เมื่อแมงมุมลายตัวนี้บอกฉันว่าอย่าโตไปเป็นผู้ใหญ่แบบที่เราเกลียด

ถ้าคุณเป็นคนที่ทัน Spider-Man เวอร์ชันโทบี แมไกวร์ (หรือแอนดรูว์ การ์ฟิลด์ก็ตาม) และกำลังจะดู Spider-Man: Across the Spider-Verse นั่นคือจุดเช็กอินแล้วว่า เราต่างก็ ‘ไม่เด็ก’ กันแล้วนะ และนั่นก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่แอนิเมชันที่มีสไตล์ของงานภาพจัดจ้านเรื่องนี้ จะยื่นมือของมันออกมาจากอีกมัลติเวิร์สเพื่อพาคุณกลับไปสำรวจความผิดพลาดของตัวเองในวันที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่

Into the Spider-Verse

Spider-Man เป็นซูเปอร์ฮีโร่ของ Marvel Comics ถือเป็นซูเปอร์ฮีโร่เบอร์ 1 ของค่ายนี้ และในช่วงยุค 90s ทางมาร์เวลประสบปัญหาทางธุรกิจ จึงได้ขายลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนเรื่องต่างๆ ให้กับค่ายหนังหลายเจ้านำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ ซึ่งลิขสิทธิ์ของตัวละครในจักรวาลของสไปเดอร์แมนนั้นถูกทางโซนี่ซื้อไป โดยมีเงื่อนไขว่าหากโซนี่ไม่ได้สร้างหนังเกี่ยวกับไอ้แมงมุมใดๆ ก็ตามภายในระยะเวลา 5 ปี ลิขสิทธิ์ของ Spider-Man จะกลับไปอยู่กับทางมาร์เวล

ซึ่งข้อตกลงนี้ทำให้ภายหลังมาร์เวลได้ลิขสิทธิ์ตัวละครหลายตัวของเขาคืนกลับมา เช่น Ghost Rider ที่ยอมไม่สร้างหนังภาคต่อเพราะรายได้ไม่เข้าเป้า หรือทางดิสนีย์ (ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของมาร์เวลในปัจจุบัน) ก็ทำการซื้อกิจการของค่าย 21st Century Fox มาเสียเลย ทำให้มาร์เวลได้ลิขสิทธิ์ของตัวละคร X-Men กลับมา เป็นต้น

แต่ดีลนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นกับไอ้แมงมุมได้ เพราะไม่ว่าจะดีจะร้ายอย่างไร หนังในแฟรนไซส์ไอ้แมงมุมซึ่งยังไม่นับวิดีโอเกมของเครื่อง PlayStation ซึ่งเป็นของโซนี่เหมือนกัน ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับทางบริษัทมาโดยตลอด แม้แต่หนังที่สนุกน้อยอย่าง Venom หรือ Morbius ก็เป็นตัวละครจากจักรวาลของสไปเดอร์แมนที่ยังเก็บกำไรให้โซนี่ได้แบบชิลๆ

แม้ว่าเราจะได้เห็น Spider-Man เวอร์ชัน ทอม ฮอลแลนด์ ได้เข้าไปอยู่ในจักวารของ MCU (Marvel Cinematic Universe) มาแล้วประมาณ 5 ปี นับตั้งแต่ Captain America: Civil War (2016) จนถึง Spider-Man: No Way Home (2021) แต่นั่นก็เป็นเพียงแค่การที่มาร์เวลขอยืมตัวละครสไปเดอร์แมนมาใช้เท่านั้น ซึ่งไม่มีอะไรจะการันตีได้ว่าไอ้แมงมุมจะได้ Homecoming สู่มาร์เวลอย่างเต็มตัว และยิ่งมีการเกิดขึ้นแอนิเมชัน Spider-Man: Into the Spider-Verse (2018) ด้วยแล้ว ก็เป็นการพิสูจน์ว่าจักรวาลของตัวละครนี้สามารถเดินทางและเติบโตไปต่อได้อีกไม่รู้จบ โดยไม่ต้องพึ่งมาร์เวลเลยก็ได้ (แถมยังเล่าเรื่องของพหุจักรวาลได้เข้าใจง่ายกว่าที่มาร์เวลพยายามทำอยู่ด้วย)

Across the Spider-Verse

ในภาคแรก Spider-Man: Into the Spider-Verse เล่าถึงเด็กหนุ่มวัย 14 ปี เชื้อสายอเมริกัน-แอฟริกัน-เปอร์โตริกันชื่อ ไมลส์ โมราเลส (Miles Morales) ซึ่งถูกแมงมุมอาบรังสีกัดจนทำให้เขามีพลังแมงมุม เหมือน ปีเตอร์ พาร์กเกอร์ (Peter Parker) ซูเปอร์ฮีโร่รุ่นพี่ โดยในจักรวาลของแอนิเมชันเรื่องนี้ ปีเตอร์ได้เสียชีวิตจากการต่อสู้ และไมล์ต้องรับช่วงต่อความรับผิดชอบที่ใหญ่ยิ่งจากพลังที่ยิ่งใหญ่ต่อจากปีเตอร์ โดยเขาได้เหล่าผู้มีพลังแมงมุมจากจักรวาลอื่นๆ มาช่วยกันเป็นครูที่ชี้นำทางในการใช้พลัง รวมถึงการค้นหาความหมายของการเป็นซูเปอร์ฮีโร่ในแบบตัวเขาเอง

Spider-Man: Into the Spider-Verse (2018) ประสบความสำเร็จอย่างมากทั้งรายได้และคำวิจารณ์ด้านเนื้อหา โดยงานภาพของแอนิเมชันเรื่องนี้สร้างความตื่นเต้นกับคนดูและคนในวงการครีเอทีฟอย่างมาก ทั้งการใช้ลายเส้นในการกำหนดบุกคลิกลักษณะของตัวละครที่สื่อถึงโลกที่พวกเขาข้ามมา การใส่องค์ประกอบของงานศิลปะแบบต่างๆ และมีการคารวะศิลปินดังๆ มากมายที่เป็นแรงบันดาลใจของทีมงาน รวมไปถึงเรื่องราวของความเป็นครอบครัวเพื่อสื่อสารกับกลุ่มคนดูที่เป็นเด็กๆ ได้ลงตัว จนโซนี่ประกาศไฟเขียวให้สร้างภาคต่อทันทีหลังจากหนังทำเงินผ่านจุดคุ้มทุนสร้างไม่นาน

Spider-Man: Across the Spider-Verse (2023) กลับมาพร้อมกับงานสร้างที่ยกระดับมาตรฐานของงานภาคแรกขึ้นไปอีกขั้น ซึ่งในภาคนี้จะพาเราไปพบกับจักรวาลคู่ขนานอื่นๆ อีก 6 จักรวาล มีตัวละครที่ใช้พลังแมงมุมถึง 240 ตัว โดยใช้ทีมงานในการสร้างแอนิเมชันรวมๆ กันแล้วกว่าหนึ่งพันคน พร้อมเนื้อเรื่องที่เข้มข้นขึ้น ปมเรื่องที่ถูกพันกันโยงใยมากกว่าภาคที่แล้ว ทั้งเรื่องปัญหาของวัยรุ่น การปกป้องคนที่ตัวเองรัก ทางเลือกที่ยิ่งใหญ่ของการเป็นซูเปอร์ฮีโร่ ผลกระทบจากเหตุการณ์หนึ่งที่นำไปสู่การสร้างความผิดพลาดครั้งใหญ่ขึ้นมาโดยที่ไม่ตั้งใจ และปมอื่นๆ อีกมากมาย ที่ใส่เข้ามาแต่กลับสามารถถักทอร้อยเรื่องออกมาได้อย่างราบรื่นตลอดเวลาสองชั่วโมงกว่าๆ โดยที่ไม่วายจะกระทุ้งเราให้ฉุกคิดถึงเรื่องการเติบโตเป็นผู้ใหญ่เป็นระยะ

หนังทำให้เราย้อนกลับไปนึกถึงช่วงที่เราเป็นวัยรุ่น ช่วงที่มีความคิด ความฝัน ความต้องการไม่ต่างกับเด็กๆ ในตอนนี้ที่ต้องการให้ผู้ใหญ่ยอมรับและคอยสนับสนุนเขาในสิ่งที่เขาหรือเราอยากเป็น แต่หลายครั้งเราก็พบว่าด้วยช่องว่างระหว่างวัย และการมองโลกที่เปลี่ยนไปของผู้ใหญ่ทำให้กลายเป็นปัญหาคลาสสิกของคนทุกรุ่นว่า คนรุ่นก่อนไม่เคยเข้าใจคนรุ่นใหม่เลย และหลายคนยังใช้ไม้บรรทัดของตัวเองมาตัดสินว่าสิ่งที่เด็กคิดหรือเลือกทางเดินของเขานั่นเป็นสิ่งที่ผิด

ปัญหานี้ถูกนำเสนอผ่านตัวละครทั้งไมล์และเกว็น โดยทั้งสองคนต้องต่อสู้กับปัญหารอบด้านทั้งเรื่องความรู้สึกของการเป็นคนแปลกแยก การแบกรับกับความรู้สึกของการสูญเสียคนรัก การต้องการกำลังใจจากคนในครอบครัว ทางเลือกที่ต้องแลกมาด้วยการเสียสละ และการถูกตัดสินจากผู้ใหญ่เพียงเพราะพวกเขาเป็นแค่เด็กวัยรุ่น

จริงอยู่ที่ผู้ใหญ่ (ในเรื่อง) คือคนที่ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านความผิดพลาดมามากมายจนทำให้พวกเขาไม่อาจจะวางใจในความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ ทั้งเรื่องเล็กน้อยอย่างการเลือกทางเดินต่อไปของเด็กหรือการตัดสินใจที่จะนำไปสู่การพังทลายของเส้นเรื่องในแต่ละจักรวาล จนกลายเป็นพฤติกรรมที่คอยสะท้อนกลับมาสู่เราเป็นระยะว่านี่คือผู้ใหญ่ในแบบที่เราไม่เคยชอบ และเราจะไม่มีทางเป็นคนแบบนี้ที่นำความ Toxic ให้กับเด็กๆ แน่นอน

มีมุกตลกหนึ่งในหนังที่อาจจะไม่ได้สปอยล์เนื้อหาเท่าไหร่ แต่เป็นประเด็นที่น่าคิดตามอยู่ในบทสนทนาหนึ่งที่ Spider-Man (ไมล์) พูดกับพ่อของเขาว่า “ผู้ใหญ่นี่ไม่ค่อยสนใจเรื่อง Mental Health กันเลย” ประโยคสั้นๆ นี่ สามารถสื่อสารความหมายออกมาได้มากมาย ทั้งเรื่องของการตัดพ้อว่าผู้ใหญ่ไม่เคยสนใจความรู้สึกของเด็กหรือแม้กระทั่งของตัวเองเลย และกลายเป็นคนที่เอาแต่สะสมความเครียดเอาไว้ จนสร้างอสูรร้ายในตัวขึ้นมา โดยที่คนคนนั้นอาจเป็นได้ทั้งThe Spot ตัวร้ายหลักของภาคนี้ หรือแม้แต่ มิเกล โอฮารา (Miguel O’Hara) หรือ Spider-Man 2099 ผู้ที่ไม่ขอประนีประนอมใดๆ เพื่อรักษาสิ่งที่ตัวเองดูแลไว้ ซึ่งความฉลาดของคนเขียนบทแอนิเมชันเรื่องนี้คือ เขาสามารถทำให้ตัวละครผู้ใหญ่ในเรื่องที่ถึงแม้จะดูน่ารำคาญแต่คนดูก็จะเข้าใจความรู้สึกของพวกเขา และหันกลับมาทบทวนตัวเองกันว่าแล้วเราจะเป็นคนแบบเดียวกับตัวละครเหล่านั้นหรือไม่

ดังนั้น Spider-Man: Into the Spider-Verse ภาคนี้จึงถูกพูดถึงในแง่ของการเป็นแอนิเมชันที่ยอดเยี่ยม การเล่าเรื่องที่สนุก เข้าใจง่าย เด็กดูได้ ผู้ใหญ่ดูดี แฟนด้อมของสไปดี้ต้องหลงรัก และยังทำหน้าที่สะท้อนภาพของการเติบโตให้คนดูคิดตามไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ หากจะมีข้อด้อยก็คงเป็นแค่เรื่องของเพลงประกอบที่ไม่ดึงดูดใจได้เท่าภาคแรก และอย่ากระพริบตาบ่อย เพราะกิมมิคเกี่ยวกับสไปเดอร์แมนนั้นเขาใส่มาจนล้นกว่าภาคก่อนหลายเท่า จนอาจทำให้ต้องซื้อตั๋วไปดูซ้ำ แต่ก็ยอมรับว่าเราอดจะตื่นเต้นกับภาคต่อไปที่ใช้ชื่อ Spider-Man: Beyond the Spider-Verse ไม่ได้จริงๆ ว่าพวกเขาจะยกมาตรฐานของงานขึ้นไปอีกขนาดไหน

AUTHOR