Swimmy : ร้านญี่ปุ่นที่รวมของเก๋ฝีมือคนไทย

บ้านสองชั้นสีเหลืองอ่อนที่มีหน้าต่างสีน้ำเงินสดใส
ติดป้ายชื่อร้านว่า Swimmy ยืนเด่นอยู่กลางซอยเอกมัย 12
เมื่อเปิดประตูเข้าไป เราพบร้านขายเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า
เครื่องประดับ และของกระจุกกระจิกน่ารักฝีมือคนไทยหลากหลายแบรนด์
นอกจากจับเสื้อผ้าฝ้ายเนื้อดี กระโปรงย้อมครามน่าใส่ รองเท้าหนังแท้นุ่มนิ่ม เรายังสัมผัสความมุ่งมั่นของ
ชินจิ คาวานามิ
อดีต buyer ที่ตระเวนซื้อเสื้อผ้าจากจีน
ฮ่องกง บาหลี และอีกหลายประเทศให้บริษัทญี่ปุ่น ด้วยสายตาแหลมคมในการเลือกของสวยเก๋และความฝันจะสร้างชุมชนงานฝีมือคุณภาพ นักธุรกิจหนุ่มปล่อยความตั้งใจเต็มเปี่ยมให้แหวกว่ายอยู่ในบ้านหลังน้อยใจกลางกรุงเทพฯ

ปลาเล็กสู้ปลาใหญ่

“คุณเคยได้ยินเรื่องสวิมมี่รึเปล่า”

เราส่ายหัว
ชินจิเดินไปหยิบหนังสือนิทานของ Leo Lionni ที่เขาเคยอ่านตั้งแต่เด็กมาเปิดให้เราดูภาพสีน้ำรูปปลาตัวจิ๋วสีดำกลางมหาสมุทร

“สวิมมี่เป็นปลาตัวเล็ก
พวกปลาตัวเล็กๆ ในทะเลโดนปลาใหญ่ไล่กินหมด
จนกระทั่งเหลือสวิมมี่แค่ตัวเดียว เขาเห็นว่าสัตว์ต่างๆ ในทะเลตัวใหญ่กันทั้งนั้น
เมื่อพบฝูงปลาเล็กอีก สวิมมี่คิดว่าถ้าทุกตัวว่ายมารวมกันเป็นปลาตัวใหญ่ตัวเดียว ก็จะสามารถต่อสู้กับปลาใหญ่ๆ ได้ ไม่โดนรังแก
ไอเดียของสวิมมี่ก็เหมือนร้านของผมที่รวมสมาชิกร้านค้าไว้ด้วยกัน
ตอนนี้เป็นจุดเริ่มต้น อาจยังกระจัดกระจายไม่เป็นหนึ่งเดียว แต่ถ้ารวมกันได้จริงๆ
ปลาใหญ่ก็ทำอะไรเราไม่ได้”

“ความตั้งใจแรกของผมคืออยากสร้างชุมชนเล็กๆ ที่ทำสินค้าไอเดีย
ให้หลายๆ ร้านที่เป็นสมาชิกมาแลกเปลี่ยนไอเดียข้อมูลกัน
หรือร่วมมือกันสร้างสินค้าใหม่เพราะผมคิดว่าเมืองไทยน่าจะมีสินค้าที่ดีกว่านี้
อย่างประตูน้ำ จตุจักร หรือ Artbox ที่ผมไปเดินดู ผมเห็นว่าเป็นสินค้าเดิมๆ แบบเดียวกัน ซึ่งถ้าไปซ้ำๆ
น่าจะขายยากสำหรับลูกค้ากลุ่มเดิม เลยอยากทำร้านที่มีไอเดียใหม่ๆ ให้ลูกค้าได้ซื้อของหลากหลาย
และกลับมาอีกหลายครั้ง”

เป็นตัวของตัวเอง

“ตอนนี้ในร้านมี 13
แบรนด์ที่มาวางขายกับเรา มีทั้งร้านที่เราเลือกเองและร้านที่ติดต่อเข้ามา
เราเน้นขายของผู้หญิง แต่ไม่ใช่แนวหวานๆ” ฟาง-ปพิชญา วชิรบรรพต
ผู้จัดการร้านช่วยอธิบายแนวทางของสวิมมี่ “เดี๋ยวนี้คนขายเสื้อผ้าเยอะ แต่คนทำเสื้อผ้าเองมีน้อย
และสไตล์ที่มีมักเป็นคุณหนู สาวออฟฟิศ แต่ร้านนี้ไม่ใช่แนวคัลเลอร์ฟูล เราจะเน้นแบบมินิมอล
แคชวล คลาสสิก โมโนโทน ดังนั้นกลุ่มที่เข้ากับเราก็น้อยลงไปอีก คนที่เดินเข้าร้านมาก็แต่งตัวอีกแบบนึง”

“เกณฑ์การเลือกสินค้าของเราคือสินค้าที่ยังไม่เห็นในตลาดทั่วไป จากร้านคนไทยที่น่าจะพัฒนา
ปรับปรุงเปลี่ยนแปลง หรือต่อยอดสินค้าให้ดีขึ้นได้มีไอเดีย มีความเป็นตัวของตัวเอง
ซึ่งของแบบนี้มันลอกเลียนแบบกันไม่ได้” นักธุรกิจหนุ่มยืนยันอย่างมั่นใจในพลังของความคิดสร้างสรรค์

คุณค่างานฝีมือ

แม้ชินจิยืนยันว่าเขาให้ความสำคัญกับไอเดียเป็นอันดับแรก
สไตล์ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบญี่ปุ่น
แต่ภาพสินค้าในร้านที่เราเห็นก็รักษาคุณภาพและลักษณะงานฝีมือละเอียดแบบที่คนญี่ปุ่นชอบไว้ครบถ้วน
จนทำให้ลูกค้ากว่าครึ่งมาจากประเทศบ้านเกิดของเขาเอง

“ผมอยู่เมืองไทยมา 10 ปี เห็นเลยว่าเมืองไทยมีงานแฮนด์เมดครบ
มีดีอยู่แล้ว แต่งานฝีมือแบบมันเก่า ถ้าพัฒนาให้ดีมากขึ้นหรือทำให้คนรู้จักน่าจะเป็นสิ่งที่ดี
ผมอยากรักษางานฝีมือของคนรุ่นเก่าไว้ ถ้ามันหายไปก็น่าเสียดาย ได้จังหวะว่าช่วงนี้ผ้าย้อมครามกลับมาฮิตพอดี
คนรุ่นใหม่หันมาสนใจงานมัดย้อม กระเป๋าสานผ้าทอ แสดงว่าคนชอบงานฝีมือยังมีอยู่”

นอกจากคัดเลือกสินค้าที่มีอยู่แล้วมาวางขาย
สวิมมี่ยังสนับสนุนการสร้างสินค้าสร้างสรรค์ใหม่ๆ ไปพร้อมกับอนุรักษ์ทักษะดั้งเดิม
และอาจขยายเป็นเวิร์กช็อปหรืออีเวนต์เล็กๆ ในอนาคต

“ต้นปีหน้าเราจะเริ่มประกาศหาเด็กรุ่นใหม่ นักศึกษา แม่บ้านที่ว่าง
ถ้าชอบงานเย็บปักถักร้อย งานมัดย้อม มีคอนเซ็ปต์ให้ก็จะจ้างทำเพื่อช่วยกระจายรายได้ ถ้าอยากปักจักร
เข้าโรงงาน มันง่ายมาก ใครๆ เขาก็รับทำ แต่ของทำมือมันสวย
มีคุณค่ามากกว่าในสายตาคนต่างชาติ”

ผู้จัดการร้านทิ้งท้ายถึงโครงการในอนาคตของสวิมมี่ ในทะเลธุรกิจกว้างใหญ่
ปลาตัวนี้มุ่งมั่นสร้างพื้นที่เข้มแข็งให้คนตัวเล็กๆ กับสินค้าคุณภาพเสมอ

Swimmy

ประเภทธุรกิจ: ร้านขายเสื้อผ้า / เครื่องประดับ
คอนเซปต์:รวมงานดีไซน์คุณภาพดีฝีมือคนไทย
เจ้าของ: ชินจิ คาวานามิ (40
ปี)
Facebook | Swimmy
www.swimmy-thai.com

ภาพ ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

AUTHOR