MOCA Taipei : เสพงานอาร์ตร่วมสมัยในอดีตโรงเรียนประถมสุดคลาสสิก

MOCA เป็นชื่อเล่นของ
Museum of Contemporary Art Taipei ซึ่งเดิมเคยเป็นโรงเรียนประถมที่สร้างขึ้นในปี
1921 ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น
ต่อมาเมื่อไต้หวันถูกยึดอำนาจโดยจีน
สถานที่แห่งนี้จึงได้เปลี่ยนไปเป็นทำเนียบรัฐบาล และด้วยสถาปัตยกรรมร่วมสมัยที่โดดเด่น
อาคารนี้กลายเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของย่าน Zhongshan หลังจากที่ทำเนียบรัฐบาลย้ายออกไปจึงได้มีการปรับปรุงอาคารเก่าและเปิดให้บริการเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงงานศิลปะร่วมสมัยแห่งแรกในไต้หวันมาจนถึงปัจจุบัน
โดยตั้งใจนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในการจัดแสดงงานด้วย

ด้านหน้าของสถาปัตยกรรมก่อด้วยอิฐสีน้ำตาลแดงขนาดใหญ่
มีตู้คอนเทนเนอร์สีเหลืองและแดงสดรอทักทายเราอยู่ บนตู้มีรถเต่าเพนต์ลายน่ารัก
เป็นงาน Installation Art เพิ่มสีสันให้กับลานกิจกรรมข้างหน้าได้เป็นอย่างดี
อาคารหลังนี้มีความเก่าแก่แต่ยังคงถูกอนุรักษ์เอาไว้เหมือนกับอาคารเก่าอื่นๆ ในไทเปที่เราไปเยี่ยมเยือนมา ต้องยอมรับในความใส่ใจและเห็นคุณค่าของสิ่งก่อสร้างโบราณของที่นี่จริงๆ การได้เห็นมุมมองความคิดของคนต่างที่แบบนี้ก็ทำให้ทริปนี้กลายเป็นทริป Well Travelled อย่างเต็มความหมาย

นอกจากอิฐก่อที่เป็นเอกลักษณ์ของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้แล้ว
ยังมีซุ้มประตูทางเข้าสีขาวที่ประดับตกแต่งด้วยหัวเสาแบบคอรินเทียน
เป็นสถาปัตยกรรมของกรีกโบราณ
บวกกับบานประตูสีขาวที่โค้งรับกับซุ้มทางเข้าได้อย่างลงตัว
ทำให้เราหลงรักสถาปัตยกรรมหลังนี้อย่างไม่ต้องสงสัย

หลังจากซื้อบัตรเข้าชมงานและเก็บของในล็อกเกอร์
เราก็มุ่งหน้าเข้าสู่ห้องจัดนิทรรศการ ในช่วงนี้มีนิทรรศการจัดแสดงอยู่หลายงาน
ส่วนมากเป็นศิลปะร่วมสมัยหรืองานศิลปะแนวทดลองในสาย Fine Art บางงานก็ติสท์จนเราต้องอาศัยอ่านคำอธิบายงานเพื่อทำความเข้าใจแนวคิดของศิลปิน
งานที่ติสท์ได้โล่สำหรับเราคืองานแสดงเล็กๆ จัดบนโต๊ะขนาดใหญ่ที่เรียงรายไปด้วยเศษวัสดุและอุปกรณ์สำหรับงานจิตรกรรม
ทั้งถุงสีแห้งแข็ง เศษสีที่แห้งเป็นขุยผง หลอดสีที่ใช้แล้ว
สุดขอบโต๊ะมีทีวีแสดงคลิปการสร้างผลงานของศิลปิน และที่พื้นรอบๆ ห้องมีเฟรมรูปภาพที่วาดเสร็จแล้วตั้งซ้อนกันอยู่อย่างไม่เป็นระเบียบเหมือนกำลังเชื้อเชิญให้เราไปหยิบจับหรือคุ้ยดูผลงานได้ตามสบาย

อีกงานแสดงที่อาศัยพลังงานและความถึกเป็นอย่างมากคืองานที่จัดแสดงในห้องขนาดใหญ่
ชื่องาน The Design of Refining the Dust
Into Grey And Permeating Into The Future เป็นงาน Installation Art ที่ใช้เศษกรวด ทราย และสิ่งของที่ศิลปินเก็บได้มาเรียงรายต่อกันบนพื้นคล้ายเป็นสายน้ำที่กำลังไหลอยู่
เราเดินชื่นชมงานพร้อมอึ้งไปกับความพยายามและความอดทนของศิลปิน

งานสุดท้ายที่เป็นไฮไลต์และน่าจะเป็นงานที่สื่อสารกับผู้ชมได้ง่ายที่สุด
คืองานแสดงเดี่ยวของ Yeh Fang ศิลปินชาวไต้หวัน
ภายใต้ชื่องาน Vision of the Void ซึ่งเป็นงานแสดงความคิดและมุมมองของศิลปินผ่านประสบการณ์การเดินทางของชีวิตผ่านมุมมอง
อารมณ์ และความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับธรรมชาติ ภายในงานมีการจัดแสดงภาพวาดสีน้ำมันรูปดอกไม้ที่มีความนุ่มละมุนที่สุดเท่าที่เราเคยเจอ

แม้ภาพของ Yeh Fang จะไม่ได้เป็นภาพที่มีแนวคิดหวือหวา
แต่ในความเรียบง่ายนั้นกลับสะกดสายตาของเราให้พิจารณาดูภาพวาดอย่างละเอียดบรรจง
ส่วนจัดแสดงที่เราชอบเป็นพิเศษคือการนำภาพวาดสีน้ำมันรูปดอกไม้และภูมิทัศน์
มาผสมผสานกับเพลง
โดยใช้เทคนิคคาไลโดสโคปที่ใช้กระจกสะท้อนภาพภาพเดียวให้แตกออกเป็นหลายมิติ
เราสวมหูฟังพร้อมกับมองเข้าไปในกล่องที่เจาะรูไว้เพื่อดูภาพชวนฝันด้านใน
แล้วปลดปล่อยจินตนาการไปกับมิวสิกวิดีโอสั้นๆ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยจินตนาการ

หลังจากเสพงานศิลปะกันอย่างเต็มที่
เราก็แวะไปที่ช็อปและร้านอาหารกึ่งคาเฟ่ของพิพิธภัณฑ์
ภายในร้านสีเหลืองหม่นมีความน่ารักแบบไต้หวันๆ ที่นี่เสิร์ฟทั้งเครื่องดื่ม
อาหารคาวหวาน รวมทั้งยังมีโซนขายของดีไซน์ และสินค้าท้องถิ่นแพ็กเกจเก๋ด้วย

ออกจากแกลเลอรี่เราก็สะพายกระเป๋า Herschel Supply เดินเล่นในย่านและเดินผ่านสวนสาธารณะขนาดย่อมข้างแกลเลอรี่
ซึ่งมีงานประติมากรรมรูปสัตว์ประดับด้วยโมเสกชิ้นเล็กชิ้นน้อยสีสันสดใสกระจายอยู่ทั่วสวน
มีทั้งเจ้าหมาจิ้กจอกนอนอ่านหนังสือหลับปุ๋ยในอ่างอาบน้ำริมทางเดิน
เจ้าหอยทากกำลังคลานแข่งกันอยู่บนกำแพง
หรือฝูงกระต่ายที่กระโดดเล่นอยู่บนบันไดยกระดับ
เราชอบในความขี้เล่นของคนที่นี่ที่ผสมงานศิลปะเข้ากับพื้นที่สาธารณะได้อย่างสร้างสรรค์
ทำให้สวนธรรมดาๆ ที่เคยเป็นแค่ทางเดินผ่าน กลายเป็นจุดเรียกรอยยิ้มของผู้คนแถวนั้นได้อย่างง่ายดาย
🙂

ภาพ เบญญา สิงห์อุสาหะ และ นวลตา
วงศ์เจริญ

AUTHOR