“สมมติเอานะ ถ้าสังคมไทยไม่ใช่แบบนี้.. ก็ไม่จำเป็นต้องมีสำนักพิมพ์สมมติ”

ในวันที่ 20 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา หลังจากมีข่าวเจ้าหน้าที่บุกตรวจค้นและยึดหนังสือจากสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน เย็นวันนั้นเฟซบุ๊กของสำนักพิมพ์สมมติก็เขียนข้อความสั้นๆ ไว้บนหน้าเพจ

 “ถ้าจะเอากันแบบนี้ เราก็จะทำหนังสือในแบบนั้นเหมือนกัน รอดูชื่อหนังสือที่จะพิมพ์ต่อจากนี้ได้เลย ชนเป็นชน!”

เมื่อแรกเห็น สารภาพว่าผมไม่แปลกใจเท่าไหร่ เพราะแม้สำนักพิมพ์สมมติจะขึ้นชื่อเรื่องการทำหนังสือวรรณกรรมคลาสสิก แต่ในงานเหล่านั้นรวมถึงวรรณกรรมไทยและงานวิชาการอื่นๆ ของสำนักพิมพ์ พวกเขาชัดเจนมาเสมอว่าเลือกยืนในอุดมการณ์ทางการเมืองฝั่งไหน

แต่สิ่งที่ทำให้ผมสงสัยคือในบรรยากาศบ้านเมืองแบบนี้ วิกฤตการเมืองมากมายขนาดนี้ และความไม่เป็นธรรมที่เห็นอยู่ตรงหน้านี้ สำนักพิมพ์สมมติได้รับผลกระทบและมีความคิดเห็นยังไงบ้างต่างหาก

เพราะคำถามเหล่านั้นเอง ผมจึงติดต่อสัมภาษณ์และนัดหมายกับต้อง–ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล หนึ่งในผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารของสำนักพิมพ์สมมติ

แต่พอถึงหน้างาน บทสนทนานี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยผมและเขาเพียงเท่านั้น เพราะเอก–เอกสิทธิ์ เทียมธรรม, สิท–สิทธิวัฒน์ เรืองพงศธร ผู้ช่วยบรรณาธิการ และแชมป์–จิรวัฒน์ รอดอิ่ม กราฟิกดีไซเนอร์ของสำนักพิมพ์ก็ร่วมเฝ้าฟังและแสดงความเห็นต่อข้อถกเถียงตรงหน้าด้วยเช่นกัน

“อย่าคุยกับแค่ผมเลย คุยกับพวกเขาด้วยดีกว่า เพราะเราทำกันอยู่แค่นี้ แค่ 4 คนนี่แหละคือสำนักพิมพ์สมมติ” ต้องว่าไว้อย่างนั้น 

วรรณกรรม คนทำหนังสือ และประเทศชาติที่ไร้ซึ่งเสรีภาพ ทั้งหมดนี้เกี่ยวพันกันยังไง ทำไมถ้อยคำของพวกเขาถึงสำคัญ และอะไรคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้พวกเขาประกาศว่า ‘ชนเป็นชน!’

ส่วนหนึ่งของคำนำจากหนังสือ 1984 โดยสำนักพิมพ์สมมติน่าจะเป็นบทเกริ่นนำของบทสัมภาษณ์นี้ได้ดีที่สุด

“ … หากความปรารถนาอันแรงกล้าถึงสิ่งที่ดีงามและความฝันในเชิงอุดมคติยังไม่พร่องจากสามัญสำนึกไปนัก เรา–ทั้งผู้อ่านและสำนักพิมพ์สมมติ ก็จำเป็นต้องทำให้ความต้องการเปลี่ยนแปลงนั้นมิได้เกิดขึ้นในโลกของตัวอักษรเพียงมิติเดียว”

ล่าสุดกับเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่บุกยึดหนังสือที่สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ทำไมคุณถึงใช้คำว่า ‘ชนเป็นชน’

ต้อง : เพราะสำหรับผมเองมันมีหลายความหมาย หนึ่งคือ ‘ชนเป็นชน’ กับอำนาจลึกลับบางอย่างที่ระยำตำบอน สองคือ ‘ชนเป็นชน’ ในฐานะที่เป็นคนทำหนังสือที่ต้องแสดงจุดยืนต่อคนอ่าน และสามคือ ‘ชนเป็นชน’ ต่อจิตใจของตัวเองว่าจะตัดสินใจแบบไหนในสถานการณ์นี้ 

ต้องบอกก่อนว่ากรณีการบุกฟ้าเดียวกันนี่ไม่ใช่ครั้งแรก มีก่อนหน้านั้นเยอะ แต่ทุกครั้งที่มีอำนาจรัฐเข้าไปคุกคามคนทำหนังสือ สำนึกในการเป็นคนทำหนังสือของผมแม่งพุ่ง มันคือการคุกคามในคนทำอาชีพเดียวกันด้วยอำนาจเถื่อนที่ไม่ควรมีอาชีพไหนถูกคุกคามแบบนี้ ยิ่งพอมาสำรวจก็จะเห็นอีกว่าพอมีการคุกคามคนทำหนังสือหรือสำนักพิมพ์ คนที่ควรออกมาปกป้องและยืนเคียงข้างก็ควรเป็นคนทำหนังสือด้วยกันและผู้อ่าน แต่กลายเป็นว่าองค์กรวิชาชีพกลับกลัวที่จะเผชิญหน้ากับอำนาจ องค์กรกลับไม่มีสำนึกจะปกป้องสิทธิเสรีภาพ มันเลยมีแต่คนทำอาชีพแบบเดียวกันนั่นแหละที่ต้องเข้าใจหัวอกกันและกัน 

ดังนั้นในเมื่อเราเห็นว่าเขาเป็นผู้ถูกกระทำ เราก็ต้องแสดงจุดยืนว่าเราอยู่ข้างเขา และเราไม่เห็นด้วยกับการกระทำแบบนี้ แค่นั้น ง่ายๆ เพราะอย่างน้อยถ้าวันนั้นมีคนที่ผ่านมาเห็นข้อความเราบนหน้าเพจเขาจะได้เห็นข้อถกเถียงนี้และนำไปถกเถียงต่อ 

มีบางกระแสในออนไลน์ที่บอกว่าอย่างน้อยการบุกจับแบบนี้ทำให้คนตื่นรู้และหาอ่านมากขึ้นกว่าเดิม

ต้อง : ผมไม่ซื้อมุมนี้ นี่เป็นประเด็นย่อยที่เสือกยกมากลบทุกอย่าง มันทำให้ประเด็นหลักที่ควรประณามและเรียกร้องต่อองค์กรที่ต้องปกป้องอาชีพหายไป ผมไม่โอเค (นิ่งคิด) แต่ในฐานะของคนทำหนังสือตัวเล็กๆ เราก็ทำได้แค่นั้น แสดงจุดยืนต่อผู้อ่านของเราไป ทำหนังสือต่อไป ก็ชนเป็นชน ใครคิดเหมือนหรือต่างก็สุดแท้แต่

เลยออกมาเป็นหนังสือล็อตใหม่ทั้ง 5 เล่มของสำนักพิมพ์ ที่ว่ากันตามจริง คุณก็เปิดเผยอย่างชัดเจนว่าอยากสื่อสารอะไร เช่น เล่ม วาระสมมติ หมายเลข 02 ว่าด้วย The King and I

ต้อง : ใช้คำว่าบังเอิญประจวบเหมาะดีกว่า เพราะหนังสือล็อตใหม่ที่ออกมาก็แพลนกันมาก่อนแล้ว แต่ก็มีความสุ่มเสี่ยงเนอะ

ที่จะโดนแบบฟ้าเดียวกัน

ต้อง : (พยักหน้า) ถ้ามีใครซนน่ะ แต่พอสัมภาษณ์แบบนี้ต้องมีคนจ้องแน่เลย (หัวเราะ) เอาใหม่ๆ 

หนังสือล็อตใหม่รอบนี้นะครับ ไม่ได้มีการสุ่มเสี่ยงอะไรเลย นี่เป็นการนำเสนอตามปกติ เป็นสิทธิเสรีภาพที่ผู้เขียนพึงมีในการสร้างสรรค์งานเขียนออกมา และเราในฐานะสำนักพิมพ์ เรามองเห็นคุณค่าในต้นฉบับนั้น เราจึงตีพิมพ์ ดังนั้นไม่ได้มีความสุ่มเสี่ยงใดๆ ครับ ตอบแบบนี้แล้วกัน 

เอก : พี่ตอบเหมือนใน 1984 เลย

ต้อง : เออ (หัวเราะ) ก็ถ้าพูดตามสิ่งที่เห็นในสังคมตอนนี้ก็เสี่ยงแหละ เพียงแต่ถ้าไม่นับสถานการณ์ใดๆ เลย การได้ต้นฉบับแบบนี้มา ผมถือว่าเป็นเรื่องปกติมากที่สำนักพิมพ์จะพิมพ์งานแบบนี้ เพราะนี่คืองานที่มีคุณค่า เป็นงานที่พูดเรื่องการเมืองอย่างมีชั้นเชิงจากผู้เขียนที่ซื่อสัตย์พอจะเปิดเปลือยอุดมการณ์ทางการเมืองกับผู้อ่าน

เราให้พื้นที่แห่งเสรีภาพกับนักเขียนเต็มที่ นี่เป็นพื้นที่ในการแสดงจุดยืนทางการเมืองและโลกทัศน์ที่พร้อมเดินหน้าไปกับโลกสมัยใหม่อย่างชัดเจน ไม่ว่าคุณจะอยู่ในประเทศหรือมีสถานะเป็นผู้ลี้ภัย คุณมีสิทธิและเสรีภาพในการนำเสนองานเขียนต่อสำนักพิมพ์ และถ้าสำนักพิมพ์เห็นคุณค่านั้น เราก็ตีพิมพ์ ถึงมันจะท้าทายกับผู้มีอำนาจ แต่เราไม่คำนึงถึงอำนาจลึกลับเหล่านั้น เราไม่คำนึงถึงอำนาจสถุล เราไม่กลัว 

ผมพูดแบบนี้เลยแล้วกัน ว่ากูไม่กลัวมึง เพราะอะไรรู้ไหม ก็เพราะทุกอย่างในสื่อสิ่งพิมพ์ในปัจจุบันมันน้อยกว่าสิ่งที่ปรากฏในการเคลื่อนไหวทางการเมืองไม่รู้กี่เท่า ถ้าคนทำสิ่งพิมพ์แม่งยังกลัวอยู่ ก็ตอบคำถามตัวเองให้ได้แล้วกัน ลองไปมองกระจกและตอบคำถามตัวเองให้ได้ว่าคุณเคารพนับถือวิชาชีพนี้ในฐานะที่คุณเป็นสื่อ ในฐานะที่คุณเป็นคนทำหนังสือ หรือในฐานะสำนักพิมพ์ได้อย่างไร เพราะสปีชและการเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งหลายในตอนนี้มันไปไกลมากกว่าที่อยู่ในสิ่งพิมพ์ไม่รู้เท่าไหร่ 

เพราะอย่างนั้นขอย้ำอีกที กูไม่กลัวมึง ผมยืนยันในหลักการตรงนี้ และนี่ไม่ใช่การหิวแสงหรืออะไรเลย ทุกอย่างยืนยันบนหลักการและสิทธิเสรีภาพของผู้เขียนและผู้อ่าน นักเขียนมีสิทธิสร้างสรรค์มา เราควรจะตีพิมพ์และคุณควรจะได้อ่าน แค่นั้นเลย ง่ายๆ

ขายได้ไม่ได้ไม่รู้แหละ กูยืนยันแบบนี้ไว้ก่อน (หัวเราะ)

This image has an empty alt attribute; its file name is สมมติ_34-1024x683.jpg

เห็นว่ามีวัฒน์ วรรลยางกูร ที่เป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองมาร่วมเขียนด้วย เวลาเห็นคนในแวดวงหนังสือต้องลี้ภัยเพราะงานแบบนี้ คุณรู้สึกยังไง

ต้อง : (นิ่งคิดนาน) ในบ้านเมืองที่นักเขียนต้องลี้ภัยทางการเมือง คุณยืนยันว่านี่เป็นบ้านเมืองที่ปกติสุขไหมล่ะ สำหรับผม ไม่มีทาง

สิ่งที่เขาต้องเจอล้วนเป็นการยืนยันในเหตุผลของโลกสมัยใหม่ที่ต่อสู้กับข้ออ้างของอนุรักษนิยม จุดยืนของคุณวัฒน์บอกผมแบบนั้น และมันสะท้อนกลับมาถามผมด้วยว่า สุดท้ายแล้วเราจะเลือกเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ยืนยันในสิทธิเสรีภาพหรือจะเป็นข้ออ้างให้พวกสถุลศักดินาและอนุรักษนิยม การได้เห็นและร่วมงานกับเขาทำให้ผมคิดง่ายๆ แบบนี้ และผมกล้าพูดว่าเป็นเกียรติมากที่ได้รับต้นฉบับของคุณวัฒน์มาตีพิมพ์

แต่ในทางกลับกัน คุณกังวลใจบ้างไหมว่าตัวเองหรือสำนักพิมพ์อาจเดือดร้อน

ต้อง : (นิ่งคิดก่อนหันไปหาทีมงาน) ไงแชมป์ มึงกลัวบ้างไหม เวลาทำปกที่เกี่ยวกับการเมือง 

แชมป์ : เอาจริงก็มีนิดๆ แหละ แต่ผมก็มองว่ามันก็คืองานงานหนึ่ง

เอก : เห็นด้วย และถึงโดน คนที่โดนก็คือพี่อยู่แล้ว

ต้อง : ไอ้เหี้ย (หัวเราะก่อนหันกลับมาตอบ) ความกังวลมีนิดๆ อยู่แล้ว แต่ผมว่าก็ไม่เป็นไรหรอก ตอนนี้มีคนที่สู้มากกว่าเราเยอะ เสี่ยงกว่าเราเยอะ สถานการณ์ตอนนี้มันทำให้คนคิดและต้องเลือกแล้วว่าจะอยู่กับข้ออ้างหรือเหตุผล แสงสว่างหรือยุคดำมืด เพราะฉะนั้นในทางปัจเจกเราก็ต้องย้ำว่างานของเราคืออะไร ถ้าเขาจะเล่นก็ค่อยมาว่ากันอีกที ถ้ามีอะไรที่ผิดก็ยอมรับ แต่ถ้าต้องยืนยันในเสรีภาพของนักเขียน เราก็ต้องยืนยันด้วยความบริสุทธิ์ใจและเชื่อมั่น รับสภาพได้ ไม่มีปัญหา

คุณเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่าช่วง 2-3 ปีหลังมีคนรุ่นใหม่ซื้อหนังสือวิชาการหรือวรรณกรรมทางการเมืองมากขึ้น ในฐานะของคนที่ผลิตงานแบบนั้น คุณคิดยังไงกับเรื่องนี้

ต้อง : มันยิ่งตอกย้ำกับผมนะ ว่าพวกเขาไม่เอาคนที่เป็นข้ออ้างให้พวกสถุลศักดินาและอนุรักษนิยมแล้ว คนรุ่นใหม่ต้องการเหตุผลบางอย่างในโลกสมัยใหม่ และเขาก็ยืนยันด้วยปรากฏการณ์แบบนี้ชัดเจนมาก อาจวัดเป็นตัวเลขชัดๆ ไม่ได้ แต่อย่างน้อยในทางความรู้สึก ผมว่าก็พอยืนยันได้ว่าพวกเขาอยากอยู่กับแสงสว่างของสติปัญญาและเหตุผล ท่ามกลางกลุ่มคนที่ยังยืนยันที่จะเป็นเศษเดน เศษซากของอนุรักษนิยมที่ก็ไม่น้อยกว่ากัน

พวกเขารู้แล้วว่าอะไรคือสีดำ อะไรคือแสงสว่าง พวกเขารู้แล้วนะเว้ย ทั้งที่เราอยู่ในโลกข้ออ้างของอนุรักษนิยมมาครึ่งศตวรรษน่ะ แต่ตอนนี้พวกเขากำลังพยายามออกจากความมืดทึบนี้แล้ว และเรากำลังมองประวัติศาสตร์สังคมที่ผู้คนกำลังถกเถียงโต้แย้งระบบคิดที่อยู่กันคนละข้าง 

แต่เท่าที่ดูจากหน้าข่าว ตอนนี้บางกลุ่มคนไม่ใช้การถกเถียงแล้ว พวกเขาเลือกยึดหนังสือ ปิดปาก ไปจนถึงการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรม

ต้อง : ซึ่งมึงจะเอาแบบนี้จริงๆ เหรอ (ตอบทันที) มึงจะปราบคนเห็นต่างให้ได้เลยใช่ไหม ทั้งที่พวกมึงทั้งหลายหล่อหลอมกันมากว่าครึ่งศตวรรษ สิ่งที่คนรุ่นใหม่อยากได้เทียบกับที่มึงทำไม่ได้เลย นี่น้อยไปด้วยซ้ำ

เราอยู่ในระบบโรงเรียนที่แปดโมงเช้าเคารพธงชาติ เข้าห้องเรียนเจอรูปเคารพ ตกเย็นสวดมนต์ ระบบโรงเรียนที่ควรเป็นพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับอิสระกลับถูกยึดโยงด้วยคุณลักษณะของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เราเป็นแบบนี้กันมาเท่าไหร่ และตอนนี้พอคนรุ่นใหม่ไม่เอา ผมว่าคุณอย่ามาบอกว่าคนรุ่นใหม่ทำเกินไปเลย นี่เขาทำน้อยไปด้วยซ้ำกับสิ่งที่เจอ 

มันคือความชอบธรรมของพวกเขา พวกผู้ใหญ่มีสิทธิ์อะไรไปกีดกัน ทั้งที่คุณกระทำกับประเทศนี้มาไม่รู้เท่าไหร่แล้วกับระบบที่แม่งเทาๆ ดำๆ มืดๆ มีแต่การยกอ้างและสมยอม พอคนจะพูดกันเรื่องสติปัญญาและเหตุผลที่ไปได้กับโลกสมัยใหม่ คุณจะมากีดกันกดปราบปรามเนี่ยนะ หรือจะห้ามไม่ให้อ่านหนังสือบางเล่มน่ะเหรอ ทำทำไมวะ โคตรจะไม่เดินหน้า โคตรจะดูถูกคนอ่าน

แล้วคุณคิดยังไงกับคนที่มีอุดมการณ์ความเชื่อแตกต่างกันกับคุณ

ต้อง : เชื่อไหมว่าผมไม่มีปัญหา แต่สิ่งที่มีปัญหากับผมตอนนี้คือการที่บางคนไม่ได้เลือกว่าตีนเขาจะยืนอยู่ตรงจุดไหน

ด้วยสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญ ผมว่าสังคมกำลังเร่งให้คุณเลือกแล้วว่าตีนคุณจะอยู่บนโลกทัศน์แบบเดิม หรือจะย้ายตีนมาอยู่ในจุดที่ไปสู่โลกสมัยใหม่ได้ คุณกำลังเจอจุดชี้วัดแบบนี้ คุณจำเป็นต้องเลือกว่าจะเอายังไงกับชีวิต เพราะถ้าไม่เลือก คุณจะงงมาก คุณจะมีปัญหาแน่ มันจะเกิดเหตุการณ์ เช่น คุณเห็นการใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมแต่ดันเสือกบอกว่าเป็นความชอบธรรม หรือการไปบอกกล่าวว่าสิ่งที่คนอื่นเชื่อนั้นผิด เพราะคุณงงว่าตัวเองอยู่ตรงจุดไหน แบบนี้ผมรับไม่ได้

แต่ถ้าคุณยืนยันว่า เออ ใช่ นี่คืออำนาจเหี้ย แต่แล้วไง ก็กูรัก กูเป็นอนุรักษนิยม นี่คือกู สิ่งที่กูเชื่อ แบบนี้ผมโอเค ผมเป็นเพื่อนกับคุณได้นะ เพราะมึงยืนยันในสิ่งที่มึงเชื่อ ผมก็กำลังยืนยันในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ และเราเคารพกัน อยู่ร่วมกันได้ ไม่มีปัญหาเลย 

แต่อย่ามาบอกว่าสีดำคือสีขาว อันนี้ไม่ได้ เพราะผมไม่รู้จะเชื่ออะไรในตัวคุณว่ะ ซึ่งที่เหี้ยคือทุกวันนี้แม่งเป็นแบบนั้น แล้วมันจะอยู่ยังไงวะ

แสดงว่าถ้ามีสำนักพิมพ์ที่เป็นอนุรักษนิยม แต่มีตรรกะ เหตุผล และยืนยันชัดเจนในความเป็นตัวเอง คุณก็เป็นเพื่อนกับเขาได้

ต้อง : ผม respect เลยล่ะ ถึงเป็นคนทำหนังสือที่อยู่ตรงข้ามกับผมแต่ถ้าเขายืนยันในสิ่งที่ตัวเองเป็น ผมกล้านับถือคุณ เช่น สมมติคุณจะเขียนบอกว่า “หยาดเหงื่อเล็กๆ แต่สดใส ความพยายามเริ่มต้นที่ตัวเอง” โดยไม่คิดถึงเรื่องปัญหาแรงงานเลย นี่คือความสวยหรูในชีวิตที่คุณยืนยัน ผมไม่มีปัญหา แต่! (เน้นเสียง)

มึงอย่ามาบอกว่ามึงเป็นอีกแบบหนึ่ง มึงอย่าตีกิน เพราะในตอนนี้ หลายความคิดและหลายคนแม่งตีกิน ทั้งที่เนื้อแท้มึงไม่ได้เชื่อแบบนั้นแต่มึงทำอีกแบบเพื่อตีกิน แบบนี้ไม่โอเค เช่น ถ้าเป็นคนทำหนังสือแล้วต้นฉบับไม่มีเรื่องการเมืองเลย แต่มึงชักแม่น้ำทั้งห้าและบอกว่าผมพูดเรื่องการเมืองครับ คนอย่างนี้ผมไม่นับถือ แม่งต้องอยู่ให้ห่างๆ

เอก : แน่ะ 

ต้อง : (หัวเราะ) คุณเขียนเรื่องนี้ลงไปได้ เพราะผมไม่ได้เอ่ยชื่อใคร เอาเป็นว่าผมสรุปแบบนี้นะ ผมเชื่อว่างานคือการยืนยันในสิ่งที่เราเชื่อ จบ แต่ถ้ามึงตีกินหวังกระแสหรือความก้าวหน้าทางวิธีคิดที่ไปกับโลกสมัยใหม่ทั้งที่มึงไม่ได้เชื่อมันจริงๆ คนที่มีสติปัญญาเขามองออก คนทำหนังสือด้วยกันเองเขามองออก 

นึกถึงเหตุการณ์ย้อนแย้งที่สำนักนายกฯ เคยขอความร่วมมือผ่านสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ให้สำนักพิมพ์ส่งหนังสือพร้อมแคปชั่นให้นายกฯ แนะนำประชาชน ตอนนั้นคุณเป็นคนหนึ่งที่ก็ออกมาแสดงตัวชัดเจนว่าไม่เห็นด้วย

ต้อง : แน่นอน ผมโกรธ แต่ผมโกรธเพราะอะไรรู้ไหม ผมโกรธเพราะเจ้าภาพคือสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ นี่แหละ ทั้งที่เขาเป็นองค์กรในกำกับเราแต่กลับเออออห่อหมกกับวิธีการของผู้มีอำนาจ นี่เป็นปัญหาไม่ใช่เหรอ และนี่คือวิธีการแนะนำหนังสือที่เราจะให้กับประชาชนเหรอ เราจะให้วัฒนธรรมการอ่านของประเทศมีวิธีการแบบนี้จริงๆ ใช่ไหม มึงคิดว่ามันเป็นผลดีเหรอกับการที่ผู้นำประเทศแนะนำหนังสืออะไรก็ไม่รู้ที่ตัวเองไม่ได้อ่าน สำหรับผมคือไม่มีมุมไหนเลยที่รับได้

แล้วในมุมกลับกัน คุณว่าหนังสือ งานวรรณกรรมการเมืองหรืองานวิชาการที่คุณทำมีส่วนช่วยให้คนตระหนักในปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้ได้บ้างไหม 

ต้อง : (ตอบทันที) มิได้หรอก เราไม่ได้ทำได้ถึงขนาดนั้นหรอก เพราะอย่างที่บอกไปว่าตอนนี้มีหลายคนที่พูดมากกว่าเรา เคลื่อนไหวมากกว่า ทำประเด็นแบบนี้ที่จริงจังมากกว่าเรา

ต้องพูดให้อย่าลืมกันอีกทีว่าเราเป็นคนทำหนังสือนะ เราไม่ได้มีอำนาจอะไร เรามีหน้าที่ดูแค่เนื้อหาสาระต้นฉบับให้อยู่ในแนวทางหลักการที่มีคุณค่าต่อคนอ่านแค่นั้น ดังนั้นเรามิหาญกล้าที่จะบอกแบบนั้น สิ่งที่เราทำไม่ได้ยิ่งใหญ่ขนาดนั้น มีอีกหลายคน หลายองค์กรที่ผลักดันเรื่องราวแบบนี้ เราเล็กจ้อยมาก นี่ไม่ได้ถ่อมตัวหรืออะไร เพราะถ้าจะอ้างแบบนั้นได้ ยอดขายเราควรจะดีกว่านี้อีกเยอะ (หัวเราะ) ดังนั้นสิ่งที่เราทำไม่ได้ช่วยอะไรเขามากมายหรอก แต่เราทำเพื่อยืนยันตัวตนว่าพวกเราเป็นคนทำหนังสือในประเทศนี้ ยืนยันต่อคนเขียน คนอ่าน คนแปล ว่าพวกคุณก็มีสถานะที่เป็นคนเขียน คนอ่าน คนแปลในประเทศนี้ที่เชื่อในอุดมการณ์แบบนี้ได้

เคยเจ็บแค้นใจไหมว่าเกิดมาเป็นคนทำหนังสือที่ยืนยันความเชื่อแบบนี้ ในประเทศแบบนี้ และในยุคนี้

ต้อง : (นิ่งคิดนาน) สิท มึงว่าไง

สิท : คำถาม what if แบบนี้ก็ตอบยาก (นิ่งคิด) แต่สำหรับผม ผมว่าถ้าไม่ใช่สังคมแบบนี้ มันก็อาจไม่ต้องมีเราก็ได้นะ เราไม่ต้องทำหนังสือก็ได้ เราไปทำอย่างอื่นก็ได้

ต้อง : ใช่ (เสริมทันที) ผมคิดเหมือนกันเลย และผมว่าคนทำหนังสือส่วนใหญ่ก็เริ่มด้วยอุดมคติแบบนี้ ถึงสุดท้ายสำหรับผมมันจะเป็นการมองโลกอย่างอ่อนหัดที่เต็มไปด้วยอุดมคติที่เราอยากให้เป็น แต่ก็ช่วยไม่ได้ ในเมื่อเกิดมาเป็นคนทำหนังสือแล้วก็ต้องอดทน ทำต่อ

สิท : อย่างผมเองตอนที่เริ่มมาทำงานกับสำนักพิมพ์ ผมคิดใหญ่มากเลย ว่าหนังสือของเราจะเปลี่ยนคนได้ เราอยากจะเผยแพร่ไอเดียบางอย่างให้กับสังคมวงกว้าง แต่ก็อย่างที่เห็นว่านี่เป็นอุดมการณ์ที่พอเวลามาทำจริงมันเล็กมาก มันไม่ได้ขนาดนั้น เราเป็นแค่ประกายไฟแห่งแสงสว่างเล็กจ้อยของผู้อ่านที่ผ่านเข้ามาเท่านั้นเอง  เราไม่รู้หรอกว่าหลังจากนั้นเขาจะโตไปเป็นแบบไหน แต่อย่างน้อยผมเชื่อว่าแต่ละอันที่เราทำไปก็น่าจะมีคนซึมซับอะไรบางอย่างกลับไปได้บ้าง

สุดท้าย ในสังคมที่มีเรื่องให้โกรธทุกวัน ความรู้สึกเหล่านี้จากการงานหล่อเลี้ยงพวกคุณเพียงพอไหม

ต้อง : ผมตอบคำถามนี้ง่ายมากเลยแบบไม่โลกสวย คือมันจะพอได้ก็ต่อเมื่อมีเงินมาหล่อเลี้ยงชีวิตได้ครับ คนเราไม่ได้แดกอุดมการณ์อิ่มนะ มึงแดกข้าว

มึงทำหนังสือ มึงก็ต้องขายเพื่อเอาเงินมาใช้ชีวิตและจ่ายเงินเดือน แต่เมื่อใดก็ตามที่การทำแบบนี้ของเราทำให้ไม่มีสถานะทางเศรษฐศาสตร์ ก็จบ แต่ปัจจุบันนี้สถานะทางเศรษฐศาสตร์กับแนวคิดของเรายังพอไปรวมกันได้ ดังนั้นเราก็อดทนไปต่อเพราะมันไม่มีปัญหาที่จะทำ  

ผมจะไม่ตอบแบบคลิเช่หรอกว่า อ๋อ ผมทำเพราะอุดมการณ์นำครับ แม่งไม่มีทาง เอาง่ายๆ ว่าถ้าผมบอกทั้ง 3 คนนี้ว่ามาทำงานกับกูด้วยหยาดเหงื่อแรงงานกันดีกว่า คุณว่าแม่งจะเอากับผมไหม สิ่งที่ทำให้เราพอใจมันคือสมดุลระหว่างคุณค่าต่างหาก คุณให้คุณค่าแบบไหนมาก คุณให้คุณค่าแบบไหนน้อย มองรวมๆ แล้วยังไปได้ไหม แค่นั้นเลย ซึ่งกับตอนนี้มันพอไปได้ เรายังสามารถผลิตหนังสือที่เราคิดว่าดีและแสดงจุดยืนบางอย่างอยู่ได้ ดังนั้นก็แค่ไปต่อ แค่นั้น

และนี่ไม่ใช่การพอเพียงใดๆ นะ ผมโลภจะตายห่า ผมละโมบ และผมอยากขายหนังสือให้ได้เยอะๆ


สั่งซื้อหนังสือจากสำนักพิมพ์สมมติได้ที่ sm-thaipublishing.com/

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน