เราต่างมี ‘แผลเก่า’ เป็นของตัวเอง ชวนดูงานศิลปะที่ตีความนิยายของ ไม้ เมืองเดิม ผ่านประสบการณ์ส่วนตัวที่จริงใจแกลเลอรี

จริงใจแกลเลอรี (Jing Jai Gallery Chiang Mai) เป็นแกลเลอรี่ศิลปะร่วมสมัยแห่งใหม่ล่าสุดของเมืองเชียงใหม่ ตั้งอยู่ในโครงการจริงใจมาร์เก็ต (Jing Jai Market) พื้นที่จำหน่ายสินค้าเกษตรปลอดภัย งานออกแบบ และงานหัตถศิลป์ร่วมสมัยของดีไซเนอร์และศิลปินหลากแขนง แกลเลอรี่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว โดยจัดแสดงนิทรรศการกลุ่มหมุนเวียนเฉลี่ยงานละประมาณ 3 เดือน มี อ้อมขวัญ สาณะเสน เป็นผู้อำนวยการ และ พลอย เจริญผล เป็นภัณฑารักษ์

เช่นเดียวกับรูปแบบสถาปัตยกรรมล้านนาร่วมสมัยที่ห่มคลุมอาคารและภูมิทัศน์ของโครงการ จริงใจแกลเลอรีมุ่งนำเสนองานศิลปะที่เป็นส่วนผสมระหว่างผลงานที่ท้าทายความคิดโดยศิลปินรุ่นใหม่ กับงานวิจิตรศิลป์เชิงประเพณีของศิลปินระดับโอลด์มาสเตอร์ (old master) แกลเลอรี่จัดแสดงนิทรรศการไปแล้ว 3 ครั้ง ทั้งหมดเป็นนิทรรศการกลุ่ม – นิทรรศการเปิดตัว Virtual Being (ธันวาคม 2564 – กุมภาพันธ์ 2565) ว่าด้วยพื้นที่และเวลาซึ่งสะท้อนภาวะที่ผู้คนจำต้องรักษาระยะห่างในสถานการณ์โควิด-19 ตามด้วย Informative to Transformative (มีนาคม – กรกฎาคม 2565) พูดถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอันเกิดจากน้ำมือมนุษย์ และล่าสุด something old, something new, something borrowed and something blue จัดแสดงผลงานของศิลปิน 4 ท่านกับสตูดิโอออกแบบอีก 1 กลุ่ม โดยเรากำลังจะเขียนถึงในบทความนี้

แตกต่างจากสองโชว์แรกที่ภัณฑารักษ์เลือกสะท้อนสภาวะทางสังคมและสิ่งแวดล้อม something old, something new, something borrowed and something blue กรอบประเด็นชัดเจนไปที่อารมณ์ความรู้สึกส่วนตัวของศิลปิน กระนั้นก็ไม่วายเชื่อมโยงความเป็นปัจเจกนั้นผ่านภาพสะท้อนของเรื่องราวในนิยายชิ้นสำคัญในบ้านเราอย่าง ‘แผลเก่า’

ตีพิมพ์ครั้งแรกใน พ.ศ. 2479 แม้บางคนไม่เคยอ่านหรือกระทั่งไม่ใช่นักอ่าน แต่ส่วนใหญ่ย่อมต้องเคยได้ยินกิตติศัพท์ในงานประพันธ์ชิ้นเอกของ ไม้ เมืองเดิม ชิ้นนี้กันทั้งนั้น ทั้งในแง่ที่มันได้รับการแปลงเป็นละครหรือภาพยนตร์อยู่หลายครั้ง รวมถึงการที่ฉากและเหตุการณ์ในนิยายฉายภูมิทัศน์ของกรุงเทพฯ ยุคก่อนปี พ.ศ. 2500 ได้อย่างชัดเจน ที่ซึ่งย่านบางกะปิอันเป็นฉากหลักในเรื่องยังคงเป็นท้องทุ่งสงบงาม และคลองแสนแสบยังสะอาดใสในระดับที่ตัวละครลงไปดำผุดดำว่ายด้วยความสำราญ

แผลเก่า เล่าถึงโศกนาฏกรรมความรักระหว่างไอ้ขวัญและอีเรียม ด้วยโครงเรื่องละม้าย Romeo & Juliet ของ William Shakespeare เป็นนิยายที่ทั้งโรแมนติกและแสนเศร้า และเฉกเช่นกับความรักที่จบไม่สวยและอย่างไม่มีวันหวนคืน เมื่อพิจารณาจากบริบทของกรุงเทพฯ ที่เราคุ้นเคยในปัจจุบัน ฉากท้องทุ่งบางกะปิและคลองแสนแสบอันแสนแจ่มใสในเรื่องก็เป็นอีกหนึ่งความ nostalgia ที่ไม่หลงเหลือเค้าเดิมอีกต่อไป เพราะไม่เพียงเราจะไม่เห็นทุ่งนาใดๆ ที่ย่านบางกะปิอย่างในท้องเรื่องแล้ว หากใครอุตริอยากหวนรำลึกถึงอดีตด้วยการลงไปดำผุดดำว่ายในลำคลองตอนนี้ ก็อาจถึงคราวต้องตามไปอยู่ภพเดียวกับไอ้ขวัญและอีเรียมเป็นได้

อย่างไรก็ตาม กับนิทรรศการชุดนี้ ภัณฑารักษ์ พลอย เจริญผล หาได้คัดสรรงานศิลปะเพื่อเป็นภาพแทนตัวบทนิยายอย่างตรงไปตรงมา หากเป็นการหยิบความรู้สึกที่ไม่อาจหวนกลับ อวลไอโรแมนติก และความเป็นอนุสรณ์ทางความทรงจำจากในนิยาย มาตีความใหม่ผ่านชิ้นงานที่ล้วนถูกสร้างขึ้นจากประสบการณ์ส่วนตัวของศิลปิน

เป็น แผลเก่า ของใครของมัน ที่ล้อไปกับความเป็น แผลเก่า ในวรรณกรรมอย่างน่าสนใจ

“ไอเดียเริ่มแรกมาจากการที่เรามีโอกาสไปเยี่ยมสตูดิโอของพี่ชาติอยู่หลายครั้ง และได้เห็นภาพที่วาดยังไม่เสร็จเสียที” พลอยเล่า พี่ชาติในที่นี้หมายถึง ชาติชาย สุพิณ

“พี่ชาติวาดรูปฉากในภาพยนตร์ แผลเก่า ค้างไว้ เรารู้จักพี่ชาติอยู่ก่อน และพอจะเข้าใจความรู้สึกส่วนตัวของเขาที่มีต่องานชิ้นนั้นได้ ประกอบกับที่ว่านิทรรศการที่เรากำลังจัดอยู่ (Informative to Transformative) มันมีความไซ-ไฟมากๆ จึงคิดว่าโชว์ที่กำลังจะทำใหม่นี้น่าจะเปลี่ยนให้มีความเป็น emotional มากขึ้น เลยชวนพี่ชาติให้วาดซีรีส์นี้ต่อให้จบ แล้วก็เลยเริ่มคิดถึงงานของศิลปินคนอื่นๆ” พลอยเล่า

ด้วยเหตุนั้นการประกอบสร้างผลงานที่นำเสนอความเป็นปัจเจกทางอารมณ์และ ‘แผลเก่า’ ส่วนตัวของศิลปิน โดยยืนพื้นที่ชุดงานจิตรกรรมของชาติชาย ก็เริ่มขึ้น

ในนิทรรศการนี้ ชาติชายนำเสนอจิตรกรรมจากสีอะคริลิก 5 ชิ้น ทั้งหมดเป็นงานที่เขานำแบบมาจากฉากในภาพยนตร์ แผลเก่า ในเวอร์ชั่นของ เชิด ทรงศรี (นำแสดงโดย สรพงศ์ ชาตรี และ นันทนา เงากระจ่าง) ที่ออกฉายครั้งแรกในปี 2520 ฉากในนิยายถูกวาดซ้อนด้วยลายจุดที่ศิลปินถอดมาจากอักษรเบรลล์ แม้ภัณฑารักษ์ไม่ได้เล่าในรายละเอียด แต่ก็พอเข้าใจว่าศิลปินเจ้าของผลงานชุดนี้ดูจะยังไม่มูฟออนจากความสัมพันธ์ที่จบลงของตัวเองได้ จึงเลือกวาดรูปที่ราวกับเป็นการย้ำเตือนบาดแผล ซ้อนทับด้วยอักขระที่คนตาดีไม่มีทางเข้าใจ และความที่มันถูกนำเสนอบนพื้นผิวของงานจิตรกรรมที่ไม่อนุญาตให้ผู้ชมสัมผัส กระทั่งคนตาบอดก็ไม่สามารถอ่านมันได้

“อักษรเบรลล์เหล่านี้เป็นท่อนหนึ่งของบทเพลง บนงานบางชิ้นก็เป็นบทกวี หรือข้อความ แต่พี่ชาติก็ไม่เคยบอกว่ามันคือเพลงอะไร หรือถ้อยความเหล่านั้นเล่าเรื่องอะไร จิตรกรรมของพี่ชาติจึงมีความเป็นส่วนตัวมากๆ ความเป็นส่วนตัวที่เขาไม่อนุญาตให้คนดูทำความเข้าใจหรือกระทั่งเข้าไปแตะต้อง” พลอยกล่าว

ประหนึ่งเป็นการเล่นล้อไปกับฉากภาพยนตร์ในผลงานของชาติชาย จิตรกรรมอิมเพรสชั่นนิสม์ทิวทัศน์ธรรมชาติที่วาดขึ้นด้วยสีน้ำมัน ทั้งหมด 7 ชิ้นของ นพนันท์ ทันนารี ก็ทำหน้าที่เน้นย้ำความอาลัยอาวรณ์โหยหาของตัวบทนวนิยายได้อย่างงดงาม

“ศิลปินวาดทิวทัศน์เหล่านี้จากภูมิประเทศที่เขาเห็นในจังหวัดนครปฐมและเชียงราย หาได้มีความเกี่ยวเนื่องใดๆ กับทุ่งบางกะปิ หรือเรื่องราวในนิยาย แต่เราสนใจกระบวนการทำงานแบบดั้งเดิมที่เขาจะนำเฟรมผ้าใบออกไปกางกลางแจ้ง และเริ่มวาดภาพของภูมิประเทศนั้นๆ ตามสภาพแสงจริง เรานึกถึงจิตรกรรมแบบยุคโรแมนติก หรือเหมือนกับได้อ่านบทพรรณนาที่สละสลวยในนิยาย” พลอยเล่า

พร้อมไปกับการนำเสนอในฐานะชิ้นงานศิลปะ การตั้งใจจัดวางชิ้นงานแบบกระจายตัวอยู่รอบผนังทั่วแกลเลอรี่ เมื่อพิจารณาจากการประกอบสร้างของงานชิ้นอื่นๆ ในนิทรรศการ (ชิ้นงานที่จำลองเตียงนอนไว้ที่โถงกลาง และงานอินสตอเลชั่นที่ทำหน้าที่เสมือนห้องแต่งตัว) ภาพทิวทัศน์ของนพนันท์ จึงดูคล้ายสิ่งที่ใครสักคนพบเมื่อมองออกไปนอกหน้าต่าง

และด้วยเหตุนั้น เครื่องจักสาน หรือข้าวของเครื่องใช้ขนาดเล็กที่ประกอบขึ้นจากไผ่สาน ทองเหลือง และหินอ่อน จัดแสดงอยู่บนหิ้งไม้ของ ปาตาเพียน (PATAPiAN) ก็นำเสนอภาพของผนังบ้านในชนบทซ้อนทับไปกับผนังแกลเลอรี่อย่างแนบเนียน

“ปาตาเพียนเป็นสตูดิโอออกแบบผลิตภัณฑ์ งานของพวกเขาโดดเด่นในเรื่องเครื่องจักสานและงานปักแบบพื้นถิ่นแต่ทำออกมาด้วยรูปทรงและสัมผัสแบบร่วมสมัย พอเรานำ แผลเก่า มาตีความใหม่ สิ่งที่ขาดไม่ได้คือเครื่องใช้ไม้สอยที่อยู่คู่กับวิถีของผู้คนชนบทในอดีต จึงนำผลงานของเขามานำเสนอในฐานะชิ้นงานศิลปะประหนึ่งฉากในนิยาย หรือภูมิทัศน์ที่เราเห็นได้ภายในบ้าน โดยจะมีผนังหนึ่งที่เราจงใจประกอบงานชุดนี้เข้ากับภาพเขียนของชาติชายและนพนันท์ ให้ภาพคล้ายของ setting โต๊ะหมู่บูชา” พลอยเล่า

เช่นเดียวกับงานของ จิรัชยา พริบไหว ที่ภัณฑารักษ์เลือกชิ้นงานที่เป็นภาพแทนของสิ่งของที่ผูกพันกับชีวิตของผู้คนมาจัดแสดง ในที่นี้คือผ้าเช็ดหน้าลูกไม้แบบวิกตอเรียน ผ้าเช็ดหน้าที่คนในอดีตใช้สำหรับเช็ดเหงื่อและน้ำตา

Tomorrow Never Comes, I Miss You และ I will Forget You คือชื่อของผลงาน 3 ชิ้นดังกล่าวของจิรัชยา (ทั้งหมดเป็นผลงานในปี 2556) ศิลปินปักตัวเขียนภาษาอังกฤษ เน้นย้ำถ้อยคำที่แสดงถึงความคิดถึง การเฝ้าคอย และความสิ้นหวัง เรียงต่อกันซ้ำๆ โดยผืนผ้าทั้งหมดถูกแขวนโชว์ในระยะสูงกว่าระดับสายตา ประหนึ่งอนุสรณ์แห่งความรวดร้าว มรดกจาก แผลเก่าส่วนตัวของศิลปิน

ปิดท้ายที่งานจัดวางแบบ site specific สองชุดของ อ้อมขวัญ สาณะเสน ที่พลอยมองว่าเป็นส่วนสำคัญที่เปลี่ยนพื้นที่แสดงงาน สู่เรือนหอในฝันของไอ้ขวัญและอีเรียม ณ ทุ่งบางกะปิ

1,000 hours (2565) คืองานอินสตอเลชั่นเตียงนอนไม้ไร้ฟูกกับดอกไม้แห้งปักแจกัน รายล้อมด้วยมุ้งสีขาวสูงจากเพดานจรดพื้นซ้อนกันเป็นชั้น ทำหน้าที่พรางสายตาจากภายนอก อินสตอเลชั่นที่ดูฟุ้งฝันหากก็อ้างว้างอยู่ในทีชิ้นนี้ ตั้งอยู่บริเวณโถงกลางแกลเลอรี่ นำเสนอภาพของห้องนอนที่ไร้เจ้าของ เมื่อโศกนาฏกรรมตอนจบในนิยายไม่อนุญาตให้ตัวละครตัวไหนได้ใช้มัน

“งานพี่อ้อมเป็นงาน custom สำหรับนิทรรศการนี้โดยเฉพาะ ความที่พี่อ้อมเป็นนักจัดดอกไม้ และก็ชอบสะสมของเก่าเท่าๆ กับสนใจในการจัดวางพื้นที่ พอสรุปว่าเราจะทำนิทรรศการในธีมนี้ พี่อ้อมจึงผุดไอเดียเรื่องห้องนอนขึ้นมา เพราะพี่อ้อมก็มีเตียงนอนโบราณอยู่แล้ว ซึ่งก็เหมาะเจาะกับพื้นที่ตรงกลางเลย” พลอยเล่า

ส่วน Unbreakable Love (2022) เป็นอินสตอเลชั่นอีกชิ้นของอ้อมขวัญ แยกออกมาในห้องเล็กที่ปกติแกลเลอรี่จะใช้สำหรับฉายวิดีโอ ศิลปินแปลงสภาพห้องด้วยการบุผนังด้วยฟางข้าว จัดแสงด้วยหลอดไฟแบบวอร์มไวท์ (warm white) เพียงดวงเดียว โดยแขวนอยู่เหนือกระจกเงาแบบเต็มตัว อันเป็นผลงานของ PATAPiAN ชื่อผลงาน A Woman in Curve (black) ห้องจึงดูคล้ายห้องแต่งตัวในกระท่อมปลายนา ห้องว่างเปล่าที่เชื้อเชิญให้ผู้ชมเดินเข้ามาสำรวจและอาจส่องกระจกเงาดังกล่าว เผื่อจะพบ แผลเก่า ในความทรงจำของตัวเอง

“เราว่าความรัก ความโหยหา หรือกระทั่งความผิดหวัง ล้วนเป็นประสบการณ์ร่วม ไม่ว่าใครจะมีรูปแบบความสัมพันธ์ต่างกันอย่างไร แต่เมื่อคลี่กางออกมา อาจจะพบว่ามันเชื่อมโยงกับความทรงจำของเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เราตั้งใจให้นิทรรศการนี้เป็นจุดร่วมของผู้ชม คล้ายได้ฟังเพลงที่เราเคยชอบแต่ไม่ได้ฟังมานาน หรือกลับไปอ่านนิยายรักที่เราเคยอ่านเมื่อนานมาแล้ว ก็เหมือนที่ใครหลายคนจดจำนิยายแผลเก่าน่ะ มันไม่ได้มีแต่เรื่องเศร้าเสียทีเดียว” พลอยทิ้งท้าย

นิทรรศการ something old, something new, something borrowed and something blue จัดแสดงถึงวันที่ 23 ตุลาคม 2565 ทุกวันอังคาร – วันศุกร์ 10:00 – 18:00 น. และวันเสาร์ – วันอาทิตย์ เวลา 08:00 – 18:00 น. (หยุดทุกวันจันทร์) เข้าชมฟรี https://www.facebook.com/JingJaiGalleryChiangMai

Photo: Jing Jai Gallery Chiang Mai

AUTHOR