตรธานหายไปหมดแล้ว ความผูกพันกับคนในครอบครัวที่อาจยึดโยงอยู่กับของบางสิ่งในอดีตล้วนต้องปลาสนาการไปเมื่อภาครัฐสั่งให้สิ่งนั้นถูกลืม อาชีพ ความฝันที่เราทุ่มเทให้กับมันมาทั้งชีวิตอาจหายไปได้ทุกเมื่อเพียงเมื่อภาครัฐสั่งให้มันหายไป
เมื่อภาครัฐไม่ได้แค่ควบคุมว่าคนใต้อาณัติจะคิดจะพูดอะไรได้บ้างเท่านั้น แต่ยังสั่งลบตัวตนของทุกคนให้หายไปทีละเสี้ยวได้อย่างไม่ไยดีจนทุกคนสูญสิ้นความเป็นตัวเอง เมื่อนั้นเราก็ไม่ต่างจากร่างกายใต้บงการของผู้มีอำนาจ ที่ไม่มีตัวตนเป็นของตัวเอง เป็นแรงงานที่มีอยู่เพื่อถูกใช้แล้วก็ตายไปเท่านั้น
แต่สิ่งที่อาจจะน่าขนลุกกว่าการลบความหมายด้วยพลังลึกลับมหากาฬของภาครัฐ หรือความทรงจำของทุกคนที่ค่อยๆ หดหายไป อาจเป็นความรู้สึกต่อเหตุการณ์ทั้งหมดของคนบนเกาะที่ไม่ได้แค่ยอมจำนนต่อสถานการณ์แต่ยังพร้อมเพรียงกันออกมาช่วยทำให้ตัวเองลืม เมื่อใดที่ภาครัฐสั่งให้บางสิ่งบนเกาะหายไป คนทั้งเกาะก็จะออกมาร่วมเผาทำลาย ชะล้างสิ่งของเหล่านั้นให้หายไปจากเกาะให้เร็วที่สุด แน่นอนส่วนหนึ่งก็เพราะว่าทุกคนกลัวเหล่า Memory Police จะมาเยือน แต่อีกส่วนกลับกลายเป็นว่าที่ทุกคนทำอย่างนั้นก็เพราะเมื่อความเห็นค่าที่เชื่อมโยงกับของเหล่านั้นถูกทำให้หายไป ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะเก็บของเหล่านั้นไว้เตือนใจตัวเอง อาจจะดีกว่าถ้าทำให้ทุกอย่างหายๆ ไป อีกแค่สามสี่วันก็ชิน ใช้ชีวิตอยู่ได้เหมือนไม่เคยมีสิ่งนั้นมาก่อน โดยไม่แม้แต่จะคิดเผื่อว่าการเห็นสิ่งเหล่านั้นอาจทำให้ความทรงจำของพวกเขากลับคืนมาก็ได้
นี่คือตัวอย่างของการที่ภาครัฐสร้างวัฒนธรรมการ ‘ลืม’ ยืมมือทุกคนมาช่วยกัน ‘บิ๊กคลีนนิ่ง’ ทำลายสิ่งที่ภาครัฐไม่พึงประสงค์ แล้วทุกคนก็จะปลงและ ‘ยอมรับ’ มัน เมื่อเรายอมรับการทำลายอดีตและประวัติศาสตร์ของเราด้วยมือของเราเอง เราก็จะหมดข้ออ้างที่จะปฏิเสธว่าเราไม่เกี่ยวข้อง เป็นการแสดงความจำนนอยู่ใต้อาณัติอย่างสมบูรณ์
“ใช่ครับ เทียบกับเมื่อก่อนโพรงกลวงในเกาะอาจจะเพิ่มขึ้น จริงๆ ตอนผมยังเด็ก ไม่รู้จะอธิบายยังไงดี เหมือนว่าอากาศเคยอัดแน่นเต็มอยู่ทั่วเกาะ แต่ตอนนี้อากาศนั้นก็ค่อยๆ โหวงเหวงลงไปพร้อมกับจิตใจของพวกเราที่เปราะบางลงไปด้วย แต่เพราะอย่างนั้นทุกอย่างจึงรักษาสมดุลไว้ได้จริงไหมครับ อาจมีช่วงที่เกือบจะเสียศูนย์ไปบ้าง แต่สุดท้ายเราก็จะปรับสมดุลกลับมา ไม่มีทางกลายเป็นศูนย์ไปได้ เหมือนกับกฎของแรงดันออสโมติกนั่นแหละครับ เพราะฉะนั้นคุณหนูเองก็จะไม่เป็นไร” ชายแก่อดีตช่างซ่อมเรือเฟอร์รี่พูดกับตัวละครเอกของเรื่องไว้เช่นนี้ เป็นคำพูดของคนที่หลอกตัวเองเรียบร้อยแล้วว่าเรื่องราวต่างๆ ไม่มีวันแก้ไข
ทุกคนบนเกาะนี้เลยใช้ชีวิตอยู่ในสุญญากาศ ที่ชีวิตมีแค่ปัจจุบัน ไม่มีอดีตไว้เกาะยึดว่าเราเป็นใครมาจากไหน และไม่มีอนาคตให้ใฝ่หวัง เพราะสิ่งที่เราทุ่มเททำในวันนี้อาจถูกภาครัฐสั่งให้หายไปในอนาคตเมื่อไหร่ก็ได้ คนบนเกาะนี้จึงได้แต่ใช้ชีวิตอย่างตายทั้งเป็นไปวันๆ ไม่ต่างจากวิญญาณล่องลอยไร้จุดหมายที่รอแค่ให้ทุกๆ อย่างรอบตัวมลายหายไป
4.
น่าคิดว่าโยโกะ โอกาวะ นักเขียนหนังสือเล่มนี้จะรู้สึกอย่างไรถ้ารู้ว่าข้ามทะเลจีนใต้มาไม่ไกลมีอีกประเทศหนึ่งในโลกความเป็นจริงที่ไม่ได้เอาหนังสือของเธอไว้เตือนใจ แต่เหมือนเอามาใช้เป็นคู่มือ
เป็นประเทศใต้การปกครองเผด็จการที่รักในการลบอดีต ล้างประวัติศาสตร์จนคนทั้งประเทศชาชินจนอาจถึงขั้นรักในการเป็นลูกไก่ในกำมือของกลุ่มคนไม่กี่คน เป็นประเทศที่ลืมง่าย มีวัฒนธรรมที่สร้างให้คนมูฟออนเก่ง ส่วนผู้มีอำนาจที่กระทำการเลวร้ายต่างๆ ก็ไม่เคยต้องรับผิดชอบใดๆ เพราะหลังออกข่าวแค่สามสี่วันคนทั้งประเทศนี้ก็ลืม เดือนที่แล้วประเทศนี้มีภาพหลุดนายตำรวจรุมทำร้ายผู้ต้องสงสัยในคดียาเสพติดจนตายออกมา ตอนนี้นายตำรวจคนนั้นยังอยู่ในประเทศอยู่หรือไม่ ไม่มีใครรู้ ถ้าไม่พูดขึ้นมาอาจไม่มีใครจำคดีนี้ได้เลยด้วยซ้ำ
ขณะที่เด็กๆ ในประเทศนี้ถูกสอนประวัติศาสตร์แค่การสร้างชาติจนถึงสงครามโลก แล้วก็กด skip ข้ามมายุคพฤษภาทมิฬทันที ต่อจนถึงแค่ต้นยุค 40 แล้วประวัติศาสตร์ของทั้งประเทศก็จบลงเท่านั้น ราวกับว่าช่วง 60 ปีระหว่างนั้นไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น หลับตาแล้ว 60 ปีนั้นก็หายวับไป ไม่เคยมีรัฐบาลเผด็จการเต็มสูบนับสิบรัฐบาล ไม่เคยมีการขายทั้งประเทศชาติให้จักรวรรดิมหาอำนาจตะวันตกทำสงครามในภูมิภาค ไม่เคยมีการเข่นฆ่านักศึกษาเลือดอาบเมืองหลวง ไม่เคยมีการจับคนบริสุทธิ์มานั่งถังแดงเผาไฟ ไม่เคยมีการยิงมัสยิดใดๆ ราวกับว่าการพูดถึงมันขึ้นมาจะทำให้เกิดความเดือดร้อนกับคนที่อยู่ในอำนาจ ทำให้ฐานรากที่สร้างชาติขึ้นมาต้องพังพินาศลงเป็นโดมิโน่ คนรุ่นใหม่ถูกขโมยประวัติศาสตร์รากเหง้ายุคสมัยใหม่ไปจนหมดสิ้นไม่เหลือ
ซึ่งก็ไม่เพียงแต่ภาครัฐที่สั่งให้เรื่องนี้หายไป แต่ประชาชนด้วยกันเองก็เลือกที่จะปิดหูปิดตา คนรุ่นเก่าร่วมกันชำระให้สิ่งเหล่านี้มันหายไป ยืมมือกันถอนรากของกันและกันเพราะกลัวว่าเปิดออกมาแล้วจะมีแต่เน่าหนอน ช่วยกันอมพะนำไม่ให้คนรุ่นใหม่รู้ โดยหารู้ไม่ว่าไม่ใช่แค่ประชาชนรุ่นใหม่ที่ไร้ราก แต่มันคือทั้งประเทศที่โงนเงนรอวันลมพัดตึงให้ล้มลงมาทั้งยวงในเวลาที่อาจจะเร็วกว่าที่ทุกคนคิด
ดูราวกับว่าอนาคตของประเทศนี้ช่างมืดมิดไม่ต่างจากชะตาของคนบนเกาะใน The Memory Police แต่ในเงามืดของการลบและลืม หนังสือเล่มนี้ก็เสนอวิธีชะลอหายนะที่กำลังมาถึงนี้อยู่หนึ่งวิธี
ถ้าคนมีอำนาจอยากทำให้สิ่งต่างๆ หายไป บางทีหน้าที่ของเราคือการสวนทางกระบวนการนี้ด้วยการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ขึ้นมาใหม่ ทดแทนสิ่งที่หายไปด้วยสิ่งที่เราสร้างขึ้นเอง ถ้าภาครัฐควบคุมโลกความเป็นจริงของเราไปหมดสิ้น บังคับให้ทุกอย่างคงที่และหายไป แม้เราจะเอาสิ่งเก่ากลับมาไม่ได้ เราก็จงสร้างโลกจินตนาการขึ้นมาด้วยความสร้างสรรค์ เขียนนิยาย ทำหนัง แต่งเพลง สร้างผลงานศิลปะ ฝ่าความสิ้นหวังแล้วแสดงตัวตนข้างในของเราออกมาเติมเต็มโลกที่ว่างโหวงด้วยสิ่งใหม่เช่นตัวละครเอกของเรื่องที่เป็นนักเขียนนิยายในโลกที่สิ่งต่างๆ หายไปเร็วกว่ามีสิ่งใหม่เกิดขึ้นมา เช่นเดียวกับที่บรรณาธิการของตัวเองพูดกับเธอเมื่อกำลังสิ้นหวังว่า
“คุณคงคิดว่าทุกครั้งที่มีการสาบสูญความจำก็จะหายไป แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่อย่างนั้น มันแค่ลอยอยู่ใต้น้ำที่แสงส่องไปไม่ถึง เพราะอย่างนั้นถ้าเอามือควานลงไปลึกๆ ก็จะสัมผัสอะไรสักอย่างได้แน่นอน ช้อนมันขึ้นมาให้ถูกแสงแดด ผมทนไม่ได้แล้วที่จะอยู่เงียบๆ คอยมองเห็นจิตใจของคุณเปราะบางลงไปเรื่อยๆ แบบนี้”
ก่อนที่วิญญาณพวกเราจะฝ่อโดยสมบูรณ์แบบ ก่อนความหวังในชีวิตอนาคตจะถูกกลืนกินโดยพละอำนาจโดยสมบูรณ์ เราต้องไม่ยอม ต้องสร้างโลกที่เราอยากเห็นออกมา เราอาจจะเอารากของเราที่โดนตัดเหี้ยนไปแล้วคืนมาไม่ได้ แต่เราสามารถงอกกิ่งใหม่เพื่อยึดโยงกันและกันเป็นปึกแผ่นให้ไม่ล้มลง รอเห็นหน่อรุ่นใหม่แทงตัวขึ้นมาจากพื้นดินอีกครั้ง เพื่อคืนผืนป่ากลับสู่สิ่งที่มันเคยเป็น และเปิดที่ให้มันงอกเงยอย่างที่มันควรจะเป็น