อดีตไม่เคยตาย ที่จริงมันไม่เคยเป็นอดีตด้วยซ้ำ ‘บ่มีวันจาก’ หนังไซไฟ-เขย่าขวัญจากลาว

Highlights

  • บ่มีวันจาก (The Long Walk) เล่าเรื่องของชายไร้ชื่อคนหนึ่งที่ใครๆ ต่างก็เรียกว่า ‘ลุง’ ที่สามารถมองเห็นวิญญาณของผู้คนที่ตายไปแล้วได้ ควบคู่ไปด้วยกัน เขายังมีความสามารถ ‘เดินทางข้ามเวลา’ ซึ่งเขาก็มักจะย้อนกลับไปในอดีตสมัยที่เขายังเป็นเด็ก และแม่ของเขายังมีชีวิตอยู่
  • บ่มีวันจาก คือภาพยนตร์ที่มีกลิ่นอายของวิทยาศาสตร์ แต่ควบคู่ไปด้วยกัน หนังเรื่องนี้ยังได้ผูกโยงความเชื่อแบบศาสนาพุทธ กฎแห่งกรรม และสังสารวัฏเข้าไปด้วย
  • แม้ว่าฉากหลังของ บ่มีวันจาก  จะเป็นประเทศลาวในอนาคตอันใกล้ แต่สภาพความเป็นอยู่ของประชาชนกลับไม่ได้แตกต่างไปจากปัจจุบันมากนัก อย่างที่ Mattie Do ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้กล่าวว่า "เมื่อกระแสการพัฒนาเดินทางมาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศลาว แม้ว่าในแง่หนึ่งสังคมของเราดูจะก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็วก็จริง แต่ขณะเดียวกันกลับยังมีผู้คนและพื้นที่อีกมากที่ยังถูกหลงลืมและถูกปล่อยทิ้งไว้ข้างหลัง"

1.

ในอนาคตอันใกล้ ประเทศลาวดูจะแตกต่างจากปัจจุบันอยู่สักหน่อย นั่นเพราะประชาชนทุกคนล้วนฝังชิปในท่อนแขน จับจ่ายใช้สอยสิ่งต่างๆ ผ่านเงินดิจิทัลที่รวดเร็วและง่ายดาย ส่วนบุหรี่และยาเส้นก็ถูกแทนที่ด้วยบุหรี่ไฟฟ้าที่หน้าตาทันสมัย และนานๆ ที–ระหว่างที่ดำเนินชีวิตประจำวันอย่างปกติทั่วไป–เครื่องบินเจ็ตสักลำหนึ่งก็จะสปีดพุ่งผ่านหัวชาวบ้านไป ปราศจากอาการตื่นตระหนกตกใจ ไม่มีใครรู้สึกว่าเครื่องบินเจ็ตเป็นสิ่งแปลกปลอมอีกต่อไป แม้กระทั่งในประเทศโลกที่สาม

แต่เทคโนโลยีล้ำสมัยเหล่านี้ก็เป็นเพียงแค่ความแตกต่างจากปัจจุบันอยู่ ‘สักหน่อย’ นั่นเพราะสภาพความเป็นจริงซึ่งดำรงอยู่อย่างควบคู่ไปกับความทันสมัยเหล่านี้ คือถนนลูกรัง บ้านไม้ผุพัง และคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ยังคงแร้นแค้นอัตคัด ไม่ต่างอะไรจากชีวิตของคนลาวบางพื้นที่ในปัจจุบัน ไม่ต่างอะไรจากอดีตที่ผ่านเลยไปแล้วเป็นสิบๆ หรือห้าสิบปี

The Long Walk

2.

บ่มีวันจาก (The Long Walk) เล่าเรื่องของชายไร้ชื่อคนหนึ่งที่ใครๆ ต่างก็เรียกว่า ‘ลุง’ กิจวัตรประจำวันของเขาในวันหนึ่งๆ วนเวียนอยู่กับการหาเหล็กและสายไฟมาขายให้กับร้านชำเก่าๆ ในหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่ง แม้ว่าตัวเลขเงินดิจิทัลที่เจ้าของร้านโอนให้กับลุงผ่านชิพในท่อนแขนจะน้อยแสนน้อย แต่ลุงก็ทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าจำใจยอมรับ หยิบบุหรี่ไฟฟ้าขึ้นมาพ่นควัน ก่อนจะเดินออกจากร้านไปอย่างเงียบๆ 

ในด้านหนึ่ง ลุงคือคนขายของเก่าทั่วๆ ไป แต่อีกหน้าที่หนึ่งซึ่งเขาปฏิบัติอยู่เรื่อยๆ โดยไม่มีใครรับรู้คือการ ‘การุณยฆาต’ (euthanasia) เพื่อปลดปล่อยมนุษย์ (ทุกคนล้วนเป็นผู้หญิง) จากความทุกข์ทรมานในวาระสุดท้ายของชีวิต สำหรับลุงแล้วการฆ่าในลักษณะนี้คือความเมตตาอย่างที่สุดสำหรับหลายๆ ชีวิต ซึ่งเมื่อเขาได้ปลิดลมหายใจของเหล่าผู้ทุกข์ทนแล้ว ลุงก็จะลำเลียงร่างที่ไร้ชีวิตมาฝังไว้ในสวนดอกไม้เล็กๆ ใกล้บ้านไม้ผุพังของเขา สวนดอกไม้ที่เต็มไปด้วยศาลไม้หลังน้อยอันเป็นเสมือนบ้านหลังเล็กๆ ของเหล่าวิญญาณผู้ทนทรมานที่ไม่สามารถไปผุดไปเกิดได้ จำต้องวนเวียนอยู่บนโลกต่อไปตราบใดที่ร่างกายของพวกเขายังไม่ถูกประกอบพิธีทางศาสนา

ลุงมองเห็นวิญญาณของผู้คนเหล่านั้น และควบคู่ไปด้วยกันลุงก็สามารถ ‘เดินทางข้ามเวลา’ ได้ การย้อนอดีตคือกิจวัตรที่ลุงทำบ่อยๆ โดยที่ช่วงเวลาซึ่งเขามักจะย้อนกลับไปอยู่เสมอ คือวันวานที่เขายังเป็นแค่เด็กชายตัวน้อย อาศัยอยู่กับพ่อที่ไม่ได้เรื่อง และแม่ที่ป่วยกระเสาะกระแสะ 50 ปีก่อน บนถนนดินแดงที่เด็กน้อยจะเดินตุปัดตุเป๋เคียงข้างแม่ของเขาไปนั่งขายผักบนเพิงไม้เล็กๆ นั่นคือช่วงเวลาแสนล้ำค่าที่แนบสนิทอยู่ในความทรงจำของลุงอย่างที่ไม่มีเหตุการณ์ใดจะแทนที่ได้ 

จากอนาคตอันใกล้ ลุงเดินทางย้อนเวลากลับไป ยืนมองตัวเองในอดีตที่ยังคงยิ้มแย้มอย่างไร้เดียงสาได้อยู่ไกลๆ เพียงเพราะเด็กน้อยยังไม่รู้ว่า แม่กำลังจะจากเขาไปด้วยโรคร้ายที่ไม่มีวันจะรักษาหายได้ภายใต้ทุนทรัพย์ และกำลังแรงของเด็กชายตัวเล็กๆ คนหนึ่งพึงมี

The Long Walk

3.

ในบทสัมภาษณ์หนึ่ง Mattie Do ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้เล่าว่า หนึ่งในประเด็นที่กลายมาเป็นคำถามสำคัญของ บ่มีวันจาก  คือ ‘ถ้าเราสามารถย้อนกลับไปเปลี่ยนแปลงอดีตได้ แล้วใครกันล่ะที่จะยืนยันได้ว่าการกระทำนี้คือสิ่งที่ดีจริงๆ’ 

สำหรับแมตตี้แล้ว การย้อนเวลากลับไปแก้ไขความผิดพลาดในอดีตดูจะเป็นอะไรที่ชวนให้เคลือบแคลงใจอยู่ไม่น้อย เพราะแม้ว่าในทางหนึ่งทฤษฎีนี้จะฟังดูเย้ายวนชวนฝัน แต่ใครกันล่ะที่จะรับประกันได้ว่า การจะเปลี่ยนแปลงอะไรใดๆ ในอดีตเพื่อหวังยกระดับคุณภาพชีวิตในปัจจุบันจะนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่คาดการณ์ไว้ เป็นไปได้จริงๆ เหรอที่การ ‘บิดผันความเป็นจริง’ ด้วยการย้อนกลับไปปรับเปลี่ยนอดีตจะนำไปสู่การเกิดขึ้นของความเป็นจริงใหม่ที่ดีขึ้นกว่าเดิมอยู่เสมอ

The Long Walk

ผ่านเรื่องราวของตัวละครที่สามารถเดินทางข้ามเวลา ฟังดูคล้ายว่า บ่มีวันจาก จะเป็นภาพยนตร์ที่มีกลิ่นอายของวิทยาศาสตร์อย่างเต็มที่ ทว่า sci-fi เป็นเพียงแค่วัตถุดิบเล็กๆ ของภาพยนตร์เรื่องนี้เท่านั้น เพราะอีกหนึ่งวัตถุดิบสำคัญคือความเชื่อแบบศาสนาพุทธ กฎแห่งกรรม และสังสารวัฏ

หากลองเชื่อมโยงวัตถุดิบเหล่านี้กับประเด็นของแมตตี้เรื่องการเปลี่ยนแปลงอดีต คำถามคือ หากเราสามารถย้อนกลับไปแก้ไขอดีตได้จริง นั่นเท่ากับว่ากรรมใดๆ ก็ตามที่เป็นผลลัพธ์จากการกระทำหนึ่งๆ ของเราซึ่งเปลี่ยนแปลงไปแล้วจะเท่ากับถูก ‘ยกเลิก’ ไปด้วยไหม พูดอีกอย่างคือ หากอดีตเป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงกันได้ นั่นเท่ากับว่า มนุษย์ก็สามารถเปลี่ยนแปลงกฎแห่งกรรมได้ด้วยหรือเปล่า เพราะหากเป็นเช่นนี้แล้ว นั่นย่อมเท่ากับว่า มนุษย์ไม่เพียงแต่จะเป็นนายใหญ่เหนือกาลเวลา แต่ยังรวมถึงกฎเกณฑ์ใดๆ ก็ตามที่คอยกำหนดความเป็นไปของมนุษย์อย่างเคร่งครัดเสมอมาอีกด้วย คำสอนที่ว่า ‘กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นย่อมคืนสนอง’ จึงใช้การไม่ได้อีกต่อไป

เพียงแต่แมตตี้ดูจะไม่เชื่อเช่นนั้น เพราะแม้ว่าการเดินทางย้อนเวลาจะเป็นความสามารถเหนือมนุษย์ แต่ถึงที่สุดแล้ว ลุงก็ยังเป็นแค่มนุษย์คนหนึ่งที่ล้มเหลวในการจะควบคุมผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นของปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปภายใต้การย้อนกลับไปแก้ไขอดีต 

เป้าหมายของลุงคือการช่วยให้แม่ของเขาหายป่วยจากโรคร้าย หรืออย่างน้อยๆ ก็ไม่ต้องทนทรมานอย่างแทบจะเป็นจะตายเมื่อวาระสุดท้ายของชีวิตเดินทางมาถึง ทว่ายิ่งเขาย้อนเวลากลับไปปรับเปลี่ยนอดีตเท่าไหร่ ปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปกลับยิ่งจะฉิบหาย และหลุดพ้นจากการควบคุมไปเรื่อยๆ แม้ว่าเจตนาในการจะเปลี่ยนแปลงอดีตของลุงจะไม่ได้เลวร้ายอะไรเลยด้วยซ้ำ เพราะเขาเพียงแค่อยากจะรักษาแม่ของตัวเองให้หาย เพียงแต่ ‘เจตนาดี’ กลับดูจะไม่ใช่ประเด็นที่สลักสำคัญสักเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับความอหังการของเขาที่กล้าจะต่อรองและท้าทายกับพลังอำนาจใดๆ ก็ตามที่ย่ิงใหญ่ และพ้นไกลเกินกว่าที่ตัวเขาจะควบคุมได้

มนุษย์ตัวเล็กๆ อย่างเราๆ ไม่ได้มีพลังอำนาจมากล้นขนาดนั้นหรอก

The Long Walk

4.

ใน บ่มีวันจาก  กฎแห่งกรรมทำงานอย่างอิสระอยู่เสมอ นั่นจึงเป็นสาเหตุว่าทำไมปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปจึงอยู่นอกเหนือจากการรับรู้ของลุงโดยสิ้นเชิง เขาจะควบคุมเวลาได้ดังใจ หากนั่นก็เป็นคนละเรื่องอย่างสิ้นเชิงกับการจะควบคุมกฎแห่งกรรม

กล่าวคือ เมื่อลุงย้อนกลับไปเปลี่ยนแปลงเหตุการณ์หนึ่งๆ ในอดีต ชุดข้อมูลที่เขารับรู้จึงมีเพียงแค่ความเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์ในอดีตที่ลุงเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ลุงเข้าไปช่วยแม่ถือของ ลุงมอบยารักษาโรคให้กับตัวเขาเองในอดีตเพื่อที่เด็กน้อยจะได้ป้อนมันให้กับแม่ แต่พ้นไปจากการเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการเปลี่ยนแปลงเหตุการณ์ในอดีตอย่างปุบปับแล้ว ความเปลี่ยนแปลงอื่นใดของตัวละครเหล่านี้ซึ่งล้วนเป็นผลลัพธ์จากการที่ชีวิตของพวกเขาถูกปรับเปลี่ยนกลับหลุดพ้นไปจากการรู้เห็นของลุงโดยสิ้นเชิง ลุงย้อนเวลากลับมาในปัจจุบัน เพียงเพื่อจะพบว่า ชีวิตของเขาได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างหกคะเมนล้มคะมำ ลุงไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าทำไมการเข้าไปเปลี่ยนแปลงเรื่องเล็กๆ ที่น่าจะช่วยให้ชีวิตของตัวเองดีขึ้นกลับส่งผลตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง

จากลุงเก็บของเก่าธรรมดาๆ ไม่มีใครสนใจ แต่อดีตที่เปลี่ยนแปลงไปกลับสร้าง ‘snowball effect’ จนลุงกลายเป็นฆาตกรโรคจิตที่ลักพาผู้หญิงมาข่มขืนกักขังก่อนจะสังหารทิ้งอย่างไร้ความปรานี

The Long Walk

การย้อนเวลากลับไปเปลี่ยนแปลงเรื่องเล็กๆ ในอดีตส่งผลกระทบต่อปัจจุบันอย่างใหญ่โตมโหฬาร โดยที่ความโหดร้ายของกฎแห่งกรรมใน บ่มีวันจาก อยู่ตรงที่ว่า นอกจากลุงจะไม่สามารถรับรู้ว่า การปรับเปลี่ยนอดีตจะสั่นสะเทือนประวัติศาสตร์ของชีวิตเขายังไงแล้ว ‘ตัวตนเดิม’ ของเขาที่หวนคืนกลับมาสวมทับ ‘ตัวตนใหม่’ ในปัจจุบันซึ่งเปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างสิ้นเชิงก็จำเป็นจะต้องรับผิดชอบต่อทุกๆ ผลกรรมที่ตัวตนใหม่ของเขาเป็นคนก่อขึ้น 

พูดให้ชัดขึ้นคือ แม้ว่าลุงจะไม่ได้มีส่วนข้องเกี่ยวกับการกระทำใดๆ ที่ตัวตนใหม่ของเขากระทำขึ้นภายใต้อดีตที่เปลี่ยนแปลงไป แต่เพราะเขาคือต้นเหตุของการเขียนอดีตขึ้นใหม่ ลุงจึงต้องรับผิดชอบต่อทุกๆ การกระทำอันเป็นผลลัพธ์ของประวัติศาสตร์ชีวิตที่ปลี่ยนแปลงไปจนไม่หลงเหลือเค้ารอยเดิม

5.

แต่พ้นไปจากเรื่องของกฎแห่งกรรมและการเดินทางข้ามเวลาแล้ว ‘การพัฒนา’ เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญของภาพยนตร์เรื่องนี้ 

ฉากหลังของ บ่มีวันจาก  คือหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งในอนาคตอันใกล้ของประเทศลาว ที่ด้วยสภาพของถนนหนทางที่ทอดพาเข้าสู่หมู่บ้านแห่งนี้ยังคงเป็นดินแดง ไม่แปลกหากเราจะรู้สึกว่า พื้นที่แห่งนี้คงจะอยู่ไกลห่างความเจริญอย่างสุดลูกหูลูกตา ทว่าหลังจากที่หนังเริ่มต้นไปเพียงไม่นาน เรากลับพบว่า สภาพแวดล้อมที่ ‘คล้ายว่าจะบ้านนอก’ นี้กลับไม่ได้อยู่ห่างไกลความเจริญอย่างที่เข้าใจ 

ไม่ไกลออกไป หนังค่อยๆ เผยให้เราเห็นฉากหลังของหมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้ว่าเป็นตึกสูงระฟ้าขนาดมหึมาของเมืองเวียงจันทน์ แมตตี้เคยเล่าไว้ในบทสัมภาษณ์ว่า

“ฉันมองว่าหนังเรื่องนี้เป็นการวิจารณ์สังคมลาวต่อประเด็นการพัฒนา ด้วยฉากหลังของหนังเรื่องนี้คือหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งที่แม้ว่าในทีแรกจะดูไกลปืนเที่ยง แต่จริงๆ แล้วหมู่บ้านนี้กลับอยู่ใกล้เวียงจันทน์ เมืองหลวงของประเทศลาวมากๆ ฉันคิดว่าเมื่อกระแสการพัฒนาเดินทางมาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศลาว แม้ว่าในแง่หนึ่งสังคมของเราดูจะก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็วก็จริง แต่ขณะเดียวกันกลับยังมีผู้คนและพื้นที่อีกมากที่ยังถูกหลงลืมและถูกปล่อยทิ้งไว้ข้างหลัง ในหนังเรื่องนี้ฉันจึงแสดงให้เห็นความแตกต่างกันอย่างชัดเจนระหว่างพื้นที่แห่งหนึ่งที่พัฒนาแล้วกับพื้นที่อีกแห่งที่ยังไม่ถูกพัฒนา ถนนหนทางยังเป็นดินแดงอยู่ด้วยซ้ำ มันเป็นข้อเท็จจริงของลาวที่น่าเศร้ามากนะ” 

The Long Walk

เงินดิจิทัล ชิปที่ฝังบนแขน บุหรี่ไฟฟ้า และเครื่องบินเจ็ต เหล่านี้ล้วนคือตัวอย่างของกระแสการพัฒนาที่ถาโถมเข้ามาสู่ประเทศลาวอย่างรวดเร็วจนผสานเป็นเนื้อเดียวกับชีวิตประจำวันของชาวบ้านอย่างแนบสนิท ดังที่ บ่มีวันจาก ก็ได้แสดงให้เห็นว่า ผู้คนในหมู่บ้านต่างก็ดำเนินชีวิตร่วมกับเทคโนโลยีเหล่านี้อย่างไม่รู้สึกแปลกแยกหรือแปลกปลอม

ฉากหนึ่งที่น่าสนใจปรากฏขึ้นในอดีตเมื่อ 50 ปีก่อนสมัยที่ลุงยังเด็ก เมื่ออยู่ๆ ก็มีชาวตะวันตกกลุ่มหนึ่งมาติดตั้ง ‘โซลาร์เซลล์’ ให้กับบ้านของลุงฟรีๆ ไม่มีใครร้องขอ พวกเขาเพียงอยากจะมอบไฟฟ้าให้ด้วยเจตนา แต่แทนที่จะรู้สึกยินดี พ่อของลุงกลับถามไปยังชาวตะวันตกกลุ่มนี้อย่างซื่อๆ ว่า “แทนที่จะเป็นไฟฟ้า ขอรถแทร็กเตอร์แทนไม่ได้เหรอ” สำหรับพ่อของลุง การมีไฟฟ้าใช้ดูจะไม่ใช่ปัจจัยสำคัญลำดับแรกๆ ในการดำรงชีวิต อย่างที่ในฉากต่อมาเขาก็พูดกับลูกชายทำนองว่า ถึงจะมีไฟฟ้าใช้ แต่สุดท้ายก็ไม่มีเงินไว้จ่ายค่าไฟอยู่ดี

กระแสการพัฒนาจากประเทศโลกที่หนึ่งถาโถมเข้ามาสู่ประเทศโลกที่สามไม่ต่างอะไรกับพายุคลั่ง แต่ในขณะที่ผลดีของมันคือการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนอย่างเป็นรูปธรรม หากผลกระทบเชิงบวกในลักษณะนี้กลับไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกๆ พื้นที่และชีวิตอย่างเท่าเทียมกันเสมอไป ผ่านการอาสาเข้ามาติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้กับชาวบ้านในหมู่บ้านไกลปืนเที่ยงของชาวตะวันตก ฉากเล็กๆ นี้สะท้อนให้เห็นมุมมองที่น่าสนใจต่อการเข้ามาของกระแสการพัฒนาในประเทศโลกที่สาม ทั้งในแง่ที่ว่า ปากเสียงของชาวบ้านดูจะไม่ใช่สาระสำคัญที่จะถูกรับฟัง และพิจารณา ดังที่ว่า แม้พ่อของลุงจะอยากได้รถแทร็กเตอร์ที่น่าจะสร้างประโยชน์ให้กับครอบครัวมากกว่า ทว่าความต้องการของเขาก็ถูกปัดทิ้งไปอย่างง่ายๆ แค่เพราะสถานะของเขาเป็นชาวบ้านที่ดูจะด้อยปัญญากว่าฝรั่งมังค่าเป็นไหนๆ 

คำถามจึงอยู่ที่ว่า หากพ่อของลุงได้รถแทร็กเตอร์มาใช้งานแทนที่จะเป็นโซลาร์เซลล์ ชีวิตของเขาและครอบครัวจะยกระดับขึ้นบ้างหรือเปล่า แทนที่จะมีไฟฟ้าใช้แต่สุดท้ายก็ยังต้องขายผักถูกๆ อย่างอดอยาก การได้มาซึ่งเทคโนโลยีที่พร้อมจะตอบสนองและเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตชาวบ้านจะคือคำตอบของการพัฒนาที่จะยั่งยืนกว่าไหม

แน่นอนว่าคำถามนี้เป็นเพียงสมมติฐาน และ บ่มีวันจาก ก็ไม่ได้มอบคำตอบที่ชัดเจนนักต่อความสงสัยนี้ จะมีก็แค่ข้อเท็จจริงที่ว่า แม้โซลาร์เซลล์จะเดินทางมาถึงพื้นแห่งนี้นานกว่า 50 ปี แต่เส้นทางในการเข้าถึงหมู่บ้านเล็กๆ นี้ก็ยังคงเป็นถนนลูกรังอยู่ดี

บางที อดีตกับอนาคตอันใกล้ก็ดูจะไม่แตกต่างกันสักเท่าไหร่เลย

The Long Walk

6.

 William Faulkner นักเขียนชาวอเมริกันเคยกล่าวไว้ว่า ‘อดีตไม่เคยตาย ที่จริงแล้วมันไม่เคยเป็นอดีตด้วยซ้ำ’ (The past is never dead. It’s not even past.) ประโยคนี้ดูจะสะท้อนหัวใจสำคัญของภาพยนตร์เรื่องนี้ได้อย่างน่าสนใจ

สำหรับลุง ไม่ว่าจะมีพลังเดินทางข้ามเวลาหรือไม่ แต่อดีตไม่เคยจากไปไหน มันยังคงฝังแน่นอยู่ในจิตใจเขาอย่างชั่วนิจนิรันดร์

สำหรับประเทศลาว ไม่ว่ากระแสการพัฒนาจะพัดพาเข้ามาเท่าไหร่ แต่ตราบใดที่ยังมีพื้นที่บางแห่ง หรือผู้คนบางกลุ่มยังคงถูกปล่อยปละละเลยเรื่อยไป ‘เวลา’ ก็ดูจะไม่ใช่ปัจจัยที่จะแบ่งแยกความแตกต่างระหว่างอดีตกับอนาคตได้อย่างชัดเจนนัก

สำหรับประเทศไทย แม้ว่า บ่มีวันจาก จะไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลยกับสังคมที่เราอาศัยอยู่ ถึงอย่างนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลายๆ ฉากของภาพยนตร์เรื่องนี้ชวนให้ย้อนกลับมานึกทบทวนถึงบ้านเราอย่างเสียไม่ได้ ประเด็นการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียมกันก็เรื่องหนึ่ง แต่มากไปกว่านั้นคือข้อเท็จจริงที่ว่า อดีต–ไม่ว่าจะผ่านมาแล้วเป็นสิบๆ หรือ 50 ปี–แต่มันไม่เคยจากไปไหน ยังคงวนเวียนอยู่อย่างนี้ ผุดเกิดมาลาร่ำ หลอกหลอนประทับอยู่ในใจ 

อดีตไม่เคยตายจากเราไปไหน แม้กระทั่งในวันที่ใครๆ จะพากันก่นด่าขับไล่อดีตให้ไปตายๆ ได้แล้วก็ตาม

The Long Walk

AUTHOR