“ทำให้ประวัติศาสตร์ของช่วงเวลานี้เป็นอย่างที่เราอยากให้เป็น” สุวิชา พิทักษ์กาญจนกุล

ไม่แปลกอะไรถ้าเราจะชอบเดินเที่ยวย่านเมืองเก่า หาของกินอร่อย ถ่ายรูป อัพโหลดขึ้นเฟซบุ๊ก แล้วกลับบ้านอย่างอิ่มเอมใจ แต่ถ้าไม่ใช่คนพื้นที่ จะมีสักกี่คนสนใจความเป็นไปในเมืองเก่าลึกไปกว่าแค่สถานที่ท่องเที่ยว มิหนำซ้ำยังเต็มใจมาใช้ชีวิตและทำงานในพื้นที่อย่างไม่รู้เบื่อ เหมือนเป็นบ้านหลังที่สองโดยแท้จริง

สุวิชา พิทักษ์กาญจนกุล หรือ เนย คือหญิงสาววัย 26 ปีผู้นั้น

เรารู้จักกันตั้งแต่สมัยเธอมาฝึกงานในโครงการ a team junior รุ่น 10 เมื่อโครงการจบ อดีตนักศึกษาเอกวรรณกรรมสำหรับเด็กคนนี้ยังไม่กลับบ้านที่จังหวัดกาญจนบุรีเพื่อสร้างห้องสมุดสำหรับเด็กตามที่ตั้งใจ เรากลับเห็นเธอใช้ชีวิตและทำงานคลุกคลีอยู่ในย่านเกาะรัตนโกสินทร์ นับมาถึงตอนนี้ก็ 3 ปีแล้ว

งานของเธอคือผู้ดูแลด้านการสื่อสารของ Trawell Thailand กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อยากพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนย่านเมืองเก่าผ่านการท่องเที่ยว ถ้าคุณรู้จัก Once Again Hostel ใกล้ผัดไทยประตูผีที่โด่งดัง นั่นแหละคือออฟฟิศและครอบครัวคนทำงานของเธอ

ด้วยเนื้องานที่ต้องลงไปปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในชุมชนอย่างใกล้ชิด เราจึงเห็นเธอบอกเล่าเรื่องเมืองเก่าลงเฟซบุ๊กให้ฟังอยู่บ่อยๆ มันมักเป็นมุมเล็กๆ ในวิถีชีวิตที่คนนอกอย่างเราไม่มีวันได้เห็น หรือต่อให้เห็นก็อาจไม่สนใจ สายตาเฉพาะตัวของเธอทำให้เมืองเก่ามีชีวิตชีวาและน่าทำความรู้จักอย่างยิ่ง ไม่ใช่เพราะเธอมองความเก่าแก่อย่างเทินไว้บนหิ้ง แต่เพราะเธอมองเมืองและผู้คนในพื้นที่แห่งนี้เป็น ‘เพื่อน’

ความขัดแย้งระหว่างความเก่า-ความใหม่ การเก็บรักษา-การพัฒนา คนนอกพื้นที่-คนในพื้นที่ เป็นประเด็นคลาสสิกที่เรารับรู้อยู่เสมอ แต่เมื่อสุวิชาเล่าถึงการดูแล ‘บ้าน’ เก่าหลังนี้ในมุมมองของเธอและชาว Trawell เรากลับพบความหวังที่เมืองเก่าจะอยู่ร่วมกับเมืองใหม่ คนยุคใหม่ อย่างพึ่งพาอาศัยกัน และดีไปพร้อมกัน

เพราะเคล็ดลับในการ ‘ทำให้ประวัติศาสตร์ของช่วงเวลานี้เป็นอย่างที่เราอยากให้เป็น’ นั้นเริ่มต้นที่เรื่องง่ายๆ ที่ทุกคนมีความสามารถอยู่แล้ว—ความสามารถที่จะรักนั่นเอง

ทำไมการทำงานในย่านเมืองเก่าถึงกลายมาเป็นฝันของคนรุ่นใหม่อย่างเนยได้

จริงๆ แล้วเนยมีความสนใจค่อนข้างหลากหลาย วันหนึ่งเห็นพี่ศานนท์ (ศานนท์ หวังสร้างบุญ ผู้ร่วมก่อตั้ง Once Again Hostel) โพสต์เรื่องงานทำโฮสเทลที่มีแนวคิดฟื้นฟูเมืองเก่า พอได้มาสัมภาษณ์ก็ชอบมาก รู้สึกว่ามาช่วยแบบไม่เอาเงินก็ได้

ทำไมชอบขนาดนั้น

เรามาแถวนี้บ่อยเวลาเครียดๆ ชอบมาเดินเล่น พื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์เป็นพื้นที่ที่ใครก็มา แต่เรายังไม่ได้รู้จักคนในพื้นที่จริงๆ แค่รู้ผ่านๆ และรู้จักประวัติศาสตร์ผ่านหน้าหนังสือ ด้วยไอเดียของเขาตอนนั้นที่อยากทำให้นักท่องเที่ยวมารู้จักชุมชนจริงๆ มันตรงกับความสนใจเราพอดี นอกจากเราจะได้เจอคนจริงๆ ว่าเขาใช้ชีวิตอยู่กันยังไง เรายังได้ช่วยให้ชีวิตเขาดีขึ้นไปด้วย มันวินๆ ทุกฝ่าย ตอนนั้นยังทำงานนิตยสาร คิดว่าถ้าว่างก็มาช่วยเต็มที่ ไปๆ มาๆ ก็เลยมาทำจริง

พอมาที่นี่ มันเหมือนเป็นที่ที่ทุกคนมีฝัน มีความสนใจของตัวเอง ใครอยากทำอะไรก็สนับสนุนกัน ไปช่วยงานป้อมมหากาฬกันด้วย เนยพอมีความรู้เรื่องประวัติศาสตร์และชุมชนนิดหน่อย เพราะตอนเด็กๆ ชอบอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ ตอนมหาวิทยาลัยก็ติดตามผลงานคุณเอนก นาวิกมูล เขาเป็นนักประวัติศาสตร์ที่สนุกมาก เราอยากเป็นแบบนั้นบ้าง Trawell Thailand ก็เป็นช่องทางพูดคุยกับคน นี่คือประวัติศาสตร์หน้านึงที่เรากำลังศึกษาอยู่ตรงหน้า มันเลยสนุกไปอีกแบบ

ปกติเป็นคนเงียบๆ ไม่อยากคุยกับใครเท่าไหร่ แต่พอได้ทำงานกับชาวบ้าน มันเหมือนเป็นการปลดล็อกพลังงานบางอย่างของเรา มันยิ่งทำให้อยากไปลองพื้นที่ใหม่ๆ มากขึ้น ถึงจะมีส่วนที่ไม่มั่นใจบ้างเพราะไม่ใช่สายที่เรียนมาเลย แต่ก็ได้หลายคนมาช่วย จริงๆ แล้วมีคนทำงานด้านนี้เยอะมากเลยนะ

อธิบายหน่อยว่างานปัจจุบันต้องทำอะไรบ้าง

เราไปลงพื้นที่ ไปเอาข้อมูลของชาวบ้าน ร้านค้า และสถานที่ต่างๆ หยิบมาเล่าในเพจและสื่อต่างๆ ให้คนรับรู้ เราพยายามมองให้ลึกลงไปถึงชีวิตความเป็นอยู่ของเขา ถามถึงปัญหาเขาด้วย ไม่ใช่แค่รีวิวว่าที่นี่ดีจัง มากันเถอะ หลังบ้านเราเก็บข้อมูลด้วยว่าเขายังอยากได้การพัฒนาอะไร อยากให้เราช่วยเหลือด้านไหน

อย่างเมื่อวานได้ไปสัมภาษณ์ร้านทับทิมกรอบที่กินมาตั้งแต่เด็กๆ เขาบอกว่าจริงๆ เขาขายได้ค่อนข้างโอเคนะ แต่ยังอยากได้ข้อมูลเรื่องการบริหารจัดการร้าน จัดการคน พอ Trawell มีข้อมูลพวกนี้ เราก็สามารถจับคู่ร้านกับบริษัทใหญ่ๆ ที่เขาอยากทำ CSR หรือเราอาจไปขอเขาเองเลยก็ได้ว่าสนใจอยากมาทำร่วมกันไหม ทำให้ร้านเล็กๆ อยู่ได้ บริษัทใหญ่ๆ ก็แชร์ความรู้ให้ชาวบ้านตัวเล็กๆ ได้ด้วย

ที่ผ่านมาพวกเราก็เคยทำโปรเจกต์เล็กๆ ให้บริษัทมาร์เกตติ้ง Group M เขาอยากทำ CSR แต่ไม่รู้จะมาลงชุมชนเพื่อทำอะไรดี เราเลยชวนว่าย่านนี้มีผู้ประกอบการเยอะเลยนะที่เขารู้สึกว่ายังพัฒนาต่อได้ ชวนกันไปลงพื้นที่ ชวนเจ้าของร้านคิดไอเดีย ชี้ให้เห็นจุดอ่อนแต่ละด้านของคุณว่าเป็นยังไง เลยรู้สึกว่ามันดีนะที่เราช่วยให้เขาอยู่ได้จริง

นอกจากนี้ก็เคยทำโปรเจกต์เกี่ยวกับเด็กคือค่าย Neighbor Youth ที่เราสนใจ 4 ชุมชนคือ บ้านบาตร ป้อมมหากาฬ นางเลิ้ง และวังกรมพระสมมตอมรพันธ์ เราพยายามทำให้เด็กเข้าใจว่าบ้านเขามีดีอะไร ได้รู้จักบ้านตัวเอง แล้วให้เลือกเองว่าอยากอยู่ที่นี่รึเปล่า ต่อมาก็มีกิจกรรมรายเดือนที่พาไปเปิดโลกว่าโลกนี้ยังมีอะไรอีกเยอะนอกจากละแวกบ้านของเรา เด็กๆ ในชุมชนนี่เรียกได้ว่าเป็นชุมชนแออัด มียาเสพติด มีสิ่งผิดกฎหมาย เราอยากให้น้องๆ ได้เห็นโลกมุมอื่นๆ เขาจะได้มีกำลังใจ มีแพชสชั่นทำในสิ่งที่ไม่เคยคิดว่าจะทำได้

เวลาอยู่ในพื้นที่ เนยมองหาหรือสนใจอะไร

ถ้าสนใจเป็นพิเศษจะสนใจความทำมือของชีวิตคน เช่น ปกติถ้าเราอยากตากผ้า กระบวนการก็คือไปซื้อราวตากผ้า ไม้แขวนเสื้อ แต่บางบ้านเขาอยู่บนตึกสูง ไม่มีระเบียง เขาก็หาวิธีตากของเขา อาจจะเกี่ยวกับเหล็กดัดข้างนอก เราชอบมองสิ่งที่ไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นสิ่งนั้น อะไรที่ไม่น่าเป็นเก้าอี้ได้ พอเอามามัดรวมกันมันก็ใช้งานได้จริง ดูเป็นชีวิตคนจริงๆ นอกจากนี้ก็ชอบดูคน ตอนนี้ยังขี้อายอยู่เลยชอบมองว่าคนทำอะไรในพื้นที่ของเขา ตรงหน้าบ้าน ในพื้นที่สาธารณะ เขาใช้ชีวิตยังไง นอนยังไง กินอะไรกันบ้าง สนุกดี

คุ้นเคยกับคนที่อยู่แถวนี้เกือบหมดไหม

ค่อนข้างกระจาย บางคนก็ยังหาช่องทางไปรู้จักกันไม่ได้ อย่างร้านซ่อมมอเตอร์ไซค์ก็ยังไม่รู้จะเข้าไปคุยยังไงเพราะยังไม่มีมอเตอร์ไซค์ (หัวเราะ) แต่เคยไปขอเติมลมจักรยาน เราคิดว่าทุกคนน่ารู้จักไปหมด อย่างเฮียร้านโชห่วย Well Shop เรามักเดินผ่านร้านเฮียไปเซเว่น เลยไม่ค่อยได้คุย แต่วันก่อนไปสัมภาษณ์ แกก็เล่าว่าผมมีโปรเจกต์เกี่ยวกับร้านโชห่วยเยอะแยะเลยนะ ได้รู้ว่าเฮียถูกเลี้ยงมาแบบนักธุรกิจจริงๆ เช่น แม่ไม่ให้เงินไปโรงเรียน แต่ให้ลูกอมไปแล้วต้องขายให้ได้ ไม่งั้นไม่มีข้าวกิน โห เฮียต้องผ่านอะไรมาบ้างเนี่ย

ทำไมเราต้องเข้าไปทำความรู้จักชีวิตคนอื่นด้วย

มันเป็นหน้าที่ของเราด้วยที่ต้องเอาเรื่องคนอื่นไปเล่า แต่เราคิดว่ามันเหมือนชีวิตคนเราเชื่อมโยงกันหมด ไกลบ้าง ใกล้บ้าง อย่างเรื่องป้อมมหากาฬ มันอาจจะ เอ๊ะ พื้นที่แค่นี้ทำไมเราต้องสนใจ บ้านเราก็ไม่ใช่ ทำไมเราต้องช่วยเหลือเขา แต่การมีอยู่ของเขามันก็ส่งผลถึงตัวเราเหมือนกัน การมีเขาอยู่ในพื้นที่ตรงนี้ทำให้ศิลปะ วัฒนธรรม เรื่องราวบางอย่างยังคงอยู่ และเราก็อยากให้มันอยู่เพื่อวันข้างหน้ามันอาจเป็นพยานหรือหลักฐานให้คนรุ่นต่อๆ ไปเห็น

หรือสุดท้ายการที่ใครสักคนยังอยู่ มันอาจทำให้เรายังมีข้าวกิน เช่นร้านป้าคนนี้ดีมาก เราอยากให้เขาพัฒนา แต่ป้าไม่อยากขายแล้ว การเข้าไปคุยเราอาจได้เจอปัญหาที่แท้จริงก็ได้ว่าเขาไม่ได้เหนื่อย แต่เขาไม่รู้จะพัฒนาให้ทันโลกยังไง เราอาจจะช่วยได้ มันน่าจะหาวิธีไม่ยากในการเข้าไปทำความรู้จัก เรียนรู้สิ่งที่เขาเป็น นี่คือพื้นที่ที่เรารัก เราไม่อยากให้ใครสักคนต้องหายไปโดยยังไม่ได้ลองทำอะไรดูก่อน

เขายอมคุยกับคนนอกแบบเราเหรอ

ส่วนใหญ่เราเข้าไปด้วยความจริงใจแหละ บอกว่าเรามาเพื่อช่วยทำอันนี้นะ บางคนเขาอาจไม่ได้เปิดใจแต่แรก เขาไม่ตอบเราด้วยซ้ำ ส่ายหน้าใส่ แต่ก็คิดว่าต้องลองวิธีใหม่ๆ ดู วันนี้ยังไม่คุย พรุ่งนี้มาใหม่ มันต้องหาได้สักช่องทางที่เขากล้าพูดกับเรา ป้อมมหากาฬนี่ก็ใช้เวลาหลายเดือนมากกว่าจะรู้สึกสนิทใจกัน กล้าเล่าเรื่องนั้นเรื่องนี้ให้ฟัง มันเหมือนทำความรู้จักเพื่อน เราไม่ได้มองว่านี่คืองาน เรามีความปรารถนาดีให้เขา ก่อนหน้านี้มันแค่ยังไม่รู้จักกันเท่านั้นเอง

จะแก้ไขอะไรก็ต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกันก่อน

ใช่ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เนยคิดตั้งแต่ทำงานนิตยสาร เวลาจะสัมภาษณ์ใครสักคนจะคิดว่าเป็นเพื่อนใหม่ที่น่าทำความรู้จัก ไม่ได้เป็นซับเจกที่เราอยากศึกษาอย่างเดียว แต่เราอยากรู้ว่าเขาคิดยังไง ทำแบบนี้เพราะอะไร มันเลยไม่ได้รู้สึกว่า ไปวันนี้ไม่ได้อะไรเลย เสียเวลา ไม่เป็นไร วันนี้เพื่อนยังไม่พร้อม แต่ละคนเขาก็มีปัญหาแบบเดียวกับที่เราและเพื่อนมีแหละ ทะเลาะกับที่บ้าน เจ็บป่วยไม่สบายใจทางกาย ทางใจ ไม่ถูกหวย มีได้สารพัดเลยที่จะทำให้วันนั้นเขาไม่พร้อมที่จะคุยกับเรา

คนในพื้นที่แถวนี้เขามีจุดร่วมอะไรที่น่าสนใจไหม

ส่วนใหญ่เขาจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนในพื้นที่นั้นๆ คนที่มัสยิดบ้านตึกดินจะรู้สึกว่า บ้านฉันมีของดี ฉันอยากอวดให้โลกรู้ คนที่บางลำพูก็รวมกลุ่มกัน เข้มแข็งมาก อะไรจะเกิดขึ้นที่นั่นเขาต้องได้รับรู้ด้วยและช่วยคัดกรอง เวลาจัดกิจกรรมก็จะเข้มแข็งเหนียวแน่น อาจเป็นเพราะเขาอยู่อาศัยในพื้นที่มานานมาก บ้านนี้เป็นที่ทำกินด้วย ที่อยู่อาศัยด้วย แม้แต่ป้อมมหากาฬ ชาวบ้านส่วนหนึ่งย้ายจากต่างจังหวัดมาทำมาหากินที่กรุงเทพฯ แต่เขาก็รู้สึกว่านี่เป็นบ้านหลังนึงของเขาที่เขารัก ไม่ได้อยากย้ายไปไหน

เนยเรียนรู้อะไรจากเพื่อนเหล่านี้บ้าง

สิ่งที่เรียนรู้จากกระบวนการที่ไปทำความรู้จักเลยคือ ไม่ตัดสิน บางคนอาจจะดูมีความคิดแตกต่างกัน เรา ซ้าย เขาขวาสุดๆ แต่ยังมีจุดร่วมที่ทำอะไรร่วมกันได้ เป็นเพื่อนกันได้จริงๆ คนเก่าคนแก่บางคนที่เข้าไปคุยด้วย เราก็รู้สึกว่าไม่ชอบความคิดนี้ของเขาเลย แต่นอกเหนือจากเรื่องนั้นเขาทำงานโอเคมากเลยนะ ช่วงแรกเราตัดสินเขาไปก่อนเลยว่าเราจะคุยภาษาเดียวกันไหม แต่จริงๆ แล้วเขาเข้าใจได้ง่ายมาก

ถ้าเราไม่ประเมินไปก่อนว่าเขาต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ มันจะเปิดทุกความเป็นไปได้ของกันและกัน ถ้าไม่เข้าใจค่อยทอน ค่อยปรับ ค่อยเปลี่ยน ด้วยเทคโนโลยีที่เข้ามาและความเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมก็ทำให้หลายๆ คนเปิดมากขึ้น เราไปขอคุณลุงอายุ 50-60 ปี จัดเวิร์กช็อป ทำแคมเปญอาหารกลางวันร่วมกับ Tuk Tuk Hop คุณลุงว่าน่าสนใจไหม แกก็ว่าได้ ลองทำดู

ชาวชุมชนสอนให้เราเปิดใจ ไม่ตัดสินกัน บางคนรู้จักกันตอนแรกเป็นอย่างนี้ รู้จักกันไปนานๆ อ้าว เป็นอีกแบบนึง ดำเป็นขาว ขาวเป็นดำก็มี ซึ่งไม่ใช่ว่าไม่ดี แต่มันเป็นเช่นนั้นเอง

ความเป็นเมืองเก่ามีดีอะไรในสายตาเรา

ส่วนตัวเนยชอบเรื่องเล่าว่าอันนี้มันเกิดขึ้นเพราะอะไร เมืองเก่าจะมีเรื่องเล่ามากกว่าเมืองใหม่ มันเป็นที่รวมของคนที่หลากหลายกว่า พอมีคนหลากหลาย มีเรื่องเล่าเยอะ มันก็มีเรื่องใหม่ๆ มาให้เราได้ค้นหาทุกวัน พอคนเก่าคนใหม่มาเจอกันก็ก่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ขึ้น

การรู้เรื่องเล่าหรือรู้ราก มันมีผลต่อการอยู่ในพื้นที่นี้ของเรายังไง

เรื่องเล่าจะทำให้เราเห็นว่าแต่ละคนให้ความสำคัญกับอะไร ตอนเรียนวิชาวรรณกรรม อาจารย์จะบอกว่าวรรณกรรมสะท้อนสังคมยุคสมัยนั้นๆ เรื่องเล่าที่ชาวบ้านแต่ละคนเล่าประวัติซอยนี้ไม่ซ้ำกันสักคน มันก็ได้เห็นว่าแต่ละคนให้ความสำคัญกับอะไร มันอาจสะท้อนให้เราเห็นเบื้องหลังความคิดเขา จริงๆ แล้วเขาเชื่อแบบนี้ เขาเลยมองสิ่งเดียวกันแตกต่างกัน เหมือนได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์เรื่องเดียวจากมุมมองที่แตกต่างหลากหลาย เราก็เห็นภาพเมืองนี้ชัดขึ้นผ่านคำบอกเล่าของคน

อย่างชุมชนบ้านบาตรเขาจะมีวิธีทำบาตร บ้านนี้บอกมี 8 วิธี อีกบ้านบอก 21 ส่วนบ้านนี้บอกมี 5 เอง แต่ทุกคนก็ทำบาตรออกมาเป็นบาตรเดียวกันได้ เพียงแต่คนนี้นับรวมวิธีนี้เข้าด้วยกัน เราก็ได้เห็นวิธีคิดแต่ละบ้าน หรือถ้าเป็นร้านอาหาร คนในซอยจะบอกไม่ตรงกันเลยว่าเมนูอะไรอร่อย ร้านไหนมาก่อนร้านไหน มันสนุกตรงนี้แหละที่ไม่มีอะไรเหมือนกันสักวัน ประวัติศาสตร์ไม่ใช่แค่ศึกษาว่ามันเกิดอะไรขึ้น แต่ศึกษาว่าคนมองสิ่งที่เกิดขึ้นยังไง

การอยู่ในพื้นที่แบบนี้ ทำให้มองกรุงเทพฯ เปลี่ยนไปไหม

เราเกิดที่กรุงเทพฯ นี่แหละ แต่ยังไม่ทันจำอะไรได้ก็ย้ายกลับไปอยู่กาญจนบุรี 20 ปี ก่อนจะมาเรียนก็รู้สึกว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีทุกอย่าง น่าจะเป็นเมืองที่ตอบโจทย์เราทุกอย่าง ตอนเรียนก็ค่อนข้างอยู่ในเมือง มันไม่ได้สวยงามหรือว้าวอย่างที่คิดทั้งหมด

พอมาอยู่ตรงนี้ ช่วงแรกรู้สึกเหมือนได้ท่องเที่ยวทุกวัน ย่านนี้สวยงามจัง แต่พอมาอยู่นานๆ ได้คุยกับคนในพื้นที่ ทำให้เห็นว่าเบื้องหลังความสวยงามยังมีคนขาดโอกาส ยังมีเด็กๆ ไม่ได้เรียนหนังสือ บางคนพ่อแม่ไม่มีเงินส่งเข้าโรงเรียน แม้จะอยู่ในสถานที่ที่เรารู้สึกว่าเป็นเมืองฟ้าอมร เราได้เห็นว่ายังมีอีกหลายชั้นมากๆ ที่อยู่ใต้ความสวยงามพวกนี้

แต่มันก็ไม่ได้ทำให้ความรู้สึกรักย่านนี้ลดลง เราได้เข้าใจมากขึ้นว่ามันมีทั้งด้านสวยงามและด้านที่ยังต้องพัฒนากันอีกเยอะเลย เหมือนเรารักคนคนหนึ่ง รักเพื่อนเรา เพื่อนเราเก่งด้านนี้มาก แต่ยังมีบางด้านที่เพื่อนน่าจะต้องการความช่วยเหลือจากเรา เพื่อนยังพัฒนาได้อีก มันไม่ได้เป็นความรักที่คลั่งไคล้แบบเดิมแล้ว แต่เราอยากช่วยให้เธอดีขึ้นด้วย

เราปล่อยให้เขาพัฒนากันเองไม่ได้เหรอ

จริงๆ เรื่องนี้ชาว SATARANA (ทีมที่ทำงานผลักดันด้านขนส่งมวลชน) คุยกันบ่อย เรารู้สึกว่าเราอยู่เมืองนี้ เราก็อยากมีส่วนร่วมในการทำให้มันดีขึ้นในแบบที่เราต้องการด้วย ซึ่งการที่เราอยากให้ดีขึ้นหรือเขาอยากให้ดีขึ้น มันก็อันตรายทั้งคู่ สิ่งที่เราคิดว่าดีมันอาจไม่ได้ดีจริงๆ เพราะชาวบ้านไม่ได้ต้องการ เราปล่อยให้เขาทำเองได้ไหมก็ทำได้ แต่มันก็อาจไม่ใช่เมืองที่เราอยากอยู่ ถ้าเราสามารถมา intersect กัน เราก็อยากทำมากๆ อยากทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างเมืองที่เขาอยากอยู่

แล้วกับตัวเราเอง เราทำไปแล้วได้อะไร

เราชอบประวัติศาสตร์ ชอบศึกษา รู้สึกว่าสิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้คือทำให้ประวัติศาสตร์ของช่วงเวลานี้เป็นอย่างที่อยากให้เป็น ทำให้มันดีในทางใดทางหนึ่ง ช่วยเท่าที่ช่วยได้ พอเรารู้แล้วว่าเขาเป็นยังไง ต้องการอะไร ความสามารถของเราหรือเพื่อนๆ ในแวดวงนี้อาจช่วยให้เขาดีขึ้นในทางใดทางหนึ่ง ถ้าเขามีความสุข เราก็มีความสุขไปด้วย

มีโปรเจกต์ส่วนตัวมากๆ คืออยากทำเว็บไซต์รวม archive เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่รู้ว่าจะรู้ไปทำไม แต่ถ้ามันรวมกันแล้ว มันอาจทำให้เราเห็นภาพเมืองไทย เห็นภาพกรุงเทพฯ และเกาะรัตนโกสินทร์ชัดเจนขึ้น มันเป็นความหงุดหงิดของเราที่อยากรู้เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต เช่น นมกล่องยุคพ่อแม่เราเด็กๆ หน้าตาเป็นยังไงยังไม่เคยรู้เลย ถ้าเราเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยบันทึกเรื่องพวกนี้ บันทึกความคิดความอ่านคนยุคนี้ไว้ได้ มันอาจทำให้คนในยุคต่อไปเข้าใจภาพที่มาต่อกันง่ายขึ้น

มีคำแนะนำอะไรไหมสำหรับคนที่อยากทำความรู้จักพื้นที่ย่านเมืองเก่าให้ลึกขึ้นกว่าเดิม

การเดินเป็นวิธีการที่ใกล้ชิดกับผู้คนที่สุด เราอาจจะมองหาสิ่งที่รู้สึกสะดุดตาหรือน่าสนใจ หรือลองเปิดบทสนทนาถ้ามองเห็นสิ่งเชื่อมโยงระหว่างเรากับเขา เช่นเห็นป้าเย็บผ้าอยู่หน้าบ้าน เราบังเอิญมีผ้าลายเดียวกันก็ลองทักทาย อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ได้คุยกับเขาง่ายขึ้น หรือจะถามทางก็ได้ นี่ก็เปิดบทสนทนาด้วยการถามทางบ่อย

ถ้ามีเวลาอย่ากลัวเสียเวลา เราอาจไปถึงจุดหมายปลายทางช้าลงแต่ได้เก็บอะไรสนุกๆ ระหว่างทาง หรือสุดท้ายมาเดินอาจไม่ได้คุยกับใคร แต่ถ้าได้ถ่ายรูปสิ่งที่ชอบ สิ่งที่เห็นแล้วมีความสุข ยิ้มได้ สำหรับเนยมันก็ถือเป็นการท่องเที่ยวที่โอเคแล้วนะ


บทสัมภาษณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม See Saw Zine เทศกาล Make a Zine ตอน Extraordinary ที่พาผู้อ่านไปสนุกกับกิจกรรมย่อย Old Town Walk ท่องไปในตรอกซอกซอยของเมืองเก่า วันเสาร์ที่ 9 มิถุนายน เวลา 15:00-19:00 น. ที่ชุมชนย่านเกาะรัตนโกสินทร์ ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องทำซีน 1 เล่มมาร่วมจัดแสดงในนิทรรศการวันที่ 28 กรกฎาคมนี้ ดูรายละเอียดเทศกาลที่นี่เลย

ภาพ ณัฐนิช ชนะฤทธิชัย

AUTHOR