เวิร์กช็อปเอาใจสายชา ณ ถิ่นพันธมิตรชานมไต้หวัน

แม้การมาเยือนไต้หวันในครั้งนี้ได้รับมอบหมายให้มาร่วมภารกิจหลักในโอกาสที่ตรงกับวันสำคัญ World Bicycle Day (3 มิถุนายน ของทุกปี) ซึ่งมีประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน มาเป็นประธานในพิธีเปิด แต่มาถึงถิ่นต้นตำรับชานมไข่มุกทั้งที มีหรือจะพลาดกิจกรรมที่ทางสำนักงานการท่องเที่ยวไต้หวัน ประจำกรุงเทพ คัดสรรมาให้เราเป็นพิเศษ ได้แก่ กิจกรรมชาบด (Lei Cha) ดั้งเดิมฉบับจีนฮากกา ในเส้นทางรถไฟสายเก่าแก่ และเชกสนั่นชานมไข่มุกสูตรต้นตำรับเจ้าแรกของโลกที่มีใบประกาศนียบัตรรับรอง

1

ชานมไข่มุกสูตรต้นตำรับเจ้าแรกของโลกในมือเรา

เมนูเครื่องดื่ม ชานมไข่มุก (ฺBubbles) หรือที่หลายๆ ประเทศเรียกกันว่า Boba หรือ Pearls คำว่า ‘Bubble Tea’ ไม่ได้หมายถึง ชาที่ใส่ไข่มุก แต่คือฟองนมด้านบนเครื่องดื่มที่เกิดจากการออกแรงเขย่าอย่างเป็นจังหวะต่อเนื่องกัน 

เป็นที่พอรู้กันอยู่แล้วว่าร้านชานมไข่มุกต้นตำรับเจ้าแรกที่ตัดสายสะดือให้กับเครื่องดื่มเมนูนี้คือร้านน้ำชา ชุน สุ่ย ถัง (Chun Shui Tang) จากการคิดค้นขึ้นโดยบังเอิญของ หลิน ชิว ฮุ่ย (Ms. Lin Hsiu Hui) ที่เมืองไถจง ไต้หวัน ซึ่งเปิดกิจการขึ้นราวๆ ปี 1983-1988 ปัจจุบันมีอายุครบ 40 ปี แต่เจ้าเครื่องดื่มนี้ยังคงโลดแล่นไปไกลทั่วโลกและมีชีวิตของตัวเองกลายเป็นสินค้าส่งออกทางวัฒนธรรม ข้อมูลจาก Allied Market Research เปิดเผยมูลค่าตลาดทั่วโลกของเมนูชานมไข่มุกทั้งสูตรดั้งเดิมและสูตรใหม่ยอดนิยม พบว่า ในปี 2019 ตลาดชานมไข่มุกมีมูลค่า 2.4 พันล้านดอลลาร์ และคาดการณ์ว่าจะสูงขึ้นถึง 4.3 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2027 เติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยแล้ว 7.8% เห็นภาพอนาคตสดใสรออยู่

กลับมาที่เวิร์กช็อปของเราในครั้งนี้ เรามากันที่ร้านน้ำชา ชุน สุ่ย ถัง (Chun Shui Tang) ในเมืองไถจง แม้จะไม่ใช่สาขาแรกแต่ก็ได้กลิ่นอายบรรยากาศเมืองต้นกำเนิด เมนูที่เสิร์ฟภายในร้านมีทั้งของคาวและของหวาน ภายในร้านตกแต่งโทนอบอุ่น เคร่งขรึม มีชั้นจัดแสดงกาน้ำชาเครื่องปั้นดินเผาเพื่อบิลด์ผู้มาเยือนก่อนนั่งลงลิ้มรสชาเมนูต่างๆ จุดประสงค์ของเราคือการมาเชกและเสิร์ฟชาด้วยตัวเองกันแบบหมู่คณะ 

ตื่นตากับอุปกรณ์ตรงหน้า นั่งเข้าที่กันเรียบร้อยแล้ว ทางร้านก็จัดพนักงานผู้สอนหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสมาอารัมภบทถึงความเป็นมาของร้านและเมนูที่กำลังจะเปิดสูตรลับให้เราในวันนี้ฟังผ่านล่ามและไกด์พี่ไอซ์ หนึ่งในวัตถุดิบสำคัญที่เป็นกุญแจแห่งความสำเร็จของเมนูในวันนี้ก็คือ เม็ดไข่มุกสีดำที่ทำจากมันสำปะหลัง ไม่ใช้วัตถุกันเสียนี่เอง โดยมีการเปรียบเทียบกับเม็ดไข่มุกโรงงานที่มีขายในร้านทั่วไป ขนาด สี และสัมผัสที่ไม่เหมือนกันนี่เองจึงสร้าง Texture ในการดื่มที่แตกต่าง ความหนึบหนับเป็นพิเศษนี้เกิดจากความสดใหม่เก็บได้ไว้ไม่กี่วัน ต่างจากที่อื่นที่สามารถเก็บไว้ข้ามปี แต่ผู้สอนของเราก็ขิงว่า “จริงๆ แล้วไม่เคยต้องเก็บข้ามวันเลยค่ะ เพราะมันหมดก่อนร้านปิดเสมอ” 

เมื่อได้ชิมก็สามารถบอกได้ทันนี้ว่าชานมไข่มุกแก้วนี้มาจากร้าน ชุน สุ่ย ถัง (Chun Shui Tang) เราได้ลองเชกชาด้วยกันสองแบบคือ ชาจีนเย็นสูตรต้นตำรับ กับ ชานมไข่มุกสูตรใส่คอฟฟี่เมต ที่ทำให้เครื่องดื่มนี้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เมื่อฟังการอธิบายเสร็จแล้วก็หยิบตักวัตถุดิบกันตามสูตร แต่เคล็ดลับอยู่ที่การเขย่า ท่วงท่า และจำนวน 33 ครั้งไม่ขาดไม่เกินนี้เอง ทำให้ได้รสชาติตามต้นตำรับสูตรดั้งเดิม ยิ่งเชกแรงยิ่งข้นอร่อย ถ้าได้มีโอกาสเดินทางไปท่องเที่ยวที่เกาะไต้หวันไม่ควรพลาดไปชิมชานมไข่มุกบนแผ่นดินแม่ของเมนูนี้กัน 

เป็นกิจกรรมที่ได้ออกแรงกันพอสมควร เหมาะกับการหนีร้อนพักเหนื่อยให้เหงื่อแห้ง ได้เรียนรู้วัฒนธรรมการดื่มชาของจีนที่มียาวนานกว่า 300 ปี การปรับรูปแบบกันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันเพื่อเอาใจคนรุ่นใหม่และยังเผยแพร่ไปสู่คนทั่วโลกอีกด้วย

2

Lei Cha (ชาบด) ละลายพฤติกรรม

เล่ยชา (Lei Cha) ชาบดดั้งเดิมสไตล์ชาวจีนฮากกา (จีนแคะ) นิยมบริโภคกันในวัฒนธรรมอาหารแบบชาวจีนฮากกาของประเทศมาเลเซีย สิงค์โปร์ อินโดนีเซีย และไต้หวัน เป็นเครื่องดื่มประเภทชาบดผสมวัตถุดิบต่างๆ นิยมใช้ชาเขียวหรือชาอู่หลง ส่วนผสมสำคัญประกอบด้วย น้ำ เมล็ดธัญพืช ถั่ว ข้าวพอง และงา บดผสมกันเรียงตามขั้นตอนขึ้นอยู่กับสูตรของแต่ละร้าน มักดื่มในตอนเช้าหรือฤดูหนาวเพื่อบำรุงร่างกายเพราะมีสรรพคุณที่ดีต่อสุขภาพ ส่วนใหญ่แล้วจะเสิร์ฟในมื้ออาหารสำหรับรับประทานกันในครอบครัว ได้จิบชาพูดคุยกันอย่างเพลิดเพลิน

ครั้งนี้การเวิร์กช็อปเล่ยชา (Lei Cha) เรามาอยู่กันที่เมืองเหมียวลี่ สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของไต้หวัน หลังจบการทัวร์ตามเส้นทางรถไฟด้วยรถรางกึ่งบิดกึ่งปั่นรอบสถานีรถไฟเซิ่งซิงที่สร้างขึ้นในปี 1906 ปัจจุบันได้รับการฟื้นฟูให้กลายเป็นสถานที่พักผ่อนและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านโบราณสถานและโบราณวัตถุในชื่อ Old Mountain Rail Bike 

เมืองเหมียวลี่ได้รับการประกาศให้เป็น ‘เขตโบราณสถาน’ กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวในเชิงอนุรักษ์ ที่เหมาะกับการพาครอบครัวมาใช้เวลาร่วมกันในวันหยุดสุดสัปดาห์ 

พวกเราเดินมาถึงร้าน 16 Distilleries Teahouse (十六份人文茶館) ด้านหน้าต้อนรับด้วยบรรยากาศน่ารักเป็นกันเอง สัมผัสถึงความร่มเย็น สงบสุข ไม้เลื้อยพันไปกับโครงสร้างจากไม้ของร้าน ดึงดูดให้เราอยากเข้าไปพักหาอากาศเย็นสบายผ่อนคลาย สถานที่แห่งนี้เป็นร้านน้ำชาที่มีของฝากให้เลือกซื้อ ทั้งยังมีโซนรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม แวะส่องนักเดินทางเดิมชมบรรยากาศเมืองเก่า

พวกเรา 8 คนนั่งล้อมวงกันรอบโต๊ะกลมด้านในสุดของร้าน โดยมีอุปกรณ์สำหรับใช้ในการเวิร์กช็อปตั้งรอไว้อยู่แล้ว 3 ชุด อ่างดินเผาและแท่งไม้สำหรับบดส่วนผสมให้ละเอียด ซองใส่วัตดุดิบ 7 ชนิดที่มีขั้นตอนการทำลงรายละเอียดไว้อยู่ด้านหลัง แกะซองกระดาษแล้วจัดท่าทางพร้อมบดตามสเต็ป ทยอยใส่แต่ละวัตถุดิบเรียงตามดังนี้ 

1. ใบชา

2. งาดำงาขาว

3. เมล็ดฟักทอง

4. ถั่วลิสง

5. ผงชาเขียว

6. น้ำชา

7. ข้าวพอง

8. น้ำตาลอ้อย (Kokuto)

ดูเผินๆ เหมือนจะเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ชาวไต้หวันต้องการนำเสนอให้นักท่องเที่ยวเห็นมุมมองในฐานะที่เป็นดินแดนแห่งชา แต่กลายเป็นว่ากิจกรรมนี้กลับได้สร้างการมีส่วนร่วมให้กับเพื่อนร่วมทริป ได้ผลัดกันบด ช่วยกันใส่วัตดุดิบ ยื่นไม้ให้กัน ออกแรงคนละนิดคนละหน่อยเพื่อภารกิจเล็กๆ ทำให้การทำชาบดนี้ได้ผลลัพท์เป็นความประทับใจเกิดคาด แถมรสชาติถูกใจสามารถรับประทานได้ทั้งแบบเย็นให้ความสดชื่น หรือแบบร้อนช่วยให้อุ่นสบายท้อง กิบคู่กับขนมโมจิเหนียวหนึบยิ่งเข้ากันได้ดี

เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมระหว่างวันใช้เวลารวมประมาณ 1 ชั่วโมงช่วยสร้างมิตรภาพและกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวได้ดีจนเราอยากชวนให้คุณลอง เมื่อได้มีโอกาสมาสัมผัสเมืองเหมียวลี่แห่งนี้

สถานที่จัดสอน

16 Distilleries Teahouse (十六份人文茶館)

ที่อยู่: No. 53, Shengxing, Shengxing Village, Sanyi Township, Miaoli County

(苗栗縣三義鄉勝興村勝興53號)

เวลาเปิด-ปิด: 10:00-18:00, Sat. & Sun. 09:30~18:00

ขอขอบคุณผู้สนับสนุนการเดินทาง

สำนักงานการท่องเที่ยวไต้หวัน ประจำกรุงเทพ

ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก

https://www.facebook.com/16hakka.teahouse


ที่มา

https://shorturl.asia/0ZdQm

https://www.oml-railbike.com/_pages/about/index.php

https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/909836

https://www.facebook.com/ChunShui1983?_rdc=2&_rdr

https://www.rtaiwanr.com/hsinchu/beipu-leicha

https://en.wikipedia.org/wiki/Lei_cha

https://archive.ph/20031206182645/http://hakkacenter.nctu.edu.tw/item_4/item_4-4.htm

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

จันจิรา ยีมัสซา

เช้ากินโจ๊ก เย็นส้มตำ ค่ำๆ จ๊อกกิ้ง ชอบซิ่งมอไซค์เที่ยวทะเล