The Danish Girl ทลายกำแพงแห่งกายเพื่อให้ใจได้โผบิน

เรามีโอกาสไปดูหนังกลางแปลงในกิจกรรม Pride Film Fest ที่ทาง Samyan Mitrtown จัดขึ้น การได้ดูหนังกลางแจ้งบนเสื่อกับเบาะบีนแบ็ก ชิตแชตกับคนรอบตัว อีกทั้งยังมีขนมแจกให้เคี้ยวเพลินๆ ระหว่างดู นับเป็นประสบการณ์การดูหนังที่แปลกใหม่สำหรับคนที่ดูแต่หนังโรงอย่างเรา โดยกิจกรรมนี้ทางผู้จัดเลือกหนังมา 6 เรื่องที่เล่าเรื่องราวของ LGBTQIAN+ และหนึ่งในภาพยนตร์ทั้ง 6 เรื่องที่เรามีโอกาสได้ดูคือ The Danish Girl (2015)

สารภาพว่าตอนแรกเราเล็งรีวิวเรื่อง Call Me By Your Name (2018) ซึ่งเป็นเรื่องแรกที่ฉายในกิจกรรมนี้ จนพบว่า a day ได้รีวิวภาพยนตร์ภาพสวยสุดซึ้งนี้ไปแล้ว (หากใครสนใจสามารถตามอ่านได้ที่: https://adaymagazine.com/movie-call-me-by-your-name/) เราเลยหันไปเล็งภาพยนตร์เรื่อง The Danish Girl ทันที เนื่องจากเสียงชมอันหนาหูถึงการแสดงของนักแสดงหลักทั้งสองอย่าง เอ็ดดี้ เรดเมย์น (Eddie Redmayne) ในบทของ ‘ลิลี่’ และ อลิเซีย วิกันเดอร์ (Alicia Vikander) ในบทของ ‘เกอร์ดา’ ที่ทำให้คนหนึ่งได้เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขานักแสดงชายยอดเยี่ยม และอีกคนชนะรางวัลออสการ์สาขานักแสดงสมทบหญิงไป

The Danish Girl ดัดแปลงจากนวนิยายชื่อเดียวกันโดย เดวิด อีเบอร์ชอฟฟ์ (David Ebershoff) ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่องจริงของ ลิลี่ เอลเบอ (Lili Elbe) ชาวเดนมาร์กผู้เป็นหญิงข้ามเพศคนแรกของโลก ซึ่งแต่เดิมเธอเป็นจิตรกรหนุ่มที่แต่งงานแล้วนามว่า ไอนาร์ เวเกเนอร์ (Einar Wegener)โดยไอนาร์พบความหลงใหลในเสื้อผ้าสตรี และจากความหลงใหลนั้นก็นำไปสู่การค้นพบเพศสภาพที่แท้จริงของตน อย่างไรก็ตาม การเดินทางสู่การค้นพบตัวตนของไอนาร์ก็ไม่ง่ายดาย เพราะจิตใจอันเป็นผู้หญิงนั้นถูกกักขังไว้ในร่างกายที่เป็นผู้ชาย 

The Danish Girl เผยให้เห็นความยากลำบากของการเป็นเพศทางเลือก (LGBTQIAN+) ในยุโรปช่วง 1920 ที่สังคมยังไม่ตระหนักถึงความหลากหลายทางเพศ และเพศสภาพยังถูกจำกัดอยู่ในกรอบของเพศหญิงและเพศชาย สิ่งนี้ส่งผลให้ไอนาร์สับสนกับสภาวะที่ตนเป็นเพราะเขาไม่รู้ว่าจะนิยามตัวเองว่าอย่างไร ท้ายที่สุด ไอนาร์จึงพยายามทำความเข้าใจเพศสภาพตัวเองโดยการตีตราตัวเองออกเป็น 2 ตัวตนที่แยกจากกันสิ้นเชิง ได้แก่ ‘ไอนาร์’ ที่เป็นตัวตนเพศชาย และ ‘ลิลี่’ ที่เป็นตัวตนเพศหญิง นอกจากนี้ เราจะเห็นว่าสังคมพยายามอธิบายการตัวตน ‘ลิลี่’ ว่าเป็นอาการป่วยทางจิตที่ต้องการการรักษา อย่างไรก็ดี แม้สังคมสมัยนั้นจะไม่เปิดกว้างในประเด็นทางเพศ แต่ทุกวันนี้เดนมาร์กเป็นประเทศแรกที่เลิกนิยามเพศทางเลือกว่าเป็นอาการป่วยทางจิต ซึ่งถือว่าเป็นพัฒนาการที่น่าสนใจเมื่อมองเทียบกลับไปช่วง 1920

เมื่อได้ชม The Danish Girl นักแสดงหลักทั้งสองก็ไม่ทำให้เราผิดหวัง เอ็ดดี้ เรดเมนย์ สามารถถ่ายทอดการเปลี่ยนแปลงละเอียดอ่อนจาก ไอนาร์ สู่ ลิลี่ ได้อย่างน่าเชื่อ ไม่ว่าจะในด้านน้ำเสียง สีหน้า หรือภาษากาย ที่พอถึงตอนจบแล้วเราแทบไม่เห็นความเป็นไอนาร์หลงเหลืออยู่เลย นอกจากนี้ อลิเซีย วิกันเดอร์ ในบท เกอร์ดา เวเกเนอร์ ก็โดดเด่นไม่แพ้กัน ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอมุมมองของ เกอร์ดา ผู้เป็นภรรยาของไอนาร์ กับสิ่งที่เธอต้องเผชิญเมื่อสามีเธอค่อย ๆ เปลี่ยนไปเป็นคนที่เธอไม่รู้จัก อลิเซียถ่ายทอดบทบาทภรรยาผู้สับสนกับการเปลี่ยนแปลงของสามีเธอออกมาได้อย่างมีมิติ การแสดงของอลิเซียทำให้เราเข้าใจถึงความยากลำบากที่เกอร์ดาต้องเผชิญ และความขัดแย้งภายในตัวละครนี้ที่ทั้งไม่อยากให้ไอนาร์กลายเป็นคนอื่นกับความต้องการซัพพอร์ตทางที่เขาเลือก

สำหรับเรา ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ใช่ภาพยนตร์ที่ดูง่าย ด้วยความเร็วการดำเนินเรื่องที่ค่อยเป็นค่อยไปและความตึงเครียดที่ค่อย ๆ เพิ่มพูนขึ้นในแต่ละฉากระหว่างตัวละครหลักทั้งสอง The Danish Girl จึงเป็นภาพยนตร์ที่ให้ความรู้สึกค่อนข้างอึดอัดในขณะที่นั่งชม แต่ผลตอบแทนที่แลกมากับความค่อยเป็นค่อยไปของเนื้อเรื่องคืองานภาพอันสวยงามที่ให้ผู้ชมได้เก็บดีเทลอันประณีตของโปรดักชันในแต่ละช็อต และซึมซาบบรรยากาศของยุโรปในช่วง 1920 เป็นความตึงเครียดที่คลุกเคล้ากับความสวยงามของภาพนี้เองที่สร้างความโดดเด่นให้กับภาพยนตร์เรื่องนี้

นอกจากงานภาพแล้ว The Danish Girl ยังฉลาดในการเล่าเรื่องผ่านสัญญะต่าง ๆ ในเทคนิคแบบ ‘Show Don’t Tell’ ที่สะท้อนอารมณ์ภายในของตัวละครให้คนดูเห็นโดยไม่ต้องให้ตัวละครเล่าออกมา ซึ่งหากใครเคยดูจะพบว่าสัญญะที่ใช้มากในเรื่องคือ ‘กระจก’ ภาพยนตร์เรื่องนี้มีการใช้ ‘กระจก’ เพื่อสะท้อนความต้องการภายในของไอนาร์ ที่ต้องการจะปลดปล่อยความเป็นผู้หญิงในตัวออกมา อย่างในฉากหนึ่งที่ ไอนาร์ส่องกระจกด้วยร่างกายเปลือยเปล่า เขาพยายามซ่อนอวัยวะเพศชายของตัวเอง และโพสต์ท่าที่มีความเป็นผู้หญิง เป็นการสะท้อนความปรารถนาของไอนาร์ที่ต้องการกลายเป็นลิลี่ แต่ถูกขวางกั้นด้วยร่างกายที่เป็นเพศชาย ทำให้ความปรารถนาของไอนาร์เป็นได้เพียงภาพสะท้อนเท่านั้น

อีกหนึ่งสัญญะที่สะท้อนความรู้สึกของตัวเอกและไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ ‘รูปภาพ’ ซึ่งตลอดทั้งเรื่องไอนาร์วาดแค่ภาพทิวทัศน์บึงเอลเบอ ที่มีต้นไม้ตายเป็นจุดโฟกัส เรามองเห็นความหมายสองแบบในภาพนี้ แบบที่หนึ่งคือ บึงเอลเบอเป็นสถานที่ที่ไอนาร์บังเอิญจูบกับเพื่อนผู้ชายในสมัยเด็กและค้นพบเพศสภาพของตัวเองเป็นครั้งแรก (หรือก็คือเป็นครั้งแรกที่ไอนาร์ค้นพบ ‘ลิลี่’ ในตัวเอง) ไอนาร์ยังโหยหาความรู้สึกที่ได้เป็นตัวตนนั้น จึงวาดภาพบึงเอลบีมาโดยตลอด ซึ่งในช่วงท้ายในตอนที่ไอนาร์เปลี่ยนชื่อตัวเองเป็นลิลี่โดยสมบูรณ์ ลิลี่ก็เลือกใช้นามสกุล เอลเบอ ที่เป็นสถานที่แห่งแรกที่ลิลี่เกิดขึ้นเช่นกัน 

ส่วนที่สองเรามองว่าการที่ไอนาร์วาดภาพต้นไม้ตายเป็นจุดโฟกัสของภาพนั้น เป็นการล้อไปการไอเดียของ ‘การเกิด’ และ ‘การตาย’ ของตัวไอนาร์และลิลี่เอง ในตอนท้ายของเรื่อง หลังไอนาร์ผ่าตัดแปลงเพศสำเร็จและกลายเป็นลิลี่โดยสมบูรณ์ทั้งกายและใจ ลิลี่ก็ได้เอ่ยกับเกอร์ดาว่า “เมื่อคืน ฉันฝันดีงดงามมากๆ ฝันว่าเป็นทารกตัวน้อยอยู่ในอ้อมกอดแม่ แม่ก้มมองมา แล้วเรียกฉันว่าลิลี่” ซึ่งเราตีความได้ว่าช่วงเวลานั้นเป็นเวลาที่ไอนาร์ (ผู้ได้กลายเป็นลิลี่) รู้สึก ‘มีชีวิต’ จริงๆ เป็นครั้งแรก ในขณะที่ก่อนหน้านี้ไอนาร์ไม่เคยรู้สึกว่าตัวเอง ‘มีชีวิต’ เลย ทำให้เขาสะท้อนความรู้สึกตัวเองผ่านการวาดต้นไม้ตาย

เนื่องจากฉากส่วนใหญ่ในเรื่องอยู่ในอาคาร ‘กรอบ’ จึงเป็นอีกสัญญะหนึ่งที่เห็นได้บ่อย ตัวละครในเรื่องนี้มักถูกรายล้อมด้วย ‘กรอบ’ เสมอ ไม่ว่าจะเป็นกรอบหน้าต่าง กรอบประตู หรือกรอบรูปภาพ (เราลองท้าให้เปิดหนังเรื่องนี้แล้วกดข้ามไปฉากในอาคารสักฉาก มีโอกาสสูงที่จะเจอกรอบอะไรบางอย่างอยู่) ซึ่งในแง่ของภาษาภาพแล้ว เนื่องจากไม่ว่าตัวละครจะไปที่ไหนก็จะพบ ‘กรอบ’ ตลอดเวลา กรอบเป็นสัญญะสะท้อนความรู้สึกถูกกักขังของตัวเอก ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกถูกกักขังในร่างกายที่ไม่ใช่ของตน อย่างการที่ไอนาร์คอยย้ำว่า “นี่ไม่ใช่ร่างกายของฉัน” หรือถูกกักขังในกรอบของสังคมที่บังคับให้เขาต้องเป็นผู้ชายตามเพศสรีระ อย่างการที่แพทย์นิยามว่าเขามี ‘อาการวิปริต’ หรือเป็น ‘ผู้ป่วยโรคจิตเภท’ 

ท้ายที่สุด ไอนาร์ก็ได้ทำลายกรอบแห่งร่างกายด้วยการผ่าตัดแปลงเพศเพื่อปลดปล่อยตัวตนที่แท้จริงออกมา และทำลายกรอบสังคมที่ตีตราว่าเขาเป็นผู้ป่วยด้วยการสร้างวาทกรรมในแบบของเขาเอง ดั่งประโยคที่ว่า “พระเจ้าทำให้ฉันเป็นผู้หญิง แต่หมอคนนี้เยียวยารักษาอาการป่วยที่ร่างของฉัน” ซึ่งเป็นการพลิกวาทกรรม ‘ความป่วย’ จากเดิมที่สังคมมองว่า ‘จิตใจของเขา’ ผิดปกติ มาเป็น ‘ร่างกายของฉัน’ ต่างหากที่ผิดปกติ

AUTHOR