เพราะเซ็กซ์ห้ามไม่ได้และไม่น่าละอายอย่างที่ครูบอก ส่องบทเรียนเพศศึกษาใน Sex Education 3

*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของซีรีส์* Sex Education 3

ก่อนอ่านบทความนี้ เราอยากชวนคุณนึกถึงเซ็กซ์ที่ผ่านมาของตัวเองดู แล้วตอบคำถามว่าเคยมีเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นกับคุณไหม?

หลังถึงจุดสุดยอด คู่นอนรีบลุกไปล้างตัวเพราะรู้สึกผิดบาป ทั้งที่เรายังตัวสั่นไม่เสร็จ กล้ามเนื้อไม่ทันคลายตัวจากการจิกเกร็ง พยายามรั้งให้นอนสัมผัสร่างกายกันต่อสักนิด แต่ชวนยังไงอีกฝ่ายก็ไม่ยอม ยืนยันจะไปอาบน้ำก่อนเพื่อชะล้าง ‘ความสกปรก’ ออกจากเนื้อตัว จนเรางงว่าเซ็กซ์ที่เพิ่งผ่านพ้นดีหรือแย่ และเราต้องรู้สึกยังไง?

ปฏิกิริยาแบบนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก โดยเฉพาะในสังคมที่ปลูกฝังค่านิยมว่าเซ็กซ์เป็นสิ่งสกปรกหรือเรื่องต้องห้าม เมื่อเราตั้งต้นด้วยชุดความคิดเช่นนี้ตั้งแต่เด็ก ไม่ผิดเลยที่เมื่อถึงเวลามีเซ็กซ์ เราจะสลัดตัวเองออกจากความรู้สึกผิดบาปนั้นได้ยากเหลือเกิน ความย้อนแย้งคือในขณะเดียวกันเซ็กซ์ก็สร้างความสุขให้เรา ซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องการความสุข แต่เมื่อโดนค่านิยมนี้ครอบอยู่ การมีเซ็กซ์กลับกลายเป็นทุกข์เพราะเราเผลอไปมีความสุขกับสิ่งต้องห้าม

หลังถึงจุดสุดยอด บางคนอาจทำมากกว่าการอาบน้ำ แต่ยังก่นด่า โบยตีตัวเองด้วยแส้ทางศีลธรรม

คำถามคือ เซ็กซ์ควรเป็นเรื่องที่เราต้องรู้สึกผิดหรือเปล่า?

เซ็กซ์คือการเมือง Sex Education 3

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในปัจจัยที่ปลูกฝังค่านิยมนี้ให้หลายคนคือวิชาเพศศึกษา 

นับตั้งแต่ปี 1960 จนถึงปัจจุบัน วิชาเพศศึกษาในโรงเรียนแบ่งเป็น 2 แบบ อย่างแรกคือหลักสูตรที่เน้นไม่ให้มีเพศสัมพันธ์ (Abstinence-Only Sex Education) เน้นการสอนไม่ให้วัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะแต่งงาน เพราะเชื่อว่านั่นคือสิ่งที่ปลอดภัยที่สุด หลักสูตรนี้จะไม่พูดถึงวิธีการใช้ถุงยางและการคุมกำเนิด ยกเว้นจะหยิบยกมาด้อยค่าว่าแม้ป้องกันแล้วแต่ยังมีอัตราความล้มเหลวอยู่ ไม่ได้ปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์

การสอนอีกแบบเรียกว่าหลักสูตรเพศวิถีศึกษารอบด้าน (Comprehensive Sexuality Education) เน้นการเรียนการสอนที่ครอบคลุมตั้งแต่เรื่องพัฒนาการด้านร่างกายและจิตใจ การทำงานของสรีระ พฤติกรรมทางเพศ ความสัมพันธ์ ไปจนถึงทัศนคติและค่านิยมทางสังคมที่ส่งผลต่ออัตลักษณ์ทางเพศ ช่วงหลังยังมีโปรแกรมแบบค็อกเทลผสมเพิ่มเข้ามา (Abstinence-Plus Sex Education) ซึ่งยังเน้นว่าไม่ควรมีเซ็กซ์ แต่ก็ยอมสอนเรื่องการใช้ถุงยางและวิธีการคุมกำเนิด

หลักสูตรที่เน้นไม่ให้มีเพศสัมพันธ์ยึดโยงอยู่กับศาสนาและการเมืองอย่างเหนียวแน่น ในหลายประเทศมีการอ้างว่าการคุมกำเนิดและการมีเซ็กซ์ก่อนแต่งงานขัดต่อหลักทางศาสนา และผู้ที่ทำงานวิจัยเพื่อส่งเสริมหลักสูตรที่เน้นไม่ให้มีเพศสัมพันธ์ก็ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐมากและยาวนานกว่า อย่างในอเมริกาเพิ่งจะหันมาพิจารณาให้ทุนสนับสนุนหลักสูตรแบบรอบด้านเพิ่มตอนรัฐบาลของบารัก โอบามา แต่พอโดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นเป็นประธานาธิบดีก็กลับไปสนใจหลักสูตรที่เน้นไม่ให้มีเพศสัมพันธ์แบบเดิม

เซ็กซ์คือการตีกรอบ? Sex Education 3

บทเรียนเพศศึกษาที่สอนให้งดมีเซ็กซ์จึงกลายเป็นมาตรฐานเพราะได้รับการรับรองจากสถาบันหลักทางสังคม ซึ่งซีรีส์ Sex Education ซีซั่น 3 แสดงความขัดแย้งและความแตกต่างของหลักสูตรเพศศึกษาสองแบบชัดเจนมาก อย่างฉากการสอนเพศศึกษาแบบเน้นไม่ให้มีเซ็กซ์เกิดขึ้นในชั้นเรียนที่เป็นระบบระเบียบและเป็นทางการ มีแขกรับเชิญที่ถูกสกรีนแล้วว่าเหมาะสมมาให้ความรู้ภายใต้การควบคุมดูแลของครู

ส่วนบทเรียนเพศวิถีศึกษาแบบรอบด้านเกิดขึ้นในห้องน้ำร้างหลังโรงเรียนหรือไม่ก็ในห้องนอน เป็นการพูดคุยกันระหว่างเพื่อน เพื่อนของเพื่อน แม่ของเพื่อน ในท่าทีผ่อนคลายไม่เป็นทางการ ลองผิดลองถูกไปจนพบคำตอบที่ ‘พอเหมาะ’ กับแต่ละบุคคล อาจเป็นความตั้งใจของผู้สร้างที่ทำให้การสอนเพศศึกษา 2 แบบใช้ฉากและโทนเสียงต่างกันสิ้นเชิง

นอกจากนี้ ซีรีส์ยังสอดแทรกสัญญะเล็กๆ น้อยๆ ที่แสดงถึงขั้วตรงข้ามระหว่างหลักสูตรทั้งสองแบบ อย่างฉากที่ Hope (รับบทโดย Jemima Kirke) ครูใหญ่คนใหม่สั่งทุบห้องน้ำร้างหลังโรงเรียนทิ้ง เป็นสัญญาณว่าเธอต้องการรื้อบทเรียนเพศวิถีศึกษารอบด้านทิ้งให้หมด การทาสีทับภาพเขียนรูปอวัยวะเพศตามผนังกำแพงเป็นสัญลักษณ์ของการกดทับเรื่องเพศแบบเดียวกับหลักสูตรที่เน้นไม่ให้มีเซ็กซ์ การตีเส้นทางเดินตามโถงอาคารเรียนคือการกำหนดทิศทางชีวิตให้นักเรียนทุกคน ไหนจะคาบเพศศึกษาที่ปลดอิสรภาพทางเพศของเด็กทิ้งด้วยการจัดให้นักเรียนเข้าห้องตามเพศกำเนิด มากกว่านั้นคือปลดอิสรภาพทางความคิดด้วยการไม่อนุญาตให้เด็กยกมือถาม

Sex Education 3

เซ็กซ์คือเรื่องส่วนตัวที่มีผลต่อส่วนรวม

เราอาจเห็นในซีรีส์อยู่บ้างว่าหลักสูตรเพศศึกษาที่โฮปชอบนั้นส่งผลเสียต่อตัวเด็กยังไง แต่รู้ไหมว่าในโลกความจริง มีผลงานวิจัยจากหน่วยงานย่อยของหอสมุดแพทยศาสตร์แห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Center for Biotechnology Information) ระบุว่า การบังคับใช้หลักสูตรที่เน้นไม่ให้มีเซ็กซ์นั้นล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เพราะไม่สามารถลดอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นได้ ซ้ำร้ายยังมีอัตราการเกิดเพิ่มขึ้นกว่าเดิมด้วย เพราะวัยรุ่นไม่ได้รับความรู้เรื่องการคุมกำเนิดอย่างถูกต้อง

มองย้อนกลับมาที่บ้านเรา ในประเทศไทยมีโรงเรียนเพียงร้อยละ 4 จากโรงเรียนทั้งหมดที่ประยุกต์ใช้หลักสูตรเพศวิถีศึกษาแบบครอบคลุมทุกด้าน ครูส่วนใหญ่เน้นการบรรยายตอนสอน จะมีแค่ร้อยละ 3 ของครูทั้งหมดที่ให้นักเรียนมีส่วนร่วมด้วย ในปี 2019 มีรายงานของ UNESCO ระบุว่านักเรียนไทยอย่างน้อย 1 ใน 3 ถูกรังแกอย่างน้อย 1 ครั้งในช่วงเดือนที่ทำการสำรวจ สาเหตุหลักมาจากรูปร่างหน้าตาและการแสดงออกที่ไม่เป็นไปตามบรรทัดฐานทางเพศ ซึ่งปัญหาเหล่านี้อาจลดลงได้หากเด็กได้มีการเรียนรู้หลักสูตรเพศวิถีศึกษารอบด้าน

Sex Education 3

นอกจากนี้ หลักสูตรที่เน้นไม่ให้มีเพศสัมพันธ์ยังส่งผลกระทบต่อการพัฒนาสัมพันธภาพกับผู้อื่นด้วย เช่นตัวละคร Adam (รับบทโดย Connor Swindells) ผู้เป็นผลพวงของการถูกกดทับจากสถาบันครอบครัว สังคม และหลักสูตรเพศศึกษาที่เน้นการห้ามพูด ห้ามทำ ห้ามถาม ทั้งหมดนี้สามารถทำลายชีวิตคนคนหนึ่งได้มหาศาลและยาวนาน ทำให้อดัมสับสนกับเพศสภาพตัวเองจนเลือกแสดงออกด้วยท่าทีก้าวร้าว ทำลายข้าวของและผู้คนรอบข้าง ชีวิตพังตั้งแต่ซีซั่นก่อนหน้าจนถึงซีซั่น 3 ทำให้อดัมที่เคยหันหน้าคุยกับใครไม่ได้รู้ว่าตัวเองมีปัญหาและกล้าที่จะเอ่ยปากขอความช่วยเหลือ 

ฉากที่นั่งหันหลังชนกับ Eric (รับบทโดย Ncuti Gatwa) เพื่อเปิดใจคุยกันทั้งน่าเศร้าและน่ายินดีในคราวเดียวกัน เพราะอดัมไม่มีชุดคำศัพท์และไม่สามารถอธิบายให้เอริกเข้าใจว่าเขาต้องการมีเซ็กซ์แบบไหน นี่คือหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าบทเรียนเพศศึกษาที่ชูโรงด้วยความกลัว กลัวท้อง กลัวติดโรค กลัวตัวเองไม่ตรงบรรทัดฐานสังคม ยังส่งผลกระทบระยะยาวทำให้เกิดความกลัวในด้านสัมพันธภาพกับคนอื่นได้ด้วย

Sex Education 3

เซ็กซ์คือสิ่งหลายสิ่ง แต่ไม่ใช่ความรู้สึกผิด

ในทางกลับกัน Maeve (รับบทโดย Emma Mackey) เป็นคนประเภทกล้าลองและเรียนรู้จากประสบการณ์ของตัวเอง ชีวิตสอนบทเรียนเพศวิถีศึกษาแบบรอบด้านให้แก่เมฟ อย่างซีซั่นก่อนๆ จะเห็นได้ว่าเมฟถูกตีตราว่าเป็นหญิงร้าย โดนใส่ความว่ามั่ว แถมเธอยังตั้งครรภ์​ในวัยเรียนจนต้องแบกการตัดสินใจที่ใหญ่เกินตัวอย่างการทำแท้งอีก เมฟเจ็บปวดมาไม่น้อยกว่าจะเข้าใจเรื่องวิถีทางเพศ หลักฐานที่ชัดเจนที่สุดว่าเธอเข้าใจมันอย่างถ่องแท้คือฉากหนึ่งของซีซั่นนี้ที่เมฟกำลังจะมีสัมพันธ์ลึกซึ้งกับหนุ่มวีลแชร์ Isaac (รับบทโดย George Robinson) ซึ่งเป็นชั่วขณะที่สวยงามมากในซีรีส์

เมฟถามแทนใจผู้ชมว่าเธอจะกระตุ้นและสนองอารมณ์ทางเพศไอแซกได้ยังไง เพื่อที่ทั้งคู่จะได้มีความสุขร่วมกัน แล้วไอแซกก็ถามกลับด้วยคำถามเดียวกัน ภายใต้ข้อจำกัดของสรีระทางร่างกาย ทั้งคู่ก็ประนีประนอมหาจุดกึ่งกลางที่ ‘พอเหมาะ’ และ ‘เท่าเทียม’ เมฟและไอแซกแสดงให้เห็นว่าการพูดเรื่องเซ็กซ์และการซักถามเมื่อสงสัยไม่ใช่เรื่องผิดบาป การขออนุญาตเป็นสิ่งที่พึงกระทำเสมอ

Sex Education 3

การพูดเรื่องเพศไม่ใช่เรื่องง่ายและการไม่พูดถึงมันทำได้ง่ายกว่า หลักสูตรที่ห้ามพูด ห้ามถาม ห้ามทำเรื่องทางเพศเป็นทางออกสำหรับสังคมสะดวกแดก (Fast Food Culture) ที่ขอให้ง่ายและไวเอาไว้ก่อน อย่างฉากที่ Jackson (รับบทโดย Kedar Williams-Stirling) หนุ่มสุดฮ็อตประจำโรงเรียนตัดสินใจจะมีเซ็กซ์กับ non-binary อย่าง Cal (รับบทโดย Dua Saleh) ก็มีความอึกอักว่าจะชมอีกฝ่ายยังไงดี ต้องใช้คำไหนถึงจะไม่เจาะจงระบุเพศ

แม้จะยากและเป็นสิ่งใหม่ แต่คาลและแจ็กสันไม่ได้วิ่งหนีหายจากกันไป สุดท้ายทั้งคู่กลับมาเผชิญหน้า เปิดใจรับฟังและหาทางออกร่วมกัน คำถามคือ ในเมื่อหลักสูตรเพศศึกษามี 2 อย่างและเราเลือกได้ แล้วทำไมจะปล่อยให้เยาวชนไปเรียนรู้กันเองนอกชั้นเรียนและผ่านความเจ็บปวดแบบเมฟ บทเรียนจำเป็นต้องราคาแพงมากขนาดนั้นเชียวหรือ?

Sex Education 3

ความรู้เรื่องเพศไม่เคยหยุดนิ่งและลื่นไหลอยู่ตลอดเวลา ซึ่งแบบเรียนเพศวิถีศึกษารอบด้านนี่แหละจะช่วยเปิดเวทีและสร้างบทสนทนาที่ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจอันดี จนวันหนึ่งเราจะสามารถพูดเรื่องเร้นลับในสื่อสาธารณะได้โดยไม่ต้องกลัวเกรง เหมือนวันที่เด็กในวงประสานเสียงได้ร้องเพลง “suck, suck, suck, sucking on my titties…” อย่างภาคภูมิใจ

วันนั้นอาจเป็นวันที่เราไม่ได้รู้สึกผิดกับเซ็กซ์อีกต่อไป


อ้างอิง

bangkok.unesco.org

kff.org

ncbi.nlm.nih.gov

sasharg.com.ar

tci-thaijo.org

thaijo.org

AUTHOR