เมื่อความหลงใหลซ่อนอยู่ในตู้เสื้อผ้า ‘Striped Shirts Obsession’ หนังสือของหญิงสาวผู้คลั่งไคล้เสื้อลายทาง

พอร์ตโฟลิโอของ นภัสร ธนเสรีธำรง

จบการศึกษาจาก สาขาวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ หลักสูตรนานาชาติ (COMM DE)  คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ชื่อผลงาน Striped Shirts Obsession

ตอบคำถามเราภายใน 5 วินาที อะไรคือสิ่งที่คุณหลงใหล 

แล้วถ้าหากคุณมีโอกาสถ่ายทอดความหลงใหลนั้นออกมา คุณจะทำยังไงให้คนอื่นรู้ว่าคุณชอบมันจริงๆ 

สำหรับ เฟิร์น–นภัสร ธนเสรีธำรง ความหลงใหลของเธอซ่อนอยู่ในตู้เสื้อผ้า ในรูปแบบของเสื้อลายทาง!

ถามว่าหลงใหลมากขนาดไหน เฟิร์นตอบให้ว่าถ้าเปิดตู้นับดูแล้ว เธอมีเสื้อลายทางไม่ซ้ำสี ไม่ซ้ำแบบมากถึง 40 ตัว

แน่นอนว่าเสื้อที่เธอใส่มาสัมภาษณ์วันนี้ก็เป็นเสื้อลายทางเช่นเดียวกัน

เมื่อโจทย์ในวิชาเรียนคือการออกแบบสื่อที่มาจากความชอบ เธอจึงใช้โอกาสนี้ทำหนังสือผ้าที่ชื่อ ‘Striped Shirts Obsession’ เปิดตู้เสื้อผ้าแล้วรวบรวมเอาเสื้อลายทางที่เธอสะสมและใส่จริงตั้งแต่เด็กจนโตมาโชว์ และคัดเลือกความทรงจำที่เกี่ยวกับเสื้อเหล่านั้นมาวาดเป็นการ์ตูนแก๊ก พร้อมทั้งใช้วิชาการเย็บผ้าที่อาม่าสอนมาประกอบร่างเป็นหนังสือผ้าที่เธอเย็บเองทั้งเล่ม!

เจ้าหนังสือผ้าหน้าตาตุ้ยนุ้ยที่ว่าบรรจุความหลงใหลของเฟิร์นไว้ยังไงบ้าง​ เฟิร์นจะพลิกให้ดูทีละหน้า

What is your obsession? – Striped Shirts!

จุดตั้งต้นของงานชิ้นนี้มาจากโจทย์ในวิชา stu graphic ซึ่งถือเป็นวิชาหลักของนิสิตชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ หลักสูตรนานาชาติ (COMM DE) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เฟิร์นเรียน วิชานี้เรียนเกี่ยวกับกระบวนการคิด กระบวนการดีไซน์ ในทุกๆ สัปดาห์อาจารย์ประจำวิชาจะมีโจทย์มาให้นิสิตออกแบบสร้างสรรค์งาน โดยโจทย์หนึ่งจะมีเวลาให้ลงมือทำประมาณ 2-3 สัปดาห์ จากนั้นก็จะเปลี่ยนไปเป็นโจทย์ใหม่เรื่อยๆ ซึ่งโจทย์ที่ก่อให้เกิดเป็นงานชิ้นนี้ก็คือ ‘Obsession’ หรือความหลงใหล

เฟิร์นเล่าให้ฟังว่าทันทีที่ได้โจทย์เธอถึงกับกุมขมับ เพราะหากพูดถึงความหลงใหลคลั่งไคล้ในอะไรสักอย่าง เธอน่ะมีอยู่สารพัด

“การต้องเลือกความหลงใหลแค่อย่างเดียวมันยากมากเพราะเราชอบทั้งอาหาร ชอบทั้งหมา ทั้งแมว มีสิ่งที่ชอบเยอะแยะไปหมด” เฟิร์นว่าพลางหัวเราะสดใส 

เธอใช้เวลาสำรวจตัวเองอยู่พักใหญ่ ก่อนจะพบสองสิ่งที่เธอน่าจะชื่นชอบที่สุด นั่นคือการสะสมสมุดสเกตช์ และการสะสมเสื้อลายทาง

เฟิร์นบอกว่าตัวเองสะสมสมุดสเกตช์มาตั้งแต่เด็ก หากนับรวมจนถึงตอนนั้นก็มีมาแล้วกว่า 20 เล่ม

ลายเส้นที่เคยฝึกฝน เรื่องราวประจำวันที่พบเจอ ความชอบที่ซุกซ่อนไว้ ความคิดที่ไร้การปรุงแต่งของเธอถูกบันทึกไว้ในสมุดสเกตช์แทบทั้งหมด 

“ตอนเลือกหัวข้อความหลงใหล เฟิร์นเอาสมุดสเกตช์พวกนั้นมานั่งเปิดทีละเล่ม ดูว่าจริงๆ แล้วเฟิร์นชอบอะไรเป็นพิเศษอีกบ้างไหม จนเห็นว่ามีช่วงหนึ่งที่ตัวเองชอบวาดรูปเส้น ตอนนั้นก็คิดแค่ว่าเราเนี่ยชอบอะไรที่เป็นเส้นๆ เล็กๆ เยอะเนอะ ขนาดเสื้อยังเป็นเส้นเลย” 

เพียงความคิดนั้นแวบขึ้นมา เฟิร์นก็รีบเปิดตู้เสื้อผ้านับว่าตัวเองมีเสื้อลายทางเยอะแค่ไหน คำตอบคือเธอพบว่าตัวเองมีเสื้อลายทางไปแล้วถึง 40 ตัว ยิ่งกลับไปหารูปว่าตัวเองใส่มาตั้งแต่เมื่อไหร่ เธอก็พบว่าเสื้อลายทางคือสิ่งที่อยู่คู่กับเธอมาตั้งแต่วัยเด็ก

“หม่าม้าจับเฟิร์นใส่เสื้อลายทางมาตั้งแต่ตอนเป็นเบบี๋เลย พอโตมาซื้อเสื้อผ้าเองเราก็ยังเลือกลายทาง มีหลายแบบมาก ทั้งที่ลายหนา-บางต่างกัน แต่ละอันมีสีของตัวเอง เลยคิดว่างั้นเราคงหลงใหลสิ่งนี้แหละ”

I have many striped shirt and this is my striped shirts catalogue 

เมื่อตัดสินใจได้ว่าจะนำความชอบนี้มาสร้างสรรค์งาน ในสัปดาห์แรกของการทำงานเฟิร์นเริ่มจากการรื้อเสื้อลายทางที่มีมาดูว่าเสื้อทั้งหมดมีกี่สี กี่ลวดลาย จากนั้นจึงเริ่มออกแบบเป็นรูปเล่มให้อาจารย์พิจารณา

“ดราฟต์แรกเฟิร์นทำรูปเล่มออกมาเป็นเหมือนเครื่องดนตรีแอ็กคอร์เดียน เพราะมองว่าระยะเวลาที่เราชอบเสื้อลายทางมาเป็นเหมือนไทม์ไลน์ยาวๆ เฟิร์นเลยอยากเล่าเป็นไทม์ไลน์ หยิบเสื้อตัวพิเศษมาพล็อตจุดว่าเราใส่เสื้อตัวนั้นๆ ช่วงไหน”

เธอบอกว่าที่ทำแบบนั้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะเธอไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองหลงใหลแค่เฉพาะลวดลายของลายทาง แต่จริงๆ แล้วที่เสื้อลายทางพิเศษขึ้นมาได้ เป็นเพราะเรื่องราวและความทรงจำที่เกิดขึ้นตอนใส่ด้วย 

ในส่วนวิธีคัดเลือกชุด เฟิร์นบอกว่ามาจากความสปาร์กจอยล้วนๆ อย่างเสื้อลายทางสีเหลืองดำ หยิบออกมาแล้วความทรงจำที่เพื่อนเคยแซวว่าเป็นผึ้งก็กลับย้อนมา หรือตัวไหนเคยใส่ไปแลกเปลี่ยนที่เมืองจีน กลิ่นประเทศจีนและความทรงจำตอนนั้นก็จะปรากฏชัดในความทรงจำ 

เมื่อเห็นว่าแต่ละตัวมีเรื่องราวซุกซ่อนอยู่เช่นนี้ เธอจึงได้ไอเดียใหม่ขึ้นมาเพิ่มเติม นั่นคือการสเกตช์การ์ตูนขึ้นมาว่าตัวเองเคยใส่เสื้อเหล่านั้นไปทำกิจกรรมอะไรมาบ้าง

“ตอนนั้นเฟิร์นกำลังหาลายเส้นของตัวเองอยู่ด้วย เฟิร์นเลยใช้พื้นที่นี้ในการฝึกวาดภาพ โดยวาดเป็นคาแร็กเตอร์ตัวเองที่กำลังทำกิจกรรมต่างๆ ขณะใส่เสื้อตัวนั้น ส่วนสีของปากกาที่ใช้ เฟิร์นก็เลือกให้เป็นสีเดียวกันกับสีของเสื้อ นอกจากนั้นก็มีทำเป็นการ์ตูนแก๊ก 4 ช่องด้วย เพราะเราโตมากับการ์ตูนขายหัวเราะ มหาสนุก เลยอยากให้มันมีมุกตลกมาประกอบ” เฟิร์นอธิบายพร้อมเล่าถึงมุก ‘เสื้อลายทางใส่แล้วผอมกว่าเสื้อลายขวาง’ ที่เธอหยิบประสบการณ์จริงที่ตัวเองเคยใส่เสื้อลายขวางไปเจอเพื่อนมาวาด

Come to flip it!

หลังส่งดราฟต์แรกไปแล้วอาจารย์คอมเมนต์ว่าการทำเป็นแอ็กคอร์เดียนอาจยังไม่ค่อยเกี่ยวข้องกัน กับเรื่องราวที่เธอจะเล่า เธอจึงออกแบบใหม่ให้ Striped Shirts Obsession ออกมามีความคล้ายคลึงกับแค็ตตาล็อกเสื้อผ้าเพิ่มมากขึ้น และจากที่ครั้งก่อนทำเพียงถ่ายลายเสื้อมาแปะ ครั้งนี้เธอจึงเปลี่ยนไปทำลายเสื้อในโปรแกรมออกแบบแล้วปรินต์ลงบนผ้าแทน 

“เพราะไหนๆ ก็ทำเกี่ยวกับเสื้อลายทาง เฟิร์นเลยคิดว่างั้นก็น่าจะเอาผ้ามาใช้ในงานจริงไปเลย” เธอว่า

เฟิร์นค่อยๆ พลิกรูปเล่มม็อกอัพที่เธอทำขึ้นมาให้ดู พร้อมอธิบายว่าเธอออกแบบด้านซ้ายของงานให้โชว์แพตเทิร์นเต็มๆ ของผ้า ส่วนด้านขวาเป็นชิ้นผ้าที่สามารถพลิกเปิดได้ ภายในเป็นรูปตอนที่เธอใส่เสื้อตัวนั้นจริงๆ ส่วนด้านล่างเป็นข้อมูลบอกให้รู้ว่าเสื้อสีอะไร ลายทางมีกี่เส้น เคยใส่ตอนไหนบ้าง 

“เฟิร์นนั่งนับทุกอย่างแบบละเอียดเลย มีไล่ระดับของสี ไล่ลายใหญ่เล็กด้วย ทำไปจนกระทั่งถึงหน้าสุดท้ายแล้วผ้ามันเหลือพอดีเฟิร์นก็เลยลองเอาเสื้อลายทางแต่ละอันมาเรียงต่อกันดูว่ามันจะออกมาเป็นยังไง ให้อารมณ์เหมือนว่านี่คือไทม์ไลน์ทั้งชีวิตของเรา 

“ปรากฏว่าอาจารย์ชอบหน้าสุดท้ายอันนี้มาก เขาบอกด้วยว่าไหนๆ ก็ทำออกมาเป็นผ้าขนาดนี้แล้วทำไมรูปเล่มจริงไม่ทำให้เป็นผ้าทั้งเล่มไปเลยล่ะ เฟิร์นก็เลยปิ๊งไอเดีย คิดว่าเออเนอะ น่าทำ!”

100% handmade, I sew it by myself.

แค่ฟังก็นึกภาพรอไว้แล้วว่าคงเป็นงานยาก แต่นับว่าเป็นความโชคดีของเฟิร์น เพราะด้วยความที่ที่บ้านทำโรงงานเย็บผ้า อาม่าของเธอจึงสอนเธอใช้จักรมาตั้งแต่เด็กๆ 

“อาม่าสอนเย็บผ้าตั้งแต่ขาเฟิร์นยังเหยียบที่ถีบจักรไม่ถึง เฟิร์นไม่เคยชอบเลยแต่พอโตมาต้องทำงานนี้เราถึงเพิ่งรู้ว่าสกิลที่เราฝึกตอนนั้นตอนนี้กลายเป็นเหมือนสกิลใหญ่ๆ อย่างหนึ่งที่เรามีติดตัว กับงานนี้คือสบายแน่นอน” เฟิร์นว่าพลางยิ้มร่า 

แน่นอนว่าผลงานที่ออกมาก็พิสูจน์ชัดว่าที่เธอว่าไม่ได้เกินความจริง

ความพิเศษของชิ้นงานเวอร์ชั่นเสร็จสมบูรณ์จึงเป็นการที่ผลงานนี้ทำด้วยผ้าทั้งเล่ม และมีเฟิร์นเป็นคนเย็บประกอบเข้าเล่มด้วยตัวเอง

 เธอหยิบยกข้อดีจากดราฟต์ก่อนหน้ามาพัฒนา คือปรินต์ลายทางลงบนผ้าเหมือนเดิม แต่เพิ่มเติมการเลือกผ้าให้นุ่มนิ่มเหมือนกับของเสื้อที่เธอชอบใส่จริงมากที่สุด 

“องค์ประกอบจะคล้ายกันกับดราฟต์แรกๆ คือมีส่วนที่โชว์ให้เห็นลายทางแบบเต็มๆ กับส่วนที่เปิดเข้าไปเห็นสตอรีด้านใน ส่วนเนื้อหาพาร์ตหลังเฟิร์นก็ทำเป็นไทม์ไลน์ให้เห็นว่าเราเคยใส่เสื้อตัวนี้จริงๆ ถ้าเปิดดูก็จะเห็นรูปของเราตอนช่วงวัยต่างๆ ซ่อนอยู่” นอกจากหน้าตาของเฟิร์นที่เปลี่ยนไป ลายผ้าและโทนสีก็ล้วนบอกถึงการโตขึ้นของหญิงสาวผู้เป็นเจ้าของ 

“เฟิร์นเรียงผ้าแต่ละลายโดยอิงจากไทม์ไลน์ที่ใส่จริง ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นสีใดสีหนึ่งขึ้นมาก่อน แต่สีมันก็ไล่เรียงไปเอง อย่างตอนเด็กอายุยังไม่เยอะ แม่ก็จะซื้อเสื้อสีโทนซอฟต์ๆ สีขาว เทา ดำให้ แต่พอโตขึ้นมาเราก็เริ่มเป็นตัวเองมากขึ้น เริ่มชอบสีสัน 

“ส่วนผ้าเหลือที่อาจารย์ชอบครั้งก่อน เฟิร์นปรับมาเป็นหน้าปกแทน เพื่อที่คนเห็นแล้วจะได้คาดเดาไม่ได้ว่านี่คือหนังสือเกี่ยวกับอะไรกันแน่” เธอว่าแล้วมองไปที่หนังสือรูปร่างตุ้ยนุ้ยตรงหน้าด้วยความภูมิใจ

Let’s explore something fun. You will do a good job. 

แม้เฟิร์นจะยอมรับในนาทีถัดมาว่าขั้นตอนการทำจริงยากอยู่เหมือนกันเพราะต้องเตรียมงานหลายส่วน ต้องแพลนล่วงหน้าก่อนจะลงมือเย็บจริงว่าจะใช้ผ้ากี่ชิ้น และแต่ละชิ้นจะต้องมีขนาดเท่าไหร่ จะต้องเว้นระยะแค่ไหนเพื่อให้การเย็บออกมาสมบูรณ์

แต่เธอก็มองว่าความเครียดและความกังวลที่เกิดขึ้นระหว่างทำนั้น ส่วนหนึ่งก็เป็นความสนุก เธอชอบที่ได้เรียนรู้และลงมือทำสิ่งใหม่ๆ

“ปกติเวลาได้โจทย์งานมา เฟิร์นมักจะเป็นคนที่ไม่จำกัดตัวเองว่าเราทำอะไรได้บ้าง ความสนุกอยู่ตรงที่เราได้สำรวจสิ่งต่างๆ มาใช้ในงาน เราเชื่อเสมอว่ามันต้องมีสิ่งที่ยังไม่เคยลองอีก หลายๆ โปรเจกต์เฟิร์นเลยได้ทดลองวัสดุใหม่ๆ ได้ลองทำอะไรที่เฟิร์นไม่เคยลอง เหมือนเราได้องค์ความรู้ใหม่ ถึงทำแล้วอาจจะมีเฟลบ้าง แต่มันก็ทำให้เฟิร์นไม่กลัวที่จะกระโดดออกจากคอมฟอร์ตโซนตลอดเวลา มันคือความท้าทายที่สนุก”

กับงานนี้เธอจึงมองว่าในความเหนื่อยยากนั้นก็มีข้อดีอยู่

หนึ่งคือเธอได้กลับมามองว่าตัวเองมีสกิลอะไรที่แข็งแรงบ้าง สองคือการได้สำรวจวิธีทำงานใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำ 

ที่สำคัญคือโปรเจกต์นี้ทำให้เธอรู้ว่าตัวเองชอบและไม่ชอบอะไร หลงใหลในสิ่งไหน 

“เฟิร์นมองว่าการมีความหลงใหลคือสิ่งที่ทำให้เราใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างมีความสุข ทำให้มีเป้าหมาย มีพลังแฝงในตัว เฟิร์นเลยรู้สึกว่าไม่ว่าจะเป็นการหลงใหลในอะไรก็ตาม จะหนัง การ์ตูน หรืออย่างอื่นก็หลงใหลไปเถอะ สิ่งเหล่านี้มันทำให้เราอยากตื่นมาทุกวัน ซึ่งมันเป็นเรื่องสำคัญมากเลยนะสำหรับเฟิร์น

“ที่งานนี้เกิดขึ้นมาได้ ช่วงแรกเราก็ทำตามสิ่งที่เราหลงใหลเฉยๆ เหมือนให้ข้อมูลพาไป ไม่ได้คิดว่าคนอ่านจะตั้งใจเปิดดูทุกหน้า ดูเสื้อทุกตัว ไม่ได้คิดว่างานจะได้ไปโชว์ที่ไหน แค่ทำตามแพสชั่นตัวเองซึ่งสุดท้ายแล้วมันสามารถสื่อสารกับคนได้ จัดแสดงงานแล้วมีคนเข้าใจ คนอ่านแล้วชอบ เฟิร์นว่ามันก็สำเร็จแล้ว”

เธอบอกว่านี่คืองานที่เธอชอบตั้งแต่ต้นจนจบของกระบวนการทำ ถึงแม้อาจจะไม่ได้เป็นงานที่มีลายเส้นของเธอชัดเจนมากที่สุด แต่โดยรวมแล้วมันก็เป็นสิ่งที่มีคุณค่า

“เราอยากเก็บงานชิ้นนี้ไว้ให้ลูกหลานดูว่าเราเคยทำสิ่งนี้มา นึกภาพว่าเราเป็นอาม่าแล้วเอางานของเราทุกชิ้นมาเปิดให้หลานดูมันคงจะเท่ดี”

ขอบคุณรูปภาพจาก นภัสร ธนเสรีธำรง

AUTHOR