“ตราบใดที่เรายังไม่มีประชาธิปไตย สิ่งแวดล้อมที่ดีก็เกิดขึ้นไม่ได้” หลิง Climate Strike Thailand

Highlights

  • 'Climate Strike Thailand' คือกลุ่มที่ก่อตั้งขึ้นโดย 'หลิง–นันทิชา โอเจริญชัย'
  • เธอใช้เวลาปีสุดท้ายในชีวิตการศึกษาระดับชั้นมหาวิทยาลัย ก่อตั้งกลุ่มและชักชวนให้คนออกมาประท้วง เรียกร้องหาสิ่งแวดล้อม พื้นที่สีเขียว และอากาศบริสุทธิ์สำหรับหายใจ ตามคนบันดาลใจอย่าง เกรตา ธันเบิร์ก
  • หลังทดลองทำทุกอย่างที่จะช่วยสนับสนุนให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น เธอพบว่าทางเดียวที่จะทำให้สิ่งแวดล้อมของเราดีได้คือการแก้ไขไปให้ถึงระดับโครงสร้าง

‘Climate Strike Thailand’ คือกลุ่มที่ก่อตั้งขึ้นโดย หลิง–นันทิชา โอเจริญชัย หญิงสาวที่เติบโตมาด้วยความรักและความสนใจในสิ่งแวดล้อม

ต้นปีก่อน เธอสละเวลาปีสุดท้ายในชีวิตการศึกษาระดับชั้นมหาวิทยาลัย ก่อตั้งกลุ่มและชักชวนให้คนออกมาประท้วง เรียกร้องหาสิ่งแวดล้อม พื้นที่สีเขียว และอากาศบริสุทธิ์สำหรับหายใจ

รวมทั้งยังใช้เวลาหลังเรียนจบ ขับเคลื่อนวงการสิ่งแวดล้อมต่อไปด้วยการนำความสามารถด้านการทำสื่อที่ตัวเองมี สื่อสารและทำงานร่วมกันกับมารีญา พูลเลิศลาภ ในองค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ชื่อ SOS Earth 

หลังทดลองทำทุกอย่างที่จะช่วยสนับสนุนให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น ลดการใช้ถุงพลาสติก ไม่ใช้หลอด ปลูกต้นไม้ทดแทน ไปจนถึงการประท้วงเพื่อสิ่งแวดล้อม

เธอพบว่าทางเดียวที่จะทำให้สิ่งแวดล้อมของเราดีได้ คือการแก้ไขไปให้ถึงระดับโครงสร้าง

เริ่มรู้ตัวตอนไหนว่าสนใจด้านสิ่งแวดล้อม 

คงเริ่มจากการที่เราได้อยู่กับสิ่งแวดล้อมเยอะ ตอนเรียนไฮสคูลเราเรียนวิชาบังคับอันหนึ่งชื่อว่าวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม เป็นการเรียนวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับระบบนิเวศ ภาวะโลกร้อน ขยะ เคมีต่างๆ ที่รวมอยู่ในชีวิตเรา ไม่ใช่แค่ให้รู้ว่าหินเกิดมาได้ยังไง แต่ทำให้เข้าใจด้วยว่ามันสำคัญกับเราแค่ไหน เรามีอิทธิพลต่อกันยังไง นอกจากจะเรียนในห้อง เรายังได้ไปสัมผัสกับของจริง ไปเดินป่า ไปเก็บตัวอย่างน้ำมาเข้าแลบ เราเลยได้เห็นภาพจริงมากขึ้นด้วย บางอย่างเราอ่านในหนังสือ หรือดูแค่ในสารคดี ถึงเห็นว่าภาพมันสวยแค่ไหน แต่ถ้าเราไม่ได้ไปสัมผัสเอง มันก็ไม่รู้สึก 

เริ่มแรกความสนใจของเราน่าจะเกิดจากการเรียน แต่หลังจากนั้นพอได้มาสัมผัส เราถึงได้หลงรักจริงๆ 

 

เมื่อตระหนักได้แล้วว่าสิ่งแวดล้อมสำคัญกับเราผ่านการเรียนในห้องเรียน คุณลงมือทำอะไรบ้าง

ตอนนั้นไม่ได้คิด ไม่ได้ลงมือทำอะไรเป็นรูปธรรมมาก แต่ด้วยความที่เราเรียนมา เราเลยเข้าใจ พอเข้าใจแล้ว ตื่นมาเราก็จะเห็นความเชื่อมโยงกันของทุกอย่างรอบตัวไปโดยอัตโนมัติ น้ำไหลมาจากไหน ทิ้งขยะตรงนี้แล้วมันจะไปไหนต่อ มันคือความคิดที่เชื่อมโยงกัน

ประกอบกับเราอยากเป็นนักข่าว ช่วงมหาวิทยาลัยตอนปี 1-2 เราเลยพยายามไปฝึกงานกับองค์กรสื่อ องค์กรเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมต่างๆ ได้เขียนบทความเรื่องสิ่งแวดล้อมเยอะมาก ทำให้เราเก็บสะสมความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหานี้มากขึ้นว่ามีปัญหาอะไร ต้องแก้ไขยังไงบ้าง แล้วทำไมถึงไม่ได้รับการแก้ไข 

เราทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อมโดยเริ่มมาจากการเขียนก่อน แต่เขียนไปเขียนมาก็รู้สึกเหมือนเรากำลังบ่นอย่างเดียว วันที่ตัดสินใจทำ Climate Strike เลยเหมือนมาจากพื้นฐานความคิดที่ว่าที่ผ่านมาเราก็ได้แต่บ่น ทำไมเราถึงไม่มาทำเองเลยล่ะ ทำไมต้องรอให้คนอื่นทำด้วย

ว่ากันว่าที่เริ่มทำ Climate Strike Thailand ขึ้น เพราะคุณมีเกรต้าเป็นแรงบันดาลใจ คำพูดไหนของเกรต้าที่ฮุกใจจนกระตุ้นให้คิดว่าถ้าอย่างนั้นก็ออกมาเรียกร้องด้วยเลยแล้วกัน

ที่กระชากใจมากๆ จนทำให้เราตัดสินใจลงมือทำเลยคือบทความของ The Guardian ที่บอกว่าเกรต้าเขาซึมเศร้า และรู้สึกโดดเดี่ยวมาก เราอ่านแล้วเข้าใจเขาเลย เพราะเรื่องสิ่งแวดล้อม ยิ่งอ่าน ยิ่งศึกษา มันจะยิ่งเครียด มันมีหลักฐานบอกทุกอย่างว่าถ้ายังทำพฤติกรรมแบบนี้อยู่โลกจะแตกแล้วนะ แต่ทำไมคนถึงไม่สนใจ เราอยู่กรุงเทพฯ เราไม่ได้มีสังคม ไม่ได้มีเพื่อนเยอะแยะอะไร และเราก็แทบไม่รู้จักคนที่แคร์เรื่องสิ่งแวดล้อมเลย ก่อนทำ Climate Strike Thailand เราก็รู้สึกโดดเดี่ยวมากอย่างเขา ยิ่งเขียนเรื่องสิ่งแวดล้อมให้กรีนพีซทุกวัน กลับบ้านมาก็เครียด นอนไม่หลับ ตื่นมาแล้วกลัวตาย (หัวเราะ) มันโดดเดี่ยว ชวนเศร้ามากๆ แต่พอได้อ่านเรื่องของเขาแล้วมันเหมือนกับว่า I can feel you เรารีเลตถึงเขาได้

 

สถานการณ์สิ่งแวดล้อมเรื่องอะไรที่เป็นชนวนให้คนในวัยคุณรู้สึกกลัวตายขึ้นมา

หลายอย่าง มันสะสมกัน อาจจะเพราะเราศึกษา เราอ่านอะไรมาเยอะมากด้วย ข้อมูลมันโอเวอร์โหลดไปหมด ถ้าให้ยกตัวอย่างเลยคือในปี 2050 หรืออาจจะก่อนนั้นด้วยซ้ำ มีข้อมูลว่าครึ่งหนึ่งของกรุงเทพฯ จะจมอยู่ใต้น้ำ มันเป็นปัญหาที่ใหญ่มากๆ แต่บ้านเรากลับทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เราเป็นเหมือนกบอยู่ในน้ำร้อน ไม่รู้ตัวว่าตอนนี้ปัญหากำลังเกิดขึ้นแล้ว เราเลยเครียด มีอยู่ช่วงหนึ่งตื่นมาทุกวันก็จะรู้สึกเหมือนเรากำลังนับวันถอยหลังไปเรื่อยๆ ถ้าวันนี้เราไม่ทำอะไรก็จะเสียเวลาไปหนึ่งวัน ทุกวันเลยค่อนข้างสำคัญมากจนเรากดดัน 

ความกลัวตายนั้นมีส่วนทำให้คุณตัดสินใจออกมาประท้วง

ก็ด้วย ตอนเริ่มทำ Climate Strike ครั้งแรกคือช่วงมีนาคมปีที่แล้ว (พ.ศ. 2562) เราอ่านบทความแล้วอินมาก ประกอบกับช่วงสุดสัปดาห์ที่ต่างประเทศเขาจะมีจัด global climate strike กันอยู่แล้ว คืนนั้นเราเลยรู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่าง รีบสร้างเฟซบุ๊กอีเวนต์ขึ้นมา คิดว่าจะให้คนขาดเรียนและหยุดงานกันเพื่อประท้วงกันที่บ้านได้เลย ไม่ต้องออกมารวมตัว ทำให้มันง่ายที่สุดเพราะเราก็ไม่เคยทำอะไรแบบนี้ ปรากฏคนเข้าใจว่าเราจะนัดให้มาเจอกันเพื่อออกไปประท้วงจริงๆ มีคนให้ความสนใจเยอะขึ้นเรื่อยๆ ถามว่าจะเจอกันวันไหน ที่ไหน เวลาอะไร กลายเป็นว่าจะแคนเซิลก็ไม่ได้แล้ว บวกกับพอคนยิ่งให้ความสนใจเยอะ เราเลยยิ่งมีกำลังใจ ก็เลยสรุปว่าถ้าอย่างนั้นก็นัดมาเจอกันวันศุกร์แล้วกัน 

การเจอกันวันนั้น ทำให้เราได้รู้ว่าจริงๆ แล้วมีคนอยากทำอะไรแบบนี้อยู่เยอะมากเลย แต่พวกเขาได้แต่คิดว่าอยากทำอยู่ในใจ กลัวว่าจะไม่มีใครมาทำด้วย คือคนอยากทำมีเยอะ แต่ยังไม่มีคนที่เริ่มทำให้เกิดก้าวแรกแบบนี้

 

ข้อเรียกร้องที่เราให้ไปในวันนั้นคืออะไรบ้าง

ครั้งแรกที่จัดเราไม่มีข้อเรียกร้องอะไรเลย (หัวเราะ) เหมือนไปโวยวายอย่างเดียว บอกเขาว่าเราอยากได้สิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น เราอยากได้พื้นที่สีเขียว เราต้องการต้นไม้ แต่ไม่ได้มีสิ่งที่ต้องการให้ทำแบบเฉพาะเจาะจง ดีที่ว่ามีคนยังอยากมาร่วมด้วยอีกเยอะ เลยตกลงกันว่าถ้าอย่างนั้นเราจะประท้วงต่อไปอีกในวันเสาร์ วันต่อมาเราเลยเขียนข้อเรียกร้องมาให้ชัด เรียกร้องว่าอยากมีระบบขนส่งที่ดี อยากมีพื้นที่สีเขียวมากขึ้น อยากมีอากาศที่หายใจได้ มันเป็นอะไรที่ฟังดูแล้วค่อนข้างซิมเปิลมากๆ แต่มันก็แค่นี้แหละที่เราต้องการจริงๆ 

ช่วงแรกจะเรียกร้องอะไรประมาณนี้ แล้วค่อยๆ พัฒนาให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น นำข้อเรียกร้องของ global climate strike มาใช้ ยื่นจดหมายให้กระทรวงทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติว่าให้ประเทศออกประกาศวาระฉุกเฉินด้านภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง และเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนร้อยเปอร์เซ็นต์ให้ได้ภายในปี 2030 แต่สิ่งที่เขาตอบรับมามันก็เท่านั้น ไม่มีอะไรเกิดขึ้นอยู่ดี

เอาจริงๆ ตอนนั้นเราคาดหวังไหมว่าออกไปประท้วงแล้วจะเกิดการเปลี่ยนแปลง

ตอนนั้นเรายังเรียนไม่จบเลย ยังเป็นเด็กไฟแรงมากๆ คิดว่าฉันต้องเปลี่ยนได้ ก็แค่เปลี่ยนกฎหมายไง แก้เลยสิ ง่ายเท่านี้เอง ขยะก็แยกแค่ 5 ถังเอง ทำไมต้องทำเหมือนว่ามันยุ่งยากเหลือเกิน แค่นักการเมือง ผู้ใหญ่ บริษัท ร่วมด้วยช่วยกันทำไมจะเปลี่ยนไม่ได้ เวลาออกไปประท้วงเราเลยเรียกร้องรัฐบาลด้วยมายด์เซตว่าโอเค พรุ่งนี้แหละ อาทิตย์นี้แหละ เขาต้องตอบรับข้อเรียกร้องของเรา เขาต้องเปลี่ยนกฎหมายแน่ๆ แต่มันไม่ใช่แบบนั้น หลังจากผ่านมาแล้วหนึ่งปีกว่า เราได้เรียนรู้แล้วว่าปัญหาเรื่องนี้มันไม่ได้แก้ไขได้ง่ายดายขนาดนั้น (หัวเราะ)

การเรียกร้องเรื่องพวกนี้มันมีกลไกซับซ้อน มีนักการเมือง มีคอร์รัปชั่นเต็มไปหมด มันไม่ได้ง่ายอย่างที่เราคิด เอาจริงๆ มีช่วงที่เราทำแล้วซึม ท้อ และอยากเลิกอยู่เหมือนกัน เพราะในเมื่อการเมืองมันแย่ขนาดนี้ โลกมันแย่ขนาดนี้ เราทำไปก็คงไม่มีผลอะไร แต่สุดท้ายเราก็อยู่เฉยไม่ได้ เรารู้เยอะเกินกว่าจะแกล้งทำมาเป็นไม่มีอะไรเกิดขึ้นแล้ว

ถ้าถามว่าตอนนี้เราจะกลับมาเรียกร้องอะไรได้ ก็คงต้องเป็นเรื่องประชาธิปไตยนี่แหละ เพราะจริงๆ แล้วปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาสังคมมันเชื่อมโยงกันอยู่ ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็คือการคุกคามสิทธิมนุษย์อย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการที่เรามีน้ำสะอาดดื่มได้ หรือการที่เรามีอากาศบริสุทธิ์หายใจ

คิดง่ายๆ อย่างเรื่องความเท่าเทียม ความรวย ความจน ทำไมคนจนต้องอยู่ในพื้นที่ที่มีแต่ขยะที่คนรวยนำไปทิ้งให้ไกลหูไกลตา ทำไมคนจนต้องนั่งรถเมล์ เปิดหน้าต่างรับควันพิษจากถนน จากรถยนต์ของคนรวย ทำไมคนจนต้องปลูกข้าวให้คนรวยกิน ทั้งๆ ที่ตัวเองยังแทบไม่มีข้าวจะกินเลย มันมีความไม่เท่าเทียมอยู่สูงมาก

Climate Strike ไม่ได้ต้องการแค่ให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาโลกร้อน แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่เราต้องการสิ่งที่เรียกว่า Climate Justice หรือความยุติธรรมในการแก้ไขปัญหาโลกร้อนด้วย คนที่สร้างมลพิษที่ใหญ่ที่สุดคือภาคเอกชน คือบริษัทใหญ่ๆ แต่คนพวกนี้กลับมีเงินมหาศาล ในขณะที่คนที่มีรายได้ต่ำ สร้างมลพิษน้อยที่สุดแท้ๆ แต่กลับมีหนทางที่จะหนีออกจากภาวะโลกร้อนได้น้อยที่สุด โดนผลกระทบจากภาวะโลกร้อนก่อนใคร แถมยังโดนหนัก เพราะไม่สามารถหลีกหนีไปไหนได้ ไม่มีที่ให้ไป

ถ้าว่ากันตามตรง คุณเองก็แทบจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาความไม่เท่าเทียมที่ว่านี้ด้วยซ้ำ ทำไมถึงต้องออกมาสู้เพื่อพวกเขา

เพราะเรามีพริวิเลจเยอะนี่แหละ เราถึงยิ่งต้องทำมากขึ้น เรารู้สึกแย่มากๆ ด้วยซ้ำว่าทำไมเราถึงมีชีวิตที่สะดวกสบายอย่างนี้ แต่ก็คิดได้ว่าเราจะรู้สึกแย่ไปทำไม เราก็ใช้พริวิเลจที่มีไปทำให้ชีวิตคนอื่นดีขึ้นสิ 

จริงๆ ตอนแรกที่ทำ Climate Strike หรือกระทั่งตอนนี้ หลิงไม่ได้ทำเพื่อใครเลยนะ แต่กำลังทำเพื่อตัวเองอยู่ นี่คือโลกของเรา สังคมของเรา อนาคตของเรา เราไม่ได้ทำให้คนอื่นเลย เราทำเพราะเราอยากมีชีวิตที่ดี ทำเพราะคิดว่าถ้าทุกคนมีชีวิตที่ดี ตัวเราเองก็คงจะมีชีวิตที่ดีไปด้วย ถ้าหลิงอยากมีบ้านเมืองที่ดีสำหรับตัวเอง เราก็ต้องทำให้บ้านเมืองนี้ดี ไม่ใช่ว่า อ๋อ ฉันทำงานหนัก ฉันมีเงินเยอะ ฉันจะซื้อบ้านหลังใหญ่ๆ สักหลัง แล้วใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบายอยู่ในบ้านหลังนั้น ชีวิตจริงมันเป็นไปไม่ได้ 

แต่บริษัทที่เขากำลังทำลายธรรมชาติอยู่ เขาคิดแค่ในระยะสั้นว่ามันทำให้เขาเสียผลประโยชน์ เสียกำไร ถ้าเธอดี ฉันก็ไม่ได้ แต่เขาไม่ได้คิดหรอกว่าในระยะยาวแล้ว ผลกระทบที่ตามมาในอนาคตยังไงก็ตกมาถึงลูกหลานของเขาอยู่ดี

สุดท้ายแล้วเราก็มีโลกแค่ใบเดียวนะคะ (หัวเราะ) เราอาจจะเด็กอยู่เลยไม่เข้าใจเรื่องผลประโยชน์ต่างๆ แต่คนคนหนึ่งมันจะกินได้มากขนาดไหนกันเชียว สิ่งที่เราเรียกร้องวันนี้ก็แค่อยากมีสิ่งแวดล้อมที่ดี มีสังคมที่ดี อย่างที่บอกเมื่อมันมีทุกอย่าง ถ้าเรามีความเท่าเทียม ทุกคนก็จะได้ประโยชน์ร่วมกันหมด วิน-วิน 

ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างนิวซีแลนด์ สแกนดิเนเวีย นักการเมืองทุกคนเขามีมายด์เซตเดียวกันว่าไม่ว่าฉันจะมาจากพรรคการเมืองไหน สุดท้ายเขาก็มีเป้าหมายเดียวกันว่าจะร่วมกันพัฒนาประเทศให้ดีขึ้น แต่มายด์เซตของนักการเมืองไทยมันไม่ใช่แบบนั้น เหมือนแค่อยากหาผลประโยชน์เข้าหาตัวเอง ถ้าฉันได้ เธอก็ต้องเสีย เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมมันเลยพัฒนาควบคู่กันไปไม่ได้

แปลได้เลยไหมว่าถ้ารัฐบาลออกมา take action การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศเราจะมีหวังมากขึ้น 

มันก็มองตรงข้ามกันได้เหมือนกัน อย่างคนชอบบอกว่าทำไมรัฐบาลถึงไม่เปลี่ยน ไม่สนใจเรื่องนี้เลย แต่ตัวคนพูดเองก็ไม่เปลี่ยนพฤติกรรมเหมือนกัน บอกว่าเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องรักโลกมากกว่านี้ แต่ตัวเองก็ใช้ชีวิตไปแบบไม่แคร์โลกเลย

หลิงมองว่าถ้าคนคนหนึ่งอยากเปลี่ยนโลก เขาต้องเริ่มเปลี่ยนที่ตัวเองก่อน แล้วค่อยเปลี่ยนคนรอบข้าง และคนรอบข้างเขาก็จะกระจายการเปลี่ยนแปลงนี้ไปเรื่อยๆ มันเป็น bottom-up change แต่ในทางกลับกันถึงแม้ว่าสังคมจะเปลี่ยน แต่ถ้าภาคเอกชนกับรัฐบาลไม่เปลี่ยน มันก็ไม่ได้ 

ก่อนหน้านี้เราเจาะจงไปกับความคิดว่าฉันไม่ใช้หลอด ฉันไม่ใช้ถุงพลาสติก ฉันปลูกต้นไม้ แล้วฉันจะเปลี่ยนโลกได้ แต่มันไม่จริง การทำแบบนั้นมันดี แต่มันต้องการคนอีกหลายๆ คน ให้ช่วยทำไปร่วมกัน คนคนเดียวมันไม่พอจริงๆ เราชอบไปโทษรายบุคคล ทั้งๆ ที่สิ่งที่ต้องเปลี่ยนจริงๆ คือระบบการเมือง ระบบเศรษฐกิจ ระบบอุตสาหกรรม คนคนเดียวไม่ได้มีพาวเวอร์ในเรื่องนี้ มันต้องการการล็อบบี้ ต้องการความคิดเห็นจากประชาชน จากสาธารณะ เพื่อที่จะไปกดดันภาครัฐ และภาคเอกชนต่อ

แล้วเรามีหวังไหม กับรัฐบาลที่ทั้งนำเข้าขยะ และแทบจะอนุมัติให้สร้างเหมืองอย่างนี้

(หัวเราะ) ไม่มีหวังกับรัฐบาลตอนนี้ค่ะ แต่เราไม่ได้คาดหวังตรงนั้นแล้ว เราทำงานของเราไปให้ดีที่สุดก่อนแล้วกัน และถ้าถามว่าความหวังของเราตอนนี้คืออะไร เราหวังว่ามันจะสามารถโกยทุกอย่างทิ้งให้หมดแล้วมาเริ่มใหม่ อันนั้นคือความหวังในใจลึกๆ ของเรา แต่ความหวังว่าคนเหล่านี้จะเปลี่ยนทัศนคติ เราไม่มี

ช่วงปีนี้เราเลยกลับมาทำเรื่องการสื่อสารให้มากขึ้น เน้นทำให้มีความสนุกสนาน ใส่ความเฮฮาลงไป ฮุกให้คนสนใจและเห็นว่าผลประโยชน์ที่ได้จากการอนุรักษ์คืออะไร พยายามจะสร้างเทรนด์ใหม่ว่าการที่เราแคร์สิ่งแวดล้อมมันคูลนะ โดยที่ในขณะเดียวกันเราก็พยายามจะแคร์เรื่องนโยบายและกฎหมายให้น้อยลงกว่าเก่า เพราะเราเห็นแล้วว่ามันคอร์รัปชั่นแค่ไหน จะเปลี่ยนตรงนี้ก็ไปโดนตรงอื่นต่อ เราพยายามจะทำความเข้าใจกับ human value ของเขา ว่าทำไมเขายังทำแบบนี้อยู่ ทั้งๆ ที่เขารู้ว่ามันไม่ดี

เราพยายามทำความเข้าใจว่าสุดท้ายแล้วอะไรเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนคนเหล่านี้ ทั้งๆ ที่เขาก็รู้ว่าสังคม สิ่งแวดล้อมที่เราอาศัยอยู่นี้เราต่างใช้คู่กัน ทุกคนไม่แฮปปี้ แต่ทำไมเขากลับยังแฮปปี้อยู่ ซึ่งทุกวันนี้พยายามคิดแค่ไหนเราก็ยังไม่เข้าใจ (หัวเราะ)

อะไรทำให้มายด์เซตเราเปลี่ยนไปเป็นแบบนั้น

หลักๆ เลยคือเรามองว่ามันเสียเวลาชีวิต เราจะดีลกับคนแย่ๆ เหล่านี้ไปเพื่ออะไร ในเมื่อสุดท้ายเราจะตายอยู่แล้ว เราอยากใช้ชีวิตนี้ให้มีความสุข และยังได้สร้างผลกระทบต่างๆ อยู่ เลยพยายามจะบาลานซ์ว่าต่อไปนี้เราจะทำงานด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมยังไง ให้ควบคู่ไปกับการที่เรายังมีความสุขในชีวิตส่วนตัว 

อันที่จริงมันควรนะ เราควรไปโต้กับนักการเมืองที่ไม่ดีเหล่านั้น แต่หลิงขอห่างมาก่อนดีกว่า เน้นทำอะไรที่เราแฮปปี้กับตัวเอง และยังเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เน้นเรื่องบวกให้มากกว่าเรื่องลบ 

เป็นเพราะมีรัฐบาลแบบนี้ด้วยหรือเปล่า ถ้าเรามีประชาธิปไตยแบบจริงๆ คุณอาจมีความหวังว่าการประท้วงแบบที่เคยทำจะช่วยเปลี่ยนแปลงอะไรได้ 

ก็ใช่ (ยิ้ม) ตอนแรกที่เราทำ Climate Strike เราเน้นไปที่การยื่นข้อเสนอ ยื่นข้อเรียกร้อง แบบมีหลักฐานสนับสนุนแทบทุกอย่าง ปีนี้น้ำจะท่วมเท่านี้ มูลค่าทรัพย์สินเสียหายที่เกิดจากภัยพิบัติธรรมชาติหรือภาวะโลกร้อน จะคิดเป็นมูลค่าเท่าไหร่ แต่พอเรายื่นไปทั้งหมดแล้วลองกลับมาคิดดูก็พบว่า อ้าว รัฐบาลเขาก็น่าจะมีคนที่ฉลาดประมาณนี้อยู่แล้วนะ แค่กูเกิลว่าภาวะโลกร้อนทำให้เสียหายแค่ไหนก็น่าจะเจอแล้ว แต่ละกระทรวงต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านนี้อยู่แล้วสิ แล้วทำไมเขาถึงไม่แคร์ ทำไมเขาถึงไม่ทำ เราเลยเข้าใจว่า อ๋อ สุดท้ายแล้วต่อให้เราใช้เหตุผลแค่ไหน แต่ด้วยรัฐบาลแบบนี้ก็ไม่มีทางเป็นไปได้อยู่ดี

จะพูดโดยมีเหตุผลยังไง ตราบใดที่เขาไม่ฟังมันก็ไม่เวิร์ก ตราบใดที่เรายังไม่มีประชาธิปไตยที่ดี มันก็ทำเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ได้ เพราะสุดท้ายมันก็เป็นเรื่องของระบบนี้อยู่ดี 

 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!

Video Creator

ชาคริต นิลศาสตร์

อดีตตากล้องนิตยสาร HAMBURGER /ค้นพบว่าตัวเองมีความสุขและสนุกทุกครั้งที่ได้ทำงานภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว

นวภัทร์ นาวาเจริญ

วีดีโอครีเอเตอร์คนที่ชอบเดินจ่ายตลาด