กิ๋นลำกิ๋นดี : ธุรกิจทำอาหารเมืองเหนือลำแต้ๆ ให้ตรงใจเจนวาย ส่งถึงบ้านได้ทุกที่ทุกเวลา

ช่วงปลายปีคือฤดูไฮซีซั่นของเชียงใหม่และหลายจังหวัดในภาคเหนือที่ไม่ว่าใครก็จองตั๋วเครื่องบินขึ้นไปเที่ยวกันแทบทุกสัปดาห์
แน่นอนว่าหลายคนมักซื้อของฝากยอดฮิตอย่างแคบหมูกรุบกรอบ น้ำพริกรสชาติเข้มข้น
หรือไส้อั่วรสพื้นเมืองติดไม้ติดมือกลับมามากมาย ช่วงนี้ของปีเราเลยได้กินอาหารเหนือเป็นกับแกล้มทุกมื้อเที่ยงจนเบื่อกันบ้าง

แต่ความคิดของ ทราย-ปิยะภรณ์
ธรรมปัญญา
สาวเชียงใหม่แท้ๆ คนนี้ไม่ได้มองอาหารพื้นเมืองเป็นแค่ของฝาก
แต่ควรเป็นอาหารที่ใครอยากกินที่ไหนเมื่อไหร่ก็หาซื้อได้ง่ายทันใจ
จนเป็นที่มาของเพจแบรนด์ ‘กิ๋นลำกิ๋นดี Kinlum
Kindee’ ที่ขายส่งอาหารเมืองเหนือให้กับลูกค้าทั่วไทย
แถมทรายยังเพิ่งเปิดร้านเล็กๆ รองรับนักท่องเที่ยวในย่านสุดฮิปอย่างนิมมานเหมินท์ซอย
11 เมื่อต้นเดือนธันวาคมนี้ด้วย เป็นเหตุผลที่เราชวนทรายมานั่งคุยถึงแนวคิดการทำธุรกิจที่หยิบสิ่งที่ครอบครัวมีมาแต่งตัวใหม่ให้โมเดิร์นและโดนใจวัยรุ่นเจนวายสุดๆ
ในขณะนี้

จุดเริ่มต้นจาก (สัน) ทราย
“เราเป็นคนเชียงใหม่ตั้งแต่เกิด
แม่ขายอาหารพื้นเมืองมา 20 กว่าปีแล้วตั้งแต่เราอยู่อนุบาล 2 เพราะที่บ้านชอบปลูกต้นไม้
ก็จะเอาผักมาทำผักลวก น้ำพริกหนุ่ม ขายที่กาดสามแยกสันทรายจนมีลูกค้าประจำจากกรุงเทพฯ
กลุ่มหนึ่งที่เขาแวะมาทุกปี ถามว่าทำไมไม่ทำส่งล่ะ เราเลยลองศึกษาวิธีการขนส่งอาหารจนพบวิธีที่ตอนนี้เราใช้คือส่งกับบริษัทขนส่งเอกชน
หรือถ้าจังหวัดไหนมีรถทัวร์ผ่านก็ฝากไปกับรถทัวร์ให้ลูกค้ามารับ เลยเป็นที่มาของ ‘Kinlum Kindee กิ๋นลำกิ๋นดี’
ที่เราเริ่มมาได้ประมาณปีกว่าแล้ว ช่วงแรกๆ คนสนใจดีแต่ถ้าเราไม่โฆษณา
ช่วงนั้นก็จะขายไม่ได้
เพราะตอนนั้นเรายังไม่ได้สร้างเรื่องราวให้กับผลิตภัณฑ์ของเรา”

เรื่องเล่าคือเครื่องปรุงสำคัญ
“ตอนนั้นเราเลยเริ่มกำหนดกลุ่มเป้าหมายก่อนว่าจะขายให้ใคร
ก็สรุปว่าจะขายให้เด็กวัยรุ่นเจนวาย รุ่นๆ เรานี่แหละ พอเราลองเล่าเรื่องเบื้องหลังของอาหารบ้านเรา
เล่าเรื่องพ่อ แม่ ถ่ายรูปตอนแม่ทำอาหาร สวนที่บ้าน ทุกคนชอบและมากดไลก์กัน
เราก็รู้จุดแล้วว่าคนน่าจะชอบสตอรี่มากกว่า ยิ่งเราทำเพจมาสักพักก็เริ่มมีคนชื่นชอบตัวทรายเองด้วย
เราเลยพยายามนำเสนอทัศนคติหรือมุมมองการใช้ชีวิตว่าทำไมเราถึงมาทำสิ่งนี้
เป็นแรงบันดาลใจให้คนกล้าจะกลับบ้านแล้วมองสิ่งที่ตัวเองมีอยู่และทำอะไรกับมัน
ตอนนี้เลยกลายเป็นว่าแบรนด์ กิ๋นลำกิ๋นดี ผูกด้วยตัวอาหารและเจ้าของไปด้วย แต่เราก็จำกัดตัวเองให้คนรู้จักเราแค่เฉพาะเรื่องงานและทัศนคติพอ
ไม่ได้ถ่ายรูปชิกๆ แล้วเอามาลงอวดไลฟ์สไตล์”

“คำว่าแบรนด์ไม่ใช่แค่โลโก้หรือแพ๊กเกจจิ้งสวย
เพราะพอถึงจุดหนึ่งก็จะมีคนเลียนแบบไปได้ แต่อะไรล่ะที่ทำให้เราแตกต่าง ก็คือเรื่องราวจริงๆ
ของตัวเรานั่นแหละ คนมักพูดแค่ว่าไส้อั่วของฉันอร่อยแต่ไม่บอกว่าอร่อยยังไงล่ะ
ทรายเองไม่ได้ขายว่าไส้อั่วเราอร่อยกว่าที่ไหน แต่ขายว่าไส้อั่วของเรามาจากไหน
ทำยังไงมากกว่า เราบอกเล่าเบื้องหลังความเป็นมาทุกอย่างเพราะคนสมัยนี้ชอบความจริง
และเราไม่อยากให้คนรู้สึกว่ากิ๋นลำกิ๋นดีเป็นแบรนด์ใหญ่ที่คนเข้าไม่ถึง แต่เป็นแบรนด์เฟรนด์ลี่
เพราะทรายคิดว่าลูกค้าอยากคุยกับคนมากกว่าอยากคุยกับแบรนด์นะ”

ของที่ไม่ต้องฝาก
แต่หาทานได้ทุกที่ทุกเวลา

“ความเข้าใจเดิมของคนไทยคือไส้อั่ว
แคบหมู หมูทอด เป็นอาหารที่นักท่องเที่ยวต้องไปซื้อกับเจ้าดังในตลาด เป็นของฝากประจำจังหวัดเชียงใหม่
แต่เราอยากทำให้อาหารเหนือเป็นอาหารที่ใครอยากกินเมื่อไหร่ก็ได้ เรามีแท็กไลน์ว่า ‘Anywhere you are you can taste the North’ เราวางโพสิชั่นนิ่งของตัวเองว่าไม่ใช่ของฝาก เพราะเราแข่งกับร้านเจ้าดังไม่ได้อยู่แล้ว
เลยมองตลาดคนละกลุ่มกัน เป็นคนกรุงเทพฯ หรือคนเชียงใหม่ที่ย้ายไปทำงานที่อื่นแล้วคิดถึงอาหารเหนือก็สั่งจากเราไปกินได้เลย”

ทำอาหารเมืองให้ป๊อบเหนือใคร
“จริงๆ แคบหมู ไส้อั่ว
เป็นอาหารของนักท่องเที่ยว ไม่ใช่อาหารพื้นเมืองที่ทุกบ้านกินกันหรอก อีกเรื่องที่เราพยายามนำเสนอให้แฟนเพจได้อ่านคือศัพท์คำเมืองน่ารักๆ
และเมนูอาหารเมืองแปลกๆ ที่คนเชียงใหม่กินกันจริงๆ มีช่วงที่เราทำเมนูพิเศษอย่าง
ตำกบนา ปูอ่อง บางคนไม่เคยกิน เราก็เชียร์ให้ลองสั่ง
ปูอ่องนี่เป็นเมนูโคตรของโคตรบ้าน หากินยากมาก เด็กเชียงใหม่บางคนยังไม่รู้จักเลย
ต้องให้รุ่นย่ารุ่นยายที่ทำเป็นทำเท่านั้น ซึ่งโพสต์ปูอ่องนี่มีคนแชร์ไปเกือบ 2,000 ครั้งโดยไม่ได้โฆษณาเลย
แค่นี้ทรายก็แฮปปี้แล้ว เราตั้งใจจะขับเคลื่อนอาหารเหนือให้เด็กรุ่นใหม่ได้รู้จัก อยากให้วัยรุ่นรู้สึกว่าการได้กินอาหารเหนือเป็นเทรนด์
ใครกินอาหารเหนือก็ถ่ายรูปลงเหมือนกาแฟ ขนมเค้ก ได้”

เปิดร้านให้แบรนด์มีตัวตน
“ทรายมีออร์เดอร์จากลูกค้าให้มาส่งที่นิมมานเหมินท์ทุกวัน
นักท่องเที่ยวมักมาพักแถวนี้ จนเราคิดว่าถ้าอย่างนั้นน่าจะเปิดร้านที่นิมมานฯ เลยดีไหมและให้ลูกค้ามารับของเองดีกว่า
คือตั้งใจให้ที่นี่เป็นศูนย์กระจายสินค้าในตัวเมืองเชียงใหม่
เพราะหลายคนไปที่สันทรายไม่สะดวก และเผื่อว่าในอนาคตแบรนด์เราจะเติบโตได้เพราะก็มองกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนไว้ด้วย”

“ที่ร้านจะมีที่นั่งให้คนมานั่งชิลล์และสั่งอาหารกินได้ด้วย
เมนูจะเป็นพวกแกงพิเศษๆ หากินยากที่เราไม่ส่งอยู่แล้ว ทำปรุงกันที่นี่ วันละ 2
เมนู ที่นี่เลยจะเป็นช่องทางเผยแพร่อาหารพื้นเมืองให้คนรู้จักได้เต็มๆ
ช่วงแรกที่เปิดยังเป็นช่วงทดสอบก่อนว่าเราจะจัดการร้านยังไงให้มันรวดเร็วขึ้นเพราะเราไม่มีประสบการณ์ทำร้านอาหารมาก่อนเลย
ก็ต้องมาคิดหาวิธีทำให้มันดีขึ้น เราไม่อยากให้ลูกค้ามาแล้วผิดหวัง
ร้านนี้ก็ทำให้เราได้เจอกับลูกค้าที่ติดตามเพจเรามานานแล้วด้วยเหมือนกัน”

แบรนด์เล็กๆ ที่ยังโตต่อไปอีกไกล
“กำไรที่ได้มาตอนนี้ส่วนมากก็ไปลงกับการทำร้านอยู่
เป็นช่วงค่อยๆ ลงทุนต่อไปเรื่อยๆ สร้างแบรนด์ให้อยู่ได้
เลยยังไม่เห็นกำไรที่เป็นก้อนเงินจริงๆ งานนี้อาจไม่ทำให้เรารวย เปลี่ยนสถานะเป็นมหาเศรษฐี
แต่เราพอมีพอจ่ายให้พนักงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่า
และเหลือเงินให้เราพออยู่ได้ก็โอเค ทรายยังสนุกอยู่ถ้าช่วงไหนคนแชร์เนื้อหาหรือเรื่องราวดีๆ
ที่เราอยากให้เขารับรู้ ทำให้เกิดการบอกต่อกัน แค่นั้นก็พอใจแล้ว”

“ใครจะเริ่มทำธุรกิจ ทรายคิดว่าทำให้เป็นตัวของตัวเองนี่แหละ และพยายามสื่อสารให้เป็น บางคนมีของดีแต่สื่อสารกับคนไม่เป็นนี่พลาดโอกาสมากเลยนะ ผู้บริโภคปัจจุบันชอบอยากจะรู้เบื้องหลัง ถ้าใครอยากเริ่มต้นธุรกิจ ต้องทบทวนตัวเองว่าเรามีเรื่องเล่าอะไร และหาวิธีเล่าออกมาให้ได้”

Kinlum Kindee

ประเภทธุรกิจ: ร้านค้าอาหารเมืองพื้นบ้านที่มีบริการส่งทั่วประเทศไทย
คอนเซปต์: ทำอาหารเมืองไม่ใช่ของฝาก
แต่เป็นอาหารที่อยากทานที่ไหนเมื่อไหร่ก็ทานได้

เจ้าของ: ปิยะภรณ์ ธรรมปัญญา (26 ปี)
Facebook | Kinlum Kindee – กิ๋นลำกิ๋นดี

ภาพ จิรณรงค์ วงษ์สุนทร

AUTHOR