ซึมซับภาพวาดอารมณ์เหงาปนความสุขสีเทาของ toddyinthemood

ภาพวาดหญิงสาวในโทนสีอารมณ์หม่นกับท่าทีที่แสดงออกว่าเธอกำลัง ‘โดดเดี่ยว’ หรืออาจจะกำลัง ‘คิดถึงใครบางคน’ ประกอบข้อความที่บอกเล่าเส้นเรื่องสุดเหงาหรืออาจจะเป็นความสุขสีเทาที่กระแทกใจเราและใครหลายคนเข้าเต็มๆ ช่างดูสวนทางกับลายเส้นน่ารักที่ใช้บรรจงวาดตัวละครตัวนี้ขึ้นมาอย่างสิ้นเชิง เราจึงไม่ลังเลที่จะกดติดตามผลงานภาพวาดของ toddyinthemood และแทบอดสงสัยไม่ได้ว่าศิลปินชาวเจียงใหม่แต๊ๆ คนนี้ต้องเสพติดความเหงาอยู่เป็นแน่

toddyinthemood หรือ ทศ-ทศพล กล่อมเกลา ศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เคยเป็นสถาปนิกอยู่ 3 ปี ก่อนจะตัดสินใจแยกทางกับอาชีพที่เขาร่ำเรียนมาเพื่อทำสิ่งที่เขารักอย่างการวาดภาพเต็มตัว ส่วนชาวเชียงใหม่สายอินดี้อาจพอคุ้นหน้าคุ้นตาทศ ในฐานะพิธีกรงานคอนเสิร์ตและอีเวนต์ที่ขยันยิงมุกตลกอยู่ไม่ขาด แต่ในภาพที่เขาวาดกลับถ่ายทอดแง่มุมที่ดูเศร้าแตกต่างจากตัวตนที่คนรอบข้างเห็นว่าเขาเป็นคนเฮฮาอย่างสิ้นเชิง

“จริงๆ ทุกคนก็ต้องมีมุมที่อ่อนไหวกันบ้าง แต่เราไม่อยากระบายอะไรให้ใครฟังหรือเลือกโพสต์ลงบนเฟซบุ๊ก เราเลือกที่จะเปลี่ยนความเศร้าออกมาเป็นภาพวาด”

เขาเรียกการวาดภาพว่าเป็น ‘งานอดิเรกที่จริงจัง’ โดยเริ่มต่อยอดการวาดภาพบนหน้ากระดาษมาใช้เทคนิค digital painting ด้วยการยืมเม้าส์ปากกาจากเพื่อน วาดผิดวาดถูกจนเจอลายเส้นที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง และโพสต์ภาพเหล่านั้นลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวในอัลบั้ม ‘ขีดเขี่ย’ ที่รวมผลงานและพัฒนาการจากวันแรกที่เริ่มฝึกฝน

“ตอนแรกๆ ลายเส้นเราห่วยมาก เลยพยายามบอกตัวเองว่าถ้าวาดถึงรูปที่ 100 ก็คงสวยขึ้น พอถึงแล้วก็ยังห่วยอยู่ แต่ก็ตั้งเป้าต่อไปที่ 200 วาดไปเรื่อยๆ ถึงรูปที่ 300 คราวนี้ก็เริ่มรู้สึกแล้วว่างานของเราดีขึ้น” หลังจากผ่านด่านฝึกฝนและแรงเชียร์จากกลุ่มเพื่อน เพจของศิลปินนามว่า toddyinthemood ก็เริ่มต้นขึ้น

อีกแรงผลักสำคัญที่ทำให้ชายคนนี้หลงใหลการวาดภาพประกอบคือ จิมมี่ เลี่ยว (Jimmy Liao) นักเขียนและนักวาดภาพประกอบชาวไต้หวัน ผู้ให้กำเนิด ‘หนังสือภาพสำหรับผู้ใหญ่’ ทศเคยคิดว่า ภาพประกอบคือภาพที่วาดให้เด็กดู แต่จิมมี่ทำให้รู้ว่าจริงๆ แล้ว เขาสามารถวาดภาพประกอบที่เล่าเรื่องราวของผู้ใหญ่ได้

เขาย้ำกับเราว่าในทุกภาพๆ จะต้องคิดเรื่องราวก่อนลงมือวาดเสมอโดยไม่ได้เน้นเรื่องเศร้าเพียงอย่างเดียว บางภาพ เขาก็เล่าเรื่องที่ทำให้คนดูยิ้มได้ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากการสังเกตคนรอบตัว เรื่องที่เจอมากับตัวเอง เพลงที่ฟังแล้วอิน หรือแม้แต่บรรยากาศของเมืองเชียงใหม่ที่เขาคุ้นเคย เช่น บรรยากาศฝนตก ฉากที่มาจากสถานที่สำคัญต่างๆ ส่วนเหตุผลที่ใช้หญิงสาวใบหน้าเศร้าเป็นตัวละครหลัก เพราะเขาเชื่อว่าผู้หญิงสามารถถ่ายทอดอารมณ์ได้ดีกว่า เรื่องเศร้าบางเรื่องอาจดูเขินไปสำหรับตัวละครผู้ชาย

นอกจากการวาดภาพประกอบในเพจตัวเองแล้ว toddyinthemood ยังมีผลงานออกแบบอื่นๆ อีก เช่น หน้าปกอัลบั้ม Minimal’s Less ของค่ายเพลงอินดี้เชียงใหม่ Minimal Record ภาพประกอบหนังสือ Dialog ของสำนักพิมพ์ 10 มิลลิเมตร, ออกแบบลายเสื้อยืดให้กับวง Polycat หนังสือรวมภาพประกอบเล่มแรกของตัวเองอย่าง Current Mood, รวมทั้งการจับมือกับ Uber ประเทศไทย ออกแบบลายกราฟฟิคแบบทดดี้ๆ หุ้มเบาะรถ สร้างประสบการณ์การเดินทางแสนสนุกรูปให้กับผู้ใช้ Uber ในแคมเปญแกลลอรีเคลื่อนที่ได้ครั้งแรกในเชียงใหม่อย่าง UberART และเร็วๆ นี้ ทศกำลังจะมีหนังสือนิยายภาพขนาดยาวกับสำนักพิมพ์ 10 มิลลิเมตร พร้อมนิทรรศการเดี่ยว Girl in the room จัดแสดงที่คาเฟ่ 10 ml. ให้คนที่ติดใจเรื่องเล่าและลายเส้นของเขาได้ติดตามกัน

“ตอนแรกที่วาดรูปก็จะมีแค่เพื่อนๆ ที่ชอบงานเรา แต่พอมีเพจ ปรากฏว่าก็มีคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่เพื่อนมาดูและเขาก็ชอบเหมือนกัน เราดีใจมาก แต่ความดีใจไม่ควรหยุดตรงนั้น เราอยากพัฒนางานต่อเราอยากหาพื้นที่ให้งานเราไปได้ไกลกว่าในเพจเฟซบุ๊ก และอยากให้งานพาเราไปเที่ยวในที่ต่างๆ เจออะไรใหม่ๆ คงน่าสนุกดี” ทศบอกกับเรา

ตอนนี้เราได้คำตอบแล้วว่าศิลปินคนนี้ไม่ได้เสพติดความเศร้าเลยแม้แต่นิด แต่เขาเสพติดความสุขและความฝันจากการได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบต่างหาก

facebook | Toddyinthemood

ภาพ มนันยา เรือนรักเรา

AUTHOR