‘เฮ้ย! ไปดูคอนเสิร์ตอีกแล้วเหรอ’ Collective Effervescence กับจิตวิทยาว่าด้วยความหลงใหลของเพื่อนรักนักจองตั๋วคอนฯ

เคยสงสัยไหม ทำไมในกลุ่มเพื่อนเราจะต้องมีสักคน ที่เลื่อนผ่านฟีดโซเชียลกี่ทีก็เห็นว่า ‘เฮ้ย! กดบัตรไปดูคอนฯ อีกแล้วเหรอ’

ก็ไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่นัก เพราะหนึ่งในอีเวนต์ที่มักมาพร้อมลมหนาวช่วงปลายปี และคนหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อยชื่นชอบอย่างยิ่งคือการตีตั๋ว (บางอันก็เข้าฟรี) ไปดูคอนเสิร์ต ไม่ว่าจะเป็นคอนเสิร์ตตามผับบาร์ คอนเสิร์ตจากศิลปินที่เราชอบในทุกสเกล ไปจนถึงเทศกาลทางดนตรีที่ยิ่งใหญ่ก็มักจัดในช่วงเวลานี้ 

นัยหนึ่ง ก็เพราะปลายปีเป็นช่วงเวลาใกล้สิ้นปีที่หลายคนรอคอย ซึ่งมันเกี่ยวกับจิตวิทยาในการใช้จ่ายเมื่อเทศกาลวันหยุดใกล้เข้ามา แถมปลายปีก็มักมีวันหยุดเยอะเสียด้วย เราจึงมีแนวโน้มใช้จ่ายมากขึ้นในช่วงเวลานี้ของปี ไม่ว่าจะกิน เที่ยว เปรี้ยว ซ่า แต่แน่นอนว่าหนึ่งในสิ่งที่ต้องดึงเงินออกจากกระเป๋าคือการไปดูคอนเสิร์ต

ลองจินตนาการว่า เราใช้ชีวิตมาตลอดทั้งปี ผ่านความเครียด ความกดดัน ในการทำงาน การเรียน การใช้ชีวิต มาจนเต็มสตีม แถมบางทีความกังวลบางเรื่องก็ยังคงอยู่ด้วยซ้ำ แต่เมื่อไปดูคอนเสิร์ต สิ่งเหล่านั้นจะถูกปลดทิ้งไว้ข้างนอกชั่วคราว และถูกยกระดับแทนด้วยเสียงเพลง ศิลปิน ผู้คนรอบตัว เราสามารถปล่อยใจไปตามสไตล์ของตัวเองได้โดยไม่มีใครมาตัดสิน ไม่ว่าจะอยู่นิ่งๆ ปล่อยให้เสียงเพลงและบรรยากาศซึมซับไปในความรู้สึก หรือจะกระโดดแหกปากร้องไม่สนคีย์ไปกับคลื่นมหาชนที่กระเพื่อมโอบล้อมจากทุกทิศก็ย่อมได้

เคยได้ยินคำว่า Collective Effervescence ไหม?

คำคำนี้มาจากนักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศสที่ชื่อ เอมีล เดิร์กไฮม์ (Emile Durkheim) ที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โดยเขาอธิบายว่ามันหมายถึง เหตุการณ์ที่ผู้คนมารวมตัวกันและรู้สึกถึงความเชื่อมโยง ความบังเอิญระหว่างกันในช่วงเวลานั้น ประสบการณ์ดังกล่าวสามารถสร้างพลังร่วมและความอิ่มเอิบให้กับผู้คนที่เกี่ยวข้องได้

พอฟังแล้วก็รู้สึกว่า มันคือบรรยากาศที่เราได้สัมผัสระหว่างงานดนตรีนี่นา ซึ่งแน่นอนว่าดนตรีก็มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย เพราะดนตรีมีผลกระทบทางอารมณ์ ลองนึกง่ายๆ เวลาดูหนัง ดูซีรีส์ ดนตรีประกอบมีส่วนอย่างมากที่จะชักจูงความรู้สึกของเราให้ดำดิ่งไปกับภาพและเรื่องราวมากขึ้น

ลองจินตนาการดูว่า ถ้าขนาดดนตรีที่เราฟังในซีรีส์ ในหนัง ยังส่งผลขนาดนี้ แล้วดนตรีสดที่เราได้ฟังในพื้นที่ที่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับนักดนตรี หรือผู้ชมคนอื่นๆ จะยกระดับความรู้สึก ‘แบ่งปัน’ ร่วมระหว่างกันได้มากขึ้นไปอีกขนาดไหน

นอกจากนี้ งานวิจัยใหม่ๆ ยังชี้ให้เห็นถึงเหตุผลที่การดูดนตรีสดมักส่งผลกระทบต่อเราอย่างมากในแง่วิทยาศาสตร์

นอกจากในแง่ที่ว่า เรามักแสดง ‘ท่าทาง’ บางอย่างออกมาเมื่ออยู่ในบรรยากาศดนตรีสด เช่น ชูไม้ชูมือ โยกศีรษะ โยกตัว ตีลังกากลับหลังสามตลบ หรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งเป็นผลกระทบจากสิ่งภายนอก แต่ในขณะนั้น ภายในร่างกายเราจะเกิดสิ่งหนึ่งขึ้น นั่นคือ ‘ออกซิโทซิน’ สารเคมีที่ทำให้เรารู้สึกดี โดยการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมสามารถช่วยให้ฮอร์โมนเหล่านี้เกิดขึ้นมาได้ เช่นเดียวกับเอนดอร์ฟินหรือเซโรโทนิน เคยมีการทดสอบโดยให้ผู้ชมคอนเสิร์ตสวมแถบคาดศีรษะ EEG (ตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าสมอง) เพื่อวัดการตอบสนองของร่างกายต่อการแสดงดนตรีสด ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือระดับออกซิโทซินที่เพิ่มขึ้น ซึ่งไม่น่าแปลกใจ เมื่อพิจารณาถึง ‘ความรู้สึก’ ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่การแสดง

หรือเคยมีรายงานจากนักวิจัยของมหาวิทยาลัยซูริก ในสวิตเซอร์แลนด์ ที่ระบุว่า ดนตรีสดช่วยกระตุ้นสมองส่วนต่างๆ ของเราที่เชื่อมโยงกับความรู้สึกได้ชัดเจนและสม่ำเสมอมากกว่า เมื่อเทียบกับการฟังเพลงที่ถูกบันทึกไว้ โดยหนึ่งในผู้ศึกษาวิจัยกล่าวว่า ดนตรีสดเพิ่มการตอบสนองทางอารมณ์ของเรามากขึ้น อาจเนื่องมาจากธรรมชาติของดนตรีที่ไหลลื่นและมีชีวิตชีวา

นอกจากนี้ Collective Effervescence ยังเป็นการแบ่งปันประสบการณ์ต่อกัน ไม่ต่างจากการเข้าชมกีฬาในสนาม หรือการเข้าร่วมขบวนพาเหรดตามท้องถนนในงานอีเวนต์บางอย่าง โอกาสเหล่านี้ล้วนนำมาซึ่งความรู้สึกผูกพันและเป็นส่วนหนึ่ง เช่นเดียวกับการดูคอนเสิร์ต ที่เรามีจุดมุ่งหมายไม่ต่างกันคือศิลปินและเสียงดนตรีที่เราชื่นชอบ การได้อยู่ร่วมกับผู้คนที่มุ่งความสนใจไปที่สิ่งเดียวกันและเคลื่อนไหวไปพร้อมกัน ยิ่งทำให้รู้สึกถึงพลังและความไว้วางใจที่มากขึ้น เพราะมนุษย์เรามักชอบที่จะอยู่กับมนุษย์คนอื่นที่รู้สึกได้ว่า ‘เป็นเหมือนเรา’

ไม่ว่าจะกระโดดโลดเต้นแหกปาก หรืออยู่กับมู้ดอารมณ์ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นคนแบบไหน บุคลิกนิสัย หรือมีวิธีคิดอย่างไร สิ่งหนึ่งที่เราจะสัมผัสได้ระหว่างดูคอนเสิร์ตคือ อิสระที่เกิดขึ้นในใจ ซึ่งจะนำไปสู่การปลดปล่อยต่อบางสิ่ง

เคยมีคนกล่าวว่า ไม่ว่าคุณจะไปดูคอนเสิร์ตคนเดียวหรือกี่คนก็ตาม ‘คุณไม่ได้อยู่คนเดียว’ เพราะประสบการณ์ทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเข้มข้นนี้ จะกลายเป็นประสบการณ์ร่วมทางสังคมด้วย

พอจะเข้าใจเพื่อนรักที่มักกดตั๋วไปดูคอนฯ มากขึ้นหรือยัง?

AUTHOR

ILLUSTRATOR

banana blah blah

นักวาดภาพประกอบ ที่ชอบกินอาหารสุกๆดิบๆ เป็นชีวิตจิตใจ ส่วนชีวิตนั้นก็สุกๆดิบๆไม่ต่างกัน