เขียนหนังสือแบบ โจ้ ธนา เธียรอัจฉริยะ

โจ้ ธนา เธียรอัจฉริยะ ให้สัมภาษณ์บ่อย

แต่น้อยมากที่เขาจะพูดถึงสิ่งที่รัก และทำทุกวัน อย่างการเขียนหนังสือ

การเขียนคืองานหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณ ส่งเสริมงานเลี้ยงชีพในตำแหน่งประธานกรรมการ บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่ปรึกษาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด (มหาชน) ร่วมดูแลแอพพลิเคชั่นอย่าง Robinhood delivery และขับเคลื่อนหลักสูตรสถาบันพัฒนาความคิดสร้างสรรค์เชิงธุรกิจ หรือ ABC ที่มหาวิทยาลัยศรีปทุมร่วมกับ ตุ้ม-สรกล อดุลยานนท์ หรือ หนุ่มเมืองจันท์ 

โจ้ ธนา มีเพื่อนฝูงเยอะ เขานำเรื่องราวจากผู้คนที่เขาพบเจอมาเขียนใน Facebook page ชื่อว่า เขียนไว้ให้เธอ เขาเขียนทุกวันจนได้รับการรวมเล่มตีพิมพ์เป็นหนังสือ ล้ม ลุก เรียน รู้ และ แด่คลื่นเล็กๆ ในมหาสมุทร สำนักพิมพ์ KOOB จนวันนี้โจ้ ธนา ก็ยังเขียนสิ่งที่เขาเรียนรู้จากคนและโลกบนพื้นที่ออนไลน์อยู่เสมอ

ธนา เธียรอัจฉริยะ

ด้วยงานที่ทำได้รับความนิยม (ทั้งงานในปัจจุบัน และงานที่เขาบุกเบิกสมัยทำงานกับ DTAC) เขาจึงถูกสัมภาษณ์บ่อย แต่น้อยมากที่เขาจะออกมาเล่าเรื่องการเขียนหนังสือ ทั้งที่งานนี้คือตัวตนใหม่ที่ชัดเจนของนักเขียนพ่อลูกสอง เขาเขียนหนังสือทุกวัน และการเขียนส่งผลกับชีวิตเขามหาศาล

แม้ทำงานด้านการตลาด รู้จักคนที่ประสบความสำเร็จในหลากหลายสาขา แต่เราสังเกตว่าธนาไม่ชอบเขียนความสำเร็จที่อยู่ปลายทาง เขาชอบเล่าความยากลำบากที่เกิดขึ้น และวิธีการที่คนเหล่านั้นฝ่าฟันเพื่อเดินไปข้างหน้า

วันนี้เราเลยชวนเขาคุยเรื่องวิธีเขียนหนังสือบ้าง

เพราะนี่คืองานที่สำคัญกับชีวิตเขา เป็นดั่งเข็มทิศนำทางชีวิตในปัจจุบัน

รู้มาว่าเวลา scb มีประกาศสำคัญ คุณเป็นคนเขียน

ผมรับมาเขียนหมดเลย สมัยก่อนจะเป็นน้องๆ เขียนไป ซีอีโอไม่ชอบ ผมบอกเอามาเลย เราเขียนแป๊บเดียวเอง มันมาจากงานเขียนบนเพจนี่แหละ ขอให้มีประเด็นนิดเดียว เรามาขยายได้ 

เริ่มพอเข้าใจว่าเขียนแบบไหนคนชอบอ่าน เช่น ถ้าอยากเขียนเรื่องคนระดับโลก อย่าง Steve Jobs จะเชยมากถ้าเขียนแค่ชีวิตเขาอย่างเดียว ต้องพูดถึงคนระดับโลก ต่อด้วยเคสไทยๆ แล้วเข้าตัวเอง อีกตัวอย่างเช่น เขียนถึงบารัค โอบาม่า เขาชอบออกกำลังกาย เราก็เล่าเรื่องเมืองไทยมีอาจารย์ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จากนั้นก็ค่อยเขียนเรื่องของเราที่ออกกำลังกายเหมือนกัน แต่เราตัวเล็กกว่า คนจะชอบแนวนี้

โจ้ ธนา เขียนหนังสืออย่างไร 

ผมจะวิ่งทุกเช้า ถ้านึกประเด็นออก ประมาณ 7.30 น. จะไป Starbucks แถวบ้าน สั่งกาแฟแก้วนึง แล้วก็นั่งเขียนประมาณครึ่งชั่วโมง เป็นกิจวัตร ถ้ามีประเด็นนิดนึงก็จะเขียนได้ แต่บางวันนึกไม่ออกก็ไม่เขียน 

สมัยก่อนเราพยายามเขียน ช่วงโควิดเราอยากลองเขียนทุกวัน ดูซิว่าจะเขียนได้มั้ย เมื่อก่อนการเขียนทุกวันเป็นไปไม่ได้เพราะเราเคยเขียนสองอาทิตย์ชิ้น ตายเลยนะ มีช่วงนึงเราเขียนได้ 3 วันชิ้นนึง ลองเขียนทุกวันได้มั้ยวะ ดีไม่ดีช่างมัน

ผมเคยฟังบรรยายของต้อง-กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร (เจ้าของเพจ 8 บรรทัดครึ่ง) เขาบอกว่าคนที่ทำงานศิลปะเขาทำเยอะมากเลย มีดีๆ ไม่กี่ชิ้นหรอก อย่าไปคิดว่าจะต้องดีทุกชิ้น เราลองทำดู ตอนนั้นไม่ได้คิดว่าจะเขียนทุกวันได้นานเท่าไหร่ ลองดูสักอาทิตย์นึงดูซิ เชื่อมั้ยช่วงนั้นเขียนได้สี่เดือน จนจะพิมพ์หนังสือได้แล้วเลยเลิกเขียนสักพัก เป็นหนึ่งซีซั่น ดีบ้างไม่ดีบ้างไม่รู้ แต่พอทำแล้วเหมือนได้ฝึกทักษะ 

การเขียนหนังสือทุกวัน มีผลกับชีวิตคุณเยอะมั้ย

เยอะ มันเป็นอย่างเดียวที่ทำให้ผมเข้าสู่สภาวะที่เรียกว่า Flow เป็นช่วงที่เราดื่มด่ำกับสมาธิ เวลาคนเล่นเปียโนมันคงมีความรู้สึกนี้แหละ เวลาผ่านไปเป็นชั่วโมงแล้วเราไม่รู้ตัว การเขียนหนังสือสำหรับผมคือการเข้าสู่ภวังค์ เข้าสู่สมาธิขั้นที่เราชอบมาก วิ่งเดี๋ยวนี้ก็ไม่ค่อย Flow สมัยก่อนใช่ เดี๋ยวนี้วิ่งก็ยังฟังโน่นฟังนี่อยู่ สมาธิจะไม่ค่อยอยู่กับเรา ต้องคิด แต่เขียนหนังสือทำให้เรารู้สึกอย่างนั้นจริงๆ 

คนชอบชมคุณว่าเป็นคนย่อยเรื่องยากๆ ให้เข้าใจง่ายมาก ได้ทักษะนี้มาจากไหน

มาจากปมด้อยที่เคยเป็นคนสมาธิสั้น นั่งฟังอะไรยาวๆ ไม่ได้ จะหลับ อ่านหนังสือยากๆ ไม่ได้ ก็ต้องเลือกเล่มที่อ่านง่ายไว้ก่อน เช่น หนังสือของหม่อมคึกฤทธิ์ ปราโมช พี่ตุ้ม หนุ่มเมืองจันท์ คุณวานิช จรุงกิจอนันต์ คุณสนธิ ลิ้มทองกุล พี่จิกประภาส ชลศรานนท์ นักเขียนกลุ่มนี้เขียนหนังสือแล้วอ่านง่าย ทำให้เรากลายเป็นคนที่มีความอดทนต่ำ ผมเลยพยายามจับประเด็นแล้วสรุปให้มันง่าย จนกลายเป็นนิสัย 

ซึ่งบังเอิญไปสอดคล้องกับการทำงานการตลาด หัวใจของการทำการตลาดคือการทำให้มันฟังแล้วง่าย แล้วมันเข้ากับยุคสมัยที่คนก็ชอบอะไรง่ายๆ จนน่ากลัว คนไม่ได้มีเวลาพอที่จะอ่านเรื่องที่ลงลึก 

แด่คลื่นเล็กๆ ในมหาสมุทร

คุณเลือกเรื่องมาเขียนอย่างไร 

ส่วนใหญ่มาจากบทสนทนา ได้ฟังคนเล่าเรื่อง เช่น วันก่อนไปนั่งสนทนากับพี่เล้ง ศิริวัฒน์ (ศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร CEO บริษัท mfec ผู้บุกเบิกธุรกิจอุปกรณ์ไอทีสำหรับเอกชน) เขาจะมีคำคมเยอะ บางทีเราต้องการคำคมประโยคเดียว แล้วก็เอามาขยายในมุมของเราเองก็ได้ 

หรือเวลาไปฟังบรรยาย เรื่องไหนที่เรารู้สึกว่าโดน ถ้ามันติดอยู่ในหัวเรา แสดงว่าน่าจะติดอยู่ในหัวคนอื่นด้วย เช่น ผมไปฟังคมสันต์ แซ่ลี (ผู้ก่อตั้ง Flash Express) บรรยาย มีคนถามว่าบริหารจัดการลูกน้องแถวสอง (ระดับผู้บริหาร) อย่างไร คมสันต์บอกว่า ถ้านั่งอยู่บนหลุมขี้แล้วไม่ขี้ก็ต้องลุกออกไป โอ้โห คืออะไรวะ (หัวเราะ) แต่โดนมากเลยประโยคนี้ มันเป็นสุภาษิตจีน เราก็เอาประโยคนั้นมาขยายความได้ 

บางทีก็อ่านเจอในหนังสือ เช่น James Carville ที่ปรึกษาบิล คลินตัน เขียนคำว่า It’s the economy stupid มันเป็นประโยคเดียว เราก็มาคิดว่าในชีวิตเราเชื่อมโยงกับประโยคนี้ด้านไหนบ้าง ร้อยออกมาเป็นเรื่อง 

ถ้านึกอะไรไม่ออกจริงๆ ก็เดินตามชั้นหนังสือนี่แหละ หยิบเล่มที่เก่าหน่อย หนังสือใหม่ๆ คนอ่านเยอะแล้ว อ่านเสร็จก็ลองมาเล่าเป็นบทความ

คุณเคยบอกว่าจุดเริ่มต้นของเพจ เขียนไว้ให้เธอ คือเขียนให้ลูกอ่าน ตอนนี้เพจมีคนติดตามแสนกว่า แต่ลูกไม่ยอมอ่านเสียที จริงเหรอครับ

อ่านน้อยมาก ไม่ค่อยสนใจ ก็แซวกันเล่นๆ ว่าหนูก็อ่านบ้างแหละ เอาจริงๆ สองคนก็ไม่ได้เป็นแนวอ่านหนังสือด้วย เรามีหนังสือเต็มบ้านไม่ได้แปลว่าลูกจะอ่านนะ คือโลกของเขา เขาก็ดูความรู้จาก TikTok Instagram YouTube 

บทความล่าสุดที่ลูกสาวคนเล็กอ่านคือ ผมเขียนเรื่องซีรีส์วาย เขาสนใจพอดี ก็เลยให้เขาตรวจทานว่าเขียนอย่างนี้แล้วดราม่ามั้ย แฟนคลับสาววายจะทัวร์ลงมั้ย เขาอ่านดูก็บอกว่าพ่อตัดตรงนี้ดีกว่า เขาเลยได้อ่านยาวๆ ต้องหาเรื่องที่เขาสนใจ

แต่ก็เหมือนผมนะ อายุ 17-20 ไม่สนใจหรอก เราเลยไม่ได้คาดหวังว่าจะอ่าน แต่เขาจะภูมิใจ เช่น แฟนเพื่อนของลูกสาวคนโตอายุประมาณ 18 มาที่บ้านแล้วอยากได้หนังสือ เขาจะตื่นเต้นเวลามีคนตื่นเต้นกับหนังสือพ่อ 

คนเป็นพ่อเป็นแม่มักเสียใจเวลาลูกโตขึ้นแล้วเริ่มไม่เชื่อเรา คุณเคยมีประสบการณ์นี้มั้ย

ตอนนี้ยังมีอยู่เลย เขาไม่เชื่อหรอก ลูกคนเล็กผมกบฏมาก เขาจะมีวิธีคิดของตัวเองมาก 

มีช่วงนึงเราดุเขาเยอะ เขาก็จำ วันหนึ่งเขาหลุดพูดมาว่าพ่อเคยโมโหใส่ เขาจำได้แม่น ผมเลยเพิ่งจะพยายามเปลี่ยนตัวเอง พอมีลูกจะรู้ว่าไอ้เรื่องที่เราอยากให้เขาทำ มันจะไม่เป็นไปตามนั้นหรอก แต่เราจะมีความรู้สึกบางอย่างที่ทำให้เรายอมเปลี่ยนตัวเอง  อาจจะเป็นความรักก็ได้ แล้วมันทำให้เราสนุกด้วยนะ 

วันนึงเขาบอกว่าไปเจอเรื่องเสียใจอยู่เรื่องนึง เราบอกว่าหนูเล่าให้พ่อฟังได้นะ สังเกตมั้ยว่าพ่อเปลี่ยนตัวเอง ไม่ดุอะไรหนูมา 2-3 เดือนแล้ว เขาเลยยอมเล่า เพราะรู้ว่าเราจะไม่ดุ ถ้าเรายิ่งดุเขาก็ยิ่งไม่เล่า เราอยากจะสอนเขา แต่เขาไม่ฟัง งั้นลองหาทางไปช่วยเขาดีกว่ามั้ย 

ตอนลูกอายุสัก 13 ปีก็ไปปิ๊งหนุ่ม ก่อนหน้านี้เราจะคิดว่า คนเป็นพ่อ ไม่อยากให้ลูกมีแฟนหรอก ตอนโตค่อยมี ถ้าลูกมีแฟนเราต้องอึดอัดมากแน่เลย วันหนึ่งไปกินข้าวที่ร้านราเมง เจอคนที่ลูกชอบพอดี มากับครอบครัว ผมรู้จักแม่ของหนุ่มคนนี้ เราก็บอกว่าเดี๋ยวพ่อพาไปแนะนำมั้ย เขาก็ไม่เอา แต่มองๆ เห็นสายตาเขา เราอยากให้เขามีความสุข 

เราเข้าไปแนะนำ กินข้าวเสร็จ พอขึ้นรถเขา text ถึงเพื่อน ผมก็ถามคุยอะไร เขาบอกว่าหนูเล่าให้เพื่อนฟังว่าเมื่อกี้ไปเจอใคร แล้วเล่าเรื่องพ่อ ผมถามแล้วเพื่อนว่าไง เพื่อนเขาเขียนว่า good dad เราก็เอามาเขียน 

เรารู้สึกว่า เออ ความเป็นพ่อคือแบบนี้ว่ะ เราแค่อยากให้เขามีความสุข อะไรที่อยู่ในหัวมันไม่เคยเป็นไปตามนั้น มันตรงกันข้ามกับสิ่งที่เราจินตนาการเสมอ 

ในงานเขียน คุณมักจะบันทึกการพูดคุยกับคนต่างวัย ทำไมคุณถึงรู้สึกสนุกกับการคุยกับคนที่แตกต่างตลอดเวลา บางคนอาจจะอยากฟรีซตัวเองเอาไว้ อยากคุยกับคนแค่นี้ ไม่อยากคุยเพิ่มอีกแล้ว

เหตุผลหนึ่งคือจะได้มีเรื่องมาเขียน (หัวเราะ) เพราะตอนนี้รู้สึกว่าเป็นความรับผิดชอบ การเขียนทำให้เราอยากเจอคน อยากฟังเรื่องที่รู้สึกว่า เฮ้ย เจ๋งว่ะ ปกติชีวิตผมวนเวียนอยู่กับลูกมาก มันทำให้คุยกับลูกรู้เรื่อง เวลาเราไปเจอนักแสดงในซีรีส์วาย หรือคนอย่าง Jackson Wang ก็มาอวดลูก เป็นกิจกรรมที่ทำกับลูกได้ 

ซึ่งพ่อบางคนทำไม่ได้นะ

ใช่ อาจเป็นเพราะเราแคร์ลูกเยอะ เดี๋ยวลูกจะไม่อยู่แล้ว (ตอนที่คุยกัน ลูกของเขากำลังเตรียมตัวไปเรียนต่อต่างประเทศ) ไม่รู้จะทำยังไง เพราะชีวิตเราผูกกับลูกมาตลอด เราออกกำลังกายก็เพราะอยากแข็งแรงเหมือนอายุเท่าเขา พอเอาตัวเองเป็นตัวตั้ง จะไม่ค่อยมีแรงผลักดันเท่าไหร่ 

ส่วนหนึ่งมันทำให้เราอยากเจอคนรุ่นใหม่แบบนี้ การทำงานคอร์ส ABC ก็เป็นอาชีพหนึ่งที่ทำให้เจอคนรุ่นเด็กๆ นั่งฟังแล้ว เฮ้ย มันทำแบบนี้ได้ด้วยเหรอวะ เจ๋งว่ะ บางทีเราไม่ต้องรู้ลึกๆ ทุกเรื่องหรอก แค่รู้จักคนที่รู้บางสิ่งเยอะๆ บางต้นฉบับผมเขียนเรื่องเทคนิคเยอะๆ ก็ส่งให้เขาช่วยอ่าน ถามว่าพี่เขียนถูกหรือเปล่าวะก็มี 

ยุคนี้เด็กอยากย้ายประเทศมากขึ้น คุณคิดยังไงกับเรื่องนี้

ผมไม่เคยบังคับลูก ถ้าเลือกได้ก็อยากให้อยู่เมืองไทย ชีวิตผมมีอะไรให้ทำเพราะลูกมาตลอด ช่วงเรียน ม.1 ลูกทั้งสองคนเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย แล้วก็อยากไปเรียนโรงเรียนอินเตอร์เพราะเพื่อนๆ ไปกันที่ Shrewsbury ก็เลยไปลองสอบดู พอสอบได้ เลยได้เรียนโรงเรียนอินเตอร์อีกครึ่งของชีวิต พอไปเรียนมันก็เป็นแพตเทิร์นน่ะ ภาษาได้แล้ว เขาก็เป็น Global Citizen อยากไปผจญภัย ก็ไปตามทางเขา 

ลูกผมเรียนโรงเรียนไทยและอินเตอร์ โรงเรียนไทยดีกับการอยู่เมืองไทย เพราะเขาก็สอนสิ่งที่เป็นไทยๆ แต่ถ้าออกไปข้างนอกไม่รอด เพราะมันขาดองค์ประกอบบางอย่าง เรื่องหนึ่งที่ต่างจากโรงเรียนไทยคือคำว่า confident หรือความเชื่อมั่น 

โรงเรียนอินเตอร์ไม่รู้เขาสอนยังไง มีวิธีการทำให้ความเชื่อมั่นเด็กสูงขึ้น โรงเรียนไทยค่อนข้างมีกรอบ ผมเคยทำงานที่เทเลนอร์ (Telenor ASA บริษัทแม่ของดีแทคในนอร์เวย์) ก็สู้เขาไม่ได้ เถียงเขาไม่ทัน หน้าบาง นอบน้อมผู้ใหญ่ เป็นวัฒนธรรมไทยๆ ที่อยู่เมืองไทยแล้วโอเค แต่พอไปลุยกับระดับโลกก็ไม่ไหว

ความเชื่อมั่น กล้าพูด กล้าเขียน กล้าร่วมมือ เมืองไทยไม่ค่อยได้สอน ดังนั้นถ้าจะลดความเสี่ยงให้เด็กรุ่นใหม่ ความคิดแบบ Global Citizen เลยคึกคัก เพราะเมืองไทยก็ไม่รู้จะเป็นยังไง ทั้งเรื่องประชากรสูงอายุ เศรษฐกิจไม่ดี ก็ไม่แน่หรอก ดูศรีลังกาสิ แต่คนจะทำอย่างนี้ได้ต้องมีเงิน ส่งเรียนโรงเรียนอินเตอร์ได้ มันทำให้คนมีตังค์มีโอกาสกลายเป็น Global Citizen ก่อน ก็จะเกิดความเหลื่อมล้ำออกไปเรื่อยๆ ระบบการศึกษาไทยปรับแทบไม่ทัน เด็กตอนนี้อยากเต้น K Pop แต่ในโรงเรียนยังสอนกระบี่กระบอง แค่เด็กอยากทำสิ่งที่อยากทำยังทำไม่ได้เลย เพราะหลักสูตรไม่ได้ถูกปรับให้เข้ากับยุคสมัย 

คนไทยมักจะมีทัศนคติแง่ลบกับความมั่นใจ ความมั่นใจที่ดีควรจะเป็นยังไง และสร้างได้อย่างไร

สร้างได้อย่างไร มันมีหลายทางนะ แต่ถ้าเอาเรื่องจากลูกสาวคนโต แต่ก่อนเราเลี้ยงลูกได้อ่อนแอมาก ลูกจะทำอะไรไม่ค่อยเป็น ไม่มีความเชื่อมั่น เคยพาไปค่ายของครูเล็ก ภัทราวดี มีชูธน ไม่มีใครเลือกเขาไปทำกิจกรรม นั่งจ๋องๆ อยู่คนเดียว ตอนนั้นอยู่ป.6 ผมคิดว่าแย่แล้วว่ะ ลูกเราไม่รอดแน่นอน พอเขาไปโรงเรียนอินเตอร์ ค่อยๆ มีความเชื่อมั่นมากขึ้น

ความเชื่อมั่นเกิดจากอะไรบ้าง อย่างแรก น่าจะเกิดจากที่เขาขอไปเรียนโรงเรียนอินเตอร์เอง แล้วไม่มีทางถอย เขาเคยมาเล่าทีหลังว่าช่วงแรกถูกล้อ แต่เขากลับไปไม่ได้อีกแล้ว ก็ต้องพยายามหาทางออกให้ตัวเอง อย่างที่สอง โรงเรียนให้โอกาสเยอะ ได้แสดงออกโดยที่เพื่อนร่วมห้องไม่มีใครตัดสิน เช่น การยกมือถามในห้อง ถ้าเป็นโรงเรียนอินเตอร์คือได้คะแนน ถ้าเป็นโรงเรียนไทย โดนมองทั้งห้อง 

บางทีมันเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ลูกผมมาทางศิลปะ วาดรูปเก่งเลย เขาบอกว่าที่รู้สึกมั่นใจเพราะตอนเด็กๆ วาดตุ๊กตาตัวเก้งก้าง แม่ชมว่าสวย แค่นี้ก็ทำให้เขารู้สึกว่ามีความสามารถทางศิลปะ มีความเชื่อมั่นว่าทำได้ แล้วก็ฝึกไปเรื่อยๆ คิดว่าความเชื่อมั่นเกิดจากโอกาส เกิดจากสิ่งแวดล้อม เกิดจากความพยายาม ข้อสุดท้ายผมว่าแล้วแต่คน เหมือนทฤษฎี Growth Mindset กับ Fixed Mindset ถ้าเด็กมี Growth Mindset ล้มก็ไม่เป็นไร ได้เรียนรู้ แต่ผมว่าองค์ประกอบมันต้องมาพร้อมกัน คนมี Growth Mindset อยู่ในประเทศที่ยกมือแล้วผิดก็ไม่รอด 

เราสามารถมีความเชื่อมั่นที่ดี ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยได้มั้ย

ผมคิดว่ามันเกิดได้จากการล้มแล้วก็เรียนรู้ ทำจนเชื่อมั่น คล้ายการเขียนหนังสือและการบรรยายในที่สาธารณะ ตั้งแต่อายุหนึ่งขวบถึงสามสิบห้าปีผมกลัวการพูดในที่สาธารณะมาก 

สักประมาณอายุ 30 กลางๆ มีความรู้สึกว่าเราหนีมาตลอดชีวิต แต่หน้าที่การงานของเราทำแต่ตลาด ถ้าเราพูดไม่ได้ ให้ลูกน้องขึ้นไปพูดตลอดเวลา หนึ่งคืออายลูกน้อง สองเราก็ไม่น่าจะรุ่งกับอาชีพด้านการตลาด งานการตลาดมันต้องเล่า ก็เลยคิดว่าเราต้องลองพูด คือเหมือนกัดฟัน เขาบอกความกล้าคือความกลัวแต่ยังทำ ตอนนั้นก็ลองทำ ก็แป้กแบบทุเรศๆ หลายครั้งมาก ล้มเหลวแล้วก็ไปอีก เจ็บ แต่ครั้งหลังๆ จะชินและเก่งขึ้น 

สัญชาตญาณมนุษย์เวลาเจ็บเรามักจะหนีมัน คุณทำใจกลับไปหาสิ่งที่เราทำแล้วเจ็บได้อย่างไร 

ถ้ามีตัวเลือก เราจะหนี มันเป็นธรรมชาติ เช่น ถ้านอนอยู่บ้านได้ก็นอน ไม่อยากทำงาน แต่ที่เราต้องทำงานทุกวันเพราะไม่มีตัวเลือก ไม่ตื่นไปทำงานเขาก็ไล่ออก 

ผมว่าการไม่มีตัวเลือกเป็นลาภอันประเสริฐสำหรับเรื่องพวกนี้ ดังนั้นถ้าอยากจะทำอะไรให้ได้จริงๆ ต้องพยายามตัดตัวเลือก ซึ่งผมทำได้ยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเราเลือกได้ นักฟุตบอลแข่งแล้วแพ้ก็ต้องไปอีกเพราะมันต้องเตะ ดังนั้นจะทำอย่างไรให้เรา Narrow choice ก็เหมือนพระเจ้าตากตีเมืองจันท์ คอนเซปต์เดียวกัน

บางทีเราพยายามอยากได้ผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่เกินไป แล้วเราก็จะท้อ เหมือนกินช้างทั้งตัว เวลาเห็นช้างทั้งตัวเราจะไม่กินเพราะมันเหนื่อย มีวิธีเดียวคือต้องกินทีละคำ คือต้องไม่คิดว่ามันเป็นช้าง วันนี้เราแทะขาช้างได้ ทำไปทีละนิดทีละหน่อย 

สมัยก่อนผมอ้วนและเข้าโรงพยาบาลบ่อย ลดลงมาได้เพราะกลัวตาย ทำให้เราวิ่ง สมัยก่อนผมวิ่งสามร้อยเมตรก็เบื่อแล้ว ถามว่าทำไมถึงออกมาวิ่งทุกวันจนได้วันหนึ่งสิบกิโลเมตร เหตุผลคือกลัวตาย ถ้าไม่วิ่งสุขถาพไม่ดี มันทำให้เราไม่มีตัวเลือก วิ่งวันแรกได้สามร้อยเมตร ทำอย่างนี้สักสองสามวันจะได้ห้าร้อยเมตร อย่าหยุด หยุดเมื่อไหร่แรงจะตก เราจะได้เรียนรู้เรื่องพวกนี้ เหมือนทฤษฎี Kaizen ของญี่ปุ่น หรือหนังสือ Atomic Habits ของ James Clear มันคือการทำสะสม ทำซ้ำไปเรื่อยๆ เพิ่มทีละนิด เดี๋ยวเราจะมีทักษะเอง

เขียนหนังสือก็เหมือนกัน ค่อยๆ ทำทีละนิด ไม่ต้องคิดว่าจะวิ่งได้สิบกิโลเมตร ถ้าวันนี้วิ่งได้ 300 เมตร พรุ่งนี้เราไม่มาแล้ว ไม่ไหว แต่ถ้าคิดว่าพรุ่งนี้ให้ดีขึ้นกว่าเมื่อวานนิดนึงก็ได้ แต่อย่าหยุด

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

Cozy Cream

ไม่ใช่โซดา อย่ามาซ่ากับพี่