Servant: บทสรุปปิดท้าย 4 ปี 40 ตอนของสุดยอดซีรีส์ประสาทแ_ก

ขอสอบถามกับคุณผู้อ่านแบบสนุกๆ ครับว่า “หากพูดถึงผู้กำกับชื่อ เอ็ม ไนต์ ชยามาลาน คุณนึกถึงอะไรเป็นอย่างแรก?”

ก. ผู้กำกับที่ชอบทำหนังหักมุม

ข. ผู้กำกับที่ทำหนังคุณภาพขึ้นๆ ลงๆ (และออกไปทางลงเหวเสียเยอะ)      

ค. ผู้กำกับที่ชอบโผล่มา cameo ในหนังตัวเอง

ง. ถูกทุกข้อ

ซึ่งไม่ว่าจะตอบแบบไหน ก็ไม่ทำให้ชื่อเสียงหรือภาพจำของชยามาลานดูดีสักเท่าไร จริงอยู่ที่เขาเคยเป็นผู้กำกับที่ทั่วโลกชื่นชมจากเรื่อง The Sixth Sense (1999) แต่ก็เป็นความรุ่งโรจน์ที่ผ่านเลยไปเกือบสองทศวรรษแล้ว ผลงานหลังจากนั้นของชยามาลานมักได้ก้อนหินมากกว่าดอกไม้เสมอ โดยเฉพาะ The Last Airbender (2010) ที่ติดโผหนังห่วยที่สุดตลอดกาลของแทบทุกสำนัก

สำหรับผู้เขียนแล้ว ปัญหาในหนังของชยามาลานคือมันเป็นหนังที่ตั้งต้นอย่างชวนคาดหวังด้วยพล็อต high-concept สารพัด แต่การคลี่คลายหรือเฉลยเรื่องมักทำแบบไม่เข้าท่า อย่าง The Happening (2008) ที่ว่าด้วยธรรมชาติอาเพศ ต้นไม้ลุกขึ้นมาฆ่าคน แต่หนังก็จบแบบทื่อๆ ชนิดคนดูเกาหัวแกรกๆ หรือเรื่อง Old (2021) ที่เล่าถึงคนกลุ่มหนึ่งที่ไปพักผ่อนที่ชายหาด แล้วอยู่ดีๆ พวกเขาก็เริ่มแก่ตัวอย่างรวดเร็ว ทว่าการเฉลยความลับของหนังก็ทำเอาผู้เขียนหัวเราะลั่นบ้าน ถึงขั้นบอกเพื่อนฝูงว่าไม่ต้องไปเสียเวลาดูหรอก            

เอาเข้าจริงแล้ว ชยามาลานเองน่าเห็นใจไม่น้อย เพราะเขาดันสร้างชื่อจากการทำหนังแบบหักมุม (twist ending) กลายเป็นว่าผู้ชมเลยคาดหวังจะได้ความเซอร์ไพรส์สุดๆ จากหนังของเขา ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเขาทำได้ ‘ไม่ถึง’ อย่างไรก็ดี คลิปวิดีโอของ Little White Lies วิเคราะห์ได้น่าสนใจว่าทุกวันนี้ชยามาลานอาจทำหนังหักมุมในลักษณะล้อเลียน (parody) ทำนองว่าอยากเห็นอะไรหักมุมนักก็จัดให้ แต่เป็นการมุมแบบเฉิ่มๆ ไปเลย เป็นทั้งการหยอกล้อกับคนดูและล้อเลียนลายเซ็นการกำกับของตัวเอง ซึ่งแนวคิดนี้นับว่าน่าสนใจ แต่ถามว่ามันช่วยให้หนังของชยามาลานดีขึ้นไหม ก็ตอบเลยว่า…ไม่

ร่ายมายาวขนาดนี้ ชัดเจนว่าผู้เขียนไม่ใช่แฟนคลับของชยามาลานเป็นแน่ (ออกจะเป็นแนวแอนตี้แฟนด้วยซ้ำ) ถึงกระนั้นผู้เขียนก็รู้สึกผูกพันและเอาใจช่วยเขาอยู่ไม่น้อย เพราะตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา ชยามาลานได้ทำซีรีส์เรื่อง Servant ทางช่อง Apple TV+ ซึ่งมันกลายเป็นผลงานที่ดีที่สุดของเขาได้รอบหลายปี แม้ว่าซีรีส์จะไม่ได้รับความนิยมแบบตูมตาม แต่มันได้ออกอากาศถึง 4 ปี 4 ซีซัน 40 ตอน โดยเพิ่งปิดฉาก finale ไปเมื่อกลางเดือนมีนาคม 2023

เรื่องราวของ Servant ว่าด้วยคู่สามีภรรยาชนชั้นกลาง โดโรธีคือนักข่าวผู้มีชื่อเสียง ส่วนฌอนก็เป็นเชฟชื่อดังที่ออกโทรทัศน์บ่อยๆ ทว่าลูกชายของพวกเขากลับเสียชีวิตด้วยเหตุการณ์น่าเศร้า โดโรธีไม่อาจทำใจได้ เธอจึงเยียวยาตัวเองด้วยการใช้ ‘ตุ๊กตาเด็ก’ เป็นตัวแทนลูกชาย ต่อมามีหญิงสาวลึกลับนามว่าลีแอนน์มาสมัครเป็นแม่บ้าน แล้ววันดีวันดีเจ้าตุ๊กตาที่ว่าก็กลายเป็นเด็กทารกจริงๆ! ทว่านี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะหลังจากนี้จะมีเรื่องเฮี้ยนๆ ตามมาชนิดไม่หยุดหย่อน

จุดเด่นของ Servant คือการเป็นซีรีส์ที่เล่นกับเทคนิคภาพยนตร์อย่างชาญฉลาด ในเรื่องของ ‘พื้นที่’ เหตุการณ์ราว 80% เกิดขึ้นเพียงในบ้านของตัวเอกเท่านั้น บ้านของพวกเขาดูร่ำรวย แต่ก็มีความมืดทะมึนชวนอึดอัด (มาจากการจัดแสงอย่างประณีต) ทุกอย่างในบ้านค่อยๆ ผุพังเสื่อมสลาย สอดคล้องไปกับสภาพจิตของตัวละครที่ถูกความเสียสติเข้าครอบงำ ถึงกระนั้นฟังก์ชันของตัวบ้านออกจะน่ากังขาอยู่ไม่น้อย เช่นว่าคนแปลกหน้าบุกรุกเข้ามาบ่อยๆ ราวกับตัวละครล็อกบ้านกันไม่เป็น หรือซีซันหลังๆ มีห้องลับทางเชื่อมลับอะไรงอกมาเต็มไปหมด จนกลายเป็นเรื่องขำขันมากกว่าน่าสะพรึง            

แม้ฉากหน้าของ Servant จะดูเป็นแนว Horror หรือซีรีส์ผีๆ แต่หากใครไม่ชอบความตกใจก็สบายใจได้ ซีรีส์นี้แทบจะไม่ได้ใช้เทคนิคตุ้งแช่หรือ Jump scare เลย ผู้สร้างเน้นไปที่ความหลอกหลอนหรืออึดอัดด้วยการถ่ายภาพโคลสอัพใบหน้าของนักแสดง โดยเฉพาะสามตอนแรกของซีซันหนึ่ง ที่ใช้เทคนิคนี้อย่างไม่ประนีประนอม อีกเทคนิคที่ซีรีส์ใช้อยู่เรื่อยๆ คือการถ่ายลองเทค (long take – ถ่ายยาวโดยไม่ตัดต่อ) ที่ขับเน้นความขมึงเครียดของเรื่องได้อย่างดี ส่วนเพลงประกอบฝีมือของ Trevor Gureckis ก็น่าสนใจอย่างยิ่งเพราะมันคือการผสมผสานระหว่างความเบาบางแบบทำนองเพลงกล่อมเด็ก (หัวใจหลักของเรื่องคือเด็กทารก) กับความดังอึกทึกครึกโครมราวกับโลกกำลังจะแตก

เมื่อ Servant ดำเนินเรื่องไปความสัมพันธ์ของลีแอนน์กับโดโรธีก็แปรเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จากคนใช้กับเจ้านาย ทั้งคู่เริ่มสนิทใกล้ชิดกันมากขึ้น ลีแอนน์กลายเป็นนางฟ้าที่มาช่วยให้โดโรธีหลุดพ้นจากความเศร้าเรื่องลูกตาย แต่ช่วงท้ายเรื่องความหมกมุ่นและมุ่งมั่นของลีแอนน์ทวีหนักขึ้นจนใกล้ความบ้าคลั่ง ทั้งโดโรธีและผู้ชมล้วนเกิดคำถามเดียวกันว่าเธอคือเทวดาตกสวรรค์หรือซาตานจากนรกกันแน่ (ณอนถึงขั้นถามว่า “เธอเป็นตัวอะไรกันแน่”) สิ่งที่ดีคือซีรีส์เลือกจะไม่เฉลยปมปัญหาตรงนี้อย่างชัดแจ้งและปล่อยให้ผู้ชมตีความได้เอง

ถึงจะบิลด์เส้นอารมณ์ให้พีคขึ้นเรื่อยๆ มาอย่างดี แต่ผู้เขียนก็แอบผิดหวังกับตอนสุดท้ายของ Servant เล็กน้อย การคลี่คลายของมันดูง่ายดายเกินไป อยู่ดีๆ เหล่าตัวละครก็มีสติกันขึ้นมา เปรียบได้ว่าชยามาลานหลอกเราว่าจะพาไปดูวันสิ้นโลก แต่สุดท้ายเขากลับพาเราเข้าโบสถ์ ซึ่งแนวคิดเรื่อง ‘ศาสนา’ และ ‘ครอบครัว’ ในเชิงบวกของ Servant ชวนนึกถึงตอนจบ (ที่ไม่ค่อยได้เรื่องนัก) ของเรื่อง Sign (2002) อยู่เหมือนกัน แต่เอาเข้าจริงแล้วสำหรับชยามาลาน Servant คงถือเป็นซีรีส์ครอบครัว นอกจากจะเน้นเรื่องการที่สามีภรรยาอย่างฌอนกับโดโรธีช่วยกันแบกความเว้าแหว่งไปด้วยกัน ก็ยังมีเรื่องน่ารักๆ นอกจอว่าชยามาลานยังชวนลูกสาวของตัวเองมาช่วยกำกับ หรือบางครั้งเขาก็เป็นคนกำกับตอนที่ลูกสาวเป็นคนเขียนบท

โดยรวมแล้วแม้จะมีอะไรติดขัดบ้าง แต่ Servant เป็นงานที่พิสูจน์ว่าชยามาลานไม่ใช่ ‘ผู้กำกับห่วย’ แน่นอน นี่คือซีรีส์ที่เขาได้โชว์ทักษะอย่างรอบด้าน ถือว่าเป็นผลงานที่น่าจดจำ และต้องยกเครดิตให้ทาง Apple TV+ ที่ให้ซีรีส์ออนแอร์ได้ตลอดรอดฝั่งโดยไม่แคนเซิลไปเสียก่อน แต่เมื่อนี่เป็นผลงานของชยามาลาน Servant ก็ต้องทิ้งทายด้วยการหักมุมเช่นเคย ซึ่งให้พูดตามตรงมันก็ไม่ใช่อะไรที่คมคาย แต่ไม่อาจแน่ใจอีกต่อไปว่าการหักมุมอย่างเด๋อด๋าของชยามาลานคราวนี้นี่เป็นรสนิยมส่วนตัวของเขา เป็นความจงใจที่จะดูเด๋อ หรือเป็นการจิกกัดล้อเลียนตัวเองกันแน่

AUTHOR