“เคยคิดอยากฆ่าตัวตายไหม?”
คุณเคยถามประโยคนี้กับคนอื่น
หรือตัวเองไหม
ตามข้อมูลของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขแห่งประเทศไทย พบว่าการฆ่าตัวตายของประชากรในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้นมีอัตราสูงขึ้นทุกปี ตัวเลขเหล่านี้สอดคล้องกับข่าวในช่วงปีหลังๆ ที่การฆ่าตัวตายกลายเป็นสิ่งที่พบเห็นได้มากขึ้น หลายคนมีคนใกล้ตัวที่กำลังประสบปัญหาหรืออีกหลายคนก็กำลังเป็นคนที่ประสบปัญหานี้ด้วยตัวเอง
ถึงแม้ปัญหานี้จะดูเป็นสีดำ แต่แสงสว่างอย่างหนึ่งที่ส่องขึ้นมาคือการตระหนักรู้ของประชาชน หลายคนหันมาสนใจและพยายามทำความเข้าใจเรื่องนี้พร้อมกับหาวิธีแก้ปัญหา การเยียวยามากมายเกิดขึ้นเพื่อช่วยเหลือ
02-713-6793
สมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย คือสมาคมที่ให้บริการเป็นเพื่อนพูดคุยทางโทรศัพท์โดยมีความตั้งใจหลักเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย เบอร์ข้างต้นคือเบอร์โทรของสมาคมโดยคนที่รับสายจะเป็นอาสาสมัครหลากหลายอาชีพที่ผ่านการฝึกจากทางสมาคมมาแล้ว สายด่วนของสะมาริตันส์เปิดให้บริการมาแล้วหลายสิบปีและรับสายการฆ่าตัวตายมาแล้วนับไม่ถ้วน แต่ถ้าจะเอาจุดเปลี่ยนที่สมาคมเริ่มเป็นที่รู้จักคือคลิปของ ‘เป้ อารักษ์’ ที่พูดถึงเหตุการณ์การเสียชีวิตของเพื่อนสนิท ‘สิงห์ Sqweez Animal’ เมื่อไม่กี่ปีก่อน
หลักการที่สมาคมสะมาริตันส์ยึดถือเป็นแนวทางการเยียวยาปลายสายที่คิดฆ่าตัวตายคือ ‘การฟังอย่างสร้างสรรค์ (effective listening)’ พวกเขาเชื่อว่าการฟังอย่างถูกวิธีจะทำให้ผู้ที่มีความทุกข์ได้ปลดเปลื้องและคิดหาทางออกที่เหมาะสมให้กับตัวเองได้
เราสนใจและมีข้อสงสัยหลายอย่างเกี่ยวกับพวกเขา วันนี้เราเลยชวน ผศ. พ.ต.หญิง ดร.พนมพร พุ่มจันทร์ ผู้อำนวยการสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย มาอธิบายและตอบคำถามถึงที่มาที่ไปของสมาคมนี้สักหน่อย นอกจากการตอบข้อสงสัยแล้ว อาจารย์ยังถอดบทเรียนการฟังอย่างมีประสิทธิภาพให้กับเราอีกต่างหาก
ไม่แน่นะ เบอร์โทรนี้อาจจะช่วยชีวิตใครก็ตามรอบตัวเรา
หรืออาจจะช่วยชีวิตตัวของเราเองขึ้นมาสักวันหนึ่งก็ได้
จุดเริ่มต้นจากการรับฟังในโบสถ์จนไปสู่การช่วยชีวิตคนรอบโลก
“จุดเริ่มต้นของสะมาริตันส์เริ่มที่ประเทศอังกฤษค่ะ ที่โบสถ์ St. Stephen Walbrook ในลอนดอน บาทหลวง Chad Varah ได้เรียนรู้ว่าการพูดคุยและรับฟังด้วยใจสามารถทำให้ปรอทอารมณ์ที่สูงๆ ของคนที่มีปัญหาลดลงมาได้โดยคนที่พูดคุยไม่จำเป็นต้องเก่ง แค่เป็นคนที่รับฟังคนด้วยหัวใจก็พอ ท่านเลยเปิดศูนย์สะมาริตันส์ขึ้นมาโดยใช้ระบบโทรศัพท์เพื่อมาพูดคุยและค่อยๆ ขยายไปทั่วประเทศ
“เมื่อ ศ. นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ไปเรียนจิตแพทย์ที่ประเทศอังกฤษและเห็นคอนเซปต์ของสะมาริตันส์และคิดว่ามันน่าจะดีต่อสังคมไทย ท่านเลยกลับมาเปิดศูนย์สะมาริตันส์ครั้งแรกที่กรุงเทพฯ และขยายไปเชียงใหม่ เราเปิดให้บริการผ่านสายด่วนโทรศัพท์เบอร์ 02-713-6793 มาจนถึงตอนนี้
“ถ้าให้นิยาม สะมาริตันส์เป็นองค์กรอาสามัครที่มีเป้าหมายสี่อย่าง หนึ่งคือการรับฟังเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย สองคือเป็นที่พึ่งทางใจให้กับผู้ที่มีความไม่สบายใจ สามคือฟังโดยไม่เอากรอบของเราไปครอบใส่คนที่มาเล่า และสี่คือทำให้มั่นใจว่าผู้ที่เคยคิดฆ่าตัวตายยังคงอยู่กับเรา สี่ข้อนี้คือสิ่งที่สมาคมยึดถือมาตลอดจนถึงปัจจุบันค่ะ”
ใครๆ ก็ฟังได้ ใครๆ ก็เป็นอาสาสมัครได้
“หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมต้องเป็นอาสาสมัครที่มารับสาย หรือทำไมคุยกับคนไม่รู้จัก ทำไมไม่ไปคุยกับจิตแพทย์ คิดว่าบางคนจะรู้สึกไม่สบายใจถ้าไปพบแพทย์เพราะอาจคิดว่าตัวเองเป็นโรค แต่การโทรมาคุยกับเราแค่ไม่สบายใจก็โทรมาได้ อีกอย่างคือการคุยกับคนที่ไม่คุ้นเคยบางทีสบายใจกว่าเพราะเราก็จะไม่รู้ชีวิตเขามากเกินไป ประเด็นที่ละเอียดอ่อนที่ไม่กล้าเล่าให้คนรู้จัก เขาสามารถเล่าให้เราฟังได้
“อาสาสมัครจะผ่านการฝึกทั้งทักษะการพูดคุย ทั้งหมดนี้จะผ่านกระบวนการที่มีพี่เลี้ยงคอยดูอย่างใกล้ชิด จนกระทั่งวางใจว่าอาสาสมัครสามารถรับสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเองได้ ดังนั้นไม่ว่าจะอาชีพไหน การศึกษาอะไรก็สามารถมาเป็นอาสาสมัครกับเราได้หมด”
ฟังอย่างสร้างสรรค์เพื่อช่วยคนฆ่าตัวตาย
จากบทเรียนของสะมาริตันส์ที่สอนให้กับอาสาสมัครและคำอธิบายของอาจารย์พนมพร เราถอด 6 องค์ความรู้การฟังอย่างสร้างสรรค์ออกมาได้ดังนี้
- ให้ผู้เล่าเป็นอย่างที่ผู้เล่าต้องการ : หลายครั้งที่เวลามีคนมาปรึกษา เรามักจะมีชุดเหตุผลหรือความตั้งใจที่ขัดแย้งกับเขาในหัวจนเผลอนำออกมา บางครั้งคำพูดเหล่านั้นจะทำให้ผู้เล่าลำบากใจที่จะเป็นตัวเอง ดังนั้นสิ่งที่สะมาริตันส์แนะนำคือไม่ตัดสิน ให้เขาเป็นเขาแม้จะขัดกับเรายังไงก็ตาม
- ทำให้เขารู้ว่าเรามีเวลา : ในยามที่เขาท้อแท้ การทำให้เขาสบายใจในการเล่ามากที่สุดคือเรื่องที่ควรทำ ดังนั้นการให้เวลากับเขาเป็นเหมือนเบาะรองให้เขาสบายใจว่ายังไงจะมีเราคอยรับฟังอยู่เสมอ
- พยายามจะเข้าใจความรู้สึกเขา แม้จะขัดกับเรา : นอกจากปล่อยให้เขาเป็นตัวของตัวเองแล้ว ความพยายามเข้าใจสิ่งที่อยู่ในหัวของเขาเป็นเหมือนยาวิเศษที่ทำให้เขารู้ว่ามีคนอยู่เคียงข้างเขาขนาดไหน
- ให้คำถามเพื่อสะท้อนกลับ เพื่อประเมิน : การใช้คำถามกับคนที่จะฆ่าตัวตายเป็นเรื่องสำคัญมาก สะมาริตันส์บอกว่าให้ใช้คำถามปลายเปิดที่สะท้อนความคิด ค่อยให้เขาเล่าออกมาโดยเราเป็นเพียงที่ว่างให้เขามุ่งที่อารมณ์ของเขาเป็นสำคัญ
- สร้างความสะดวกใจให้เขาสำหรับการพูดถึงปัญหา : บางครั้งการปรึกษาใครสักคน คนที่ปรึกษามักจะกังวลว่าเรื่องราวของเขาจะถูกเอาไปบอกต่อ การเป็นเซฟโซนให้กับเขาในวันแย่ๆ เป็นสิ่งที่ผู้ฟังควรทำและปฏิบัติกับเรื่องที่เขาเล่าด้วยความรู้สึกว่าเรื่องเหล่านั้น ‘จริงและสำคัญมาก’
- สุดท้ายแล้วให้เขาตัดสินใจเอง : การฟังอย่างมีประสิทธิภาพจะทำหน้าที่ ‘สะท้อนกลับ’ และ ‘ชวนเขาคิด’ ดังนั้นการแนะนำโดยตัดจบปัญหาของเขาอาจไม่ใช่สิ่งที่ควรเท่าไหร่ การชวนเขาคิดจะทำให้เขาเข้าใจปัญหา เปรียบเหมือนการคลี่เอาก้อนความรู้สึกออกมาจากใจให้เรียบง่ายขึ้น เพื่อเป้าหมายสุดท้ายคือการทำให้เขาคิดได้เอง ทางออกนี้จะเหมาะสมและยั่งยืนกว่าในอนาคต
“เคยคิดอยากฆ่าตัวตายไหม?”
“การพูดคุยกับคนที่มีความเสี่ยงอยากฆ่าตัวตาย เราสามารถถามเขาได้นะคะว่าเขาอยากฆ่าตัวตายไหม บางคนอาจจะสงสัยว่าเป็นการชี้โพรงให้กระรอกหรือเปล่า แต่เราคิดว่าถ้าคนไม่มีก็คือไม่มี แต่เราจำเป็นต้องถามสำหรับคนที่มีความคิดแต่ไม่ได้พูด บางทีเราถามแล้วได้คำตอบเป็นวิธีการฆ่าตัวตายเป็นฉากๆ เลยก็มี
“เคยมีอยู่เคสนึงที่โทรมาแล้วใช้มือข้างนึงถือปืนจ่อหัว มืออีกข้างถือโทรศัพท์ อาสาสมัครก็ใจสั่นแต่เราก็ค่อยๆ คุยไปทีละสเตป ค่อยๆ คุยจนเขาวางปืนและรู้เรื่องราวว่ามันเป็นยังไง เราช่วยเขาเคลียร์ทีละปัญหาจนสบายใจ เราจะคุยด้วยประโยคนุ่มๆ อาจจะไม่ได้เกิดการห้ามอย่างทันทีแต่เราจะใช้วิธีให้เขาค่อยๆ ระบายออกมา เขาเองจะค่อยๆ เห็นชีวิตตนเอง สิ่งที่เราต้องคิดอยู่ตลอดคือการที่เขาคุยกับเราอยู่ตอนนี้แสดงว่าเขายังไม่ตาย มันต้องมีอะไรบางอย่างที่ทำให้เขาไม่ลงมือ เราจะคุยไปเรื่อยๆ จนดึงคุณค่าของตัวเองและคุณค่าของสิ่งที่ทำให้เขาอยู่ขึ้นมาในที่สุดค่ะ”
เยียวยาด้วยหัวใจต่อจากนี้และต่อไป
“ปัจจุบันสะมาริตันส์ยังคงเปิดให้บริการตั้งแต่เที่ยงถึงสี่ทุ่มทุกวัน คนที่มาคืออาสาสมัครทั้งหมด ทุกคนมาเพราะมีใจอยากช่วย พอเราพูดคุย เราทำให้อีกฝ่ายดีขึ้นโดยอยู่เป็นเพื่อนเขา ช่วยคิดว่าจริงๆ แล้วหนึ่งปัญหามันมีหลายทางออก
“ในความคิดของดิฉัน ปัญหาการฆ่าตัวตายมีมานานแล้ว แต่กับสภาพสังคมปัจจุบัน เรายินดีรับสายในทุกกรณีถ้าไม่สบายใจเพื่อรับรู้ความรู้สึกแล้วสะท้อนข้อมูล เราเชื่อว่าเวลาไม่สบายใจ มันเหมือนตะกอนที่ฟุ้งไปหมด สะมาริตันส์จะช่วยให้ใจของผู้โทรกลับมานิ่งแล้วหาทางออกร่วมกันได้ค่ะ”
ภาพ นิติพงษ์ การดี
ภาพประกอบ ฟาน.ปีติ