หากคุณคือคนหนึ่งที่ได้ลองเดินลัดเลาะไปในย่านเมืองเก่าของมาเก๊า นอกจากจะพบว่าเมืองนี้เต็มไปด้วยเสน่ห์ของตึกรามบ้านช่องสไตล์ชิโน-โปรตุกิส คุณยังจะได้พบกับแผ่นกระเบื้องเล็กๆ ที่ประดับประดาอยู่ตามหัวถนนหรือมุมต่างๆ ของอาคารเก่าไปทั่วทั้งเมือง แม้กระเบื้องเหล่านี้จะดูเรียบง่ายในสายตาเมื่อแรกเห็น แต่แท้จริงแล้วพวกมันเป็นมากกว่าแผ่นป้ายที่บอกชื่อสถานที่ เพราะเจ้ากระเบื้องเหล่านี้ถือเป็นอีกหนึ่งชิ้นงานศิลปะอันทรงคุณค่าที่บอกเล่าเรื่องราวของเมืองซึ่งผสานกันไว้ด้วย 2 กระแสวัฒนธรรม อีกทั้งยังถือเป็นหน้าต่างเล็กๆ ที่เชื้อเชิญให้เราได้เข้ามาทำความรู้จักกับประวัติศาสตร์ของเมืองลูกครึ่งอย่าง ‘มาเก๊า’ ได้เป็นอย่างดี
‘จากบาบิโลนถึงมาเก๊า’
ก่อนจะเป็น Azulejos: การเดินทางอันไกลโพ้นของศิลปะบนแผ่นกระเบื้อง
เมื่อเราได้ลองย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ของเจ้าศิลปะบนแผ่นกระเบื้องเหล่านี้กลับได้พบว่าก่อนจะถึงมาเก๊า ต้นแบบของการนำกระเบื้องมาใช้ในงานสถาปัตยกรรมสามารถย้อนกลับไปได้ไกลถึงยุคอารยธรรมเมโสโปเตเมีย ในอาณาจักรบาบิโลน (Babylon) ก่อนที่ในยุคต่อมาจะกลายมาเป็นเอกลักษณ์ในศิลปะแบบอิสลาม (Islamic Art) ซึ่งเป็นที่จดจำในการใช้กระเบื้องที่มีลวดลายจากรูปทรงเรขาคณิตในการประดับตกแต่งศาสนสถาน เช่น พระราชวัง หรือมัสยิด เป็นต้น
จนกระทั่งในช่วงศตวรรษที่ 8 ชาวมัวร์ (Moors) ได้นำศิลปะโมเสกและกระเบื้องของอิสลามเข้าสู่คาบสมุทรไอบีเรียเมื่อพวกเขาอพยพมาตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งจุดเริ่มต้นที่ทำให้ศิลปะบนแผ่นกระเบื้องนี้ได้แพร่กระจายไปยังเมืองต่างๆ บริเวณคาบสมุทร อย่างสเปน และแน่นอนว่าโปรตุเกสเองก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่รับเอาอิทธิพลทางศิลปะนี้เข้ามาด้วยเช่นกัน
โดยทั่วไปแล้ว ‘Azulejos’ คือกระเบื้องเซรามิกที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศโปรตุเกส ส่วนมากกระเบื้องเหล่านี้มักมีสีขาว ฟ้า หรือเหลือง และมักถูกใช้ในการประดับตกแต่งอาคารบ้านเรือน โบสถ์ หรือสถานที่สำคัญต่างๆ โดยหนึ่งในสถานที่ที่เราสามารถสัมผัสกับศิลปะกระเบื้องแบบออริจินัลได้ดีที่สุด คือ พระราชวังฤดูร้อนแห่งเมืองซิงตรา (Sintra) หรือ Palácio Nacional da Pena ประเทศโปรตุเกส ซึ่งถือเป็นสถานที่แรกที่พระเจ้าแมนูแอลที่ 1 แห่งโปรตุเกสทรงรับเอากระเบื้องเซรามิกจากเมืองเซบียา (Sevilla) มาใช้ตกแต่งภายในพระราชวังของพระองค์ แต่หากยุโรปนั้นอยู่ไกลเกินเอื้อมเราอยากจะบอกว่า กระเบื้อง ‘Azulejos’ แบบโอจีก็มีให้ได้ชมที่มาเก๊าเหมือนกัน
‘มาเก๊า’
เมืองลูกครึ่งซึ่งผสานไว้ด้วย 2 วัฒนธรรม
ด้วยความที่มาเก๊าเป็นอีกเมืองซึ่งเคยอยู่ภายใต้การปกครองของอาณานิคมโปรตุเกสมายาวนานกว่า 400 ปี ในฐานะเมืองท่าและอาณานิคมการค้า ดังนั้นเมื่อพูดถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรม ศิลปะ รวมถึงความเป็นเมืองของมาเก๊า เราจะเห็นว่าเมืองนี้เต็มไปด้วยองค์ประกอบต่างๆ ซึ่งมีความเป็นลูกผสมกันอยู่ในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นในมุมของวัฒนธรรมการกินอย่าง ‘อาหารแมกานีส’ (Macanese Cuisine) อาหารท้องถิ่นซึ่งผสมผสานระหว่างอาหารจีนและอาหารโปรตุเกสไว้ด้วยกัน หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาปัตยกรรมแบบ ‘ชิโน-โปรตุกิส’ (Sino-Portuguese) ซึ่งเป็นรูปธรรมที่เห็นได้เด่นชัดที่สุดผ่านการได้เดินลัดเลาะไปตามตรอกซอยต่างๆ ในมาเก๊า ไม่ว่าจะเป็นตึกอาคารร้านค้า (façades) สถานราชการในย่านเมืองเก่า หรือโรงแรม ที่ดูจะมีรูปทรงอย่างตึกฝรั่งแต่ก็แฝงไปด้วยกลิ่นอายแบบจีน รวมถึงเจ้าป้ายกระเบื้องซึ่งเราพบเจอได้ในทุกมุมถนนนี้ก็เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ซึ่งแสดงถึงการหลอมรวมกันไว้ของ 2 วัฒนธรรมที่เติบโตมาด้วยกันในเมืองนี้
ลักษณะของป้ายกระเบื้อง หรือ ‘Azulejos’ ที่กระจายตัวอยู่ทั่วทั้งย่านเมืองเก่าในมาเก๊าจะมีลักษณะเป็นกระเบื้องพื้นขาว ซึ่งถูกสร้างลวดลายและตัวหนังสือด้วยสีน้ำเงิน ตัวอักษรที่พบบนป้ายจะระบุเป็นตัวอักษรจีน และตัวอักษรภาษาละติน
จากการสังเกตเราเข้าใจว่าฟังก์ชันของเจ้าป้ายกระเบื้องเหล่านี้คงมีไว้ใช้บอกชื่อถนน หรือชื่อสถานที่สำคัญเพื่อให้ผู้คนที่ผ่านไปผ่านมารู้ว่าบริเวณนี้คือที่ไหน แต่ด้วยความที่มาเก๊าเองก็เป็นประเทศซึ่งมีภาษาที่ใช้ในทางราชการหลักๆ คือภาษาจีนและภาษาโปรตุเกส รวมถึงแต่ก่อนในเมืองนี้ก็มีชาวโปรตุเกสอาศัยอยู่ร่วมกับคนท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก ไม่เพียงแค่เจ้าป้ายกระเบื้องนี้ที่ต้องมีทั้ง 2 ภาษา แต่เอกสารบางอย่างในทางราชการมาเก๊าก็ยังคงต้องจัดทำเป็นภาษาฝรั่ง ถึงแม้ว่าจะสิ้นสุดการเป็นดินแดนในอาณานิคมของโปรตุเกสมากว่า 25 ปีแล้วก็ตาม
‘Azulejos’ อยู่ที่ไหนในมาเก๊าบ้าง?
หากใครได้อ่านมาถึงตรงนี้ แล้วอยากตามรอยไปแชะภาพเจ้าป้ายกระเบื้องนี้เก็บไว้บ้าง เราก็ไม่พลาดที่จะแจกลายแทงเพื่อให้ทุกคนได้ไปตามรอยกัน
การที่จะบอกว่า ‘Azulejos’ อยู่ทุกที่ก็คงไม่เกินจริง เพราะทุกสี่แยก มุมตึก หรือมุมถนนในฝั่งเมืองเก่า เราจะพบกับป้ายกระเบื้องนี้อย่างน้อย 1 – 2 อัน แต่เท่าที่ได้ลองสำรวจมา ย่านที่เราคิดว่าจะสามารถพบป้ายกระเบื้องเหล่านี้ได้เป็นจำนวนมาก คงเป็นย่านท่องเที่ยวยอดนิยมอย่างจัตุรัสเซนาโด (Senado Square) ไล่ยาวไปจนถึงซากประตูโบสถ์เซนต์ปอล (Ruins of St. Paul’s) วัดอาม่า (A-Ma Temple) หรือบริเวณถนนสายความสุข (Happiness Street) ซึ่งเจ้าพวกนี้มีเยอะขนาดที่ว่า หากได้ลองแหงนหน้ามองขึ้นไปบนกำแพงตึก เราเชื่อว่าทุกคนจะพบกับป้ายกระเบื้องนี้หลัก 10 อันภายในย่านย่านหนึ่งได้เลยทีเดียว
.
.
ไม่ใช่เพราะความตาดีแต่อย่างใดที่ทำให้เราได้พบกับเจ้าป้ายกระเบื้องนี้ แต่เพราะทุกซอกทุกมุมที่เดินผ่าน เจ้าป้ายที่ประกอบไปด้วยภาษาจีนและภาษาโปรตุเกสนี้ จะถูกแนบอยู่กับตึกอาคาร หรือมุมใดมุมหนึ่งของทุกถนนที่เราได้เดินสำรวจ เพื่อตอกย้ำความเป็นเมืองซึ่งโอบอุ้มทั้งสองวัฒนธรรมที่ฝังรากลึกอยู่ในมาเก๊าไว้ด้วยกันได้อย่างลงตัว
การที่เราได้พบกับป้ายกระเบื้อง ‘Azulejos’ กระจายตัวอยู่ในทุกซอกทุกมุมของมาเก๊า ถือเป็นสิ่งที่สะท้อนว่า จริงๆ แล้วงานศิลปะไม่ได้เป็นเพียงชิ้นงานที่มีเพียงความสวยงามเท่านั้น แต่ยังเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่บอกเล่าเรื่องราวของเมือง ผู้คน ความรุ่มรวยทางวัฒนธรรม รวมถึงการอยู่ร่วมกันของ 2 ชนชาติที่อยู่ไกลกันคนละฝั่งทะเล แต่กลับได้มาพบกัน ณ ดินแดนแห่งนี้ และร่วมกันก่อร่างสร้างวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ที่ถือเป็นมรดกตกทอดซึ่งเราสามารถเรียนรู้จากมันได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
สำหรับการเดินทางครั้งนี้ เรานับว่าทุกตรอกซอกซอยในมาเก๊า เหมือนกับห้องเรียนที่มีป้ายกระเบื้องเป็นครูสอนพิเศษในวิชาประวัติศาสตร์เลยก็ว่าได้ หากใครได้มีโอกาสไปมาเก๊าแล้วเจอกับเจ้าป้ายกระเบื้องนี้เข้าสักอัน อย่าลืมแวะเช็กอินกับมันสักหน่อยล่ะ
อ้างอิง
https://macaomagazine.net/glazed-in-history/
https://www.macaotourism.gov.mo/th/travelessential/about-macao/language