กระแสหนึ่งในโลก ‘นักดื่ม’ ที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางช่วงระยะหลังนั้น หนีไม่พ้นการมาถึงของ ‘บาร์ไร้แอลกอฮอล์’ (Non-alcoholic Bar) หรือ ‘บาร์สำหรับผู้ไม่ดื่มแอลกอฮอล์’ (Sober Bar) ที่เกิดขึ้นอย่างชวนสังเกตในอเมริกาและหลายประเทศฝั่งยุโรป แต่ไม่ใช่เพียงเพราะการนำเสนอซึ่งสวนทางวัฒนธรรมบาร์แบบดั้งเดิมที่มักมาพร้อมแอลกอฮอล์เท่านั้นทำให้มันได้รับความสนใจ แต่รวมถึงรายละเอียดของทั้งเครื่องดื่มและคอนเซ็ปต์ของบาร์ที่ถูกออกแบบมาอย่างดี คำนึงถึงบริบททางสังคม วิถีชีวิตและรสนิยมของผู้คนในสังคมที่เปลี่ยนไป เรื่อยไปถึงการใส่ใจดูแลโลกอย่างแท้จริง
‘มันไม่ใช่สถานที่สำหรับคนไม่แตะเหล้า แต่คือสถานที่สำหรับทุกๆ คน’
คือแก่นของบาร์ไร้แอลกอฮอล์ที่เหล่าผู้ก่อตั้งบาร์ทั่วโลกเข้าใจตรงกัน ไม่ว่าคุณจะเป็นคนรักการดื่มเหล้าเป็นชีวิตจิตใจผู้อยากพักตับสักระยะ หรือเป็นสาวๆ ที่อยากมีเดทแรกแบบไม่เมา รวมถึงกลุ่มคนวัยทำงานที่อยากหาสเปซเงียบๆ ไว้คุยงานกันแบบสติครบถ้วน และคนอีกมากมายที่อาจเพียงต้องการสถานที่บรรยากาศดีๆ คลอเสียงเพลงเบาๆ และเครื่องดื่มอร่อยๆ ในระดับเดียวกับบาร์ระดับพรีเมียมไว้เอนจอย ในข้อแม้ว่าคืนนี้พวกเขาจะไม่อยากแตะต้องแอลกอฮอล์เลยเท่านั้นเอง
แม้บาร์ไร้แอลกอฮอล์จะมองเผินๆ ไม่ต่างจากบาร์ทั่วไปทั้งบรรยากาศและรสชาติของเครื่องดื่ม แต่ความไม่ต่างนี้ก็เป็นจุดที่ชวนให้นักดื่มตั้งคำถามถึง ‘ความคุ้มค่า’ ของเงินที่จ่ายไปในระดับเดียวกันบาร์ค็อกเทล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกที่แอลกอฮอล์ถูกใช้เป็นส่วนผสมเพื่อเพิ่มราคาอาหารและเครื่องดื่มเสมอมา…มาตรฐานของบาร์ไร้แอลกอฮอล์จึงต้องเทียบเท่าหรือสูงกว่าบาร์อื่นทั่วไป เพื่อชนะใจเหล่านักดื่มและค่านิยมทางสังคม
มาตรฐานดังกล่าวไล่เรียงตั้งแต่การเลือกสรรวัตถุดิบมาปรุงเครื่องดื่มโดย Mixologist มืออาชีพ พร้อมนำเสนอเรื่องราวเบื้องหลังของเครื่องดื่มสีสวยเหล่านั้นแบบกูรูผู้รู้จริง และยิ่งถ้าวัตถุดิบนานาชนิดนั้นมีส่วนสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นหรือดูแลสิ่งแวดล้อมด้วยก็จะยิ่งเพิ่มคุณค่าและมูลค่าขึ้นอีก ตัวอย่าง Non-alcoholic Bar แนวทางนี้ในประเทศไทยมีให้เห็นที่จังหวัดเชียงใหม่ กับร้าน Intangible Bar บาร์ที่มีจุดยืนในการใช้วัตถุดิบท้องถิ่นตามฤดูกาลจากชุมชนเล็กๆ ทั่วประเทศ มาปรุงเป็นเครื่องดื่มตามคอนเซ็ปต์ที่จะหมุนเวียนเปลี่ยนไปในแต่ละเดือน ไม่ว่าจะน้ำผึ้งป่าจากชุมชนปกาเกอะญอ ข้าวพื้นบ้านจากเกษตรกรรายย่อย หรือเครื่องเทศชั้นดีจากแดนใต้ ก็ล้วนปรากฏตัวขึ้นหน้าบาร์ได้อย่างมีสีสันและมีคุณค่าในระดับที่นักดื่มล้วนให้มูลค่าแม้จะปราศจากแอลกอฮอล์
นอกจากนั้น จุดขายเด่นอีกข้อของบาร์ไร้แอลกอฮอล์คือเรื่องที่มันสอดรับกับบริบทสังคมปัจจุบัน อาทิ เทรนด์การรักษาสุขภาพในกลุ่มคนรุ่นใหม่วัยทำงาน หรือการที่สังคมตะวันตกเริ่มมีความหลากหลายของเชื้อชาติมากขึ้นจากการเปิดรับผู้อพยพ บาร์ปราศจากแอลกอฮอล์จึงเป็นชอยส์ที่ตอบโจทย์ทั้งชาวมุสลิม ยิว หรือคนที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วอาจขัดกับความเชื่อส่วนตัวจนทำให้พลาดโอกาสเสพบรรยากาศดีๆ ในบาร์อย่างน่าเสียดาย
แม้บาร์ไร้แอลกอฮอล์จะได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ และดูเหมือนจะมีต้นทุนน้อยกว่าบาร์ทั่วไป ไม่ว่าจะการไม่ต้องเสียค่าใบอนุญาติขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างบาร์ทั่วไป หรือการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายไปกับการนำเข้าเหล้าราคาแพงจากทั่วโลก แต่ความท้าทายก็มีไม่น้อยเช่นกัน เพราะโจทย์สำคัญของ Non-alcoholic Bar นั้นคือการคงมาตรฐานให้สูงทัดเทียมกับบาร์ทั่วไปและไม่ทำให้นักดื่ม ‘แคลงใจ’ กับการเข้าใช้บริการบาร์ไร้แอลกอฮอล์ โดยเฉพาะสังคมตะวันตกที่มีการแปะป้ายผู้ไม่แตะแอลกอฮอล์ด้วยศัพท์เชิงลบบางอย่างที่สะท้อนความ ‘คออ่อน’ ที่อาจกีดกันคนบางกลุ่มให้ไม่กล้าเข้ามาใช้บริการ รวมถึงคาแรกเตอร์ของบาร์ที่คงเซนส์ของความเป็น ‘ผู้ใหญ่’ เอาไว้เป็นจุดขาย ดังนั้นจึงไม่แปลกที่บาร์ไร้แอลกอฮอล์ส่วนมากใส่อเมริกาหรือยุโรปจะเลี่ยงการใช้คำว่า ‘ม็อคเทล’ (Mocktail) ที่มีนัยยะถึงน้ำผลไม้ผสมน้ำเชื่อมอย่างที่หลายคนคุ้นเคย แต่เลือกตั้งชื่อเครื่องดื่มที่สะท้อนตัววัตถุดิบหรือคาแรกเตอร์ของร้านแทน รวมถึงการที่บางร้านจำกัดอายุผู้ใช้บริการอยู่ที่ 21 ปีแม้ไม่มีแอลกอฮอล์จำหน่าย เพื่อรักษาบรรยากาศแบบผู้ใหญ่ๆ อย่างที่บาร์ระดับพรีเมียมทั่วไปพึงมี
กล่าวอย่างรวบรัดได้ว่า บาร์ไร้แอลกอฮอล์นั้นเกิดขึ้นเพื่อเป็นสเปซที่เป็นมิตรสำหรับทุกๆ คน ทุกๆ คนในความหมายถึงคนทุกเพศ ทุกความเชื่อ และทุกไลฟ์สไตล์ เป็นสถานที่ที่โอบรับความหลากหลายด้วยบรรยากาศและเครื่องดื่มที่รังสรรอย่างละเอียดละออ มีคุณค่าและมูลค่าในแบบของตัวเองซึ่งไม่น้อยไปกว่าบาร์ทั่วไปเลย