โลกร้อนแล้วไปไหน? ‘Solastalgia’ ความทุกข์ทนกระวนกระวายใจจากวิกฤตภูมิอากาศ

ต้นเดือนสิงหาคม 2021 ที่ผ่านมา องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ออกรายงาน IPCC ส่งสัญญาณฉุกเฉิน ‘code red’ สำหรับมนุษยชาติ ประกาศว่า ‘ความเปลี่ยนแปลงในสภาพภูมิอากาศอันเกิดจากมนุษย์ได้ส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศอย่างรุนแรงในหลายภูมิภาคทั่วโลก’ โลกร้อน

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา พวกเราได้เห็นข่าวคราวภัยธรรมชาติมากมายจากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งเกิดขึ้นถี่และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะน้ำท่วมรุนแรงที่เยอรมนี, ไฟไหม้ป่ารุนแรงที่แคลิฟอร์เนีย ออสเตรเลีย กรีซ ตุรกี ฯลฯ หลายพื้นที่ชายฝั่งทั่วโลกเจอปัญหาน้ำทะเลสูงขึ้นจนคนต้องย้ายบ้านหนี ส่วนในประเทศไทย มีผลการรายงานจากการประเมินของ Greenpeace ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าหรือปี 2030 พื้นที่กรุงเทพมหานครกว่า 96 เปอร์เซ็นต์อาจได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ในทางกลับกัน ประเทศไทยยังมีแนวโน้มว่าจะต้องเผชิญภัยแล้งรุนแรงและถี่ขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับทั่วโลกที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไปจนสัตว์ต่างๆ ปรับตัวไม่ไหว เริ่มลดจำนวนลงและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ อาจพูดได้ว่าไม่มีใครไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ

ข่าวทั้งหมดนี้ทำให้คุณรู้สึกยังไง หวาดกลัว สิ้นหวัง มีความหวังเพราะมองโลกในแง่ดีว่าเป็นแค่การคาดการณ์เท่านั้น หรือคุณเลือกที่จะเพิกเฉยหนีความจริงไปก่อนเพราะสถานการณ์ฟังดูไกลตัว และทุกวันนี้ก็มีเรื่องอื่นๆ ให้เครียดมากพออยู่แล้ว?

หากรู้สึกทุกข์ใจ หวั่นไหว สิ้นหวังในเรื่องวิกฤตสภาพอากาศ หวาดกลัวภัยธรรมชาติจะมากระทบชีวิตของเราอยู่เนืองๆ จนนอนไม่หลับ หยุดคิดไม่ได้ เราขอแนะนำให้รู้จักคำว่า ‘Solastalgia’ ความรู้สึกสิ้นหวัง วิตกกังวล อันเป็นผลจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง

โลกร้อน

Solastalgia เมื่อสถานการณ์สิ่งแวดล้อมพาให้เราทุกข์ใจแบบ non-stop โลกร้อน

ในปี 2007 Glenn Albrecht นักปรัชญาด้านสิ่งแวดล้อมจากประเทศออสเตรเลียได้ประดิษฐ์คำศัพท์ว่า solastalgia (n.) แปลว่า “ความกังวลหม่นหมองอันเกิดจากความเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อม”

ความรู้สึกนี้ตรงกันข้ามกับคำว่า nostalgia (ความรู้สึกโหยหาอดีตอันสวยงาม) หรือ homesickness (อาการทุกข์ตรมจากความคิดถึงบ้านหรือถิ่นฐานกำเนิด) solastalgia คือความรู้สึกหวาดหวั่นว่าบ้านหรือที่อยู่อาศัยของเราจะถูกทำลายลงไป ความวิตกว่าที่ดินที่เราอาศัยจะตกอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมเกินกว่าจะดำรงชีวิตอยู่ได้ และความกลัวว่าสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงในอนาคตอาจทำให้วันใดวันหนึ่งเราจะไม่สามารถอยู่อาศัยในบ้านของเราได้อีกต่อไป

ในเชิงภาษา คำนี้เกิดจากการผสมความหมายจากคำอังกฤษที่มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกหลายคำ ประกอบไปด้วย

  • ‘solace’ แปลว่า การปลอบประโลมใจ (มาจาก solar + solacium)
  • ‘desolation’ แปลว่า ความอ้างว้างเดียวดาย (มาจาก solus + desolare)
  • ‘algia’ แปลว่า อาการเจ็บป่วย ทุกข์ทน

เมื่อประกอบรวมกันเป็นคำว่า solastalgia จึงหมายถึง ‘ความเจ็บปวด ความป่วยไข้อันมาจากการไร้ซึ่งการปลอบประโลมใจ ความรู้สึกอ้างว้างโดดเดี่ยวที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ บ้าน และอาณาเขตของตัวเอง’ (Solastalgia is the pain or sickness caused by the loss or lack of solace and the sense of isolation connected to the present state of one’s home and territory.)

โลกร้อน

ในเชิงแนวคิด เกล็นน์ระบุว่า solastalgia เป็นแนวคิดที่ผสมผสานมาจากหลักคิดของนักคิดนักเขียนหลายคน ได้แก่ 

  • แนวคิดของ David Rapport ที่อธิบายการมีอยู่ของ ecosystem distress syndrome หรืออาการทุกขภาวะจากระบบนิเวศ 
  • สุขภาพของผืนแผ่นดิน (land health) ของ Aldo Leopold ผู้เขียนหนังสือ A Sand County Almanac (1949) เขาเป็นนักอนุรักษ์ชาวอเมริกันผู้เป็นบิดาการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า ที่ให้กำเนิดแนวคิด ‘land ethic’ ซึ่งเสนอให้เราเปลี่ยนมุมมองของมนุษย์ต่อผืนแผ่นดิน โดยเปลี่ยนจาก ‘เจ้าของ’ หรือ ‘ผู้ครอบครอง’ เป็นการมองว่าผืนแผ่นดินและสรรพสิ่งในธรรมชาติเป็นเสมือนสมาชิกส่วนหนึ่งที่จะต้องดูแลและอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน
  •  Elyne Mitchell ผู้เขียนหนังสือ Soil and Civilization (1946) ซึ่งนำเสนอให้ชาวออสเตรเลียเห็นความสำคัญของการเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับสุขภาพของระบบนิเวศ

เมื่อผืนแผ่นดินเสื่อมโทรมลงจนไม่สามารถอาศัยอยู่ได้อีกต่อไป ผลกระทบนี้ไม่ได้เกิดแค่กับความเป็นอยู่ทางกายเท่านั้น แต่ตัวตน จิตใจ และชีวิตที่ผู้คนได้ผูกโยงไว้กับดินแดนที่อาศัยอยู่ก็อาจแตกสลายตามลงไปด้วย นอกจากในระดับปัจเจกบุคคล ครอบครัวกับชุมชนที่ผูกพันกันอาจต้องแตกระแหง แยกย้ายไปหาที่อยู่ใหม่ ซึ่งเกล็นน์ได้ยกตัวอย่างกลุ่มชาติพันธุ์ในออสเตรเลียที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงขึ้นเมื่อสภาพบ้านเกิดเสื่อมสภาพลง พวกเขาให้เหตุผลว่า “ชีวิตที่บ้านนั่นแย่เกินไป” (because life at home is too awful.) นอกจากชนพื้นเมือง ตัวอย่างที่เห็นชัดคือสุขภาพจิตของเกษตรกรซึ่งมักจะขึ้นกับสุขภาพของผืนแผ่นดินที่เขาทำมาหากิน เช่น เมื่อเกิดภัยแล้ง ไร้น้ำ เราก็มักจะเห็นข่าวเกษตรกรเลือกจะจบชีวิตลงไปพร้อมกับผืนดินที่ไร้พืชผล

โลกร้อน

การเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศอาจไม่ใช่แค่หมีขั้วโลกที่ต้องจมน้ำ หรือนกพันธุ์หายากในเกาะฮาวายที่ต้องสูญพันธุ์ แต่ยังเกิดภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ป่า หรือภัยแล้ง ทำให้เรามีสิทธิที่จะสูญเสียบ้าน สูญเสียความรู้สึกปลอดภัยทางจิตใจ (psychological home) สูญเสียสิ่งของที่เราสะสมไว้ด้วยความรักที่เปี่ยมด้วยความทรงจำ หรืออาจจะเสียสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนไปก็ได้

Solastalgia ไม่ใช่แค่ความหวาดวิตกกังวลของคนที่อินเรื่องการรักษ์โลกหรือพวกนักเคลื่อนไหวที่สนใจด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นกับใครก็ได้ที่กำลังหวาดหวั่นลึกๆ ว่าจะต้องโยกย้ายจากถิ่นฐาน 

สักวันอาจเป็นเราที่ต้องหนีตายจากภัยธรรมชาติ โลกร้อน

Michelle Nijhuis นักเขียนด้านสิ่งแวดล้อมชาวอเมริกันได้เขียนบทความเล่าประสบการณ์ว่า เธออาศัยอยู่ในพื้นที่ที่อาจเกิดไฟป่าได้ทุกเมื่อ ครอบครัวเธอจึงต้องเตรียมตัวอพยพหนีไฟป่าตลอดเวลา เธอจัดเตรียม firebag (กระเป๋าฉุกเฉินสำหรับหนีไฟป่า) พร้อมไว้เสมอ แม้จะเคยชินว่าไฟป่าเป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล แต่สถานการณ์ไฟป่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาในอเมริกานั้นรุนแรงและยาวนานกว่าที่เธอเคยประสบ ทำให้เธอกังวลเสมอว่าสักวันคงจะเป็นครอบครัวเธอเองที่ต้องหนีตายอย่างเร่งด่วน 

ไฟป่าที่กรีซที่ทำให้ผู้คนต้องอพยพออกจากเกาะอย่างวุ่นวาย โดยมีฟ้าสีแดงฉานเป็นพื้นหลังราวกับหนังวันสิ้นโลก

การเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศกำลังทำร้ายชีวิตคนจำนวนมาก นำมาซึ่งการขาดอาหาร ความยากจน การพังทลายของระบบนิเวศ และการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต โลกกำลังเผชิญกับภาวะ The Great Climate Migration หรือการอพยพลี้ภัยย้ายถิ่นฐานระลอกใหญ่

แม้ทุกวันนี้มีพื้นที่โลกเพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ร้อนเกินกว่าที่คนจะอยู่อาศัยได้ แต่ภายในปี 2070 พื้นที่ร้อนเกินอยู่อาศัยอาจเพิ่มขึ้นเป็น 19 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีคนเป็นพันล้านคนอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ มีรายงานว่าภายในปี 2050 อาจมีคนมากถึง 140 ล้านคนที่ถูกบังคับให้โยกย้ายถิ่นฐานเพราะการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ และอาจมีปัญหาอีกมากมายตามมา ไม่ว่าจะเป็นสงครามแย่งชิงที่อยู่อาศัยหรือทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งปัญหานี้จะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และไม่ยากเลยที่จะจินตนาการถึงปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้น

อุบัติภัยทางธรรมชาติทำร้ายจิตใจของทุกคน

นอกจาก solastalgia แล้ว การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอันน่ากลัวยังบันดาลให้เกิดคำศัพท์อื่นๆ ที่มีความหมายใกล้เคียงกันมากมาย เช่น

  • eco-anxiety (n.) ความหวาดกลัวเรื้อรังในมหันภัยสิ่งแวดล้อม
  • ecological grief หรือ climate grief (n.) ความรู้สึกเศร้าอาลัยในความสูญเสียทางสิ่งแวดล้อมที่ได้เกิดขึ้นไปแล้ว เช่น ความอาลัยต่อสิ่งมีชีวิตที่สูญพันธุ์ ความอาลัยในพื้นที่ป่าและระบบนิเวศที่สูญหายไปซึ่งต้องใช้เวลายาวนานกว่าจะก่อร่างสร้างระบบอันซับซ้อนขึ้นมาใหม่ อย่างความรู้สึกโกรธเคืองการสูญเสียพื้นที่ป่าแอมะซอนหรือแนวปะการัง Great Barrier Reef

เมื่อเราได้เริ่มเรียนรู้ปัญหาสิ่งแวดล้อมซึ่งเต็มไปด้วยข่าวร้ายที่ชวนให้หมดหวัง ระดับความหวาดกลัวอาจเริ่มตั้งแต่หวั่นใจไปจนถึงรู้สึกเครียดกังวลว่าอีก 10 ปีข้างหน้าเราจะตายกันหมด ภาวะที่วิตกและสิ้นหวังรุนแรงทำให้หลายคนยอมแพ้และเชื่อว่าทำอะไรไม่ได้อีกต่อไป และภาวะนี้สร้างผลกระทบต่อจิตใจมากกว่าที่หลายคนคิด

American Psychological Association (APA) รายงานว่า ประสบการณ์การได้รับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอาจสร้างบาดแผลในใจให้กับผู้คนได้ ไม่ว่าจะเกิดจากการสูญเสียคนรัก การสูญเสียของรักหรือที่อยู่อาศัย หรือการได้รับบาดเจ็บทางกาย มีผลสำรวจว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากพายุเฮอร์ริเคนแคทรินาในปี 2005 มีความคิดอยากฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น 2 เท่า แถมยังมีคนมากถึง 1 ใน 6 ที่เผชิญกับโรค PTSD สิ่งนี้บ่งชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศนั้นอาจส่งผลต่อจิตใจในระยะยาว และยังกระทบสุขภาพจิตได้ในระดับชุมชนเลยทีเดียว

และไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่หรือนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมที่วิตกกังวลกับอนาคตของสิ่งแวดล้อมที่สั่นคลอน ความรู้สึกหวาดกลัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศได้กระทบเด็กๆ ด้วย จากผลสำรวจวัยรุ่นชาวอเมริกันโดย Washington Post-Kaiser Family Foundation ในปี 2019 พบว่า

  • 57 เปอร์เซ็นต์รู้สึกหวาดกลัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ 
  • 52 เปอร์เซ็นต์รู้สึกโกรธแค้น (เป็นเปอร์เซ็นต์ที่มากกว่าผู้ใหญ่เสียอีก)
  • มีวัยรุ่นเพียง 29 เปอร์เซ็นต์ที่ตอบว่ายังมองโลกในแง่ดีในเรื่องนี้ได้อยู่

แบบสำรวจหนึ่งจากออสเตรเลียพบว่าเด็กๆ ที่ต้องผ่านประสบการณ์ภัยแล้งรุนแรงกว่า 25 เปอร์เซ็นต์เชื่อว่าโลกจะสิ้นสุดลงในอายุขัยของเขา และมีเด็กคนหนึ่งต้องป่วยจนเข้าโรงพยาบาลเพราะไม่ยอมดื่มน้ำ เนื่องจากกลัวว่าจะไปทวีความรุนแรงให้ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้น

โลกร้อน

แล้วเราจะทำยังไงต่อไปในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง

ในอนาคตอันใกล้ เราคงต้องเผชิญกับข่าวอุบัติภัยเกี่ยวกับสภาพอากาศที่สร้างความตระหนกตกใจอีกมากมาย 

หนังสือ The Story of More: How We Got to Climate Change and Where to Go from Here โดย Hope Jahren พยายามเชื่อมโยงเรากลับสู่การเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ ชวนให้เราเรียนรู้และเข้าใจว่าเราอาศัยอยู่ในโลกที่ทรัพยากรมีจำกัด เน้นย้ำว่าโลกมีไม่พอ ไม่ใช่เพราะมีคนมากเกินไป ซึ่งเอาเข้าจริงก็มีคนเพียง 1 ใน 6 ของโลกเท่านั้นที่ใช้พลังงานครึ่งหนึ่งของที่ทั้งโลกผลิตได้ ส่งผลให้คนจำนวนมากกำลังได้รับผลกระทบทางสภาพอากาศ มลพิษ ฤดูกาลไม่แน่นอน และชายฝั่งเสื่อมสลาย หรือต่อให้เราเริ่มต้นด้วยตัวเองโดยใช้รถจากพลังงานไฟฟ้า ไฟฟ้านั้นก็มีโอกาสจะผลิตจากถ่านหินหรือแก๊สธรรมชาติอย่างเลี่ยงไม่ได้ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่เราควรตระหนักรู้ร่วมกัน

อีกตัวอย่างที่เราอยากหยิบมาแชร์คือคำกล่าวของ Mitch Prinstein นักจิตวิทยาจาก APA ที่ได้ให้คำแนะนำเพื่อบรรเทาและรับมืออาการตื่นกังวลจากสิ่งแวดล้อม (eco-anxiety) ไว้ดังนี้

  1. หาความรู้เพิ่มเติม เมื่อมีข้อมูลมากมายมหาศาล บางข่าวอาจมีเนื้อหาเข้าข่ายเน้นให้ตื่นตระหนก (alarmist) หากอ่านแค่หัวเรื่องก็อาจชวนให้สิ้นหวัง บางข่าวมีแต่ข้อความที่เน้นให้ตกใจมากกว่าอธิบายให้ความรู้ความเข้าใจ ดังนั้นหากรู้สึกตื่นกลัว ให้ลองศึกษาทำความเข้าใจเพิ่มเติม เข้าใจกระบวนการ ที่มาของตัวเลขที่เราอ่านพบ ทบทวนและเปรียบเทียบข่าวจากหลายแหล่ง และอ่านความเห็นจากหลายมุม
  2. ประมวลความรู้สึกของตัวเอง สำรวจความรู้สึกของตัวเองว่าอยู่ในระดับไหน ถ้ารู้สึกว่ามากเกินไปจนทนไม่ไหว ควรปรึกษานักบำบัด อาจเริ่มจากการคุยกับเพื่อน คนรอบตัว ครอบครัว และสร้างกลุ่มสนับสนุน
  3. สร้างความเปลี่ยนแปลงแม้จะเล็กน้อย แน่นอนว่าแค่เราเปลี่ยนวิถีชีวิตอาจไม่ช่วยแก้ปัญหาในระยะยาว แต่มันก็ไม่เสียหาย เช่น การเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าบางจุดในบ้านเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ เปลี่ยนหัวฝักบัวให้ประหยัดน้ำ อาจได้ผลมากกว่ารีไซเคิล ยังไงก็ตาม เราต้องไม่กดดันตัวเองมากเกินไปจนทำให้ล้มเลิกไปได้ อย่าโบยตีตัวเองรุนแรงเกินไปหากเราไม่สามารถรักษ์โลกได้ตามเป้าหมาย ควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป
  4. สนับสนุนคนรุ่นใหม่ หากตัวเราไม่มีแรง ไม่พร้อมจะปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตตัวเองได้ เราอาจสนับสนุน รับฟังคนรุ่นใหม่ และเป็นกระบอกเสียงให้นักเคลื่อนไหวที่ออกมาพูดแทนเรา สนับสนุนโดยการบริจาคหรือกระจายให้คนรอบตัวเราตระหนักรู้ พูดแทนกลุ่มคนเปราะบางที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้เรื่องราวของเขาถูกได้ยิน หรือลงชื่อเพื่อร่วมผลักดันกฎหมายสิ่งแวดล้อม เช่น พ.ร.บ.อากาศสะอาด 
  5. อย่าหยุดใช้ชีวิต แบ่งเวลาให้กิจกรรมที่เราพึงพอใจ อย่าให้ความกลัวทำให้เราไม่ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ ดูแลสุขภาพตัวเอง ทำกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลาย พักผ่อนเมื่อรู้สึกตึงเครียดมากเกินไป และยอมรับว่าเราไม่สามารถควบคุมทุกอย่างได้
Emma Marris
ภาพจาก flickr.com

Emma Marris นักเขียนด้านสิ่งแวดล้อมพูดในทอล์กหัวข้อ What’s the most effective way to communicate nature? ในเทศกาล Explorers Festival 2018 ไว้ว่า เมื่อเธอแนะนำตัวเองว่าเป็นนักเขียนด้านสิ่งแวดล้อม ผู้คนมักคิดว่าเธอมีแต่จะนำข่าวร้ายมาเล่าให้ฟังและทำลายบรรยากาศด้วยเรื่องแย่ๆ เพราะโลกกำลังจะพังทลาย นั่นเพราะข่าวสิ่งแวดล้อมมีแต่เรื่องราวในมุมน่าหดหู่ชวนสิ้นหวังไปหมด บางครั้งก็ทำให้รู้สึกว่าไม่มีทางออก คนจำนวนมากจึงผลักตัวเองออกจากความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม

มาร์ริสได้แสดงทัศนะต่อประเด็นนี้ได้อย่างน่าสนใจว่า คนมักเข้าใจว่าธรรมชาติเป็นเรื่องไกลตัวและมักมองตัวเองแยกออกจากระบบนิเวศ ทั้งที่จริงแล้วมนุษย์คือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่ง เราต่างอ่อนไหวและเปราะบางต่อความเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม หวงแหนในที่อยู่อาศัยไม่ต่างจากสัตว์อื่น ระบบร่างกายของเรานั้นต้องการอาหาร อากาศสะอาด น้ำแก้กระหาย ต้องการอุณหภูมิที่เหมาะสม และที่อยู่อาศัยเพื่อดำรงชีวิต เรากับธรรมชาติล้วนเชื่อมโยงถึงกัน

จากสายตาของคนทั่วไป ปัญหาวิกฤตสภาพอากาศนั้นอาจดูยิ่งใหญ่ ซับซ้อน และน่าปวดหัว แน่นอนว่าการเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ทำให้เกิดอาการวิตกกังวล ยิ่งคิดก็ยิ่งไม่เห็นการแก้ไหนที่จะทำได้ง่ายๆ หลายคนจึงเลือกปิดหูปิดตาหนีความจริง ตัดขาดตัวเองจากธรรมชาติ เพราะถึงจะคิดจนจนหมดแรงก็ไม่ได้ช่วยให้ปัญหาหมดลงไป

แต่บางทีนั่นอาจไม่ใช่ทางที่ดีที่สุด ในเมื่อโลกกำลังเข้าสู่ภาวะไม่ปกติและเราต้องอยู่กับปัญหานี้ไปอีกนาน ทางที่ดีกว่าอาจเป็นการเริ่มทำความเข้าใจปัญหา หาความเป็นไปได้ของทางออก ร่วมผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ และเมื่อเกิดความกลัวหรือสิ้นหวังเมื่อไหร่ บางทีสิ่งแรกที่ควรจะทำคือการยอมรับความรู้สึกเหล่านั้น

หากรู้สึกหวาดหวั่นกับสิ่งแวดล้อม อย่าลืมหาเพื่อนร่วมทุกข์เพื่อแลกเปลี่ยน ร่วมปลอบประโลมจิตใจและเรียนรู้ไปด้วยกัน ในเมื่อนี่คือปัญหาของคนทั้งโลกที่เราทุกคนต้องเผชิญร่วมกัน ก็อย่าเก็บความกลัวและความหวาดหวั่นไว้คนเดียว

โลกร้อน

อ้างอิง

apa.org

greenpeace.org

news.un.org

nytimes.com

penguinrandomhouse.com

researchgate.net

washingtonpost.com

youtube.com

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

erdy

นักวาดภาพประกอบคนหนึ่งที่มีความใฝ่ฝันว่าจะรวย จะรวย จะรวย