กลับตัวก็ไม่ได้ จะเดินต่อไปยังไงให้ถึง? เข้าใจ TCAS และตามหาทางออกของระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยเจ้าปัญหา

คุณยังจำช่วงที่วุ่นวายใจขณะเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ไหม ?

ช่วงเวลาหนึ่งของชีวิตวัยรุ่นที่ต้องแบกรับความกดดันมากเป็นพิเศษ หลายคนต้องหาความสมดุลระหว่างความคาดหวังของครอบครัวและความฝันของตัวเอง ต้องค้นหาคณะที่ตนเองอยากเรียน หรือต้องพยายามผลักดันตัวเองให้เข้าไปอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยในฝัน

มีเด็กจำนวนมากที่ประสบความสำเร็จ แต่มีอีกไม่น้อยเช่นกันที่ผิดหวัง เพราะการศึกษาไทยคือสนามแข่งขันที่มีเส้นชัยเป็นคอขวด เด็กต้องพร้อมและเรียนรู้ไว ยิ่งในปีนี้ที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีระบบใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย รวมไปถึงมีการกำเนิดของ TCAS (Thai University Central Admission System) ระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยแบบใหม่ที่ ทปอ. (ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย) ประกาศใช้ในปีการศึกษา 2561 เป็นครั้งแรก

หลายปีที่ผ่านมา เด็ก ม.6 ต้องผ่านการสอบหลายครั้งกว่าจะได้เข้ามหาวิทยาลัย ทั้ง GAT, PAT, วิชาสามัญ 9 วิชา, O-NET หรือการสอบตรงของแต่ละมหาวิทยาลัยซึ่งจัดตลอดทั้งปี จนมีบางโปรแกรมสอบที่ซ้อนทับกันทำให้เด็กต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง ไหนจะเรื่องค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายซ้ำซ้อนกันเป็นจำนวนมาก TCAS จึงรวบการสอบทั้งหมดมาจัดสอบภายในเดือนเดียว และให้เด็กนำคะแนนไปยื่นตามเกณฑ์การรับสมัครในแต่ละรอบ ได้แก่ รอบพอร์ตโฟลิโอ, รอบโควตา, รอบรับตรงร่วมกัน, รอบแอดมิชชั่น และรอบรับตรงอิสระ โดยทั้งหมดนี้หวังให้แก้ปัญหาการวิ่งรอกสอบ ลดการกั๊กที่ และลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น

แต่ทั้งหมดเป็นเพียงทฤษฎี

เมื่อ TCAS ถูกนำมาใช้จริง ระบบสอบนี้กลับไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างที่ควรจะเป็น ซ้ำร้ายยังย้อนแย้งกับเป้าหมายเริ่มต้นของตัวเอง ส่วนที่มีปัญหาที่สุดคือการคัดเลือกรอบที่ 3 หรือรอบรับตรงร่วมกัน ที่เด็กหลายคนถูกกั๊กที่นั่งอย่างไม่ยุติธรรม เพราะ TCAS ออกแบบระบบให้เด็กสามารถเลือกคณะที่อยากเรียนได้ 4 คณะ ซึ่งหากติดเกิน 1 คณะ เด็กจะต้องเลือกเพียงคณะเดียวเท่านั้น ทำให้มีที่นั่งว่างเกิดขึ้น ซึ่งระบบ TCAS ไม่มีการเรียกตัวสำรองเข้ามาแทนที่ ทำให้เด็กคณะแพทย์ที่สอบ กสพท.และมีคะแนนสูงกว่าเด็กกลุ่มอื่นๆ สอบติดคณะที่เลือกไว้สำรอง กลายเป็นการกันที่เพื่อนที่อยากเรียนคณะนั้นจริงๆ จนเมื่อถึงวันรายงานตัว จากจำนวนที่นั่งกว่า 30 ที่ บางสาขาวิชามีเด็กมารายงานตัวไม่ถึง 10 คนด้วยซ้ำ

นอกจากนั้น จากการพูดคุยกับ #dek61 จำนวนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากระบบ TCAS ทำให้เรารู้ว่า TCAS ไม่เพียงก่อให้เกิดปัญหาการกั๊กที่เท่านั้น แต่ค่าใช้จ่ายในการสอบก็ไม่ได้ลดลงไปมาก ระบบมีความซับซ้อนซึ่ง ทปอ.ก็ไม่สามารถอธิบายให้เด็กเข้าใจได้ รวมถึงเว็บไซต์ของ ทปอ.ก็ยังล่มบ่อยๆ

ปัญหาเหล่านี้ทำให้ #dek61 จำนวนไม่น้อยต้องผจญกับความเครียด ความกดดัน และความสับสน แต่การเอาแต่ก่นด่าสาปแช่งระบบก็ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นมา การหาทางแก้ไขดูจะเป็นทิศทางที่สร้างสรรค์มากกว่าในช่วงเวลานี้ เราจึงอยากพาทุกคนไปพูดคุยกับตัวแทน #dek61 รวมถึงครูลูกกอล์ฟ-คณาธิป สุนทรรักษ์ และลาเต้-มนัส อ่อนสังข์ บรรณาธิการข่าวการศึกษา เว็บไซต์ dek-d.com ถึงทางออกของปัญหาและระบบการเข้ามหาวิทยาลัยที่แต่ละคนอยากให้เกิดขึ้น


ลูกกอล์ฟ-คณาธิป สุนทรรักษ์
อาจารย์สอนภาษาอังกฤษจากสถาบัน Angkriz

“ระบบการเข้ามหาวิทยาลัยของไทยอย่างแรกต้อง simplify คือต้องง่ายไว้ก่อน ง่ายในแบบที่เด็กสามารถอธิบายให้ผู้ปกครองเข้าใจได้ไม่ยาก อย่างที่สองคือคุณต้องรับฟังเด็ก คุณกำลังออกแบบระบบที่ส่งผลต่อชีวิตของเขาโดยตรง ฉะนั้นคุณต้องพร้อมที่จะลงมาเกี่ยวข้องกับเขา คุยกับเด็กให้มาก ถามเขาหน่อยว่าเขาต้องการระบบแบบไหน เดี๋ยวนี้มีวิธีคุยกับเด็กตั้งเยอะ คุณต้องมีแอคเคานต์ทวิตเตอร์ได้แล้ว คุณต้องรู้จักแฮชแท็ก #dek61 เราอยู่ในยุคที่เชื่อมต่อกับเขาได้แล้วเราก็ควรใช้พื้นที่ตรงนั้นให้เกิดประโยชน์

“สิ่งสำคัญคือเราควรสอนให้เด็กรู้จักตัวเองตั้งแต่อยู่ในรั้วโรงเรียน ทปอ.จะต้องฟังและออกแบบระบบให้รอบคอบกว่านี้ คุณควรให้เด็กเลือกคณะเดียวไปเลยเพราะยังไงเด็กก็มีคณะในใจอยู่แล้ว ทำไมเราถึงให้เด็กคนหนึ่งติดแพทย์ ติดนิเทศฯ ติดอักษรฯ หรือติดประมงได้ มันกำลังเกิดอะไรขึ้นกับประเทศเรา เด็กคนหนึ่งจะไม่รู้เลยเหรอว่าอยากจะเรียนอะไรมากที่สุด เพราะแต่ละคณะที่เลือก ชีวิตมันต่างกันมากเลยนะ”


ลาเต้-มนัส อ่อนสังข์
บรรณาธิการข่าวการศึกษา เว็
บไซต์ dek-d.com

“TCAS ก็เหมือนคนหนึ่งคน คือเขาไม่ได้นิสัยเสียหรือนิสัยดีไปเสียทุกเรื่อง ภาพรวมทฤษฎีมันดี แต่ภาคปฏิบัติคือการบริหารจัดการมันไม่โอเค

“ถ้าจะออกแบบระบบการเข้ามหาวิทยาลัย มันควรมีสองคีย์เวิร์ด คือจะต้องยุติธรรมกับทุกคนให้มากที่สุดและทุกคนก็ต้องไม่เสียสิทธิ์จนเกินไปเช่นกัน แต่สำหรับ TCAS ถามว่ายุติธรรมไหม…ไม่ เสียสิทธิ์ไหม…เยอะ

“อย่างในการสอบรอบที่ 3 ที่เกิดปัญหาการกั๊กที่ มันไม่ใช่ความผิดของเพื่อนที่มากั๊กที่เรา แต่เป็นความผิดของระบบ เราต้องยอมรับว่าการที่จะทำระบบให้ตรงความต้องการของเด็กทุกคนคงเป็นไปไม่ได้ แต่เราสามารถสร้างระบบที่มีความชัดเจนได้ว่ามันยุติธรรมและรักษาสิทธิเด็กทุกคน

“ทปอ.ควรบอกน้องไปเลยว่ารอบนี้เป็นรอบรับตรง บอกไปเลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น เด็กเก่งจะเป็นแบบนี้ เด็กที่คะแนนรองลงมาจะเป็นแบบนี้ เด็กจะได้ท้าทายตัวเองมากขึ้น และอาจทำให้มันกระชับชัดเจนไปเลยว่าแต่ละรอบใช้เวลาหนึ่งเดือนพอ ตอนนี้บางรอบถ้าน้องไม่ติดคือต้องนั่งอยู่บ้านฟรีไปเลย 3 เดือน ทปอ.อาจต้องโยกย้ายบางรอบให้มันสอดคล้องกับสภาพจิตใจของเด็กด้วย

“ข้อมูลเกี่ยวกับการสอบก็เป็นสิ่งสำคัญมากๆ เพราะน้องๆ จะได้รับมือกับการสอบได้ แต่ ทปอ.ใช้ภาษาสื่อสารเป็นทางการมาก เด็กอ่านแล้วไม่เข้าใจ เราเองก็ต้องช่วยเอามานั่งแปลกันใหม่ เช่น ทำเป็นอินโฟกราฟิกเพื่อให้น้องเห็นภาพ”


บุ๊ค-สิรภพ ลือพัฒนสุข
โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์

“ผมว่าระบบ TCAS ควรเอารอบพอร์ตโฟลิโอกับรอบโควตามาผสมกัน แล้วแยกคณะแพทย์ออกมาสอบต่างหาก เพราะรอบนี้มันมามีปัญหาตอนสอบรอบที่ 3 เรื่องการกั๊กที่นั่ง ผมว่าก็ต้องเข้าใจคนที่คะแนนแพทย์เขาไม่สูงด้วยครับ เขาก็กลัวนะ เขาเลยจำเป็นที่จะต้องเลือกสาขาอื่นเผื่อไว้ด้วย มันไม่ได้ผิดที่คนเลือกนะเพราะเขามีสิทธิ์ในการเลือก มันอาจจะดูไม่ค่อยมีน้ำใจ แต่ถามว่าผิดไหมก็ไม่ผิด ต้องแก้ที่ระบบมากกว่า”


เกม-ชลิตา จั่นประดับ
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

“ก่อนที่จะเปลี่ยนระบบควรบอกกันก่อน จะเปิดอภิปรายหรือจัดกิจกรรมอะไรก็ได้เพื่อให้นักเรียนมีส่วนร่วมด้วย เพราะตอนที่เปลี่ยนระบบเป็น TCAS นักเรียนมีส่วนร่วมน้อยมาก เขาไม่ได้มาถามอะไรเราเลย ทั้งที่จริงแล้วมันเกี่ยวกับนักเรียนโดยตรง ทำให้เป็นแคมเปญใหญ่โตไปเลยก็ได้ เหมือนเรื่องอาเซียนที่ต้องเตรียมตัวตั้งกี่ปีกว่าทุกคนจะเข้าใจตรงกัน TCAS ก็เหมือนกัน พอพูดว่า TCAS ทุกคนต้องร้องอ๋อ แต่ตอนนี้มันไม่ใช่แบบนั้น เรื่องการสอบเข้ามหาวิทยาลัยมันเป็นเรื่องซีเรียสนะ เพราะมันเป็นอนาคตของนักเรียนคนหนึ่งเลย”


เอิง-นันท์นภัส ภู่พิทักษ์พงศ์
โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย

“หนูรู้สึกว่าระบบสอบปีก่อนๆ มันเป็นระบบที่โอเคอยู่แล้วและค่อนข้างจะนิ่งแล้วด้วยเพราะเขาก็ใช้กันมาตั้งหลายปี การสอบแบบเก่าจะมีรอบโควตารอบหนึ่ง รอบรับตรงอีกรอบหนึ่ง ปิดท้ายด้วยรอบแอดมิชชั่น ส่วนพวก กสพท.ก็จะแยกไปอีกรอบเลย หนูเลยงงมากว่าทำไมปีนี้ถึงเอามารวมกัน หนูอยากให้เขาคิดให้รอบคอบและออกมาบอกให้ทั่วถึงกว่านี้ เพราะทุกวันนี้หนูต้องหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตเยอะมาก จากเว็บ dek-d.com หรือหลายเว็บที่เขาสรุปมาให้ ซึ่งมันไม่ควรเลย

“อย่างหนึ่งที่หนูเห็นคือความแตกต่างระหว่างการศึกษาของไทยกับของต่างประเทศ หนูไปแลกเปลี่ยนที่เม็กซิโกมาหนึ่งปีตอน ม.5 ที่นั่นถ้าเด็กจะสอบเข้าแพทย์เขาก็จะเน้นไปทางแพทย์เลย แล้วก็มีข้อสอบสำหรับเข้าแพทย์โดยเฉพาะ ไม่ต้องมาเครียดเรียนทุกวิชา แต่ของเราถึงจะรู้ว่าเราอยากเรียนอะไรก็ไม่สามารถโฟกัสแค่ที่เราอยากเรียนได้อยู่ดี เพราะข้อสอบมันทำมาให้สอบทุกวิชา

“หนูรู้สึกว่าเด็กไทยควรมีเวลาสำหรับทำกิจกรรมหรือค้นหาตัวเองเยอะกว่านี้ เพราะมันส่งผลกระทบถึงการเลือกคณะในมหาวิทยาลัยด้วย บางคนไม่รู้จะเข้าอะไรเขาก็เลยเรียนเผื่อไว้ทุกอัน แทบจะไม่มีเวลาได้พักเลย ซึ่งหนูว่ามันทำให้เด็กเครียด พอเครียดผลลัพธ์มันก็ยิ่งออกมาแย่”

AUTHOR