‘ฉึกฉัก ฉึกฉัก’ เสียงของรถไฟและเสียงบีบแตรดังหนึ่งครั้ง สัญญาณที่กำลังบอกว่ายานพาหนะขนาดใหญ่นี้ กำลังเคลื่อนมาจอดที่ชานชาลาในเวลาอีกไม่นาน
รถไฟคือตัวแทนที่ทำให้เรารู้สึกได้ถึงการเดินทาง และเป็นยานพาหนะที่รับส่งผู้คนที่เห็นมาทุกยุคสมัย แม้จะเป็นภาพที่ชินตามานับสิบปีแต่ ‘ตุ๋ย-สุจินต์ เกยสุวรรณ’ กลับค้นพบกับเสน่ห์ของรถไฟที่มากกว่าคนทั่วไปตั้งแต่อายุสิบขวบ
ความผูกพันในวัยเยาว์ที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดความหลงใหลในความสวยงามของรถไฟ ไม่ว่าจะเป็นเสียงของล้อรถไฟกระทบรางเหล็ก เสียงของเครื่องจักรไอน้ำ หรือแม้กระทั่งผู้คนรอบๆ สถานี สุจินต์หลงรักสิ่งเหล่านั้นมาตลอดหลายสิบปี วัยเด็กของเขาล้วนมีแต่รถไฟ สำหรับสุจินต์รถไฟจำลองจึงพิเศษกว่าของเล่นชิ้นอื่นๆ
แม้บางช่วงชีวิตเขาได้ออกสำรวจสิ่งใหม่ๆ แต่รถไฟไม่เคยห่างหายไปจากใจ ชีวิตใหม่ของสุจินต์ ในวัยเกือบ 60 ปี ได้กลับมาใช้ชีวิตอยู่กับรถไฟอีกครั้ง ไม่ใช่เพียงแค่สะสมรถไฟของเล่นเหมือนที่ผ่านมา แต่ทำให้พิเศษมากขึ้นด้วยการสร้างเมืองแห่งจินตนาการให้รถไฟที่ถูกย่อส่วนได้เคลื่อนที่ ในฐานะนักประดิษฐ์เมืองรถไฟจำลอง
ความคลั่งไคล้รถไฟแบบเด็กๆ นำพาให้เขาได้มาทำงานในฝันได้อย่างไร คือสิ่งที่เราสนใจและพาเรามาเจอกับสุจินต์ในบ่ายวันหนึ่ง
ตลอดเวลาที่เราได้เข้ามาในโลกของเมืองจำลองนี้ เราจะเห็นสายตาความมุ่งมั่นของสุจินต์ต่อรถไฟนั้น ยิ่งทำให้เราสงสัยว่าเพราะอะไรที่ทำให้เขาเลือกที่จะสร้างเมืองนี้ขึ้นมา
เมื่อคำถามเริ่มขึ้นสุจินต์ก็พาเราย้อนกลับไปอดีต ตั้งแต่จุดเริ่มต้นวันแรกที่ได้รู้จัก เส้นทางชีวิตของเขาที่ได้จากความชอบและการทำเมืองรถไฟจนถึงเรื่องราวรวมไปถึงตัวตนของเขาที่ยังคงอยู่กับรถไฟในวันนี้ จนเราค่อยๆ ซึมซับหัวใจของรถไฟผ่านเมืองจำลองที่เขาสร้างขึ้นด้วยความรัก
การเติบโตพร้อมคุณพ่อพนักงานของการรถไฟฯ สู่ความชอบที่เกิดขึ้นในวัยเยาว์
สุจินต์ในวัยห้าสิบปลายๆ เล่าถึงความทรงจำแรกของตัวเองในวันวาน ตั้งแต่จำความได้เขาเติบโตมาพร้อมคุณพ่อผู้เป็นพนักงานการรถไฟฯ ซึ่งมักซื้อโมเดลรถไฟของเล่นให้เป็นประจำ จนเวลาผ่านไปเขาก็เริ่มซื้อด้วยตนเองจากเงินค่าขนม และเข้าสู่การเริ่มสะสมโมเดลอย่างจริงจัง เขาเล่าด้วยรอยยิ้มเมื่อได้ย้อนกลับไปในวันที่ได้รู้จักกับรถไฟจำลองครั้งแรก
“คุณพ่อทำงานรถไฟและก็จะพาเที่ยว พาไปทำงานด้วย เราเลยมีความผูกพันกับรถไฟมาตลอด เขาจะคอยเล่าระบบการทำงานรถไฟให้ฟัง เช่น ตรงนี้ทำงานยังไง รถจักรคันนี้ของประเทศอะไร ตอนเด็กๆ คุณพ่อก็ซื้อของเล่นมาให้เป็นรถไฟจำลองใส่ถ่านแล้ววิ่งได้ เราก็เลยรู้จักรถไฟและชอบตั้งแต่นั้นมา”
“ซื้อรถไฟจำลองครั้งแรกคือตอนสมัยป.7 ตอนนั้นยังไม่รู้หรอกว่ามีรถไฟจำลองแบบนี้ เราชอบแผนกของเล่นอยู่แล้ว จนไปเจอรถไฟจำลองเป็นเรื่องราว ไม่เหมือนที่เราเคยเล่น เรารู้สึกเปิดโลกมาก ทีนี้ไปทุกวันเลย ไม่ได้คิดว่าจะทำอะไรนอกจากซื้อมาเล่นและสะสม เราค่อยๆ เก็บเงินทีละเล็กทีละน้อย จนมีวันหนึ่งพ่อเห็นว่าเราชอบมากเลยพาไปซื้อ Starter Set เป็นจุดเริ่มต้นของการเล่นรถไฟจำลองนี้เลย”
แม้เวลาจะผ่านไปแต่ความชอบรถไฟก็ยังไม่จางหาย
เมื่อเติบโตขึ้นตลอดช่วงชีวิตวัยรุ่นจนถึงวัยทำงาน การต้องใช้ชีวิตในโลกกว้างทำให้ได้เจอสิ่งต่างๆ มากมายเข้ามาในชีวิต ผลักดันให้เขาเลือกทำงานฝ่ายศิลป์ในบริษัทสิ่งพิมพ์ อีกหนึ่งงานที่เขาถนัดเช่นกัน ความชื่นชอบรถไฟจำลองจึงกลายเป็นเพียงงานอดิเรกที่ชุบชูใจได้ในเวลาว่างเท่านั้น
ถึงจะเลือกเส้นทางอาชีพการเขียนภาพศิลปะบนนิตยสาร แต่ตลอดเวลาหลายสิบปีไม่ได้ทำให้เขาทิ้งรถไฟไปแต่อย่างใด ในใจนั้นยังคงชอบรถไฟอยู่เสมอ
“เรายังชอบรถไฟอยู่ตลอด แต่พอเราเริ่มเป็นวัยรุ่นมันไม่ได้ห่างเหินหรอก ยังชอบอยู่ เพียงแต่ว่าความเป็นวัยรุ่นก็มีช่วงไปติดเพื่อน ไม่ได้ซื้อรถไฟไปลองใช้ชีวิตทำอย่างอื่น”
จนวันหนึ่งในตลาดนัดจตุจักรท่ามกลางร้านขายหนังสือมากมาย สุจินต์ได้พบนิตยสารรถไฟเล่มนึงที่ชื่อว่า ‘Model Railroader Magazine’ จุดประกายให้เขากลับมาในโลกของรถไฟจำลองนี้อย่างจริงจังมากขึ้น
ถึงแม้ไม่ได้เรียนเกี่ยวกับรถไฟมาโดยตรง แต่เพราะการได้อ่านหนังสือเล่มนี้ทำให้เขาได้เข้าไปทำความรู้จักกับรถไฟได้มากกว่าเดิม และเปิดโลกใบใหม่ที่ทำให้เขาได้ค้นพบว่าการเล่นรถไฟจำลองนี้มีอะไรมากมายกว่าที่เคยเล่นมา
รถไฟที่ทำให้ชีวิตเริ่มนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง
การเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยี ส่งผลไปถึงการทำงานของคนทำนิตยสาร งานศิลปะไม่สนุกอีกต่อไปแล้ว สุจินต์ตัดสินใจลาออกจากงาน และกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในชีวิต
แม้จะรู้ว่าตัวเองมีสิ่งที่ชอบอย่างการสร้างรถไฟจำลอง แต่การต้องนับหนึ่งใหม่ในวัย 40 ปี ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับใครหลายคนเลย หากเราอยากมีพื้นที่ในการทำเมืองรถไฟจำลองอย่างจริงจังจะทำได้ที่ไหน คำถามมากมายเกิดขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็หันหลังให้ความกังวล เลือกสร้างพื้นที่นั้นขึ้นมาด้วยตัวเอง และตัดสินใจเริ่มต้นแนะนำตัวเองว่า ‘นักประดิษฐ์เมืองจำลองรถไฟ’
ผลงานแรกที่สุจินต์ได้ทำเมืองรถไฟจำลองอย่างจริงจังนั่นคือ งานจำลองรถไฟฟ้า BTS เมื่อ 20 ปีก่อน เขาถูกรู้จักในฐานะกลุ่มคนรักรถไฟมากขึ้นหลังจากนั้น มีหลายคนติดต่อมาให้เขาได้ลองทำงานอะไรใหม่ๆ มากกว่าเดิม ประสบการณ์ที่สะสมมาจึงทำให้เขาเชื่อมั่นในตนเองในการทำอาชีพสร้างเมืองจำลองรถไฟในช่วงอายุที่ใครก็บอกว่าเป็นไปไม่ได้
เส้นทางใหม่ของสุจินต์ไม่ได้ทำให้เขาทิ้งการวาดรูปที่ชื่นชอบ เขายังนำศิลปะตลอดหลายสิบปีมาใช้ในอาชีพใหม่ในครั้งนี้ด้วย
ทุกครั้งในการคิดจะสร้างเมืองขึ้นมาใหม่ อย่างแรกที่เขาทำ คือการร่างภาพแปลนตามขนาดพื้นที่เจ้าของงานมีแจ้งมา และเมืองที่รถไฟต้องขับผ่าน โดยมีแรงบันดาลใจจากความฝันในวัยเด็ก และวาดออกมาตามในจินตนาการที่อยากให้เป็นและเมืองในต่างประเทศที่ชอบ ภาพในหัวถูกเรียบเรียงออกมาผ่านดินสอและสีน้ำในกระดาษหนึ่งแผ่น
นอกจากนี้เขายังลงมือทำเอง ตั้งแต่การหาอุปกรณ์ จนถึงการสร้างงาน ที่เขาบอกว่า ‘สนุก’ ในทุกขั้นตอน ด้วยความเชื่อว่าตัวเองเป็นเหมือนคนตัวเล็กที่กำลังอาศัยในโลกของเมืองจำลองที่เขากำลังสร้างขึ้น
สิ่งรอบๆ ของเมืองจิ๋วแห่งนี้ไม่ว่าเป็นต้นไม้ น้ำ หรือก้อนหิน สุจินต์ตั้งใจจะถ่ายทอดออกมาให้เราได้รู้สึกถึงสิ่งนั้นอย่างสมจริงที่สุด รวมไปถึงรถไฟที่สามารถขับเคลื่อนด้วยไอน้ำเหมือนจริง ราวกับว่าเราจะกลายเป็นมนุษย์ที่ตัวใหญ่ขึ้นรายล้อมไปด้วยเมืองย่อส่วน
ความลับทำให้เมืองรถไฟจำลองสนุกไปอีกแบบสุจินต์บอกว่าเขาสร้างบทบาทให้ตัวเองไปด้วย
เขามักจินตนาการว่ากำลังใส่ชุดสีน้ำเงินเข้มและหมวกประจำตัวของพนักงานขับรถไฟ พร้อมที่จะขับไปรับผู้โดยสารตามสถานี แววตาที่เราได้เห็นในตอนนั้น สัมผัสได้เลยว่า สุจินต์กำลังจะพาเราไปไหนสักที่หนึ่งอยู่จริงๆ
“เราต้องเป็นทุกอย่างเลย รับบทบาทเป็นทั้งนายสถานี ผู้โดยสาร นักการภารโรงรถไฟ เป็นคนข้างทางที่เดินอยู่ด้วย”
“เราไม่เคยเบื่อรถไฟเลย เราต้องสร้างภารกิจให้กับตัวเอง เช่น จำลองรถเสีย ทำให้เหมือนจริงทุกอย่าง สวมบทบาทเป็นทุกอย่างทำให้เป็นภารกิจจริงแล้วจะสนุก อยู่ได้ทั้งวันเลย ถ้าจะปล่อยให้วิ่งเฉยๆ สามรอบสี่รอบเดี๋ยวก็เบื่อแล้ว”
เด็กชายสุจินต์วัยสิบขวบและสุจินต์ในช่วงชีวิตใกล้ 60 ปี
“ทุกคนมักจะบอกว่ารถไฟก็แค่ของเล่น แต่เรารู้สึกว่าไม่ใช่ของเล่นมันเป็นอดิเรก มันมีความสันทนาการที่สามารถต่อยอดทำอะไรก็ได้”
ถึงจะเป็นคำถามที่โดนถามอยู่บ่อยครั้งว่าทำไมอายุเท่านี้แต่ยังเล่นของเล่น คำตอบของสุจินต์ยิ่งทำให้เรารู้ว่าหัวใจของเขายังคงรักรถไฟเหมือนตั้งแต่วันแรกที่ได้รู้จักรถไฟจำลอง
เขาตอบกลับมาอย่างหนักแน่นว่า อายุไม่ใช่ตัวจำกัดและเมืองรถไฟตรงหน้าที่เขากำลังสร้างอยู่นี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่ของเล่น แต่เป็นโลกใบหนึ่งของเขาที่ทำให้เขาได้สัมผัสถึงความสุขที่แท้จริงเลยก็ว่าได้
เรื่องราวชีวิตที่ผ่านมาเขาไม่เคยรู้สึกเสียใจสักนิด เพราะคนเรามีความชอบได้หลายอย่าง ทั้งหมดนั้นหล่อหลอมให้เป็นสุจินต์ในวัย 58 ปีแบบทุกวันนี้
“ทุกครั้งที่นั่งรถไฟเรารู้สึกมีความสุข ตามกาลเวลาก็เปลี่ยนแปลงไปแต่ในใจเรายังเหมือนเดิม เราสบายใจกับรถไฟ”
“การได้เล่นรถไฟนี่แหละ มันยังอยู่ในใจเราเสมอ ทำให้เราย้อนกลับไปตอนเด็กๆ ตอนที่เราอยู่กับพ่อ เห็นรถไฟเข้ามาจอดที่สถานี บรรยากาศรอบสถานี ตอนนี้เราได้ทำเหมือนเราย่อตัวเองเข้าไปอยู่ในงาน เวลาเห็นรถไฟวิ่งแล้วเราอยู่ข้างๆ เห็นรถไฟวิ่งผ่านต่อหน้า อาการเดียวกันกับตอนเด็กๆ เลย”
“ตัวเรายังรักรถไฟเหมือนเดิม มันเข้ากระดูกไปแล้วไม่ได้แค่เข้าเส้นเลือดนะ ไม่มีที่ไหนรักษาได้ด้วย”
หากคนบนโลกมี 100 คน คงจะมีสัก 5 คนที่สามารถทำและรักสิ่งๆ หนึ่งได้หลายสิบปีจนไม่น่าเชื่อ หนึ่งในนั้นก็คงจะมีชื่อของสุจินต์อยู่ด้วย ที่มีใจรักรถไฟเหมือนวันแรกที่ได้ก้าวขาเข้าไปในโลกแห่งนี้ เขาไม่เคยรู้สึกเบื่อเลยและยังค้นหาเส้นทางใหม่ๆ ในการเล่นเสมอ แม้ในอนาคตจะมีสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นและคาดไม่ถึงมากมาย แต่การใช้เวลาตลอดสิบปีในเส้นทางนี้ก็สามารถตอบได้ชัดเจนว่าเขาให้ใจกับรถไฟไปทั้งหมดแล้ว
และถ้าหากโลกนี้มีเครื่องมือย้อนเวลา…
เมื่อถามถึงคำถามสุดท้ายที่มีช่วงเวลาไหนที่เขาอยากย้อนกลับไปมากที่สุดและอยากบอกอะไรกับตนเอง ถึงแม้ว่าเขาจะเชื่อว่าตนเองใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่มาเสมอ แต่ก็ยังมีที่สุจินต์รู้สึกว่าหากย้อนกลับไปก็คงจะดี
“เราก็อยากกลับไปเป็นหนุ่มนะ (หัวเราะ)”
“อยากบอกให้ใช้ชีวิตให้เต็มที่เพราะตอนช่วงนี้เราเริ่มทำงานสนุกแล้ว ทำงานสนุกแต่ร่างกายตัวเองมันกลับร่วงโรยลงจะปีน ทำนั่นนี่ทีก็ยาก ถ้าเป็นหนุ่มๆ คงปีนข้ามได้สบาย เราก็มองภาพว่าถ้าตอนนั้นมีโอกาสได้ทำรถไฟนี้แบบจริงจัง แล้วเราอายุเท่าตอนนั้นนะคงสนุกกว่านี้เยอะ มีอะไรให้ทำมากกว่านี้”
“ได้ย้อนไปสักสามสิบก็ยังดีเราก็คงยังทำงานได้อีกหน่อย ตอนนี้มีเรื่องราวที่อยากทำอีกเยอะ ยังมีอะไรอยู่ในใจ หลายอย่างที่ยังไม่ได้ทำเกี่ยวกับการเล่นรถไฟ ยิ่งกว่าร่างกายก็คือเราไม่มีโอกาสทำแล้วเท่านั้นเอง”
เมื่อสุจินต์พาเราเดินทางมาถึงชานชาลาสุดท้าย เขาหยิบรูปฝีมือการเขียนภาพที่เขาได้วาดมาให้เราดูหลากหลายแผ่น นั่นคือจุดเริ่มต้นของผลงานที่อยู่ตรงหน้าเราในตอนนี้ แม้ว่าเมืองจำลองรถไฟจะยังไม่เสร็จเรียบร้อย แต่เราก็รู้สึกรอคอยวันที่ได้เห็นเมืองแห่งนี้ที่เป็นโลกแห่งใหม่ของสุจินต์เช่นกัน
ตลอดบทสนทนาเราสัมผัสได้ว่าการเนรมิตเมืองจินตนาการออกมา ใช้ความรักต่อรถไฟอย่างมาก เขาแทรกความรู้ต่างๆ ของรถไฟให้เราฟังตลอดที่ได้พูดคุยกัน จนเราก็อดรู้สึกหลงใหลในรถไฟไม่ได้เลย และคาดไม่ถึงว่ารถไฟจะค้นพบอะไรได้มากมายเช่นนี้
เส้นทางชีวิตระหว่างสุจินต์และรถไฟที่ยาวนานมา 50 กว่าปีนี้ เดินทางยังไม่สิ้นสุดลง
เขายังยืนหยัดว่าจะไม่ทิ้งรถไฟจำลองและเมืองแห่งจินตนาการนี้ บั้นปลายชีวิตสุดท้ายแค่เพียงได้ใช้ชีวิตเรียบง่ายและผจญภัยในเมืองจำลองเล็กๆ ของตัวเองพร้อมรถไฟ แค่คิดก็คงจะมีความสุขมากเพียงพอแล้ว
หลังบทสนทนาระหว่างเราและสุจินต์จบลง สิ่งหนึ่งที่ทำให้เราคิดได้หลังจากเรื่องราวทั้งหมดได้ถูกพูดถึงนั่นก็คือ ในวันที่เรามองว่าอายุเรานั้นแก่เกินไป อาจจะเป็นวันเดียวกับวันที่เราเจอเส้นทางใหม่และสามารถทำไปพร้อมๆ กับความชอบของเราก็ได้ คงไม่มีอะไรที่สายไปหรอกถ้าสิ่งนั้น ‘ยังอยู่ในใจ’ ของเรา
ช่องทางการติดตามโลกรถไฟจำลอง
Facebook : The Trains
Sujin Keuysuwan
Youtube : สุจินต์ เกยสุวรรณ