{JUN} & Ordinary Selected : แบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์ผู้ชายและร้านขายสินค้าดีไซน์บรรจุฝันของนักออกแบบเมืองเหนือ

เวลาไปตลาดขายของดีไซน์ หลายคนคงจะมีแบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์ที่ใจมักนึกถึง ในโอกาสที่เราขึ้นเหนือไปร่วมเทศกาลออกแบบเชียงใหม่ (Chiang Mai Design Week) และงาน nap ที่รวบรวมสินค้าดีไซน์เก๋ แน่นอนว่าไม่ลืมหยิบแบรนด์ดีไซน์ของคนเจียงใหม่แต๊ๆ มาแนะนำ

กระเป๋าแคนวาสดีไซน์เท่ เสื้อเชิ้ตผ้าฝ้ายคอจีนสำหรับผู้ชาย คือเอกลักษณ์ของสินค้าแบรนด์ {JUN} ฝีมือการออกแบบของดีไซเนอร์สาวเชียงใหม่ จุล-ธัญญพร จิตราภิรมย์ ศิษย์เก่าปริญญาตรีและโท คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักออกแบบตกแต่งภายในและดีไซเนอร์ประจำ ‘ข่วงบ้าน’ ซึ่งเป็นกิจการร้านเฟอร์นิเจอร์ของครอบครัว จากแบรนด์บรรจุฝันเล็กๆ ที่เธอตั้งใจทำสินค้าดีไซน์ที่ใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวัน ขยับขยายออกมาเป็น Ordinary Selected ร้านรวบรวมสินค้าไลฟ์สไตล์ฝีมือดีไซน์เนอร์ชาวเหนือ

ในบ่ายวันอากาศดี เราแวะไปเยือนช็อปบรรจุฝันที่ตั้งอยู่ย่านวัดเกตุ หญิงสาวเจ้าของร้านยิ้มต้อนรับเราอย่างอบอุ่น หลังจากที่เธอชวนดูสินค้าดีไซน์เก๋ในร้านพอหอมปากหอมคอ บทสนทนาที่เล่าเส้นทางการเติบโตทางความฝันของเธอก็เริ่มต้นขึ้น

ร่างแบบจากความชอบและจินตนาการ

“เราเริ่มจากทำสายกล้องขายก่อน เราชอบถ่ายรูปและอยากมีสายกล้องเท่ๆ สวยๆ ใช้ แต่สมัยนั้นสายกล้องค่อนข้างแพง เลยอยากทำขายในราคาที่ไม่แพงมาก หลังจากนั้นก็อยากทำนู่นทำนี่มากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ดีไซน์กระเป๋าแบบที่อยากใช้ เราชอบจินตนาการเกี่ยวกับเสื้อผ้า ชอบคิดว่าผู้ชายคนนี้ถ้าใส่ชุดแบบนี้ต้องดูดีแน่เลย แต่ถ้าให้นึกว่าตัวเองอยากใส่อะไร นึกไม่ออกเลยนะ (หัวเราะ) แบรนด์ {JUN} ก็เลยขยับมาทำเสื้อผ้าผู้ชายด้วย”

“ตอนแรกๆ ก็กังวลเหมือนกันว่าแบรนด์จะไปรอดมั้ย วันที่ตัดสินใจทำสายกล้อง มีรุ่นพี่คนหนึ่งบอกเราว่า ‘ตลาดสายกล้องเต็มแล้ว ไม่น่าจะไปรอด’ เราฟังนะแต่ก็ไม่เชื่อ เรารู้สึกว่าคนซื้อไม่ได้มีแค่คนเดียวและคนใช้กล้องก็เพิ่มขึ้นทุกวัน เราอาจจะต้องดิ้นรนหาที่ทางให้แบรนด์หน่อย เวลาที่ขายไม่ได้หรือมีคนบอกให้เราหยุด ถ้าเราหยุดมันก็จะจบที่ตรงนั้นใช่มั้ย แต่บางทีเราต้องรู้จักเชื่อตัวเองและดื้อดูบ้าง”

แบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์ผู้ชายของดีไซน์เนอร์สาว

“กระเป๋าของเราจะมีความเป็นผู้ชายมากหน่อย อาจเป็นเพราะเราเป็นผู้หญิงแมนๆ เลยรู้สึกว่าเราคิดสไตล์เรียบๆ แบบนี้ออกมาได้ดีกว่าการทำกระเป๋าถือผู้หญิงหวานๆ ที่เราไม่ถนัด แถมคนส่วนใหญ่เขาไม่ค่อยทำแบรนด์ผู้ชายกัน ยิ่งเราเป็นผู้หญิงที่ดีไซน์สินค้าผู้ชาย ของเราก็จะดู unisex นิดนึง มีดีเทลหรือสไตล์บางอย่างที่แบรนด์ผู้ชายทั่วไปไม่ได้นึกถึง แตกต่างจากแบรนด์ที่ผู้ชายออกแบบให้ผู้ชาย”

“จริงๆ เราไม่รู้หรอกว่าผู้ชายจะชอบกระเป๋าทรงไหน หรือต้องสะพายยังไง แต่พอทำออกมาแล้วคนที่ชอบส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชายที่เนี้ยบนิดนึง เพราะกระเป๋าและเสื้อผ้าเราจะเน้นความเนี้ยบ มีรายละเอียด ใส่แล้วไม่เหมือนใคร ก็จะเน้นรูปแบบที่ไม่ซ้ำกับคนอื่น เพราะอย่างเรื่องดีไซน์ การเลือกวัตถุดิบ หาช่างตัดเย็บ ทุกอย่างเราทำเองหมด เราเวิร์กเอาต์กับช่างตัดเยอะเหมือนกัน เพราะบางทีสิ่งที่เราคิดกับสิ่งที่ช่างเขาทำได้ไม่เหมือนกัน แต่เราโชคดีที่ไปเจอช่างตัดเย็บที่เขาเข้าใจแล้วก็พร้อมที่จะทดลองกับเรา อย่างช่างตัดเสื้อเขาก็เป็นช่างตัดสูทผู้ชายอยู่แล้ว งานเขาก็เลยเนี้ยบมากๆ ถือว่าเป็นจังหวะดีที่เราได้เจอช่างตัดเย็บที่ดี”

แรงบันดาลใจจากเสน่ห์ตะวันออก

“เสื้อผ้าตามท้องตลาดที่เราเห็นจะออกแนวตะวันตก เป็นเสื้อคอเชิ้ตปกเชิ้ต เรารู้สึกว่าจริงๆ แล้วเสื้อผ้าสไตล์ตะวันออกของเราแบบเสื้อชนเผ่าหรือเสื้อชาวไทใหญ่มีรายละเอียดบางอย่างที่ดูดีไม่แพ้กัน หรือเสื้อคอจีน จะเป็นเสื้อที่ผู้ชายใส่แล้วดูภูมิฐานขึ้นและดูเท่ได้เหมือนกัน แบรนด์เราเลยหยิบเอาสไตล์ของคอเสื้อฮั่นฝู (ชุดจีนโบราณของชาวฮั่น) ที่มีทั้งแบบผ่าตรงและเฉียงข้าง อย่างแบบผ่าตรงเราก็เอามาทำเป็นเสื้อโค้ทตัวใหญ่ยาว ส่วนแบบเฉียงข้างเราหยิบมาทำเป็นเสื้อเชิ้ตที่ตัดทรงให้ดูสลิมขึ้น ดูน่าสนใจและใส่ได้บ่อยขึ้น”

“อย่างคอลเลกชั่น Ordinary Oriental ที่เราทำในปีนี้ได้แรงบันดาลใจมาจาก ทรงเสื้อเชิ้ตที่เรียกว่า แลกระโดง ซึ่งชายชาวพม่านิยมใส่เป็นเสื้อตัวใน สวมทับด้วยเสื้อคลุมไม่มีคอที่เรียกว่า ไต้ป๋งอีงจี่ (ชุดของหลาวเปิงในเรื่องบ่วงบรรจถรณ์) แต่ว่ารอบนี้เราทำเสื้อคลุมออกมาไม่ทันเลยปล่อยเสื้อคอตั้งออกมาก่อน ความพิเศษคือจะไม่ใช่เสื้อคอตั้งแบบคอจีนทั่วไป แต่จะเป็นคอตั้งที่เฉียงลงเป็นทรงแบบพม่า ในอนาคตก็คงจะลองหาเสื้อผ้าสไตล์ชนเผ่าหรือสไตล์ตะวันออกมาเป็นแรงบันดาลใจเรื่อยๆ”

สินค้าไลฟ์สไตล์ที่คนรุ่นใหม่หยิบจับง่าย

“หลายเจ้าเขาอาจจะทำเสื้อผ้าสไตล์ท้องถิ่นขายในราคาสูง แต่เราไม่อยากให้เป็นแบบนั้น เราคิดว่าเสื้อผ้าสไตล์ท้องถิ่นควรจะเป็นสิ่งที่ทุกคนหยิบจับง่าย ซื้อง่าย ใส่ง่าย อยากให้แบรนด์เราเป็นแบรนด์ที่คนรุ่นใหม่ก็ซื้อใส่ได้ ลองนึกดูว่าถ้าเราเป็นมนุษย์เงินเดือน ซื้อเสื้อผ้าตัวละสองสามพันเราก็ไม่ไหวอ่ะ พันนึงก็อาจจะพอสู้ได้ เพราะงั้นราคาที่ตั้งไว้คงให้กำไรไม่เยอะหรอก เราอาจจะรวยช้าหรือเติบโตช้าหน่อย แต่ลูกค้าแฮปปี้เราก็โอเค”

“ม้อตโต้ของแบรนด์คือ ‘Ordinary Goods for Casual Life’ เราไม่ได้จำกัดอยู่แค่กระเป๋าหรือเสื้อผ้า อยากทำสินค้าหลายๆ อย่างให้ลูกค้าเลือก เร็วๆ นี้จะทำหมวกและเนกไทด์ออกมา ที่สำคัญคือจะต้องคุมทุกอย่างให้อยู่ในธีมเดียวกันคือเป็นท้องถิ่นมากขึ้นอย่างที่คนสมัยนี้เริ่มโหยหา”

พื้นที่คัดสรรงานดีไซน์ของเมืองเหนือ และพื้นที่ใหม่ของคนรักงานฝีมือ

“เราเพิ่งเปิดร้าน Ordinary Selected เมื่อเดือนตุลาคม 2559 ตอนแรกแค่อยากมีพื้นที่ทำงานออกแบบและคุยงานกับลูกค้า ทีนี้เราก็เอาสินค้าแบรนด์ {JUN} มาวางด้วยเผื่อให้ลูกค้าเข้ามาดูที่ร้านได้ แต่ถ้าโชว์แค่สินค้าของเรา ทุกอย่างก็คงจบอยู่ที่เราคนเดียว ถ้าสินค้าแบรนด์อื่นได้โชว์และได้ขายด้วย สิ่งนี้ก็น่าจะช่วยให้แบรนด์สินค้าดีไซน์ของคนเชียงใหม่มีคนรู้จักเพิ่มขึ้น เลยชวนเพื่อนๆ ดีไซน์เนอร์เอาของมาลงที่ร้านเรา อีกอย่างคือลูกค้าที่เดินเข้ามาที่ร้านเขาจะได้มั่นใจว่าสิ่งที่เขาซื้อเป็นของฝากให้คนอื่นมันเป็นของที่ออริจินัลจากเชียงใหม่จริงๆ”

“สินค้าแบรนด์อื่นที่เราเลือกมาก็จะเป็นของที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เน้นโลคอลคราฟต์เป็นหลัก เงื่อนไขในการเลือกคือต้องผลิตในพื้นที่ภาคเหนือ ใช้วัสดุที่หาได้จากท้องถิ่น ดีไซน์เนอร์จะต้องเป็นคนเหนือ และอยากให้เป็นงานครีเอทีฟที่ผ่านการคิดและออกแบบมาแล้ว หรือเป็นงานคราฟต์ที่ทำจากมือจริงๆ เรารู้สึกว่างานของดีไซน์เนอร์เชียงใหม่จะดูท้องถิ่นและเป็นธรรมชาติ น่ารัก จับต้องได้ง่าย และใกล้ตัวเรามากกว่า”

“พอเราทำร้านจริงจังก็อยากให้มีคนเข้าร้านเราเยอะขึ้น เลยคิดกับเพื่อนว่าลองเปิดเวิร์กช็อปสีน้ำให้คนรู้จักร้านเราเยอะขึ้น ผลตอบรับค่อนข้างดีเลย หลังๆ ก็เปิดเวิร์กช็อปที่หลากหลายมากขึ้น อย่างงานปั้นหรืองานถัก ขณะเดียวกันเราได้รู้จักกับลูกค้าด้วย มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันแทนที่จะเป็นแค่การที่เขามาซื้อแล้วไป บางคนมาเวิร์กช็อป เขาก็กลับมาซื้อของร้านเราซ้ำเรื่อยๆ มาเรียนรู้กับเราเรื่อยๆ กลายเป็นชุมชนเล็กๆ ของคนชอบงานคราฟต์”

หล่อเลี้ยงกิจการแห่งความฝัน

“ด้วยความที่บ้านเราทำการค้ามาตลอด เลยรู้สึกชอบการขายของและอยากทำอะไรเป็นของตัวเอง พอโตขึ้นเราก็ได้ทำแบรนด์และร้านของตัวเองอย่างที่ตั้งใจ แต่ตอนนี้ฝันเราไม่ได้แค่เรามีแบรนด์แล้วจบ เราต้องทำยังไงให้ฝันเราอยู่ต่อไปให้ได้ เป็นความสุขอีกอย่างหนึ่งเหมือนกันที่เราได้เลี้ยงฝัน ดูแลให้มันแข็งแรง ค่อยๆ ดูมันเติบโตขึ้น”

“เวลานึกย้อนกลับไปมองพัฒนาการของตัวเอง เราเริ่มทำสายกล้องขายด้วยเงิน 2,000 บาท แล้วค่อยๆ เติบโตขึ้นมา มีคนตั้งใจมาหาเราที่งาน nap มีคนรู้จักเราเพิ่มขึ้น เราอยากให้สิ่งที่เราตั้งใจสร้างเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ 5 ปีข้างหน้าอาจจะเป็นที่รู้จักสำหรับคนไทย หรือว่า 10 ปีถัดไปก็อยากมีโอกาสไปเปิดตลาดต่างประเทศ เป็นความฝันไกลๆ ที่เราคิดเผื่อไว้ หากเป็นจริงได้ก็คงจะดีมากเลย”

{JUN}

ประเภทธุรกิจ: แบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์
คอนเซปต์: สินค้าไลฟ์สไตล์ Unisex ส่วนผสมระหว่างความเรียบง่ายและไอเดียท้องถิ่น
Facebook | JUN

Ordinary Selected

ประเภทธุรกิจ: Selected Shop
คอนเซปต์: ร้านขายสินค้าดีไซน์และสินค้าไลฟ์สไตล์ที่รับหน้าที่ส่งต่อความภูมิใจจากดีไซน์เนอร์ชาวเหนือ
Facebook: Ordinary Selected

ภาพ ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

AUTHOR